1
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นบุกถล่มทำลายฐานทัพเรือ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ที่เกาะฮาวายอย่างย่อยยับ การโจมตีครั้งนี้ดึงให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทันที
ภายหลังการโจมตี คนอเมริกันจำนวนมากโกรธแค้น ผู้ชายจำนวนมากทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ต่างตบเท้าไปสมัครเป็นทหารเพื่อรับใช้ชาติ รวมถึงผู้หญิงที่เข้าไปช่วยประเทศชาติอันเป็นที่รักร่วมโรมรันในสงครามครั้งนี้
มีคนจำนวนมากได้เป็นทหาร โดยเฉพาะผู้ชายผิวขาว แต่มีคนอเมริกันอีกกลุ่มหนึ่งถูกจับ ถูกขังในค่ายกักกันตลอดสงคราม เพียงเพราะว่าผิวของพวกเขาเหมือนกับญี่ปุ่น
ทั้งๆ ที่พวกเขาเกิดในสหรัฐอเมริกา เป็นอเมริกัน และรักชาติไม่น้อยไปกว่าคนผิวสีไหนๆ เลยก็ตาม
นี่คือเรื่องราวของโลกยุคก่อน ที่ตัดสินความรักชาติผ่านทางสีผิว ไม่ใช่วิธีคิด
นี่คือเรื่องราวของคนที่ถูกเรียกว่า “Nisei”
2
Nisei เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าคนรุ่นที่สอง ซึ่งคนอเมริกันใช้เรียกคนที่เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่มีพ่อแม่เป็นผู้อพยพมาจากประเทศญี่ปุ่น
ก่อนหน้าวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 มีคนอเมริกาเชื้อสายญี่ปุ่นอยู่ในประเทศทั้งหมด 284,000 นาย กว่าครึ่งอยู่ในเมืองฮาวาย ซึ่งคนเหล่านี้คือกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากสุดในเกาะด้วย
สำหรับ Nisei ในฮาวายและแผ่นดินใหญ่ พวกเขาต่างถูกเลือกปฏิบัติในยุคสมัยที่อเมริกายังมีการกีดกันทางเชื้อชาติ และการเหยียดผิวคนที่ไม่ใช่ผิวขาวยังถูกกฎหมายอยู่ในสมัยนั้น
แต่คนที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่จะถูกเลือกปฏิบัติและถูกเหยียดผิวมากกว่า บางคนจำได้ว่าตอนเป็นเด็ก หากลงสระว่ายน้ำจะต้องว่ายร่วมกับเด็กเชื้อสายเม็กซิกัน หลังว่ายเสร็จจะมีคนมาทำความสะอาดสระว่ายน้ำ เพื่อให้เด็กผิวขาวได้ลงเล่นน้ำต่อ แน่นอนเมื่อเป็นชนกลุ่มน้อยในชุมชน คนเหล่านี้จะไปบ่นกับใครได้ ไม่ว่าจะเรียนจบสูงแค่ไหน ก็ไม่มีใครจ้างทำงาน ต้องไปทำสวน รับจ้างทั่วไป
เพียงเพราะว่าสีผิวและเชื้อชาติของพวกเขา
ขณะที่ในเกาะฮาวาย Nisei เหล่านี้ถูกเหยียดผิวน้อยกว่า จนการถล่มที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์เกิดขึ้น
Nisei เหล่านี้ต่างตกใจกับเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้เหมือนกับคนอเมริกันคนอื่นๆ แต่หลังจากนั้นพวกเขาพบว่าตัวเองตกเป็นเป้าของการสอดส่องคุกคามและหวาดระแวงจากคนในสังคม เพียงเพราะพวกเขามีสีผิวเหมือนกับศัตรูของชาติ
กระแสเกลียดชังนี้นำไปสู่คำสั่งของประธานาธิบดีโรสเวลต์ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 ที่ให้ทางการสร้างค่ายกักกันเอาพวก Nisei และพ่อแม่ครอบครัวที่อยู่ทางด้านตะวันตกทั้งหมดไปเข้าค่าย เพราะมีความกลัวว่าญี่ปุ่นจะบุกอเมริกาทางด้านตะวันตก และพวกเชื้อสายญี่ปุ่นจะร่วมมือกับศัตรูมากกว่าจะร่วมมือกับประเทศบ้านเกิดเมืองนอน
ประเมินกันว่ามีคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นถูกส่งไปค่ายกักกันถึง 110,000 คนด้วยกัน
ค่ายกักกันในเรือนจำมีสภาพย่ำแย่ หลายคนตายเพราะถูกเจ้าหน้าที่คุมค่ายยิงเพราะไปเข้าใกล้กำแพง เด็กๆ ในค่ายคิดว่าลวดหนามลูกกรงเหล่านี้คือรั้ว คือบ้านอันแท้จริง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้น พวกเขาเหล่านี้ยังถูกกักกันต่ออีกหกเดือนกว่าจะได้รับการปล่อยตัวแล้วพบว่า บ้านทรัพย์สินของพวกเขาไม่มีอีกแล้ว ไม่อาจเรียกร้องคืนได้ คล้ายกับล้มละลายท่ามกลางชัยชนะในสงครามของประเทศอันเป็นที่รัก
“มันเป็นเรื่องที่โง่มากๆ ผมนะเหรอจะเป็นศัตรู ผมไม่มีวันให้อภัยในสิ่งที่รัฐบาลทำแน่นอน เพราะผมเกิดและเติบโตในฮาวาย ถ้าพวกญี่ปุ่นบุก ผมจะสู้กับพวกมันร่วมกับเพื่อนร่วมชาติ”
อย่างไรก็ดีนายทหารในกองทัพต่างรู้ว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นสงครามที่นองเลือดและดุเดือดอย่างยิ่ง ทรัพยากรของชาติทั้งหมด รวมถึงประชาชนในประเทศจำต้องถูกดึงถูกเกณฑ์มาร่วมทำสงครามให้หมด คนในกองทัพเห็นข้อดีใน Nisei พวกเขาเป็นอเมริกันรักชาติและที่สำคัญพวกเขาพูดญี่ปุ่นได้
“ใครก็สามารถยิงปืนไรเฟิลได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพูดญี่ปุ่นได้”
Nisei ที่ถูกกีดกันเหล่านี้จึงได้รับโอกาสสำคัญในการเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2
3
นายทหารในเกาะฮาวายเชื่อว่าพวก Nisei เหล่านี้จะต้องมีความสามารถทางการรบที่ดีมาก จึงเริ่มมีการดึงตัว Nisei มาฝึกทหาร ทั้งนี้แม้จะมีค่ายกักกัน แต่ยังมี Nisei บางส่วนที่ไม่ได้ไปเข้าค่ายด้วย เพราะพวกเขาอาสาเป็นทหารและถูกส่งไปฝึกในค่ายที่แยกหน่วยทหารตามสีผิว และจะไม่ข้องเกี่ยวกันเด็ดขาด เพราะนโยบายกองทัพสมัยนั้นการเหยียดผิวเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ดีในค่ายทหาร ไม่ว่าจะทหารสีผิวใด พวกเขาต่างปฏิบัติต่อกันตามปกติ ให้เกียรติ เคารพ และไม่มีการเหยียดผิวมากไปกว่าการฝึกแยก เพราะทหารเหล่ารู้ดีว่า บุคคลที่ทำการฝึกอยู่นั้น อีกไม่นานจะต้องไปร่วมรบด้วยกันในสมรภูมิสักที่
ดังนั้นเมื่อกองทัพสามารถโน้มน้าวใจประธานาธิบดีโรสเวลต์ให้ตระหนึกถึงเรื่องนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1943 จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ Nisei ไปรบในสงครามได้
ทั้งนี้กองทัพบกอเมริกาเป็นเหล่าทัพเดียวที่นำทหาร Nisei เข้าสู่สงครามยิงคนจริงๆ ส่วนกองทัพเรือและนาวิกโยธิน พวกเขามอบหมายให้ Nisei ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยข่าวกรองเท่านั้น
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1943 กองพันทหารราบที่ 100 จึงถูกส่งไปรบที่แอฟริกาเหนือ แล้วพวกเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ผลงานการรบดุเดือดประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง พวกเขาถูกส่งไปอิตาลี ไปรบกับฝรั่งเศสเพื่อปลดปล่อยเมืองต่างๆ จากนาซี กองพันดังกล่าวถูกขนานนามว่า “กองพัน Purple Heart” ซึ่งเป็นชื่อเหรียญกล้าหาญประเภทหนึ่งในกองทัพอเมริกา และฉายานี้เกิดขึ้นเพราะกองพันดังกล่าวมีทหารถึง 9,500 คนได้รับเหรียญ Purple Heart นี้
โดยตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหาร Nisei 21 นายได้รับเหรียญกล้าหาญขั้นสูงสุด (Medal of Honor)
นับเป็นหน่วยทหารอเมริกาที่สร้างผลงานได้รับเหรียญกล้าหาญเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพ
เมื่อกองพันถูกรวมเข้ากรมทหารราบที่ 442 ซึ่งมีแต่ Nisei พวกเขาก็ยังสร้างความดีความชอบในสงครามยุโรปอย่างมาก แต่ก็ต้องสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน ไม่นับทหารที่บาดเจ็บจากการรบ พิการ หรือแม้กระทั่งสูญหายไปในสงคราม
ในสมรภูมิยุโรปแห่งหนึ่ง นาซีได้ยึดเทือกเขาสูงชันเอาไว้และมีการป้องกันอย่างดี มีปืนกลที่ยิงกดทหารสัมพันธมิตรไม่ให้รุกคืบไปต่อได้ กรมทหารราบที่ 442 จึงถูกส่งไปยึดเทือกเขานี้ โดยทหารนายหนึ่งได้เสนอแผนการรบที่อันตรายอย่างยิ่ง นั่นก็คือการบุกโดยปีนจากทางด้านหลังของเทือกเขาที่มีแต่หินและผาสูง ซึ่งนาซีไม่ได้วางกำลังไว้ เพราะไม่คิดว่าจะมีใครบุกมาทางนี้
ในคืนหนึ่งซึ่งฟ้ามืดสนิท พวกเขาเริ่มปีนผาสูงหลังเทือกเขา ปีนกันไปตลอดทั้งคืนในความมืดมิด มีทหารบางคนพลาดท่าทั้งมือลื่นหรือก้าวพลาดร่วงตกจากผา แต่ทุกครั้งที่มีคนร่วง ทหารคนอื่นต่างปีนต่อ ทุกคนเงียบ ไม่มีใครร้องไห้ พวกเขาปีนผาสูงถึงแปดชั่วโมง หลังจากปีนขึ้นมาได้พร้อมแสงแรกของวัน ทหารกรมนี้ก็โจมตีนาซี สร้างความแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง
เทือกเขาที่นาซียึดมาได้และสัมพันธมิตรพยายามแย่งชิงมากกว่าหกเดือน ถูกตีแตกพ่ายในเวลาเพียง 32 นาทีของการบุกเท่านั้น
ไม่เพียงในสมรภูมิยุโรป ในสมรภูมิแปซิฟิก Nisei เหล่านี้ยังเข้าร่วมในการดักฟังข่าวกรอง สอบสวนเชลยสงคราม มีทหารหลายคนที่เจรจาให้ทหารญี่ปุ่นยอมแพ้ นอกจากนี้หน่วยทหารช่างของ Nisei ยังสร้างแนวป้องกันที่ฮาวายรวมถึงที่ตั้งทางทหารหลายอย่าง โดยอุปกรณ์หลายอย่างยังคงใช้งานอยู่ถึงในปัจจุบัน
ปฏิบัติการเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมาก และหลังสงครามมีทหาร Nisei ที่ได้สร้างสะพานเชื่อมโยงวัฒนธรรมอเมริกากับญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน ในช่วงที่ญี่ปุ่นถูกยึดครอง
“สมาชิกในหน่วยรบทำสถิติที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งทำให้พวกเขาและคนอเมริกันทุกคนภาคภูมิใจ” นี่คือคำชมจากกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ Nisei ที่อาสาเป็นทหารจะมาจากฮาวายมากกว่าในค่ายกักกันซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า โดย Nisei ในค่ายกักกันต้องการให้คืนสิทธิพลเมืองก่อนจึงจะอาสาไปรบ อย่างไรก็ดีจำนวน Nisei ในค่ายกักกันก็ยังกล้าอาสาสมัครไปรบ โดยรู้ว่าครอบครัวพี่น้องยังอยู่ในค่ายดังกล่าว
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1946 ประธานาธิบดีทรูแมนเชิญกรมทหารราบที่ 442 ไปทำเนียบขาว นับเป็นครั้งแรกที่ทหารเหล่านี้ได้ไปพบประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทางทรูแมนได้กล่าวชมเชยว่า
“พวกคุณไม่ได้ต่อสู้กับศัตรูเท่านั้น แต่ยังสู้กับความอยุติธรรมด้วย และพวกคุณชนะ จงสู้ต่อไป พวกเราจะชนะอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสาธารณรัฐอันยิ่งใหญ่ซึ่งจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ความกินดีอยู่ดีนั้นเป็นของประชาชนทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา”
สองปีต่อมา ประธานาธิบดีทรูแมนเซ็นคำสั่งลงนามยกเลิกการแบ่งแยกกีดกันเหยียดผิวในกองทัพ
4
แม้ทหาร Nisei เหล่านี้จะทำผลงานการรบได้อย่างดีเยี่ยมเพียงใด แต่เมื่อกลับไปสู่ชีวิตปกติหลังสงคราม พวกเขาพบว่าญาติพี่น้องต่างสูญเสียสถานะทางสังคมอย่างมาก พวกเขายังคงถูกเหยียดผิวเหมือนเดิม ถูกเลือกปฏิบัติทั้งๆ ที่ไปเสี่ยงตายเพื่อประเทศชาติ
กว่าจะได้รับการยกย่องให้เกียรติก็ต้องรอไป 30-40 ปี กว่าที่สังคมอเมริกันจะยอมรับในวีรกรรมอันน่าภาคภูมิใจเหล่านี้
ทุกวันนี้ทหารกล้าในยุคนั้นต่างร่วงโรยด้วยสังขารและกาลเวลา หลังผ่านช่วงเวลาเฉียดเป็นเฉียดตาย ผ่านการถูกกักกันกีดกั้นเพียงเพราะสีผิวของพวกเขา เช่นเดียวกับคนผิวสีอื่น ๆ
แม้จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าสังคมจะตระหนักรู้ถึงความผิดพลาด พวกเขาหลายคนก็ไม่ได้อยู่บนโลกนี้อีกแล้ว จึงเป็นเพียงความทรงจำที่ถูกรำลึกถึงในฐานะผู้กล้าที่แท้จริง
สำหรับผู้ที่ยังอยู่ การได้เห็นสังคมเปิดกว้างและยอมรับในความแตกต่าง ไม่ได้เลือกปฏิบัติเพราะอีกฝ่ายไม่เหมือนเรานั้น ทำให้พวกเขาได้รำลึกถึงผู้วายชนม์และความเจ็บปวดในอดีต มันคงเหมือนได้ถูกทุเลาเป็นคำขอโทษที่ดียิ่งกว่าคำขอโทษจากปาก เพราะมันคือการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
สำหรับคนยุคปัจจุบัน การย้ำเตือนถึงความเลวร้ายในอดีต และกล้าเผชิญหน้ากับบาดแผลประวัติศาสตร์นี้ คงจะทำให้เราแข็งแกร่งรับมือกับการเลือกปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ภายใต้โลกยุคนี้ที่ปั่นป่วนวุ่นวายเต็มไปด้วยการดูถูกเหยียดหยาม
บทเรียนจากอดีตคงจะพอนำทางให้เราฝ่าอคติบังตาและมองคนเป็นคนเท่าเทียมกัน
หาใช่ตัดสินใครเพียงเพราะเขาแตกต่างจากเราไม่