ชาวญี่ปุ่นคลั่งไคล้ ‘ผู้หญิงผอม’ (slender) เป็นพิเศษ ยิ่งบางมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถือว่าสวยน่าดึงดูด สาวญี่ปุ่นจึงมีภาพลักษณ์ประจำตัวของความน่ารัก ตัวเล็ก ดูเด็กอยู่ตลอดเวลา เทรนด์นี้เริ่มแผ่อิทธิพลไปยังบรรดา ‘คุณแม่มือใหม่’ ที่ถูกสังคมกดดันให้วิตกกังวลรูปร่างมากขึ้น เพื่อเป็น ‘คุณแม่ท้อง ต้องผอม‘ ตามอุดมคติของความงามแบบญี่ปุ่น
งานวิจัยใหม่ๆ วิตกต่อทัศนคติของสังคมที่กดดันผู้หญิงด้วยภาพอุดมคติ ที่ไม่เพียงสร้างผลกระทบทางจิตใจให้กับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังอันตรายต่อสุขภาพทารกในครรภ์ และอาจสะเทือนถึงอัตราการเกิดของประชากรญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้ มีคุณแม่มือใหม่จำนวนมากในญี่ปุ่นที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน (underweight) ระหว่างช่วงตั้งครรภ์ พวกเธอมีแนวโน้มกินน้อยลง ควบคุมอาหารอย่างรัดกุม และวิตกต่อรูปร่างเพื่อไม่ให้ดูเหมือนคนท้อง ซึ่งยังมีบรรยากาศแข่งขันกันเล็กๆ ในกลุ่มคุณแม่ด้วยกัน ที่ดูเหมือนใครรักษาหุ่นได้ดีกว่าก็ยิ่งโดดเด่นขึ้นมาจากในกลุ่ม
ปัจจัยเหล่านี้น่านำมาคิดไม่น้อย เพราะอัตราการเกิดของประชากรญี่ปุ่นนั้นต่ำมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งแต่ปี 1980 ที่ยอดอัตราวัยผู้ใหญ่เริ่มลดลงอย่างฮวบฮาบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การห่วงผอมสร้างผลกระทบที่อันตรายต่อสุขภาพคนญี่ปุ่นรุ่นต่อมาอย่างมีนัยยะ จากการเปิดเผยของสถาบัน National Center for Child Health and Development ในกรุงโตเกียว คาดการณ์ว่า ผู้ใหญ่มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคมากขึ้นส่งผลกระทบต่ออายุขัย มีส่วนสูงลดน้อยลง ร่างกายแคระแกร็น เติบโตช้า ซึ่งคนที่เกิดมาด้วยน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน ก็มีแนวโน้มควบโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (Hypertension) โดยไม่ต้องเสียเวลาลุ้น
นักวิจัย Peter Gluckman จากมหาวิทยาลัย University of Auckland พบข้อมูลนี้ในกลุ่มคุณแม่ญี่ปุ่นที่ห่วงรูปร่างจนเกินเหตุขณะตั้งครรภ์ จนต้องทำสรุปนำเสนอเชิงวิชาการต่อรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเสนอแนะการกำหนด ‘น้ำหนักมาตรฐาน’ สำหรับสตรีมีครรภ์ที่ไม่ควรน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานนี้ แต่ดูเหมือน กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น (Ministry of Health, Labour and Welfare) จะยังไม่ขยับอะไรมากนัก ไกด์ไลน์เรื่องน้ำหนักจึงอยู่ระหว่างการหารือและถกเถียงถึงความเหมาะสมบ่อยครั้ง
คนญี่ปุ่นเตี้ยลงเรื่อยๆ
ส่วนสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาพิจารณา จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2016 พบว่าตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ผู้ชายญี่ปุ่นสูงเพิ่มขึ้นราว 14.5 เซนติเมตร (โดยเฉลี่ยผู้ชายที่เกิดในปี 1978 – 1979 จะสูงเฉลี่ยที่ 170.8 เซนติเมตร) ในขณะผู้หญิงก็สูงเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 16 เซนติเมตร (เฉลี่ยผู้หญิงสูงที่ 158.5 เซนติเมตร)
แต่หลังจากนั้น ทั้งชายและหญิงกลับ ‘เตี้ย’ ลงเรื่อยๆ ที่ 0.2 เซนติเมตร ซึ่งหลายประเทศก็เผชิญกับเทรนด์เตี้ยนี้เช่นกัน อย่างในสหรัฐอเมริกาจะเชื่อมโยงไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงอาหารคุณภาพ สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูและกิจกรรมของเด็กที่มีผลต่อส่วนสูงตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงเติบโต
หลังจากญี่ปุ่นผ่านพ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพยายามฟื้นตัวจากความสูญเสียด้านประชากรอย่างรุนแรง จึงพยายามรณรงค์เพิ่มน้ำหนักเด็กเกิดใหม่ให้มากกว่า 2.5 กิโลกรัม จนออกมาเป็นไกด์ไลน์ ที่นับว่าประสบความสำเร็จ (ในช่วงเวลานั้น) เพราะ เด็กมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ราว 7.3% เพื่อที่จะเป็นประชากรคุณภาพ ร่างกายแข็งแรง และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชาติ
แต่พอน้ำหนักมากเข้าเรื่อยๆ ก็เริ่มจะเบรกไม่อยู่ เด็กที่เกิดมาอ้วนท้วนเริ่มเป็นปัญหาให้กับคุณแม่จากโรคครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูง รกมีพัฒนาผิดปกติ เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดของมารดาและทารกผิดปกติ ทำให้ทั้งแม่และเด็กมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ ภัยแอบแฝงนี้ทำให้สูติแพทย์ทั่วญี่ปุ่นเปลี่ยนมาแนะนำให้บรรดาแม่ๆ หันไปทานอาหารแคลฯ ต่ำแทน จากแนวคิด ‘กินเพื่อแม่-ลูก’ (Eat for Two) ในอดีต ก็เปลี่ยนไปเป็น ‘ท้องให้เล็ก คลอดออกมาถึงเลี้ยงให้โต’ (Give birth small but raise a big baby)
ในระดับสากล ผู้หญิงน้ำหนักต่ำว่าเกณฑ์ (underweight) มี BMI ดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่า 18.5 จะได้รับคำแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักอีกระหว่าง 12.7 – 18.1 กิโลกรัม แต่ในชาติญี่ปุ่นแนะนำบรรดาสาวๆ ให้เพิ่มเพียง 9 – 12 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ไปมาก จึงมีส่วนทำให้สาวๆ เกิดมายาคติของน้ำหนัก ควบคุมอาหารจนผอม โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 9.6% ในการสำรวจปี 2010 ซึ่งเป็นอัตราที่มากจนน่าตกใจทีเดียว และแน่นอนว่าน้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้ทำให้ส่วนสูงของคนญี่ปุ่นลดลง จนอาจทำให้เตี้ยจนผิดสังเกต
เทรนด์ผู้หญิงผอมของญี่ปุ่นจึงค่อนข้างน่าหนักใจ สาวๆ ถึง 20% มีดัชนีมวลกาย BMI ต่ำกว่า 18.5 ซึ่งค่อนข้างต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสากล มีการสำรวจทัศนคติผู้หญิง ‘ท้องต้องผอม’ กับบรรดาแม่ๆ มือใหม่ พวกเธอกว่า 54% วิตกกังวล และพยายามให้ตัวเองดูผอมตลอดเวลา จนความบอบบางของพวกเธอดูไม่ค่อยสมส่วน คล้ายอุ้มลูกฟุตบอลไว้ที่ท้องมากกว่าจะมีน้ำมีนวลตามธรรมชาติ
อีกประเด็นคือ พวกเธอเชื่อว่าเมื่อผอมแล้วจะฟื้นตัวกลับมาหุ่นดีได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับปล่อยให้ตัวเองอ้วนท้วนสมบูรณ์ พวกเธอปรารถนาการคลอดแบบผ่าท้อง หรือ ซี-เซกชัน มากกว่าการคลอดแบบปกติ
แต่จากสถานการณ์ดังกล่าว หลายฝ่ายกำลังพยายามไปเปลี่ยนภาพลักษณ์เช่นกัน ให้ความสำคัญในการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ การรับประทานอาหาร และออกกำลังกาย ลดภาพผู้หญิงที่ผอมจนเกินไป แต่ความพยายามนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในกลุ่มคนที่ดูแลสุขภาพเท่านั้น ในสื่อบันเทิงญี่ปุ่นก็ยังนำเสนอความผอมแบบอุดมคติผ่านนางแบบ แฟชั่นไอคอน ไอดอล ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสอดรับอีกเมื่อไหร่ เพราะเราก็ต้องยอมรับว่า ในโลกที่ภาพ instagram หวือหวา มักเข้าง่ายกว่า guideline สุขภาพ
มายาคติความผอม เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามและใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองคนในสังคม การเป็นแม่ล้วนเป็น ‘ภาระหนัก’ ของสิ่งมีชีวิต เราคาดหวังผู้หญิงให้ผอมเกินไปจนคนรุ่นใหม่กำลังเผชิญภัยเสี่ยงซ่อนเร้นโดยที่เราไม่ตั้งใจหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก
Effect of the Japanese diet during pregnancy and lactation or post-weaning on the risk of metabolic syndrome in offspring.
Restricting weight gain during pregnancy in Japan: A controversial factor in reducing perinatal complications
Illustration by Kodchakorn Thammachart