สังหารหมู่โรงเรียนมัธยม, 1999
ผู้กำกับอย่าง ไมเคิล มัวร์ เคยทำสารคดีเรื่องหนึ่งชื่อ Bowling for Columbine
นี่คือสารคดีเกี่ยวกับการ ‘ฆ่า’ ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา มันคือการฆ่าที่ไร้เหตุผล แต่ทำให้เด็กมัธยมและครูของโรงเรียนแห่งหนึ่งต้องตายไปถึง 13 คน ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1999 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้วพอดี
ในวันที่ 20 เมษายน 1999 นักเรียนแห่งโรงเรียนโคลัมไบน์สองคน คือราเชล สก็อตต์ และริชาร์ด คัสตัลโด กำลังนั่งกินอาหารเที่ยงกันอยู่ในสนามหญ้าหน้าโรงเรียน
จู่ๆ ก็มีคนโยนระเบิดควันใส่พวกเขา ควันนั้นพวยพุ่งปิดบัง เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ทั้งสองจะไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้ว่าจะมีกระสุนลั่นออกมาจากหลังกลุ่มควัน ไม่รู้ว่า กระสุนปืนที่ลั่นแล่นออกมานั้นเป็นน้ำมือของใคร ไม่รู้ว่า นอกจากเธอและเขาทั้งสองแล้ว ถัดจากนั้นยังมีคนอีกมากมายนับสิบคนที่ต้องตายตาม
พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำ—ว่าทำไมพวกเขาถึงถูกยิง
มันคือความตาย มันคือวาระสุดท้ายที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล
ฆาตกรไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือเด็กนักเรียนอายุ 18 ปีสองคน คนหนึ่งคืออีริค แฮริส อีกคนหนึ่งคือดีแลน คลีโบลด์ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งคู่ฝักใฝ่แต่กับเรื่องอาวุธ ระเบิด และความรุนแรง พวกเขาเคยแม้กระทั่งอัดคลิปการขว้างระเบิดขึ้นอินเทอร์เน็ต แต่ไม่มีใครสนใจมากนัก
จนถึงวันนั้นนั่นเอง วันที่ทั้งคู่วางระเบิดที่ทุ่งหญ้าเพื่อดึงความสนใจของเจ้าหน้าที่ และวางระเบิดโรงอาหารของโรงเรียน ซึ่งอาจทำให้คนหลายร้อยคนตายได้ โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน แต่นั่นทำให้พวกเขาโกรธจัด จึงเปลี่ยนแผนจากระเบิด กลายมาเป็นการไล่ล่ากราดยิงแทน
ราเชล สก็อตต์ และริชาร์ด คัสตัลโด เป็นเพียงเหยื่อสองรายแรกเท่านั้น ราเชลเสียชีวิตตรงนั้นทันที ส่วนคัสตัลโดไม่ตาย ทว่าเขาต้องเป็นอัมพาตไปจนตลอดชีวิต
หลังจากนั้น ทั้งอีริคและดีแลนเดินหน้าฆ่าคนต่อ มันคือการฆ่าแบบสุ่ม เจอหน้าใครก็สาดกระสุนใส่ ทั้งเพื่อนนักเรียนและครู ซึ่งก็มีทั้งที่เสียชีวิตตรงนั้น ไปเสียชีวิตที่อื่น และที่ต้องบาดเจ็บจนพิการ
เป็นเรื่องเสียดเย้ยน่าอาเจียนอย่างยิ่ง ที่ในที่สุด ทั้งอีริคและดีแลน—หลังฆ่าจนไม่เหลือใครให้ฆ่าอีกแล้ว และถูกตำรวจที่บุกเข้าล้อมโรงเรียนต้อนจนมุม, พวกเขาจึงฆ่าตัวตาย
หลังเหตุการณ์ แทบไม่มีใครอธิบายได้เลยว่าเพราะอะไรสองคนนี้จึงก่อเรื่องโหดเหี้ยมนี้ขึ้น แม้ว่าทั้งคู่จะเคยโดนเพื่อนกลั่นแกล้ง แต่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงระดับนี้คือเรื่องที่เลวร้ายจนยากอธิบาย
เพื่อนนักเรียนบางคนบอกว่า กลุ่มนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลในโรงเรียนเคยแกล้งพวกเขาด้วยการละเลงซอสมะเขือเทศใส่แล้วเหยียดเขาด้วยเรื่องเพศและความลักลั่นทางเพศ แต่เรื่องนี้ก็อธิบายไม่ได้ว่าแล้วทำไมทั้งคู่ถึงแลดูรังเกียจเพื่อนนักเรียนที่เป็นคนผิวดำเป็นพิเศษ
ในสารคดีเรื่อง Bowling for Columbine ไมเคิล มัวร์ ไปสัมภาษณ์คนคนหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เขา (หรือเธอ) คือมาริลีน แมนสัน—ผู้อาจเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ ของการฆ่าร้ายกาจนี้
มันคือการฆ่าที่ไร้คำอธิบาย
ไร้คำอธิบาย—แบบเดียวกับอีกการฆ่าหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี
การฆ่าดาราสาวผู้ตั้งครรภ์เดือนที่เก้า—และเพื่อนๆ ของเธอ, 1969
ชารอน เทต (Sharon Tate) คือภรรยาของผู้กำกับชื่อดังอย่าง โรมัน โปลันสกี้ ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1968 ที่ลอนดอน แต่หลังจากแต่งงานกันแล้ว ทั้งคู่ก็ย้ายมาอยู่ลอสแองเจลิส
คู่สามีภรรยาเช่าบ้านเลขที่ 10050 บนถนน Cielo Drive อันเป็นบ้านหรูอยู่ในเบเนดิกต์แคนยอน (Benedict Canyon) ซึ่งอยู่ในย่านบ้านดาราฮอลลีวู้ดอย่างเบเวอร์ลีย์เครสต์ ทางเหนือของเบเวอร์ลีย์ฮิลส์ บ้านหลังนี้เป็นของรูดอล์ฟ อัลโตเบลลี (Rudolph Altobelli) ซึ่งเป็นผู้จัดการศิลปินในวงการดนตรีและวงการหนัง คนที่เคยมาเช่าบ้านหลังนี้ล้วนแต่เป็นดาราดัง เช่น แครี แกรนต์, เฮนรี่ ฟอนดา, โอลิเวีย ฮัสซีย์ และอื่นๆ
ก่อนหน้าที่โรมัน โปลันสกี้ และชารอน เทต จะมาเช่าบ้านนี้ ผู้ที่อยู่อาศัยก่อนหน้าคือ เทอรี่ เมลเชอร์ (Terry Melcher) ซึ่งเป็นลูกของนักร้องดังอย่างดอริส เดย์ เขาอยู่กับภรรยาซึ่งก็เป็นนักแสดงดังอีกเช่นกัน คือแคนดิซ เบอร์เกน แต่ในต้นปี 1969 เมลเชอร์เลิกกับเบอร์เกน เขาจึงย้ายออก เปิดโอกาสให้ครอบครัวโปลันสกี้เข้ามาเช่าต่อแทน
ไม่มีใครรู้เลยว่า—บ้านหลังนี้จะกลายเป็นที่เกิดเหตุของคดีฆาตกรรมที่สยองขวัญที่สุดคดีหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
กลางปี 1969 ชารอน เทต ตามโรมัน โปลันสกี้ ไปดูการถ่ายทำหนังที่ลอนดอน แต่ชารอนบินกลับมาก่อน โรมันมีกำหนดจะกลับมาในวันที่ 12 สิงหาคม แต่เขาจะไม่มีโอกาสได้กลับมาพบหน้าชารอน เทต และลูกที่ใกล้จะถือกำเนิด
ในวันที่ 8 สิงหาคม 1969 ชารอน เทต ที่เหลืออีกเพียงสองสัปดาห์จะคลอด ได้ไปดินเนอร์กับเพื่อนหลายคน และเธอกับเพื่อนๆ เหล่านี้กลับมาที่คฤหาสน์ของเธอในราวสี่ทุ่มครึ่ง
ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อแม่บ้านของชารอนมาทำงานในตอนเช้าและต้องกรีดร้องกับภาพที่เห็นก่อนโทรเรียกตำรวจ เมื่อตำรวจมา ศพแรกที่พบคือคนขับรถที่ถูกยิงตายอยู่ในรถ ส่วนในบ้าน มีร่างของชารอน เทต และเพื่อนรวมทั้งหมดอีกสี่คนนอนจมกองเลือดอยู่
มันคือการฆ่าที่โหดเหี้ยม เฉพาะชารอน เทตนั้น เธอถูกแทงถึงสิบหกแผล ถูกรัดคอ ถูกผ่าท้องควักเอาเด็กออกมา ถูกเฉือนเต้านมออก และมีการใช้มีดกรีดร่างของเธอเปิดตั้งแต่หน้าอกจนถึงอวัยวะเพศ
นี่คือการฆ่าที่ต่ำทราม โหดเหี้ยม และแทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์
คำถามก็คือ—ชารอน เทต ไปทำอะไรให้ใครโกรธแค้นขนาดนี้?
ตำรวจใช้เวลาราวหนึ่งเดือน จึงไขความลับแห่งฆาตกรรมนี้ได้สำเร็จ เมื่อมีการจับกุมคนในกลุ่มที่เรียกว่า ‘ครอบครัวแมนสัน’ (Manson Family) ได้ และสืบสาวจนรู้ว่าเป็นคนในกลุ่มนี้จำนวนสี่คนที่ลงมือสังหารหมู่อันโหดเหี้ยมนี้
แต่เชื่อหรือไม่—ว่าพวกเขาฆ่าผิดคน!
หัวหน้าครอบครัวแมนสัน คือ ชาลส์ แมนสัน ได้สั่งให้บรรดาสาวกของตัวเองไปฆ่าเทอรี่ เมลเชอร์ ผู้ที่เช่าบ้านนี้ก่อนหน้าชารอนและโรมันเพราะเมลเชอร์ไม่ยอมบันทึกเสียงเพลงที่เขาอยากให้ทำ เขาสั่งแค่ว่าให้ไปฆ่าคนในบ้านที่เมลเชอร์อยู่ แล้วสาวกเหล่านี้ก็แห่กันมาที่นี่ คนเหล่านี้ไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร ทุกคนที่คนเหล่านี้ฆ่าล้วนแต่เป็นคนแปลกหน้าทั้งสิ้น ตั้งแต่ชารอน เทต ภรรยาของโรมัน โปลันสกี้, เจย์ ซีบริง แฮร์สไตลิสต์ชื่อดัง, อบิเกล โฟลเกอร์ ทายาทร้านกาแฟดัง, โวจเชค ฟรายโควสกี้ นักเขียนบทภาพยนตร์ และคนขับรถอย่างสตีเฟน แพเรนต์
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล ไร้ต้นสายปลายเหตุ และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่คนทั้งห้าจะตายไปโดยไม่รู้เลยว่าเหตุผลแห่งการฆ่าคืออะไร
พวกเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ—ว่าตัวเองได้ตายไปแล้ว
มันคือความตายแบบเดียวกับความตายที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์
เป็นความตายที่เกี่ยวพันกับคนที่มีนามสกุลว่า—แมนสัน, เหมือนกัน!
มาริลีน แมนสัน
ชื่อเดิมของมาริลีน แมนสัน คือ ไบรอัน ฮิวจ์ วอร์เนอร์ (Brian Hugh Warner) เขาคือนักร้อง นักแต่งเพลง และนักแสดงชาวอเมริกัน ผู้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่ามาริลีน แมนสัน โดยชื่อมาริลีนมาจากมาริลีน มอนโร นักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ ส่วนแมนสันมาจากชื่อของ ชาลส์ แมนสัน—คนที่สั่งสาวกของตัวเองให้ไปฆ่าคนโดยไร้เหตุผลคนนั้น
ไมเคิล มัวร์ สัมภาษณ์มาริลีน แมนสัน ในสารคดี Bowling for Columbine โดยตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เสียงเพลงและดนตรีของมาริลีน แมนสัน จะเป็นแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังการฆ่านั้น
แน่นอน มาริลีน แมนสัน ปฏิเสธ
ในปลายยุค 90s ชื่อของ มาริลีน แมนสัน กับวงดนตรีของเขาอื้อฉาวมากในวงการร็อค มาริลีน แมนสัน คือชื่อที่เป็นตัวแทนของวัยรุ่นผู้แปลกแยกต่อสังคม ต่อต้านสังคม และอยากตอบโต้สังคมอนุรักษ์นิยมที่กดขี่ ‘คนนอก’ อย่างเขา
มีความพยายามทางการเมืองที่จะสั่งแบนการแสดงของมาริลีน แมนสัน หลายครั้ง แต่นั่นยิ่งทำให้เขาโด่งดังขึ้น
เมื่อเกิดเหตุสังหารหมู่ที่โคลัมไบน์ หลายคนไม่ประหลาดใจเท่าไหร่ที่ฆาตกรใส่เสื้อทีเชิ้ตของวงมาริลีน แมนสัน นั่นทำให้เกิดข่าวลือว่าฆาตกรรมทั้งคู่เป็นแฟนตัวยงของวงนี้ และนั่นก็คือเหตุผลที่ไมเคิล มัวร์ ไปสัมภาษณ์มาริลีน แมนสัน
เสื้อทีเชิ้ตอาจเป็นเหตุบังเอิญ หรืออาจเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกอะไรบางอย่างก็ได้
มัวร์ถามคำถามหนึ่งว่า ถ้าพูดกับนักเรียนที่โคลัมไบน์ได้ เขาจะพูดอะไร มาริลีน แมนสันตอบว่า “ฉันจะไม่พูดอะไรกับพวกเขาแม้สักคำเดียว ฉันจะฟังว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับฉัน แต่กลับไม่มีใครทำอย่างนั้น”
ความเกี่ยวพันโยงใยไปถึงชาร์ลส์ แมนสัน ผ่านนามสกุลที่เขาเลือกตั้งให้ตัวเองนี่แหละ—ที่ทำให้หลายคนไม่อาจลืมเรื่องราวของความตายที่คล้ายถูกหยิบยื่นส่งต่อ
ชาร์ลส์ แมนสัน
เขาเกิดในปี 1934 และมีชีวิตวัยเด็กไม่ค่อยดีนัก ถูกพ่อและแม่ทิ้ง เมื่ออยู่ในวัยสิบกว่าปีก็เริ่มขโมยของ ขโมยปืน และหนีออกจากบ้าน เขาตระเวนปล้นร้านค้าในยามค่ำคืน ซึ่งในที่สุดก็ถูกจับได้ แต่ด้วยความเป็นผู้เยาว์จึงถูกปล่อยตัว แต่กระนั้นเขาก็ลงมือซ้ำอีก และก่อคดีต่างๆ เรื่อยมา
ครั้งหนึ่ง เขาเคยถูกจับส่งตัวไปยังสถานคุมประพฤติเด็กชาย มีการวัดไอคิวของเขา พบว่าแมนสันมีไอคิว 109 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่กระนั้นก็มีรายงานด้วยว่า เขาเป็นคนที่มีความประพฤติก้าวร้าวและต่อต้านสังคมอย่างหนัก
แมนสันติดคุกหลายครั้ง แต่การติดคุกเป็นคล้ายชื่อเสียงและตราประทับ ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก และเริ่มดึงดูดสาวก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาวกสาวๆ ชนชั้นกลางที่ถูกสังคมเบียดขับจากทั่วแคลิฟอร์เนีย เขามีสาวกมากถึงราวหนึ่งร้อยคน จนก่อตั้งเป็น ‘ครอบครัวแมนสัน’ ที่กลายเป็นลัทธิไป แมนสันล้างสมองสาวๆ คนชั้นกลางทั้งหลายด้วยวัฒนธรรมฮิปปี้และการใช้ยาหลอนประสาท
ความเชื่อหนึ่งของแมนสันที่ทำให้หลายคนช็อก ก็คือ เขาเชื่อในเพลงของเดอะบีตเทิลส์ชื่อ Helter Skelter มาก เพลงนี้ พอล แม็คคาร์ทนีย์ เป็นคนเขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายจะสร้างซาวด์ที่ทั้งดังและ ‘สกปรก’ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้เพลงนี้เป็นต้นแบบของเพลงเมทัลที่เกิดตามมาภายหลัง
ที่พอล แม็คคาร์ทนีย์ อาจคิดไม่ถึงก็คือ ชาร์ลส์ แมนสัน ชอบเพลงนี้มาก เขาเลือก ‘ตีความ’ เพลงนี้ไปในแนวทางของตัวเอง นั่นคือมองว่านี่คือเพลงที่เป็นเหมือน ‘คำพยากรณ์เข้ารหัส’ (coded prophecy) ที่ทำนายว่ากำลังจะเกิดสงครามสิ้นโลกขึ้น สงครามใหญ่นี้เป็นสงครามระหว่างคนขาวกับคนดำ โดยสุดท้ายคนขาวจะฆ่าคนดำจนเกือบหมดโลก แมนสันกับครอบครัวแมนสันที่เคยต้องหลบหนีลงใต้ดินเพราะความขัดแย้งกับคนดำจะปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อปกครองคนดำอีกครั้ง โดยแมนสันตีความว่าเพลงนี้พูดถึงชั่วขณะที่ครอบครัวแมนสันโผล่ออกมาจากที่ซ่อนตัว ซึ่งก็คือเหมืองลึกใต้ดินนอกเมืองลอสแองเจลิส
หลายปีต่อมา หลังเหตุฆาตกรรมหมู่ชารอน เทต พอล แม็คคาร์ทนีย์ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจให้เพลงมีเนื้อหาสื่อออกไปแบบนั้น แต่โชคร้ายที่เพลงนี้กลับไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำสิ่งชั่วร้าย แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่า เนื้อหาของเพลงมีความรุนแรงซุกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งเรื่องสีผิว ซึ่งทำให้เกิดการตีความไปได้ต่างๆ
แต่ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ หลังเหตุสังหารหมู่ชารอน เทต แล้ว ชื่อของชาร์ลส์ แมนสัน กลับโด่งดังขึ้นในหมู่ดนตรี ‘ใต้ดิน’ หลายสำนัก เช่นหนังสือพิมพ์ Los Angeles Free Press และ Tuesday’s Child (ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ใต้ดิน) ยกย่องให้เขาเป็นบุคคลแห่งปี ซึ่งส่งผลให้นิตยสารโรลลิ่งสโตนเอาภาพเขาขึ้นปกโดยพาดปกว่า The Incredible Story of the most Dangerous Man Alive
นอกจากนี้ อิทธิพลของชาร์ลส์ แมนสัน ยังส่งต่อไปถึงกลุ่มขวาสุดขอบ (alt-right) อีกหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มก่อการร้ายนีโอนาซีอย่าง Atomwaffen Division รวมไปถึงกลุ่ม Universal Order ที่ใช้เครื่องหมายสวัสดิกะมาเป็นตัวแทนกลุ่ม เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นทั้งที่แมนสันอยู่ในคุก คดีสังหารหมู่โหดเหี้ยมเกิดในปี 1969 เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1971 แต่คล้ายพระเจ้าอยากให้เขามีชีวิตอยู่ ในปีรุ่งขึ้น คือปี 1972 รัฐแคลิฟอร์เนียให้ยกเลิกโทษประหาร เขาจึงได้รับคำตัดสินใหม่ให้จำคุกตลอดชีวิต
แมนสันอยู่ในคุกจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2017 ในวัย 83 ปี เขามีอาการตกเลือดในช่องท้อง และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ด้วยวัยและสภาวะของร่างกาย แพทย์บอกว่าเขาอ่อนแอเกินจะผ่าตัดรักษาได้ เขาจึงถูกส่งตัวกลับเข้าไปอยู่ในคุกตามเดิม
เราไม่รู้หรอกว่า จากมกราคม 2017 จนถึงพฤศจิกายน 2017 อันเป็นเดือนที่เขาตายนั้น แมนสันคิด รำลึก สำนึก หรือเสียใจอะไรกับชีวิตของเขาบ้างไหม เขาตายเพราะหัวใจขาดเลือดอันเป็นผลมาจากระบบหายใจล้มเหลวและมะเร็งลำไส้ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ทิ้งไว้เพียงมรดกเลือดว่าด้วยการสังหารหมู่ที่ไม่มีใครอยากจดจำและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก
การสังหารหมู่ที่โคลัมไบน์กับการสังหารหมู่ชารอน เทต นั้นเกิดห่างไกลกันหลายสิบปี จนผู้คนที่ต้องเผชิญวาระสุดท้ายแบบเดียวกันอาจดูคล้ายไม่ข้องเกี่ยวกันเลย
แต่หากเราลองลากเส้นเชื่อมโยง เราจะเห็น ‘โยงใยที่ซ่อนเร้น’ คอยเชื่อมสัมพันธ์ผู้คนและความตายเหล่านี้เข้าด้วยกัน
จากเด็กหนุ่มสองคนที่อาจได้รับแรงบันดาลใจจากนักดนตรีร็อค และลงมือสังหารหมู่เพื่อนนักเรียน มาสู่นักดนตรีผู้ได้รับแรงบันดาลใจจนนำนามสกุลแมนสันมาใส่ไว้กับตัวเอง ไล่เลยไปถึงตัวเจ้าลัทธิกับสาวกผู้สามารถ ‘ฆ่า’ ได้โดยไม่ต้องไตร่ตรองอะไร หากลากเส้นต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วชารอน เทต กับเพื่อน และนักเรียนกับครูที่โคลัมไบน์—ก็ได้มาพบกัน
อาจพูดไม่ได้ ว่าความตายหนึ่งคือเหตุผลของอีกความตายหนึ่ง แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน ว่าความตายเหล่านี้มีอะไรบางอย่างเกี่ยวเนื่องกัน
และแท้จริงแล้วอาจมี ‘เนื้อหา’ เดียวกัน
นั่นคือเรื่องราวของ ‘ผู้กระทำ’ และ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ที่อาจสลับบทบาทกันไปมาอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว และสุดท้ายก็ระเบิดพลุ่งขึ้นเป็นความรุนแรงและความตาย
หลังปี 1999 เป็นต้นมา แม้มีการจัดการและควบคุมเรื่องการพกอาวุธมากขึ้น แต่คดีสังหารหมู่ในสหรัฐอเมริกากลับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากนับทั้งครั้งใหญ่และเล็ก พบว่ามีการสังหารหมู่หลายพันครั้ง
นั่นอาจแสดงว่า—ความรุนแรงไม่ได้ลดลง
โลกแห่งความเกลียดชังสร้างโลกแห่งความเกลียดชังขึ้น ผู้คนอาศัยอยู่ในโลกแบบนี้
ความรุนแรงและความตายจึงส่งผ่านข้ามยุคสมัย และเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น
แม้เราจะมองไม่ค่อยเห็นก็ตาม

โตมร ศุขปรีชา