ข้างหน้าสดใส ข้างใน..เจออะไรบ้าง?
ทุกปีเรามักจะได้ยินข่าวการจบชีวิตของนักศึกษาแพทย์สาขาต่างๆ เพราะปัญหาความเครียดสะสม และความกดดันจากการเรียนในคณะที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่การแข่งขันสูงอันดับต้นๆ ของประเทศ
แม้ข่าวน่าเศร้านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรชิน เพราะทุกครั้งที่นักศึกษาแพทย์สักคนจากโลกนี้ไป มันยังหมายถึงครอบครัวสูญเสียลูกหลาน เพื่อนฝูงสูญเสียมิตรสหายอันเป็นที่รัก และใครบางคนสูญเสียคนสำคัญในชีวิต
ประเด็นเรื่องปัญหาในวงการแพทย์ถูกดีเบตกันมาหลายต่อหลายครั้ง หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 กลุ่มนักศึกษาแพทย์เคยออกมาเคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก #นักศึกษาแพทย์เลว เรียกร้องให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปัญหา วัฒนธรรม และระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ที่ส่งผลให้นักศึกษาแพทย์ต้องแบกรับความเครียดเกินจำเป็น นอกเหนือจากเนื้อหาการเรียน
สำหรับประเด็นที่มีการพูดถึงมากในแฮชแท็กนั้นคือ วาทกรรมทำงานหนัก=เสียสละ , วัฒนธรรมกินหัวจากผู้อาวุโส และกฎระเบียบที่หลายคนมองว่าเคร่งครัดเกินจำเป็น แต่สุดท้ายการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็เงียบหายไป และตั้งแต่วันนั้นจนมาถึงวันนี้ ยังมีข่าวนักศึกษาแพทย์กระโดดตึกเสียชีวิต ยังมีแพทย์ฝึกหัดหลายคนเจอกับคำด่าทอ ยังมีนักศึกษาแพทย์ที่โดนการเรียนกลืนชีวิตส่วนตัวไปแทบหมด ทำให้หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ตอนนี้วงการการศึกษาแพทย์เดินทางมาไกลแค่ไหน จากปัญหาที่เคยมีในอดีต
The MATTER ได้พูดคุยกับ 2 ผู้มีประสบการณ์การเป็นนักศึกษาแพทย์ ธาดา อดีตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ และ นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนกฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ แม้ปัจจุบัน ทั้ง 2 คนมีเส้นทางแตกต่างกันไป แต่ก่อนหน้านั้น เขาคู่ก็เคยเป็นนักเรียนแพทย์ และเคยเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ความเครียดสะสมจากการเรียน
ชีวิตในคณะที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
หมอแมนวัฒน์เล่าว่า หนึ่งในปัญหาที่กระทบจิตใจนักศึกษาแพทย์มากที่สุดคือความกดดันจากการเรียนและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ “ช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์ อยู่เวรอาจจะไม่หนักมาก แต่มีเรื่องหน้าที่ประจำวัน ซึ่งต้องเริ่มราวด์ 7 โมงเช้า บางทีเสร็จ 6 โมงเย็น- 1 ทุ่ม ต้องรับคนไข้ที่แอดมิทช่วงเย็นขึ้นไปทบทวนเตรียมประวัติกลางคืน ต้องเตรียมนำเสนอเคสกับอาจารย์ เขียนรายงาน ส่วนการสอบวนเวียนตลอด จะเหนื่อยมากบางช่วง เช่นตอนอยู่แผนกอายุรกรรมหรือเด็ก
“แทบทุกคนมีความเครียดสูง และต้องเตรียมสอบเสมอ ช่วงต้นๆ จะเรียนหนักมาก ปี 2 ไปแล้วสอบทุก 1-2 สัปดาห์วนเวียนไป เรารู้สึกเครียดตลอดเวลาตอนจะสอบชั้นพรีคลินิก เครียดตอนเตรียมเคสนำเสนออาจารย์ตอน Consultation Round บางแผนก ความรู้สึกเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ยังจำได้ดี และอาจจะยังติดอยู่จนทุกวันนี้ เป็นเรื่องแปลกที่เรียนจบมานานแล้ว บางคืนยังมีฝันว่าไปราวด์ไม่ทัน ไปสอบทำไม่ได้ แต่ไม่ค่อยฝันถึงเรื่องเครียดตอนเรียนเฉพาะทาง หรือเรียนต่อยอด มีแต่ช่วงนักศึกษาแพทย์นี่แหละ”
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะแพทยศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาการเรียนที่เคร่งเครียดมากที่สุดคือการต้องแบกรับความกดดันและความคาดหวังทั้งจากตัวเอง และคนรอบข้าง ก่อนจะมาเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ต้องรับหน้าที่ดูแลชีวิตคน พวกเขาล้วนเคยเป็นเด็กมัธยมที่ถูกยกให้ตัวท็อปของโรงเรียน และเข้ามาเรียนในคณะที่คะแนนอันดับต้นๆ ของประเทศด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม
หมอแมนวัฒน์เล่าว่า “บ้านเราคนมาเรียนหมอส่วนใหญ่เป็นคนเก่ง อายุน้อย มีความมั่นใจสูงติดตัวมาจากชั้นมัธยม เมื่อมาเรียนรวมกัน การแข่งขันจึงเข้มข้นมากไม่ว่าจะกลุ่มไหน เรียนเอา Top เรียนเอา A มาจนถึงเรียนลุ้น Mean หรือแค่ลุ้นผ่าน”
การต้องจากสังคมที่คุ้นชิน มาสู่สังคมที่เต็มไปด้วยคนที่เชี่ยวชาญในระดับเดียวกัน ทำให้นักศึกษาแพทย์หลายคนค่อยๆ สูญเสียความภูมิใจในตัวเองไปทีละนิด ประกอบกับการต้องแข่งขันกับทั้งตัวเอง เพื่อน และระบบการเรียนตลอดเวลา ยิ่งทำให้ช่วงเวลาแห่งการเป็นนักเรียนแพทย์เป็นเวลาที่กดดันมากที่สุด
เมื่อวัฒนธรรมกินหัวกลายเป็นเรื่องปกติ
มีคำกล่าวว่า ‘คำพูด’ เป็นได้ทั้งผู้สร้าง และผู้ทำลายในเวลาเดียวกัน อยู่ที่คนเราจะเลือกใช้ จึงไม่แปลกใจที่นักศึกษาแพทย์หลายคนจะหมดกำลังใจและท้อแท้เพราะ ‘Verbal Abuse’ หรือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือสั่งสอนด้วยถ้อยคำที่รุนแรงจากอาจารย์ ทั้งระหว่างเรียนก็ดี ต่อหน้าคนไข้ก็ดี จนทำให้ว่าที่แพทย์บางคนเสียศูนย์ และกลายเป็นแผลในใจไปตลอด
สำหรับตัวธาดาเองเคยผ่านประสบการณ์โดนกินหัวทั้งกับตัวเอง และเห็นจากเพื่อน ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ที่เขาจำได้ดีแม้จะลาออกไปแล้วคือ การเห็นเพื่อนโดนอาจารย์ดุด้วยถ้อยคำรุนแรง กล่าวเสียดสีต่อหน้าคนไข้ อดีตนักศึกษาแพทย์เล่าว่า “มีเพื่อนคนหนึ่งขึ้นวอร์ดไปแล้วโดนกินหัวตอนออกตรวจผู้ป่วยนอก เพื่อนโดนถามย้ำไปเรื่อยๆ พอตอบไม่ได้ก็โดนด่าว่าทำไมโง่ขนาดนี้ ก็จะโดนคำพูดที่รุนแรง”
“เวลาเขาจะด่าหรือว่าเรารุนแรง เขาจะอ้างว่าทำไปเพื่อสอน ในคณะแพทย์มีคำพูดที่อาจารย์อาวุโสบางท่านยกขึ้นมาพูดคือ No Pain No Gain และถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายความชอบธรรมของการที่เขาจะล่วงละเมิดเราทางคำพูด อ้างว่าทำเพื่อให้เรากลายเป็นแพทย์ที่ดีขึ้น ซึ่งผมว่ามันไม่เหมาะเท่าไหร่ การโดนกินหัวไม่เคยหายไป ที่มันมีคำศัพท์เฉพาะแบบนี้ขึ้นมาเพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด เพื่อนวอร์ดต่างๆ ก็มาเล่าว่าเจอเหตุการณ์นี้เหมือนกัน รวมถึงเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เจอปัญหานี้ ไม่ใช่ว่าอาจารย์แพทย์ทุกคนจะทำแบบนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังมีอยู่จริงๆ”
วัฒนธรรมบางอย่างอาจสานต่อมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเหมาะกับทุกยุคสมัยเสมอไป ธาดาพูดถึงปัญหานี้ว่า “ในความเห็นของผม หลักสูตรแพทย์ในส่วนของเนื้อหาที่มันหนักเราเข้าใจว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่สิ่งที่ควรปรับคือตัวค่านิยม และวัฒนธรรมในการปฏิบัติต่อนักศึกษา มันยังมีระบบอาวุโสอยู่บ้าง และกินหัวเราเป็นเรื่องปกติ หรืออ้าง No Pain No Gain อยู่ ถ้าปรับได้ก็อยากให้ค่านิยมตรงนี้หมดไป อยากให้อาจารย์มองนักศึกษาเป็นเพื่อนร่วมโลก ให้เกียรติเหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แล้วบรรยากาศในการเรียนน่าจะดีขึ้น”
ขณะที่หมอแมนวัฒน์เองก็มองว่า การใช้คำพูดในทางที่ผิดเป็นปัญหาเช่นกัน ซึ่งควรเริ่มแก้ปัญหาด้วยการปลูกฝังทัศนคติผู้สอน และจัดระบบการทำงานใช้ชัดเจนเรื่องภาระหน้าที่การสอนนักศึกษาแพทย์ “อาจารย์สายบริการ และสายสอน ควรแยกจากกันให้ชัด อย่าให้คนไม่เต็มใจสอน ไม่มีคุณสมบัติการเป็นครูมาสอนหนังสือ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนแพทย์หลายๆ แห่งก็ดีขึ้นแล้ว ส่วนที่ยัง Toxic มากคือ กลุ่มแพทย์ใช้ทุนที่ในทางปฏิบัติกึ่งๆ โดนบังคับทำงาน โดยใช้คำว่าเพื่อการเรียนรู้เป็นเหตุผล”
หมอแมนวัฒน์เสริมว่า แม้จะยังพบปัญหาอยู่ แต่ทุกวันนี้อาจารย์โรงเรียนแพทย์จะมีการจัดอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการสอนหนังสือมากขึ้น โรงเรียนแพทย์หลายแห่งพยายามแบ่งภาระการสอนให้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อก่อนอาจารย์แพทย์จะรับ 2 หน้าที่คือสอนหมอเฉพาะทาง และสอนนักเรียนแพทย์ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีวิธีการรับมือแตกต่างกัน แต่หลังจากมีการแบ่งงานชัดเจนมากขึ้น ปัญหานี้ก็ลดลง
งานหนักไม่เคยทำร้ายใคร…จริงหรือ?
ในช่วงปี 4 เป็นต้นไปนักศึกษาแพทย์จะต้องเข้าสู่การเรียนที่เรียกว่า ‘ชั้นคลินิก’ ซึ่งเป็นการเรียนและฝึกในหอผู้ป่วยจริง มีการจัดเวรให้เฝ้าผู้ป่วยเพื่อเรียนรู้กับสถานการณ์ต่างๆ เท่ากับว่า นักศึกษาแพทย์ต้องแบกทั้งภาระจากการเรียน การอ่านหนังสือสอบที่หนักหน่วง และต้องมาดูแลผู้ป่วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนื่อยและเครียดมาก
วัฒนธรรมการทำงานหามรุ่งหามค่ำของแพทย์ไม่ได้สิ้นสุดที่ชั้นคลินิก เพราะเมื่อขึ้นมาเป็นเอ็กเทิร์น (นักศึกษาแพทย์ปี 6) หลายคนก็พูดทำนองเดียวกันว่าทำงานเหมือนขายวิญญาณให้เวร เพราะต้องขึ้นเวรยาวๆ บางแห่งทำงาน 24-36 ชั่วโมงติดกัน จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อผ่านปี 6 สุดหฤโหด ว่าที่แพทย์ก็ต้องมาเจอด่านต่อไปที่เรียกว่าอินเทิร์น (แพทย์จบใหม่ หรือแพทย์ใช้ทุน 3 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่ยังต้องทำงานหนักต่อเนื่อง แพทย์ฝึกหัดหลายคนทำงานมากกว่า 80-140 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ซึ่งขัดต่อกฎหมายแรงงานที่ระบุว่าให้ทำงานไม่เกิน 48 ต่อสัปดาห์) จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ขายเวร’ ต่อให้เพื่อนหรือบุคคลแพทย์เหมือนกัน เพื่อหาเวลานอน โดยเงินส่วนนั้นเป็นเงินที่ต้องออกเอง ไม่ใช่เงินอุดหนุนจากทางรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการทำงานหนักและการไม่มีระบบจัดการที่ดีพอ กำลังค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของอินเทิร์นในทุกๆ ด้าน
ธาดามองว่าปัญหางานที่หนักเกินไป ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่ความผิดของคณะแพทย์เสียทีเดียว ด้วยบริบทของประเทศไทยที่แพทย์กระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ขณะที่ชนบทจะมีแพทย์น้อย เลยส่งผลต่อโครงสร้างการศึกษาที่บังคับให้แพทย์จบใหม่รอบรู้ทุกด้านให้มากที่สุด “หากไปดูเงื่อนไขสิ่งที่แพทย์จบใหม่ต้องทำให้ได้จะเห็นว่ามาตรฐานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะแพทย์ที่ถูกส่งไปทำงานต่างจังหวัดจำเป็นต้องมีความรู้หลากหลาย เพื่อรับมือกับเคสได้ทุกรูปแบบ”
นอกจากภาระส่วนนี้ อดีตนักศึกษาแพทย์คนนี้ ยังมองว่า ภาระงานบางส่วนในหลักสูตรอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นขนาดนั้น เช่น รายงานเคสส่งอาจารย์ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า งานส่วนนี้สามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อให้นักศึกษามีเวลาไปพักผ่อน หรือทบทวนเนื้อหาการเรียนที่จำเป็นกว่า เพื่อไม่ให้นักศึกษาแพทย์เครียดมากเกินไป
แม้หลายคนจะติดภาพว่าอาชีพหมอคืออาชีพที่ทนต่อความกดดัน และแบกภาระการทำงานได้ดีกว่าบางอาชีพ แต่อย่าลืมว่าภายใต้หัวโขนของหมอ ก็คือมนุษย์ที่มีความเครียด ความเหน็ดเหนื่อย ความกดดันดังเช่นคนทั่วไป การนำวาทกรรม ทำงานหนัก=เสียสละ มาให้แพทย์แบกรับนั้นไม่ได้ส่งผลเสียแค่ตัวผู้รักษา แต่ยังส่งผลไปถึงคนไข้ เมื่อภาระการทำงานเกินขีดความสามารถที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ ย่อมส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร
หากย้อนไปดูผลสำรวจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ของกรมการแพทย์เมื่อปี 2562 จะพบว่า ชีวิตการทำงานในฐานะแพทย์เต็มตัวหลังเรียนจบไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่หลายคนมอง
90% ของแพทย์ยอมรับตัวเคยรักษาผิดพลาด เพราะภาระงานที่มากเกินไป, 70% ของแพทย์ยอมรับว่าป่วยก่อนวัยอันควร และมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต, 65% ของแพทย์ยอมรับว่าตัวเองไม่มีความสุขกับอาชีพนี้ และ 15% ของแพทย์ต้องอยู่เวรทั้งสัปดาห์
แม้ว่าก่อนหน้านี้ แพทยสภาจะพยายามแก้ปัญหาการแบกงานหนัก ด้วยการออกประกาศกรอบเวลาทำงานของแพทย์ภาครัฐ แพทย์เพิ่มพูนทักษะ นอกเวลาราชการ ไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่หมอแมนวัฒน์เล่าว่า ประกาศดังกล่าวไม่ช่วยอะไรเลย เป็นแค่กรอบ ไม่มีการบังคับใช้ พอหน้างานจริงคนไม่พอ ก็จัดเวรเหมือนเดิม
เพื่อหวังแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มแพทย์จากสาขาต่างๆ ทั้งแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ใช้ทุนจึงร่วมกันจัดตั้ง “สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” เพื่อผลักดันให้มีกฎหมายแรงงานที่มีประโยชน์ และบังคับใช้ได้ ยกเลิกวัฒนธรรมการทำงานหามรุ่งหามค่ำ และปฏิรูปการทำงานของแพทย์ให้กลับมาอยู่ในรูปแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ ร่างเนื้อหา เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
ในฐานะของคนที่เคยผ่านทั้งการเป็นนักศึกษาแพทย์ อินเทิร์น เอ็กเทิร์น จนมาเป็นแพทย์เต็มตัว หมอแมนวัฒน์บอกว่า “เรื่องที่ทำให้คนเรียนหมอ คนเป็นหมอทุกข์ไม่ใช่แค่เรื่องความกดดันตอนเรียน หรือจำนวนเวร ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของระบบงาน รายได้ ความก้าวหน้าในอาชีพ ที่ไม่ได้ต่างจากคนอาชีพอื่น แต่ที่ให้ความสำคัญมาก อาจเป็นเพราะงานของหมอมีผลโดยตรงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพของการรักษาคนไข้ ประกอบกับการผลิตแพทย์แต่ละคนใช้เวลา และทรัพยากรมาก”
อ้างอิงจาก
https://www.prachachat.net/general/news-274916
https://thematter.co/brief/129246/129246
https://www.thecoverage.info/news/content/3039