ผ่านสัปดาห์แห่งความรักที่แสนจะทรมานใจสำหรับคนไร้คู่ไปได้เสียที แม้กลิ่นอายตลบอบอวลของบรรยากาศหวานไปหวานมาน่าหมั่นไส้แลดูจะยังคงเหลืออยู่บ้าง แต่มันก็แฝงความน่าสนใจไม่น้อยเพราะประเทศไทยดูจะเป็นประเทศหนึ่งที่อินกับวันวาเลนไทน์เสียเหลือเกิน
เอาจริงๆ ตัวผมเองอยู่ที่ญี่ปุ่น บรรยากาศวาเลนไทน์ก็ไม่ได้หนักหนาถาโถมจิตใจคนไร้คู่อะไรแบบอยู่ที่ไทยนัก และบังเอิญได้คุยกับเพื่อนชาวอิตาลีที่ศึกษาเรื่องประเทศไทยมายาวนาน (ตอนนี้อีตานี่สอนอยู่ที่อังกฤษ และก่อนหน้านี้เรียนที่สหรัฐอเมริกา) เขาเองก็ตั้งข้อสังเกตลักษณะเดียวกันว่า ไม่เจอประเทศไหนอินกับวาเลนไทน์หนักเท่ากับไทยเลยเหมือนกัน แม้แต่ในอิตาลีซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ (แต่ในอีกแง่หนึ่งจุดเริ่มต้นที่อิตาลีก็คือการสังหารหมู่ละเลงเลือดนักบุญวาเลนไทน์น่ะนะ)
ได้ความดังว่า ผมเลยรู้สึกสนใจเพราะพอคิดไปคิดมาผมว่าบทบาทของ ‘ความรัก’ นั้นดูจะสร้างปัญหาในทางการเมืองไม่น้อย แต่ก่อนจะไปพูดกันเรื่องปัญหา ผมอยากลองพาไปสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับความรักสักหน่อย แม้อาจจะไม่ได้ภาพทั้งหมด (ด้วยเนื้อที่ที่จำกัด) แต่ก็คิดว่าน่าจะพอชวนให้ฉุกคิดอะไรกันต่อได้บ้าง
ปัญหาสำคัญอย่างแรกๆ ในการใช้คำว่า ‘รัก’ หรือ Love เนี่ย แรกสุดเลยคือ นิยามและขอบเขตของมัน ด้วยความที่นิยามมัน ‘หลวมเหลือเกิน’ ก็ส่งผลให้ ‘ขอบเขตมันกว้างมากๆ’ ตามไปด้วย อะไรๆ ก็เป็นความรักได้ รักมันแทนได้ทู้กกกอย่าง รักคือการให้ รักคือการอดทน รักคือการใส่ใจ รักคือความอบอุ่น รักคือเซ็กซ์ รักต้องทะนุถนอม รักมากช้ำมาก ฯลฯ ร่ายกันไปเถอะไม่จบไม่สิ้น พูดอะไรไปก็ถูกหมด…ซึ่งมันเป็นปัญหาไง
การพูดว่าอะไรก็ได้คือ ความรัก ในอีกทางหนึ่ง
มันแปลว่าเรากำลังทำให้ ‘ความรักมันไร้ซึ่งความหมาย’ ไป
เพราะมันไร้ซึ่งลักษณะจำเพาะโดยตัวมันเอง
ที่ทำให้มันจำเป็นจะต้องมีตัวตนนั่นเอง
คิดง่ายๆ เหมือนกับเวลาเราได้ยินเพลง ‘คนไทยหรือเปล่า’ ของคาราบาวที่ร้องว่า “คนไหนคนไทย จะรู้ได้ไง ถ้ามีน้ำใจ ละคนไทยแน่นอน…” (แก่ไปป่ะเนี่ย?) มันอาจเหมือนการกำลังชมความเป็นคนไทย แต่เอาจริงๆ แล้วมันคือการทำให้ความเป็นคนไทยสูญสลายความจำเพาะของมันไป เป็น ‘ใครก็ได้ที่มีน้ำใจ’ คือ คนไทยหมด (บัตรประชาชนอะไรยังไงไม่สน) ปัญหาของความรักเองมันก็เริ่มมาประมาณเดียวกันนี้ เหมือนกับยัดคุณค่าดีๆ แล้วบอกว่ามันคือความรักทั้งหมดจะเป็นการเชิดชูความรัก แต่จริงๆ คือการทำลายตัวตนของความรักไปนั่นเอง และหากมันไร้ตัวตนที่จะจับต้องได้ก็ไม่รู้จะคุยกันต่อยังไง
แล้วความรักมันคืออะไร มีขอบเขตยังไงล่ะ? ในทางปรัชญามีการพยายามตอบมาเนิ่นนานอย่างน้อยก็ตั้งแต่กรีกโบราณโน่น ในยุคนั้นมีความพยายามสังเกตธรรมชาติหรือลักษณะของความรัก โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะสำคัญคือ Eros, Philia และ Agape หลักคร่าวๆ ‘Eros’ คือ ความรักที่เกิดจากความปรารถนา (desire) และลุ่มหลง (passionate) ที่มีต่อ (รูป) แบบบางประการ เช่น ผิวขาว ตาโต อกเต่ง ฯลฯ ซึ่งโดยมากแล้วเป็นความปรารถนาที่นำไปสู่การอยากร่วมเพศด้วย (จึงเป็นที่มาของคำว่า Erotic อีกที คือดูแล้วร้อนเร่าใคร่อยากผสมพันธุ์นั่นเอง) และความรักในแบบ Eros นี้เนื่องจากมันเป็นความรักซึ่งวางอยู่บนฐานการรับรู้ต่อ ‘(รูป)แบบอุดมคติ’ ที่เราชอบ การรักใคร มันจึงไม่ได้หมายถึงแค่การชอบปัจเจกนั้นๆ แต่มันหมายถึง ‘แบบในอุดมคติ’ ซึ่งปัจเจกนั้นๆ represent ออกมาด้วย ฉะนั้นในเซ้นส์นี้ความรักกับ ‘ความใคร่’ ต่อแบบของความงามในอุดมคติจึงเป็นสิ่งที่แลดูจะแยกจากกันไม่ได้ด้วย
และเมื่อนำมาวางไว้ในบริบทปัจจุบัน
มันก็แปลว่า ‘ความรักก็มีด้านน่าเกลียด’ ของมันอยู่
‘Philia’ ค่อนข้างจะต่างกับ Eros มากอยู่ ในทางหนึ่งอาจจะพอพูดได้ด้วยว่ามีหลายชั้นหลายเลเยอร์กว่า และไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การก่อเกิดความใคร่ผสมพันธุ์นัก มันอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยาวก็ได้ ชั่วขณะก็ได้ คือความรักแบบ Philia มันมาจากความเอ็นดู ความประทับใจ ความเห็นชอบต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จะเป็นคนๆ เดียวหรือเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ก็ได้ เช่น มิตรภาพ ครอบครัว ชุมชน กฎระเบียบ วิถีชีวิตหรือแม้แต่คู่สัญญาการค้าที่มีความเห็นชอบตรงกันในการเจรจาข้อตกลงแต่ละครั้งก็ยังได้ เมื่อมันไม่ได้มีความใคร่ส่วนตัวมาเอี่ยวแบบ Eros การเกิดความรักแบบ Philia จึงอาจเกิดขึ้นเพื่อตัวผู้มีความรู้สึกนั้น หรือเกิดขึ้นเพื่อคนอื่นที่เราอยากให้ความรู้สึกนี้ส่งผลถึงก็ได้ แต่แน่นอนบ่อยครั้งความรักแบบ Philia นี้ก็นำไปสู่ความรักแบบ Eros ได้เช่นกัน (เข้าใจนะ ดากานดา…แก่อีกแล้ว)
แบบสุดท้ายคือ Agape ซึ่งเริ่มต้นจากกรีกแล้วพัฒนาต่อไปยันยุคกลางโน่น (แน่นอนทุกความคิดก็พัฒนาต่อมาอีกเยอะจนปัจจุบันด้วย) รูปแบบนี้มันก็คือ ความรักในพระเจ้าประหนึ่งพ่อแม่ (paternal love) ซึ่งต่อมาก็มีการแทนที่ตัวตนของพระเจ้า ด้วยโครงสร้าง แนวคิด หรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ด้วย เช่น ความรักที่มีต่อชาติ (ชาตินิยม) เป็นต้น ความรักแบบ Agape นี้เองที่เชื่อกันว่าดึงเอาคุณค่าบางส่วนมาจากทั้งความรักแบบ Eros และ Philia นั่นทำให้เกิดความรักชนิดสุดตัว รักหมดใจ สำหรับชาวกรีกโบราณแล้วอาจนับได้ว่าเป็นรูปแบบความรักที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะมันเริ่มจากความหลงใหลหรือเอ็นดูในตัวตนหนึ่งๆ แล้วกลายมาเป็นความรักที่เพียงแต่ต้องการจะได้รักโดยไม่ถามหาอะไรตอบแทนอีก แนวคิดนี้ส่งผ่านสู่การตีความความรักที่มีต่อพระเจ้าในศาสนาคริสต์ด้วย (โดยผ่าน St. Augustine) จนทำให้เกิดวลีอมตะว่า “ท่านพึงรักพระเจ้าอย่างหมดใจ, และ(รัก)หมดทั้งวิญญาณ, และ(รัก)ด้วยทุกสรรพกำลังที่มี”
มันคือสภาพสุดทางของความรักที่ทรงพลานุภาพเหลือแสน
รักโดยไม่สนใจใดๆ รักทุกเสี้ยวอณูของตัวตนของผู้ที่รู้สึกรักเลยทีเดียว
พอเป็นอย่างงี้มันก็มีปัญหาน่ะสิสำหรับผม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ดูจะอินกับ ‘ความรัก’ เสียเหลือเกิน เพราะในขณะที่ความรักอย่างหูดับตับไหม้อย่าง Agape มันจะเป็นความรักอันแสนสมบูรณ์สำหรับกรีกโบราณหรือนักบุญออกุสติน แต่มันไม่ได้แปลว่าต้องสมบูรณ์สำหรับยุคสมัยปัจจุบันไง มันคือการรักอย่างล้นเกิน ที่ไม่สนใจอะไรอื่นใดอีกต่อไป ขอแค่ให้ตรูได้หลับหูหลับตารักในแบบที่ตรูอยากจะรักก็พอ อะไรอื่นไม่ขอสนใจแล้ว ไม่ว่าจะข้อเท็จจริง เหตุผล ตรรกะ หรือข้อมูลสถิติใดๆ
การรักเสมือนพระเจ้า หรือเสมือนบุพการีนี้มันจึงเป็นรักที่ไม่พร้อมจะรับฟัง เป็นรักที่ใช้กับตัวตนซึ่งเราเชื่อกันไปเองว่าสมบูรณ์ทุกอย่าง อย่างพระเจ้าหรือผู้ปกครองที่แสนดี ฉะนั้นมันจึงเป็นรูปแบบความรักที่สมบูรณ์ในยุคนั้นที่ศาสนจักรปกครองอาณาจักร และการเชื่อว่าพระเจ้าดีเลิศประเสริฐทุกอย่างสำคัญมากกับการปกครอง มันเหมาะสมกับโรมันโบราณ (รับอิทธิพลมาจากกรีกโบราณอีกที) ที่เชื่อว่าเหล่าผู้ปกครองในระบอบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่กรีกและโรมันโบราณเชื่อว่าดีที่สุด ปกครองโดยผู้ทรงปัญญาและมากด้วยศีลธรรมยังไงๆ ก็จะต้องนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดี ประชากรจึงพึงเชิดชูความรักแบบ Agape นี้ เพราะรูปแบบความรักแบบนี้มัน ‘เหมาะเจาะ’ กับการปกครองในรูปแบบเมื่อสองพันกว่าปีก่อนนั่นเอง
อย่างไรก็ดีสังคมในปัจจุบันที่ถือเอาระบอบประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในฐานะแกนกลางหลักของกระแสความคิดทางการเมืองการปกครองโลก มนุษย์ที่สมบูรณ์ไร้จุดบอด องค์กรที่ไร้ซึ่งจุดอ่อน หรือตัวตนอันสมบูรณ์ใดๆ นั้น มันไม่มีอีกแล้วในคติสากล มันมีแต่มนุษย์เหมือนๆ กัน มนุษย์ธรรมดาปกครองมนุษย์ธรรมดา ปุถุชนผู้ซึ่งสามารถทำผิดพลาดได้ พลาดพลั้งได้ เมื่อพลาดได้ ก็จึงต้องมีระบบที่มาตรวจสอบ ป้องกันความผิดพลาดนั้น หรือหากป้องกันไม่อยู่ก็จะได้มีมาตรการลงโทษได้ นี่คือโลกในยุคสมัยที่เราอยู่กันมิใช่หรือ?
เรามีสื่อมวลชนคอยตรวจสอบ มีประชาชนคอยสอดส่อง
การกระทำของรัฐ และมีการเลือกตั้งในฐานะกลไกหลัก
ในการบอกกับผู้ใช้อำนาจบริหารและผู้จะมาเป็นตัวแทนเสียงของเรา
ว่าเราเฝ้าดูอยู่ หากไม่ทำประโยชน์ให้ดีพอ เราจะไม่เลือกคุณนะ
แน่นอนคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเองก็คือมนุษย์ปุถุชน ก็ย่อมมีความผิดพลาดได้ เราอาจเลือกคนที่ก่อปัญหาในการปกครอง ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ระบอบที่ประกันว่าจะไม่เกิดเรื่องแย่ๆ ขึ้น เรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ประชาธิปไตยมันคือระบอบที่บอกกับเราไงว่า ถึงพลาดก็แก้ตัวใหม่ได้ แก้ตัวใหม่ก็อาจจะพลาดได้อีก แต่เรามีโอกาสแก้ตัวใหม่ซ้ำๆ ไปเรื่อย ระบอบประชาธิปไตยมันจึงเป็นกระบวนการการเรียนรู้ไปในตัว ให้ประชาชนรู้จักกับผู้ใช้อำนาจทางการปกครองแทนตนให้ดึ รู้ด้านดี รู้ด้านเสียให้ครบ ซึ่งมันใช้เวลา
พูดง่ายๆ ว่าในโลกร่วมสมัยนี้ไม่ได้ต้องการประชากรที่มุมมองต่อสถาบันทางการเมือง คติแนวคิดทางการเมือง หรือตัวตนในทางการเมืองใดๆ ด้วยความรักแบบ Agape อีกแล้ว รักที่มืดบอดมันนำมาซึ่งปัญหาและขัดกับวิถีการปกครองในโลกปัจจุบัน และการมีความรักแบบที่ว่าต่อตัวตนทางการเมืองในลักษณะที่ว่าในโลกปัจจุบันก็มีแต่กลายเป็นที่น่าขบขันของสังคมโลกไป
แนวโน้มของสังคมที่จะอยากให้เกิดประชากรที่มีความรักต่อสังคมและการเมืองแบบมืดบอดในโลกร่วมสมัยนี้ก็ดูจะมีแต่ในประเทศเผด็จการ ที่มักใช้ข้ออ้างแบบเดียวกับนักปกครองเมื่อสองพันกว่าปีก่อนในกรุงโรม ว่าพวกตนนั้นเก่งกล้าสามารถ เป็นผู้มากด้วยศีลธรรมความดี และทำการปกครองด้วยระบอบนี้ (อภิชนาธิปไตย) ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนหมู่มากทั้งนั้นแหละ นี่คือการเสียสละตนอันยิ่งใหญ่เพื่อสังคม เพราะฉะนั้นประชาชนทั้งหลายก็สมควรจะรักผู้ปกครองที่มากด้วยคุณวุฒิเหล่าด้วยรักแบบ Agape เสีย
อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราเองก็ต้องมาคอยสำรวจตัวเองว่าเรามีความรักแบบใด ให้กับใครบ้างนะครับ
Illustration by Namsai Supavong