Aldous Huxley เจ้าพ่องานแนวไซไฟมืดมนเขียนเรื่องราวของครอบครัวกาให้หลานวัย 5 ขวบ James Joyce เขียนนิทานเรื่องแมวกับเจ้าปีศาจ Salman Rushdie เขียนนิทานเพราะคำขอของลูกชาย T. S. Eliot เขียนเรื่องแมวๆ
หนังสือสำหรับเด็กเต็มไปด้วยมนต์ขลัง เป็นเรื่องราวกระตุ้นจินตนาการและความฝันประกอบกับภาพน่ารักๆ นักเขียนระดับเทพที่เคยสร้างงานดาร์กๆ งานครุ่นคิด หรืองานวรรณกรรมเอกต่างก็เคยจับปากกาเขียนเรื่องเพื่อให้น้องๆ หนูๆ อ่าน
คงด้วยความเป็นนักเขียนอาชีพ เหล่านักเขียนพอเป็นพ่อ เป็นลุงกันแล้ว เหล่านักเขียนก็อยากจะมีผลงานดีๆ ให้ลูกให้หลานได้อ่าน ส่วนใหญ่ผลงานวรรณกรรมเด็กจากนักเขียนเบอร์ใหญ่มักมาจากการเขียนเรื่องให้คนใกล้ชิดก่อนจะถูกนำมาตีพิมพ์ทำภาพประกอบภายหลัง นอกจากเหล่าพ่อๆ ลุงๆ แล้ว Umberto Eco นักเขียนและนักปรัชญาตั้งใจใช้หนังสือเด็กเพื่อถ่ายทอดประเด็นยากๆ นักเขียนบางคนเช่น Leo Tolstoy นอกจากจะใช้วรรณกรรมเพื่อพูดเรื่องความขมขื่นและความยากลำบากของคนในสังคมแล้ว ตัวแกเองยังเปิดโรงเรียนเพื่อให้การศึกษากับชาวนาและคนยากไร้ แถมยังเขียนหนังสือเด็กขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบการสอนเด็กๆ ด้วย
The Crows of Pearblossom, Aldous Huxley
เรารู้จัก Aldous Huxley จากงานแนวไซไฟใน Brave New World โลกอนาคตที่ฮักซลีย์วาดให้เราดูจะเป็นคำเตือนเรื่องเทคโนโลยีและการปกครองควบคุม 13 ปีหลังจากงานชิ้นเอก แกเขียนเรื่อง The Crows of Pearblossom ให้หลานวัย 5 ขวบ งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือภาพหลังฮักซลีย์เสียชีวิตไปสี่ปี ตัวเรื่องเล่าเรื่องครอบครัวกาที่มีเพื่อนบ้านเป็นงู ไอ้เจ้างูนี่ก็ชอบมาขโมยไข่ของบ้านนี้ไปกิน—อืม ปัญหาเพื่อนบ้านคือกินลูกกันเนอะ ทางครอบครัวกาวางแผนแก้เผ็ดด้วยการวางไข่ปลอมเอาไว้ งูเพื่อนบ้านที่รักกินไข่ปลอมเข้าไปก็เลยตาย… สมกับเป็นหนังสือเด็กของฮักซลีย์ดีเนอะ
The Cat and the Devil, James Joyce
James Joyce เจ้าพ่อวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 งานของ จอยซ์ขึ้นชื่อเรื่องความอ่านยาก ถ่ายทอดภาพชีวิตที่ซับซ้อนของมนุษย์ร่วมสมัยด้วยวิธีการทางการประพันธ์แบบกระแสสำนึก ในปี 1963 จอยซ์เขียนเรื่องแมวๆ สองเรื่องส่งให้หลานอ่าน คือเรื่อง The Cat and the Devil และเรื่อง The Cats of Copenhagen ต่อมาทางสำนักพิมพ์ตีพิมพ์ทั้งสองเรื่องเป็นหนังสือภาพ
นิทานเรื่องแรกพูดถึงสัญญาปีศาจที่เทศมนตรีทำสัญญาไว้ว่า ซาตานจะได้วิญญาณดวงแรกที่ข้ามสะพานไป สรุปเทศมนตรีตัวแสบก็โยนแมวข้ามสะพาน และเจ้าแมวนั้นก็ได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงของซาตานไปนิรันดร์ ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องประกอบภาพ พูดเรื่องแมวในกรุงโคเปนเฮเกน ที่ค่อนข้างออกมาในแนวประหลาดๆ หน่อย คล้ายๆ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เมืองและผู้คนเดนมาร์ก
Haroun and the Sea of Stories, Salman Rushdie
หลังจาก The Satanic Verses งานเขียนนวนิยายที่รัชดีเขียนออกมาเป็นชิ้นที่ 4 ลูกชายของแกก็บอกว่า ทำไมคุณพ่อไม่เคยเขียนงานที่เด็กๆ อ่านได้บ้างเลย หลังจากนั้นสองปี รัชดีเลยสนองความต้องการด้วยการตีพิมพ์ Haroun and the Sea of Stories ในเรื่อง รัชดีก็ดูจะพูดถึงแรงบันดาลใจจากลูกชาย ตัวเรื่องพูดถึงชายนักเล่าเรื่องที่สูญเสียความสามารถในการเล่าเรื่องไป และก็ได้ความช่วยเหลือจากลูกชายที่พาพ่ออออกไปพบกับการผจญภัยที่แปลกประหลาด แกนของเรื่องพูดถึงประเด็นว่าเรื่องเล่าและเรื่องราวต่างๆ เป็นส่วนเล็กๆ ที่ก่อร่างตัวตนของเรา
The Three Astronauts, Umberto Eco
Umberto Eco นักเขียนและนักปรัชญาคนสำคัญจาก The Name of the Rose เอโกเป็นนักคิดที่เสนอความคิดทั้งในสายวรรณกรรมศึกษาและวัฒนธรรมร่วมสมัย ตัวเอโกเองเขียนหนังสือเด็กสามเล่ม คือ The Three Astronauts, The Bomb and the General และ The Gnomes of Gnu แต่ละเล่มเอโกเล่าเป็นนิทานที่มีนัยถึงประเด็นต่างๆ ใน The Three Astronauts พูดเรื่องความอดกลั้นและความหลากหลาย ตัวเรื่องเล่าถึงนักบินอวกาศสามสัญชาติที่ไปเจอกันบนดาวดวงหนึ่งแล้วค้นพบว่าทั้งสามคนก็ไม่แตกต่างกัน
The Bomb and the General พูดเรื่องสันติภาพ เอโกเล่าเรื่องสันติภาพผ่านอนุภาคน่ารักที่อยู่ในปรมาณู เหล่าอนุภาคนี้ไม่อยากจะไปทำร้ายคนเลยแอบหนีออกจากระเบิด วันที่ระเบิดถูกทิ้งก็เลยไม่มีอานุภาพอะไรทั้งสิ้น มนุษย์ก็เลยยุติสงคราม ส่วนใน The Gnomes of Gnu พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และการล่าอาณานิคม เล่าถึงมนุษย์ที่ออกไปสำรวจอวกาศแต่ชนเผ่าที่มนุษย์ไปเจอกลับปฏิเสธ ‘อารยธรรม’ ที่มนุษย์นำไปด้วยเหตุผลว่าอารยธรรมมนุษย์ได้ทำลายโลกไปแล้ว
The World is Round, Gertrude Stein
ในปี 1938 นักเขียนหนังสือเด็กชาวอเมริกัน Margaret Wise Brown คุยกับนักเขียนใหญ่ร่วมสมัยสามคน Gertrude Stein, John Steinbeck และ Ernest Hemingway ว่าให้เขียนหนังสือเด็กบ้างสิ ในสามคนนี้มีเพียงสเตน นักเขียนหญิงเพียงคนเดียวที่เผอิญเขียนหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ต่อมากลายเป็นหนังสือเด็กชื่อ The World is Round พูดถึงเด็กผู้หญิงที่พยายามเข้าใจโลก
The Bed Book, Sylvia Plath
Sylvia Plath โดดเด่นเรื่องกวีนิพนธ์และงานเขียนกึ่งอัตชีวประวัติ นอกจากบทกวีที่พูดประเด็นยากๆ แล้วแพลทยังเขียนงานสำหรับเด็กเป็นชุดบทกวีแฟนตาซีเล่าถึงเตียงนอนประเภทต่างๆ งานเขียนชุดนี้เดิมเธอตั้งใจเขียนให้ลูกๆ ของตัวเอง โดยเขียนขึ้นเพื่อให้อ่านสนุกๆ ตอนหลังถึงได้รับการตีพิมพ์และได้ Quentin Blake นักวาดภาพประกอบของ Roald Dahl และ Dr. Seuss เล่มแรก
Old Possum’s Book of Practical Cats, T. S. Eliot
ใครๆ ก็รักแมว แม้แต่ T. S. Eliot กวีอเมริกันคนสำคัญก็ยังเขียนหนังสือเด็กว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าแมวเหมียว ในช่วงปี 1930s อีเลียตเขียนเรื่องราวนิทานแมวให้กับลูกของพ่อทูนหัว (godchildren) โดยใช้นามปากกาว่า Old Possum ในปี 1939 เรื่องราวชุดดังกล่าวจึงได้รับการตีพิมพ์ในชื่อว่า Old Possum’s Book of Practical Cats หนังสือเล่มนี้ Andrew Lloyd Webber นักประพันธ์ละครเพลงชาวอังกฤษบอกว่าเป็นหนังสือโปรดและส่งอิทธิพลในละครเพลง CATS ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
Azbuka (Classic Tales and Fables for Children), Leo Tolstoy
Leo Tolstoy นอกจากจะเป็นนักเขียนแล้ว ยังเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วย ในช่วงอายุ 21 ปี แกเปิดโรงเรียนให้กับชาวนา ในขณะที่เขียน Anna Karenina นวนิยายขนาดยาว ตอลสตอยก็เลยเขียนหนังสือสำหรับสอนเด็กนักเรียนไปด้วย Azbuka เป็นหนังสือที่ตอลสตอยเขียนเพื่อสอนการอ่าน เขียน และการนับ ตัวหนังสือแกเขียนโดยปรับเอาเรื่องจากชีวิตวัยเด็ก นิทานอีสป และนิทานฮินดูเข้าไว้ด้วยกัน
Happy to Be Nappy, Bell Hooks
Bell Hooks เป็นนักเขียนและนักทฤษฎีสายเฟมินิสม์ที่พูดถึงประเด็นเรื่องผู้หญิง เพศสถานะ และคนผิวดำ ฮุคส์นอกจากจะเขียนงานทฤษฎีสายแข็งแล้ว ยังเขียนหนังสือเด็กที่แสนจะน่ารักสำหรับเด็กเล็กหลายเล่ม Happy to Be Nappy เป็นหนังสือเด็กน่ารักๆ ที่พูดถึงเด็กผู้หญิงและเส้นผม ด้านในก็ดูจะมีประเด็นเรื่องการเป็นเด็กผิวดำอยู่ด้วย และพูดถึงว่าผมแบบไหนจะหยิกจะขอดยังไง
อ้างอิงข้อมูลจาก