แม้ว่าซีรีส์ All of Us Are Dead (2022) จะช่างยืดเยื้อ เต็มไปด้วยตัวละครน่ารำคาญ จนอยากสาปแช่งเหล่าเด็กมัธยมให้กลายเป็นซอมบี้เสียหมด แต่มีซีนหนึ่งที่ผู้เขียนแอบชอบ นั่นคือตอนที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสอบสวนเด็กๆ ถึงเหตุการณ์โกลาหล แต่พวกเด็กกลับตอบว่า “เราจะไม่บอกอะไรพวกคุณหรอก ตอนเราร้องขอความช่วยเหลือ ไม่เห็นผู้ใหญ่สักคนมาช่วยเราเลย” ทว่าซีรีส์ Juvenile Justice (2022) ทำให้เราเห็นว่ามีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งคอยอยู่แนบชิดกับเด็กๆ นั่นคือศาลเยาวชน หากจะเป็นความช่วยเหลือเกื้อกูลหรือไม่ก็ยากจะระบุชัด
Juvenile Justice เล่าถึงผู้พิพากษาหญิงนามว่า ชิมอึนซอก (นำแสดงโดย คิมฮเยซู (Kim Hye–Soo)) เธอขึ้นชื่อเรื่องการตัดสินคดีความที่เด็ดขาด การให้บทลงโทษหนักหน่วง รวมถึงการพูดจาแสนเย็นชา และเมื่อถูกถามว่าทำไมถึงเลือกทำอาชีพนี้ เธอก็ตอบอย่างหน้าตายว่า “เพราะฉันเกลียดพวกอาชญากรเด็กค่ะ” เราอาจคิดว่าเธอเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ แต่เมื่อดูซีรีส์ไปก็พอเข้าใจว่าแต่ละวันเธอต้องเจอเรื่องเลวร้ายสุดขีด อย่างเช่นคดีแรกของซีรีส์ที่เด็กสองคนถูกต้องสงสัยว่าฆ่าหั่นศพเด็กชั้นประถม
ผู้เขียนมักพูดติดตลก (ร้าย) กับเพื่อนๆ ว่าตัวละครในซีรีส์วัยรุ่นอเมริกันมักมีปัญหาประเภทความรัก เพศสภาพ ยาเสพติด แต่วัยรุ่นในซีรีส์เกาหลีคือการหนีจากคดีฆ่าหั่นศพบ้าง ฆ่าพ่อแม่ตัวเองบ้าง ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด ในเกาหลีใต้มีคดีเยาวชนชวนช็อคเกิดขึ้นเป็นระยะ อาทิ คดีข่มขืนเมืองมิลยาง (2004) ที่เด็กสาวถูกนักเรียนชายกว่าสี่สิบคนข่มขืน หรือคดีฆ่าหั่นศพอินชอน (2017) ที่เด็กวัย 17 และ 18 ปีร่วมกันลักพาตัวและหั่นศพเด็ก 8 ขวบ ซึ่ง Juvenile Justice ก็มีคดีทำนองนี้ปรากฏในเรื่อง
ในปัจจุบัน ความเชื่อว่า ‘เด็กคือผ้าขาว’ ได้ถูกถกเถียงชนิดที่เรียกว่าพรุนไปแล้ว หลายฝ่ายฟันธงว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิดด้วยซ้ำ หากแต่หลายคดี Juvenile Justice กำลังตั้งคำถามว่าแล้วเด็กคือผ้าสีดำสนิทหรือเปล่า พวกเขาทำผิดเพราะเป็นคนชั่วโดยกมลสันดานหรือไม่ แน่นอนว่าในหลายตอนมีอธิบายถึงภูมิหลังทางครอบครัว แต่ผู้เขียนก็ชอบที่ซีรีส์ไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจเหล่าอาชญากรเด็กจนเกินไป ตัวละครเด็กบางตัวถูกนำเสนอราวกับมีความชั่วเป็นค่า default ซึ่งตรงกับโลกความเป็นจริงที่เราไม่อธิบายความชั่วร้ายของเด็กบางคนได้ (นึกถึงหนังเรื่อง We Need to Talk About Kevin (2011) เข้าไว้)
แวบแรกอาจมองว่าชิมอึนซอกตัดสินพวกเด็กๆ ด้วยความเกลียดชัง แต่ใน (เกือบ) ทุกคดีเธอพิพากษาอยู่บนหลักการของกฎหมายอย่างเคร่งครัด คิมฮเยซูสามารถถ่ายทอดตัวละครนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะสีหน้า น้ำเสียง วิธีการพูด ภาษากาย (เธอให้สัมภาษณ์ว่าได้ลองไปสังเกตผู้พิพากษาในศาลเยาวชนจริงๆ) เนื่องจากคิมฮเยซูเป็นนักแสดงชั้นครูอยู่แล้ว ผู้สร้างจึงใช้ภาษาภาพยนตร์ขับเน้นเธออย่างเต็มที่ด้วยการโคลสอัพหน้าเธอแบบไม่ยั้ง แต่ในทางกลับกัน ในช่วงท้ายของทุกตอน กล้องมักถ่ายตัวละครแช่ค้างไว้จากนั้นค่อยเคลื่อนออกอย่างช้าๆ เหมือนจะทิ้งช่วงเวลาให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดว่าเขาและเธอกำลังรู้สึกอย่างไร
อีกจุดที่ผู้สร้าง Juvenile Justice ทำได้ดีคือการสร้างสมดุลของเหล่าตัวละคร ผู้พิพากษาชาแทจู (รับบทโดย คิมมูยอล (Kim Mu-yeol)) เป็นเหมือนด้านตรงข้ามของชิมอึนซอกผู้แข็งกร้าว เขาคือผู้พิพากษาที่เปี่ยมด้วยจิตเมตตาและให้โอกาสเด็กๆ เสมอ แต่เขากลับถูกหักหลังครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งถูกเด็กที่ไว้ใจหลอกใช้ หรือในคดีหนึ่งชาแทจูได้รับรู้ว่าชีวิตของเด็กต้องพังทลายเพราะคำมั่นสัญญาต่อเขาว่าจะกลับตัวเป็นคนดี ขอสารภาพว่าผู้เขียนรำคาญในความเป็นคนแสนดีของชาแทจูอยู่หลายครั้ง แต่ฉากเขาที่ร้องไห้เพราะทุกอย่างมันเกินจะทนไหว ก็ได้เสียน้ำตาไปด้วย
ผู้ชมหลายคนคงเดาได้ว่าท้ายสุดแล้วซีรีส์ก็ต้องเฉลยว่าทำไมชิมอึนซอกถึงได้กลายเป็นผู้พิพากษาหน้าเย็นแบบนี้ ช่วงสามตอนสุดท้ายที่บอกเล่าอดีตของนางเอกนี่เองที่พลังของซีรีส์ถดถอยลง ความดราม่าฟูมฟายยิ่งเพิ่มขึ้นและตัวละครเริ่มทำอะไรเสียสติ ฉากที่นางเอกสติแตกลงไปกลางถนน ผู้เขียนทั้งขำและทึ่งที่นักแสดงทุ่มเทสุดชีวิตกับฉากไร้เหตุผลขนาดนี้ ยังดีว่าซีรีส์ขมวดปมด้วยการตัดสินคดีและสำรวจจุดยืนของนางเอก มันเลยกลับมาเข้าที่เข้าทางได้
แต่เรื่องจุดยืนของชิมอึนซอกก็อาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ชมบางคน ฉากสุดท้ายที่เป็นโมโนล็อกยืดยาว เธอกล่าวว่าเธอยังคงรังเกียจพวกอาชญากรเด็ก แต่ก็จะทำงานผู้พิพากษาต่อไปโดยปราศจากอคติ (?) เธอจะคงยึดหลักการเดิมด้วยมุมมองที่ต่างออกไป (!?) ผู้เขียนคิดว่าความย้อนแย้งนี้น่าจะเป็นความจงใจของผู้สร้างมากกว่าการเขียนบทส่งเดช เพราะ Juvenile Justice ทิ้งหลายสิ่งที่ให้เราคิดต่อ ทั้งมุมมองของใครที่เราควรยึดถือ ชิมอึนซอกหรือชาแทจู? เหล่าเด็กๆ ได้รับโทษที่เหมาะสมหรือไม่? มันจะช่วยให้พวกเขาจะกลับตัวหรือเปล่า?
และการที่ซีรีส์จบลงด้วยฉากชิมอึนซอกกลับมาเจอเด็กจากคดีแรกอีกครั้ง ทำให้เราต้องใคร่ครวญที่เธอพูดว่า “ฉันมั่นใจว่าคำตัดสินของตัวเองไม่เคยผิดพลาด” ตกลงแล้วมันเป็นประโยคอันน่าเชื่อถือหรือไม่ ความผิดพลาดอยู่ที่การตัดสินของเธอ ระบบของศาล กระบวนยุติธรรมทั้งหมดทั้งปวง หรือแท้จริงแล้วมนุษย์ (บางคน) เป็นสิ่งมีชีวิตเกินเยียวยา แม้ว่าเขาจะได้ชื่อว่าเยาวชนก็ตาม
แถมท้าย: ภาพยนตร์เกาหลีว่าด้วยอาชญากรรมและความรุนแรงในวัยรุ่น
– Bleak Night (2010) : มิตรภาพของนักเรียนชายสามคนที่ต้องล่มสลายด้วยความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยน หนังโดดเด่นด้วยบรรยากาศตึงเครียด และการบอกกับเราว่าเพื่อนอาจเป็นได้ทุกอย่าง แต่ก็สามารถทำลายล้างทุกอย่างเช่นกัน
– Juvenile Offender (2012) : เด็กหนุ่มเพิ่งออกจากสถานกักกันเยาวชน เขาได้พบกับแม่ที่ทิ้งเขาไปตั้งแต่เกิด หากแต่เธอดูจะมีวุฒิภาวะน้อยกว่าเขาเสียอีก หนังอื้อฉาวเล็กน้อยเพราะบางฉากนำเสนอตัวเอกออกมาเหมือนเป็นคู่รักมากกว่าแม่ลูก
– Han Gong-ju (2013) : สร้างจากเรื่องราวของคดีข่มขืนเมืองมิลยาง เล่าถึงเหยื่อที่พยายามจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่ทุกวันคือการตกนรกทั้งเป็น ชอนอูฮี (Chun Woo-Hee) ผู้รับบทนางเอกแสดงแบบถวายชีวิตจนได้รับรางวัลมากมาย (คำเตือน: หนังหดหู่มากถึงมากที่สุด)