เมื่อต้นปี 2024 นี้ ในบ้านเรามีพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา พื้นที่แห่งนั้นมีชื่อว่า บางกอก คุนสตาเล่อ (Bangkok Kunsthalle) ที่ปรับปรุงจากอาคารโรงพิมพ์เก่าในย่านเยาวราช ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการทางเลือก (Alternative exhibition space) ที่เปิดกว้างสำหรับงานศิลปะหลากแขนง ทั้งศิลปะร่วมสมัย ภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง ดนตรี วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ไปจนถึงงานสร้างสรรค์ในแขนงอื่นๆ
และนิทรรศการแรกที่ประเดิมพื้นที่แห่งนี้ก็คือนิทรรศการ Nine Plus Five Works โดย มิเชล โอแดร์ (Michel Auder) ศิลปินนักสร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน ผู้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์เชิงทดลองและวิดีโออาร์ตมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 60 เขามีชื่อเสียงจากงานภาพยนตร์และวิดีโอเชิงทดลองที่ไม่บอกเล่าเรื่องราวตามขนบทั่วๆ ไป และมักไม่เรียงตามลำดับเวลาตามปกติ หากแต่เป็นการเก็บภาพจากประสบการณ์ในชีวิตของตัวเองและผู้คนรอบตัวอย่างใกล้ชิด ผลงานของเขาผสมผสานความเป็นศิลปะ สารคดี และการบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวอย่างละเอียดอ่อน ราวกับเป็นบันทึกส่วนตัวที่เขียนออกมาในรูปของบทกวี เขามักพกพากล้องวิดีโอแบบพกพาติดตัว ทำให้เขามีโอกาสได้เก็บบันทึกภาพชีวิตส่วนตัวและผู้คนรอบข้างของเขาได้อย่างใกล้ชิดและตรงไปตรงมา แนวทางเช่นนี้เป็นการแหกขนบการเล่าเรื่องในวงการภาพยนตร์ยุคนั้นอย่างมาก
ในช่วงต้นยุค 70 โอแดร์ได้ร่วมงานกับสตูดิโอ The Factory ของแอนดี้ วอร์ฮอล และได้บันทึกภาพของผู้คนและเหตุการณ์สำคัญ ในประวัติศาสตร์วงการศิลปะยุคหัวก้าวหน้าของสหรัฐอเมริกา ในรูปของฟุตเตจวิดีโอจำนวนหลายพันชั่วโมง
ผลงานของเขาที่จัดแสดงในนิทรรศการ Nine Plus Five Works ครั้งนี้ ถูกแบ่งรูปแบบการนำเสนอเป็น 2 กลุ่มใน 2 ประเด็น ผลงานในกลุ่มแรกประกอบด้วยงาน 5 ชิ้นที่นำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับธรรมชาติผ่านมุมมองเกี่ยวกับเวลา ด้วยการสะท้อนมุมมองและความคิดของเขาผ่านภาพของธรรมชาติ และการใช้เทคนิคการตัดต่อเฉพาะตัว เพื่อนำเสนอปรากฎการณ์อันซับซ้อนให้ปรากฏต่อหน้าผู้ชม ส่วนผลงานกลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยผลงาน 9 ชิ้นที่รวบรวมบันทึกเหตุการณ์ การเดินทาง และเรื่องราวส่วนตัว วิดีโอภาพบุคคลต่างๆ ไปจนถึงวีดีโอเชิงทดลองที่ถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหวอันละเอียดอ่อนราวกับบทกวี
มิเชล โอแดร์ กล่าวถึงนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเขาในประเทศไทยว่า
“นี่เป็นการแสดงงานครั้งแรกในเมืองไทยของผม ผมไม่เคยมาเมืองไทยมาก่อนเลย ผมรู้สึกว่าผมอยู่ทุกๆ ที่มานานแล้ว ถึงแม้ผมมาที่นี่เป็นครั้งแรก แต่ผมก็รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านของผมด้วยเหมือนกัน”
เมื่อดูผลงานหลายชิ้นของเขา เราอดรู้สึกไม่ได้ว่ามันมีความหลอมรวมเข้ากับสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งศิลปินเผยเบื้องหลังให้เราฟังว่า
“ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่ 2-3 เดือน ผมมาถึงที่นี่เมื่อเดือนตุลาคม นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงมีเวลาทำความเข้าใจเมืองไทย คนไทย และวิธีในการมองเมืองแห่งนี้ ถ้าผมใช้เวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว ผมคงทำงานออกมาแบบนี้ไม่ได้ อย่างผลงานที่อยู่ตรงทางเข้า ผมเข้ามาติดตั้งผลงานที่นี่ แล้วผมได้ยินเสียง ได้เห็นเพื่อนบ้านที่เป็นคนงานในโรงงานข้างๆ พวกเขาทำงานได้อย่างลื่นไหล จนผมประทับใจและอดไม่ได้ที่จะต้องถ่ายภาพเอาไว้ และกลายเป็นผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา”
ถึงแม้จะเป็นผลงานศิลปะในสื่อสมัยใหม่อย่างภาพยนตร์และวิดีโอ แต่ผลงานของโอแดร์ก็ทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงการไหลเลื่อนของเวลาอย่างเชื่องช้า เช่นเดียวกับที่เราสัมผัสได้จากงานวรรณกรรมแบบกระแสสำนึก (Stream of consciousness) อย่างงานของ เจมส์ จอยซ์ หรือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นั่นเอง
“นั่นเป็นเพราะผมถูกเลี้ยงมาในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ครุ่นคิดและเรียนรู้เกี่ยวกับบทกวี และงานศิลปะอันเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ทำให้ผู้เสพรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างอย่างท่วมท้น งานของผมจึงค่อนข้างเป็นแนวทางแบบกระแสสำนึก อย่างเวลาผมถ่ายหนัง ผมค่อนข้างมีความผ่อนคลายและไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึก งานจึงออกมาในลักษณะนี้ อันที่จริงก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ผมถ่ายด้วยแหละนะ”
ถึงแม้ มิเชล โอแดร์ จะเริ่มทำงานภาพยนตร์และวิดีโอทดลองในช่วงยุค 70s แต่ผลงานของเขาก็ดูกลมกลืนกับยุคสมัยปัจจุบัน ที่ผู้คนต่างถ่ายวิดีโอและภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องราวของตัวเองและผู้คนรอบตัวและเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่น่าทึ่งก็คือ โอแดร์ทำงานในลักษณะนี้ก่อนที่จะเป็นที่นิยม และก่อนที่จะมีเทคโนโลยีบันทึกภาพพกพาขนาดเล็ก ที่ทำให้เราถ่ายวิดีโอกันได้อย่างสะดวกสบายเสียอีก
“ผมมักรู้สึกว่าแนวคิดของภาพยนตร์ก็มักจะเป็นเหมือนการเขียน ถึงแม้จะในยุค 70s ก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเครื่องไม้เครื่องมือก็เปลี่ยนไป ในยุค 2000 ทุกคนสามารถถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์ แล้วทุกคนก็กลายเป็นคนทำหนัง เพราะก่อนหน้านี้ การทำภาพยนตร์ไม่ใช่อะไรที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ แต่สำหรับผม ผมทำมันเลย ผมไม่ค่อยสนใจระบบเท่าไหร่ เพราะคุณต้องผ่านขั้นตอนเฉพาะมากมายที่จะเข้าไปทำภาพยนตร์ แต่ผมไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ ผมก็แค่หยิบกล้องแล้วก็ถ่ายหนังเท่านั้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทุกคนทำกันตอนนี้ นี่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่ผมทำในตอนนั้น
ผมคิดว่าในทุกวันนี้ เครื่องมือต่างๆ อย่างกล้องถ่ายภาพ นั้นมีขนาดเล็กและบางลงเรื่อยๆ เมื่อสมาร์ทโฟนมาถึงพร้อมกับเทคโนโลยีถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอ ในตอนแรกผมไม่อยากใช้สมาร์ทโฟน เพราะมันดูไม่ค่อยเวิร์ก และผมเองก็มีกล้องอยู่ในกระเป๋า แต่วันหนึ่ง 2-3 ปี หลังจากนั้น ผมก็ถ่ายทำหนังด้วยสมาร์ทโฟน และตัดต่อในคอมพิวเตอร์ สำหรับผมตอนนี้ สมาร์ทโฟนก็ใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว นับตั้งแต่ปี 2013 ที่ผ่านมา ผมก็ถ่ายหนังเพื่อทำงานด้วยสมาร์ทโฟนเท่านั้น”
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในผลงานของ มิเชล โอแดร์ ก็คือ เมื่อเทียบผลงานที่เขาถ่ายภาพเคลื่อนไหวของศิลปินโด่งดังอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล หรือ ซินดี้ เชอร์แมน กับผลงานที่เขาถ่ายภาพเคลื่อนไหวของคนธรรมดาสามัญบนท้องถนนในประเทศไทยนั้น แทบไม่ได้มีความรู้สึกที่แตกต่างกันเลย ผลงานทั้ง 2 แบบ ต่างเต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย และสบายๆ อย่างมาก
“นั่นเป็นเพราะผู้คนที่โด่งดังในตอนนี้ พวกเขาไม่ได้โด่งดังในตอนนั้น และเวลาที่ผมไปถ่ายหนังเกี่ยวกับใคร นั่นเป็นเพราะผมรู้จักพวกเขา ไม่ใช่เพราะพวกเขาโด่งดัง และเวลาถ่าย ผมไม่ได้สัมภาษณ์หรือถามคำถามอะไรกับพวกเขามากมาย ผมก็แค่พูดคุยกับพวกเขาตามปกติในชีวิตประจำวัน ส่วนงานศิลปะที่พวกเขาทำก็อยู่รอบๆ ตัว ผมไม่ได้โฟกัสว่าพวกเขาเป็นศิลปิน แต่ผมมองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนมากกว่า”
เมื่อเราสังเกตผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขา เราพบว่าผลงานวิดีโอหลายชิ้นของเขาถูกถ่ายด้วยกล้องวิดีโอหรือกล้องดิจิทัลรุ่นแรกๆ จนทำให้เห็นภาพขึ้นเกรนแตกๆ หรือพิกเซลหยาบๆ เหมือนภาพอนาล็อกหรือไฟล์ดิจิทัลคุณภาพต่ำแต่ในขณะเดียวกันผลงานเหล่านี้มีเสน่ห์แปลกๆ ไม่ต่างอะไรกับฝีแปรงแตกหยาบในภาพวาดของศิลปินโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์อย่าง แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh)หรือ เซอราต์ (Georges Seurat)
“นั่นเป็นเพราะในสมัยก่อนผมใช้กล้องถ่ายวิดีโอรุ่นแรกๆ ที่มีความละเอียดภาพต่ำ แต่ในปัจจุบันที่โทรศัพท์สามารถถ่ายภาพความละเอียดสูง ผมก็ยังคงสุนทรียะแบบนี้เอาไว้ในผลงานบางชิ้น ในช่วงยุค 70s 80s ผู้คนไม่ชอบสุนทรียะแบบนี้ พวกเขาบอกว่ามันเป็นภาพที่มีคุณภาพต่ำ แต่ในยุค 2020 ผู้คนเข้าใจสุนทรียะแบบนี้มากขึ้น ไม่ว่าภาพจะแตกเป็นเกรนก็ยังดูสวย พวกเขาโอเคกับมัน เพราะเนื้อหามีความสำคัญมากกว่า ผู้คนทุกวันนี้เข้าใจว่าภาพยนตร์คืออะไร เพราะพวกเขาถ่ายหนังด้วยตัวเอง ในยุคก่อน การทำหนังมีกฎเกณฑ์ค่อนข้างตายตัว ถ้าคุณไม่ทำตามกฎหรือคุณภาพไม่ถึงระดับที่กำหนดไว้ หนังของคุณก็จะไม่ได้ฉายให้คนได้ดู”
“ในช่วงเวลานั้น ไม่มีใครต้องการดูงานของผม เพราะพวกเขามองว่าผมเป็นคนทำหนังชั้นเลว เพราะหนังของผมดูห่วยแตกและน่าเกลียดในสายตาของพวกเขา นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเป็นศิลปิน ผมเป็นศิลปินเพราะอุบัติเหตุ เพราะคนในโลกภาพยนตร์ไม่ต้องการดูงานของผม โลกของโทรทัศน์ก็ไม่ต้องการฉายงานของผม มีแต่คนในโลกศิลปะเท่านั้นที่คิดว่างานของผมน่าสนใจ ผมจึงกลายเป็นศิลปิน ผมไม่คิดว่าผมจะเป็นศิลปินด้วยซ้ำ ผมไม่สนใจจะเรียกผลงานของผมว่าเป็นวิดีโออาร์ต แต่คนที่ผมทำงานด้วยเรียกงานของผมว่าวิดีโออาร์ต ผมเรียกตัวเองว่าเป็นคนทำหนัง แต่ด้วยวิธีการทำงานของผม ทำให้ผู้คนปฏิเสธผลงานของผมเป็นเวลานาน”
“ถึงแม้งานของผมจะเป็นภาพยนตร์ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำคล้ายกับงานวรรณกรรมหรือบทกวีมากกว่า ทั้งบรรยากาศ อารมณ์ความรู้สึก การต้องใช้เวลาละเลียดชมมันอย่างช้าๆ แต่นั่นก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันไม่มีใครมีเวลาที่จะชมมัน เราไม่มีเวลาให้อะไรเลย อาจเป็นเพราะพวกเขายุ่งกับงาน ยกเว้นในโลกศิลปะ แต่ในทุกวันนี้ คนในโลกศิลปะก็ไม่มีเวลาเหมือนกัน พวกคุณไม่มีเวลาที่จะดูงานและใช้เวลาไปกับมันอย่างช้าๆ ในปัจจุบัน ผมก็ต้องทำงานให้สั้นลงกว่าเดิม”
“ผมคิดว่ามันเป็นธรรมชาตินะ ถึงแม้ผมจะไม่จำเป็นต้องทำงานของผมเพื่อเอาใจใคร แต่ด้วยเทคโนโลยีในการถ่ายทำและตัดต่อ ทั้งในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ ที่ทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย ในขณะที่ก่อนหน้านี้มันยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลามากกว่ามากๆ อย่างเมื่อวานผมถ่ายทำหนังจากรถ ในเวลาที่รถติด ซึ่งดูแล้วช้ามากๆ แต่ผมถ่ายในเวลาจริง ดูได้จากความเร็วของมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านไป ผมตัดหนังเรื่องนี้ให้เหลือ 20 นาที จากที่เคยมีความยาว 35 นาที เพราะในเวลานี้คนก็น่าจะรู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่ผมไม่ได้ทำเพื่อให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น ผมแค่ไม่อยากให้คนเบื่อเวลาต้องนั่งดูหนังของผมนานถึง 35 นาทีน่ะนะ”
ท้ายที่สุด ในฐานะที่เป็นศิลปินผู้ทำงานมาอย่างยาวนาน และผ่านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหลากหลายยุคสมัย ทั้งเทคโนโลยีอนาล็อก มาสู่ดิจิทัล และเทคโนโลยีอันล้ำสมัยอย่างปัญญาประดิษฐ์และสมองกล เราจึงอยากรู้ความเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ที่คนทำงานสร้างสรรค์ทั้งหลายต่างเฝ้ามองอย่างหวาดกลัวในฐานะภัยคุกคามทางวิชาชีพ ซึ่งโอแดร์เผยกับเราว่า
“เอาจริงๆ ผมสนใจ AI นะ สิ่งที่ผมกำลังจะทำในโครงการต่อไปของผม คือผมจะใช้ AI ตัดต่อหนังของผม และตัดต่อมันซ้ำอีกทีหนึ่ง คือเมื่อ AI ตัดต่อหนังของผมเสร็จ ผมก็จะเปลี่ยนมันให้เป็นแบบของผม ตอนนี้ผมกำลังหาเพื่อนร่วมงานที่ช่วยหาซอฟต์แวร์ที่เหมาะกับงานของผม
สำหรับผม AI เป็นสิ่งที่คุณไม่อาจหลีกหนีได้ มันเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องรับมือกับมัน AI เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา มันไม่มีทางที่จะมีน้อยลง มีแต่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็แค่ต้องยอมรับ และทำความเข้าใจกับมัน และใช้มันทำอะไรบางอย่างขึ้นมา แน่นอนว่า AI อาจเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาลกับเราได้เช่นเดียวกัน”
นิทรรศการ Nine Plus Five Works โดย มิเชล โอแดร์ และภัณฑารักษ์ สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา (Stefano Rabolli Pansera) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บางกอก คุนสตาเล่อ (Bangkok Kunsthalle) เปิดให้เข้าชมฟรีในวันอังคาร – อาทิตย์ เวลา 12.00 น. – 20.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์)