เห็นสภาพปัญหาฝุ่นในเมืองไทย กับการแก้ปัญหาที่หน่อมแน้มของรัฐไทยแล้ว ทำให้นึกถึงหลายๆ บทความว่าด้วย ‘ความซวย’ ของคนรุ่นใหม่อย่างชาวมิลเลนเนียลส์ขึ้นมา
หลายคนคงคุ้นกับคำว่า ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21’ กันเป็นอย่างดี เพราะทุกวันนี้ เราถูกปลูกฝังให้ต้องมี ‘ทักษะที่หลากหลาย’ หรือ multi talent กันมากขึ้น เช่น เราไม่สามารถทำงานเขียนหนังสือได้อย่างเดียว (เหมือนที่ผมทำอยู่ตอนนี้นี่แหละครับ) แต่ถ้าจะประสบความสำเร็จในเรื่องการสื่อสารของโลกยุคปัจจุบัน ก็ต้องทำได้หมด ตั้งแต่เขียน ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ ทำเพลง ทำภาพประกอบ ทำภาพกราฟิก ทำอนิเมชั่น และอื่นๆ อีกมากมาย
แม้การเรียนวิชาทางวิทยาศาสตร์จะยังค่อนข้างคงเดิม คือแบ่งแยกเป็นสาขาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ฯลฯ แต่ถ้าดูการเรียนทางสังคมหรือนิเทศศาสตร์ เราจะพบความเปลี่ยนแปลงมากทีเดียว เช่นสมัยก่อน นิเทศศาสตร์จะแบ่งออกเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้ เราจะพบการเรียนการสอนสื่อที่หลากหลายในนิเทศศาสตร์ เพราะแค่รู้วิธีจัดรายการวิทยุ รู้การเขียน หรือรู้การตัดต่อรายการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือเป็นเรื่อง ‘ไม่เพียงพอ’ ไปเสียแล้ว ในด้านสังคมศาสตร์ก็เช่นกัน เราจะเจอคำว่า ‘บูรณาการศาสตร์’ บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงการเรียนอะไรต่อมิอะไรข้ามศาสตร์ พร้อมกับคำบอกกล่าวว่า คนรุ่นใหม่ต้องรู้กว้าง รู้ลึก รู้จริง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลส์และรุ่นถัดจากนี้ไป จะต้องเก่งรอบด้าน แถมยังต้องมีความลึก และไม่ใช่แค่ลึกในด้านใดด้านหนึ่งด้วย แต่หากจะได้ดีก็ต้องลึกหลายๆ ด้าน
เป็นไปได้ไหมว่า กำลังมี ‘กระบวนการทางสังคม’ ขนาดใหญ่มากๆ ที่ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดขึ้นโดยใครหรืออะไร กำลัง ‘กระทำ’ อะไรบางอย่างกับคนรุ่นใหม่ เพื่อ ‘ดัดแปลง’ และ ‘สร้าง’ คนรุ่นใหม่อย่างมิลเลนเนียลส์และรุ่นถัดๆ ไป ให้กลายเป็นคนที่ ‘สมบูรณ์พร้อม’ ในทุกด้านขึ้นมา
ฟังเผินๆ ก็ดีอยู่หรอกนะครับ เพราะนั่นแปลว่าคนรุ่นใหม่จะ ‘ดี’ กว่าคนรุ่นเก่าในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านที่เรียกกันว่า ‘ประสิทธิภาพ’ หรือ efficiency โดยไม่ได้เพิ่งเริ่มเป็นตอนคนรุ่นใหม่เติบโตเข้าทำงานนะครับ กระบวนการเหล่านี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เด็กๆ แล้ว โดย เจเรมี บัลคิน (Jeremy Balkin) เรียกว่า Millennialization (จากหนังสือ Millennialization of Everything: How to Win When Millennials Rule the World ของเขา) ซึ่งก็คือกระบวนการทำให้เป็นมิลเลนเนียลส์นั่นเอง
ในหนังสือ Kids These Days: Human Capital and the Making of Millennials หรือ ‘เด็กสมัยนี้: ทุนมนุษย์และการสร้างคนรุ่นมิลเลนเนียลส์’ ผู้เขียนคือมัลคอล์ม แฮร์ริส (Malcolm Harris) ตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นนี้ ‘ถูกกระทำ’ หลากหลายมาก ตั้งแต่ถูกฝึก (trained) ถูกตัดเย็บ (tailored) ถูกตระเตรียม (primed) และถูกทำให้เหมาะสม (optimized) สำหรับการทำงานมาตั้งแต่เด็กเลย
เริ่มตั้งแต่เรียนในโรงเรียน ทุกวันนี้เราจะเห็นว่า มีกระบวนการ optimize เพื่อ ‘บริหารความเสี่ยง’ ของชีวิตลูกมาตั้งแต่เด็กๆ คือพ่อแม่คิดมากขึ้นว่าการที่ลูกทำอะไรบางอย่าง จะทำให้ลูกได้หรือเสียอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่การพยายามให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ เพื่อสร้างสังคมเท่านั้นนะครับ แต่มีกระบวนการที่เรียกว่า Intensive Parenting หรือการเป็นพ่อแม่ ‘ที่เข้มข้น’ ที่คอยทำหน้าที่หลายๆ อย่าง รวมถึงหน้าที่ ‘บริหารการเล่น’ ของลูก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างเช่น สมัยก่อน ถ้าลูกจะเตะบอลเล่นกับเพื่อน ก็คงถือเป็นกิจกรรมนันทนาการธรรมดาๆ อย่างมากถ้าเก่งหน่อยก็ได้เข้าทีมโรงเรียนหรือทีมมหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันนี้ เด็กจะถูก ‘บริหารจัดการความเสี่ยง’ โดยถูกส่งเข้าไปใน academy เพื่อดูแลจัดการความสามารถของเด็กให้ดีที่สุด จะได้เห็นกันไปเลยว่าจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ไหม มีความเก่งขนาดไหน ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกเล่นไปเฉยๆ ซึ่งอาจพลาด ‘โอกาส’ ในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพก็ได้
หรือการเล่นดนตรีเรียนร้องเพลงก็มักไม่ได้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินอีกต่อไปแล้ว ทว่ามักต้องถูกส่งเข้าไปร่ำเรียนอย่างจริงจัง ถ้าไม่ใช่เพื่อจะมีอาชีพด้านนี้หรือแข่งขันกับคนอื่นๆ ก็มักเป็นไปเพื่อ ‘ฝึกสมอง’ เช่น ทำให้เด็กมีการใช้สมองที่สมดุล จะได้เติบโตไปมีความสามารถในการใช้ทักษะได้หลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อเรื่อง Mozart Effect
แล้วถ้าเด็กมีอาการที่แลดู ‘ผิดไปจาก norm’ เช่นเด็กที่ ’ไฮเปอร์ฯ’ เกินไป (มี hyperactivity) จนไม่สามารถโฟกัสได้ ก็จะถูกมองว่าจะต้องถูก ‘ตัดแต่ง’ (trimed) เช่นรับการรักษาโดยใช้ยาหรือไม่ก็ด้วยการฝึกฝนพิเศษ เพื่อให้กลับเข้ารูปเข้ารอย จะได้เป็นเด็กที่ efficient ที่สุดเท่าที่จะทำได้
แอนน์ เฮเลน ปีเตอร์เซน (Anne Helen Petersen) นักเขียนอาวุโสด้านวัฒนธรรมของ Buzzfeed เพิ่งมีบทความเรื่อง ‘How Millennials Became the Burnout Generation’ หรือ ‘ชาวมิลเลนเนียลส์กลายเป็นคนรุ่นที่ ‘หมดไฟ’ ไปได้อย่างไร’ เธอบอกว่ารูปแบบ Intensive Parenting นี้เกิดขึ้นกับคนทุกชนชั้น แม้ว่าสำหรับคนรวย เป้าหมายจะไปไกลกว่า (เช่น เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยไอวีลีก) ส่วนคนจน เป้าหมายอาจะไปไม่ไกลเท่า ทว่าตัว ‘วิธีการ’ ในการเลี้ยงดูลูก (แบบ Intensive Parenting) นั้นมีลักษณะเดียวกัน
จากนั้นเมื่อเรียนจบ ชาวมิลเลนเนียลส์จะถูกกดดันให้เข้าสู่กระบวนการ ‘เป็นผู้ใหญ่’ (หลายคนใช้คำว่า adulting) ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปดูคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือก่อนหน้านั้น เราจะพบว่าผู้คนมีการ ‘เฉลิมฉลอง’ ความเป็นผู้ใหญ่หลากหลาย (เช่นการจัดงานเดบูตองท์ หรือการฉลองงานรับปริญญาที่ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของชีวิต) ซึ่งไม่ได้แปลว่าคนสมัยก่อนไม่กลัวการเติบโตเป็นผู้ใหญ่นะครับ แน่นอน การกระโดดข้ามจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ย่อมสร้างความหวั่นกลัวให้คนวัยยี่สิบในทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละ แต่ไม่เคยมียุคสมัยไหนมาก่อนเลย ที่เด็กวัยยี่สิบจะต้อง ‘พรั่นพรึง’ กับกระบวนการ adulting มากเท่ายุคนี้ แถมการ ‘เฉลิมฉลอง’ ต่างๆ ก็ดูจะลดน้อยถอยลงด้วยซ้ำ
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
ถ้าเราหันมาดูมหาวิทยาลัยสมัยใหม่ เราจะพบว่ามหาวิทยาลัยไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะมหาวิทยาลัยยุคใหม่มักสร้างหลักสูตรขึ้นมาก็เพื่อตอบสนองต่อ ‘เรื่องเล่าใหญ่’ (grand narrative) ที่ว่าคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ต้องฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงพยายามสร้างหลักสูตรที่ตอบสนองต่อ ‘เรื่องเล่าใหญ่’ ที่ว่า และสร้างสรรค์แพ็คเกจต่างๆ เพื่อดึงดูดใจนักศึกษา ในเวลาเดียวกัน เมื่อเห็นๆ อยู่แล้วว่า ในอนาคต คนรุ่นใหม่จะต้องเข้าสู่การแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีแต่คนเก่งและมีทักษะหลากหลาย (ตาม ‘เรื่องเล่าใหญ่’) การเรียนเพื่อเพิ่มพูนทักษะจึงเป็นเรื่องจำเป็น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยความที่มหาวิทยาลัยยุคใหม่ล้วน ‘ออกนอกระบบ’ กันทั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงคือการพยายามสร้างรายได้ ทำให้ค่าเล่าเรียนหรือค่าเทอมสูงลิบลิ่วขึ้นมาก สุดท้าย คนรุ่นใหม่ก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเล่าเรียน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘หนี้การศึกษา’ มหาศาล มีงานวิจัยเปรียบเทียบพบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลส์เป็นหนี้การศึกษามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ มาก
ปีเตอร์เซนบอกว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลส์คุ้นเคยกับสภาพแบบนี้มากเสียจนไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ จึงไม่มีใครคิดว่าควรจะ ‘ล้ม’ ระบบแบบที่เป็นอยู่ แต่แทบทุกคนเอาตัวเข้าไปคลุกกับมันเพื่อจะ ‘เอาชนะ’ ระบบ
แต่นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับทุกคน
นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังทำให้เรา ‘เห็น’ กันและกันตลอดเวลาด้วย ทุกคนอวดโน่นอวดนี่กัน แม้แต่ละคนรู้ว่าการ ‘อวด’ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นของจริงหรือชีวิตจริงหรอก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพอเห็นการอวดเหล่านี้แล้วเราจะไม่ ‘เซ็ตมาตรฐานชีวิต’ ของเราเอาไว้สูงๆ เหมือนที่การอวดต่างๆ เหล่านั้น
มีการศึกษามากมายที่บอกเราว่า ชาวมิลเลนเนียลส์ไม่ได้ต้องการ ‘วัตถุ’ มากเท่า ‘ประสบการณ์’ หรอก ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียแล้วทำให้เราอยากได้ จึงไม่ใช่กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา รถยนต์ หรือของหรูๆ อื่นๆ แต่เราอยากได้ ‘ชีวิต’ แบบนั้นต่างหาก ชีวิตที่ว่า—ก็คือชีวิตที่มีประสิทธิภาพมากจนสามารถสร้างสิ่งหรูๆ ดีงามเหล่านั้นขึ้นมาให้ชีวิตได้ในฐานะผลพลอยได้
ในเวลาเดียวกัน โซเชียลมีเดียก็ทำให้เราลุกขึ้น ‘สร้างแบรนด์’ ให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว เราเลือกจะสร้าง ‘เรื่องเล่า’ แห่งชีวิตของเราเพื่อถักทอสอดร้อยใส่เข้าไปในโซเชียลมีเดีย ทำให้ตัวเราเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง ก็แปลว่าเรากำลังทำให้ตัวตนของเรากลายเป็น ‘สินค้า’ อย่างหนึ่งด้วย แต่ถ้าเป็น product ทั่วไปจะขายได้เป็นเงิน ทว่า product ที่เป็นตัวตนของเรานั้น มีรายได้เป็นคอมเมนต์ การกดไลก์ ที่มี ‘แรงกดดัน’ มหาศาลแฝงเร้นอยู่
นักสังคมวิทยาอย่าง อาร์นี แคลล์เบิร์ก (Arne Kalleberg) เคยเขียนหนังสือชื่อ Good Jobs, Bad Jobs เอาไว้ โดยบอกว่า ‘ประสิทธิภาพ’ (efficiency) นั้น ควรทำให้เราทำงานได้อย่างมั่นคงมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือ—เราควรจะมี ‘เวลาว่าง’ มากขึ้นด้วย แต่กับชาวมิลเลนเนียลส์แล้ว ยิ่งพยายามทำตัวให้มีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ กลับยิ่งกลายเป็น ‘คำสาป’ มากขึ้นเท่านั้น เพราะชาวมิลเลนเนียลส์แข่งขันกันเอง ใครมีทักษะมากๆ ก็ยิ่งได้ทำงานมากในราคาที่ต่ำลง (ลองดูเหล่าฟรีแลนซ์รุ่นใหม่ในสังคมไทยที่ตัดราคากันเป็นว่าเล่นก็ได้ ฟรีแลนซ์เก่าๆ หลายคนต้องรามือยอมเลิกทำงานเพราะบอกว่า ‘สู้ราคา’ ไม่ไหว) และยิ่งทำงานเสร็จเร็ว ก็ยิ่งรับงานเพิ่มได้มากขึ้น ทำให้เกิดวังวนของการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ งานในปัจจุบันก็เห็นชัดว่ามีความมั่นคงต่ำลง ไม่มีใครตั้งใจจะทำงานที่เดิมยี่สิบสามสิบปีอีกแล้ว ผู้ประกอบการเองก็เริ่มเห็นว่าความภักดีที่ต้องแลกมาด้วยการจ่ายเงินเดือนสูงๆ นั้นไม่คุ้ม เพราะโลกยุคใหม่ต้องการทักษะใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา พนักงานใหม่มักมีทักษะสูงกว่าพนักงานเก่า แถมยังมีค่าจ้างที่ต่ำกว่าด้วย ทั้งหมดนี้แปลว่าคนรุ่นใหม่ที่พยายามทำตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น—กลับได้ทำงานที่หนักขึ้น ค่าตอบแทนน้อยลง และมีเวลาว่างน้อยลง
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือปรากฏการณ์ ‘To-Do List’
ซึ่งคนจำนวนมากเห็นว่า การพยายามกำจัด To-Do List ให้ได้ (คือทำงานให้เสร็จตามที่ตั้งเป้าเอาไว้) เป็นกระบวนการหนึ่งของการโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยิ่งทำมากก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหา ในปัจจุบัน เริ่มมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า To-Do List anxiety หรือความวิตกกังวลว่าจะทำตามรายการที่ลิสต์เอาไว้ได้ไม่หมดตามกำหนดเวลา แต่เพราะลักษณะงานเป็นอย่างที่ว่ามาข้างต้น To-Do List จึงไม่มีวันจบสิ้น ยิ่งเก่งเท่าไหร่ มีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ To-Do List ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การหมกมุ่นอยู่กับ To-Do List ก็ทำให้ชาวมิลเลนเนียลส์มีโอกาสละเลยงานจุกจิกหรืองานบ้านต่างๆ (อย่างที่เรียกว่า errands) ไป ปีเตอร์เซนเรียกอาการแบบนี้ว่า Errands Paralysis คือถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ ไม่ได้อยู่ใน To-Do List และไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นเห็น ก็จะแทบไม่ทำเลย เช่น การลับมีดที่บ้านให้คมอยู่เสมอ (จะลับไปทำไมในเมื่อแทบไม่ได้ใช้มีด) การปัดฝุ่นภายในรถยนต์ (ไม่ต้องปัดฝุ่นหรอกเพราะไม่มีคนมานั่ง ล้างรถข้างนอกให้แวววับก็พอแล้ว) การกำจัดอีเมลขยะที่ไม่ได้อ่านให้หมด ฯลฯ
แต่ในเวลาเดียวกัน ความที่ถูกฝึกให้มีทักษะหลากหลาย ชาวมิลเลนเนียลส์จำนวนมากจึงทำอะไรพร้อมๆ กันได้หลายๆ อย่าง เช่น เขียนงาน ทำอาหาร (เอาไว้โพสต์ในโลกโซเชียล) วางแผนเดินทางท่องเที่ยว (เอาไว้โพสต์ในโลกโซเชียล) ไปออกกำลังกายในยิม (ก็เอาไว้โพสต์ในโลกโซเชียลอีกนั่นแหละ) ฯลฯ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้แปลว่าชาวมิลเลนเนียลส์ไม่ขยัน แต่เพราะทุกคนต้อง ‘บริหาร’ ตัวเองให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องเลือกแล้วว่าเรื่องไหนบ้างที่ทำแล้วทั้งมีประสิทธิภาพและ ‘ดู’ มีประสิทธิภาพมากกว่าเรื่องอื่นๆ จึงละเลยเรื่องที่ดูจุกจิกไป
คนรุ่นก่อนๆ มักจะตำหนิเด็กรุ่นใหม่ว่าเป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำอะไรไม่จริง หนักไม่เอาเบาไม่สู้ แต่ที่จริงแล้วมีงานวิจัยของนักสังคมวิทยาอย่างโธมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) แห่งมหาวิทยาลัย Bath กับแอนดรูว์ ฮิล (Andrew Hill) จากมหาวิทยาลัย York St John ในอังกฤษ ที่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลส์กลับเป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ (หรือเป็น perfectionist) สูงกว่าคนรุ่นก่อนมาก
งานวิจัยนี้ชื่อ ‘Perfectionism Is Increasing Over Time: A Meta-Analysis of Birth Cohort Differences From 1989 to 2016’ เป็นงานที่พยายามอธิบายว่าทำไมชาวมิลเลนเนียลส์ถึง ‘ถูกทำให้’ ต้องเป็นคนมีประสิทธิภาพสูง โดยข้อสันนิษฐานของงานนี้ก็คือ นับตั้งแต่ทศวรรษ 80s เป็นต้นมา ลัทธิ ‘เสรีนิยมใหม่’ (neoliberalism) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร ได้มุ่งเน้นไปที่ ‘การแข่งขันของปัจเจก’ มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนตอบสนองด้วยการแข่งขันทำให้ตัวเอง ‘สมบูรณ์แบบ’ (perfect themselves) มากขึ้นตามไปด้วย โดยความ ‘สมบูรณ์แบบ’ ที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องงานเท่านั้นนะครับ แต่รวมไปถึงเรื่อง ‘ไลฟ์สไตล์’ หรือวิถีชีวิตด้วย
ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า perfectionism นั้น มีนิยามหลายแบบ เช่น perfectionism แบบ self-oriented (คือสร้างความสมบูรณ์แบบให้ตัวเอง โดยมักประเมินเองด้วย) แบบ social prescribed (คือสมบูรณ์แบบตามที่ถูกกล่อมเกลามาจากสังคม จะสมบูรณ์แบบหรือไม่ ต้องได้รับการรับรองหรือ approve จากสังคมเสียก่อน) รวมไปถึง other-oriented คือการคาดหวังให้คนอื่นรอบข้างต้องสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็พบว่า ชาวมิลเลนเนียลส์นั้น มีความ perfectionism หลายๆ อย่างรวมๆ กัน โดย perfectionism นั้นจะตอบสนองกับความพยายามที่จะมีประสิทธิภาพได้ดี
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่า ทั้งหมดที่ว่ามา ดูแล้วไม่เห็นว่าเป็นเรื่อง ‘ซวย’ ตรงไหนเลย มันคือกระบวนการขัดเกลาตัวเองให้เป็นคนเก่งแท้ๆ แล้วจะไม่ดีได้อย่างไร
ที่บอกว่า ‘ซวย’ ก็เพราะกระบวนการ Millennialization ทั้งหมดนี้ ล้วนคือแรงกดดันมหาศาลต่อคนรุ่นใหม่ ทำให้ชีวิตของพวกเขา ‘ยาก’ กว่าคนรุ่นก่อนหน้ามาก ถ้าเป็นคนที่มีต้นทุนสูงอยู่แล้วก็อาจไม่กระไรนักหนา แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรในชีวิต เช่น มีหนี้การศึกษา ต้องกู้เงินมาเรียน หรือมีทักษะที่ได้จากการ ‘ลงทุนเรียน’ น้อยกว่าคนอื่นๆ ก็อาจมีปัญหาต่อ ‘ที่ทาง’ ของตัวเองในสังคมต่อไปได้
ที่แย่กว่านั้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และกระทั่งเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้เงื่อนไขต่างๆ ในอันที่จะชาวมิลเลนเนียลส์จะขัดเกลาตัวเองให้สมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันได้ยากขึ้นไปอีก เช่น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่แม้ไม่ได้เริ่มต้นจากชาวมิลเลนเนียลส์ แต่ชาวมิลเลนเนียลส์ต้องรับผลไปเต็มๆ เช่น Hamburger crisis ในช่วงปี 2008 วัฒนธรรมโซเชียลมีเดียที่สร้างตัวตนอันซับซ้อนขึ้นมา รวมไปถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อม เช่นภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (แม้แต่เรื่อง ‘ฝุ่น’ ที่กำลังรมกรุงเทพฯ อยู่ขณะนี้) ซึ่งพูดได้ว่าเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของคนรุ่นก่อนๆ แต่คนรุ่นนี้ต้องมาเป็นผู้รับกรรม ที่แย่ไปกว่านั้นอีกก็คือ ในอนาคต ชาวมิลเลนเนียลส์ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงดูผู้สูงวัยที่เคยก่อปัญหาต่างๆ ให้โลก ในนามของ ageing society อีกต่างหาก
เริ่มจาก ‘เรื่องเล่าใหญ่’ ที่ว่าคนรุ่นนี้ต้องมีทักษะหลากหลาย จะได้แข่งขันกันได้ นำไปสู่ชีวิตที่ทำงานหนักขึ้น แต่มีทรัพยากรต่างๆ เหลือน้อยลง ส่วนแบ่งรายได้จึงน้อยลง เวลาว่างก็น้อยลง แถมยังต้องเผชิญภัยต่างๆ มากขึ้น และสุดท้ายต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูที่คนเคยก่อปัญหาเหล่านี้ไว้ในอดีตอีกต่างหาก
ภาวะแบบนี้ทำให้หลายคนวิเคราะห์ว่า ชาวมิลเลนเนียลส์จะมีทั้งความอ่อนล้า (fatigue) และความขัดเคือง (frustration) อัดแน่นอยู่ภายในเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่รอวันปะทุ (และบางคนก็วิเคราะห์ว่าเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์โรคซึมเศร้าด้วยซ้ำไป)
นั่นคือเหตุผล—ที่อาจทำให้ชาวมิลเลนเนียลส์เป็นคนรุ่นที่ ‘ซวย’ ที่สุดในประวัติศาสตร์, ก็ได้