ผมเชื่อว่าทุกๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘จรรยาบรรณแพทย์’ ผ่านหูมากันบ้างอยู่แล้ว นอกจากนี้ที่พอได้ยินอีกบ้างก็อาจจะเป็นจรรยาบรรณครู หรือจรรยาบรรณนักการเมือง จรรยาบรรณศาล จรรยาบรรณนักข่าวหรือสื่อ ผมคงไม่มาไล่เรียงความหมายของคำเหล่านี้ที่พอจะรู้จักกันดีอยู่แล้วหรอกนะครับ แต่พอจะทราบกันไหมครับว่าทำไมกันหนออาชีพหมอนี้ถึงโดนเรียกร้องถามหาสิ่งที่เรียกว่า ‘จรรยาบรรณ’ ระดับท็อปๆ เลย อาจจะเหนือเสียยิ่งกว่าจรรยาบรรณอื่นๆ ที่พูดถึงข้างต้นเสียอีก และแน่นอนเราได้ยินการเรียกร้องถึงจรรยาบรรณแพทย์มากกว่าจรรยาบรรณภารโรง จรรยาบรรณเสมียน หรือจรรยาบรรณพนักงานเสิร์ฟ และอื่นๆ…ทำไมหนอจึงเป็นเช่นนี้?
กับอาชีพตัวท็อปอื่นๆ ที่มักถูกเรียกร้องหา ‘จรรยาบรรณ’ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง สื่อ ศาล หรือครู นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจกันได้ไม่ยาก เพราะการกระทำ และพฤติกรรมของคนในอาชีพเหล่านี้นั้น มักส่งผลในทางตรงอย่างชัดเจนกับคนจำนวนมากในสังคมได้ และหลายครั้งวางอยู่บนฐานทางอำนาจทั้งในเชิงการปกครอง (เช่น ครูกับนักเรียน) และอำนาจในเชิงการตรวจสอบที่ต่างกัน ทำให้จำเป็นต้องมีการเรียกร้องเรื่องจรรยาบรรณที่เข้มแข็งเป็นพิเศษ แต่กับอาชีพหมอ ที่หลายๆ ครั้งเป็นฝ่ายตั้งใจลงไปช่วยเหลือคนทุกข์คนเจ็บป่วย หรือในหลายๆ เคส (ส่วนใหญ่ด้วย) ไม่ได้มีผลกระทบอะไรในวงกว้างแบบอาชีพตัวท็อปอื่นๆ เลย เป็นข้อมูลในทางส่วนตัวระหว่างหมอกับคนไข้เองล้วนๆ ด้วยซ้ำ แล้วไยตัวหมอจึงโดนเรียกร้องหาจรรยาบรรณในระดับที่ไม่ด้อยไปกว่ากันเล่า?
นั่นเป็นเพราะว่าด้วยตรรกะของโลกยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะหลังการเกิดขึ้นของรัฐแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยในช่วงปลายทศวรรษ 1780s นั้น กล่าวได้ว่าฐานความคิดที่เริ่มกลายมาเป็นมาตรฐานสากลของโลก (ในปัจจุบันก็ถือได้ว่าหยั่งรากลึกลงแน่นแฟ้นแล้ว) ก็คือ วิถีความคิดที่เป็นผลผลิตจากยุครู้แจ้ง โดยเฉพาะการมองทุกอย่างให้มีความสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลไล่เรียงกันไปหมด หรือที่บางครั้งเราเรียกกันว่า Enlightenment Rationality น่ะครับ
แล้วไอ้ที่ว่ามามันไปเกี่ยวกับการแพทย์อย่างไร? มันเกี่ยวมากทีเดียวครับ เพราะไอ้ Enlightenment rationality นั้นมีกระบวนการวิธีคิดที่สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific methodology นั่นเอง ทำให้คำอธิบายต่างๆ ในเชิงหลักตรรกะ เหตุผล และสอดคล้องกับคุณค่าในทางวิทยาศาสตร์ได้รับการตีค่าสูงกว่าคำอธิบาย หรือชุดคิดความเชื่อแบบอื่นๆ มันถือว่านี่คือองค์ความรู้ที่ได้รับการขัดเกลาแล้ว พิสูจน์ในเชิงประจักษ์จนสิ้นสงสัยแล้ว ฉะนั้นจึงสามารถเชื่อถือได้อย่างแม่นมั่น ไม่ใช่ข้อคิดเห็นแบบวิถีคิดสกุลอื่นๆ
แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ อีกหนึ่งในรากฐานสำคัญมากๆ ของรัฐประชาธิปไตยเสรีสมัยใหม่ โดยเฉพาะในฐานะการเป็นกลไกให้หลักสิทธิมนุษยชนมันทำงานได้นั้นก็คือ การปรับเปลี่ยนและยืนยันสถานะของมนุษย์นั่นเองครับ จากที่เดิมทีในยุคก่อนสมัย (เสรีนิยม) ใหม่นั้น ประชากรแทบทั้งหมดเป็นเพียงทรัพย์สินทรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์หรือเจ้าผู้ปกครองต่างๆ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบ ที่เชิดชูหลักสิทธิมนุษยชนเป็นการสำคัญ มนุษย์ในฐานะ ‘เจ้าของชีวิตของตนเอง’ ก็ถูกสถาปนาขึ้น พร้อมกับชัยชนะของสิทธิที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์เราทั้งมวลด้วยนั่นก็คือ ‘สิทธิในการมีชีวิตอยู่’ หรือ Right to Life
ที่ Right to Life สำคัญหนักหนาเหนือกว่าอื่นใด เอาแบบง่ายๆ เลยก็คือ “หากไม่เหลือแล้วซึ่งชีวิต สิทธิอื่นใดก็ไม่สามารถจะมีอยู่ต่อไปหรือมีอยู่อย่างมีความหมาย ให้ใช้งานได้ด้วยตนเองในฐานะเจ้าของแห่งสิทธินั้นได้” น่ะครับ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีชีวิตเสียก่อน สิทธิอื่นๆ ที่ตามมาจะอะไรก็แล้วแต่ ค่อยว่ากัน ค่อยเสริมใส่กันไป เพราะฉะนั้น ‘ชีวิต’ จึงกลายเป็นตัวตนที่มีมูลค่าสูงสุดตามวิถีการวัดคุณค่าของตรรกะของยุคสมัยใหม่แบบเสรีนี้
เมื่อการให้ค่าความสำคัญของ ‘เสียง’ จากโลกวิทยาศาสตร์ได้รับการเชิดชูให้สูงค่ากว่าเสียงใดๆ และ ‘ชีวิต’ กลายเป็นคุณค่าสำคัญเหนือกว่าตัวตนอื่นใดทั้งสิ้น วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการปกปักรักษาชีวิต อย่าง ‘การแพทย์’ จึงกลายมาเป็นศาสตร์ที่ทรงอำนาจอย่างมากในเวทีโลกสมัยใหม่แบบเสรีนี้ พูดโดยกระชับก็คือ สถานะทางคำพูดของแพทย์ในยุคสมัยใหม่แบบเสรีนั้นมันมีสถานะกึ่งๆ เป็นวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในสมัยก่อนอยู่ด้วย เพราะมันสัมพันธ์โดยตรงกับความเป็นความตาย การจะอยู่จะไป การยืดหรือลดทอนชีวิตของผู้รับสาร
สถานะที่ประหนึ่งเป็น ‘วาจาสิทธิ์’ นี้เองที่มันทำให้ในระบบกลไกของโลกสมัยใหม่ต้องพยายามตั้งเงื่อนไขในการ “จำกัดอำนาจการใช้งานให้อยู่ในขอบเขตหรือวิถีที่ถูกต้อง ไม่ไปทำร้ายผู้อื่นเข้าเท่าที่กลไกจะอำนวย”
ฉะนั้นจรรยาบรรณทางการแพทย์ ในฐานะกลไกที่เข้ามาเบรกและควบคุมอำนาจที่ล้นเหลือของแพทย์ในยุคปัจจุบันจึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างเข้มข้น เทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าจรรยาบรรณของอาชีพที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมโดยตรงตัวท็อปทั้งหลายนั่นเองครับ
ถึงตรงนี้ผมอยากจะออกตัวก่อนนะครับว่าผมเองไม่ได้มีจุดยืนส่วนตัวที่ไม่โอเคอะไรกับสถานะทางการแพทย์แบบที่เป็นอยู่นี้ ทั้งยังพบเห็นด้วยตัวเองมาแทบตลอดชีวิตทั้งผ่านญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงว่าหมอนั้นเป็นหนึ่งในอาชีพที่ทำงานหนักหน่วงสุดติ่งที่สุดอาชีพหนึ่งจริงๆ แต่การไม่ได้ไม่เห็นด้วยที่ว่านี้ก็ต้องมาพร้อมกับความเป็นจริงที่อยู่บนฐานของตรรกะแบบสังคมสมัยแบบเสรีนี้ว่าอำนาจจากปากหมอนั้นมันมีน้ำหนักที่ต้องแบกรับมากกว่าคนทั่วไปอยู่เสมอๆ กระทั่งอาจจะมากเสียยิ่งกว่านักการเมือง หรือศาลเสียอีก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสื่อ เป็นศาล เป็นครู หรือเป็นนักการเมืองนั้น ล้วนแต่เป็นอาชีพบนฐานสำนักวิชาแบบสังคมศาสตร์-มานุษยศาสตร์ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่ามันก็เป็นอาชีพที่ทำงานหรือพูดเรื่องที่เกี่ยวพันธ์ กระทบ และรู้เรื่องได้โดยคนทั่วไปในสังคมนี่แหละ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ระดับของพรมแดนและขีดความสามารถในการเข้าใจและถกเถียงได้” นั้นมันอยู่ในระดับที่ไม่หนีห่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นคนที่จบด้านนี้มาโดยตรง หรือคนที่ไม่ได้ศึกษาด้านนี้มาโดยตรงก็ตาม ดังจะเห็นว่าคำตัดสินของศาล ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์ได้มากมาย ไม่เกี่ยงว่าจบนิติศาสตร์มาหรือไม่, นักการเมืองเสนอนโยบายก็มีการถกเถียงกันต่างๆ นานาในวงกว้าง, บทบาทของสื่อที่ได้รับการดีเบตมากมาย ไม่นับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้พรมแดนของอาชีพการเป็นสื่อกับคนธรรมดาถูกทำให้พร่าเลือนลงเรื่อยๆ หรือกระทั่งอาชีพครู ที่อย่างที่เราทราบกันดีว่า ตลอดมาคนจำนวนมากมายไม่ได้จบคณะครุศาสตร์ ก็ผันตัวมาเป็นครูกันได้มากมาย ว่าง่ายๆ ก็คือ มันมีความเป็น Generalistสูงในตัวอาชีพเอง
แต่หมอนั้น เป็นวิชาในทาง ‘วิชาชีพ’ แบบหนึ่งครับ ที่ต้องอาศัยความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ต้องได้รับการฝึก มีชื่อเรียกศัพท์เทคนิค รวมไปถึงเทคนิคต่างๆ เพื่อประกอบงานในสายอาชีพของตนอย่างมากมาย ว่าง่ายๆ ก็คือ มีความเป็น Specialist ในตัวอาชีพสูงกว่ามาก และนั่นก็ทำให้ตัวพรมแดนโดยเฉพาะในด้านความเข้าใจได้ ความต่อต้านได้ ความสามารถในการจะโต้แย้งได้ของฝั่งผู้รับสารนั้นน้อยกว่าอาชีพที่มีความเป็น Generalistมาก ลักษณะแบบที่ว่านี้เองที่ยิ่งเพิ่มสถานะของความเป็น ‘วาจาสิทธิ์’ ของแพทย์ให้มากขึ้น คือ ‘มีไว้ให้ฟังและทำตาม’ ไม่ได้มีไว้ให้เถียง หรือตอบโต้ (อย่างมากที่สุดก็เป็นพวกดื้อ พวกขบถ ที่ไม่ฟังไม่ทำตามไปเลย) หากจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอะไร ก็มักเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างหมอด้วยกันเองเสียมากกว่า สถานะที่ไม่อนุญาต ไม่เปิดรับการท้าทายจากภายนอก แต่จำเป็นอย่างยิ่งบนฐานตรรกะแบบสังคมสมัยใหม่แบบเสรีนี้เอง มันจึงทำให้คำพูดของหมอและบุคลากรทางการแพทย์มันมีอำนาจมากเหลือเกินครับ
เมื่อมันมีอำนาจมาก มันก็ต้องการความรับผิดชอบที่สูงตามมา เพื่อระวังไม่ให้เอาไปใช้รังแกใคร เพราะคำพูดที่ท่านพูดออกมาคือการ ‘ให้เชื่อ ให้เป็นเช่นนั้น ให้ฟัง’ และเกี่ยวพันกับชีวิตของมนุษย์ด้วยกันเองคนหนึ่งจริงๆ
อย่างไรก็ดีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ผมคิดว่าหลายๆ ท่านคงจะได้ทราบข่าวว่า มีพลทหารถูกรุ่นพี่ซ่อมจนสมองบวม ต้องเข้าห้องไอซียู รุ่นพี่เองก็ออกมายอมรับการซ่อมที่ว่านี้แล้ว ทั้งยังยอมรับอีกว่าพวกตนถึงขนาดจะแอบนำร่างของพลทหารรุ่นน้องผู้นี้ไปทิ้ง แต่กระนั้นก็ยังมีคณะแพทย์ที่ออกมาร่วมแถลงการณ์พร้อมกับเหล่าทหารยศสูงทั้งหลายว่า “ไร้ซึ่งร่องรอยการรุมทำร้าย”[1]ผมเองไม่ทราบว่าคณะแพทย์เหล่านั้นท่านกล้าพูดข้อวินิจฉัยเช่นนั้นออกมาได้อย่างไร?
สำหรับผมแล้วสิ่งที่คณะแพทย์ทำนั้น มันน่าอดสู น่าโมโห และน่ารังเกียจเกือบจะเทียบเท่าเหล่าทหารรุ่นพี่ที่รุมกระทืบเหล่านั้นเลย เพราะสิ่งที่พวกคุณ (คณะแพทย์ที่ว่า) กำลังทำอยู่นี้คือการใช้ข้อได้เปรียบของพรมแดนเชิงวิชาชีพ ที่คนธรรมดาเองไม่มีความสามารถ ไม่มีปัญญาจะไปผ่าพิสูจน์หลักฐานอะไรมาคัดง้างคุณได้ อาศัยความประกาศิตทางการแพทย์ในวิถีคิดสมัยใหม่ในการสยบให้ความเป็นไปได้และหลักฐานแบบอื่นๆ ต้องยอมจำนนหรืออ่อนข้อลง ว่าง่ายๆ ก็คือ “พวกคุณกำลังทำให้ความตายของคนคนหนึ่งหมดกระทั่งทางเถียงหรือพูดถึงได้ อย่างน้อยก็ในทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะส่งผลในทางกฎหมาย” ครับ และผมคิดว่าต้องเป็นคนที่สูญสิ้นความเป็นคนโดยแท้แล้วเท่านั้นจึงจะทำอะไรเช่นนี้ได้
ลำพังผมพูดมาเสียยาวยืดทั้งหมดนี้เพื่อจะอธิบายให้ท่านเห็นกันว่าคำพูดของหมอนั้นมันสำคัญมากเพียงใด โดยเฉพาะคำพูดของท่านในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความรู้ตามวิชาชีพของตัวท่านเอง เพื่อจะได้เข้าใจได้ว่าน้ำหนักที่คนเป็นหมอพึงต้องสังวรณ์ไว้นั้น ควรเข้าใจและรับรู้ในความเป็นจริงทั้งมวลที่ว่ามาทั้งหมด ‘โดยตลอดเวลาและกระจ่างแจ้งแก่ใจ’ ไม่ใช่ว่าจะมาบิดพลิ้ววาจาตามใจผู้มีอำนาจได้แต่เพียงพล่อยๆ น้ำหนักที่คนเป็นหมอต้องถือไว้ตลอดที่พูดในฐานะหมอนั้น ช่วยระลึกให้ได้ด้วยเถิด
สังคมนี้เป็นทหารนี่ได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดจริงๆ ครับ คุณอาจจะได้เป็นศพจมกองเท้าที่ถูกบอกว่า “รอยตีนนั้นหายไป มันไม่มีอยู่” อย่างไร้ซึ่งทางปฏิเสธอำนาจของความไม่จริงนี้ พร้อมๆ กันไป หากเป็นทหารคุณอาจจะได้ใช้ตีนของคุณรุมกระทืบคนตามใจโดยบอกว่าไม่ตั้งใจ และเป็นทหารประเทศนี้ก็อาจจะได้รับวาจาสิทธิ์ออกมาปัดฝุ่นปัดร่องรอยความเป็นไปของความดำมืดที่ชักรากชอนไชลึกไปในระบบทหารนี้…ด้วยเสียงของ ‘แพทย์’ เทวะวจนะของยุคสมัยใหม่นี้แล
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.matichon.co.th