เมื่อวันก่อนตอนไปส่งเตี่ยหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ มีคนไข้ชาวต่างชาติคนหนึ่งนั่งเก้าอี้ติดกัน เขาสะกิดถามผมว่า “ยูรู้ไหมว่าต้องรออีกนานไหม?” แน่นอนว่าผมไม่รู้หรอกแต่ก็อาสาเดินไปถามพยาบาลให้ ซึ่งก็ได้คำตอบว่าอีกสองคิว เขาขอบคุณและผมก็เริ่มสงสัย “เขาป่วยเป็นอะไร?” คุยกันไปคุยกันมา ปรากฎว่าเขาเป็นโค้ชทีมนักกีฬาอเมริกันของมัธยมปลายแห่งหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บบริเวณสะโพกจากการฝึกซ้อม ทางเลือกของเขาคือรักษาที่อเมริกาด้วยราคาที่แพงเพราะเขาไม่มีประกัน หรือมารักษาที่เมืองไทยและมาเที่ยวไปด้วยพร้อมๆ กันเลย
ประมาณ 14 ล้านคนทั่วโลกได้ใช้เงินไปกว่า 68,000 ล้านเหรียญในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) ในปี 2016 จากรายงานของบริษัทให้คำปรึกษา PwC พบว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งปลายทางที่ธุรกิจนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะกับชาวตะวันตก ทั้งทางด้านกระดูกและข้อ ศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความสวยงาม และทันตแพทย์ ซึ่งการผ่าตัดเหล่านี้มักไม่ได้รับการคุ้มครองจากประกันขั้นพื้นฐาน ซึ่ง PwC คาดว่าภายในปี 2021 ธุรกิจตรงนี้จะเติบโตไปเป็น $1.25 แสนล้านเหรียญ หรือเติบโตขึ้นอีกเท่าตัวภายในเวลาอีก 3-4 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว โดยการเติบโตนี้ไม่ใช่พึ่งพาเพียงแค่การทำจมูก ตาสองชั้น ตัดกราม หรือจัดฟันเพียงเท่านั้น แต่มีการผ่าตัดที่ราคาแพงกว่าและเสี่ยงกว่าที่ต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานขึ้นอย่างการผ่าตัดหัวเข่าหรือหัวใจ
สตาร์ทอัพตั้งแต่เบอร์ลินจนถึงกรุงเทพฯ กำลังพยายามสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตอันนี้เหมือนกับที่ Airbnb และ Hotels.com ทำกับลูกค้าทั่วไป แทนที่จะหาสถานที่สำหรับพักผ่อนเหมือนปกติ ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ว่าต้องการรับการรักษาทางด้านไหน และหลังจากนั้นก็จะมีลิสต์ของคลีนิค โรงพยาบาล และแพทย์ที่เชี่ยวชาญขึ้นมาตามประเทศที่ให้บริการการแพทย์นั้นๆ เลื่อนเมาส์ไปคลิกเพื่อดูรายละเอียดและจองได้ทันที โดยบริษัทเหล่านี้เก็บเงินลูกค้าจากค่าคอมมิชชั่นต่อการจองในแต่ละครั้ง หากใครที่ต้องใช้บริการบ่อยๆ ก็มีระบบสมาชิกเช่นเดียวกัน บริษัทเหล่านี้กำลังวางแผนสร้างรายได้เพิ่มด้วยการขยายแพลนให้ลูกค้า (หรือคนไข้) และครอบครัวที่ต้องการพักฟื้นหลังการพบแพทย์ที่หาดทรายสีขาวทะเลสีฟ้าหรือไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ โดยผสมสานบริการของพวกเขาเข้าไปในเว็บไซต์และบริการดังๆอย่าง Airbnb, Expedia, Uber และ Hotels.com
หนึ่งในตลาดที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นประเทศอเมริกาที่ครัวเรือนปกติจะใช้เงินประมาณ 1 หมื่นเหรียญในด้านสุขภาพจากสถิติของปี 2017 ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้เงินมากขนาดนี้ต่อหนึ่งครอบครัว กระบวนการผ่าตัดเข่าที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง $35,000 เหรียญ (ประมาณ 1.1 ล้านบาท) ในอเมริกา จะเหลือแค่ประมาณ $8,200 ในประเทศโปแลนด์ $7,500 ในประเทศไทย $7,200 ในประเทศโคลัมเบีย และ $6,600 ในประเทศอินเดีย
Medigo สตาร์ทอัพจากเบอร์ลินได้ให้บริการไปแล้วกว่า 125,000 คน จากคำบอกเล่าของ Ugur Samut หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท บอกว่าส่วนมากแล้วคนเข้ามาเพื่ออ่านรีวิวก่อน เพราะอาการป่วยหลายๆ ครั้งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีความเสี่ยง ไม่แปลกที่พวกเขาจะอยากรู้ว่าประสบการณ์ของคนไข้ที่ผ่านๆ มาว่าป็นยังไงบ้าง Medigo เปิดให้คนไข้รีวิวประสบการณ์ในการเข้ารับการรักษาที่ตนเองประสบมา และมันช่วยทำให้คนไข้คนใหม่ที่เข้ามานั้นอุ่นใจว่าทุกอย่างน่าจะไม่มีปัญหา ยิ่งมีลูกค้ามาใช้งานมากเท่าไหร่ ยิ่งมีรีวิวและลูกค้าเติบโตขึ้นมากเท่านั้น
สำหรับการผ่าตัดที่อันตราย Medigo ช่วยให้คนไข้คนใหม่นั้นมีโอกาสได้พูดคุยกับคนไข้คนก่อนๆ ที่เคยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนั้นมาแล้ว เพื่อเพิ่มความมั่นใจและช่วยเพิ่มน้ำหนักในการตัดสินใจ พวกเขาพยายามร่วมมือกับบริษัทประกันถ้าทำได้ อย่างในรัสเซีย Medigo ร่วมมือกับ Allianz SE โดยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ก่อนแล้วก็รับเงินคือจากบริษัทประกันทีหลัง เพื่อให้ลูกค้าชาวรัสเซียที่ต้องการเดินทางไปรับการรักษาที่ต่างประเทศไม่ต้องออกเงินค่ารักษาจากกระเป๋าตัวเองเลย การมีบริษัทประกันเข้ามาร่วมด้วยเยอะๆ อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างสวยงาม ลองคิดดูว่าถ้าเราทำประกันแล้วสามารถเข้ารับการรักษาในต่างประเทศไปพร้อมๆ กับเได้ท่องเที่ยวไปด้วยคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว
สตาร์ทอัพอีกบริษัทหนึ่งชื่อ Medical Departures ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก่อตั้งโดย Paul McTaggart ในช่วงปี 2014 เขาเห็นโอกาสในธุรกิจ medical tourism ระหว่างที่ทำงานให้กับ Expedia ในเมืองซีแอตเทิล เขาย้ายครอบครัวไปที่ประเทศเม็กซิโกและหลังจากนั้นก็กรุงเทพฯ ก่อนจะก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้น เขาบอกว่าเว็บไซต์ของเขาเติบโตกว่า 40% ปีต่อปี โดยสร้างกำไรจากการผ่าตัดศัลยกรรมเสริมความงามและทันตกรรมได้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังขยายธุรกิจออกไปสู่การผ่าตัดที่ยุ่งยากขึ้นอย่างหัวใจ หัวเข่า สะโพก ข้อต่อและการบำบัดมะเร็งเนื้อร้าย
เขากล่าวถึงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเริ่มต้นธุรกิจนี้ว่า “ตอนนั้นผมหงุดหงิดมากที่พ่อของผมไม่สามารถหาคลีนิคทันตกรรมที่ราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ที่ประเทศ Canada ซึ่งผมก็ไม่ไม่เข้าใจเลยว่าในเวลานี้ที่ทุกอย่างก้าวหน้าไปหมดแล้ว ทำไมไม่มีทางเลือกอื่นให้กับเขาเลย”
อีกหนึ่งบริษัทที่เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างออกไป อย่าง BookDoc ที่สนใจกลุ่มคนมีเงินในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการได้รับการรักษาที่ไว้ใจได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว Chevy Beh ก่อตั้งเว็บไซต์นี้ขึ้นมาและมีคนเข้าชมวันหนึ่งประมาณ 2-3 หมื่นคน ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่แค่การหาแพทย์ให้กับคนไข้ เพราะแน่นอนว่าคนไข้ที่เดินทางไปต่างประเทศต้องการมากกว่านั้น ทั้งที่พักและการเดินทางต่างๆ เขาจึงร่วมมือกับ TripAdvisor และ Agoda เพื่อหาที่พักและ Airbnb สำหรับคนที่ต้องการพักฟื้นเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น ส่วนเรื่องการเดินทางก็มี Uber และ Grab ที่เป็นพาร์ตเนอร์กันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า
ปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้ธุรกิจนี้สำเร็จ คือการทำให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัย ลองเข้าไปนั่งในที่ของคนไข้แล้วคิดว่าต้องเดินทางไกลไปต่างประเทศ ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปให้แพทย์ต่างบ้านต่างเมืองกรีดหน้าอกผ่าตัดหัวใจนั้นไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่ง่ายเลยแม้แต่น้อย แม้ว่ามันจะสะดวกหรือราคาถูกกว่าก็ตามที บริษัทที่ทำให้คนไข้อุ่นใจและไว้ใจได้คือคนที่ถือไพ่เหนือว่าคนอื่นๆ ในธุรกิจนี้