ดิฉันว่าโอลด์ แทรฟฟอร์ด (old trafford) น่าจะเป็นสถานที่ที่หลายคนอยากไปมากๆ เวลาพูดถึงแมนเชสเตอร์ แต่ถ้าคุณคิดว่า คุณแค่จองตั๋วไปลงสถานีรถไฟแมนเชสเตอร์ คุณก็สามารถเดินดุ่ยๆ เข้าสนามได้แล้ว ชีวิตจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะพอคุณจะจองปั๊บ คุณจะงงว่าคุณจะต้องนั่งรถไฟไปลงที่ไหน ทำไมมีสถานีชื่อขึ้นต้นด้วย manchester มากมายเหลือเกิน คุณอาจจะเข้าใจว่าคุณสามารถจองรถไฟไปลงที่สถานี manchester united football ground ได้ แต่นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 สถานีนี้ถูกระงับไป เพราะมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลงสถานี manchester picadilly หรือ manchester oxford road ก็ได้ แล้วต่อรถรางจากในตัวเมืองไปลงที่สถานี old trafford หรือจะนั่งรถประจำทางก็มีหลายสายให้เดินทางไปได้ อย่าลืมเช็ควันที่ให้ดีๆ นะคะ แมตช์ของเราวันไหน และถนนเส้นไหนปิดบ้าง คนที่ไม่ใช่แฟนบอลก็ควรเช็คแมตช์บอล (ใช้ google เช็คได้เลยค่ะ) ว่าวันนี้ทีมไหนเล่นอะไรยังไง สนามมีคนมาแข่งไหม จะได้รู้ว่าในเมืองคนเยอะคนน้อยแค่ไหน ในรถไฟคนจะแน่นแค่ไหน
แต่ถ้าคุณไม่ได้อินฟุตบอล แมนเชสเตอร์ก็มีอย่างอื่นให้คุณได้เดินเที่ยวชม ทั้งหอศิลป์ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โบสถ์ รวมทั้งร้านรวงต่างๆ มากมายให้เลือกสรร สิ่งที่ดิฉันชอบทำทุกครั้งเวลาไปแมนเชสเตอร์ คือการถ่ายรูปที่จตุรัสเซนต์ปีเตอร์ (st. peter square) ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่สำคัญๆ ของเมืองแมนเชสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นหอสมุดกลางแมนเชสเตอร์ (manchester central library) หรือศาลาว่าการเมืองแมนเชสเตอร์ หากคุณแวะมาช่วงคริสต์มาส ลานด้านหลังศาลาว่าการจะกลายเป็นตลาดคริสต์มาส ให้คุณได้จับจ่ายซื้อของด้วย ถ้าคุณชอบดูอะไรเล็กๆ น้อยๆ ลองหาลวดลายผึ้งที่ประดับประดาอยู่แทบจะทุกหนทุกแห่ง เพราะ ‘ผึ้ง’ สัญลักษณ์แห่งความขยันขันแข็งและความอุตสาหะ เป็นสัตว์ประจำเมืองแมนเชสเตอร์ เมืองซึ่งเติบโตได้ด้วยอุตสาหกรรมและแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ จนแมนเชสเตอร์ถูกเรียกว่า cottonopolis หรือนครฝ้ายเลยทีเดียว
แต่กะเทยคิดมากอย่างดิฉัน ไม่เคยรู้สึกยินดีปรีดาอย่างเดียวอยู่แล้ว จุดประสงค์ที่แท้จริงของดิฉันไม่ได้จะมาดูแสงสีที่แมนเชสเตอร์อย่างเดียว (แสงสีเขามากมายกว่าเมืองเชฟฟีลด์ของดิฉันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว) แต่ดิฉันเดินทางมาย้อนรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ณ บริเวณไม่ไกลจากจตุรัสเซนต์ปีเตอร์
เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1819 เรียกกันภายหลังว่าเหตุสังหารหมู่ปีเตอร์ลู (peterloo massacre) เป็นเหตุชุมนุมคนงานถึงหกหมื่นคน เพื่อเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งและการปฏิรูปกฎหมาย แต่ตุลาการ (magistrate) ประจำเมืองสั่งให้ทหารเข้าปราบปราม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 600 คน และมีผู้เสียชีวิตสิบสี่คน
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องแมนเชสเตอร์
อย่างที่ดิฉันบอกไปเมื่อครู่ว่าแมนเชสเตอร์เป็นนครฝ้าย เมืองอุตสาหกรรมผ้าอันดับต้นๆ ของอังกฤษและของโลก แน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้ไมได้ไปเก็บฝ้าย ร้องเพลง แล้วก็ปั่นฝ้าย โดนเข็มทิ่มหลับไปแบบเจ้าหญิงนิทรา แต่นี่คือการผลิตผ้าในระดับอุตสาหกรรม แรงงานในแมนเชสเตอร์มีจำนวนมหาศาล แต่มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก เหตุแตกหักที่แมนเชสเตอร์ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งสะท้อนความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมอังกฤษได้เป็นอย่างดีนั้น มีรากเหง้ามาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบแปดต้นศตวรรษที่สิบเก้า ถ้าคุณได้ตามอ่านประวัติศาสตร์ช่วงนี้ คุณอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า โลกกำลังจะแตกจริงๆ
ถ้าคุณจำได้ว่าปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรในโลกตะวันตกบ้าง คุณน่าจะนึกออกว่า ค.ศ. 1776 จุดเริ่มต้นสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา และ ค.ศ. 1789 เกิดปฏิวัติฝรั่งเศส โค่นล้มราชวงศ์บูร์บง (bourbon) อังกฤษเองก็กลัวภัยรอบด้าน กลัวจะเกิดการลุกฮือ กลัวจะเกิดการโค่นล้มและการท้าทายอำนาจ รัฐบาล ณ ตอนนั้นจึงค่อนข้างเป็นรัฐบาลอนุรักษ์นิยม เน้นความคิดชาตินิยม เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้ทำให้เกิดรัฐบาลประชาธิปไตยในทันที แต่นำไปสู่การยึดอำนาจของนายพลนโปลิยง โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) หรือที่เรียกกันว่านโปเลียน ผู้สถาปนาตนเป็นพระจักรพรรดิ นโปลิยงได้ท้าทายความมั่นคงของรัฐต่างๆในยุโรป จนเกิดการประชุมระหว่างรัฐต่างๆ เพื่อหาทางปราบนโปเลียนลง นำไปสู่สงครามนโปเลียน การเกณฑ์ทหารในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้ถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบจึงเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลอนุรักษ์นิยมก็ยิ่งเป็นอนุรักษ์นิยมยิ่งกว่าเดิม กองทัพในตอนนั้นจึงมีอำนาจมาก แรงงานถูกเกณฑ์แล้วเกณฑ์อีกเพื่อไปรบทั้งที่อเมริกาและรบในสงครามนโปเลียน
ศึกสงครามส่งผลให้อังกฤษมีปัญหาภายใน หรืออาจกล่าวได้ว่าศึกสงครามมาเปิดเผยปัญหาภายในของอังกฤษที่มีมานานแล้ว สงครามทำให้เกิดการปิดน่านน้ำและพรมแดนหลายครั้ง ทำให้สินค้าธัญพืช ซึ่งอังกฤษต้องอาศัยการนำเข้าราคาสูงขึ้น ยิ่งช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้า การเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตน้อย ณ ค.ศ. 1815 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติธัญญาหาร (corn law) ซึ่งตั้งกำแพงภาษีแก่ธัญพืชนำเข้า และจำกัดการนำเข้าธัญพืช นอกจากนี้ยังตรึงราคาธัญพืชในประเทศอีกด้วย ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดีกับเศรษฐกิจอังกฤษ แต่ก็ดีเฉพาะกับชนชั้นสูงเจ้าของที่ดินเท่านั้น ชนชั้นแรงงานซึ่งต้องกินขนมปังประทังชีวิตนั้นไม่มีเงินพอจะซื้อขนมปังซึ่งราคาแพงขึ้น
ในขณะเดียวกัน การปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งนำเอาเครื่องจักรต่างๆ มาใช้งาน (ถ้าเป็นกรณีของแมนเชสเตอร์คือหูกทอผ้า) ทำให้แรงงานจำนวนมาก (ซึ่งโดนไล่ที่มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าสิบหกเพราะชนชั้นมีอันจะกินได้ล้อมรั้วเอาไปทำฟาร์มทำสวนกันหมด) ประท้วงโดยการพังเครื่องจักร เกิดกบฏที่เรียกว่า ลัดไดท์ (luddite) ตามชื่อ เน็ด ลัดด์ (Ned Ludd) ผู้นำประท้วงคนแรกซึ่งผลักหูกทอผ้าลง ตามด้วยกลุ่มห่มผ้า (blanketeers) ใน ค.ศ. 1817 ซึ่งเดินเท้าลงมาจากแมนเชสเตอร์เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาเครื่องจักรแย่งงานมนุษย์ ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะเขาห่มผ้าเพื่อป้องกันตัวเองจากความหนาวเย็น ในที่สุดกลุ่มห่มผ้าถูกจับระหว่างทางจนเหลือไปถึงกรุงลอนดอนแค่คนเดียว ซึ่งก็โดนลงโทษเช่นกัน รัฐบาลอนุรักษ์นิยมและชนชั้นสูงในตอนนั้นกลัวการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งเกิดมาแล้วในกรณีสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส จึงปราบปรามผู้ประท้วงทุกวิถีทาง
ในขณะเดียวกัน ชาวบ้าน โดยเฉพาะทางเหนือและตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็เริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาลเพราะเขาไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองเลย เขารู้สึกว่าจะรบไปทำไมในเมื่อประเทศไม่ใช่ของเขา หลายคนอาจจะงง เอ๊ะ อังกฤษไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเหรอคะ ทำไมชาวบ้านเขาไม่ได้เลือกตั้ง คำตอบคือเป็นค่ะ แต่เขาให้สิทธิ์คนจำนวนน้อยมากในการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือชนชั้นผู้ดีมีที่ดิน (landed gentry) ทั้งหมด
การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ไม่เป็นไปตามสัดส่วนประชากร แมนเชสเตอร์ซึ่งมีประชากรเป็นจำนวนมาก (ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน) ไม่มี ส.ส. เป็นของตัวเอง ในขณะที่เขตเลือกตั้งอย่างโอลด์ ซารัม (old sarum) หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ๆ เมืองซอลส์บรี (salisbury) มี ส.ส. สองคน ณ ตอนนั้นมีนักคิดหลายคนที่ออกมาสนับสนุนสิทธิเลือกตั้งถ้วนหน้า (แต่มักจะหมายถึงผู้ชายทุกคน) เช่นโทมัส เพน (Thomas Paine) ผู้เขียนหนังสือสิทธิมนุษย์ (The Rights of Man) หรือ จอห์น ไบรท์ (John Bright) ชาวแมนเชสเตอร์ ผู้ต่อต้านพระราชบัญญัติธัญญาหาร เป็นต้น
แมนเชสเตอร์กลายเป็นศูนย์รวมของความแตกหักระหว่างชนชั้นในทุกกรณี เพราะเป็นเมืองที่มีช่องวางทางชนชั้นกว้าง มีชนชั้นแรงงานมาก เคยเดินทางประท้วงการมาก่อนหน้านี้แล้ว และเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องจักร การชุมนุมกันเพื่อเตรียมตัวประท้วงกลางใจเมืองแมนเชสเตอร์จึงเริ่มขึ้น ณ ทุ่งหญ้านอกเมือง นอกจากกลุ่มแรงงานจะรวมตัวกันเพื่อชี้แจงจุดมุ่งหมายในการชุมนุมโดยสันติแล้ว ชนชั้นแรงงานกลุ่มนี้ยังรวมตัวกันซ้อมเดินอย่างเป็นระบบระเบียบ ณ ทุ่งหญ้าแห่งนั้น โดยหวังว่า ชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงที่ได้เห็นจะได้เห็นภาพการชุมนุมที่เป็นระบบระเบียบ ไม่โหวกเหวกโวยวายโกลาหล
นอกจากนี้ยังได้เชิญนักปราศรัยอย่าง เฮนรี ฮันท์ (Henry Hunt) หรือนายเฮนรี ฮันท์นักพูด (Henry “Orator” Hunt) นักปราศรัยผู้สนับสนุนความเท่าเทียมและเคยร่วมเหตุประท้วงหน้าหอคอยลอนดอน (tower of london) มาแล้ว และ แมรี ไฟดส์ (Mary Fildes) ประธานสมาคมปฏิรูปสตรีแมนเชสเตอร์ (manchester female reform society ) ผู้สนับสนุนสิทธิเลือกตั้งของทุกเพศ (ซึ่งต่างจากแนวคิดของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ประท้วง จากบันทึกแล้ว ผู้หญิงหลายคนออกมาเพื่อช่วยเรียกร้องสิทธิให้สามีหรือสมาชิกในครอบครัวเพศชาย)
ในวันชุมนุม ผู้คนมารวมตัวกันถึงหกหมื่นคน ณ ตอนนั้นตุลาการประจำเมืองเกรงว่าจะมีอาวุธ จึงเริ่มอ่านพระราชบัญญัติความไม่สงบ (riots act) ก่อนเพื่อเตือน แต่ไม่มีใครได้ยิน จากนั้นจึงส่งหมายเรียกทหารม้าให้เข้าล้อมจับ ต้องเข้าใจก่อนว่า ค.ศ. 1819 อังกฤษยังไม่มีตำรวจ มีตุลาการประจำเมืองหรืออะไรทำนองนั้นทำหน้าที่นี้แทน ทหารม้ากลุ่มนี้น่าสนใจเพราะไม่ใช่ทหารม้าอาชีพ แต่เป็นทหารม้าอาสา ที่เรียกกันว่า yeoman cavalry คำว่า yeoman มีความหมายแต่เดิมหมายถึงชนชั้นที่มีที่ดินของตัวเอง ประกอบอาชีพอิสระไม่ขึ้นกับนายตามแบบชนชั้นในสมัยกลาง แต่บรรดาทหารอาสาใน yeoman cavalry นั้นคือบรรดาเจ้าของโรงงานบ้าง ลูกชายเจ้าของโรงสีบ้าง ไม่มีใครแน่ใจว่าทำไมตุลาการถึงเลือกคนกลุ่มนี้มา แต่ที่แน่ๆ การปราบปรามฝูงชนซึ่งทุลักทุเลอยู่แล้ว (ทหารขี่ม้า มือหนึ่งถือบังเหียน มือหนึ่งถือดาบ ต้องเบียดเข้าไปในฝูงชนหกหมื่นคน) กลายเป็นสงครามระหว่างชนชั้น ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง
หลังจากทหารกลุ่มนี้ ก็ทำให้มีทหารอาชีพตามมาทีหลัง แต่ทหารอาชีพเหล่านี้รับไม่ได้กับพฤติกรรมของทหารอาสา มีคนเล่าว่าทหารอาสาเหล่านี้ดื่มเหล้าจนเมาก่อนปราบปรามฝูงชน การปราบปราบฝูงชนในสมัยนั้นจะใช้สันดาบกันคนออกไปจากบริเวณชุมนุม แต่ด้วยความหนาแน่นและความโกลาหล เหตุครั้งนี้กลายเป็นการตะลุมบอน จนมีผู้เสียชีวิตสิบสี่คน และบาดเจ็บอีกราวหกร้อยคน จำนวนผู้บาดเจ็บอาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่าไม่มีใครกล้าเล่าให้นักข่าวฟังว่าตัวเองไปร่วมชุมนุมมาเพราะกลัวทางการจะตามมาเล่นงานอีก นักข่าวหลายคนในตอนนั้นถูกจับด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ถึงแม้หนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับจะเคยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมมาเสมอ แต่การปราบปราบผู้ประท้วงครั้งนี้ถือเป็นความรุนแรงเกินจะรับได้ จนบางคนเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเหตุสังหารหมู่ปีเตอร์ลู เพื่อล้อเลียนสมรภูมิวอเตอร์ลู ซึ่งทหารอังกฤษได้รับชัยชนะ
ดิฉันก็ทำเก่ง อวดคุณผู้อ่านว่ารู้เรื่องราวเยอะแยะสารพันมาได้ถึงตรงนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เห็นกับตาตัวเอง (แหงอยู่แล้ว) ความเป็นจริงคือดิฉันรู้จักเหตุประท้วงชวนสลดใจครั้งนี้ตอนเรียนวิชาวรรณคดีโรแมนติก ในบทกลอนชื่อ The Mask of Anarchy หรือบางที่จะสะกด The Masque of Anarchy ของ เพอร์ซี บีช เชลลี (Percy Bysshe Shelley) กวีโรแมนติก ผู้อ่านที่ไม่รู้จักกลอนบทนี้อาจจะคิดว่ากลอนเล่าว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร เจ็บตายเท่าไร ใช่ไหม เปล่าเลยค่ะ เชลลีไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยซ้ำ ตอนเกิดเหตุ เชลลีอยู่อิตาลี รู้ข่าวจากหนังสือพิมพ์หนึ่งเดือนให้หลัง
ดิฉันชอบตรงที่เชลลีไม่ได้เอาข่าวจากหนังสือพิมพ์มาเขียนเล่าทันที แต่เชลลีเล่ามันด้วยภาพเปรียบ เชลลีเปรียบเหตุประท้วงครั้งนี้เหมือนระบำหน้ากาก (masque) ของมิคสัญญี (หมายเหตุ: ดิฉันไม่ขอแปล anarchy ว่าอนาธิปไตย เพราะจะชวนให้นึกถึงความหมายของสภาวะไร้รัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการนองเลือด)
ระบำหน้ากากนั้นปกติแล้วเป็นการแสดงเพื่อเฉลิมเกียรติคนใหญ่คนโต เป็นการแสดงที่เจ้าขุนมูลนายจะจ้างให้แสดง แต่ระบำหน้ากากของเชลลีเริ่มด้วยบุคลาธิษฐาน (หรือการทำให้คุณค่านามธรรมมีรูปลักษณ์เป็นคน) ของฆาตกรรม การฉ้อฉล และการหน้าไหว้หลังหลอก ตามด้วยมิคสัญญี ซึ่งมีรูปลักษณ์เป็นโครงกระดูก บรรดาพระและขุนนางต่างก็ร้องสรรเสริญมิคสัญญีกันใหญ่ ในขณะที่ประชาชนล้มตาย บุคลาธิษฐานของความหวังปรากฏตัวขึ้น ในขณะที่ความหวังกำลังจะถูกเหยียบก็เหมือนมีร่างเนรมิตสูงเยี่ยมเทียมฟ้าสังหารมิคสัญญีลง จากนั้นกลอนก็กล่าวถึงพระธรณีของอังกฤษ ซึ่งออกมาเล่าว่าประชาชนของอังกฤษนั้นเป็นคนเสรี อย่าได้ยอมแพ้คนที่มาข่มเหง อะไรก็ว่าไป จนจบเรื่อง เชลลีแทบจะไม่พูดถึงเหตุการณ์เลย และไม่ได้อ้างว่าตัวเองรู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กระนั้นเชลลีก็ส่งพลังทางอารมณ์ ผ่านกลอนที่เขียนด้วยภาษาง่ายๆ (เพราะเชลลีหวังจะให้คนได้อ่านทุกกลุ่ม) ลักษณะกลอนของเชลลีนั้นคล้ายกลอนบัลลาด (ballad) ซึ่งใช้เป็นทั้งกลอนรัก และกลอนแจ้งข่าวในหมู่ชาวบ้าน
หลังจากมิคสัญญีถูกสังหาร พระธรณีได้สอนอย่างตรงไปตรงมาว่าสภาวะการเป็นทาสเป็นอย่างไร (แน่นอนว่า ตรงนี้ไม่ได้หมายถึงแค่แรงงานในแมนเชสเตอร์ แต่หมายถึงทาสแอฟริกันด้วย เพราะตอนนั้นยังไม่เลิกทาส) โดยพูดถึงการจ่ายค่าจ้างชนิดแทบไม่พอยาไส้ ตามด้วยการมองแรงงานเป็นเพียงเครื่องจักรชิ้นหนึ่งให้แก่คนรวย หรือสภาวะการไม่มีความคิดเป็นของตัวเองในหมู่ทาส ในตอนจบของกลอน พระธรณีได้เสนอให้ใช้วิธีอหิงสา เอาชนะความโหดเหี้ยมของคนที่จะรู้สึกอับอายเมื่อฆ่าฟันสิ่งที่ไม่ได้ทำอันตรายให้ตน น่าเศร้าตรงที่กลอนของเชลลี ซึ่งส่งให้ ลี ฮันท์ (Leigh Hunt) บรรณาธิการวารสาร The Examiner ตีพิมพ์นั้นไม่ได้เผยแพร่หลังจากผ่านไปมากกว่าสิบปี (เชลลีได้เสียชีวิตไปแล้ว) เพราะลี ฮันท์เกรงว่าหากตีพิมพ์ บทกลอนจะถูกรัฐบาลระงับการพิมพ์
กลอนของเชลลีจึงไม่ได้ตอบโต้กับรัฐบาลทันทีทันใด เช่นเดียวกัน การชุมนุมของแรงงานในแมนเชสเตอร์ก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหลังจากนั้นทันทีเช่นกัน ถึงแม้หนังสือพิมพ์หลายฉบับจะวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงจากรัฐบาลก็ตาม ซ้ำร้าย รัฐบาลกลับออกกฎหมายรุนแรงเสียยิ่งกว่าเก่า โดยออกพระราชบัญญัติหกฉบับ (หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า six acts) เพื่อควบคุมการรวมตัวของฝูงชน อีกทั้งยังเก็บภาษีหนังสือพิมพ์มหาศาล เพื่อให้หนังสือพิมพ์น้อยลงอีกด้วย (แต่เหตุการณ์ประท้วงนี้ทำให้เกิดหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งชื่อว่า The Manchester Guardian ซึ่งทุกคนในปัจจุบันนี้รู้จักกันในชื่อหนังสือพิมพ์ The Guardian นั่นเองค่ะ)
กว่ารัฐบาลจะโอนอ่อนผ่อนปรนลง ก็ราวทศวรรษ 1830 หลังรัฐบาลเสียงแตกกันเรื่องให้สิทธิชาวคาทอลิกในประเทศ และเปิดหนทางให้เสรีภาพด้านอื่นๆ นั่นคือใน ค.ศ. 1832 เกิดพระราชบัญญัติปฏิรูป ซึ่งให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้ชายชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงานซึ่งต่อสู้มาตั้งแต่สมัยลัดไดท์ก็ตั้งขบวนการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของตัวเองขึ้นมา เช่นเดียวกับกลุ่มผู้หญิงในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะทางเหนือ ก็กำลังเริ่มขบวนการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้หญิงเช่นกัน กว่าชนชั้นแรงงานจะได้สิทธิเลือกตั้งก็ปลายศตวรรษที่สิบเก้าแล้ว ส่วนผู้หญิงก็ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ
กลอนของเชลลีนั้นเป็นกลอนปลุกใจ ใช้ภาษาง่าย และเข้าถึงคนได้จริง แต่กระนั้นนักวิจารณ์ร่วมสมัยและในปัจจุบันก็ยังมองว่าเชลลีไม่เคยก้าวข้ามพ้นตัวเอง แมทธิว อาร์โนลด์ (Matthew Arnold) นักเขียนผู้เกิดหลังจากเชลลีไม่นาน พูดว่า ปัญหาของเชลลีคือเชลลีไม่เลิกพูดเรื่องตัวเองสักที นักวิจารณ์ยุคปัจจุบันเห็นด้วยกับกรณีนี้ เช่น ดร. อลิสัน มอร์แกน (Dr. Alison Morgan) ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ เชลลีสามารถส่งกลอนบทนี้ให้หนังสือพิมพ์หัวรุนแรงใต้ดินฉบับอื่นๆ ก็ได้ (หนังสือพิมพ์เหล่านี้ใช้วิธีขนหนังสือใส่โลงศพเอา) แต่เชลลีเป็นลูกผู้ดีมีที่ดินที่ชอบยกตนข่มท่าน (ถึงแม้จะสนับสนุนความเท่าเทียม งงไหม) เพราะฉะนั้น เชลลีเองก็เหมือนจะแอบเหยียดหนังสือพิมพ์ใต้ดินเหล่านี้ จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะการพิมพ์กับ ลี ฮันท์ก็ทำให้คนได้เห็นบทกลอนได้ทั่วจริงๆ แต่มันก็ไม่ใช่การตอบโต้ปัจจุบันทันที
The Masque of Anarchy ถูกกวีในยุคปัจจุบันอย่าง อวีวา เดาทช์ (Aviva Dautch) วิจารณ์ว่าเป็นกลอนที่ให้ภาพทุกอย่างขาวดำค่อนข้างชัดเจน และไม่ทำให้คนได้เห็นความซับซ้อนในความขัดแย้งทางการเมือง นี่อาจจะเป็นการดูถูกผู้อ่านของเชลลีกลายๆ หรือเปล่า (ถ้าฉันไม่ทำให้ง่าย เธอจะไม่เข้าใจ) ดิฉันขอเสริมว่ากลอนครึ่งหลังมีลักษณะเทศนาผสมกับให้กำลังใจ ดูเหมือนดูถูกผู้เข้าชุมนุมอย่างไรพิกล และขอเสริมอีกเช่นกันว่า วิธีอหิงสานั้นอาจทำให้เกิดความละอายจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ก่อการจะยอมรับว่าละอาย หรือแม้แต่จะรู้สึกละอายขึ้นมา
แต่ถึงอย่างนั้น กลอนของเชลลีก็ใช่ว่าจะไร้ค่าหรือไร้พลัง เพราะกลอนของเชลลี ซึ่งเขียนเนื่องด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่ปีเตอร์ลูนั้น กลายเป็นกลอนที่คนมากมายยกไปสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่อื่นๆ โดยเฉพาะกลอนบทที่ 38 ซึ่งกล่าวว่า
‘Rise like Lions after slumber
In unvanquishable number,
Shake your chains to earth like dew
Which in sleep had fallen on you –
Ye are many – they are few.’
ดิฉันพอจะแปลหยาบๆ ได้ว่า
จงผงาดดุจราชสีห์ตื่นนิทรา
ด้วยมวลหมู่มหาศาลต้านไม่ได้
สลัดโซ่ประหนึ่งปัดน้ำค้างพราย
เรามากมายมันหยิบมือลุกฮือพลัน
บรรทัดสุดท้ายของบทนี้ถูกพูดถึงเสมอๆ ในบริบทการประท้วงทั่วโลก และน่าจะเป็นที่มาของคำขวัญพรรคแรงงาน ณ ปัจจุบัน ซึ่งกล่าวว่า For the Many, not the Few เพื่อคนหมู่มาก ไม่ใช่คนกลุ่มน้อย แม้กลอนของเชลลีจะไม่สมบูรณ์แบบด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ทั้งกลอนและทั้งภาพเหตุการณ์สังหารหมู่ก็ยังส่งแรงกระเพื่อนมาถึงยุคปัจจุบันได้
ดิฉันเดินทางมายังแมนเชสเตอร์ มองตามแผนที่ไม่ไกลก็เจออนุสรณ์สถานหน้าตาเหมือนเค้กแต่งงาน ตั้งอยู่หน้าศูนย์ประชุมกลางประจำแมนเชสเตอร์ (manchester central convention complex) มีคนนำดอกไม้ประดิษฐ์ไปวางบนยอดอนุสรณ์สถาน ดิฉันมองดูรอบๆ เห็นสัญลักษณ์ต่างๆที่สื่อถึงความยุติธรรมและการร่วมแรงร่วมใจ ดิฉันเห็นสัญลักษณ์กระสวยทอผ้า เห็นรูปหัวใจ เห็นรูปดาบอาหรับ (scimitars) และกระบี่ (sabre) วางพาดทับกัน เห็นช่อมะกอก (คาดว่า) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปรองดองและสงบศึก อนุสรณ์สถานนี้มีคนร้องเรียนให้ทางการสร้างมามากกว่าสิบปี และในที่สุดได้สร้างเนื่องในโอกาสครบ 200 ปีเหตุการณ์นี้ มันเป็นเครื่องยืนยันว่าแมนเชสเตอร์ไม่ได้มีแต่ผีแดง แต่ยังมีผีประวัติศาสตร์ของผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายจากการสังหารหมู่ด้วย
ถึงดิฉันจะวิจารณ์กลอนบทนี้ที่เชลลีเขียน แต่ดิฉันก็ยอมรับว่าเพราะเชลลีนี่แหละ ดิฉันถึงมาถึงที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ และไปเดินหาข้อมูลต่อที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประชาชน (people’s history museum) ที่แมนเชสเตอร์ด้วย ได้เห็นผู้คนสร้างงานศิลปะต่อยอดจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มากมาย