สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานปั่นจักรยานในสองประเทศติดๆ กัน ซึ่งทั้งสองงานก็มีส่วนเหมือนกันคือการร่วมมือร่วมใจกันปิดเมืองปั่นจักรยาน
งานแรกคืองานปั่นของฮ่องกงชื่อว่า Hong Kong Cyclothon ที่ผมอยากจะลองไปปั่นตั้งแต่ปีก่อนแล้ว พอได้โอกาสทาง Boxmatch Travel ชวนไปเลยใจง่ายตามไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็น่าตื่นตาตื่นใจที่เขาสามารถปิดเมืองฮ่องกงที่วุ่นวายเสมอเพื่อการปั่นจักรยานระดับสมัครเล่นในตอนเช้า แถมตอนบ่ายก็ปิดถนนเส้น Salisbury เพื่อให้โปรมาแข่งในรายการ Hammer Series อีก เป็นโปรเจกต์ใหญ่เอาเรื่องระดับที่ทั้งเมือง (หรือจะว่าประเทศก็คงได้) ต้องร่วมใจกันจริงๆ
ส่วนสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ผมได้ไปร่วมปั่น (จะใช้คำว่า ‘แข่ง’ ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีรางวัล) ในงาน Red Cycle Festa Marumori 2018 ในเมืองมารุโมริ ตำบลเล็กๆ ในจังหวัดมิยางิทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งก็จัดทำในรูปแบบคล้ายกันคือ ทั้งเมืองร่วมใจกันมาสร้างโปรเจกต์ในครั้งนี้ให้สำเร็จ และด้วยความเป็นเมืองขนาดเล็ก แม้จะไม่ได้เป็นการปิดเมืองปั่น แต่จริงๆ ก็เกือบจะใช่ละครับ เพราะในตัวเมืองแทบไม่มีใครออกมาขับรถไปไหน ต่างคนต่างก็มาร่วมงานนี้กัน หรือไม่ก็ออกมาเชียร์อยู่ข้างทาง
ฟังดูอาจจะชวนสงสัยหน่อยว่า ถ้าเป็นแค่เมืองเล็กๆ แบบนี้แล้วจะจัดงานปั่นจักรยานได้เหรอ มีอะไรน่าสนใจจนคนอยากจะมาปั่น?
แต่พอเอาเข้าจริงๆ แค่เปิดรับสมัครนักปั่นเข้าอีเวนต์นี้ในเวลาไม่ถึง 15 นาที จำนวนผู้สมัครก็เต็มโควตาที่รับสมัครแล้ว กลายเป็นงานปั่นจักรยานที่ถือว่าประสบความสำเร็จก็ว่าได้ แม้จะเริ่มจัดได้ไม่นานนัก เพราะครั้งที่ผมเข้าร่วมครั้งนี้คือครั้งที่ 6 นี่เอง แต่ก็ถือว่าได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อดูจากรายชื่อผู้เข้าแข่งแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นคนในจังหวัดหรือมาจากจังหวัดรอบๆ ที่พร้อมใจกันมาแข่งในงานนี้
ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ริเริ่มไอเดียในการจัดงานนี้ เขาบอกว่า ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบปั่นจักรยานอยู่แล้ว รวมถึงอยากทำอะไรให้กับบ้านเกิดซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ และไม่มีโอกาสเกี่ยวข้องอะไรกับจักรยานนัก (ขนาดหาร้านจักรยานยังไม่เจอเลย) เลยพยายามผลักดันโครงการนี้เพื่อให้คนภายนอกได้มาค้นพบเสน่ห์ของเมือง จะว่าเป็นการ ‘ปลุกเมือง’ ด้วยจักรยานก็ว่าได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ทำไมโครงการถึงได้ประสบความสำเร็จขนาดที่คนแห่กันมาสมัครกันแบบนี้
ของแบบนี้มันต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสไปปั่นในฐานะทีม Ducking Tiger ในส่วนของโควตานักปั่นต่างชาติที่เป็นแขกพิเศษ และนอกจากทีมผมเองก็มีจากอเมริกาบ้าง ไต้หวันบ้าง เกาหลีบ้าง จัดว่าอินเตอร์ดีครับ และความเป็นชาวต่างชาติก็ทำให้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวเมืองตั้งแต่วันก่อนแข่ง เพราะว่านอกจากการจัดปาร์ตี้เนื้อย่างต้อนรับพวกผมและทีมงานต่างๆ ในคืนก่อนแข่งที่สำนักงานเมืองแล้ว ด้วยความที่งานเริ่มแต่เช้า แทนที่จะพักตามโรงแรมเหมือนที่ผ่านมา พวกผมก็ได้พักในบ้านของคนในท้องถิ่นที่เปิดให้คนต่างถิ่นเข้าพักด้วย จะเรียกว่า homestay หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Minpaku ก็ว่าได้ เพราะตัวเมืองเล็กนิดเดียวเลยไม่ได้มีโรงแรม ก็ต้องอาศัยร่วมใจกันเปิดบ้านให้คนต่างเมืองพักนี่ละครับ และไม่ใช่แค่นักปั่นต่างชาติ ชาวญี่ปุ่นต่างเมืองก็ได้พักในบ้านคนท้องถิ่นเหล่านี้ด้วย (จากที่คุยๆ มา) แถมที่โชคดีคือ บ้านที่ผมพักเป็นร้านราเม็งอายุร้อยกว่าปีแล้ว นอกจากจะได้ซุกหัวนอนแล้ว ยังมีราเม็งปลุกพลังอย่างอร่อยให้ได้กินด้วย การพักแบบนี้จึงไม่ใช่แค่เข้าไปนอนแล้วจบ แต่ได้คุยกับคนท้องถิ่นด้วย ที่น่าทึ่งคือเพื่อนของเจ้าบ้านผมก็ทำงานกับบริษัทในไทย ส่งเมลคุยงานกันตลอด แล้วจู่ๆ ก็มีลุงเพื่อนบ้านอีกคนมาคุยด้วย ซึ่งลุงก็เคยมาประจำอยู่เมืองไทยสองรอบด้วย พูดไทยได้ไม่น้อยเลย สนุกดีครับ แต่ที่ลุงอึ้งสุดคือ ไปประจำที่ไทยสองรอบ เจอรัฐประหารทั้งสองรอบ เลยได้แต่คิดว่า…รอบหน้าไม่ต้องมาแล้วนะลุง
พอถึงเช้าวันแข่งก็เปิดตัวกันหน้าสำนักงานเมืองนั่นละครับ เขาก็เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม คนก็มาเตรียมตัวกันแบบสบายๆ การปล่อยตัวเป็นแบบทีละกลุ่ม 5 คน ไม่ใช่ปล่อยแบบ mass start หรือปล่อยพร้อมกันหมดแบบในการแข่งขัน เพราะนี่คืองานที่ทุกคนมาสนุกกัน ไม่เน้นผลการแข่งขัน กระทั่งชิปจับเวลายังไม่มีเลยครับ ขายประสบการณ์ล้วนๆ (และแน่นอนว่าปล่อยแบบนี้ปลอดภัยกว่าด้วย)
เส้นทางที่ทางเมืองจัดก็น่าสนใจ เพราะหลักๆ คือทุกระยะปั่นต้องผ่านในใจกลางเมือง วนไปทางเรือกสวนไร่นาก่อน เหมือนได้ปั่นชมเมืองก่อนจะวนกลับไปแถวๆ จุดเริ่มต้น ส่วนคนปั่น 80 กิโลเมตรแบบพวกผมก็ลุยกันต่อด้วยการออกด้านนอกของเมืองไปทางเขื่อนเก็บน้ำ ขึ้นเขาเข้าป่ากัน ระหว่างทางก็จะได้เห็นชาวบ้านพาลูกหลานออกมาเชียร์นักปั่นกันไปตลอดทางที่เราผ่าน เป็นบรรยากาศที่น่ารักมากๆ ครับ บางจุดเรามองไปเห็นคนเยอะๆ ก็แบบ โห แห่กันมาเยอะจัง ที่ไหนได้ ทำหุ่นไล่กามาตั้งแถวเชียร์พวกเราแทน ตื่นไม่ไหวก็ยังส่งตัวแทนมา…โถ่ว แต่ก็น่าประทับใจมากครับ เพราะขนาดตอนสายๆ เราปั่นไปตามทางภูเขาที่แทบไม่มีบ้านคน แต่เวลาเจอบ้านต่างๆ ก็มียายออกมายืนให้กำลังใจอย่างไม่กลัวแดดเลย ตามจุดเลี้ยวต่างๆ ก็มีผู้สูงอายุมาช่วยทำหน้าที่โบกทางพร้อมลูกหลานกองเชียร์ เราก็ได้แต่โบกมือให้ หรือตะโกนขอบคุณไปตลอดทาง
นอกจากกองเชียร์แล้ว จุดพักต่างๆ ที่มี 5 จุดตลอดเส้นทาง 80 กิโลเมตร และไม่ได้มีแค่อาหารให้พลังงานแบบงานปั่นทั่วไป แต่เขาเลือกเอาของขึ้นชื่อของท้องถิ่นมาให้เราได้ชิมกัน มีตั้งแต่แตงกวาดอง ลูกแพร์ (ที่ผมเดินไปขอซ้ำแบบหน้าด้านๆ หลายรอบมาก ก็มันอร่อยยยย!!) ไชเท้าดองที่ผมไม่น่าไปถามเลยว่าเรียกว่าอะไร เพราะเขาบอกว่าชื่อมันคือ ไชเท้าสะดือยายแก่ เพราะมันดองแล้วจะหดๆ ย่นๆ เหมือนสะดือคนแก่ ก็แบบ… แล้วก็ยังมีข้าวปั้นกับซุปมิโซะใส่หมูให้ได้นั่งกิน เรียกได้ว่า งานนี้ปั่นไปแ_กไป รีบทำเวลาไปทำไม ในเมื่อช้าๆ แล้วอิ่มอร่อยกว่า
นอกจากของกินตามจุดพัก ถ้าใครจะซื้อของในร้านที่จุดพัก (ที่น่าทึ่งคือ ผมหาร้านสะดวกซื้อในเมืองไม่เจอเลย เมืองเล็กขนาดเลยละครับ เห็นว่ามีอยู่แต่ออกไปนอกเมืองคนละเส้น มีไว้เพื่อคนขับรถเดินทางผ่านเมืองมากกว่า) ก็สามารถใช้บัตรแทนเงินที่ได้รับจากฝ่ายจัดการแข่งขันเพื่อซื้อของได้ด้วย แต่ละคนจะได้บัตรเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 เยน ซึ่งก็ถือเป็นการร่วมใจช่วยกันของชาวเมืองอีกอย่างหนึ่ง
ระหว่างทางก็ปั่นไปกินไป เร็วช้าก็ถึงเป้าหมายเหมือนกัน ใครเร็วก็ไปรอเพื่อนก่อนได้ ระหว่างทางเห็นทีมนู้นทีมนี้จากเมืองต่างๆ ปั่นช่วยกันตลอดทาง บางคนมากันเป็นคู่ พามาแฟนปั่น มีจอดแวะพักถ่ายรูปกับวิวสวยๆ ธรรมชาติงามๆ เป็นจังหวะ แถมในงานก็มีคนมาปั่นแบบเอาฮา บางคนแต่งตัวเป็น Mario หรือมีกระทั่งพาหมามาปั่นพร้อมทำหมวกกันน็อคให้หมาใส่ด้วย บรรยากาศเลยสนุก เส้นทางวนกลับเข้าเมืองเพื่อเข้าเส้นชัยก็จัดแบบเรียบง่าย ไม่เน้นหรู แค่เข้าเส้นชัยแล้วไปรับใบประกาศพร้อมกับของที่ระลึก ซึ่งก็คือข้าวสารพันธุ์ท้องถิ่น …นี่แหละครับ เป็นงานที่จัดโดยท้องถิ่น เพื่อท้องถิ่นจริงๆ
เสร็จงานเราก็ย้ายไปที่ Sairi Yashiki อดีตคฤหาสน์ของคหบดีผู้ร่ำรวยในเมือง ตระกูลของเขาบริจาคคฤหาสน์ให้เมืองเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พร้อมได้รับการรับรองเป็นสมบัติแห่งชาติ ซึ่งเขาก็จัดงาน Maru Velo เป็นอีเวนต์ควบคู่กันในสวนของตัวคฤหาสน์นั่นละครับ ก็เป็นงานแบบเก๋ๆ ชิคๆ คูลๆ คล้าย Farmers’ Market บ้านเรา ร้านที่มาก็ดูเก๋ไก๋ มีทั้งสินค้าทำมือ กาแฟออร์แกนิก คราฟต์เบียร์ ร้านทำชีสมาเปิดเองถึงที่ ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับจักรยานอย่างเดียวนะ (แต่ในตัวบ้านมีการจัดแสดงภาพถ่ายงานแข่งจักรยานระดับโลกพร้อมรถโปรชาวญี่ปุ่นให้ชม) ครอบครัวคนที่มาปั่นก็สามารถมาพักผ่อนหย่อนใจต่อจากงานปั่นได้อีก จะได้ไม่ต้องนั่งเหงารอที่จุดสตาร์ท เป็นงานครบวงจรให้คนต่างถิ่นมาเที่ยว พัก และจับจ่ายใช้สอยในเมืองได้เป็นอย่างดี
ตอนที่คุยกับคนริเริ่มไอเดียจัดงาน เขาก็บอกว่า ดีใจที่โปรเจกต์ที่เริ่มต้นเอาไว้สามารถมาได้ไกลถึงขนาดนี้ อย่างที่บอกว่าจากเมืองที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับจักรยานได้ กลายเป็นเมืองที่ร่วมใจจัดอีเวนต์กันทั้งเมือง แถมเปิดปุ๊บเต็มปั๊บ และด้วยบรรยากาศดีๆ แบบนี้ละครับที่ทำให้นักปั่นจากต่างชาติอยากจะไปปั่น
แม้เมืองมารุโมริ จะไม่ได้โด่งดังอะไรมากนัก แต่สำหรับนักปั่นแล้ว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ที่ทุกคนเฝ้ารอคอยและพร้อมจะไปลุยปั่นในเส้นทางรอบเมืองนี้ทุกเดือนตุลาคม จะว่าเป็นการปลุกเมืองหรือ Machi Okoshi ที่ผมเคยเขียนถึงอีกรูปแบบหนึ่งก็ว่าได้ เมื่อไม่มีก็สร้างมันขึ้นมา และทำจนประสบความสำเร็จให้ได้ ส่วนตัวผมเองก็ตั้งหน้าตั้งตารอจะกลับไปปั่นในงานนี้อีกรอบในปีหน้านั่นละครับ
ขอบคุณรูปภาพจาก