ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่ร้อนแรงในสังคมญี่ปุ่นคือการที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวโดนแฉจนออกมายอมรับว่าได้ตัดคะแนนสอบผู้สมัครหญิงและเพิ่มคะแนนให้ผู้สมัครชาย โดยเป้าหมายคือต้องการผลิตแพทย์เพศชายให้มากขึ้น
ญี่ปุ่นมองว่าผู้หญิงแม้จะมีความสามารถเรียนจบเป็นแพทย์ได้ แต่สุดท้ายหลายคนก็เลือกที่จะแต่งงาน มีครอบครัวแทนที่จะทำงานเป็นแพทย์ต่อ เท่ากับว่าเสียบุคลากรไปเปล่าๆ ดังนั้น ผลิตแพทย์ชายออกมาให้เยอะๆ น่าจะดีกว่า (ก่อนอื่นต้องแจ้งเพิ่มว่า มหาวิทยาลัยที่ว่าคือมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวนะครับ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยโตเกียว คณะแพทยศาสตร์ เห็นหลายคอมเมนต์ตามข่าวเข้าใจผิดกันเยอะ ชื่อคล้ายๆ กัน) และการออกมาแถลงถ้อยคำก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเดือดของสังคม
ที่น่าสนใจกว่าคือ แม้จะมีเสียงจากผู้ป่วยว่าแพทย์หญิงก็จำเป็น เพราะหลายเรื่องสะดวกให้ผู้หญิงด้วยกันตรวจมากกว่า แต่พอไปสัมภาษณ์แพทย์หญิงหลายต่อหลายรายที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน เกินครึ่งก็ยอมรับว่า เข้าใจได้ว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงทำแบบนั้น (‘เข้าใจได้’ ไม่ได้หมายความว่า ‘เห็นด้วย’ นะครับ) กลายเป็นว่ายิ่งสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมญี่ปุ่นเข้าไปใหญ่ เพราะแม้ผู้หญิงจะอยู่ในตลาดแรงงานในสัดส่วนที่ไม่ต่างกับเพศชายเท่าไหร่ (เฉลี่ยประมาณ 40%) แต่กลับมีผู้หญิงที่ได้รับการโปรโมตให้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหารน้อยมาก เพราะปัญหาเดิมๆ คือสุดท้ายก็ต้องออกไปมีครอบครัว เลี้ยงลูกเป็นกองหลังสนับสนุนสามี
กลายเป็นทุกข์ของเพศหญิงที่ดูเหมือนจะต้องเลือกระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวอยู่เสมอ
ไม่ใช่แค่เรื่องของโอกาสก้าวหน้าในการทำงาน พนักงานหญิงที่มีครรภ์ก็มีโอกาสที่จะโดนสังคมในที่ทำงานมองว่าเป็นภาระหรือตัวถ่วงของทีม เพราะทำให้ระบบของทีมมีปัญหา ต้องเสียแรงงานไปหนึ่งคน หรือฝากฝังงานที่ลำบากไม่ได้ กลายเป็นปัญหา maternity harassment ในที่ทำงาน (จริงๆ ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า pregnancy discrimination เสียมากกว่า แต่ harassment แบบที่ญี่ปุ่นเรียกจะเน้นที่การถูกกระทำหรือพูดจารุนแรงต่อพนักงานที่มีครรภ์มากกว่าระบบการจ้างงานโดยรวม) ทำงานอยู่แล้วคลื่นไส้อาเจียนก็โดนมองแรง ลาคลอดก็อาจจะโดนแซะว่าต้องทำงานในส่วนคนที่หายไปสินะ รวมไปถึงฝ่ายตัวพ่อที่ลางานไปช่วยดูแลลูกก็อาจจะโดนเสียดสีได้ แม้จะพยายามปั้นเทรนด์ที่ผู้ชายช่วยเลี้ยงดูลูกแค่ไหน แต่ถ้าไม่ปรับวิธีคิดของคนก่อนก็คงลำบาก
ที่เล่าๆ มาคือทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงในที่ทำงานกับการมีครรภ์ แต่จริงๆ แล้ว ต่อให้ไม่ใช่คนทำงาน เป็นแม่บ้านที่มีครรภ์เฉยๆ ก็อาจจะเจอกับภัยต่างจากสังคมในแบบที่คาดไม่ถึงได้เหมือนกัน ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้ได้ชัดเจนก็คงเป็นแคมเปญ Maternity Mark
Maternity Mark คือเครื่องหมายที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการนำเสนอต่อสังคมญี่ปุ่นในปี 2006 เป็นเครื่องหมายรูปแม่และเด็กทารกที่ออกแบบมาได้น่ารัก สามารถโหลดได้จากเว็บของกระทรวง และนำไปใช้ได้ตามสะดวก (แต่ต้องไม่เอาไปใช้ในแง่เพื่อการค้า) บางแบบก็มีข้อความว่า “มีเด็กอยู่ในท้อง” เป้าหมายก็คือนำไปทำเป็นสติ๊กเกอร์ติดตัว หรือต่อสายแบบพวงกุญแจเพื่อห้อยกระเป๋าเวลาที่โดยสารในรถโดยสารสาธารณะ เพื่อที่จะได้ให้ผู้โดยสารรายอื่นทราบว่าบุคคลดังกล่าวตั้งครรภ์อยู่ จะได้ระวังหรือสละที่นั่งสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และผู้พิการให้นั่ง หรือเวลาออกไปข้างนอก จะได้ช่วยเตือนให้คนที่สูบบุหรี่คอยระวัง (หรือเกรงใจนั่นเอง) และที่สำคัญที่สุดก็คือ เวลาเกิดเรื่องฉุกเฉินอะไร คนจะได้รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ จะได้ช่วยเหลือให้ถูกวิธี เช่นเวลาคลื่นไส้หรือหน้ามืดในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ที่ดูไม่ออกว่าตั้งครรภ์อยู่เพราะท้องไม่ได้โตมาก นอกจากแบบของกระทรวงแล้ว ยังมีแบบอื่นที่องค์กรที่เกี่ยวข้องทำแจก กลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่นก็ทำแจกตามสถานี มีแนบมาในนิตสารแนวแม่และเด็ก หรือใครอยากได้แบบที่ชอบก็สามารถสั่งซื้อต่างหากได้
ทีแรกก็ไม่ค่อยมีคนเข้าใจเท่าไหร่หรอกครับ แต่หลังจากที่กระทรวงพยายามโปรโมตเพื่อให้แพร่หลายมากขึ้น ตัวสติ๊กเกอร์นี้ก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักในสังคมญี่ปุ่น โดยที่ 10 ปี หลังจากเริ่มต้นโครงการก็มีผู้ชายรู้จักเครื่องหมายนี้จำนวน 42% และผู้หญิง 62.3% ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หันมาใช้เครื่องหมายนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ 94.5% รู้จักเครื่องหมายนี้ผ่านการประชาสัมพันธ์ต่างๆ และจากประสบการณ์ของผู้ที่ติดเครื่องหมายนี้หลายคนก็มีประสบการณ์ดีๆ เช่น มีคนลุกให้นั่งในรถไฟ พนักงานในซูเปอร์มาเก็ตมาช่วยยกของหนักให้ บางทีเดินผ่านผู้สูงอายุก็ได้กำลังใจเล็กๆ เช่นบอกว่า “พยายามเข้านะ” หรือเวลาไปร่วมงานเลี้ยง คนจัดงานก็เตรียมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้เวลาที่จะชนแก้วฉลองกัน
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ตามมากลับกลายเป็นสิ่งที่กระทรวงไม่ได้คาดคิด Maternity Mark กลับกลายเป็นเครื่องหมายที่นำภัยสู่ตัวผู้หญิงที่ติดเครื่องหมายนี้ไว้แทน
มีเรื่องเล่าแพร่หลายในอินเทอร์เน็ตว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่คิดเครื่องหมายนี้ไว้กลับถูกแกล้งหรือดุด่า ในบางรายการทีวีก็ไปสำรวจแล้วพบว่า 9.7% ของผู้ตั้งครรภ์ที่ติดเครื่องหมายนี้ไว้เคยเจอประสบการณ์ไม่ดีอย่างที่ว่าจริงๆ มีตั้งแต่ถูกลุงพนักงานด่าว่า “นี่ก็เหนื่อยเหมือนกัน อย่าคิดว่าแค่ท้องแล้วจะได้นั่งนะ” “จะติดเครื่องหมายอวดชาวบ้านอะไร แค่ท้องแล้วอย่าได้ใจนะโว้ย” หรือพอหน้ามืดเลยนั่งยองๆ ในรถไฟก็ถูกปรามว่า “ทำเป็นนั่งยองๆ จะได้มีคนสละที่นั่งให้สินะ” หรือถามว่า “ท้องจริงๆ ไม่ได้แกล้งติดใช่มั้ย” เดินช้าหน่อยก็โดนคนโวย แต่ที่น่ากลัวคือมีคนตั้งใจทำร้ายด้วยการ ‘ทุบ’ หรือ ‘ต่อย’ ท้อง และมีกระทั่งโดนขัดขาให้ล้มในรถไฟ แม้จะเป็นแค่ 9.7% แต่ฟังจากเรื่องที่โดนแล้วก็น่าเป็นห่วง บางกรณีก็แค่เรื่องของคนปากพล่อยหรือเห็นแก่ตัว แต่ที่มีการทำร้ายร่างกายนี่ฟังดูน่ากลัวจริงๆ
เครื่องหมาย Maternity Mark กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่พอไปสำรวจจริงๆ สังคมทั่วไปกับตัวคนตั้งครรภ์กลับมองต่างกัน โดยที่สังคมทั่วไปมองว่า เป็นการแสดงออกว่าตัวเองตั้งครรภ์ 38.4% ติดเพื่อให้ได้รับการซัพพอร์ต 47.5% และเผื่อเวลาเกิดเรื่องฉุกเฉิน 13.9% แต่ตัวคนตั้งครรภ์เองมองว่า เป็นการแสดงออกว่าตัวเองตั้งครรภ์ 17.2% ต้องการการซัพพอร์ต 23.8% และติดไว้กรณีมีเรื่องฉุกเฉิน 56.8% จะเห็นได้ว่าทัศนคติต่างกันมาก ตัวคนตั้งครรภ์ต้องการมีไว้เพื่อเวลาฉุกเฉินเป็นหลัก และต้องการการช่วยเหลือบ้าง แต่สังคมกลับเข้าใจว่าต้องการแสดงออกหรืออวดว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์อยู่
กลายเป็นว่าบางคนก็ไม่ค่อยชอบที่จะเห็นคนอื่นได้รับความสะดวกสบายเท่าไหร่นัก เห็นคนตั้งครรภ์ดูใช้ชีวิตมีความสุขดีก็ไม่อยากจะช่วยเหลือ ผู้หญิงที่พยายามมีลูกแต่ไม่สามารภมีลูกได้บางคนก็ยอมรับว่าเจ็บปวดและอิจฉาเวลาเห็นเครื่องหมายดังกล่าว เพราะตัวเองไม่ได้รับความสะดวกสบายแบบที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มีได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ชายหลายคนก็ไม่ได้เข้าใจความลำบากและความเปราะบางของผู้หญิงตั้งครรภ์ว่าลำบากแค่ไหน คิดว่าแค่ท้องแล้วจะลำบากอะไรนักหนา เอาตัวเองเป็นที่ตั้งว่าตัวเองทำงานมาเหนื่อยๆ ก็อยากจะพักบ้าง รวมไปถึงบางคนที่ตั้งคำถามว่า คิดเครื่องหมายนี้ไว้แต่ได้ตั้งครรภ์จริงๆ หรือเปล่า เป็นปัญหาในสังคมญี่ปุ่นที่แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นเรื่องของปลาเน่าตัวเดียว เพราะสื่อรายงานเรื่องนี้และมีการพูดกันในอินเทอร์เน็ตหนักมาก ตัวผู้ตั้งครรภ์เองก็ไม่อยากรับความเสี่ยงตรงนี้ ทำให้บางคนเลือกที่จะไม่ติดเครื่องหมาย หรือกระทั่งบางโรงพยาบาลก็ไม่ค่อยแนะนำให้ติดด้วยซ้ำ แน่นอนว่าคนได้รับการช่วยเหลือก็มีเยอะ แต่พอมีเรื่องแบบนี้ มันก็ทำให้ชวนเป็นห่วงจริงๆ ล่ะครับ
เครื่องหมายออกแบบมาเพื่อเจตนาดีแต่พอแนวคิดไม่ตรงกันกลับทำให้เกิดปัญหา แถมยังเจอความใจแคบของคนเข้าไปอีก เลยยิ่งทำให้ดูน่ากลัวเข้าไปใหญ่
ยังดีที่มีความพยายามจะแก้ปัญหาตรงนี้ ทั้งการพยายามทำให้สังคมเข้าใจมากขึ้น และยังมีกลุ่มผู้ชายที่คิดทำเครื่องหมาย “ให้การสนับสนุน Maternity Mark” โดยทำเป็นป้ายห้อยที่มีรูปผู้ชายโอบมือล้อมเครื่องหมาย Maternity Mark อีกที เป็นการบอกให้รู้ว่าพร้อมสนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้ตั้งครรภ์ที่ติดเครื่องหมาย Maternity Mark เป็นการช่วยให้ผู้ตั้งครรภ์รู้สึกสบายใจที่มีพวกและทำให้รู้ได้ว่าใครพร้อมจะช่วยเหลืออยู่ แม้จะยังไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่มากแต่ถ้าพยายามต่อไปก็น่าจะช่วยทำให้เกิดการเข้าใจที่ดีขึ้นได้
นอกจากกลุ่มสนับสนุนแล้ว ยังมีการทดลองพัฒนา Smart Maternity Mark อุปกรณ์ช่วยแก้ปัญหาที่เวลาขึ้นรถไฟแล้วเรามักจะเอาแต่จ้องมือถือ ไม่ได้มองอย่างอื่น เลยไม่เห็นว่ามีผู้ตั้งครรภ์อยู่ใกล้ๆ วิธีอุปกรณ์ตัวนี้คือ พอผู้ตั้งครรภ์ขึ้นรถไฟก็กดปุ่มตรงที่มีเครื่องหมาย อุปกรณ์จะส่งสัญญาณเข้าระบบเพื่อแจ้งให้คนที่ลงแอพฯ ของอุปกรณ์นี้ในบริเวณใกล้กันรู้ว่ามีผู้ตั้งครรภ์ขึ้นมาบนรถ และสามารถกดปุ่มตอบกลับว่าพร้อมจะสละที่นั่งให้ได้ ทีนี้ตัวอุปกรณ์ที่ตัวผู้ตั้งครรภ์ก็จะเรืองแสงสว่างกว่าเดิม พูดง่ายๆ คือเป็นอุปกรณ์ช่วยจับคู่ผู้ตั้งครรภ์กับคนที่พร้อมจะช่วยเหลือนั่นล่ะครับ แม้จะเป็นไอเดียที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่แต่น่าสนใจทีเดียว ซึ่งต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์หนักหน่อย เพราะตัวคนพร้อมช่วยต้องลงแอพฯ ไว้ในสมาร์ทโฟนของตัวเองด้วย ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย
สังคมญี่ปุ่นถือว่ามีความไม่เท่าเทียมกันทางเพศอย่างหนักอยู่แล้ว พอยิ่งเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก็ยิ่งลำบากหนักกว่าเดิม เพราะมีทั้งความกดดันต่างๆ ไม่ใช่แค่ในที่ทำงาน แต่รวมไปถึงในชีวิตประจำวันด้วย ยังดีที่ยังมีคนที่เข้าใจและพยายามหาแนวทางต่างๆ เพื่อให้อยู่กันในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะในยุคที่ประชากรของประเทศหดตัว การที่สังคมกดดันหรือไม่พยายามสนับสนุนการตั้งครรภ์ก็มีแต่จะทำให้อะไรๆ ดูเลวร้ายขึ้น