คงจะไม่ผิดนักที่จะบอกว่าการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมานั้น เป็นการประชุมรัฐสภาที่น่าจะมีผู้ชมคอยติดตามมากที่สุด ทั้งยังเป็นการถ่ายทอดผ่านทางระบบไลฟ์ในโลกโซเชียลเป็นครั้งแรกด้วย ทำให้เราได้เห็นอะไรที่น่าสนุกและน่าติดตามศึกษามากมาย เป็นครั้งแรกที่เราสามารถมีการสื่อสารสองทิศทางได้เลย เราไม่ต้องเอาเท้าชูใส่หน้าจอที่เราดู หรือตะเบ็งเสียงด่าใส่จอโทรทัศน์อีกต่อไปแล้ว เห็นด้วยเราก็สามารถเขียนชม เห็นว่าอภิปรายไม่เข้าทีก็สามารถจิกด่าได้แทบจะในทันที
ทั้งเรายังเห็นแนวโน้มของความนิยมในการชมการประชุมรัฐสภา ที่ดูจะไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ของคนแก่หรือพวกสภากาแฟประจำจังหวัดอีกต่อไปแล้ว หากพื้นที่โลกโซเชียลนั้นพอจะพูดได้ว่ามีประชากรหลักเป็นคนค่อนไปทางรุ่นใหม่ จำนวนการชมและความนิยมในการดูประชุมสภาครั้งนี้ก็แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นอีกเทรนด์หนึ่งของคนรุ่นใหม่ไปเลย
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นตอนผมเป็นเด็กแน่ๆ ครับ สมัยผมเด็กๆ เนี่ย ไม่มีหรอกเด็กวัยมัธยมจะมานั่งอินดูประชุมสภา (ผมค่อนข้างจะถือว่าติดตามมากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นโดยเฉลี่ยบ้าง แต่ก็ไม่ได้อินนัก) ส่วนใหญ่ก็ไปร้านเกม หรือเดินเที่ยว ดูหนังกันเป็นหลัก ใครนั่งดูประชุมสภาแบบเอาเป็นเอาตายสมัยเรียนมัธยมอยู่เนี่ย คงโดนมองว่าเป็นกี๊คไปเลยทีเดียว
แต่เพราะความนิยมดังว่านี้เองที่ทำให้เกิดคำ หรือวลีเด็ดๆ ตามมามากมายจากการประชุมสภาครั้งนี้ ทั้งคำที่มาจากที่ประชุมเอง และคำที่เป็นผลพวงจากการประชุม เช่น #RIPThailand ซึ่งกำลังเป็นกระแสและประเด็นอยู่ในตอนนี้ ที่ทั้งสะท้อนความผิดหวังของคน และดันไปกระตุ้นต่อมความชาตินิยมล้นเกินของคนบางกลุ่มจนเริ่มทำท่าออกมาโวยวาย
ภายใต้ความนิยมต่อการประชุมสภานี้เอง ตัวการประชุมเองก็ดูจะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังนัก แม้ดาวสภาจำนวนมากจะไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ โดยเฉพาะฝั่งเพื่อไทย จากอิทธิฤทธิ์ของวิธีการนับคะแนนเสียงที่แปลกๆ งงๆ แต่นั่นเอง เราก็ได้เจอกับดาวสภาใหม่ๆ เก่งๆ มากมาย อย่าง หมอชลน่าน, จิรายุ, สุทิน, ปิยบุตร หรือช่อ แต่ที่พีคสุดเห็นจะต้องยกให้ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ที่วาทะเด็ดผุดขึ้นมาจนโควตมาทำมีมกันไม่ทันเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้ก็คงเป็นความสะใจเล็กๆ ที่ยังพอจะมีให้เสพยาใจความพ่ายแพ้ของฝั่งประชาธิปไตยได้ อย่างไรก็ดี ฝั่ง ‘รัก คสช.’ เอง โดยเฉพาะ ส.ว. ที่ดูจะปกป้องพลเอกประยุทธ์มากเสียยิ่งกว่า ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเสียอีกก็ได้สร้างคำเด็ดๆ ขึ้นมาเช่นเดียวกัน อย่างคำว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ โดยเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. ที่ดูจะรักและภักดีต่อพลเอกประยุทธ์เสียยิ่งกว่า ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดรวมกัน
เมื่อคำว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ถูกโพล่งออกมา คำคำนี้ก็เป็นกระแสมากมาย อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็ออกมาบอกว่างงกับคำที่แสนจะย้อนแย้งนี้ ขนาดสอนหนังสือด้านรัฐศาสตร์มาเป็นสิบปียังไม่เคยได้ยิน ตอนแรกผมก็ตลกกับคำคำนี้เหมือนอาจารย์ประจักษ์นั่นแหละครับ จนกระทั่งธนาธรออกมาแถลงตอนประชุมสภาใกล้จะจบว่า “เราไม่ได้พ่ายแพ้ แต่ชัยชนะของเราถูกปล้นไป” และนำมาซึ่งกระแสโต้กลับที่น่าสนใจมาก คือ การที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพาเหรดกันออกมาบอกว่าธนาธรดีแต่ผลิตซ้ำคำเดิมๆ และเพ้อเจ้อไปวันๆ มาบอกว่า “โดนปล้นได้ไง? ก็ฝั่ง คสช ชนะตามกติกาชัดๆ และชนะด้วยคะแนนเสียง ส.ส. ด้วย ไม่ใช่คะแนนเสียง ส.ว.! ชนะตามระบอบประชาธิปไตยเลย” เช่นนั้นเอง ผมจึงถึงบางอ้อของสิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’
ก่อนอื่นอยากจะให้ลองพิจารณาที่คำที่แลดูสุดจะย้อนแย้งนี้ก่อนครับ พอเป็นคำที่พูดออกมาในภาษาไทยมันจึงไม่ชัดเจนนักว่าควรจะแปลว่า Democratic Authoritarianism หรือ Dictatorial Democracy ดี ซึ่งมีการคิดและสนทนาเรื่องนี้กันจริงๆ นะครับในหมู่วงนักวิชาการ อย่างไรก็ดี โดยความเห็นส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคำนี้ควรแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Dictatorial Democracy มากกว่า กล่าวคือ กลไก โครงสร้าง หรือกรอบหลักนั้นเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ฟังก์ชั่นหรือกลไกการทำงานภายในอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งมันสัมพันธ์กับการเมืองไทยทีเดียว
ที่ผมบอกว่า Dictatorial Democracy แปลความแบบที่ว่านั้นไม่ใช่ด้วยความที่ผมเป็นนักภาษาศาสตร์อันใดเลยนะครับ แค่ว่าคำหลังที่เป็นนามหลักนั้นระบุถึงโครงสร้างที่ ‘ใหญ่กว่า’ ส่วนขยายที่ระบุลักษณะจำเพาะอยู่ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ คำว่า Democratic Authoritarianism (หรือในกรณีนี้ควรแปลไทยว่า ‘ประชาธิปไตยเผด็จการ’) ซึ่งเป็นคำที่มีคนเคยใช้และบัญญัติอย่างเป็นทางการขึ้นมาก่อนแล้วโดย Dawn Brancati ในบทความที่ชื่อ ‘Democratic Authoritarianism: Origins and Effects’ (2014) เค้าอธิบายถึงที่มาและผลพวงของระบอบเผด็จการที่บางครั้งดันมีกลไกภายในที่ทำงานผ่านกลไกแบบประชาธิปไตยอยู่ด้วย และกลไกอันเป็นประชาธิปไตยที่ว่านี้ไยจึงไปช่วยให้ระบอบเผด็จการเฟื่องฟูมากขึ้นและระบอบใหญ่ห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ
นั่นแหละครับ ในเมื่อ Democratic Authoritarianism ถูกใช้ไปแล้วในเซนส์ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นกลไกย่อยในกรอบใหญ่คือเผด็จการ กรณีของไทยจึงควรเป็น Dictatorial Democracy ไปโดยปริยาย ในการอธิบายความคำว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’
เหตุผลที่ผมต้องทำตัวเรื่องมากกับการกำหนด ‘คำ’ ว่าเราจะตีความแบบไหนนั้นสำคัญมากนะครับ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ สถานะของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบันมีความไม่ชัดเจนให้ถกเถียงกันได้อยู่ว่าตอนนี้เราจะมอง ‘กรอบหลักหรือระบอบหลัก’ ว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย หากท่านเป็นคนที่อยู่ฝ่ายก้าวหน้าพอสมควร และมีภาพของประชาธิปไตยว่า การจะเรียกระบอบหนึ่งๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยได้ต้องระดับฝรั่งเศสหรือสแกนดิเนเวียแล้วเท่านั้น จะมองว่าตอนนี้ระบอบการปกครองของไทยเป็นเผด็จการอยู่ก็ไม่ผิดแปลกนัก แต่ผมคิดว่าเราต้องกำหนดความหมายอย่างที่ว่ามาให้ชัดเจนและเคร่งครัด เพราะนี่คือมุมมองที่ ‘ฝ่ายขวาของไทย’ มองระบอบการปกครองไทยในปัจจุบัน
ผมเชื่อว่า ฝ่ายขวาไทยมองระบอบการปกครองของไทยตอนนี้เป็นประชาธิปไตยแล้วจริงๆ อาจจะมีคนที่มองว่ายังไม่สมบูรณ์บ้าง แต่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงแล้ว ซึ่งนั่นเองที่มาสอดรับกับมุมมองที่ว่า คำพูดว่า “ชัยชนะของพวกเราถูกปล้นไป” โดยธนาธรถูกมองว่าเพ้อเจ้อ เป็นแผ่นเสียงตกร่องในสายตาของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ว่าแต่กลไกอะไรเล่าที่นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ที่ว่า?
แน่นอน ผมคิดว่าไม่มีใครปฏิเสธได้ ณ วินาทีนี้ว่า จำนวน ‘รวม’ ของเสียง ส.ส. ที่ฝั่งพลังประชารัฐได้รับมากกว่าที่ฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตยได้รับ เพราะฉะนั้นในบริบทนี้ เราพูดได้แน่ๆ ด้วยว่ารัฐบาลพลังประชารัฐเป็น ‘รัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากเสียงข้างมากจริงๆ ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา’ เช่นนั้นเอง จึงต้องมองว่ากรอบหลักของระบอบการปกครองไทยเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง
แต่คำถามที่ต้องคิดก็คือ ‘เสียงข้างมากของ ส.ส. ที่มาจากระบอบรัฐสภา’ ได้มาอย่างไร? ทำไมจึงได้มา? นี่ต่างหากที่กลายเป็นที่อยู่ของ ‘กลไก’ เผด็จการที่เสรี สุวรรณภานนท์ หมายถึง แต่ไม่ได้บอกชัดๆ ในคำว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ของเขา
แน่นอนว่ากลไกเผด็จการที่เด่นชัดที่สุดอย่างหนึ่งในโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยงงๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง ส.ว. ‘แต่งตั้ง’ อำนาจมากอยู่แล้ว และพูดกันไปมากมายนับครั้งไม่ถ้วน อำนาจในเชิงกลไกที่เป็นเผด็จการของ ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้นี่เองที่มีอำนาจในเชิงเผด็จการในตัวเอง ซึ่งเป็น ‘อำนาจทางตรง’ เลยอย่างการเลือกนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี อำนาจทางตรงที่ว่านี้แหละที่นำไปสู่อำนาจทางอ้อมในฐานะกลไกทางเผด็จการ ที่กลับมาสร้างอำนาจ ‘ในนามประชาธิปไตย’ ให้กับตัวระบอบที่น่าฉงนใจ เพราะอำนาจทางตรงที่เสมือนการสร้างหุ่นยนต์ทางการปกครองขึ้นมา ฟังคำสั่งทุกอย่างที่ผู้สร้างป้อนให้โดยไม่บิดพลิ้ว ทั้งยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเทียบเท่ากับ ส.ส. มันได้สร้างเงื่อนไขที่เอาเปรียบในเชิงกลไกเป็นการเฉพาะขึ้นมา ดังคำที่วีระกร ส.ส. แห่งพรรคพลังประชารัฐได้ว่าไว้จริงๆ นั่นแหละครับว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาให้พรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น” เพราะเงื่อนไขเฉพาะอันเป็นผลพวงมาจากอำนาจทางตรงของ ส.ว. ในการเลือกนายกได้ให้น้ำหนักข้างเดียวในเกมการต่อรองแก่พลังประชารัฐไป
อาจารย์วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร ได้เขียนถึงลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกัน (แต่ไม่ได้เหมือนเสียทีเดียว) ของกรณีไต้หวันไว้อย่างน่าสนใจครับว่า
“งานวิชาการกลุ่มหนึ่งเสนอว่า ผู้นำเผด็จการจะยอม ‘เปิดพื้นที่’ ให้มีการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อคำนวณแล้วว่าตนเองจะสามารถชนะเลือกตั้ง และกลับมามีอำนาจได้ในระบอบการเมืองแบบใหม่ ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องการประเมินผลได้-ผลเสียของกลุ่มผู้นำเป็นหลัก ไต้หวันมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีสนับสนุนทฤษฎีนี้ เพราะกว่าที่พรรคก๊กมินตั๋งจะยอมผ่อนคลายทางการเมือง (กลางทศวรรษ 1990) ก็ต้องรอจนถึงจุดที่พรรคครองอำนาจมานานจนมั่นใจแล้วว่าสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ภายใต้กติกาประชาธิปไตยได้
แต่ข้อเสนอที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การตัดสินใจของผู้นำดังกล่าวน่าจะถูกเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะการเปิดเสรีทางการเมืองที่ผู้นำควบคุมจังหวะและรูปแบบได้ย่อมเกิดขึ้นยากกว่านี้มาก หากไต้หวันไม่ได้ดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เอื้อให้ดอกผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายตัวอย่างค่อนข้างทั่วถึง ทั้งยังรักษาเสถียรภาพด้านมหภาคได้ดีต่อเนื่อง”[1]
ลักษณะดังกล่าวนี้เอง ที่ผมคิดว่าคือเงื่อนไขเฉพาะที่อำนาจทางตรงของ ส.ว. ได้สร้างขึ้น แม้จะเรียกไม่ได้ว่าเหมือนกันเป๊ะ คือ ‘คำนวณแล้วว่าตนเองจะชนะเลือกตั้ง’ (ซึ่งผมคิดว่าลึกๆ เค้าก็อาจจะคำนวณแบบนั้นด้วย แค่คำนวณพลาด เพราะตอนที่เขียนรัฐธรรมนูญ คู่ต่อสู้หลักมีแค่เพื่อไทย ไม่ได้มีอนาคตใหม่ด้วย) แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ‘เงื่อนไขทางการเมืองที่ฝ่ายตนเองจะชนะแน่ๆ’
ซึ่งในกรณีของไทยก็คืออำนาจทางอ้อม หรืออำนาจอันเป็นผลพวงของอำนาจทางตรงในการเลือกนายกของ ส.ว. นั่นเอง
ว่าแบบง่ายๆ ก็คือ หากเราสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมาแบบใหม่ว่า ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจในการเลือกนายกฯ แบบที่เป็นอยู่ ‘การเลือกข้างทางการเมือง’ ในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเป็นแบบนี้ไหม? ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ตอบลำบากมากแล้ว พรรคภูมิใจไทยจะมีแนวโน้มที่มีโอกาสเลือกเข้าข้างค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยมากขึ้นทันที เพราะข้อเสนอที่ได้รับนั้นดีกว่าอีกฝั่งมาก และเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงแข็งแกร่งพอสมควรด้วย หรือในกรณีที่เสนอชื่อธนาธรเป็นนายกฯ อยู่ พรรคเพื่อไทยไม่รับตำแหน่งใดๆ อย่างที่ว่าไว้ กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์จะมาร่วมด้วยยังไม่ใช่เรื่องที่ดูจะเหนือความจริงใดๆ เลย หากเงื่อนไขที่ยื่นให้ดีมากพอ
เพราะฉะนั้นอำนาจทางอ้อมที่ว่านี้ก็คือ อำนาจที่พลิกให้พลังการประเมิณความเป็นไปได้ ‘มาอยู่ที่พลังประชารัฐเท่านั้น’ ด้วยเหตุนี้แล้ว ส.ส. พรรคที่ ‘รอต่อรอง’ ทั้งหลาย จึงเลือกไปร่วมกับพลังประชารัฐทั้งหมด จนกลายเป็นว่าพลังประชารัฐสามารถเอาชนะได้กระทั่งบนฐานตรรกะของ ‘ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา’ คือ ชนะด้วยคะแนนเสียง ส.ส. ไม่ใช่คะแนนเสียง ส.ว. แต่นั่นแหละครับ มันไม่ใช่เสียงที่มาจากเงื่อนไขปกติของระบอบรัฐสภา แต่คือเสียงซึ่งถูกควบคุม (manipulate) ไว้เรียบร้อย โดยเงื่อนไขอันมาจากกลไกแบบเผด็จการที่เป็นอยู่
แต่เพราะเงื่อนไขของชัยชนะที่ฝั่งพลังประชารัฐจะได้รับมันชัดเจนเสียเหลือเกินจนทุกคนเดาออกหมดนี่แหละครับ จึงทำให้การโหวต ‘งดออกเสียง’ ของคุณสิริพงษ์ อังสกุลเกียรติ ส.ส. เขต 1 จังหวัดศีรษะเกษของพรรคภูมิใจไทยมีน้ำหนักและคุณค่าในทางการเมืองมาก และเรียกไม่ได้เลยว่าเป็นงูเห่า เพราะคุณสิริพงษ์เองก็รู้ดียิ่งกว่าดีว่า การ ‘งดออกเสียง’ ของเขาไม่ได้ส่งผลใดๆ กับการแพ้ชนะเลย ฉะนั้นการเลือกนี้มันจึงเป็นการเลือกในเชิงสัญลักษณ์ล้วนๆ และมาจากการครุ่นคิดอยากมากแล้วว่า ‘คำสัญญาที่มีต่อประชาชน สำคัญกว่ามติของพรรค’
ความคิดและเสียงแบบนี้เท่านั้น ที่ดูจะเป็นทางออกเดียวให้เราออกจากวังวนของ ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ที่กำลังครอบสังคมเราอยู่ได้ และไม่รู้จะอีกนานเพียงใด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู https://www.the101.world/developmental-state-and-democracy