เพิ่งมีข่าวว่า รัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตให้มีการนำร่างของมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วเอาไป ‘ทำปุ๋ย’ ได้
คุณอาจจะรู้สึกแปลกๆ เพราะสำหรับคนไทยที่จะมีคำพูดติดปาก (แบบไม่ PC) เวลามีคนแก่กะโหลกกะลาไม่ได้เรื่อง (ตามความเห็นของเรา) – ว่า น่าเอาไปทำปุ๋ย (ที่จริงคำพูดนี้อาจจะถือว่าเป็นด้านกลับของ ‘รู้งี้เอาขี้เถ้ายัดปากเสียก็ดี’ ได้เหมือนกัน)
แต่การ ‘ทำปุ๋ย’ ที่ว่านี้ เป็นเรื่องจริงจังเอามากๆ แล้วก็ไม่ได้เพิ่งทำกับรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแห่งแรกเท่านั้น เฉพาะในสหรัฐอเมริกา รัฐที่สามารถเอาร่างคนตายไปทำปุ๋ยก่อนหน้า ก็คือรัฐวอชิงตัน
วอชิงตันมีสุสานที่เรียกว่า เฮอร์แลนด์ ฟอร์เรสต์ (Herland Forrest) ซึ่งเป็นสุสานตามแนวทางความยั่งยืนที่เรียกว่า Permaculture นั่นคือแทนที่จะเผาหรือฝังร่างของมนุษย์เอาไว้เฉยๆ ตามที่ทำกันมา ที่นี่จะมีวิธี ‘เปลี่ยน’ ร่างของมนุษย์ให้กลายเป็นปุ๋ย เพื่อนำไปเป็นสารอาหารให้กับต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ
กรรมวิธีนี้อาจจะเรียกว่า Human Composting หรือการทำปุ๋ยมนุษย์ก็ได้ แต่ถ้าเป็นศัพท์แสงทางวิชาการหน่อย จะเรียกว่า Natural Organic Reduction หรือ NOR คือการค่อยๆ ‘ลดรูป’ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเจ้า NOR นั้น เป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศมากกว่าการฝังหรือเผาแบบเดิม
วิธีการแบบ NOR นั้น ถ้าพูดแบบดั้งเดิมที่สุดก็คือการฝังร่างสัตว์เลี้ยงแสนรักของมนุษย์อย่างหมาหรือแมวลงไปในดินโดยไม่ต้องใช้โลงศพหรืออะไรอื่นใด ปล่อยให้ร่างของพวกมันได้สัมผัสกับดินอุ่นนุ่มจริงๆ แล้วจุลินทรีย์กับสัตว์กินซาก ก็จะค่อยๆ มาย่อยสลายให้เรือนร่างที่เป็นสารอินทรีย์ของพวกมัน กลายเป็นสารอนินทรีย์ในดิน ที่ต้นไม้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่วิธีการแบบที่ว่าคือการทำปุ๋ยอยู่ตรงนั้น เช่นฝังไว้โคนต้นมะม่วงก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นมะม่วง ไม่สามารถนำปุ๋ยนั้นไปหว่านโปรยตามที่ต่างๆ ได้ ดังนั้น มันจึงไม่เหมือนกับกระบวนการ NOR ยุคใหม่ ที่มีวิธีการทำให้ร่างกายสลายเป็นปุ๋ยเสียก่อน แล้วนำไปใช้กับที่อื่นๆ ได้
วอชิงตันประกาศให้วิธี NOR เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในปี ค.ศ.2019 คือเมื่อสามปีที่แล้ว โดยวิธีการที่วอชิงตันใช้ คือการนำศพไปใส่ไว้ในท่อ (หรือบางคนก็เรียกว่าเป็น ‘เปล’ หรือ ‘อู่’) ที่มีวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ห้อมล้อมร่างอยู่ เช่น เศษไม้และฟาง นั่นแปลว่าเมื่อผ่านไปไม่กี่เดือน
ร่างของคนที่คุณรัก (หรือสัตว์ที่คุณรัก)
ก็จะกลายไปเป็นดินและปุ๋ย สามารถนำไปใช้ในสวนได้
วิธี NOR นี้ ได้รับเสียงตอบรับอย่างดียิ่งในกลุ่มคนที่รักษ์ธรรมชาติและอยากเห็นโลกยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าใช้วิธีเดิม เช่น การฝัง จะต้องสิ้นเปลืองพื้่นที่ที่มีอยู่จำกัด ส่วนการเผาก็สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการ ‘ทำร้ายโลก’ ครั้งสุดท้ายของผู้วายชนม์ จึงไม่น่าพึงปรารถนาสักเท่าไหร่หากมองในมุมของสิ่งแวดล้อม
แต่ก็แน่นอนว่าวิธีนี้ย่อมมีผู้ต่อต้าน โดยเฉพาะศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งบอกว่าวิธีการนี้คือการ ‘ลดรูป’ เรือนร่างของมนุษย์ที่พระเจ้าสร้าง ให้เหลือเพียง ‘สินค้า’ ที่นำไปขายได้ (คือปุ๋ย) โดยเห็นว่าการฝังร่างของผู้ตาย หรือแม้กระทั่งการโปรยเถ้า ยังเป็นวิธีที่แสดงออกถึงความเคารพผู้ตายมากกว่า
อย่างไรก็ตาม สุสานเฮอร์แลนด์ฟอร์เรสต์พบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากให้คนที่ตนรักได้กลายเป็นปุ๋ย จึงมีการนำร่างของผู้ตายข้ามรัฐมายังวอชิงตันจากรัฐต่างๆ ถึง 12 รัฐ เพื่อเปลี่ยนร่างของพวกเขาให้กลายเป็นปุ๋ย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ทางสุสานก็จะส่งปุ๋ยนั้นกลับคือให้กับครอบครัวเพื่อนำไปทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ เช่น อาจนำไปปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้ หรือนำดินดังกล่าวไปโปรยในมหาสมุทรก็ได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ร่าง ‘ค่อยๆ’ สลายไปใช้เวลาเป็นเดือนๆ ไม่เหมือนการเผาเป็นเถ้าที่จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในชั้นบรรยากาศ
หลายคนอาจมองว่าแปลก แต่ถ้ามองไปในวัฒนธรรมต่างๆ เราจะเห็น ‘วิธีจัดการศพ’ ที่ต่างกันและมีอยู่แล้ว ตัวอย่างที่หลายคนคุ้นเคยดี คือการจัดการศพแบบทิเบต ที่เรียกว่าการฝังบนฟากฟ้าหรือ Sky Burial โดยมีการนำร่างของผู้ตายมาหั่นเป็นชิ้นๆ ให้มีขนาดย่อมลง จากนั้นก็นำชิ้นส่วนของร่างไปวางไว้บนยอดเขา เพื่อให้แร้ง (ซึ่งเป็นสัตว์กินซากแบบหนึ่ง) มากินชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านั้น ถือเป็นการกำจัดศพด้วยวิธีที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ เพราะทิเบตมีที่ราบน้อย จึงไม่นิยมฝังร่างผู้ตาย และในทิเบตก็คือแร้งเหล่านี้คือแรงศักดิ์สิทธิ์ด้วย
ในมาดากัสการ์ก็มีวิธีการจัดการกับศพที่หลายคนอาจรู้สึกว่าแปลก นั่นคือจะมีการขุดศพขึ้นมาจากหลุม แล้วทำพิธีทุกสองหรือสามปี เรียกว่าพิธี ‘พลิกกระดูก’ คือร่างที่ขุดขึ้นมาจะนำมาห่อผ้าใหม่ แล้วเขียนชื่อผู้ตายลงไปบนผ้านั้นเพื่อจะได้เป็นที่ระลึกถึง จากนั้นก็เต้มรำรอบศพ แห่แหนศพ พรมศพด้วยไวน์หรือเหล้าท้องถิ่น แล้วนำศพกลับไปฝังใหม่ พิธีกรรมนี้เรียกว่า ฟามาดิฮานา (Famadihana)
แต่โดยทั่วไป วิธีจัดการกับศพที่เราคุ้นเคย ก็คือการเผาหรือฝัง คนอเมริกันราว 55% จะใช้วิธีฝัง แต่การฝังศพนั้นไม่ได้อยู่ๆ ก็นำร่างไปฝังเลย โดยมากต้องมีพิธีศพเสียก่อน ดังนั้นจึงต้องมีการรักษาศพเอาไว้ให้ไม่เน่าเปื่อยด้วยการถ่ายเอาเลือดและน้ำเหลืองต่างๆ ออกจากร่างกาย ก่อนฉีดสารเคมีต่างๆ เข้าไปในร่าง เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ เมธานอล และสารอื่นๆ สารเหล่านี้จะไปช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่จะมีย่อนสลายศพ การเน่าเปื่อยจึงเกิดขึ้นช้าลง และที่สำคัญก็คือ มันจะทำให้ศพปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ
แค่นี้ยังไม่พอ ในอเมริกายังมักมีการห่อศพด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันน้ำเหลืองหรือเลือดรั่วไหลด้วย บางคนก็ใส่ผมปลอม หรือมีการแต่งหน้าแบบ ‘โบก’ ให้หนาเอาไว้เพื่อปกปิดความไม่น่าดูของศพ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แต่สุดท้ายแล้ว ร่างกายก็จะต้องเน่าเปื่อยสลายไปอยู่ดี เพียงแต่จะใช้เวลายาวนานมากขึ้น และร่างก็ไม่อาจกลายเป็นปุ๋ยที่ดีได้ ที่สำคัญก็คือ การฝังศพในปัจจุบันมักจะนำโลงศพใส่ลงไปใน ‘บ่อคอนกรีต’ ที่ปิดกั้นเอาไว้อย่างดี การย่อยสลายของร่างจึงไม่สามารถกลายเป็นปุ๋ยแล้วสลายรวมกับดินได้
พูดง่ายๆ ก็คือ ร่างกายที่ตายแล้วนั้นไม่ได้ยังประโยชน์อะไรต่อเลย
หนำซ้ำยังอาจเป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก
ทุกๆ ปี ประมาณว่าการฝังศพของคนอเมริกันจะต้องใช้คอนกรีตมากถึง 1.6 ล้านตัน ใช้สารเคมีรักษาร่างไม่ให้เน่าเปื่อยอีกราว 750,000 แกลลอน และใช้เหล็ก (ที่เป็นโครงสร้างของหีบศพ) อีกราว 90,000 ตัน (เท่ากับปริมาณเหล็กที่ใช้สร้างสะพานโกลเดนเกต) ที่จะฝังลงไปในบ่อคอนกรีตนั่นโดยไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย
ส่วนการเผาก็ไม่ได้ดีไปกว่านั้น เพราะการเผาสมัยใหม่ต้องรีบเร่ง จะมาค่อยๆ เผาค่อยๆ เอาไม้เขี่ยศพให้กลิ้งไปมาแล้วค่อยๆ ไหม้เหมือนการเผาบนเมรุสมัยก่อนไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่มีคิวรออยู่ จึงต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 1,200-1,800 องศาเซลเซียส จนร่างกลายเป็นเถ้าหรือเป็นผงสีเทาๆ โดยมีกองกระดูกเหลืออยู่เล็กน้อย
การเผาศพนั้น ส่วนใหญ่จะใช้แก๊ส ซึ่งจำนวนมากไม่ได้มีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศเสีย จึงเกิดคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ไม่นับรวมสารอื่นๆ อีกที่ระเหยออกจากปล่อง เช่น สารตะกั่ว มีการประมาณว่า การเผาศพแต่ละครั้งต้องใช้เชื้อเพลิง 28 แกลลอน และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 549 ปอนด์ ซึ่งหากประมาณว่าแต่ละปีในสหรัฐอเมริกามีการเผาศพ 912,000 ศพ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาก็จะเท่ากับการใช้รถยนต์ 41,040 คัน
วิธีการแบบ NOR จึงถือว่าเป็นวิธีการที่อ่อนโยนนุ่มนาล และ ‘เป็นธรรมชาติ’ ที่สุด คือร่างกายค่อยๆ กลายกลืนไปกับอินทรียวัตถุที่ห้อมล้อมอยู่ เป็นการต้อนรับเรือนร่างที่กำลังผุพังสลายลง แล้วเปลี่ยนแปรไปเป็นปุ๋ยที่จะเป็นสารอาหารให้สรรพชีวิตในโลกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ วิธีแบบ NOR จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันทั้งสวยงาม อ่อนโยน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็น ‘ของขวัญ’ ชิ้นสุดท้ายจะเราจะมอบให้กับคนที่เรารักและคนรุ่นหลังต่อๆ ไป ในรูปของ ‘ปุ๋ย’ และในรูปของการทำลายสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ – แล้วคุณล่ะ ถ้าคุณตายไปแล้ว อยากให้ลูกๆ ของคุณเอาร่างของคุณไปทำปุ๋ยหรือเปล่า?
อ่านเพิ่มเติม