ในระยะที่ผ่านมา หากตามข่าวสังคมทั่วไปบ้างจะพบว่าหลังๆ มานี้ เหล่าชาวคณะมนุษย์วีแกน โดยเฉพาะในโลกตะวันตกมักจะทำตัวกร่างกันมากเลยนะครับ ตระเวนไปประท้วงตามที่นั่นที่นี่ให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ กระทั่งไปโผล่ประท้วงหน้าร้านขายเนื้อก็หลายครั้ง จนกลายเป็นดราม่าอาละวาดไปทั่ว โดยข้ออ้างหลักของวีแกนขี้กร่างพวกนี้มีหลากหลายครับ เช่น เรื่องการทรมานสัตว์ การที่กินเนื้อสัตว์แล้วเพิ่มปริมาณคาร์บอนฟุตปรินต์ (carbon footprint) กับโลก เป็นต้น แต่โดยรวมๆ ก็คือ เป็นการอ้างอยู่บนฐานที่คิดว่าตนเองนั้นมี ‘ความสูงส่งกว่าทางศีลธรรม’ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Moral High Ground นั่นเองครับ
วันนี้ผมเลยอยากชวนคุยเรื่องนี้สักนิดว่ามันคืออะไร และมันนำมาสู่ปัญหาอะไรบ้าง
คำว่า Moral High Ground นั้นก็มีความหมายตรงตามตัวนั่นแหละครับ มันคือ การแสดงออกหรือการมีจุดยืนที่ดีกว่า เหมาะควรกว่าโดยอิงกับคุณค่าสากลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ว่ากันง่ายๆ ก็คือ มันคือแนวคิดที่ผูกกับประเด็นเรื่องอะไรที่ควรจะเป็น และไม่ควรจะเป็น (What ought to be and ought not to be?) นั่นเอง โดยที่ความควรจะหรือไม่ควรจะนี้ ก็อิงกันตามชุดคุณค่าที่ถือครองกันตามวิถีของโลกสมัยใหม่ (ไม่ได้อิงกับคำสอนศาสนาใดเป็นพิเศษ)
ตัวอย่างเช่น เราไม่ควรจะฆ่าใคร เราไม่ควรจะก่อสงคราม เราไม่ควรตัดสินใครว่าผิดก่อนได้รับการสืบสวนสอบสวนอย่างชัดเจนถี่ถ้วน หรือ เราควรจะมีสิทธิในการเลือกตั้ง เราควรมีสิทธิในการตั้งคำถาม เราควรมีสิทธิในการปฏิเสธการรัฐประหาร ฯลฯ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือ ‘สิ่งที่ควรจะเป็น หรือไม่ควรจะเป็น’ ที่อิงตามชุดคุณค่าสากล และมีผลกับทุกคนในทางสากลด้วยนั่นเองครับ จากที่เห็นนี้เองจะเข้าใจได้ว่าคำว่า ‘ความสูงส่งกว่าทางศีลธรรม’ มันจึงไม่ใช่จริยธรรมในทางศาสนาใดๆ เลย (ฉะนั้นเวลาจะอ้างเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องจับเอาศาสนาของท่านมาแกว่งหราโชว์ไปทั่วนะครับ นอกจากมันไม่เกี่ยวและน่าเกลียดแล้ว ยังดูค่อนข้างแย่อีกด้วย เพราะมันสะท้อนว่าไม่ได้เข้าใจไอเดียเรื่องนี้เลย)
การใช้เรื่อง Moral High Ground นี้มีหลายระดับมากครับ แต่หลักๆ แล้วมีจุดประสงค์การใช้อยู่ 2 แบบหลักๆ คือ (1) เพื่อยืนยันในทิศทางที่ควรจะเป็นไปของสังคม/โลก และ (2) เพื่อเป็นจุดยืนที่เหนือกว่าในการถกเถียง วิพากษ์หรือกระทั่งตัดสินความคิดเห็นบางอย่าง โดยเฉพาะที่อิงอยู่กับประเด็นสาธารณะครับ เพราะฉะนั้นแล้ว ผมจะบอกว่าโดยหลักการเองผมไม่ได้ต่อต้าน หรือรังเกียจอะไรกับเรื่อง Moral High Ground เพราะผมเห็นว่า ‘การไม่ฆ่าคนนั้นย่อมดีกว่าการฆ่าคน’, ‘การเลือกตั้งย่อมมี Moral High Ground ที่เหนือกว่าการรัฐประหาร’ เป็นต้น คือ Moral High Ground มันทำหน้าที่ในการตัดสินใจถึงจุดยืนของตัวเราเองและตัวสังคมของเราได้ด้วย อย่างการวิพากษ์นั้น ในทางหนึ่งก็จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Moral High Ground อยู่ด้วยเพื่อที่จะทำให้การวิพากษ์นั้นเกิดขึ้นได้ (เพราะหากไม่มี Moral High Ground ใดๆ ก็จะไม่สามารถวิพากษ์ได้ว่าสิ่งที่กำลังวิพากษ์อยู่นั้นดีหรือไม่ดี มีข้อดีหรือข้อเสียไหม อย่างไร)
จากลักษณะดังกล่าว เราจึงเห็นการใช้ Moral High Ground ในหลายลักษณะ อย่างการใช้ในการยืนยันความชอบธรรมในการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรง (โอเค นิยามเรื่องความรุนแรงก็อาจจะต้องเถียงกันอีกทอดหนึ่งด้วย และถ้าในบ้านเราตอนนี้ก็อาจจะต้องถกถึงว่าอะไรเรียกว่าการชุมนุมเลยทีเดียว), การต่อต้านการประกาศสงคราม, การต่อต้านนโยบายกีดกันผู้อพยพของทรัมป์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงการตัดสินให้คะแนนต่างๆ หรือการใช้ความสูงส่งกว่าทางจริยธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไป อย่างหลายที่ในโลกตะวันตกที่พยายามออกมาบอกว่า ควรยุติการใช้ถุงพลาสติกแล้วใช้ถุงผ้าแทน เป็นต้น ซึ่งหลายครั้งก็อาจจะดู ‘ดัดจริต วางท่า หัวสูง หรือเยอะ’ (snobbish) ได้
เอาเป็นว่า สรุปแบบสั้นๆ เลยว่า ไอ้ Moral High Ground นี่มันมีประโยชน์ของมันแหละครับ และในทางปฏิบัติมนุษย์เราก็ไม่สามารถจะไม่มีมันได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด
อย่างในยุคก่อนสมัยใหม่ เช่น ยุคกลาง หรือย้อนไปถึงยุคโบราณ สิ่งที่เรียกว่า Moral High Ground นั้นก็ต่างไปจากยุคสมัยใหม่ของเรา เพราะคุณค่าที่ถือว่าเป็น ‘จริยธรรมสากล’ นั้นต่างกัน การฆ่าคนตายอาจไม่ใช่เรื่องที่ไร้จริยธรรมได้ในหลายกรณี หรือกระทั่งการข่มขืนกระทำชำเราทาส หรือเชลยศึก สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นสิ่งที่ ‘พึงทำได้อย่างชอบธรรม’ ในสมัยหนึ่ง และกลายเป็นสิ่งซึ่งไม่พึงทำในอีกสมัยหนึ่งได้
แต่มันก็มีปัญหาของมันอยู่ครับ คือ มันไม่มีเส้นแบ่งหรือพรมแดนของการใช้งานที่ชัดเจน จนทำให้ในหลายๆ ครั้งการใช้ Moral High Ground นี้ นอกจากมันจะทำให้คนใช้ ‘ดูเยอะ ดูดัดจริต ดูเสือก’ แล้ว มันยังกลายเป็นกลไกในการควบคุมที่เป็นภาระต่อการใช้ชีวิตของคนอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้มันยังนำมาซึ่งปัญหาของเส้นพรมแดนของความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสากลอย่างหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
อย่างกรณีของวีแกนกร่างไปทั่วที่ว่าไปตอนต้น คือ ในทางหนึ่งผมคิดว่าทุกคนย่อมเข้าใจกันได้ไม่ยากว่า “รสนิยมการกินเป็นเรื่องส่วนตัว มึงจะแดกยังไงก็เรื่องของมึง ส่วนกูจะแดกยังไงก็เรื่องของกู เราไม่มาทำให้ต่างฝ่ายเดือดร้อนกันเนอะ” เท่านี้ก็ควรเพียงพอแล้ว และอยู่ร่วมโลกกันต่อไปได้ แม้ต่างฝ่ายอาจจะมีการค่อนขอด กระแนะกระแหนต่อมรับรส หรือความใจโหดใจเหี้ยมของแต่ละฝ่ายอยู่บ้าง อย่างสลาวอย ชิเช็ก นักปรัชญาชาวสโลวีเนียผู้มีปากคอเราะร้าย ก็เคยเรียกเหล่า Vegetarian (คือไม่โหดเท่าวีแกนด้วยซ้ำ เพราะสายมังฯ นี้ยังกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์บ้างอยู่ เช่น นม เนย แต่วีแกนไม่กินอะไรที่ผลิตจากสัตว์เลย) ว่าเป็นพวก “Degenerated, degenerated. They will all turn into monkeys.” หรือก็คือ “พวกเสื่อมวิวัฒนาการลงเรื่อย เดี๋ยวพวกนี้แม่งจะกลายร่างคืนเป็นลิงหมด”
แต่ปัญหาก็คือ เมื่อฝั่งวีแกนไม่ได้จบเพียงแค่การ “กูอยากแดกยังไงก็เรื่องของกู” อย่างที่ว่า แต่อาศัยวิธีคิดแบบ Moral High Ground ที่อิงกับสิ่งที่เค้าอ้างว่าเป็นคุณค่าสากลแล้ว อย่างการทรมานสัตว์ หรือการเพิ่มคาร์บอนฟุตปรินต์ให้กับโลก (ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของโลกมากกว่าการกินผัก) นั้น ได้กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เรื่องรสนิยมการแดกไม่ใช่เรื่องในปริมณฆลส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นการกร่างที่พยายามทำให้สิ่งซึ่งเคยเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นสำคัญในพื้นที่ส่วนตัวโดนลากมาอยู่ในปริมณฑลสาธารณะให้จงได้ และอยู่โดยอาศัยมาตรวัดแบบที่ ‘สอดคล้องกับรสนิยมของวีแกนเองด้วย’ เพราะนี่คือ ‘รสนิยมที่มีความสูงส่งทางจริยธรรมมากกว่า’
นี่แหละครับคือปัญหาของไอ้ Moral High Ground เค้าล่ะ ในทางหนึ่งผมคิดว่าโอเค เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า การให้เหตุผลของฝั่งวีแกนขี้กร่างเหล่านั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับคุณค่าสากลอยู่ มันมีจริงครับ อย่างเรื่องการห้ามการทรมานสัตว์นั่นก็จริง หรือการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั่นก็จริง แต่คำถามที่วิธีคิดแบบกร่างด้วยจริยธรรมมันไม่เคยตอบคำถามก็คือ จะเอาถึงระดับไหนกัน หรือ to what degree?
หากพูดกันแบบนี้ ว่าการทรมานสัตว์โลกเป็นเรื่องที่เลวร้าย และผมเองก็เห็นด้วยนะ เช่นนั้น การที่ห้ามไม่ให้ผม (มนุษย์) ในฐานะสัตว์โลกชนิดหนึ่งได้กินเนื้อสัตว์นั้น นับว่าคุณเองก็กำลังทรมานผมอยู่เช่นกันไหม? หรือจะนับเฉพาะการทรมานของสัตว์อื่นๆ ทั้งหมด ยกเว้นไว้แต่มนุษย์? ไม่ต้องนับว่าต้องมานั่งถามกันใหม่ว่า เราจะเริ่มนับจากจุดไหนว่านั่นคือการทำร้าย หรือทรมานสัตว์ร่วมโลกด้วยกันเอง? แล้วการกินเนื้อสัตว์อื่น ‘เพื่อความอยู่รอดของตนเอง’ (อย่างการกินเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ ตามมื้ออาหารที่ควรกิน ในฐานะปัจจัยดำรงชีพ) เนี่ย มันนับเป็นการทรมานสัตว์หรือ? เช่นนั้น สิงโต เสือ งู จระเข้ ฉลาม อะไรต่างๆ ที่มันก็กินเนื้อเพื่อความอยู่รอดของมัน งับคอกวางเลือดสาด กระชากพุงปลาจนไส้แตกนี่เรานับว่าเป็นการทรมานสัตว์อื่นนอกจากตัวมันเองด้วยหรือไม่? อาจจะฟังเหมือนผมพูดจาบ้าบอนะครับ (และใช่ครับผมก็รู้สึกเช่นนั้น) แต่นี่แหละครับคือ ตรรกะชุดเดียวกันกับที่วีแกนใช้ แค่เป็นส่วนที่เลือกจะไม่ได้พูดถึง และถ้านำมาพูดในอีกมุมกลับแบบนี้ เราจะพบเห็นได้ทันทีในความไร้สติของข้อถกเถียงแบบนี้ที่ไล่ไปอาละวาดใส่คนอื่นไปทั่ว
เวลาเสือ สิงโต หรือสัตว์โลกอื่นๆ กินเนื้อสัตว์อื่นๆ มันไม่ใช่การทรมานครับ มันคือธรรมชาติ แต่การที่มนุษย์จะกินเนื้อสัตว์ด้วย (หลายครั้งต้องบอกว่าทรมานน้อยกว่าพวกสัตว์นักล่าอื่นๆ ไล่ฆ่าเยอะ) มันคือการทำลายธรรมชาติ!
ทำนองเดียวกันกับไอ้เรื่องคาร์บอนฟุตปรินต์ พอวีแกนค้นพบข้อมูลว่า “กินเนื้อสัตว์เพิ่มปริมาณคาร์บอนฟุตปรินต์นะ” ก็ออกมาประกาศล่าแม่มดว่า “ใครแดกเนื้อ มึงทำลายโลก ฉะนั้นหยุดแดกเดี๋ยวนี้” มันเหมือนกับคนที่ค้นพบว่า การใช้น้ำมันและเครื่องจักรกลมันส่งผลเสียกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นเราควรจะหยุดการใช้น้ำมันและเครื่องจักรทั้งหมดลงในทันที ไม่หยุดมึงก็คือพวกอสุรกายร้ายของโลก … โอ้ย อีแม่เอย งั้นก็กลับไปอยู่ยุคโล้สำเภาเถิด
ผมถึงได้บอกว่าคนพวกนี้หลายๆ ครั้งไม่เคยคิดถึงตัวตรรกะทั้งหมดให้ทั่วถ้วนเลย และไม่เคยถามจริงๆ ด้วยว่า “จะเอาถึงระดับไหน?” ผมสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่พยายามลดการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น (Wasteful consumption) หรือการพยายามลดการใช้พลังงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อมนะครับ เช่น ให้พัฒนาเครื่องยนต์ที่ก่อมลพิษน้อยที่สุด หรือใช้พลังงานไฟฟ้า (แต่การได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าเอง ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกทอดด้วยหรือเปล่า ก็ต้องคิดกันด้วย) แต่นั่นแหละ มันต้องไม่มาอยู่ในจุดที่เข้ามาทำลายพื้นฐานความเป็นมนุษย์จนเกินไปด้วย
ปัญหาสำคัญของวีแกนเลย คือ การห่วงสิทธิของหมาของแมว ของนกของปลา ของวัวของควาย ‘มากกว่าสิทธิของตัวมนุษย์เอง’
เราต้องไม่ลืมว่าการสร้างมาตรฐานอันเป็นสากลขึ้นมาทุกครั้ง การกำหนดเกณฑ์ในการปกครองหรือจัดระเบียบอะไรก็ตาม ทุกๆ ครั้งมันหมายถึงการลดทอนสิทธิเสรีภาพของเราเองด้วย ฉะนั้นการจะสร้างมาตรฐานอะไรต่างๆ ขึ้นมาใหม่นั้น มันไม่ใช่ว่าจะไร้ซึ่งราคาที่ต้องแลกเปลี่ยน มันแลกเปลี่ยนมาด้วยการลดขอบเขตสิ่งที่จะทำได้ของเราในฐานะมนุษย์ลงไปเรื่อยๆ พูดในทางหลักสิทธิมนุษย์ชนก็คือ “มันเป็นการเพิ่มเงื่อนไขของความเป็นคน ด้วยการลดทอนความเป็นคนของเราเองลงเรื่อยๆ ด้วย” เพราะมันเป็นการเพิ่มข้อตกลงว่า “การจะเป็นมนุษย์ที่ดีนั้นควรเป็นเช่นไร โดยลดทอนความสามารถทำนั่นทำนี่หรือก็คืออำนาจในฐานะมนุษย์ให้ลดน้อยลงเรื่อยๆ นั่นเอง”
มันจึงเป็นเรื่องที่น่ารันทดใจสำหรับผม ที่มนุษย์วีแกนกร่างเหล่านั้น ที่ไปชุมนุมกดดันให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ โดยอ้างสิทธิในการชุมนุมของตนนั้นไม่รู้ตัวเลยหรือว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขามีสิทธิไปยืนเรียกร้องดังเช่นที่ทำอยู่ได้นั้น วางรากฐานมาจากการต่อสู้เป็นร้อยๆ ปีที่จะให้มนุษย์ได้หลุดพ้นจากสภาพการถูกปฏิบัติด้วยดั่งปศุสัตว์ เพื่อให้มนุษย์สามารถมีอิสระ มีเสรีภาพในการจะทำในสิ่งที่ตนชอบ ตนอยากได้ ซึ่งนั่นรวมถึงการรวมตัวเรียกร้องอะไรบางอย่างด้วย แต่การเสนอเงื่อนไขบีบมนุษย์ให้ถูกจำกัด ‘ขอบเขตที่สามารถทำได้’ ไปเรื่อยๆ แบบนี้เอง ก็เสมือนว่าเราถูกตีกรอบให้แคบลงๆ และกลายไปเป็น ‘ปศุสัตว์ของสิทธิมนุษยชนที่เราสร้างขึ้นมาเอง’ ด้วย
ผมคิดว่าเราต้องกลับไปที่รากเหง้าและไม่หลงลืมรากเหง้าก่อนว่า คุณค่าและจริยธรรมสากลนั้นมันเกิดมาโดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ ให้มนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกันได้ ให้มนุษย์ไม่ต้องกลับไปเป็นปศุสัตว์หรือทาสของใครใดๆ อีก ฉะนั้นหากการนำคุณค่าสากลใด มาลบล้างจุดยืนดังว่านี้ แล้วอ้างเพื่อนกเพื่อกา เพื่อแมวน้ำเพื่อจามรีอะไรนั้นผมคิดว่าเราต้องร่วมยืนยันกันอย่างชัดเจนว่า “มันทำไม่ได้” ครับ
หลายคนอาจจะอ่านแล้วรู้สึกว่าเห็นด้วย เพราะรำคาญวีแกนนี้เหมือนกับผม และหลายคนอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไกลตัวเพราะการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ของวีแกนกร่างนั้นแทบจะไม่เกิดในไทยเลย แต่ผมอยากจะบอกครับว่า เราไม่ได้ห่างไกลอะไรจากลักษณะที่ว่าเลย ตรงกันข้าม เกิดในระดับที่เลวร้ายกว่ามากด้วย เพราะทั้งกร่างกว่า มีอำนาจสนับสนุนมากกว่า และยังผิดฝาผิดตัวหนักกว่าอีก… ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงเหล่ามนุษย์พุทโธเลี่ยนบ้านเรานี่เอง
พุทโธเลี่ยน ก็คือ ชาวพุทธสายกร่างนี่แหละครับ พฤติกรรมไม่ต่างจากวีแกนกร่างนัก ในขณะที่วีแกนอ้างเรื่องทรมานสัตว์กับคาร์บอนฟุตปรินต์ปานเป็นคาถา พุทโธเลี่ยนก็จะหาทางจับพระไตรปิฎกยัดปากอีกฝั่งให้ได้ โดยไม่แคร์ข้อถกเถียงหรือตรรกะใดๆ (ไม่ต้องพูดว่าเข้าใจหรือรู้คำสอนพุทธจริงๆ ไหม) แต่ที่หนักกว่าวีแกนก็คือ พุทโธเลี่ยนไทยนั้น ดันอยู่ในรัฐที่ทำตัวเป็นพุทธกร่างด้วยอีกทางหนึ่ง กำลังอำนาจของพุทโธเลี่ยนไทยจึงมหึมามากกว่าการเคลื่อนไหวของวีแกนในโลกตะวันตกมาก เรามีรัฐที่บอกให้เลิกเหล้าเข้าพรรษา เรามีรัฐที่บังคับเด็กเรียนพุทธศาสนา เรามีรัฐที่วางข้อกำหนดทางจริยธรรมต่างๆ แทบทั้งหมดบนคติแบบพุทธ กระทั่งรัฐสภายังทำแบบอย่างเมรุพุทธเลย… จะไม่ให้พุทโธเลี่ยนไทยกร่างได้ไงครับ ในเมื่อประเทศนี้เรียกได้ว่าเป็นพาราไดส์ของพุทธกร่างกันเลยทีเดียว
ไม่เพียงแต่มติปัญหาเรื่อง Moral High Ground ของเราจะทรงพลังกว่าในโลกตะวันตกเท่านั้นนะครับ มันยังผิดฝาผิดตัวด้วยอย่างที่ผมว่าไป คือ ความสูงส่งทางจริยธรรมเนี่ย มันต้องอิงกับคุณค่าสากล ไม่ใช่คติความเชื่อหรือคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเว้ย! ฉะนั้นการผูกติด ‘จริยธรรมของชาติ’ ไว้กับพุทธศาสนา (ไม่ว่าคุณจะมีคนนับถือมากมายกี่เปอร์เซนต์ในประเทศก็ตาม) มันผิด!
คือ มันเป็นปัญหามากไง เพราะพุทโธเลี่ยนไทยหลายครั้งก็รู้ตัวนะว่าข้อเรียกร้องพุทธกร่างๆ ของพวกเค้ามัน ‘ละเมิดสิทธิคนอื่น มันละเมิดข้อตกลงสากล’ แต่พี่แกเล่นใช้บท ‘ไม่แคร์’ ไง เพราะในไทยนี้ วิถีคิดแบบพุทธใหญ่สุด คุณค่าแบบสากลอะไรต้องถอยต้องหลีกให้ ประชาธิปไตยไม่ตรงใจพุทธฯ ตัดหัวประชาธิปไตยส่วนนั้นไป สิทธิมนุษยชนไม่ได้ดั่งใจพุทโธเลี่ยน ช่างสิทธิมนุษยชน สุดท้ายคุณก็ได้สังคมที่กลายเป็น ‘การเมืองของคนดี’ โดยคนดีแปลว่า ‘ดีอย่างพุทธที่รัฐยอมรับ’ เท่านั้นด้วย
พูดกันตรงๆ แบบคนกับคนด้วยกันเลยนะครับ ผมว่าอย่าทำแบบนี้เลย มันห่วยน่ะ ผมอธิบายให้เห็นแล้วว่าข้อเรียกร้องของวีแกนมันเละเทะยังไง และเชื่อว่าหลายคนก็คงจะเห็นภาพ กระทั่งสนับสนุน แต่กรณีของพุทโธเลี่ยนไทยเอง ก็แบบเดียวกันเลยครับ แต่ในระดับที่หนักยิ่งกว่า หนักกว่ามากๆ ฉะนั้นถ้าเห็นว่าวีแกนมันบ้าอย่างที่ผมว่าไป และควรหยุด เราก็ควรจะใช้การเห็นนั้น การเข้าใจความไม่เข้าทีนั้น กลับมามองความไม่เข้าทีที่หนักเสียยิ่งกว่าของเราเองด้วยนะครับ
ผมขอร่ำลากันในสัปดาห์นี้ไปด้วยคำกล่าวเกี่ยวกับศาสนาชิ้นหนึ่งที่ผมชอบมาก แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่าใครเป็นคนพูดคนแรก เขากล่าวได้อย่างกินใจจริงๆ ครับว่า “Religion is like a penis. It’s fine to have one. It’s fine to be proud of it. But please don’t start whip it out in public and start waving around.”
ของของท่านก็เช่นกันครับ ท่านจะมีมัน จะภูมิใจในตัวความใหญ่เล็ก ปราดเปรียวลีลาเด็ดอะไรของมันก็เรื่องของท่านเถิด ตามสบายท่านเลย แต่อย่าเอามันไปบังคับหรือข่มขืนใครอื่นที่เขาไม่ได้อยากได้ของของท่านนักเลย นอกจากมันจะทุเรศและผิดแล้ว คนที่ฟินก็มีแต่ท่านฝ่ายเดียว ในขณะที่คนอื่นที่โดนเขาต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ท่านคิดว่าดีว่าฟินนั้น