1. บทเห่ชมหลุยส์ ซี เค
ผมรู้จักหลุยส์ ซีเค ครั้งแรกน่าจะเมื่อสักห้าหกปีก่อน รุ่นพี่คนหนึ่งเอามาให้ดูด้วยความรู้สึกที่ว่า หลุยส์เป็นตลกที่ – พูดหยาบๆ ละกันนะครับ – ‘เหี้ย’ ได้เก่งมาก พี่คนนั้นรู้สึกว่าผมเป็นคนเหี้ยๆ จึงน่าจะถูกจริตในความเป็นหลุยส์ ซึ่งเขาก็เดาไม่ผิด หลุยส์กลายมาเป็นสแตนด์อัพคอเมดี้ที่ผมชื่นชอบอันดับต้นๆ (เอ้า – อันดับแรกเลยก็ได้!) หลังจากที่ได้สัมผัสหลุยส์เป็นครั้งแรก ผมก็หลงเสน่ห์เขามาโดยตลอด หลงอย่างขุดไม่ขึ้น หลงอย่างอยากฝากตัวเป็นศิษย์
ผมไม่รู้จะอธิบายความพิเศษของหลุยส์ให้คุณรู้ครบถ้วนได้อย่างไรหากคุณไม่ฟังเขาด้วยตัวเอง แต่ผมจะพยายามก็แล้วกัน – หลุยส์ ซีเค เป็นตลกชาวอเมริกันที่ไต่อยู่บนขอบเขตของความ ‘ไอ้เหี้ยเอ๊ยมึงพูดแบบนี้ได้ยังไง’ กับความ ‘เออ ว่ะ จริงว่ะ’ ได้อย่างชาญฉลาดแนบเนียนที่สุด เขาสามารถทำให้เราตลกจนน้ำตาไหลในวินาทีหนึ่ง ในขณะที่วินาทีต่อมาเขาก็พูดบางสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘ไอ้สัสเอ๊ย วินาทีที่แล้วกูขำกับเรื่องแบบนี้ได้ยังไงวะ’ ได้ เขาเก่งกับการไต่บนเส้น ทั้งเรื่องการเหยียดผิว เรื่องการเหยียดเชื้อชาติ สเตอร์รีโอไทป์ เหยียดเพศ พูดตลกเรื่องการก่อการร้าย ไปจนถึงเล่นตลกเรื่องการทำแท้ง เขาทำทุกอย่างได้โดยทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เขาขยับพรมแดนของ Taboo (หรือเรื่องที่พูดไม่ได้ – ดินแดนต้องห้าม) เข้ามาใกล้จนเราเกือบเหยียบ – แต่ยัง – ยังไม่เหยียบ – แค่เกือบ! เขาไม่เคยเหนียมอายกับการแสดงออกทางการเมือง เขาถึงกับเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อประณามโดนัลด์ ทรัมป์ ไปยังแฟนๆ ที่เป็นสมาชิกเว็บไซต์ ‘ทรัมป์นี่มันฮิตเลอร์ชัดๆ’ เขาว่า
เขาเป็นตลกที่มีทั้งสมอง – และกระดูกสันหลัง
ยืนได้ ไม่โง่
แต่ผมก็ไม่รู้จะอธิบายให้คุณรู้จักเขาได้ยังไง – คุณต้องหามาดูเอง
2. การเดินทางที่เติมเต็มความฝัน
หลุยส์เป็นคนไม่กี่คนในโลกที่ผมยอมบินข้ามโลกมาเพื่อใช้เวลากับเขา (ใช้เวลา ‘ดูเขา’) แค่หนึ่งชั่วโมงครึ่ง
ผมฝันว่าจะได้ดูหลุยส์เล่นสดๆ สักครั้งในชีวิต และแล้วในการเดินทางมานิวยอร์กในครั้งนี้ ฝันของผมก็ได้รับการเติมเต็ม
ด้วยตั๋วราคา $150 (แพงกว่าราคาที่ควรเป็นสองเท่า เพราะซื้อผ่านเว็บอื่น) หลุยส์ไม่ทำให้ผมผิดหวัง การแสดงครั้งนี้ของเขายังคมกริบเช่นเคย และดูก้าวร้าวกว่าที่เคยด้วยซ้ำ เขาเดินเข้าไปในทุกพรมแดน ตั้งแต่เรื่องการศึกษาในอเมริกา (“ครูอเมริกันเนี่ยโง่ เงินเดือนก็น้อย ผลตอบแทนก็ห่วย ยังจะทำกันอีก” – เขาพูดให้คิด) เรื่องเพศ (“การที่คุณเป็น Transgender ไม่ได้อนุญาตให้คุณทำตัวเหี้ยๆ กับใครก็ได้นะโว้ย”) เรื่องทำแท้ง ที่เขาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าอยู่ฝั่ง Pro-choice (“แม่ต้องมีสิทธิฆ่าทารกของตัวเองสิ – แต่นั่นแหละ เราก็ต้องมาเถียงกันอีกว่าตรงไหนที่เรียกว่าเด็กทารก”) คำพูดแต่ละคำของเขาอาจเหมือนเขากำลังสาดน้ำเย็นๆ ใส่หน้า แต่ก็เป็นน้ำเย็นที่ทำให้คุณได้มองเรื่องนั้นๆ ด้วยประเด็นใหม่ๆ
คุณอาจเข้าใจผิดคิดว่าผมนิยมเขาเพราะเขาเป็นผู้สอน หรือ Preacher แต่ไม่ใช่เลยครับ – การแสดงของเขานั้นเต็มไปด้วยความเป็นส่วนตัว เขาถักทอเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องได้อย่างแยบยล แม้ผมเล่าแล้วฟังดูมันจะเต็มไปด้วยประเด็นที่ชวนให้คิดเล่นเห็นต่าง แต่หากคุณได้ดู คุณจะพบว่ามันเป็นแค่เรื่องของเขาเอง
มันเป็นแค่เรื่องเล่าของเขา ในชีวิตของเขา ที่เผอิญว่าดึงให้เราได้คิด ก็เท่านั้น
3. ความหมู่ของโน้ส
ไม่ใช่ตลกทุกคนต้องเลือกข้าง
ก่อนไปดูหลุยส์ที่นิวยอร์ก ผมมีโอกาสได้ไปดูการแสดง ‘หมู่’ ของพี่โน้ส อุดม แต้พานิช ตลกแถวหน้า (น่าจะหน้าสุด!) ของเมืองไทย
รู้มาก่อนบ้างว่าในการแสดงครั้งนี้พี่โน้สจะไม่ได้มาคนเดียว แต่จะเอาเพื่อนผองนักแสดงตั้งแต่พี่ติ๊ก เจษฎาภรณ์, ปาล์มมี่, ฟักกลิ้ง ฮีโร่ ไปจนถึงปอนด์ ใจดีทีวี มาร่วมสังฆกรรมด้วย แต่จากได้รับชมจริงๆ สิ่งที่เห็นก็ค่อนข้างแตกต่างจากความคาดหวังพอสมควร
ผมชอบพี่โน้สมาตั้งแต่เดี่ยวสี่ – คิดว่าเขาเป็น Social Commentator ที่เด็ดดวงมากในตอนนั้น เขาดึงเรื่องที่เราไม่เคยสังเกต ลากออกมาให้เห็นไส้ แล้วบิดมันเป็นรูปร่างพิลึกกึกกือจนเราทำอะไรไม่ได้นอกจากขำ ทุกเดี่ยวของโน้สจะมาตามมาด้วยประโยคเด็ดหรือคำเด็ดอย่าง ‘ตัวแม่’ หรือตามมาด้วยภาพจำแปลกๆ อย่างเช่นกางเกงในที่ม้วนเป็นรูปเลขแปด ในตอนนั้น ไม่มีคำใดที่เหมาะสมกับเขาไปมากกว่าคำว่า Iconic – เขาเป็นคนคนเดียวที่ทำเรื่องแบบนี้ในสังคมไทยได้ และทำได้ดีจนไม่มีใครเหนือกว่า
แต่นั่นก็คือเดี่ยว
กับการแสดงหมู่ พี่โน้สเลือกวิถีทางที่ต่างออกไป เขาตัดเพื่อนผองดาราออกเป็นส่วนๆ แล้วจับมัดลงไปในฉาก ในสถานการณ์ที่สร้างขึ้น โดยนิยาม มันควรเป็นมหรสพมากกว่าจะเป็นสแตนด์อัพ คอมเมดี้ และจริงๆ แล้วผมก็ควรปรับความคาดหวังของตัวเองให้เป็นไปตามนั้น ในบทหนึ่งของการแสดง พวกเขาพากย์เสียงเป็นละครวิทยุที่แท้จริงแล้วเป็นการเปรียบเทียบ (อย่างโจ่งแจ้ง) ถึงนายกตู่และปูยิ่งลักษณ์ แต่การเลือกข้อมูลมาบิดก็ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการล้อเลียนความขี้หงุดหงิดของลุงตู่ เรื่องจำนำข้าว หรือไปไกลกว่าการล้อเลียนเรื่องการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษผิดของคุณปูเท่านั้น มุกเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกราวกับได้กลับไปอ่านโซเชียลเนตเวิร์กเมื่อสองสามปีก่อน
ราวกับว่าเขากลัวว่าถ้าไปไกลกว่านี้แล้วคนดูส่วนหนึ่งจะไม่พอใจ ซึ่งก็เป็นความกลัวที่มีเหตุมีผลดีทุกประการ แต่มันขัดกับความคาดหมาย (ของผม) – ผมอาจคาดหวังอะไรที่พาไปข้างหน้ากว่านี้ – ซึ่งนั่นก็เป็นความผิดของผมเองทุกประการ
ในการแสดง ‘หมู่’ ความเป็นหมู่ไม่เพียงหมายถึงจำนวนคนแสดงเท่านั้น แต่ยังหมายความถึงจำนวนคนดู พี่โน้สไม่ได้จะสื่อสารถึงความเป็น ‘เดี่ยว’ แล้ว ในคราวนี้ พี่โน้สเลือกที่จะตัดเสิร์ฟมุกตลกเพื่อให้คนจำนวนมากที่สุดพึงพอใจแบบรวมหมู่
ในแบบที่ไม่กระทบกระทั่งใครเลย
4. การเลือกข้างกับโชว์ตลกอเมริกัน
Partisan แปลว่า เลือกข้าง
มันไม่ได้มีความหมายบวกหรือลบ การเลือกข้างไม่ได้มีความหมายบวกหรือลบ และการบอกว่าไม่เลือกข้างก็อาจทำให้เราเกิดคำถามว่าคนที่ไม่เลือกข้างนั้นมีจริงหรือ และคนแบบนั้นไม่เลือกข้างในทุกประเด็นใช่ไหม
ที่สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ระหว่างรอเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ผมหยิบ TIME ไปจ่ายเงินที่เคานเตอร์ ฉบับนี้พาดปกอย่างน่าสนใจ We Joke. You Decide. เราเล่นมุกไป คุณตัดสินใจเอาเอง The seriously partisan politics of late-night comedy รายการตลกรอบดึกที่เลือกข้างทางการเมืองแบบสุดๆ
บทความภายในพูดถึงวงการตลกอเมริกันยุคใหม่ที่มีการเลือกข้างมากขึ้น และมักจะเลือกข้างเดียวกัน นั่นคือมีมุมมองหัวก้าวหน้า และ ‘ไม่เอา’ อนุรักษ์นิยมโดยเฉพาะ Donald Trump
เขาบอกว่า Donald Trump เป็นเหมือนสิ่งที่ส่งตรงลงมาจากสวรรค์ให้เหล่าตลกตั้งแต่ Jimmy Fallon ไปจนถึง John Oliver ได้เสียดสี ได้เล่นมุกขำขัน มีวัตถุดิบไปหากิน ด้วยความโผงผาง ดุดัน และคำพูดที่ (ดูจะ) เหลวไหลที่พ่นออกมาไม่เว้นวัน แค่ตลกขึงแหรองรับไว้เสียหน่อย ก็ได้มุกไปหากินไม่รู้จบ Donald Trump ยังดึง ‘ส่วนที่ดีที่สุด’ ของตลกแต่ละคนออกมาด้วย อย่าง Trevor Noah ตลกชาวแอฟริกาใต้ที่มารับหน้าที่เป็นพิธีกร The Daily Show ได้อย่างอิหลักอิเหลื่อเพราะขาดความเจนสนาม (เล่นมุกไม่ถึง ไม่ขำ ดูเด็กเกินไป) ก็ฉายแสงได้สวยงามที่สุดเมื่อเขาเปรียบเทียบ Donald Trump กับเผด็จการแอฟริกันใกล้ตัว อย่าง Idi Amin หรือ Gaddafi
“ทรัมป์นั้นโคตรมีความเป็นประธานาธิบดีเลยนะครับ” Travor หยุด “แค่สมัครเลือกตั้งผิดทวีปเท่านั้นเอง”
อย่าเข้าใจผิด – ตลกพวกนี้ไม่ได้คิดว่าตัวเองประเสริฐเลิศเลอและจะมาเปลี่ยนบทสนทนาของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้นะครับ จำนวนคนดูรายการพวกนี้ไม่ได้อยู่ในหลักมากมายอะไร คือตั้งแต่ 1-4 ล้านคนเท่านั้นเอง (ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เล็กมากในตลาดโทรทัศน์อเมริกัน) พวกเขารู้ตัวว่าการที่คนชอบทรัมป์นั้นชอบด้วยอารมณ์ ไม่ได้ชอบด้วยสมอง ดังนั้นการเล่นมุกเสียดสีหรือตลกร้ายที่ต้องอาศัยชุดความเชื่อแบบเดียวกันจึงจะขำได้นั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้ – นอกจากอาจเป็นการสร้างความบันเทิงให้พวกเดียวกันไปวันๆ เท่านั้นเอง
แต่จะพูดเท่านั้นก็ไม่ถูก – เพราะตลกอเมริกันก็ยังมีฟังก์ชั่นมากกว่าแค่ความบันเทิงด้วย พวกเขาสามารถ ‘ทำข่าว’ ได้ด้วยความไกลและลึกกว่านักข่าวปกติในหลายๆ ครั้ง เช่น John Oliver ก็เคยประเมินงบประมาณที่ต้องใช้ในการก่อสร้างกำแพงกั้นระหว่างอเมริกากับเม็กซิโกออกมาจริงๆ ว่าเป็นไปไม่ได้อย่างไรผ่านทางมุกตลกครั้งหนึ่ง สาเหตุที่พวกเขาไปไกลกว่าได้ อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องกังวลกับ ‘ความเป็นกลาง’ อย่างสำนักข่าวแบบประเพณีนิยม
“พวกสำนักข่าวไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้ต่อกรกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตัวตนของเขาเป็นความโกหกพกลมทั้งหมดอย่างนี้ได้หรอก” ตลกคนหนึ่งว่า
5. เรื่องไม่ตลก
ในบ้านเรา การเล่นตลก โดยเฉพาะตลกเสียดสีมักไม่ถูกมองเป็นอย่างอื่นนอกจากความก้าวร้าว
ผมคิดว่า : ตลกคือพื้นที่ของความเป็นไปได้ เมื่อเราอนุญาตให้สังคมตลกกับเรื่องอะไรน้อยลง ก็เท่ากับว่าเราล้อมรั้วพื้นที่ความเป็นไปได้ให้เล็กลงตามไปด้วย เพื่อให้ได้รับการยอมรับ เราต้องคิดในกรอบ เราต้องคิดในพื้นที่ที่เขาบอกให้คิดเท่านั้น ขณะเดียวกัน รัฐก็บอกให้เราคิดอย่างสร้างสรรค์ (เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ธำรงวัฒนธรรมเอาไว้หรืออะไรก็แล้วแต่) คำว่าสร้างสรรค์ของรัฐนั้นก็มีความหมายแบบเฉพาะเจาะจงมากๆ นั่นคืออย่าคิดอะไรให้เกิดวงกระเพื่อมจนรัฐควบคุมไม่ได้นั่นเอง
สังคมเราเติบโตด้วยความเข้าใจรู้ทันในมุกตลก (ที่ผมอยากเรียกว่า Humor Literacy) ไม่เท่ากัน ในขณะที่ฟากหนึ่งไปไกลเกินคำว่าความถูกต้องทางการเมืองหรือ Political Correctness จน ‘โอเค’ กับการเล่นตลกเพศผิวที่ไม่ ‘ทำร้าย’ แล้ว ในอีกฟากเราก็ยังมีคนที่ยอมรับกับมุกตลกที่เหยียดเพศผิวแบบ ‘ทำร้าย’ ได้ ซึ่งมองผิวเผินแล้วสองฟากนี้อาจมีบทสรุปแบบเดียวกัน แต่มันมาจากวิธีคิดที่แตกต่างกันมาก ยังไม่นับว่าเรามีตรงกลางที่เป็นพวกตื่นรู้เรื่อง Political Correctness ใหม่ จนประยุกต์คำนี้กับทุกๆ เรื่อง ทุกๆ สถานการณ์ในชีวิตอีก และยังไม่นับว่านอกจากแค่เรื่องนี้ เรายังมีเรื่องความแตกต่างเรื่องมุมมองทางการเมืองที่สุดขั้วซ้อนเข้าไปอีกชั้น
บนอินเทอร์เน็ตที่เป็นที่ที่ให้ทุกๆ วงสังคมมาปะทะกัน เราจึงเห็นว่ามักเกิดความไม่ลงรอยกันเสมอ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือเป็นความไม่ลงรอยในแบบที่จะนำไปสู่ความรุนแรงจริงๆ ในหลายๆ ครั้งด้วย
ผมไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย
เรื่องที่เราเคยขำได้ กลับกลายเป็นเรื่องที่เราขำไม่ได้ เรื่องที่เราเคยหัวเราะด้วยกัน กลับเป็นเรื่องที่ทำให้เราขัดแย้งเมื่อถูกการเมืองแบบสถาบันทาทับลงไป
มีเรื่องที่เราเห็นตรงกันน้อยลงทุกทีๆ จนจากสยามเมืองยิ้ม จะกลายเป็นสยามเมืองบึ้งอยู่รอมร่อ
ไม่รู้สิ – ด้วยสภาพสังคมแบบนี้ การมีอยู่ของพี่โน้สแบบ ‘หมู่’ จึงอาจจะเป็นเรื่องจำเป็นก็ได้ อาจเป็นเรื่องจำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องมีอะไรที่ขำตรงกันสักครั้งโดยไม่ทำให้ใครหน้าบึ้ง ซึ่งพี่โน้สอาจจะกำลังทำหน้าที่แบบนั้นอยู่
แต่ผมคิดว่าตลกแบบอื่นก็ยังจำเป็น ตลกแบบเสียดสีก็ยังจำเป็น ตลกแบบหน้าตายก็ยังจำเป็น ตลกแบบเป็นต่อก็ (อาจจะ) ยังจำเป็น ตลกแบบสามช่าก็น่าจะยังจำเป็น