ได้ยินคำพูดว่า ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ แล้วเลยไพล่ไปนึกถึงคุณเดวิด เฮลด์ (David Held) ซึ่งเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2019
คุณเฮลด์ของเราเขียนหนังสือชื่อ Models of Democracy ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยโดย สุทธิมาน ลิมปนุสรณ์ ว่า ‘นานาประชาธิปไตย’
หนังสือเล่มนี้น่าสนใจหลายบทตอน เนื้อหาหลักๆ ก็คือการ ‘เล่า’ ถึงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่ประชาธิปไตยดั้งเดิมในเอเธนส์ที่ถือกันว่าเป็นต้นธารกำเนิดประชาธิปไตยเลย แล้วดูว่าประชาธิปไตยมันค่อยๆ คลี่คลายไปตามบริบทสังคมตามที่ต่างๆ ตามยุคสมัยต่างๆ อย่างไรได้บ้าง ประชาธิปไตยมีพัฒนาการอย่างไรได้บ้าง และพอประชาธิปไตยไป ‘ผสมพันธุ์’ กับแนวคิดอื่นๆ (เช่น เสรีนิยม, ระบบตลาด, เฟมินิสม์ ฯลฯ) มันก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบไหนได้บ้าง เช่นการต่อต้านรัฐ การตรวจสอบรัฐ การท้าทายแนวคิดเรื่องเป้าหมายการปกครอง และอื่นๆ อีกมากมาย
หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือน ‘ตำรา’ ประชาธิปไตย ที่บอกเราว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีแบบเดียว แต่มันถูกนำไปปรับแปลงให้ ‘เหมาะสม’ กับบริบทโน่นนั่นนี่มากมาย
โปรดสังเกตคีย์เวิร์ดในที่นี้ – ซึ่งคือคำว่า ‘เหมาะสม’ นะครับ
หลายคน ‘รังเกียจ’ คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ซึ่งถูกนำมา ‘บิด’ เพื่อรับใช้อุดมการณ์รัฐชาติอนุรักษ์นิยมแบบเก่าๆ ทำให้คำว่าประชาธิปไตยปนกับคำว่า ‘ไทยๆ’ จนบางมิติของความหมายผิดเพี้ยน แล้วเลยพานคิดว่าประชาธิปไตยที่ถ่องแท้บริสุทธิ์จะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบ ‘สากล’ เท่านั้น โดยประชาธิปไตยแบบสากลนั้นมีอยู่แบบเดียว (แต่เอาเข้าจริงก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร) และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาธิปไตยนั้นอาจหลากหลายพอๆ กับความคิดของมนุษย์เรานั่นแหละ เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ของที่ทื่อมะลื่อ ตายตัว แข็งโป๊ก วางอยู่บนแท่นจนนำมาปรับแปลงจัดแจงให้มัน ‘เหมาะสม’ กับบริบทไม่ได้
แต่สำหรับผม คำถามที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินคำว่า ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ ก็คือ แล้วใครเป็นคน ‘กำหนด’ ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับใคร
ในหนังสือ ‘นานาประชาธิปไตย’ ช่วงท้ายๆ เล่มนั้น เดวิด เฮลด์ ชวนเราขบคิดถึงประชาธิปไตยในมุมมองที่ผมคิดว่าน่าสนใจเอามากๆ เขาบอกว่า ความน่าสนใจหนึ่งของประชาธิปไตย ก็คือมันเป็น ‘หลักการ’ แบบหนึ่ง ที่เลือกจะ ‘ปฏิเสธ’ สิ่งที่เรียกว่า ‘ความดีทางการเมือง’ อะไรก็ตามที่ไม่ได้เกิดจากการ ‘กำหนด’ ของ ‘ประชาชน’
ผมคิดว่านี่เป็น ‘นิยามประชาธิปไตย’ ที่แหลมคมอย่างยิ่ง เพราะมันคือการมองว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่ระบอบการปกครองหนึ่งที่ขันแข่งกับระบอบการปกครองอื่นๆ ไม่ว่าจะคอมมิวนิสม์หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบอื่นใดในระนาบเดียวกันเท่านั้น แต่ประชาธิปไตยคือการมองเห็น ‘ความดีทางการเมืองร่วม’ ที่ถูก ‘กำหนดร่วม’ โดยประชาชนในสังคมหนึ่งๆ นั่นทำให้เกิด ‘หลักการประชาธิปไตย’ ในภาพรวมที่มีความเป็นสากล
แต่ในความเป็นสากลนั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องมีรูปแบบเดียว ทว่าในหลักการร่วมนั้น กลับรังสรรค์ความหลากหลายของความเหมาะสมหรือ ‘ความดีทางการเมือง’ ได้ไม่รู้จบ นิยามของคุณเดวิด เฮลด์ จึงช่วยให้เรามองเห็นด้วยว่า ประชาธิปไตยแบบสากลนั้นไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว แต่มันสามารถถูกดัดแปลงให้ ‘เหมาะสม’ กับสังคมหนึ่งๆ ได้
เพียงแต่ผู้กำหนด จะต้องเป็น ‘ประชาชน’ เสมอไปเท่านั้น!
เดวิด เฮลด์ บอกด้วยว่า แนวคิดของประชาธิปไตยแบบนี้จึงนำไปสู่การปฏิเสธอำนาจกษัตริย์ ปฏิเสธอำนาจเจ้าผู้ครองนคร และแม้กระทั่งปฏิเสธอำนาจของผู้นำหรือ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ (เช่น เทคโนแครต) ที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้ ‘กำหนด’ ว่าอะไร ‘เหมาะสม’ ต่อสังคมนั้นๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการปฏิเสธการปกครองของ ‘นักปราชญ์’ (หรือ Philosopher King) ตามแนวคิดของเพลโตด้วย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตยจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมต่อสังคมใดๆ ต้องไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง, เป็นผู้ลุกขึ้นมา ‘บอก’ ว่านี่แหละเหมาะสมแล้ว
ดังนั้น การใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ โดยไม่อธิบายบริบท ที่มา และประวัติศาสตร์ทางความคิดให้เข้าใจกระจ่าง จึงเป็นคำพูดที่ ‘มีปัญหา’ ในตัวของมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงตัวผู้พูด เพราะในแง่หนึ่ง มันอาจถูกตีความได้ว่า นี่คือการกำหนดว่าอะไร ‘เหมาะสม’ ซึ่งมีนัยบอกว่าอะไร ‘ดี’ หรือ ‘ชั่ว’ ในระดับต่างๆ (คืออาจซับซ้อนกว่าดีชั่วดำขาวสุดขั้ว) โดยมีใครบางคน บางความคิด บางกลไก หรือบางอุดมการณ์ มี ‘อำนาจ’ เหนือความเห็นของคนอื่นๆ โดยอัตโนมัติ
คำว่า ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ จึงอาจถูกตีความว่าหมายถึงสภาวะเหมาะสมแบบสัมบูรณ์ หรือเป็น ‘ปลายทาง’ ที่สังคมต้องเดินไปให้ถึง ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ประชาธิปไตยไม่เคยเป็นปลายทาง แต่มันคือ ‘หนทาง’ แบบสัมพัทธ์ ที่ต้องมีการต่อสู้ต่อรองไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาและบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปเสมอ ความเหมาะสมจึงเกิดขึ้นในในบางบริบท บางช่วงเวลา ตามความเห็นบางความเห็นเท่านั้น
ในความหลากหลายของประชาธิปไตย การยกประชาธิปไตยบางแบบว่ามัน ‘เหมาะสม’ กับสังคม จึงมักเป็นการพูดที่มีนัยทางอำนาจหรือมีสำนึกของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เห็นว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า จึงเป็นผู้ ‘กำหนด’ ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นสำนึกแบบเดียวกับที่คนบางกลุ่มเคยพูดถึง ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ในอดีต จนอาจถูกมองว่าเป็นการ ‘บิด’ ประชาธิปไตยเพื่อรับใช้อะไรบางอย่างมากเกินไป
สำหรับสังคมหนึ่งๆ ความ ‘เหมาะสม’ หมายถึงข้อตกลงร่วมในสังคม ว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ความเหมาะสมบ้าง ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ก็คือเรื่องของ ‘วิธีปฏิบัติ’ ต่อผู้อื่น ที่หลายคนอาจไม่เคยคิดว่า มีเรื่องของ ‘อำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแนบแน่น
ในภาษาอังกฤษ คำที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติต่อผู้อื่นมีอยู่หลายคำ คำที่เราคุ้นเคยกันดี ก็คือคำว่า Etiquette กับ Manners ซึ่งหลายคนแปลว่า ‘มารยาท’ แต่ในโลกสมัยใหม่ ยังมีอีกคำหนึ่งที่แปลว่า ‘มารยาท’ ไม่ได้ตรงๆ เสียทีเดียว ทว่ามันหมายถึง ‘กฎเกณฑ์’ หรือ ‘วิธีการ’ หรือ ‘ข้อตกลง’ ในรูปของ ‘รหัสทางวัฒนธรรม’ แบบหลวมๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสม
คำคำนั้นก็คือคำว่า Civility ซึ่งหมายถึง
การอยู่ร่วมกันของเหล่าพลเมืองทั้งปวง
แต่ก่อนจะพูดถึง Civility ขอย้อนกลับไปที่ Etiquette กับ Manners กันก่อน
ในสมัยโบราณ มารยาทแบบ Etiquette กับ Manners คือเรื่องที่ถูก ‘กำหนด’ จากศูนย์กลางสังคมสองแห่ง คือ ‘วัด’ กับ ‘วัง’ หรือจากผู้ปกครองศาสนจักรกับอาณาจักร ประมาณว่าพระที่เป็นใหญ่ (เช่น โป๊ปหรือพระสังฆราช หรือศาสดา) หรือกษัตริย์ หรือราชา (หรือหัวหน้าเผ่า) มีอัธยาศัยอย่างไร ก็กำหนดให้คนในสังคมที่ตัวเองปกครอง ต้องมีอัธยาศัยประมาณเดียวกันไปด้วย จึงเกิดดอกออกผลมาเป็น ‘มารยาท’ หรือ ‘หลักเกณฑ์’ ในการปฏิบัติกับผู้อื่น โดยคำคำนี้มักจะอิงแอบอยู่กับ ‘ความเป็นผู้ดี’ และ ‘ระบบชนชั้น’ ที่ถูกกำหนดโดย ‘อำนาจ’ สูงมาก
ส่วนคำว่า Civility นั้น กลับมี ‘นัยทางอำนาจ’ อีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจมาก โดย เบน วิลสัน (Ben Wilson) เล่าเอาไว้ในหนังสือเรื่อง Metropolis ว่า ลักษณาการแบบ Citility เกิดขึ้นในลอนดอนยุค 1660s ซึ่งถือเป็นยุค ‘คลื่นลูกแรก’ ของการ ‘เห่อร้านกาแฟ’ ที่ทำให้ผู้คนแห่แหนกันเข้าไปใช้บริการในร้านกาแฟเป็นจำนวนมาก
เรารู้อยู่ว่า อังกฤษเป็นสังคมชนชั้น มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนต่างชนชั้นเอาไว้ชัดเจน สังคมอังกฤษจึงมี Etiquette และ Manners ที่ซับซ้อนมาก แต่กำเนิดของร้านกาแฟที่มาพร้อมกับการ ‘บูม’ ของการค้า ทำให้คนต่างชนชั้นต้องมาพบปะสังสันทน์กันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนจน คนรวย ขุนนาง พ่อค้า คนชั้นล่างชั้นสูงอะไรก็เข้าร้านกาแฟได้ เพราะร้านกาแฟเป็นศูนย์ร่วมข่าวสารของสังคม การเข้าร้านกาแฟของลอนดอนเนอร์ในศตวรรษที่สิบเจ็ด จึงคือการเข้าไปแลกเปลี่ยนข่าวสาร ทำให้เกิดการ ‘ปะทะสังสันทน์’ กันแบบเต็มๆ จนหลายคนอาจคิดว่าต้องเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันแน่ๆ
แต่เบน วิลสัน อธิบายว่า อังกฤษยุคนั้นไม่ขัดแย้งกันเพราะได้สิ่งที่เรียกว่า Civility มาเป็นเหมือนน้ำหล่อลื่นไม่ให้การเสียดสีปะทะกันนั้นมันครูดกันจนบาดเจ็บ
Civility คือ ‘ความเหมาะสม’ ของอากัปกิริยาทางสังคม (ที่อาจเรียกว่ามารยาทก็ได้) ที่ ‘ถูกกำหนด’ ขึ้นมาโดยกลุ่มคนหนึ่งๆ ที่มีสำนึกพลเมืองร่วมกัน เมื่อคนเข้ามาอยู่ในที่แออัดคับแคบแต่ร้อนแรงไปด้วยบรรยากาศและการโต้เถียงอย่างร้านกาแฟ ก็ย่อมต้องการ ‘วิธีปฏิบัติร่วม’ เพื่อใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักอย่าง ‘เหมาะสม’ ซึ่ง เบน วิลสัน เรียกสิ่งนี้ว่า Civility และอธิบายว่า Civility ไม่เหมือน Etiquette หรือ Manners ที่เกิดจากการ ‘กำหนด’ ของ ‘อำนาจ’ ใหญ่ๆ อย่างสถาบันกษัตริย์หรือสถาบันศาสนา ทว่า Civility คือวิธีปฏิบัติที่ ‘เกิดขึ้นเอง’ จากคนชั้นกลางที่เริ่มถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือวิธีปฏิบัติที่ ‘เหมาะสม’ อันเกิดจากความ ‘เคารพ’ กันและกันของ ‘ประชาชน’ นั่นเอง
‘ความเหมาะสม’ แบบที่ว่านี้ จึง ‘ถูกกำหนด’ จากผู้คนทั่วไป ไม่ได้มีใครที่คิดว่าตัวเองเก่ง ดี มีชาติตระกูล หรือมีอำนาจมากกว่าคนอื่นมาเป็นผู้กำหนด และเป็น ‘ความเหมาะสมที่มีความเป็นประชาธิปไตย’ ในตัวเอง คือกลับข้างความหมายกับคำว่า ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ อันชวนให้ตีความไปได้หลากหลายจนหลายคนต้องลุกขึ้นมาทะเลาะกัน
คำว่า ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ นอกจากจะทำให้ผมนึกถึง ‘ความดีทางการเมือง’ ของเดวิด เฮลด์ และ Civility ของเบน วิลสัน แล้ว ก็ยังชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกได้ว่า เราควรพูดถึง ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ ก่อนการเลือกตั้งจริงๆ หรือ หรือว่าเราควรปล่อยให้ ‘ผลการเลือกตั้ง’ เป็นเครื่องบอกโดยตัวของมันเอง – ว่าอะไรคือความเหมาะสมนั้น
ฟังดูยอกย้อน แต่สำหรับโลกยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหน ก็ไม่น่าจะสามารถ ‘กำหนด’ ได้ ว่าอะไรคือ ‘ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ สำหรับคนอื่นๆ ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะออกมา
เรื่องเหล่านี้บอกเราได้ไม่น้อย ถึงความเข้าใจในประชาธิปไตยที่มีอยู่