เป็นเรื่องบังเอิญที่น่ายินดีมากจริงๆ ครับ ที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเพิ่งเขียน ‘ตอบแม่ประไพ กับคุณนิติพงษ์ ห่อนาค’[1] ไป เรื่องประชาธิปไตยเป็นแค่เผด็จการหรือเปล่า และได้พูดๆ ถึงเรื่องคำตอบที่ชัดเจนและไปไกลกว่าแค่ ‘เราต้องมีประชาธิปไตย’ ที่นักกิจกรรมไทยมักพูดถึง หรือมีเลยไปเอ่ยถึงพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่าง Demosisto ของ Joshua Wong กับ Nathan Law ไปบ้าง สัปดาห์นี้เอง อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล และคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจก็ได้ประกาศจับมือกัน จะตั้งพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ นิวบลัดล้วนๆ ขึ้นมาบ้าง
ทางบีบีซี ไทย (ดูได้จากนี่ครับwww.bbc.com ) ได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ปิยบุตรถึงแนวคิดต่างๆ ที่หลายจุดผมคิดว่าน่าสนใจ โดยเริ่มต้น อ.ปิยบุตรมองว่าช่วงเวลานี้เป็น ‘ห้วงเวลาประวัติศาสตร์’ ที่หากไม่ลงมือริเริ่มพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ตอนนี้ ก็คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยแล้ว เพราะว่าช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยบอบช้ำกับการต่อสู้และขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนักมานาน และเอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าหลายๆ คนก็เหม็นเบื่อรัฐบาลทหารตอนนี้ไม่น้อยด้วย แต่จะให้กลับไปเลือกขั้วอำนาจเดิมอย่างเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ หรืออื่นๆ ก็ทำใจลำบาก ฉะนั้น ‘ห้วงเวลาประวัติศาสตร์’ ที่ อ.ปิยบุตรใช้ จึงอยู่ในความหมายนี้ว่า คือ เป็นช่วงเวลาเดียวที่ดูจะเป็นไปได้ที่คนรุ่นใหม่จะชิงพื้นที่ทางการเมืองมาจากการกอดรั้งไว้อย่างเหนียวแน่นของคนรุ่นก่อน
แม้ว่าผมจะเห็นด้วยกับคำอธิบายของ อ.ปิยบุตร และคิดว่าเป็นการประเมินที่น่าสนใจมากด้วยในการมองความเป็น ‘ห้วงเวลาประวัติศาสตร์’ ของการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ (หวังว่าจะมาถึงจริงๆ เสียทีนะ) อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ไม่แน่ใจไปพร้อมๆ กันว่า อ.ปิยบุตรและพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้นของอาจารย์นั้นประเมินความสำเร็จ หรือ “พื้นที่ที่เพียงพอในการประกันความอยู่รอดของเสียงคนรุ่นใหม่ไว้ในเวทีการเมืองที่จุดไหน” หรือก็คือ ต้องมีกี่ที่นั่งในสภาถึงจะพอนับได้ว่ารอด ไปต่อไหว ประสบความสำเร็จในการหยิบฉวยโอกาสจากห้วงเวลาประวัติศาสตร์นี้แล้ว เพราะต่อให้ประเมินแบบโลกสวยและเชียร์อยู่เพียงใด ความจริงที่ชัดเจนก็คือ หวังได้สูงสุดก็ไม่น่าจะเกินพรรคขนาดกลางแน่ๆ (นี่คือประเมินแบบสูงมากๆ แล้วนะครับ) หรือพูดอีกอย่างก็คือ ด้วยเสียงที่มาจากพื้นที่ของพรรคขนาดเล็กถึงกลางนี้ จะทำอะไรได้บ้าง จะมีจุดยืนทางการเมืองต่อพื้นที่ที่แย่งชิงมาได้อย่างไร หรือจะเริ่มต้นใช้เป็นพื้นที่ในการส่งเสียงให้ได้ชัดขึ้นก่อนเป็นหลัก ขอเริ่มจากการมีที่ดินทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมให้กับคนเจนใหม่ก่อนในเบื้องต้น ฯลฯ
ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง เพราะมันปฏิเสธไม่ได้ว่าการ (จะ) เกิดขึ้นของพรรคนิวเจนแบบนี้ มันมาพร้อม ‘ความคาดหวัง’ น่ะครับ
ไม่ต้องว่าไปไกล เพื่อนๆ ผม หรือผมเองนี่แหละตื่นเต้นเนื้อสั่นกันหมดเมื่อเห็นข่าว ซึ่งผมคิดว่าทางอาจารย์ปิยบุตรกับคุณธนาธรก็มองมันในฐานะนั้นด้วย คือ ‘ความหวัง’ ต่อระบอบประชาธิปไตย แต่หลายๆ ครั้งความคาดหวังก็มักจะไปไกลเกินกว่าความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง เมื่อความเป็นจริงมันตามความคาดหวังไม่ไหว เหมือนที่พัฒนาการประชาธิปไตยวิ่งไม่เคยจะทันใจเหล่าคนที่สมอ้างว่าชอบประชาธิปไตยแต่สุดท้ายก็หันไปเชียร์เผด็จการแล้ว ความคาดหวังดวงใหม่ที่ดูจะเป็นแสงริบหรี่อาจจะแสงเดียวที่เหลือนี้ก็เช่นกัน หากมันถูกปล่อยให้เพ้อกันไปไกลเกินกว่าความเป็นจริงจะทำตามได้ แล้วถูกมองเป็นความล้มเหลว ผมกลัวว่ามันจะกลายเป็น ‘สภาวะซึมเศร้าในหมู่ลิเบอรัลไทย’ (Liberal’s melancholia) จากการแพ้หรือล้มเหลวซ้ำๆ ได้น่ะครับ
ฉะนั้นในฐานะคนที่เชียร์การตั้งพรรคนิวเจนนี้คนหนึ่ง จึงอยากขออนุญาตเสนอแบบห่างๆ ว่า อยากให้พรรคที่กำลังจะเกิดขึ้นเตรียมคำตอบที่มีความชัดเจนระดับหนึ่งในจุดนี้ไว้ด้วย และพร้อมๆ กันไป เหล่าคนที่คอยเชียร์ก็ขอให้เชียร์แต่ไม่ใช่ไปคาดหวังอะไรล้นเกินความจริงกันไปนะครับ เพราะความล้นจริงนั้นสุดท้ายมักจะย้อนกลับมาเป็นภัยกับเราเสมอ อย่างทุกวันนี้เราก็ทนทุกข์กันด้วยความล้นจริงในความดีงามของกะลาที่ครอบเราอยู่นี้กันหนักหน่วงพออยู่แล้ว อย่าถึงกับสร้างความล้นจริงเกินไปจนมาเป็ภาระกับตัวเองเพิ่มอีกเลย
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจนักกับคำสัมภาษณ์ของ อ.ปิยบุตรก็คือเรื่องภาพของความเป็นนอมินีที่อาจารย์มองว่า “ไม่ใช่แน่นอน เดี๋ยวเห็นรายชื่อแล้วก็จะเข้าใจเอง” คือ โดยส่วนตัวผมเชื่ออยู่แล้วว่าไม่ใช่นอมินี (อาจจะด้วยความที่ผมติดตามคณะนิติราษฎร์มาโดยตลอดด้วย) แม้ผมเองก็ยังไม่ได้เห็นรายชื่ออะไรที่อาจารย์ว่ามาหรอก กระนั้นก็ตาม ผมมีความเชื่อมั่นอย่างสุดก้นกระดองใจด้วยเช่นกันว่า ต่อให้รายชื่อมานิวบลัดปานใด ก็ไม่น่าจะรอดพ้นข้อครหาอะไรแบบนี้ได้ คือ ในจุดนี้ผมคิดว่าอาจารย์อาจจะประเมินความสามารถด้าน GAT-PAT เชื่อมโยงของประเทศนี้ต่ำไปสักหน่อยน่ะครับ แม้ผมจะเข้าใจว่าอาจารย์พยายามจะสร้างจุดยืนของพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้นในฐานะที่ไม่เชื่อมโยงใดๆ กับตัวละครทางการเมืองเดิมๆ ที่สร้างสภาวะหมดทางจะเลือกอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ และอาจจะมองเป้าหมายหลักไปที่กลุ่มคนหนุ่มสาว (คือ ราวๆ 18 – 25 ปี ตามที่อาจารย์เคยอภิปรายไว้ เพราะเป็นคนที่ไม่ได้ผจญกับพิษทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมามากนัก) แต่อย่างที่บอกไป ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้นัก
ฉะนั้นในแง่นี้ผมเองเลยไม่แน่ใจว่าการอิงหรือพยายามสร้างสภาวะของความ ‘ปลอดมลทินของความเป็นนอมินี’ นั้นจะเป็นอะไรที่จำเป็นนัก ทั้งด้วยความเป็นไปไม่ได้ในตัวมันเองที่สุดท้ายอาจจะกลายเป็นช่องให้คนที่คิดจะเล่นงานใช้ได้อยู่ดีแล้ว ในแง่ของการเป็นตัวแทนในฐานะ ‘ทางรอดของระบอบประชาธิปไตย’ เอง ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าสภาพอันปลอดมลทินที่ว่านั้นจะเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับระบอบนัก หรือถ้าจะพูดให้ครบถ้วนก็คือ ผมคิดว่าหากคิดจะสร้างสภาวะอันปลอดมลทินของตนเอง ก็ต้องทำไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจถึงความชอบธรรมในการมีตัวตนอยู่ของ ‘พรรคที่มีมลทิน’ ในระบอบประชาธิปไตยด้วย ความมลทิน ความเกี่ยวเนื่อง
ความเป็นนอมินีมันไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไรในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่มีได้ และชอบธรรมที่จะมี ผมคิดว่าในการยืนยันความปลอดมลทินไม่เป็นนอมินีใครนั้น การยืนยันสภาพอันตรงกันข้ามว่าชอบธรรมก็จำเป็นด้วยน่ะครับ
อีกเรื่อง คือ อย่างที่ผมเกริ่นแต่ต้นว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทยที่ทำให้คนอย่างแม่ประไพเมื่อถามอะไรเปิ่นๆ ออกมาแล้วดันเสียงดัง คนเออๆ ออๆ ด้วยไม่น้อยนั้น ส่วนหนึ่งเพราะฝั่งลิเบอรัลไทยเองด้วยที่ไม่นำเสนอภาพที่ชัดเจนของการได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่พวกเขาเรียกร้อง การเรียกร้องแต่เพียงว่า “เราต้องการประชาธิปไตย, เราต้องเป็นประชาธิปไตย, เราต้องหยุดระแวงประชาธิปไตย, ฯลฯ” นั้น มันไม่ตอบคำถามต่อไปด้วยว่า “ประชาธิปไตยแล้วไงต่อ?”
แม้จะมีงานวิชาการและงานวิจัยจำนวนมากออกมาอย่างต่อเนื่องในการชี้ให้เห็นผลพวงที่ดีต่อพัฒนาการรัฐ จากการเป็นประชาธิปไตย ทั้งด้านการกระจายรายได้ การเรียนรู้ของประชากรในภาพรวม การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในระยะยาว การจัดการงบประมาณ การศึกษา แม้แต่เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ฯลฯ แต่ผมกลับมองว่าการนำเสนอเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นคำตอบต่อคำถามว่า “ประชาธิปไตยแล้วไงต่อ?” นั้นกลับมีน้อยมาก โดยเฉพาะกับเรื่องที่เป็นกระแสความสนใจในสังคม อย่างกรณีแม่ประไพนี้ ก็ตอบกลับไปกันว่า “หยุดระแวงประชาธิปไตยได้แล้วนะจ๊ะแม่ประไพจ๋า” แต่ไม่ได้มีการอธิบายที่ให้ภาพที่เลยไปจากจุดนั้นเลยในช่วงเวลาซึ่ง “กระแสสังคมกำลังพร้อมจะหันมาฟัง”
แน่นอนครับว่าความพยายามที่จะจัดงานเสวนาวิชาการ อภิปราย หรือกระทั่งเวิร์คช็อปเรื่องเหล่านี้มีอยู่เรื่อยๆ และผมก็นับถือพวกท่านอย่างสุดหัวใจ แต่ว่ากันตามตรง ต่อให้ทำแบบสุดจิตสุดใจ ที่ทำไปนั้นมันเข้าถึงคนได้สักกี่คนที่เข้าร่วมด้วย 50 คน? 100 คน? ถ้ามีถ่ายคลิป live ในเฟซบุ๊ก หรือ youtube ด้วย อาจจะสัก 2,000 – 3,000 คน? แต่ในขณะที่เรื่องราวมันเป็นประเด็นใหญ่ๆ จริงๆ คนในสังคมสนใจเป็นหนักหนา อาจจะมีคนสนเป็นหมื่นหรือเป็นแสน กลับไม่ได้ให้ ‘ภาพที่ชัดเจนของประชาธิปไตยเลย’ ว่า เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้วจะได้อะไรที่เป็นรูปธรรมกลับมาบ้าง หรือเราเสียประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรมจากการสูญเสียประชาธิปไตยไป รวมไปถึงปัญหาของประชาธิปไตยเองด้วย ที่ผมคิดว่าต้องให้ภาพที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ว่ามันมีปัญหา มันต้องอดทนรอกับมันอย่างไร เป็นต้น
คือ เห็นผมบ่นนักกิจกรรมลิเบอรัลนี่ไม่ใช่ผมมีปัญหากับพวกเขานะครับ เอาจริงๆ ผมนับถือเพราะเขาทำในเรื่องที่ผมไม่มีปัญญาและความสามารถจะทำได้ เคยลองแล้ว รู้เลยว่าไม่ไหว ไม่ใช่ทาง แต่คิดว่ามันมีจุดที่น่าท้วงติงอยู่บ้างก็เท่านั้น
ว่ากันโดยสรุปเลยคือ ผมคิดว่าสังคมไทยโดยภาพรวมขาด “ภาพที่ชัดเจน ภาพที่เป็นรูปธรรม รวมถึงทางออกที่เป็นรูปธรรมของระบอบประชาธิปไตย” เราจึงวนเวียนกันแต่กับว่า “ประชาธิปไตยแล้วไงต่อ? เลือกตั้งแล้วมีอะไรเปลี่ยน?” นี่คือคำถามที่มันต้องการคำตอบ แต่คำตอบยังไม่เคยถูกส่งไปถึงอย่างชัดเจนในวงกว้างจริงๆ เลย ซึ่ง…ใช่ครับ! เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของผู้ที่พยายามสื่อสารคนเดียวหรอก บ่อยครั้งเหลือเกินผู้รับสารบางทีก็ทำตัวกวนตีน ถามมาแล้ว ก็ไม่ต้องการคำตอบ กระทั่งปิดหูปิดตาต่อคำตอบเลยก็มี แต่ผู้รับสารจะเป็นอย่างไร คำตอบพวกนี้ก็ต้องพยายามตอบมันไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พวกเขาจะยอมเปิดหูเปิดตามาสนใจสักแวบหนึ่งตามกระแสบ้าง ยิ่งต้องฉวยโอกาสที่ว่าให้ได้มากที่สุด
ฉะนั้นการเกิดขึ้นของพรรคทางเลือกใหม่ พรรคนิวเจน จึง (1) กลายเป็นทางออกอันเป็นรูปธรรมของระบอบประชาธิปไตยในตัวมันเอง กลายเป็นความคาดหวังอย่างที่ผมว่าไว้ และ (2) ตัวนโยบายของพรรคเองที่กำลังจะถูกเสนอออกมา และการดำเนินนโยบายตามที่ได้บอกเอาไว้นั่นแหละครับ ที่จะเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมว่า เป็นประชาธิปไตยแล้วจะได้อะไร? ผมถึงได้เขียนแต่ต้นว่า การประเมินเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่พรรคที่กำลังจะเกิดนี้ต้องเสนอโดยอิงกับกำลังของตัวเอง อันได้มาจากพื้นที่ทางการเมืองที่แย่งชิงมาได้ให้ดี นโยบายของพรรคจะกลายเป็น ‘ภาพในอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย’ ครับ ในภาษารัฐศาสตร์เราจะเรียกมันว่า What ought to be หรือสิ่งที่มันควรจะเป็น และหากสามารถทำให้ความเป็นจริง หรือ What is นั้นมันเป็นไปตาม What ought to be ได้มากเท่าไหร่ มันยิ่งแสดงให้เห็นว่า “สิ่งที่ได้รับจากระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นไปตามภาพอุดมคติที่คาดหวังไว้” มากขึ้นเท่านั้น
ฉะนั้นการประเมินเรื่องน้ำหนัก ‘ความจริงกับความคาดหวัง’ ที่เขียนไปในตอนต้นนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คนสิ้นหวังกันไปหมดแบบนี้ และภาพในอุดมคติตัวไหนที่ต้องใช้เวลา ผมก็คิดว่าต้องอธิบายให้ชัดเจนแต่ต้นเลยด้วยว่า ข้อนี้ต้องใช้เวลา เพราะอะไรอย่างไร และอยู่ในเงื่อนไขแบบไหน มิเช่นนั้น สังคมความอดทนต่ำแบบไทยนั้น เมื่อความคาดหวังไม่ได้อย่างใจ ก็พลันจะคิดไปว่า ‘เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้อะไร’ ไม่มีภาพที่ชัดเจน หรือภาพที่เขียนมาก็เขียนไปงั้น ไม่เคยจะจริง ซึ่งสังคมนี้ก็แปลก ไม่ยักกะถามคำถามเดียวกันนี้กับเผด็จการบ้าง มีสักกี่ข้อที่เผด็จการบอกว่า “เราจะทำตามสัญญา…” แล้วทำได้จริงบ้าง
แต่ก็นั่นแหละเราคงเทียบกันไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเผด็จการไม่ได้สัญญากับเรา เพราะเราไม่ได้เลือกมันมา มันบังคับขืนใจขึ้นมาของมันเอง แล้วก็มาสัญญาอะไรไปเอง มันจึงเป็นสัญญาที่ไม่มีบ่วงของความคาดหวังมากนัก ต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่คนที่เลือกมาย่อมคาดหวังต่อพรรคที่ตนเองเลือก
อีกอย่างหนึ่งที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะพรรคที่พยายามจะเป็นความหวังดวงใหม่ของระบอบที่เหลือแสงริบหรี่เหลือเกินในประเทศที่ถูกตรึงจนชาชินกับการโดนตรึงนี้ ก็คือ การมีนโยบายอันเป็นรูปธรรมที่จะสามารถสู้กับ ‘ผลประโยชน์ที่ได้มาจากการเอารัดเอาเปรียบ (exploit) ซึ่งระบอบเดิมๆ อนุญาตให้เกิดขึ้นได้’ ด้วย คือ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าทางเลือกใหม่ หรือคนที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยทุกฝ่ายต้องระวังและยอมรับก็คือ แม้เราจะรู้ว่าระบอบการเมืองแบบเดิมๆ มันฟอนเฟะ ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ โครงสร้างอำนาจแบบแบ่งลำดับชั้น ระบบราชการ สถาบันทหาร/ตำรวจ ฯลฯ แต่มันมีคนที่ได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของโครงสร้างเหล่านี้จริง ในจำนวนไม่น้อยด้วย ไม่เพียงเท่านั้นผมคิดว่าที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ มันเป็นระบบเฮงซวยที่ดันใจกว้างมากพอที่จะเปิดให้มี “คนหน้าใหม่ๆ หรือนิวบลัด (อีกแบบหนึ่ง) เข้าไปรับผลประโยชน์จากการเอารัดเอาเปรียบสังคมของระบบเก่านี้เองต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ด้วย” โดยเฉพาะกับคนที่เป็นชนชั้นนำในไทย (ซึ่งหลายๆ ครั้งชนชั้นนำพวกนี้ก็ไปอ้างกับ ‘ลูกน้อง’ ในเครือข่ายของตนต่อไปว่า ที่ยังมีอยู่มีกินแบบนี้กันอยู่ได้ก็เพราะได้ประโยชน์จากการเกื้อหนุนนี้นะ)
ฉะนั้นการสนับสนุนหรือเรียกร้องประชาธิปไตยมันจึงไม่ใช่แค่การแข่งขันเรื่องความถูกต้อง ความชอบธรรมของตัวระบอบ ที่ในเวลานี้พูดยังไงก็ยากที่จะผิดแล้วแหละว่า ระบอบประชาธิปไตยมันมีความถูกต้องมากกว่าระบอบอำนาจนิยมแบบเดิมๆ แต่มันจะต้องแข่งในเวทีของผลประโยชน์อันเป็นรูปธรรมให้ชนะได้ด้วย ว่าประชาธิปไตยมันให้ประโยชน์กับคนโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรมได้มากกว่าประโยชน์ที่ระบอบเดิมให้ได้แน่นอน
และพร้อมๆ กันไปก็ต้องยอมรับด้วยว่าการได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้น มันไม่ใช่ทุกคนที่จะ ‘ได้ประโยชน์’ มันมีคนไม่น้อยที่ ‘เสียประโยชน์อย่างจริงจัง’ จากการยกเลิกระบอบอำนาจนิยมแบบเดิม ฉะนั้นข้อสำคัญอีกประการที่ต้องไม่ลืมเสมอคือ ‘อย่าประเมิน (กำลังของ) ผู้ที่เสียประโยชน์ในระบอบเดิมต่ำเกินไป’
ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่จำเป็นในการจะกลายเป็นทางรอดของระบอบประชาธิปไตยของไทยในเวลานี้ และผมก็รอดู รอเชียร์พรรคนิวเจนที่กำลังจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ในระบอบประชาธิปไตยในสภาพไม้ใกล้ฝั่งนี้ว่าพวกเขาจะ ‘วาดภาพประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของการเป็นประชาธิปไตย’ ออกมาอย่างไร
พรรคของคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่นั้น อาจจะโดนค่อนขอดจาก ‘คนรุ่นเก่า’ ว่าอ่อน ไร้ประสบการณ์ ไม่มีกึ๋น ขาดฝีมือและความน่าเชื่อถือต่างๆ นานา ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะมีโอกาสได้เห็นฝีมืออะไรจริงๆ ด้วยซ้ำ เมื่อนั้นก็ขอให้คนหนุ่มสาวตอบกลับผู้ใหญ่ที่มีดีแค่ยังไม่ตายตอนอายุเท่ากับเราไป อย่างที่คุณเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์เค้าได้บอกไว้นะครับว่า
“ถึงคนรุ่นเก่าที่ชอบบอกว่าคนรุ่นเราสบายเพราะคนรุ่นเก่าสร้างไว้ให้ คุณไม่คิดบ้างเหรอที่เราชิบหายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะรุ่นพวกคุณสร้างไว้”[2]
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู thematter.co/thinkers
[2] โปรดดู www.facebook.com/paritchiwarakofficial