เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ Nectome บริษัทสตาร์ทอัพจากเมืองเมาเทนวิว รัฐแคลิฟอเนียร์นั้นคิดต่างออกไป เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือการเก็บสมองของคนตายเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด และเมื่อในอนาคตที่เทคโนโลยีทั้งหลายพร้อมจะดึงความทรงจำทั้งหลายที่อยู่ในนั้นออกมาเป็นไฟล์ข้อมูลดิจิทัล และสุดท้ายเพื่อนำมันกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
อ่านถึงตรงนี้คงแอบคิดไม่ได้ว่านี่มันคือโครงเรื่องของซีรีส์ดังทาง Netflix อย่าง Altered Carbon ที่กำลังฉายอยู่ไม่ใช่เหรอ? ใช่ครับ มันคล้ายกันมากจนผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาหลายคนมองว่าสิ่งที่ Nectome กำลังพยายามจะสร้างนั้นเป็นเรื่องตลกขบขันเข้าขั้นไร้สาระ ออกแนวนิยายไซไฟที่ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้ามองทางฝั่ง Nectome ที่เขียนเอาไว้บนเว็บไซต์ของพวกเขาว่า “Committed to the goal of archiving your mind.” แล้วต้องบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องล้อเล่นสำหรับพวกเขา ถ้าใครอ่านหนังสือ The Singularity is Near ของ Ray Kurzweil นักอนาคตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ก็คงคุ้นเคยกับไอเดียนี้กันดี ซึ่งเขาบอกว่าเทคโนโลยีทำนองนี้น่าจะเป็นจริงได้ภายในปี 2030 (อีกแค่ 10 กว่าปี!)
แนวคิดของ Nectome คือการใช้กระบวนการทางเคมีเก็บรักษาเนื้อสมองให้สมบูรณ์เป็นระยะเวลานานหลายศตวรรษ ด้วยความหวังที่ว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะสามารถแปลงเนื้อสมองตรงนี้ให้กลับมาสร้างเป็นคอมพิวเตอร์จำลอง (ในรูปแบบใดก็ได้ หุ่นยนต์, AI, โปรแกรมแชท ฯลฯ) ซึ่งถ้าลองนึกภาพก็คล้ายกับการนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาจากโคม่า จิตถูกปลุกกลับมาเป็นตัวคุณอีกครั้ง…แค่ในอีกร่างหนึ่ง เหมือนเป็นตัวคุณที่ไม่ใช่ตัวคุณ (พูดไปพูดมาก็เริ่มรู้สึกว่านี่มันร่างทรงชัดๆ) ที่ได้กลับมาสบตาคนที่รักและลิ้มรสอาหารจานโปรดอีกครั้งหนึ่ง
เอาหล่ะตอนนี้คุณอาจจะกำลังคิดว่า “โอเค ก็เก็บไปสิสมอง ตายไปแล้วยังไงก็ไม่ได้ใช้ เก็บไว้เผื่อใช้ได้ก็ไม่มีปัญหา สบายมาก” แล้วยกมือขอเข้าร่วมโครงการด้วย อืม…มันไม่ได้เป็นแบบนั้นซะทีเดียวนี่สิ
เรื่องชวนขนลุกอย่างหนึ่งที่จำเป็นในกระบวนการทั้งหมดคือสมองนั้นต้อง‘สด’ สดในที่นี้คือเจ้าของสมองต้องยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งทางบริษัทได้วางแผนเอาไว้ว่าจะทำมันกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยใส่สารเคมีเข้าไปตามเส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณลำคอ ซึ่งขั้นตอนการเก็บรักษาสมองนั้นมีผลทำให้คุณเสียชีวิตแน่นอน 100% และด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดเป็นข้อถกเถียงเรื่องการุณยฆาตตามมา ยิ่งเป็นกลุ่มที่เคร่งศาสนาแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะคงไม่มีอะไรที่ผิดหลักคำสอนพื้นฐานมากไปกว่าการหยุดลมหายใจของมนุษย์อีกแล้ว (ซึ่งความเชื่อตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้นในตัวมันเองเช่นกัน)
Robert McIntyre หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทบอกว่า “ประสบการณ์มันจะเหมือนกับการุณยฆาตโดยเจตจำนงที่มีแพทย์เป็นผู้ช่วยเหลือ”
หลายต่อหลายคนเชื่อในแนวคิดของ Transhumanism (ลัทธิพ้นมนุษย์) ที่บอกว่าอนาคตของมนุษย์สายพันธ์ใหม่ในรูปแบบอื่น (เช่นคอมพิวเตอร์โปรแกรม ลูกครึ่งผสมระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ หรือมนุษย์ที่ถูกดัดแปลงตัดแต่งทางพันธุกรรม ฯลฯ) เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่อีกฝั่งหนึ่งก็บอกว่ามันเป็นไอเดียที่หาผลประโยชน์จากกลุ่มมนุษย์ผู้ร่ำรวยที่กลัวความตายและพยายามใช้เม็ดเงินเพื่อหาความเป็นอมตะ (Immotality) เท่านั้น
ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนของความเชื่อ ความสำเร็จของ Nectome คือสิ่งที่ทำให้เราต้องหันมาให้ความสนใจกับพวกเขา เพราะที่จริงแล้วธุรกิจด้านการเก็บรักษาสมองไม่ใช่เรื่องใหม่ บริษัท Alcor Life Extension Foundation ในรัฐ Arizona ได้ทำการเก็บร่างกายและส่วนหัวของมนุษย์ในไนโตรเจนเหลว แต่ก็มีการโต้เถียงกันอยู่ว่าวิธีการนี้จะทำลายเนื้อสมองจนเกินจุดที่จะซ่อมแซมได้ ทาง Nectome จึงได้คิดค้นเทคนิคที่เรียกว่า ‘Vitrifixation’ ที่เป็นการผสมระหว่างการ fixation ที่ใช้สารเคมีเพื่อให้ไซแนปส์ นั้นแข็งตัวและไม่เสื่อมสภาพ หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการ และ vitrification หรือการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว ที่ใช้สารเคมีเคลือบและนำไปแช่เย็นที่อุณหภูมิ -122 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งมาทำลายเซลล์
ซึ่งเทคนิคนี้เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเก็บรักษาสมองของหมูไว้ได้ในสภาพที่สมบูรณ์ชนิดที่ว่าทุกไซแนปส์ (ช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท) สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอน ซึ่งตามคำอ้างอิงของสถาบัน Brain Preservation Foundation เจ้าไซแนปส์เหล่านี้เชื่อมต่อกันเหมือนแผนที่ขนาดใหญ่ของสมอง คอยสื่อสารระหว่างเซลล์สมองหนึ่งไปยังอีกเซลล์สมองหนึ่ง ซึ่งโดยรวมทั้งหมดนี้เรียกว่า Connectome ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างความทรงจำต่างๆของมนุษย์
แต่ถึงตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าสมองที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในอนาคต (ไม่เหมือนกับไอเดียของบริษัท Alcor) ที่พวกเขาต้องการคือการดึงข้อมูลที่อยู่ในนั้นออกมาต่างหาก โดย Ken Hayworth ผู้บริหารของ Brain Preservation Foundation บอกว่า
“แม้ว่าสมองนั้นตายไปแล้ว มันก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ถูกปิด ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลทุกอย่างไม่ได้อยู่ในนั้นซะหน่อย”
ในเวลานี้บริการเก็บดองสมองของ Nectome ยังไม่ได้มีการเปิดให้ใช้โดยทั่วไป อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการเตรียมพร้อมสำหรับทุกอย่าง ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเรื่องกฎหมายที่แตกต่างกันในแต่ละที่เกี่ยวกับการุณยฆาต แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าความทรงจำทั้งหลายจะยังคงถูกเก็บไว้ในเนื้อสมองเหล่านี้ ทางบริษัทก็ได้ทดลองเปิดให้ผู้ที่สนใจใช้บริการลงชื่อในลิสต์พร้อมวางเงินมัดจำ 10,000 เหรียญ (~320,000 บาท) ซึ่งหากเปลี่ยนใจทีหลังก็สามารถรับเงินคืนได้ทั้งหมด จนถึงตอนนี้มีคนลงชื่อแล้วกว่า 25 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Sam Altman หนึ่งในนักลงทุนของโปรแกรม Y Combinator (โปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของโลก เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายบริษัทอย่าง Dropbox, Airbnb, Stripe, Reddit, Scribd, SocialCam และล่าสุด Unicorn) เขาบอกว่าความคาดหวังของเขาคือในวันหนึ่งข้างหน้าสมองของเขาจะถูกอัพโหลดขึ้นไปอยู่บน cloud เหมือนอย่างที่ Nectome ได้โฆษณาเอาไว้
หลังจากประสบความสำเร็จในการใช้ Vitrifixation ในสมองกระต่ายและหมูไปแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทาง Nectome ได้ทดลองใช้มันกับสมองมนุษย์คนแรกไปแล้วด้วย หลังจากที่หญิงสูงวัยคนหนึ่งเสียชีวิตได้ประมาณ 2.5 ชั่วโมง กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของ Nectome ก็เริ่มลงมือปฎิบัติการเก็บรักษาเนื้อสมอง โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงและจากคำกล่าวอ้างของ McIntyre มันเป็นสมองที่ถูกเก็บรักษาในสภาพที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดชิ้นหนึ่ง แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือระยะเวลา 2.5 ชั่วโมงจากวินาทีที่เธอเสียชีวิตและเริ่มต้นกระบวนการทั้งหมดนั้นนานเกินไป เนื้อสมองบางส่วนได้เริ่มเสียหายไปแล้วในช่วงเวลานั้น เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกไว้ตอนแรก ถ้าอยากได้สมองในสภาพที่สวยที่สุดต้องทำตอนที่คนๆนั้นยังมีลมหายใจอยู่เท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่งของความเชื่อในไอเดีย นักวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าขั้นตอนทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่หลอกลวงเหลวไหล ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการสร้างมโนภาพความฝันให้กับคนที่กลัวความตาย แม้ว่ากระบวนการที่พวกเขาคิดขึ้นมานั้นจะสมบูรณ์แบบขนาดไหน ก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรมาการันตีได้เลยว่าในอนาคตนั้นเทคโนโลยีจะสามารถดึงข้อมูลจากเนื้อสมองที่เก็บรักษาเอาไว้ได้
เวลานี้ Nectome ก็ไม่ต่างอะไรกับบริษัทขายฝันที่ยังไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะเป็นอย่างที่สัญญาเอาไว้หรือไม่ หลายคนเลือกที่จะเชื่อ ส่วนอีกหลายคนเลือกที่จะเบือนหน้าหนี ซึ่งแนวคิดใหม่ทางวิทยาศาสตร์มักสร้างปฏิกิริยาตอบสนองแบบนี้ แบ่งคนออกเป็นสองฝั่งให้ถกเถียงกันจนกว่าจะหาหลักฐานที่แน่ชัดมายืนยัน ในอนาคตเราอาจจะตายแต่ไม่ได้จากไปไหนก็ได้ อาจจะกลับมาอยู่ในรูปแบบของจิตดิจิทัลในระบบคอมพิวเตอร์ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นความตายยังคงเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่อาจฝืนได้ และจากที่ได้ยินความเห็นของหลายคนก็บอกคล้ายๆกันว่า
“เราเฝ้าแต่จะถามว่าทำได้ไหม? แต่กลับลืมถามไปว่าควรทำไหม?”
Illustration by Kodchakorn Thammachart