ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนแรงอยู่ไม่น้อย ทั้งเนติวิทย์ปฏิเสธร่วมงานวันชาติสหรัฐอเมริกาที่ทางสถานทูตสหรัฐฯ เชิญชวนอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ร้อนแรง, หอชมเมืองที่นอกจากจะเกิดคำถามเรื่องความจำเป็นหรือความเร่งด่วนที่ถึงขนาดไม่ต้องให้มีการประมูลแล้ว ยังกำหนดสร้างในพื้นที่เกือบปิดตายแทบจะเข้าได้เฉพาะจากห้างของเครือซีพีเท่านั้นแล้ว อีกเรื่องที่ถูกพูดถึงกันไม่น้อยเห็นจะเป็นเรื่อง ‘กลอน’ โดยนายกตู่ของเราอีกครั้ง รอบนี้ลุงตู่แต่งกลอนว่าด้วย ‘ประเทศไทย 4.0’[1] ซึ่งโดนวิพากษ์วิจารณ์หนักหนาทั้งในแง่ความสามารถในการประพันธ์ ไปจนถึงเรื่องสัมผัสนอกสัมผัสใน
คำวิจารณ์เรื่อง ‘ทักษะ’ ในการประพันธ์นั้น โดยส่วนตัวผมเห็นว่าคุณโตมร สุขปรีชากล่าวไว้สั้นๆ แต่ผมคิดว่าคมคายนัก คืออภิปรายถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของ ‘สัมผัสนอก’ ของการประพันธ์บทกวี ในฐานะการ ‘คิดล่วงหน้า’ ต่อกฎกติกา หรือโครงสร้างตามระบบระเบียบ ว่าจะวางตัวและเตรียมการรับมือกับ ‘เงื่อนไขหรือปัญหา’ ที่อยู่ข้างหน้าอย่างไร การแสดงให้เห็นชัดว่าไม่มีความสามารถดังกล่าวแม้กระทั่งในการ ‘วางแผนคำ’ เพื่อสัมผัสนอกนั้น ชี้ชัดว่าไม่ได้เห็นถึงภาพ ‘โครงสร้างใหญ่’ ของกลอนเลย และเลยไปถามถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นไทย’ ด้วย[2]
อย่างไรก็ดีผมไม่ได้จะเขียนในประเด็นเดียวกับคุณโตมรที่ว่ามา (แม้จะเห็นด้วยมากๆ ก็ตามที) เพราะว่ากันตรงๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลุงตู่ทำอะไรแบบนี้ ที่ผ่านมามีทั้งแต่งเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ (2557), ‘เพราะเธอคือประเทศไทย’ (2558), ‘ความหวังความศรัทธา’ (2559), ‘สะพาน’ (2560) หรือการที่นายกที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาคนเดียวกันนี้จะต้องแสดง “ความรู้ หรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรๆ ไปเสียทุกเรื่องในฐานะนายกรัฐมนตรี” อย่างกรณีของลำไย ไหทองคำ[3] ซึ่งเป็นการพูดในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรี’ โดยตรงด้วย เป็นต้น เอาจริงๆ ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่คิดว่าน่าจะพอเห็นภาพแล้ว
คือ เอาจริงๆ นะครับ ผมไม่มีปัญหากับการที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งกลอนห่วย แต่งเพลงเห่ย ร้องเพลงผิดคีย์ สกิลการเลือกคอสตูมต่ำ ฯลฯ เพราะว่ากันซื่อๆ นี่แหละ มันไม่ใช่เรื่องที่นายกรัฐมนตรีจำเป็นจะต้องมีความสามารถ โดยตำแหน่งหน้าที่แล้ว นายกรัฐมนตรีคือหัวหน้าคณะผู้บริหารกิจการต่างๆ ภายในรัฐ ฉะนั้นจะแต่งกลอนห่วยกว่าเด็ก ป. 3 แต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ การศึกษาประเทศพัฒนา และพัฒนาการทางการเมืองมีความก้าวหน้า ก็ย่อมไม่มีปัญหาอะไร เพราะเอาจริงๆ เรื่องแต่งกลอนได้หรือไม่ได้ และจะแต่งหรือไม่แต่ง มันไม่ใช่เรื่องแต่แรก
ฉะนั้นเมื่ออ่านข่าวเรื่อง ‘กลอน’ และกระแสการฟาดฟันเรื่องความสามารในการแต่งกลอนของลุงตู่แล้ว ผมเลยนึกถึง ‘การแต่ง’ บทประพันธ์อื่นๆ ของลุงแกด้วยที่ว่าไป รวมไปถึงการพยายามสอดแทรกคำอธิบายในทุกอย่าง ว่าง่ายๆ ก็คือ คำถามของผมมันง่ายๆ แค่ว่า “ทำไมต้องพยายามทำตัวเก่งไปเสียทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ตัวเองไม่เกี่ยวอะไรด้วย?”
คำอธิบายอาจจะมีได้หลายประการ คำอธิบายแรกๆ ที่อาจจะผุดขึ้นมาก็อย่าง เช่น
- การที่ต้องมาโชว์แต่งกลอนแต่งเพลงแบบที่ทำอยู่นี้ ก็เพราะไม่มีความสามารถด้านอื่นๆ อะไรจะมาโชว์ได้แล้ว ฉะนั้นอะไรพอทำได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องเล่นใหญ่หมด ให้ดูมีเรื่องที่เก่งบ้าง
- ต้องการจะสร้างสื่อโฆษณาการ (Propaganda) ใส่หัวประชาชน
- คิดว่าตนเองมีความสามารถด้านนี้จริงๆ
- มีความ ‘สอดรู้สอดเห็นในหลายๆ ด้าน’ เกินกว่าที่ขอบเขตอำนาจหน้าที่จะรั้งความอยากรู้อยากเห็นนั้นได้หมด
- บางท่านอาจจะเห็นว่ามีความสามารถจริงๆ อุดมไปด้วยสุนทรียรสในการประพันธ์ อ่านแล้วรู้สึกได้อาหารสมองยิ่งกว่าฉีดโอเมก้า 3 เข้าเส้น ก็อาจจะว่าได้
ฯลฯ ฯลฯ
คำอธิบายพื้นฐานที่ว่ามานี้ ผมก็ยังไม่คิดว่าถูกต้องนัก (แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว) แต่ผมคิดว่านี่ประเด็นนี้ผูกโยงกับ 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือเรื่อง (1) การพยายามเป็นผู้ผูกขาดเรื่องเล่า หรือเป็น Grand Narrator ของสังคม, (2) เป็นเรื่องของวิกฤติความชอบธรรม (Legitimacy Crisis) ของผู้นำในระบอบเผด็จการ ที่จะต้องพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองเก่งกาจในทุกๆ ด้าน เป็นดั่งผู้วิเศษที่รู้ทุกเรื่อง เพื่อจะยืนยันสถานะความเหมาะสมของตน ว่า “ไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าตนในการปกครองหรือดูแลประเทศนี้” ซึ่งผมคิดว่าลักษณะที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในไทย หรือในกรณีของ พลเอกประยุทธ์ด้วย
คำอธิบายเรื่องการเป็นผู้ผูกขาดเรื่องเล่านั้น อิงอย่างมากกับคำอธิบายของ John Garner นักเขียนและศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมคนสำคัญคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาได้อธิบายไว้ ในเรื่อง Authoritarian Literature หรือ ‘วรรณกรรมของเผด็จการ’ แม้โดยหลักแล้วการ์ดเนอร์จะเน้นการอภิปรายไปที่วรรณกรรมในยุคสมบูรณายาสิทธิราชย์ แต่ในภายหลังก็ถูกนำมาใช้กับวรรณกรรมของเผด็จการในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เพราะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ การที่ผู้นำเผด็จการพยายามที่จะเป็นผู้ ‘สร้างคำอธิบาย หรือเรื่องเล่า’ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ฉะนั้นงานที่ผลิตออกมาหลักๆ แล้วในยุคสมัยแบบนี้ จึงมักจะเป็นงานซึ่งประพันธ์โดยตัวผู้นำเผด็จการเอง, ที่ปรึกษาหรือพันธมิตรของเขา หรือมีการสร้างระบบที่ ‘อุปถัมภ์’ นักเขียนให้เขียนงานในทิศทางที่ผู้นำเผด็จการเห็นชอบเท่านั้น
ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้เอง ‘การเขียน’ ในห้วงสมัยของเผด็จการจึงต้องอาศัยความระมัดระวังสูง เพราะหากเขียนหรือเล่าเรื่องอะไรที่ไม่เข้าหูเข้าตาผู้นำในระบอบเผด็จการแล้ว ก็มีโอกาสที่จะถูกแบน หรือมากไปกว่านั้นก็คือลงโทษได้ การทำแบบนี้เองที่ทำให้ ‘เรื่องเล่าหลัก’ ในสังคมมีความเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมา เพราะฉะนั้น การแต่งกลอน แต่งเพลง หรือแม้แต่การพยายามให้คำอธิบายกับการแต่งกายของลำไย ไหทองคำ จึงร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกับการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ต่างๆ หรือบล็อคเว็บไซต์ต่างๆ ของรัฐบาล, พรบ, คอมพิวเตอร์, ซิงเกิลเกตเวย์, ไปจนถึงมาตรา 112
ระบบโครงสร้างทางความคิดที่สุดท้ายนำมาสู่นโยบายหรือการสร้างเรื่องเล่าต่างๆ นั้น วางอยู่บนฐานเดียวกัน นั่นคือ เฉพาะเรื่องของฉันที่พวกเธอพึงฟัง เรื่องอื่นๆ ที่ฉันไม่อยากให้ฟัง พวกเธอก็จอย่าได้ฟัง … แน่นอน ไม่ต้องพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพอะไรอยู่แล้ว “เฮ้! นี่เรากำลังอยู่และพูดถึงระบอบเผด็จการนะ!”
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงก็คือเรื่องวิกฤติของความชอบธรรม ซึ่งเป็นที่รู้กันดีหากว่ากันตาม ‘คุณค่าสากลของโลกนี้’ การรัฐประหารเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรม การล้มรัฐบาลประชาธิปไตยนั้นผิด (หากไม่ผิด ก็คงไม่ต้องนิรโทษกรรมตัวเอง และออกกฎหมายที่ให้อำนาจตัวเองไว้แบบยิ่งใหญ่เสียเหนือกฎหมายใดๆ หรอกครับ) นั่นหมายความว่า ‘ผู้ก่อการรัฐประหาร และรัฐบาลจากการรัฐประหาร ที่ล้มรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย’ นั้น ย่อมไร้ซึ่งความชอบธรรมด้วย
แล้วจะทำอย่างไรเล่าจึงจะสร้างความชอบธรรมได้?
ก็ทำให้การเข้ามานี้ ‘เป็นบุญคุณไปเสียสิ’ วิธีคิดนี้ย้อนไปถึงคำอธิบายเรื่อง ‘ภาระของคนขาว’ หรือ White man’s burden โน่นแหละครับ (ผมเข้าใจว่าเคยพูดถึงไปแล้วในบทความครบรอบสามปีรัฐประหาร ฉะนั้นจะไม่อธิบายเยอะ) คือ การบอกว่านี่เป็นภาระ เป็นความเหนื่อยสายตัวแทบขาดของพวกฉันนะที่ต้องเข้ามากอบกู้พวกเธอจากสภาพอันฟอนเฟะ อานารยะ เข้ามานี่ไม่ได้อะไรเลย นอกจากเหนื่อยกับเหนื่อย… แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอาณานิคมก็คือ ‘การถูกดูด และเข้ายึดทรัพยากรจนแทบหมดสิ้น’
แต่อะไรกันเล่าที่ทำให้ ‘เหล่าคนขาว’ พวกนั้นมีคุณสมบัติที่จะ ‘สร้างพระคุณ หรือเป็นภาระ’ ขึ้นมาได้? นั่นก็คือการสร้างคำอธิบายถึงความ ‘เหนื่อยกว่า เก่งกว่า อารยะกว่า’ ฝ่ายที่โดนกดขี่อยู่นั่นเองครับ ฉะนั้นผู้ปกครองในระบอบเผด็จการจึงต้องพยายามสร้างภาพความเป็น ‘ผู้วิเศษ’ ที่เก่งไปเสียทุกเรื่องของตนขึ้นมา เพื่อที่ว่าทุกหยาดเหงื่อแรงกายที่ตนได้ทำไปนั้น จึงจะเป็น ‘บุญคุณ’ กับผู้กดขี่ ที่ผู้กดขี่พึงต้องเชิดชูบูชาได้ แน่นอน เงื่อนไขของคำอธิบายในแต่ละยุคสมัยของเผด็จการย่อมแตกต่างกันในรายละเอียด รูปแบบก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นคำอธิบายตั้งแต่ ‘ลิขิตฟ้า’ (Mandate of Heaven) ในแบบฮ่องเต้ของจีน จนมาถึงการแต่งกลอน ‘ประเทศไทย 4.0’ จึงวางอยู่บนฐานคิดแบบเดียวกัน นั่นคือ การพยายามจะสร้างภาพความเป็นผู้วิเศษของตนขึ้นมา เพื่อมาอุดรูรั่วของ ‘วิกฤติความชอบธรรม’
ว่าง่ายๆ คือ “สร้างความชอบธรรมชุดใหม่ มาเติมใส่ช่องว่างความชอบธรรมแบบเดิมที่ขาดไป” นั่นเองครับ
จริงๆ เมื่อราวๆ 1 ปีก่อน ผมเองก็นึกได้ถึงการพยายามสร้างคำอธิบายลักษณะเดียวกันนี้เหมือนกันครับ เมื่อคิมจองอึน ผู้นำเผด็จการของเกาหลีเหนือประกาศว่าตนเองสามารถคิดค้นยาวิเศษที่รักษาทั้งเอดส์ อีโบล่า และมะเร็งได้แล้ว (แน่นอนว่าภาพพรีเซนต์ก็คือ “คิมจองอึนในเสื้อกราวน์ แบบนักวิจัย”)[4] เราจะเห็นว่าตรรกะพื้นฐานของวิธีคิดเหล่านี้ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย และในระดับหนึ่งมันก็ชัดเจนว่า ผู้นำเหล่านี้ดูจะมีแนวโน้มที่จะคิดว่าประชากรนั้น ‘โง่’ จริงๆ หรืออย่างน้อย ‘โง่กว่าตน’ …โง่พอที่จะเชื่อในเรื่องเล่าของตนเองได้
อย่างไรก็ดี หากการพยายามสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้วิเศษจากพลังของ ‘เรื่องเล่า’ นั้น ขาดซึ่งความสามารถในการเล่าเรื่องแล้ว รอยร้าวของวิกฤติความชอบธรรมก็อาจจะขยายใหญ่ขึ้น แทนที่จะหดแคบลงได้ อย่างที่เกิดขึ้นกับบทกลอน ‘ประเทศไทย 4.0’ ที่ไม่เพียงไม่ถูกมองว่า ‘เก่ง’ แล้ว ยังโดนวิจารณ์ไปในทาง ‘ตรงกันข้ามอีกต่างหาก’
…น่าสงสารจริงหน๋อ อยากโชว์กึ๋น แต่ผลออกมาดันกลับตาลปัตรเสียได้…
[1] โปรดดู www.matichon.co.th
[2] โปรดดู hwww.facebook.com/anthony.avenueq
[3] โปรดดู www.khaosod.co.th
[4] โปรดดู www.independent.co.uk