เริ่มเข้าสู่บรรยากาศเลือกตั้ง (ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรมาทำให้ล่าช้าไหม) มีพรรคการเมืองผุดสร้างสีสันหลายพรรค แต่ที่ฮือฮาไม่น้อย คือการประกาศของ ‘ลุงกำนัน’ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ประกาศตั้ง ‘พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)’ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลทหาร คสช.อย่างเต็มที่ จนเกิดคำถามว่า กลุ่มมวลชนที่เคยสนับสนุนขับเคลื่อนไม่เอาเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จวบจนเวลานี้ที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา พวกเขากำลังทำอะไรกัน และยังศรัทธาในลุงกำนันอยู่หรือไม่?
กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ขับเคลื่อนการเมืองในเหตุการณ์ครั้งนั้น คือกลุ่มชนชั้นกลางระดับบนที่ร่วมขบวนการ กปปส. จนแนะนำรัฐบาลทหารสู่สังคมไทยได้สำเร็จอีกครั้ง
“ทำไมชนชั้นกลางถึงไม่เอาประชาธิปไตย?” ทั้งที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นความหวังของประชาธิปไตย แต่กลับมีจุดยืนที่ไม่ยอมรับคุณค่าของกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้นชนชั้นกลางกับประชาธิปไตยก็ไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันเป็นคู่เสมอไปใช่หรือไม่?
TheMATTER มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ธร ปีติดล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานวิจัย ‘เข้าใจบทบาททางการเมืองของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย: กรณีศึกษาจากปรากฏการณ์ กปปส.’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชุด ‘การเมืองคนดี’: ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
TheMATTER : ทำไมถึงสนใจเรื่องชนชั้นกับรสนิยมทางการเมือง
โจทย์ที่เราสนใจ คือเรื่องบทบาทของชนชั้นกลางระดับบนกับระบบประชาธิปไตย ที่ค่อนข้างเป็นโจทย์ตามสถานการณ์ เราพบว่าประเทศไทยเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พูดง่ายๆ ว่า เราเข้าสู่ช่วงเวลาที่การเมืองหยุดชะงัก มีปัญหาต่างๆ มากมายทางการเมือง แล้ว ‘ตัวละครหลัก’ ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงคือ ‘คนชั้นกลางระดับบน’ พูดง่ายๆ ว่า คนชั้นกลางที่มีฐานะค่อนข้างดี อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เราเลยมาตั้งคำถามว่า คนเหล่านี้มีลักษณะทางเศรษฐกิจอย่างไร มีบทบาททางการเมืองได้อย่างไร
เพราะเมื่อเราเทียบกับประเทศที่มีลักษณะการเมืองคล้ายประเทศไทย คือมีรัฐบาลเป็นทหาร จริงๆ ก็มีน้อยอยู่แล้ว พอยิ่งเทียบกับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับประเทศไทยแต่เป็นรัฐบาลทหารอีก ก็แทบไม่มีประเทศไหนเลยที่ใกล้เคียง องค์ประกอบนี้จึงน่าสนใจมาก เราเลยต้องตั้งคำถามต่อว่า อะไรที่หนุนให้เกิดสภาพเช่นนี้ได้
TheMATTER : ทำไมต้องแบ่งชนชั้นกลางให้ละเอียดขึ้นกว่าเดิม แล้วชนชั้นสูงยังมีอยู่ไหม
ต้องเท้าความก่อนว่า เศรษฐกิจไทยมันเปลี่ยนไปเยอะมาก อย่างน้อยก็ในช่วงเศรษฐกิจโตเร็วๆ ช่วงปี 1980 – 2000 การแบ่งเพียง ‘ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ชนชั้นบน’ จึงค่อนข้างหยาบไปแล้ว คนที่เคยเป็นคนชั้นล่างฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดีกลุ่มนี้ ได้ดันตัวเองขึ้นมาเป็น ‘ชั้นกลางระดับล่าง’ ที่อยู่ในเมือง เป็นพ่อค้าแม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ พวกเขาดันฐานะตัวเองขึ้นมาได้
ส่วนคนชั้นกลางระดับล่างที่ฐานะดีกว่า เขาไปอยู่ไหน? กลุ่มนี้เขาก็เขยิบไปอีกทีเรียกว่า ‘คนชั้นกลางระดับบน’ ซึ่งเมืองไทยน่าสนใจมาก ตรงที่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เกิดจากคนชั้นกลางทั้ง 2 กลุ่มมีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน
แต่ไม่ต้องห่วง ยังไงก็มีคนชั้นสูงอยู่ในอีกระดับหนึ่งเสมอ เราใช้วิธีตัดคนที่ระดับทางเศรษฐกิจอยู่ใน TOP 5% ออก เราก็มองว่า 5% นี้น่าจะเป็นระดับคนชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ
TheMATTER : ทำไมชนชั้นกลางถึงยอมรับเผด็จการได้?
เป็นคำถามที่เราอยากหาคำตอบ ผมอยากให้ลองมองอย่างนี้ ถ้าเราเทียบคนชั้นกลางระดับบนเสมือน ‘เด็ก’ คนหนึ่งที่โตขึ้นมาในหลายเส้นทาง ทั้งเส้นทางการเติบโตในด้านเศรษฐกิจเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว เส้นทางในการหล่อหลอมตัวตนผ่านทางการเมือง ผมพยายามใช้งานวิจัยหาว่า เส้นทางเหล่านั้นหล่อหลอมจุดยืนทางการเมืองของคนชั้นกลางอย่างไร
พอย้อนกลับไปดูแล้ว พบว่าเส้นทางนี้มีเรื่องน่าสนใจ 2 ประเด็น ในทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา คนชั้นกลางระดับบนมีช่วงเวลาที่ค่อนข้างดี หากเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ คือช่วงปี 1980 ตั้งแต่เศรษฐกิจไทยเปิดเสรีมากขึ้น คนชั้นกลางระดับบนได้โอกาสเยอะตลอด ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ การเปิดเสรีทางการเงิน คนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์แล้วก็ขยับตัวเองขึ้นมาได้เร็วกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
จนกระทั่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจ การเข้ามาของรัฐบาลคุณทักษิณ ได้มีการปรับเปลี่ยนความได้เปรียบของคนชั้นกลางให้ลดลงไป แต่หากถามว่าเหตุการณ์นั้นมันทำให้คนชั้นกลางรู้สึกว่ากำลังสูญเสียความได้เปรียบ เลยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเปล่า อันนี้จริงๆ เป็นคำถามที่เราต้องพยายามค้นต่อไป
เพราะเราพบว่าในเส้นทางทางเศรษฐกิจเอง ยังไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการเข้ามามีบทบาททางการเมืองนัก
แต่เมื่อไปดูเส้นทางการหล่อหลอมตัวตนทางการเมือง เราพบว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่คนชั้นกลางถูกหล่อหลอมในทางการเมืองมีลักษณะที่พวกเขา ‘คุ้นชิน’ กับการเมืองในอดีต หรือการเมืองที่หล่อหลอมให้สำนึกเป็น ‘มวลชนใต้ร่มพระบารมี’ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Royalist Mass’ คนชั้นกลางระดับบนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมองว่า ตัวเองไม่ต้องยุ่งการเมืองในเชิงนโยบายหรอก การเมืองของพรรคก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ควรไปยุ่งมาก ถูกครอบงำโดยมีหน้าที่หลักคือ การไต่เต้าฐานะทางเศรษฐกิจ ในเวลาที่คุณยังเรียนหนังสือก็เรียนไป เวลาคุณทำงานก็มุ่งมั่นตั้งตาทำงานไป
สิ่งนี้เอง ทำให้พวกเขามีเส้นทางการเมืองที่มีหน้าที่สำคัญอย่างเดียวคือ ปกป้องรักษารูปแบบการเมืองอย่างจงรักภักดี ทำให้การเมืองมันมีบรรยากาศสงบเรียบร้อย แต่พอมาถึงช่วงหลังที่การเมืองเปลี่ยนไปมาก เลยสะเทือนกับความเชื่อในทางการเมืองแบบเดิมๆ เพราะคนชั้นกลางระดับล่างเริ่มมีบทบาทขึ้นมา
สิ่งที่ทำให้ไม่พอใจ คือการเมืองที่เปลี่ยนให้คนชั้นกลางระดับล่างมีที่ในทางการเมือง มีเสียงหลักในทางการเมืองได้ เลือกรัฐบาลได้ แล้วนักการเมืองก็เป็นสิ่งที่คนชั้นกลางระดับบนไม่คุ้นชินเสียด้วย ตัวเองจึงอยู่ในระบบครึ่งๆ กลางๆ โตมาในยุคที่ประชาธิปไตยยังไม่เต็มใบมาตลอด จึงบ่มเพาะความรู้สึกว่า นักการเมืองนี่มันไว้ใจไม่ได้ คนชั้นล่างที่เข้ามามีบทบาทตัดสินใจเลือกรัฐบาลก็ไว้ใจไม่ได้อีก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความสั่นคลอนหลักของพวกเขา
TheMATTER : อะไรทำให้คนชั้นกลางพัฒนาอัตลักษณ์ ‘พิทักษ์ชาติ’ การเป็นคนดี อิงกับพุทธศาสนา ภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ในการขับเคลื่อน
ใช่ อันนั้นแหละคือ อัตลักษณ์หนึ่งที่มันมาพร้อมกับความรู้สึกสั่นคลอน สั่นคลอนตรงที่เส้นทางการโตของพวกเขาไม่ชินกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลังคุณทักษิณเข้ามามีอำนาจ
คนชั้นกลางระดับบนในเมืองไทยแทบจะไม่ได้อยู่กับ ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ เลยนะครับ พอมันมีความไม่สมบูรณ์ของประชาธิปไตยเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้จึงรู้สึกต่อต้านขึ้นมาทันที
แต่ความน่าสนใจกว่าคือ ทำไมพวกเขาถึงคิดว่าระบบอย่างเผด็จการทหารถึงเป็นตัวแทนที่ดีกว่าของประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ทำไมถึงมองว่าให้ทหารบริหารดีกว่า มันกลายเป็นคำถามได้อีกมาก
เขาให้น้ำหนักกับคอรัปชั่นของตัวละครทางการเมืองเท่ากันหรือไม่ ทำไมตัวละครทางการเมืองบางคนทำสิ่งที่เหมือนกับบางคน แต่มองเป็นปัญหามากกว่า เรื่องนี้เราต้องค้นคว้าต่อ ผมจะสนับสนุนให้ค้นคว้าต่อ
TheMATTER : ควันหลงของวาระครบรอบ 4 ปี คสช. คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยได้ออกมาส่งเสียงสะท้อนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง อาจารย์มองกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ นี้อย่างไร
คนที่อายุ 20-30 ตอนนี้โตมากับวิกฤตการเมืองเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิต ประสบการณ์ทำให้พวกเขาจำนวนมากรู้สึกสับสน หลายคนก็ตั้งคำถามกับเรื่องเล่าทางการเมืองที่คนรุ่นก่อนหน้าพยายามให้เขาเชื่อ และกรอบความคิดที่วางให้พวกเขายึดถือ ผมคิดว่าในกลุ่มพวกเขาค่านิยมความเชื่อทางการเมืองแบบเดิมกำลังเสื่อมพลังลงไปอย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาเองก็มีภาระต้องพาตัวเองไปหาคุณค่าใหม่ เพราะสังคมไทยเองก็ไม่ได้หยิบยื่นช่องทางหรือพื้นฐานอะไรให้พวกเขาได้ฝึกคิดต่างไปจากกรอบเดิมที่วางเอาไว้ ภาระนี้ของคนรุ่นใหม่จริงๆ แล้วก็ยากและน่าเหนื่อยแทนอยู่ไม่น้อย
TheMATTER : กลุ่มชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่อยากเลือกตั้ง กับกลุ่มชนชั้นกลางรุ่นเก่าที่สนับสนุนเผด็จการ ความต่างของ 2 รุ่น เมื่อมาเผชิญหน้ากัน คิดว่าจะมีประเด็นอะไรน่าสนใจ
คิดว่าความเก่าและใหม่ในสังคมไทยคงหาจุดลงตัวได้ยากไปอีกนานทีเดียว ทุกวันนี้เสียงคนรุ่นใหม่อาจยังไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะการเมืองก็ยังไม่ค่อยเปิด อีกทั้งการเมืองที่เป็นอยู่ก็ออกไปทางใช้กลไกรัฐมาสนับสนุนแกมบังคับให้อ่อนโอนกับพลังจารีตมากกว่า แต่อีกไม่นานน่าจะเห็นการปะทะกันทางความคิดความอ่านมากขึ้น ที่น่าสนใจคือเมื่อไรจะถึงจุดที่การปะทะส่งผลต่อรูปแบบรัฐไทย และการปะทะนั้นจะคลี่คลายไปอย่างไร หากเราไม่ได้อายุมากนักก็คงมีโอกาสได้เห็นจุดดังกล่าวกันในช่วงชีวิตนี้ อาจเรียกได้ว่าพวกเราจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว
TheMATTER : การขับเคลื่อนของ กปปส. ณ เวลานี้ผ่านไป 5 ปีแล้ว ชนชั้นกลางเปลี่ยนความคิดอย่างไรบ้าง
จริงๆ คนเข้าร่วม กปปส.เองก็คงมีหลากหลาย บางคนก็เข้าไปเพราะมองความเฉพาะหน้าของเหตุการณ์ บางคนก็อาจไม่เข้าใจผลทางการเมืองของสิ่งที่ตัวเองสนับสนุนเท่าไรนัก เช่น เชื่อว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีกว่า สองกลุ่มนี้หากเอะใจกับประสบการณ์การอยู่กับรัฐบาลทหารก็อาจทำให้เปลี่ยนจุดยืนได้ แต่ถ้าเป็นพวกที่เข้าร่วมแบบอุดมการณ์ขวาจัด รักเผด็จการ ถึงตอนนี้ก็อาจยังไม่เปลี่ยน ยังไงก็หวังว่าคนกลุ่มนี้จะได้มีโอกาสทบทวนว่าตัวเองไม่เปลี่ยนจุดยืนเพราะอะไร พวกเขาจะได้อธิบายตัวเองได้ชัดเจน ไม่สับสนไปมาหากถูกทวงถามเพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
TheMATTER : การจัดตั้ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) ของอดีตกลุ่มคน กปปส. อาจารย์คิดว่า ชนชั้นกลางที่เคยสนับสนุน กปปส. จะมีแนวโน้มสนับสนุน รปช.อีกไหมหากมีการเลือกตั้ง หรือพวกเขาได้บทเรียนราคาแพงแล้ว
ผมคิดว่าพรรคคุณสุเทพจะไม่ประสบความสำเร็จเรื่องการชนะคะแนนเสียง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของเขาน่าจะเป็นไปในลักษณะสร้างพื้นที่ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบปฏิกิริยามากกว่า ถามว่าเคลื่อนไหวอะไร ก็น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้อง ‘มรดกคสช.’ เช่น ออกมาเป็นกระบอกเสียงมุมกลับต่อพรรคการเมืองที่พยายามแก้รัฐธรรมนูญฉบับคสช. อย่าลืมว่าการเป็นกระบอกเสียงไม่ต้องอาศัยการชนะคะแนนเสียงก็ได้ แต่ฐานะเช่นนี้ก็จะสร้างที่ทางทางการเมืองให้พวกเขาต่อไป โดยเฉพาะในการต่อสู้ที่จะเกิดต่อไปหลังจากมีการเลือกตั้ง
TheMATTER : ความย้อนแย้งของชนชั้นกลางในกลุ่มเคลื่อนไหว กปปส. ที่ล้มล้างการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ต้องกลับมาอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง ชนชั้นกลางที่เคยไม่เอาเลือกตั้ง จะกลับมาเลือกตั้งไหม
ส่วนตัวก็พยายามเข้าใจคนกลุ่มนี้อยู่ แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเขามีหลักอะไรยึดถืออย่างชัดเจนไหม หลายคนน่าจะถูกขับเคลื่อนด้วยความเกลียดและความกลัวมากกว่าหลักการ ส่วนการสนับสนุนพรรคคุณสุเทพอาจไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนระบบเลือกตั้งเสียทีเดียว แต่น่าจะหมายถึงการสนับสนุนระบบประชาธิปไตยแบบพิกลพิการที่คสช.ทิ้งไว้
TheMATTER : ถ้าเราจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาเห็นความเป็นไปได้ของประชาธิปไตย ‘เต็มใบ’ ในประเทศไทย อาจารย์คิดว่าควรทำอย่างไร
จริงๆ อยากจะหวังกับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่อยากหวังมากไป เข้าใจว่าหลายคนก็เหนื่อยและสับสนในช่วงเวลาแบบนี้ ระบบการศึกษาและการล่อหลอมในสังคมก็ไม่ได้เตรียมพวกเขามาให้คิดหลุดกรอบ หรือให้คอยตั้งคำถามกับความเปลี่ยนแปลงรอบตัว ก็คงต้องคาดหวังแบบค่อยเป็นค่อยไป หวังให้เข็มนาฬิกาพาสิ่งเก่าๆ จากไปเองบ้าง ให้ประสบการณ์ทำให้คนเห็นอะไรได้เองบ้าง
ส่วนถ้าถามว่าจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่อย่างไร ก็คงพยายามสนับสนุนให้พวกเขาอยู่กับโลกสากลให้มากหน่อย ติดตามข้อถกเถียงที่ช่วยฝึกความคิดอ่านจากที่อื่นๆ ในโลก ฝึกทักษะต่างๆ ที่จะช่วยให้ตามการเปลี่ยนแปลงในโลกทัน จะได้ลดผลกระทบจากการต้องอยู่ภายใต้ความบิดเบี้ยวในเมืองไทยทุกวันนี้ได้
TheMATTER : ในฐานะอาจารย์ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้ว นักเศรษฐศาสตร์เองจำเป็นจะต้องเชื่อมั่นในประชาธิปไตยหรือไม่?
ไม่จำเป็นครับ อันนี้ชัดเจนเลย นักเศรษฐศาสตร์บางครั้งก็มีความเชื่อในสิ่งที่เราคิดว่าเราถูก
ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้านักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า สิ่งที่ถูกไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปเลือกจากระบบประชาธิปไตย นักเศรษฐศาสตร์อาจมองว่า อ้าว! คนทั่วไปไม่เลือกสิ่งที่ถูก ฉันจึงพยายามหาทางทำสิ่งที่ถูกโดยไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นปัญหาที่พบได้เยอะมากเลยในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ด้วยกัน
มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่อาจไม่ได้มีจุดยืนไปในทิศทางสนับสนุนการเมืองแบบประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก แง่หนึ่งในระยะยาวนักเศรษฐศาสตร์อาจเห็นว่า ช่องทางไหนที่ตัวเองทำแล้วมันอาจออกมาได้ผลดีกว่า คือ มันมีต้นทุนเสมอในสิ่งที่ตัวเองเลือก แต่ถึงจุดหนึ่งต้องรับด้วยนะว่า กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเองก็มีต้นทุนของมันเช่นกัน
เศรษฐศาสตร์การเมืองก็ยังเชื่อว่าวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องความไม่เท่าเทียมที่ดีที่สุด คือการทำให้การเมืองเปิดโอกาส ทำให้สิทธิเสียงของคนที่ด้อยกว่าในสังคมถูกเปิดออกมา มีช่องทางไปกำหนดการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น ถือเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดเพื่อให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมถูกคลี่คลาย
Illustration by Kodchakorn Thammachart