ด้วยความปริวิตกว่าเด็กไทยจะลืม ‘ความเป็นไทย’ ประวัติศาสตร์ชาติและภาษาไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงผุดพุทธิไอเดียเสนอแนวคิดเบื้องต้นให้โรงเรียนจับนักเรียนท่องอาขยาน ท่องหน้าที่สิทธิพลเมือง สูตรคูณ พร้อมเพรียงกันทั้งห้องหลังเลิกเรียน ใครจะว่าเป็นนกแก้วนกขุนทองก็ช่างปะไร แถมช่วยให้เด็กได้ตะโกนปลดปล่อยหลังเรียนมาแล้วทั้งวันด้วยนะเออ
อันเนื่องมาจากการท่องจำคือการฝังความทรงจำบางอย่างลงในสมอง เมื่อถามก็ตอบได้ทันทีอัตโนมัติแบบไม่ต้องคิดอะไรมากไปกว่านั้น มันก็อาจจะใช้ได้กับข้อเท็จจริง ชุดความรู้ที่สำเร็จรูป เช่นสูตรคูณ สูตรเคมี แต่ประวัติศาสตร์ ‘ความเป็นไทย’ สิทธิหน้าที่และสถานะของพลเมืองนั้นไม่ใช่ความรู้สำเร็จรูป หรือต้องมีสัมผัสคล้องจองเพื่อให้จดจำได้ง่าย
การบังคับให้ท่องจำสิทธิหน้าที่พลเมืองจึงเท่ากับว่าเป็นเพียงการยัดข้อมูลใส่ฮิปโปแคมปัสในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไป ว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน มีสถานะอะไร ต้องทำและห้ามทำอะไร มีสิทธิสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยมีคนมาบอกบทให้ มากกว่าจะสร้างความเข้าใจตระหนักได้ถึงสิทธิที่พึงได้ในฐานะมนุษย์คนนึง
เหมือนกับที่กระทรวงศึกษาธิการเลือกบทกวีมาอย่างตั้งใจให้เป็นอาขยานหลัก ซึ่งให้คำอธิบายว่าหมายถึงบทอาขยานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนท่องจำเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ[1] ด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า
“…เป็นผลทำให้ผู้ที่เคยท่องบทอาขยานหวนรำลึกถึงบรรยากาศของการท่องอาขยานว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจ การจดจำบทอาขยานได้อย่างแม่นยำและสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้เกิดการสืบทอดทางวัฒนธรรมและเป็นการปลูกสำนึกให้เยาวชนรู้สึกซาบซึ้งในบทประพันธ์แต่เยาว์วัย การท่องบทอาขยานจึงไม่ใช่การท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่เป็นการท่องเพื่อให้เกิดการจำและรับรู้เกิดทักษะทางภาษา เกิดความซาบซึ้ง เห็นคุณค่าในความงามของภาษา และได้ข้อคิดนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต”[2]
หลังๆ แม้ว่าจะมีความกังวลใจ กลัวจะถูกด่าว่าระบบการศึกษาผลิตนกแก้วนกขุนทอง แต่พวกเขาและเธอก็จินตนาการไม่ออกอยู่ดีว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนฉลาด คิดเป็น ซาบซึ้งภาคภูมิใจในชาติและภาษาไทยได้ นอกจากให้นักเรียนท่องบ่นพร้อมๆ ตามกันมา และในตำราเรียนก็สอนให้จำด้วยว่า จุดประสงค์ในการแต่งอาขยานนี้คืออะไร ความงามทางวรรณศิลป์ของมัน และประโยชน์จากการท่องอาขยานนี้มีอะไรบ้าง
เช่นอาขยาน ‘กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน’ ในหนังสือ วรรณคดีวิจักษ์ วิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
บลาๆๆ…
ที่คัดมาจาก ‘กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์’ ก็พรรณนา อาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ คู่ไปกับความรักความคิดถึงนางอันเป็นที่รัก ที่หนังสือเรียนคัดบางส่วนมาอธิบายว่ามีวรรณศิลป์ที่คำสัมผัสการเล่นเสียง อุปมาอุปลักษณ์ อติพจน์ มีจุดมุ่งหมายในการแต่งเพื่อเป็นบทเห่เรือในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจส่วนบุคคล และชื่นชมฝีมือการทำอาหารของหญิงอันเป็นที่รัก
เท่ากับกาพย์เห่เรือนี่เป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ ส่วนตัวมากๆ ส่วนตั๊วส่วนตัวถึงขั้นกวีพรรณนาเปรียบเทียบฝีมืออาหาร การจัดจาน รสชาติจัดจ้านของหญิงคนรัก เล่าไปถึงเตียงของเธอ ร่างกายของเธอ กลิ่น รสสัมผัส จริตจะก้านของเธอ ผ่านอาหารรสเด็ด
ไม่เพียงชมสาวเจ้าว่า เปรียบเทียบกับท้องปลาเทโพที่มีมันดูแล้วน่าซด เปรียบเทียบรสชาติร้อนแรงเหมือนแกงมัสมั่น ซ้ำยังวางถึงลิ้นดิ้นแดโดย แต่เมื่อเห็นอาหารชื่อ ‘ล่าเตียง’ ก็คิดถึงเตียงของน้องสะแล้ว และแน่นอน “ความรักยักเปลี่ยนท่า” เหมือนแกงที่มีรสต่างๆ
มีความอีโรติกมาก ชนิดที่ว่าร้อยกรองปัจจุบันเทียบไม่ได้เลยไม่ว่า ‘โอ้นี่มันบักแตงโม’ หรือ ‘กินตับ’ ซึ่งในกาพย์เห่เค้ากิน ‘ตับเหล็ก’ (ม้าม) แทน ไม่ใช่ตับๆ ตับ ตับ…
แม้ตำราจะพยายามบอกนักเรียนให้เข้าใจว่ากาพย์เห่เรือเขียนถึงหญิงอันเป็นที่รักเพียงนางเดียว แต่ในข้อเท็จจริง วัฒนธรรมการแต่งงานของชนชั้นสูงในอดีตก็เป็นการแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมีย ด้วยรูปแบบการอุปถัมภ์ ที่ผู้ชายเป็นผู้ปกครอง ผู้หญิงจะต้องปรนนิบัติรับใช้สามี เนรมิตรังสรรค์อาหารหวานคาวระบำรำฟ้อนเพื่อสร้างความบันเทิงใจ ชนชั้นนำขุนนางอำมาตย์ยิ่งมียศสูงก็ยิ่งมีภริยามาก เพื่อประกาศสถานภาพทางสังคมและความมั่งคั่ง ว่ามีบริวารเลี้ยงดูปูเสื่อได้มาก ซึ่งกวีผู้แต่งกาพย์นี้ก็มีนางอันเป็นที่รักถึง 58 คน[3] เราจึงระบุไม่ได้ว่าอาหาร ‘ผักหวาน’ ของน้องคนใดทำให้ซ่านทรวงใน จะเป็นน้องคนเดียวกับที่ทำ “ช้าช้าพล่าเนื้อสด ฟุ้งปรากฏรสหื่นหอม” หรือไม่
อย่างไรก็ตาม อาขยานนี้ก็เป็นผลผลิตของโลกยุคนั้น อันเป็นยุคที่ยังไม่ศิวิไลซ์ ยุคก่อนสิทธิสตรี ยุคที่ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคนและการค้าทาสเกณฑ์ไพร่ยังดำรงอยู่ การปรุงประดิษฐ์อาหารที่ต้องใช้ความประณีต วัตถุดิบที่หลากหลาย และหลายเมนูจึงไม่ใช่มาจากแรงงานเพียงคนเดียวแน่นอน
เหมือนกับที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เจ้าของกวี ‘เปิบข้าว’ ที่กลายเป็นอาขยาน
เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว…
ได้ใช้นามปากกา ‘สมชาย ปรีชาเจริญ’ เขียนในปี พ.ศ. 2500 ว่าระบบศักดินาทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ จากมนุษย์กลายเป็นดอกไม้ที่ปักประดับแจกันเสริมบารมีของผู้ชาย ความผาสุกของเจ้าขุนมูลนายคือการมีเมียเล็กเมียน้อยเป็นสิบๆ ร้อยๆ เกียรติยศของคนพวกนี้ก็แข่งวัดกันจากจำนวนเมีย ซ้ำร้ายการศึกษาของผู้หญิงเองก็เพื่อไปเป็นทาสผู้ชาย ต้องหมอบคลานสองเท้าสี่เท้าปรนนิบัติรับใช้ผู้เป็นผัว[4] และอีกครั้งด้วยนามปากกา ‘สมสมัย ศรีศูทรพรรณ’ ว่าพวกอำมาตย์ขุนนางมัก “ได้กินข้าวร้อนนอนสายมีเมียสาวหลายๆ คน” [5]
แม้คุณครูภาษาไทยจะสอนให้พิจารณาคุณค่าให้ความรู้อาหารไทยโบราณชนิดต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความประณีตประดิดประดอยในวัฒนธรรมด้านอาหารของคนไทย แต่ก็เป็นวัฒนธรรมการกินเฉพาะชนชั้นหนึ่งเท่านั้น ที่อาหารในเห่ชมเครื่องคาวหวานไม่ใช่เรื่องโภชนาการ อาหาร 5 หมู่ กินเพื่ออยู่หรือเสริมสร้างสุขภาพ หากแต่เป็นไปเพื่อความหฤหรรษ์ทางเพศและสุนทรียศาสตร์ ประกาศการเข้าถึงทรัพยากรอันมหาศาล หายากราคาแพง ตั้งแต่เครื่องเทศ เนื้อสัตว์ รังนก น้ำปลาก็ยังต้องมาจากญี่ปุ่น การหุงข้าวยังเป็นแบบแขกเปอร์เซียใส่กระวานเทศ (Ela ในกวีใช้คำว่า “ลูกเอ็น” ปลูกกันมากในอินเดีย กัวเตมาลา ศรีลังกา และแทนซาเนีย)
ทว่าเอามาเป็นอาขยานบรรจุในวิชาภาษาไทยให้นักเรียนทั้งประเทศต้องจำต้องจดว่า อีกชนชั้นนึงได้ทานหรูหราขนาดไหน ขณะที่นักเรียนบางโรงเรียนแทบไม่มีอะไรกิน โครงการอาหารกลางวันนักเรียนประถมได้รับแค่หัวละ 20 บาท ซ้ำยังโดนโกงอีก กินได้แค่ขนมจีนน้ำปลา เศษฟักเศษไก่คลุกข้าวกับเสี้ยวแตงโม ผัดมาม่า แต่กลับต้องมานั่งท่องอาหารการกินอันมั่งคั่งของคนอื่น ที่อาหารบางอย่างก็ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน
อย่างไรก็ตาม กาพย์เห่เรื่องนี้มันก็เข้ากันได้ดีกับวัยเจริญพันธุ์ของนักเรียนมัธยม ที่จะได้เรียนรู้เรื่องเพศในฐานะความสุนทรีย์ นอกเหนือจากเรื่องวิวัฒนาการทางกายภาพและฮอร์โมนในหนังสือเรียน
เพราะไม่ว่าอย่างไร อาขยานก็ยังคงมีประโยชน์ บทร้อยกรองหลายอันก็สามารถนำมาใช้ท่องฝึกทักษะ สมาธิ และสติไปในตัว เช่น
“หีบมากมายหลายหีบยกหีบหนี หีบมากมีหนีหีบหนีบหนีหาย
เห็นหนีหีบหนีบหนีกันมากมาย เห็นหีบหายหลายหีบหนีบหนีเอย”
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. บทอาขยานภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพ: กระทรวงศึกษาธิการ, น. 3.
[2] เรื่องเดียวกัน, น. 1.
[3] ส. พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพ :ฐานบุ๊คส์. 2554.
[4] สมชาย ปรีชาเจริญ (นามแฝง),“อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสตรีไทย”,ใน กุหลาบ สายประดิษฐ์.ประวัติศาสตร์สตรีไทย.กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือแสงดาว, 2519.
[5] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย : บทวิเคราะห์สังคมไทยอันท้าท้ายยุคสมัย. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548,น. 186.