อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปดูงาน ‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : ว่าด้วยความหลากหลายและความลื่นไหลทางเพศ’ ซึ่งน่าจะเป็นนิทรรศการแรกๆ ในไทยที่ว่าด้วย LGBTQ ซึ่งเป็นนิทรรศการหมุนเวียนของมิวเซียมสยาม (Museum Siam) เหมือนเมื่อปีที่แล้วที่มีนิทรรศการ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!’ (2560)
เหมือนชื่อของมัน ‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติฯ’ อธิบายถึง ‘ความเป็นชาย ’และ ‘ความเป็นหญิง’ ที่เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม อย่างไรก็ดีสิ่งประกอบสร้างชุดนี้กลับเป็นเครื่องคุมขังจองจำบุคคลให้มีเพียงอัตลักษณ์เพียง 2 อย่าง เพศสภาพชายกับเพศสภาพหญิงแบบขั้วตรงข้าม และมีเพียง 1 เพศวิถีภาคบังคับ เป็นรักต่างเพศ ให้รักเพศตรงข้ามชายกับหญิง แต่แท้จริงแล้วโลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศสภาพเพศวิถี ไม่ได้มีแค่ชายหญิงคู่กัน นิทรรศการนี้จึงเป็น 101 สำหรับทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานกับสิ่งประกอบที่เรียกว่า ‘เพศสภาพ’ ชวนทำความรู้จักความหลากหลายและความลื่นไหลทางเพศเบื้องต้น
นิทรรศการจำลองห้องโถงให้เป็น Walk-in closet สีรุ้งขนาดใหญ่ดารดาษกระจัดกระจายไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ เหมือนบ้านของเราเอง ซึ่งรวบรวมมาจากบุคคลต่างๆ ทางบ้านส่งมาร่วมกิจกรรมจัดแสดง มีข้อความเล็กๆ สั้นๆ ประกอบ (ซึ่งเล็กไปจนขี้เกียจอ่าน และสั้นมากเหมือนไม่สุด) เขียนบอกเล่าเรื่องราวโดยเจ้าของวัตถุจัดแสดงที่ชื่นมื่นขื่นขม
แต่ละวัตถุจึงบอกเล่าเรื่องราวและความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของเจ้าของ การค้นพบตนเอง การแสวงหาการยอมรับจากสิ่งแวดล้อมคนใกล้ตัวของพวกเขาและเธอ บางชิ้นเต็มไปด้วยความรัก ความสุข โรแมนติกระหว่างคนรักเพศเดียวกัน ความซึ้งที่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว บางชิ้นก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดอึดอัด ความเศร้า ความสับสนและปลดปล่อยระหว่างความต้องการของตนเองในระดับปัจเจกกับสิ่งประกอบสร้างสังคม ที่แม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งสมมติแต่มันกลายเป็นกฎเหล็กเพราะมันเข้ามากำหนดกำกับผ่านกลไกและสถาบันทางสังคมต่างๆ เช่น ครอบครัว ศาสนา การศึกษา
ข้าวของแต่ละชิ้นจึงเป็นทั้งอนุสรณ์แห่งชัยชนะ บาดแผลและอาวุธจากการต่อสู้ต่อรองกับพ่อแม่ คุณครู โรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัทห้างร้าน หน่วยงานราชการไปจนถึงวัด
นิทรรศการไม่เพียงทำให้ชวนให้ผู้เข้าชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งของที่จัดแสดง ชวนให้ย้อนกลับไปมองอดีตว่าถูกประกอบสร้างมาอย่างไร ด้วยโครงสร้างสังคมแบบไหนกันผ่านสิ่งของเครื่องใช้ของคนอื่น ไม่เฉพาะเสื้อเชิ้ตหล่อๆ ของ ‘พอลลีน งามพริ้ง’ ที่ซื้อให้ ‘พินิจ’ ใส่, เสื้อยืดของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอหันมาเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศผ่านฟิล์ม, นิตยสารที่คำ ผกา ถ่ายแบบลงปก, ลิปสติกรูปจู๋ของเคท ครั้งพิบูลย์, ยูนิฟอร์มของท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม แต่ยังรวมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีความหมายมากกว่าตัวของมัน
ตั้งแต่ใบรับรองแพทย์ให้แปลงเพศ, คำร้องให้แก้ไขระเบียบมหา’ลัยอนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตรงตามเพศสภาพเข้าห้องสอบได้แทนเพศกำเนิด, เอกสารราชการคำร้องขอจดทะเบียนและบันทึกทะเบียนครอบครัวที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากคู่สมรสทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเพศเดียวกัน,ยกทรงที่ถูกแม่ใช้อีโต้ฟันเพราะไม่อยากให้ลูกชายใส่, วิทยานิพนธ์, ใบปริญญาบัตร, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ทำให้คนรักเพศเดียวกันไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้, นวนิยายของ Virginia Woolf เรื่อง ‘Orlando’, ตุ๊กตาของผู้พิการทางสายตา, เครื่องแบบรปภ.,รองเท้าสตั๊ดที่ใส่เตะบอลเพราะเชื่อว่าผู้ชายแมนๆ เตะบอล, จิ๋มปลอม, ผ้ารัดหน้าอก, ยาฮอร์โมน, แท่งโมลด์หลังผ่าตัดแปลงเพศ, สมุดเฟรนด์ชิปที่ยืนยันเพศสภาพที่เธอเป็น
มีสมุดพกที่คุณครูประจำชั้นจับตาตรวจสอบและตีตราเด็กว่า ‘เรียบร้อยมากจนเกือบเหมือนผู้หญิง’, รูปถ่าย,ลูกวอลเลย์บอล, กล่องดนตรี, จดหมาย, ผ้าขนหนูที่มาโพกหัวแทนผมยาว, วิก, รองเท้าผู้หญิงไซส์ใหญ่, หนังสั้น, นิตยสาร POP, ถ้วยรางวัล,สายสะพายจากการประกวด Miss Queen Rainbow Sky, ชุดประจำชาติที่ใส่ประกวด Mr. Gay World, จีวร, หมวกทหาร, ฮิญาบ, ไปจนถึง เทปเพลงพี่ปุ๊ อัญชลี
บางอันเห็นแล้วก็ทำให้น้ำตารื้น บางอันก็ทำให้อมยิ้มในใจ
เนื่องจากเรื่องเล่าและคำพรรณนาของ LGBTQ ในฐานะคนชายขอบไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หากแต่เป็นการเมืองและอาวุธในการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นการตรวจสอบและรื้อสร้างภาพเหมารวม stereotype เดิมที่ถูกกระแสหลักนิยามหรือยัดเยียดความหมายแบบแบนๆ ตายตัว
เพราะคำพรรณนาของพวกเขาและเธอมีรายละเอียด ซับซ้อนกว่าเรื่องราวของคนในกระแสหลักเล่าแทน และพร่าเลือนเส้นแบ่งเป็นขั้วตรงข้ามแบบทวิลักษณ์ออกไป เช่น ชาย-หญิง, subject-object, ผู้กดขี่-ถูกกดขี่ เพราะในเรื่องเล่าและคำพรรณนาไม่ใช่หรือมีทั้ง ‘ความเป็นชาย’ หรือ ‘ความเป็นหญิง’ มีทั้งเป็นประธานของเรื่องและผู้ถูกกกะทำ และเผยให้เห็นบริบทของการกดทับในชั้นต่างซ้อนกัน ชนชั้น ชาติพันธุ์ ช่วงวัย ที่ในเรื่องเล่า ผู้เล่าอาจจะเป็นผู้ถูกกดทับและกดทับเสียเองในเวลาเดียวกันก็ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องเล่าของคนชายขอบไม่ใช่การพร่ำเพ้อพรรณนาบ่นกระปอดกระแปด แต่จะทำหน้าที่สร้างข้ออภิปราย โต้แย้ง วิพากษ์และสร้างชุมชนของการเล่าเรื่อง[1]
ภายในจักวาลของตู้เสื้อผ้าแห่งนี้ สิ่งจัดแสดงหลายชิ้นจึงมีทั้งกุญแจที่เปิดประตูพาออกไปสู่โลกภายนอกตู้เสื้อผ้าและหลายชิ้นก็เป็นสิ่งที่จะถูกเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า ‘ตู้เสื้อผ้า’ ที่วัฒนธรรมย่อยของ LGBT ในปลายศตวรรษที่ 20 อุปมาเหมือนดั่งพื้นที่ส่วนบุคคลที่ปกปิดมิดชิด ‘closeted’ และ ‘in the closet’ จึงหมายถึง LGBTQ ผู้ที่ยังไม่เปิดเผยไม่ยอมรับตนเองและสำนวน “come out of the closet” ที่หมายความว่าเปิดตัวแล้วจ้า เพลงที่ชื่อ “I’m Coming Out” ของ Diana Ross ปี 1980 จึงถูกนำมาเป็นเพลงชาติชาว LGBTQ ไม่เพียงเพราะเป็นชองดิสโก้ที่ชาวเกย์แห่งยุคนั้นนิยมกัน แต่เพราะถูกตีความว่าเป็นเพลงให้กำลังใจชายหญิงรักเพศเดียวกันให้กล้าที่ come out อย่างภาคภูมิใจในเพศสภาพเพศวิถีของตนเอง
แต่แสลงของวัฒนธรรมย่อยชาว LGBTQ อย่าง come out ก็มีมาก่อนหน้าอุปมาตู้เสื้อผ้าอีก
come out เดิมใช้ในความหมายของ débutante’s coming-out party ที่เด็กหญิงเพิ่งแตกเนื้อสาวของชนชั้นสูงจะปรากฏตัวเพื่อเข้าสังคมและหาคู่ตุนาหงัน จึงต้องมีงานเลี้ยงสังสรรค์สโมสรเพื่อเปิดตัวให้ยลโฉมอย่างเป็นทางการ ‘come out’ จึงเป็นการช่วงชิงความหมายที่ใช้กับคนรักต่างเพศ มาใช้กับคนรักเพศเดียวกันที่ยอมรับเพศวิถีเพศสภาพของตนเองแล้วก้าวเข้ามาในชุมชน LGBTQ
อย่างไรก็ตาม การ come out ก็แฝงไปด้วยมายาคติแบบขั้วตรงข้ามและทวิลักษณ์เช่นกัน ระหว่าง in กับ out ที่เกย์เลสเบี้ยนมักให้ความหมายว่า in คือจมอยู่ในความทุกข์ ชุดตีตราว่ารักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดบาป ชีวิตเศร้าชาวเกย์ที่ไม่มีความสุข น่าอึดอัดกว่าชีวิตที่ out เปิดตัว grand opening ออกมาเลย กลายเป็นการตีตราอีกชุดโดยคนที่ out ต่อคนที่ in[2]ขณะเดียวกัน coming out ก็ไม่ได้ช่วยให้เกย์เลสเบี้ยนไม่ถูกกดทับ โอเค มันก็ทำให้เรารู้สึกดีที่เป็นตัวของตัวเอง แต่มันก็สามารถนำตัวเราและอัตลักษณ์ของเราไปสู่การกดทับ ชุดตีตรา และตัดสินอีกรูปแบบนึง เพราะกำแพงและชุดตีตราสามารถถูกสร้างขึ้นใหม่ได้ทุกขณะจิต[3]
แต่นั่นก็ชวนให้คิดถึงพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุคนรักเพศเดียวกัน ‘Schwules Museum*’ ที่แบร์ลิน อีกเมืองที่ถือว่า gay friendly
Schwules Museum* (ใช่ๆ มีเครื่องหมายดอกจันด้วยนะเออ) พิพิธภัณฑ์หอสมุดและจดหมายเหตุสำหรับ LGBTQ ที่เปรียบเสมือนยานแม่รวบรวมหนังสือ งานวิจัย นิตยสาร ใบปลิว บทสัมภาษณ์ CD VDO ตลับเทป ภาพยนตร์ งานศิลปะ ประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อตัวตนของเพศสภาพเพศวิถีต่างๆ นิทรรศการเหตุการณ์และประวัติตัวแม่ที่เกี่ยวข้องกับคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ เช่น กวี นักวรรณกรรม คนเขียนบทละครอย่าง Oscar Wilde (1854-1900), ดาราหญิงรักหญิงที่เป็น gay icon และต่อต้านนาซีเช่น Marlene Dietrich (1901-1992), ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชายรักชายที่ยังมีชีวิตอยู่ Rosa von Praunheim (1942-ปัจจุบัน)
สำหรับห้องน้ำที่นี่แบ่งตามความถนัดในการฉี่คือยืนหรือนั่ง ไม่ได้เข้ามาวินิจฉัยเพศสภาพเพศวิถีว่าควรเข้าหรือไม่เข้าห้องไหน
‘schwul’ หรือ homosexuell ถูกแปลอย่างกว้างๆ ว่า gay ในความหมายสากล มีรากมาจาก schwul ของชาว Low Saxon ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 หมายถึงร้อนชื้นอบอ้าว ต่อมาถูกนำมาใช้เป็นภาษาเยอรมันมาตรฐาน schwül ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ขณะที่บางภาษาเยอรมันท้องถิ่นยังไม่ใช้เครื่องหมาย ̈) และต่อมาความหมายนี้ได้นำไปใช้เป็นสแลงที่สื่อถึงชายรักชายว่า ‘warmer bruder’ (warm brothers) นับตั้งแต่ 1850’s ส่วนสัญลักษณ์ * หลังชื่อนั้นก็เพื่อประกาศจุดยืนเพื่อความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี
จากแผ่นพับ ที่นี่ก่อตั้งเมื่อ 1985 มีกิจกรรมและนิทรรศการชั่วคราว สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกับพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย หอจดหมายเหตุทั่วทุกมุมโลก อัพเดทอยู่ตลอดเวลาภายใต้คอนเซ็ปต์ของประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นหอสมุดและจดหมายเหตุ รวบรวมทั้งหนังสือ นิตยสาร ใบปลิว บทสัมภาษณ์ ภาพยนตร์ CD VDO ไปจนถึงตลับเทป ตอนนั้นที่ได้ไปดู มีนิทรรศการชั่วคราวแลกเปลี่ยน ว่าด้วย Manga เกย์แหละ
เนื่องจาก Schwules Museum* เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เริ่มต้นจากชายรักเพศเดียวกันก่อน แล้วขยายประเด็นไปยังหญิงรักหญิงและคนข้ามเพศ จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าสายธารประวัติศาสตร์ ชุมชนและวัฒนธรรม LGBTQ บนพื้นที่สาธารณะ แม้จะยังคงเน้น G มากกว่าเพศสภาพอื่นๆ
กลับมาที่ ‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติ’ ที่บอกเล่าเรื่องราวบุคคลจากตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ในระดับปัจเจกเพื่อสร้างชุมชนบนพื้นที่สาธารณะ แม้ตู้เสื้อผ้าสีรุ้งแห่งนี้จะเป็นเพียงนิทรรศการชั่วคราว แต่ก็น่าดีใจที่บอกเล่าเรื่องราวข้าวที่หลากหลายจริงๆ ไม่ได้กีดกันผู้หญิงผู้ชายออกไปจากพื้นที่ และสัดส่วน LGBTQ ก็ไม่ได้เทน้ำหนักไปยังเพศสภาพเพศวิถีใดโดยเฉพาะ ทำให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศของปัจเจกบุคคล ไม่ได้มีแค่ชายกับหญิงคู่กันเท่านั้น
…ก่อนที่จะออกจากนิทรรศการไปเข้าห้องน้ำข้างประตูทางออก ที่แบ่งเพศชายหญิงตามเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] พรรวิษิษฐ์ สุขารมณ์. (2555).การยืนยันเพศที่สาม : การศึกษาแบบอัตชีวประวัติ.กรุงเทพฯ : วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา,น. 22-24.
[2] Steven Seidman, Chet Meeks, Francie Traschen. (1999), “Beyond the Closet? The Changing Social Meaning of Homosexuality in the United States.” Sexualities 2 (1).
[3] Judith Butler. (2009). Imitation and Gender Insubordination. Cultural Theory and Popular Culture: An Anthology. Ed. J. Storey. (pp. 224 – 238) Harlow: Pearson.