Elena Ferrante อาจป็นชื่อที่วงการวรรณกรรมไทยยังไม่คุ้นเคยมากนัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว ในต่างประเทศเอง ชื่อนี้ก็คล้ายจะเป็นที่จดจำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองครับ แม้จะชวนให้งุนงงอยู่สักหน่อย เพราะ Ferrante เองก็ไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่แต่อย่างใด แต่เงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้นักเขียนชาวอิตาลีท่านนี้ไม่เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาต่อสาธารณะชนนักคงเป็นเพราะเธอเลือกที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวไว้อย่างแนบสนิท ไม่เพียงแค่ Elena Ferrante ที่เป็นเพียงนามปากกาเท่านั้น ใบหน้าจริงๆ ของเธอยังแทบไม่เคยปรากฏให้เห็น Ferrante ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ นอกเสียจากว่าจะลิสต์คำถามมาให้เธอเขียนตอบด้วยตัวเอง นานๆ ครั้งเท่านั้นที่นิตยสารหัวใดๆ จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์เธอตัวต่อตัว
แน่ล่ะครับว่า ความหวงแหนพื้นที่ส่วนตัวของ Ferrante นั้นคนละระดับกับ Thomas Pynchon นักเขียนอเมริกัน ที่แม้ผลงานโคตรจะอ่านยากของเขามีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าเขาเลยสักครั้ง แม้ว่าใน Inheritance Vice หนังเรื่องหนึ่งที่สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันกับของเขาโดย Paul Thomas Anderson จะมีการยืนยันว่า มี Pynchon มาปรากฏในเรื่องด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครหาเขาเจออยู่ดี
ทางด้าน Ferrante นั้น ก็ถึงขนาดเคยเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการของเธอเมื่อครั้งที่เขียน Troubling Love นวนิยายเรื่องแรกว่า ไม่ต้องการให้มีการโปรโมตแต่อย่างใด “ฉันเชื่อว่า หนังสือใดๆ เมื่อถูกเขียนขึ้นแล้ว นักเขียนก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ถ้ามันมีอะไรบางอย่างที่ต้องพูด ไม่ช้าก็เร็ว มันจะพบนักอ่านเอง แต่ถ้าไม่ ก็ไม่” นั่นเพราะ Ferrante เชื่อว่า การวางตัวนิรนามเช่นนี้จะช่วยให้เธอมีอิสระในการสรรสร้างอะไรก็ได้ [1] Ferrante ปฏิเสธทั้งการร่วมเสวนา รวมถึงรับรางวัลใดๆ หากหนังสือเล่มนี้จะได้รับ เพราะเชื่อว่าในฐานะนักเขียน หน้าที่ของเธอได้สิ้นสุดไปเรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลต่างๆ ที่พอจะประกอบสร้างเป็นตัวตนอันบางเบาของ Ferrante เราพอจะรู้ว่า เธอเกิดและเติบโตขึ้นในเมืองเนเปิล เธอน่าจะเป็นแม่ เธอก็น่าจะหย่าขาดกับสามีไปแล้ว และอย่างที่ Ferrante เคยพูดถึงตัวเองไว้ว่า นอกจากการเขียนแล้ว สิ่งอื่นที่เธอทำคือ “ศึกษา แปล และสอน”
อาจเพราะ Ferrante รักษาพื้นที่ส่วนตัวไว้อย่างเคร่งครัด จึงยากสำหรับนักอ่านที่จะแน่ใจว่า เรื่องราวที่เธอบอกเล่าในนวนิยายเล่มต่างๆ มีส่วนผสมจากประสบการณ์ส่วนตัวมากแค่ไหน แต่ถึงจะอย่างนั้น จุดหนึ่งที่สัมผัสได้จากนวนิยายของ Ferrante คือความเป็นส่วนตัวที่แสนจะเข้มข้น ซึ่งหากเธอเปิดเผยตัวต่อสาธารณะชน ในทางหนึ่ง นวนิยายของเธออาจไม่ให้ความรู้สึก หรือไม่อาจที่จะเป็นส่วนตัวได้เพียงนี้ อาจเป็นการยากกว่าที่จะนำเสนอประเด็นใดๆ หากผู้อ่านรับรู้ได้ถึงตัวตนของนักเขียนแล้ว ก็อาจเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างช่วยไม่ได้ และนั่นก็อาจสร้างความหวาดระแวงให้กับตัวนักเขียนเองที่จะกล้าใส่ความเป็นส่วนตัวลงไปในผลงานใดๆ เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อตัวเอง หรือกระทั่งการตีความนวนิยายเรื่องนั้นๆ
จุดเด่นหนึ่งของ Ferrante คือการเลือกจะเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครหญิงที่ส่วนมากเป็นปัญญาชน (ไม่นักเขียนก็อาจารย์) ด้วยเหตุนี้ ความรื่นรมย์ที่ปรากฏในนวนิยายเล่มต่างๆ จึงเป็นการได้สำรวจไปในความคิดอันสลับซับซ้อนของตัวละครหญิงเหล่านี้ รวมถึงความบันเทิงที่ได้อ่านบทสนทนาอันชาญฉลาดที่พรั่งพ่นออกมาจากปากตัวละครต่างๆ อย่างมีชีวิตชีวา
นับเป็นเรื่องน่ายินดีทีเดียวครับ ที่ในปีนี้ ‘My Brilliant Friend’ หรือในชื่อไทยว่า ‘เพื่อนคนเก่ง’ งานเขียนชิ้นสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Ferrante ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี และก็เป็นเรื่องน่ายินดีอีกเช่นกัน ที่สำนวนการแปลของคุณนันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ก็เรียกว่าจับฉวยอรรถรสของนวนิยายเรื่องนี้ได้อย่างไม่รู้สึกตะกุกตะกัก หากกลับละเลียดได้อย่างไหลลื่นไม่มีสะดุดเลยทีเดียว
My Brilliant Friend ถือเป็นเล่มแรกของ Napolitan Novels ที่ประกอบด้วยนวนิยายอีกสามเรื่อง (The Story of a New Name, Those Who Leave and Those Who Stay, The Story of The Lost Child) ซึ่งเราอาจเรียกธีมหลักของนวนิยายชุดนี้ว่า เป็นเรื่องราวของการเติบโต (Coming of Age) ของเด็กสาวคู่หนึ่งก็ย่อมได้
My Brilliant Friend Ferrerante แนะนำเราให้รู้จักกับ Elena Greco กับ Raffaella Cerullo (Lila) ที่ความสัมพันธ์ของพวกเธอผลิบานเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1950s ในเมือง Naple เด็กสาวทั้งสองเติบโตขึ้นในหมู่บ้านยากจน ที่ความรุนแรงในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นซ้ำๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครคาดหวังว่าเด็กๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้จะเรียนดี เรียนเก่ง ต่างเชื่อว่าแค่เรียนผ่านชั้นประถมไปได้ก็เพียงพอ แต่ Elena กับ Lila คล้ายจะต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ เพราะ Elena นั้นฉลาด ส่วน Lila ที่แม้ใครๆ จะมองว่า เป็นเด็กแก่นแก้ว ชอบสร้างเรื่องราว แต่ความเก่งกาจในการเรียนของเธอก็เกิดขึ้นจากการบากบั่นด้วยตัวคนเดียว Lila สอนตัวเองให้อ่าน เขียน จนไม่นานเธอก็ไต่อันดับขึ้นมาเป็นนักเรียนหัวกะทิอย่างไม่ยากเย็นอะไร
ตลอดเล่ม สิ่งที่ Ferrera ถ่ายทอดถึงคนอ่าน คือความสัมพันธ์ระหว่าง Elena และ Lila ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างแปลกประหลาด ผูกพันธ์ และแนบชิดกันภายใต้ความรัก ความนับถือ และความเกรงกลัว เพราะสำหรับ Elena แล้ว Lila ไม่เพียงแค่น่านับถือเท่านั้น แต่บ่อยครั้งวีรกรรมที่เธอสร้างยังนำมาซึ่งความขยาดบ่อยๆ และผ่านความสัมพันธ์ของทั้งสองนี่เอง ที่เราก็ได้เห็นถึงสภาพสังคมอิตาลี และปัญหาต่างๆ ที่ชนชั้นล่างต้องแบกรับ เช่น การไม่มีทุนมากพอในการต่อยอดทางการศึกษาให้กับลูกๆ แม้จะรับรู้ได้ว่า เขาหรือเธอมีความสามารถ หรือการที่ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นอุปสรรคทั้งเรื่องความรัก และการเลือกเส้นทางชีวิต เพราะทุกอย่างคล้ายจะถูกกำหนดขึ้นเรียบร้อยแล้วภายใต้ข้อจำกัดของความยากจน
My Brilliant Friend ถือเป็นนวนิยายที่เพลิดเพลินเล่มหนึ่งเลยทีเดียว และจัดว่าเหมาะเป็นอย่างมากครับหากคุณอยากทำความรู้จักกับนักเขียนคนสำคัญของอิตาลี Elena Ferrera ไว้ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ และซึ่งก็น่าจะมีเล่มอื่นๆ ในนวนิยายชุดนี้ตามมาให้อ่านอีกแน่นอน หากคุณพร้อมที่จะดำดิ่งเข้าไปสู่ความสัมพันธ์ของเด็กสาวตัวเล็กๆ แต่อุดมไปด้วยความคิดอันสลับซับซ้อน ลองอ่าน My Brilliant Friend ดูสิครับ
อ้างอิง