ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวความบกพร่องทางความสามารถและการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนสำหรับจัดการกับเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ในประเทศไทยนั้นดูจะเป็นที่ประจักษ์ชัดและถูกพูดถึงอย่างละเอียดละออถี่ถ้วนเป็นอย่างมากแล้ว ทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีเรื่องไวรัสที่กลายพันธุ์จากทั้งอินเดียและแอฟริกาเข้ามาถาโถมเพิ่มอีก ผมจึงเห็นว่าคงจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บทความในรอบนี้จะต้องอภิปรายถึงเรื่องเรื่องนี้
อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็นหัวเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมามากมายแล้ว ผมจึงอยากจะพูดถึงมันผ่านมุมของการเมืองความมั่นคงยุคใหม่กับสถานะของอำนาจทางการแพทย์ในโลกทุนนิยมเสรีดู ซึ่งอาจจะยังไม่ถูกหยิบยกมาพูดคุยมากนัก เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลที่มีต้นทางทางอำนาจมาจากการเป็นทหารที่อ้างตนในความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงนั้น บกพร่องผิดพลาดในการจัดการเรื่องนี้ เพราะความล้าหลังต่อองค์ความรู้เรื่องความมั่นคงใหม่นี้อย่างไร
ผมอยากจะเริ่มการอภิปรายในประเด็นนี้จากสองฐานคิดหลักๆ คือ แนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงศึกษายุคใหม่ที่เรียกกันว่า Securitization และบทบาทความสอดคล้องของการแพทย์ในพื้นที่ทางความมั่นคงใหม่นี้ โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขของเสรีนิยมใหม่ ก่อนจะย้อนกลับมาสู่การพูดคุยถึงผลลัพธ์เกี่ยวกับความโกลาหลที่เกิดขึ้นกับมาตรการจัดการกับโควิดและความล้มเหลวในการจัดหาวัคซีนมาบริการประชาชนอย่างสมควรของรัฐบาลไทยในท้ายที่สุดครับ
โดยปกติแล้ว เวลาที่เรานึกถึง ‘ความมั่นคง’ หรือ ‘ความมั่นคงศึกษา’ ภาพของ สงคราม การสะสมอาวุธ การจัดการกองทัพ ยุทธศาสตร์การรบ หรืออาชญากรรมภายในรัฐมักจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในสมองของเรา เพราะมันเป็นรูปแบบที่มาตรฐานและดั้งเดิมที่สุดของประเด็นหรือสาขาวิชานี้ เราเลยมักจะเรียกประเด็นความมั่นคงเหล่านี้กันโดยหลวมๆ ว่า ‘ความมั่นคงตามแบบแผน/แบบจารีต’ (traditional security)
จุดนี้เองที่ทำให้เหล่าบรรดา ‘ทหารและกองทัพ’ ถูกมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงไปด้วยโดยปริยายในฐานะ ‘ผู้ปฏิบัติบทบาทหลักในประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงตามแบบแผน’
แน่นอนครับว่าหลังจากเกิดวิกฤติโควิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 เป็นต้นมา ภาพหลักของ ‘ความมั่นคง’ ก็เริ่มขยับออกมาสู่พื้นที่อื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะความมั่นคงทางสุขภาพหรือสาธารณสุข (health security) ซึ่งผมคงไม่ได้เจาะลงลึกในรายละเอียดเป็นพิเศษอะไรนะครับ เพราะประเด็นดังกล่าวนี้ถูกพูดถึงจนพรุนไปหมดแล้วตั้งแต่โควิดกลายเป็นวิกฤติระดับโลกใหม่ๆ และก็ยังคงมีการพูดถึงเรื่อยๆ มาโดยตลอด
แต่ประเด็นหลักที่ผมอยากจะเอ่ยถึงก็คือ การเขยื้อนของมุมมองหลักต่อสิ่งที่แบกรับ ‘ความมั่นคง’ อยู่นี้เอง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว ความมั่นคงทางสาธารณสุขที่แนบมากับโควิดนั้นอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่สร้างกระแส ‘การเขยื้อน’ ที่ว่านี้อย่างแรกๆ ด้วย แต่เราจะได้ยินคำอย่าง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงมนุษย์ หรือความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมอยู่เรื่อยๆ เข้มบ้างน้อยบ้างสลับกันไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นความมั่นคงอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ได้เป็นเรื่องฮอตฮิตเท่าที่ว่ามาด้วย เช่น ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงน้ำ ฯลฯ สารพัดสารเพเลยทีเดียวครับ ประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทหารและการรบพุ่งนี้เราจึงเรียกมันแบบหลวมๆ ว่า ‘ความมั่นคงนอกแบบแผน/จารีต’ (non-traditional security) นั่นเอง
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในการอ่านงานสายความมั่นคงมา ผมมีข้อสังเกตเป็นการส่วนตัวด้วยว่า การแบ่งมุมมองทางความมั่นคงเป็น traditional กับ non-traditional ที่ว่ามานี้ ค่อนข้างจะพบได้มากกับกรณีของพื้นที่ในเอเชียเป็นพิเศษ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกนั้น ดูจะเรียกรวมๆ เป็น security ไปด้วยกันหมดเลย แล้วมาแยกย่อยโดยอิงตามทฤษฎีหรือกรอบคิดที่กำกับประเด็นนั้นๆ มากกว่า
กระแสความสนใจต่อเรื่องความมั่นคงนอกแบบแผนนี้ปรากฏให้เห็นได้อย่างจริงจังในช่วงกลางๆ ทศวรรษ 2000s หลังจากที่การรบและสงครามระดับสากลนั้นลดน้อยลงไปอย่างมาก[1] สงครามหลักๆ ในสเกลสากลที่ได้รับความสนใจระดับโลกก็ดูจะมีเพียงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของกลุ่มประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Axis of Evil
ในแง่นี้เอง เรากล่าวได้ว่า ‘บริบท’ ที่เปลี่ยนไป (คือ ความสำคัญของสงครามที่ลดน้อยถอยลง) นำมาสู่ภูมิทัศน์ใหม่ต่อประเด็นทางความมั่นคง แต่อีกหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากๆ ที่เข้ามา ‘นำเสนอ’ ภาพใหม่ของความมั่นคงที่สอดคล้องกับบริบทใหม่ของโลกนั้นก็คือ แนวคิดที่เรียกว่า Securitization ที่หากแปลแบบหยาบๆ แล้วคงพอจะแปลได้ว่า ‘การทำให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคง’ ซึ่งมีรากฐานมาจากสำนักโคเปนเฮเกน (Copenhagen School) ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักคิดที่มีชื่อเสียงมากๆ ด้านความมั่นคงศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเองครับ
Ole Wæver เป็นคนแรกที่ได้เสนอคำว่า Securitization ขึ้นมา โดยการสังเคราะห์แนวคิดของสำนักสรรสร้างนิยม (Constructivism) ซึ่งเป็นสำนักที่เชื่อว่าโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นวางฐานอยู่บนปัจจัยทางอัตลักษณ์ (ที่ถูกบ่มเพาะแต่เนิ่นนานมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม) อย่างมีนัยสำคัญด้วย ไม่ได้มีแต่เพียงอิทธิพลเชิงวัตถุ (อย่างขีปนาวุธ หรือเทคโนโลยีทางอาวุธ การสื่อสาร เครื่องมืออุปโภคบริโภค ฯลฯ) ซึ่งเป็นกระแสคำอธิบายหลักของความมั่นคงศึกษาเท่านั้น ผสมเข้าด้วยกับสัจนิยมแบบคลาสสิค (Classical Realism) ที่เชื่อในการทำงานของการทำงานทางการเมืองของสถาบันทางการเมืองหลัก (Realpolitik) ที่มองผลประโยชน์และความอยู่รอดของตนเป็นแก่นกลาง
ทีนี้เข้ามาสู่แก่นสารของแนวคิด Securitization นี้กันบ้าง ผมคิดว่าเราระบุองค์ประกอบของ Securitization ได้เป็นสี่ส่วนหลักๆนั่นคือ (1) ‘ตัวสาร’ ซึ่งต้องมีลักษณะเป็น speech act หรือสารที่มีเป้าประสงค์ให้เกิดการกระทำบางอย่างอันสัมพันธ์โดยตรงกับตัวสารนั้น, (2) การกระทำบางอย่างที่ว่าอย่างน้อยที่สุดจะต้องประกอบด้วย (2.1) การรับรู้ว่าเรื่องนั้นๆ หรือสิ่งนั้นๆ กำลังเผชิญกับภัยร้ายแรงบางอย่างอยู่ และ (2.2) ต้องการการรับมือด้วยวิธีการซึ่งนอกเหนือจากสภาวะปกติ (extraordinary measures), (3) ต้องได้รับการยอมรับของฝั่งผู้รับสารว่าสิ่งๆ นั้นอยู่ในเงื่อนไขตามที่ว่ามาใน (2) จริงๆ, และ (4) ขอบเขตของสิ่งซึ่งพยายามจะรักษาหรือปกป้องจากภัยนั้นๆ รวมไปถึงตัวแสดงหลักในการจัดการกับภัยนั่นเองครับ
จากองค์ประกอบสี่อย่างนี้เอง เรากล่าวได้ว่า Securitization นั้น โดยตัวมันเองแล้วเป็นความมั่นคงที่วางฐานอยู่บนโครงสร้างทางวาทกรรม (discursive structure) แบบหนึ่ง
นั่นแปลว่าถึงที่สุดแล้ว สิ่งๆ นั้น อาจจะกำลังเผชิญกับภัยอยู่จริงๆ หรือไม่ก็ได้ ตราบเท่าที่มันได้รับการยอมรับในวงกว้างมากพอว่า ‘มันกำลังประสบภัยอยู่และต้องหาทางจัดการทำอะไรสักอย่างกับมัน’ ก็กลายเป็นเรื่องความมั่นคงแล้วนั่นเอง ซึ่งลักษณะที่ว่ามานี้ ก็นำมาซึ่งทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเองครับ ในส่วนของข้อดีก็คือ มันปลดล็อกภูมิทัศน์ของความมั่นคงให้ขยายออกไปได้กว้างขึ้นมาก ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงวงแคบๆ อย่างเรื่องสงครามและกองทัพ แต่พร้อมๆ กันไป
เมื่อมันวางฐานอยู่บนโครงสร้างทางวาทกรรม บ่อยครั้งมันก็นำมาซึ่งการ ‘รับรู้ถึงภัยที่ล้นเกินสถานะความเป็นภัยที่แท้จริงในตัวมันเอ’ ซึ่งปรากฏให้เห็นได้มากมาย อย่างในสเกลสากลก็เช่นเรื่องการรับรู้ต่อการก่อการร้ายที่ล้นเกินกว่าระดับความเป็นภัยในทางความเป็นจริงไปมาก[2] หรืออย่างกรณีของไทยเอง ‘ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกผูกติดเอาไว้ในฐานะว่าเป็นความมั่นคงของชาติ’ และต้องได้รับการจัดการด้วยเครื่องมือพิเศษอย่าง มาตรา 112 ไปจนถึงการรัฐประหารนั้น ก็สะท้อนปัญหานี้ของแนวคิด securitization นี้เช่นเดียวกันครับ
โดยปกติแล้วฐานคิดสำคัญที่นำมาใช้ในการชี้วัดความเป็นภัยในทางความมั่นคงนั้นก็คือ ปัจจัยอันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงซึ่งถูกประเมินว่าเป็นลบหรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อะไรๆ มันแย่ลง ต่อสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการปกป้องหรือต้องการสร้างความมั่นคงให้ในระดับที่สูญสิ้นความหมายของการมีอยู่ หรือเปลี่ยนแปลงไปจนไม่อาจจะนับเป็นสิ่งเดิมได้อีกนั่นเองครับ ว่าง่ายๆ ก็คือ โดยปกติแล้ว ไม่ใช่ปัญหาจิ๊บๆ จ๊อยๆ จะมานับโยงเป็นปัญหาความมั่นคงบนฐาน Securitization ไปทั้งหมด อย่าง เงินเฟ้อ เงินฝืดในระดับทั่วๆ ไปซึ่งส่งผลบวกบ้างลบบ้างเล็กๆ น้อยๆ ต่อระบบเศรษฐกิจนั้น ก็ไม่ได้ถือกันว่าเป็นภัยความมั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นปัญหาวิกฤติการเงินที่อาจจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจดังที่เป็นอยู่เละเทะไม่เป็นท่าได้นั่นเอง
ฐานคำอธิบายเรื่อง Securitization นี้เอง ที่มาสอดคล้องกับบทบาททางการแพทย์ในยุคทุนนิยมเสรีด้วย เพราะเมื่อมันขยายขอบเขตของความมั่นคงออกไปให้กว้างขึ้นแล้ว มันก็ต้องการตัวแสดงใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสอดคล้องกับความมั่นคงใหม่ๆ นี้ด้วย หรือก็คือ เมื่อภัยเปลี่ยน ตัวแสดงในการรับมือภัยความมั่นคงก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทหารและกองทัพไม่ใช่ผู้ถือครองแต่เพียงผู้เดียวต่อประเด็นความมั่นคงอีกต่อไป
ความมั่นคงใหม่ๆ หลายเรื่องนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘ชีวิต’ ในหลายๆ แง่มุม ซึ่งมันทำให้บทบาทและอำนาจทางการแพทย์นั้นชัดเจนและสำคัญขึ้นอย่างมากด้วย เพราะมันสอดคล้องกับ ‘ความมั่นคง’ ในหลายประเด็นมากๆ ไม่ใช่เพียงแต่กับความมั่นคงทางสุขภาพเท่านั้น[3] แต่มันสัมพันธ์กับความมั่นคงมนุษย์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ในเรื่องของความมั่นคงมนุษย์ที่ผูกโยงอยู่กับโครงสร้างของวาทกรรมหลักของสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตยเสรีนั้น ย่อมชัดเจนว่า ‘ชีวิตของทุกคนได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญ และเป็นหน้าที่ของรัฐในการประกันความอยู่รอดของประชากร’ ในแง่นี้บทบาทและความสำคัญทางการแพทย์จึงมากมหาศาล
แต่มันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นครับ เพราะสิ่งที่ตีคู่มากับการเกิดขึ้นของรัฐประชาธิปไตยเสรีนั้นก็คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมเสรีนั่นเอง
ภายใต้การขยายตัวอย่างมากมหาศาลของโครงสร้างการผลิตใหม่ ที่แม้จะอาศัยเครื่องจักรเข้ามาช่วยทุ่นแรงเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของทุนอุตสาหกรรม นำมาซึ่งความต้องการของแรงงานจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะแรงงานมีทักษะ (skilled worker) บริบทนี้เองที่ทำให้การแพทย์สมัยใหม่และโครงสร้างทุนนิยมเสรีนั้นมาบรรจบกัน และทวีอำนาจและความต้องการของ ‘แพทย์’ แบบทบเท่าขึ้นไป
การสร้างทักษะแรงงานและขยายอายุการใช้งานแรงงานในระบบการผลิตใหม่ ทั้งในอุตสาหกรรมทางวัตถุและอวัตถุ (เช่น งานบริการ หรือธุรกิจกิจการในบรรษัทต่างๆ) ล้วนต้องการการแพทย์ที่ดีและทั่วถึงในการรักษาฟันเฟืองที่มีชีวิตและลมหายใจของระบบทุนเหล่านี้ไว้ เช่นนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่แพทย์เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับนับถือ มีความต้องการสูง และได้รับค่าตอบแทนมากในแทบทุกสักคมสมัยใหม่ทั่วโลก
ว่าอีกอย่างก็คือ ภายใต้เงื่อนไขของบริบทโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีนี้ คุณจะรักษาระบบเศรษฐกิจไว้ได้ก็ต่อเมื่อประชากรได้รับการประกันว่าจะได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพมากเพียงพอ มีหลักประกันที่ทำให้ประชากรมั่นใจได้ว่าตนจะปลอดภัย และสามารถดำเนินชีวิต ประกอบหน้าที่การงานของตนต่อไปได้อย่างเป็นปกติ เช่นนี้ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจเองจึงจะยังคงอยู่ต่อไปได้
ไม่ใช่พื้นที่ที่จะมาตระหนี่ถี่เหนียวอะไรอย่างกรณีที่เห็นได้ว่าเกิดขึ้นในไทย ที่นอกจากจะสั่งวัคซีนมาอย่างไม่เพียงพอ ไม่หลากหลาย ไร้ซึ่งหลักประกันแล้ว ยังอ้างปัจจัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจมาลดทอนความจำเป็นทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤตโควิดนี้ด้วย
กล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ นับแต่โลกย่างก้าวเข้าสู่วิถีของทุนนิยมเสรีแล้วนั้น แพทย์กลายเป็นผู้ทรงอำนาจและเป็นกำลังหลักอย่างหนึ่งในการประคับประคองโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่นี้ของสังคมโลกเราเอาไว้ ทั้งต่อวาทกรรมหลักของระบอบประชาธิปไตยเสรี และทั้งต่อระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมต่างๆ ความมั่นคงของโครงสร้างทางสังคมของเรานี้ถูกเชื่อมโยงอยู่ด้วยตัวแสดงที่ทับซ้อนกันเหล่านี้
และที่ผมว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เป็นการอภิปรายบนฐานของวิธีคิด Securitization ซึ่งผมมองว่าทหารไทย ผู้มักถูกมอง (และมองตนเอง) ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงนั้น ไม่เข้าใจเอาเสียเลย และนำมาซึ่งความผิดพลาดทางนโยบายอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้
จริงอยู่ครับว่าในบางกรณีรัฐและทหารไทยนั้นดูจะมีความสามารถเสียเหลือเกินในการโยงใยและให้วาทกรรมเป็นแก่นในการสร้างคำอธิบายเรื่องความมั่นคง (อย่างกรณี 112 จนถึงการรัฐประหารที่เอ่ยถึงไปแล้ว) แต่โดยหลักแล้ว ผมคิดว่าทหารไทยนั้นมีวิธีการมองความมั่นคงแบบ ‘โบร่ำโบราณ’ อยู่เสียมาก กล่าวคือ มองความมั่นคงอยู่บนฐานของโลกทางวัตถุอย่างแข็งทื่อ และแยกขาดกันเป็นก้อนๆ ไม่เห็นความโยงใยสัมพันธ์กัน
ลักษณะวิธีการมองเช่นนี้เอง จึงทำให้เรายังพบความพยายามจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้จงได้ภายใต้บริบทของ ‘ภัยความมั่นคงแบบใหม่ ที่ต้องการวิธีการรับมือแบบใหม่’ นี้
ความเป็นก้อนที่แยกขาดกันที่ว่านี้คืออะไร ผมหมายถึงกรอบวิธีคิดที่มองตัวแสดงแต่ละตัวในสังคมนั้นๆ ว่ามี ‘กลไล/หน้าที่’ เฉพาะตัวของตนเองและแยกขาดต่อกัน หรือที่เรียกว่า functionalist society บ้างในบางกรณี หรือ organic nation บ้าง ในบางบริบท แต่โดยแก่นแล้วก็คือ แต่ละคนนั้นมีบทบาทหน้าที่ต่อชาติหรือสังคมที่แตกต่างกันออกไป ใครมีหน้าที่อะไรก็จงทำสิ่งนั้นไปเสีย ตามแต่ก้อนหน้าที่ของตน
เช่นนั้นเอง เรื่องเศรษฐกิจและการเงินจึงเป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์และนักการธนาคาร เกษตรกรมีหน้าที่ปลูกข้าวปลูกพืชก็ทำส่วนของตนไป แพทย์พยาบาลมีหน้าที่รักษาก็ทำไป และเช่นกันทหารที่เป็นนักความมั่นคงในตัวก็มีหน้าที่ในการดูแลความมั่นคงไป อำนาจการบริหารและกำหนดนโยบายก็ต้องเป็นของผู้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งบริหารเท่านั้น
การแยกขาดเช่นนี้เอง ทำให้ทหารไทยผู้ไม่ได้ชำนาญอะไรกับการรับมือภัยที่เรียกว่าเชื้อโรครวมไปถึงการระบาดวิทยาของไวรัส มองไม่เห็นความสัมพันธ์ของความหลากหลายมากมายที่เชื่อมต่อ ‘ความมั่นคง’ เข้าไว้ด้วยกัน มันไม่ได้แยกขาดกันเป็นก้อนๆ กระบิๆ อย่างที่ทหารที่ปกครองประเทศเหล่านี้คิด และสุดท้ายยืนยันอย่างดื้อรั้นที่จะเป็นผู้ถือครองอำนาจในการตัดสินและกำหนดมาตรการการรับมือทั้งหมดเอง จริงอยู่ครับว่ามีองค์กรแพทย์รวมอยู่ด้วย แต่ในฐานะการกำหนดและออกนโยบายทางความมั่นคงจริงๆ แล้วนั้น องค์กรเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสิทธิเสียงอะไรมากไปกว่านายกทหารผู้แสนจะมั่นใจในสติปัญญาและคำสั่งของตนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วกับเรื่องที่เป็น งภัยความมั่นคง’ นี้ ตนนั้นยิ่ง ‘เชี่ยวชาญกว่าใคร’ (โถถถถ พ่อที่หนึ่งของรุ่น)
การมองหน่วยในการจัดการกับปัญหาอย่างแยกขาดกับลักษณะของตัวภัยของทหารนี้เอง ทำให้สังคมไทยเผชิญหน้ากับโควิดด้วย ตัวแสดงในการแก้ไขปัญหาและบ่อยๆ ครั้งตัวมาตรการในการแก้ไขปัญหาเองด้วยที่ ‘แช่นิ่ง’ (fixate) ในขณะที่ตัวปัญหาที่ถูกนับว่าเป็นภัยความมั่นคงนั้นขยับเหลือปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่มันขึ้นชื่อว่า ‘ภัยความมั่นคง’ ปั๊บ จะเรื่องไหนก็ตามแต่ ‘ทหารยึดกฐินหมด’ อย่างการบินไทยเจอวิกฤต จนเรียกได้ว่าความมั่นคงขององค์กรอยู่ระดับต่ำสุด คนเข้าไปแก้ปัญหาคือใคร? ก็ทหารไทยเราเองนี่แหละแทบทั้งบอร์ด วิกฤตจากเชื้อไวรัสระบาด คนที่เข้าไปมีอำนาจในการออกมาตรการและวางแผนคือใคร? ก็ทหารไทยเองนี่แหละ กระทั่งหมอที่ทำงานอยู่กับรัฐบาลก็ดูจะต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับความไม่แน่นอนชัดเจนของรัฐบาลเองนับรอบไม่ถ้วนเลย
นี่เองครับคือปัญหารากฐานของ ‘ทหารนักความมั่นคงไทย’ ที่มองความมั่นคงอย่างแข็งทื่อ ไม่เข้าใจพลวัตรและการซ้อนทับทางอำนาจที่คาบเกี่ยวอยู่กับความมั่นคงแบบใหม่ๆ ที่ถูกขยายขอบฟ้าความเป็นไปได้ออกไปนานแล้ว และภัยความมั่นคงแต่ละแบบนั้นก็ต้องการตัวแสดง วิธีการรับมือ การคาดคะเน รวมไปถึงการบูรณาการความรู้ที่แตกต่างกันไป และไม่ใช่ว่าทุกเรื่องทหารจะควรมีสิทธิไปสะเออะออกเสียงหรือกำหนดวิธีการรับมือ ในหลายๆ ครั้งทหารควรจะต้องรู้ตัวได้แล้วว่า ในประเด็นเรื่องความมั่นคงนี่แหละที่พวกตนนั้นควรจะนิ่งเงียบ และอยู่ในบทบาทของผู้ตามได้แล้ว เพราะความมั่นคงนี้ไม่ใช่เรื่องที่พวกท่านๆ จะนับได้ว่าเชี่ยวชาญหรือกระทั่งเกี่ยวข้องได้อีกต่อไป
ปัญหาทั้งมวลทั้งวัคซีนไม่พอ ป้องกันการมาถึงของไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ๆ ไม่ได้ การปัดตกวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ในช่วงแรกและดันทุรังจะเอาแต่เพียงเจ้าเดียวให้ได้ นั้นล้วนมาจากการไม่สำเหนียกตนเองของมหารไทยที่ถือครองอำนาจในการกำหนดนโยบาย มองว่าตนนั้นเป็นผู้ชำนาญการและ ‘เอาอยู่’ ภายใต้ฐานคิดที่ผิดฝาผิดตัวนี้
พวกเขาประเมินความร้ายแรงของภัยนี้ต่ำเกินจริงไปมาก และใช้พื้นที่ของภัยนี้เป็นพื้นที่ในการจัดสรรผลประโยชน์อื่นๆ ของพวกตนซึ่งนอกเหนือไปจากการจัดการกับตัวภัยนี้โดยตรงเอง พวกเขาตัดขาดบทบาทและกลไกของอาชีพอื่นๆ ออกจากสมรภูมิความมั่นคงนี้เสียและพอกไว้กับตนเองทั้งหมด เหล่านี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขานั้นยังคงดักดานอยู่กับโลกทัศน์ทางความมั่นคงแบบล้าสมัย ไม่ได้เข้าใจแนวคิดใหม่ๆ อย่าง Securitization อะไรเลย แต่ป่านนั้นก็ยังโอหังลำพองใจคิดว่าตนนั้น ‘แน่’ ต่อไป
น่าเสียดายว่ากว่าพวกเขาจะรู้ตัวว่าไม่ได้แน่อย่างที่เข้าใจไปเอง พวกเราก็คงจะเละเทะในสมรภูมิความมั่นคงใหม่นี้ไปอย่างหนักหน่วงแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Mely Cabellero-Anthony (2016). Non-Traditional Security: Concepts, Issues, and Implications on Security Governance.
[2] กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช (2559). Thou Shall Fear เจ้าจงตื่นกลัว: ก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ.
[3] ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้โดยสังเขปไปแล้วใน thematter.co