ราวๆ สองปีก่อน ผมเห็น ‘มรดกตกผลึก’ เป็นครั้งแรกใน Fictionlog แต่เพราะความไม่ค่อยคุ้นชินกับการอ่านนวนิยายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ผมจึงเลือกจะปล่อยผ่านโดยหวังว่าสักวันคงมีสักสำนักพิมพ์หยิบมันมารวมเล่ม
ซึ่งก็เป็นในงานมหกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เองครับ ที่สำนักพิมพ์แซลมอนก็ได้รวบรวมตอนต่างๆ ที่โพสต์ลงบนโลกออนไลน์มาตีพิมพ์เป็นเล่ม ออกมาเป็นนวนิยายเล่มเล็กๆ ที่สั้นกระชับกำลังดี ปัญหาคือ ผมเปิดอ่านมรดกตกผลึกด้วยคาดหวังว่าจะได้ขำอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ผมได้พบกลับเป็นความเศร้าอย่างเจ็บแค้น ที่พูดกันตรงๆ ว่า ผมเองก็เผลอมองข้ามไปถึงสภาพความเป็นจริงซึ่งแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังรอยยิ้ม การเจ็บตัวแบบปลอมๆ และเสียงหัวเราะของตลกแต่ละคน
มรดกตกผลึกเล่าเรื่องของคณะ ‘ตลกพิลึก’ คณะตลกที่แค่ได้ยินชื่อก็ไม่แน่ใจว่าจะขำ หรือยิ้มเจื่อนๆ ดี ซึ่งตลกคณะนี้ก็มีนายตกผลึก บุตรชายคนเดียวของหัวหน้าคณะผู้รับหน้าที่ตีกลองในจังหวะตบมุกคอยรับบทเป็นตัวปูมุกบนเวที แต่อยู่มาวันหนึ่ง พ่อของผลึกก็ดันมาด่วนจากไป และแม้ว่าในช่วงแรกๆ ความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นภายในคณะจะเป็นปัญหาจวนตัว เช่น การต้องหามือกลองคนใหม่ แต่หลังจากเวลาผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ ความลับบางอย่างของพ่อเขาก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมา
มันเป็นเรื่องน้ำเน่าอย่างที่ตัวนิยายเองก็ย้ำอยู่เสมอ เพราะอยู่ๆ คณะตลกพิลึกก็ได้ถูกจ้างวานให้ไปแสดงในงานวันเกิดของเศรษฐินีท่านหนึ่ง ท่ามกลางความงุนงงสับสนของชาวคณะ ว่าเศรษฐินีท่านนี้เกิดนึกเพี้ยนอะไรขึ้นมา จ้างคณะตลกที่ก็ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวไปเล่นมุกให้ดู แล้วความจริงก็ได้ปรากฏต่อหน้าตกผลึกว่า แม่ – ผู้จากโลกนี้ไปตั้งแต่เขายังเยาว์ – คือลูกคนสุดท้องของเศรษฐินีท่านนี้
ราวกับว่ามุกตลกที่ยิงกันเรี่ยราดบนเวทีจะชดเชยความขบขันของชีวิตไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เมื่อตกผลึก ที่อยู่ๆ ก็กลายเป็นทายาทเศรษฐีเข้าเสียง่ายๆ ไม่ต่างอะไรกับพล็อตซ้ำซากในละครไทย ที่วันหนึ่งชายหนุ่มที่คล้ายจะไม่มีหัวนอนปลายตีน (สำนวนอย่างที่ละครไทยเขาชอบใช้กัน) จะดุ่มเดินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และส่วนเกินในกองมรดก ที่เหล่าลูกๆ หลานๆ ของเศรษฐินีท่านนี้ต่างจ้องจะตะครุบกันตาเป็นมัน
แต่ภายใต้พล็อตเรื่องซึ่งผู้เขียนจงใจจะให้น้ำเน่า หากความน้ำเน่าที่เกิดขึ้นก็ยังประณีประนอมต่อความเป็นไปได้ที่ไต่ล้ออยู่กับความเป็นจริง นั่นเพราะตกผลึกไม่ใช่ว่าตกผลึกจะได้เงินเป็นพันๆ ล้านมาอยู่ในกระเป๋า หากเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ที่สมเหตสมผลพอที่จะยังคงประคับประคองตัวตนของตกผลึกไม่ให้แกว่งไกว หรือแตกสลายไป หากก็กระตุ้นให้เขากระโดดเข้ารับภารกิจบางอย่างที่ผูกเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าทำสำเร็จเมื่อไหร่ เขาจะได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุในมรดกไปอย่างแน่นอน
ในทางหนึ่ง มรดกตกผลึก คือส่วนผสมระหว่างตลกคาเฟ่ที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูถึงขีดสุด แต่ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปในปัจจุบัน กับรายการเกมโชว์ที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบัน แต่เช่นกันที่เราก็เริ่มจะเห็นถึงความร่วงโรยของเกมโชว์บางรายการ จักรพันธ์ ขวัญมงคล เล่าเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ในลักษณะของภารกิจ ที่ตกผลึกจำเป็นต้องปลดล็อคไปทีละชั้น เพื่อที่ในทุกๆ ครั้งที่เขาปฏิบัติภารกิจ สำเร็จ พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งที่เขาจะได้รับ คือกระบวนการทบทวนตัวเอง การพิจารณาอดีต และการบากหน้าสบตากับความเป็นจริงอย่างกล้าๆ กลัวๆ
ตกผลึก ตัวเอกของเรื่องไม่ใช่ตัวละครที่กล้าหาญ หรือเคยได้สร้างวีรกรรมหน้าเชิดชู เขาเป็นเพียงตลกตัวเล็กๆ ที่ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์สักคนหนึ่ง ที่เคยได้สร้างความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยได้มาไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง ผ่านความผิดบาปที่คอยกัดกินตัวตนและจิตใจ ร้ายยิ่งกว่า ที่เรื่องตลกร้ายซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความผิดพลาดของตัวเองอย่างจำใจ กลับคือเงิน ที่หากตกผลึกไม่ได้เกิดมาเป็นตลกคาเฟ่ หรือเติบโตในตระกูลร่ำรวยตั้งแต่แรก เขาก็คงไม่เห็นว่าการหันกลับไปทบทวนความผิดของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ หรือเป็นวาระเร่งด่วนแต่อย่างใด
มรกตกผลึก พาเราไปสำรวจสภาพแร้นแค้น และชีวิตแสนลำเค็ญของตลกหาเช้ากินค่ำ ที่เงินแต่ละบาทได้รับกันเป็นวันๆ และถ้าวันไหนไม่มีคนจ้าง ก็อาจหมายถึงความฉิบหายในทันที คณะตลกพิลึกต่างดิ้นรนอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมที่คอยแต่จะกดให้พวกเขาจมดินอยู่อย่างนั้น ทว่าก็ไม่มีทางอื่นที่จะหลบหนีออกจากระบบนี้ เพราะเงินยังคงเป็นปัจจัยให้พวกเขาได้ลืมตาอ้าปาก อย่างที่ในตอนหนึ่งเราได้เห็นว่า การที่ตกผลึกได้รับเงินจำนวนหนึ่งจากกองมรดกได้ช่วยให้เขาไม่ต้องคอยวิ่งเต้นหางานได้ชั่วระยะหนึ่ง และทุกคนในคณะก็ถึงได้มีเวลาพักผ่อน อย่างที่พนักงานออฟฟิศทั่วๆ ไปควรจะได้รับ แต่เพราะพวกเขาเป็นตลก เป็นคนหาเช้ากินค่ำ และไร้ซึ่งสวัสดิการใดๆ ที่จะรับประกันความมีชีวิตที่ดีได้ การได้มาซึ่งความสุขขั้นพื้นฐานในชีวิตของพวกเขาจึงเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขของนวนิยายน้ำเน่า ที่อยู่ๆ ตัวละครหนึ่งก็ได้รับมรดกนับล้านๆ มาแค่เท่านั้น
ไม่กี่วันก่อน ผมอ่านข่าวที่เล่าถึงสภาพชีวิตของพนักงานที่ดิสนีย์แลนด์ สหรัฐฯ ที่กำลังประสบปัญหาการกดขี่ร้ายได้จากนายจ้าง บางคนถูกขับไล่ออกจากบ้านเช่า อีกหลายคนไม่มีเงินมากพอกระทั่งจะซื้อความสุขเล็กๆ ในชีวิตด้วยซ้ำ แน่นอนครับว่า ชีวิตของคณะตลกในมรดกตกผลึก กับชีวิตของพนักงานดิสนีย์แลนด์ เป็นคนละบริบทกันโดยสิ้นเชิงอย่างที่เราไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้แต่อย่างใด หากจุดหนึ่งที่ผมกลับรู้สึกว่า เรื่องทั้งสองนี้พอจะเชื่อมโยงกันได้อยู่ คือภายใต้ใบหน้าที่ฉาบชุ่มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เบื้องหลังกลับแฝงชีวิตอันเปราะบาง เป็นภาชนะที่ต้องคอยรองรับแรงกดขี่ของสังคมและเหล่านายทุน อย่างที่ลำพังพวกเขาเอง แค่การดิ้นรนให้มีชีวิตอยู่ได้ไปวันๆ ก็เป็นเรื่องยากเกินไปแล้ว
มันเป็นเรื่องน่าเศร้าและชวนให้โกรธแค้นเสียเหลือเกินนะครับ ที่ภายใต้ความขบขัน หรือภาพฝันของดินแดนเวทย์มนตร์แสนหวาน ทว่าเหล่าผู้คนที่คอยสร้างความสุข และรอยยิ้มให้กับคนอื่นนั้น หลังจากลงจากเวทีไปแล้ว พวกเขากลับต้องพบว่าการจะยิ้มอย่างโล่งใจแค่สักครั้งช่างเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน