ภายในกระแสป้าขวานจามรถโดนตลาดล้อมกำลังเป็นประเด็น หลายๆ คนอาจจะลืมไปแล้วว่าเพียงไม่นานนักก่อนหน้านี้ มีประเด็นทางสังคมการเมืองที่ถูกพูดถึงกันพอสมควร นั่นคือการพูดคุยกับ ‘แม่ประไพ’ (และพ่อทิดเอิบ) ซึ่งเป็นตัวละครสมมติ โดยนิติพงษ์ ห่อนาคหรือที่โดยมากรู้จักกันว่า ‘พี่ดี้’ การพูดคุยกับแม่ประไพของพี่ดี้นี้เริ่มต้นจากคำถาม 9 ข้อที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปของพี่แกที่มีให้กับแม่ประไพว่า “ประชาธิปไตยมันก็คือเผด็จการ”[1] นั่นแหละ และวันจากนั้นก็มีสเตตัสต่อเนื่องตามมาอีกหลายชุด
ประเด็นที่พี่ดี้ ‘จุดไว้’ นี้เองนำมาซึ่งกระแสในการตอบโต้ทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในโลกโซเชียลอย่างหนักหน่วงไม่น้อย โดยเฉพาะจากกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยต่างๆ (บางทีเราก็เรียกว่า ‘นักกิจกรรมสายลิเบอรัล’) ที่ออกมาโต้ตอบอย่างจ้าละหวั่น หลายคนที่ผมสังเกตเห็นดูจะมีท่าทีโมโหโกรธาอดรนทนไม่ได้อยู่ในที และอาการเกรี้ยวกราดนี้ดูจะพอๆ กัน หรือเผลอๆ จะมากเสียยิ่งกว่าอีกในหมู่ผู้สนับสนุนวิธีคิดแบบพี่ดี้ ที่ออกมาโต้ตอบนักกิจกรรมเหล่านี้กลับไป
ในหมู่คอมเมนต์ของฝั่งนักกิจกรรมสายลิเบอรัลไทยทั้งหลายนั้น ที่ดูจะโด่งดังที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นคำโต้ตอบของคุณโบว์ (ณัฏฐา มหัทธนา) ที่บอกกับพี่ดี้ว่า (ผมตัดข้อความมาเพียงบางส่วนนะครับ อ่านตัวเต็มได้จะดีกว่า)
“…การนับหนึ่งในวันนี้เริ่มที่การเปิดพื้นที่ ให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงและมีความหวัง ที่เหลือจะไปได้ไกลแค่ไหนอยู่ที่ศักยภาพ สองมือหนึ่งสมองของทุกคนรวมกัน ได้แค่ไหนคือเก่งแค่นั้นไม่ต้องไปโทษใคร คนอย่างพี่ดี้เองก็ยังทำอะไรได้อีกมากถ้าไม่ขาดจินตนาการ … ความหวาดระแวงประชาธิปไตยคือความหวาดระแวงในเพื่อนร่วมชาติ หยุดความคุ้นชินกับภาพจำเดิมๆ แล้วเปิดทางให้จินตนาการใหม่ คนไทยใจเสาะหรือใจสู้ จะสร้างอนาคตแบบไหนให้ตัวเอง เราก็จะได้เห็นไปด้วยกัน”[2]
ว่ากันแบบรวบรัดก็คือ คุณโบว์มองคำอภิปรายของพี่ดี้ว่ามีหลักๆ 2 ประการคือ (1) การขาดจินตนาการต่อระบอบประชาธิปไตย และ (2) การหวาดระแวงประชาธิปไตยและเพื่อนร่วมชาติ (จริงๆ หากจะแตกประเด็นให้ยิบย่อยลงไปอีกก็พอทำได้ แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นนัก) เอาตรงๆ เลย ผมคิดว่าทั้งวิธีคิดของพี่ดี้ และคุณโบว์มีปัญหาอยู่ แต่หากต้องเลือกชี้ว่าใครมีปัญหามากกว่า ผมก็คิดว่าชัดเจนที่จะต้องบอกว่าวิธีคิดของพี่ดี้นั้นเป็นปัญหามากกว่า (เดี๋ยวจะพูดถึงต่อไป) ของคุณโบว์นั้นมีปัญหาอยู่บ้างในส่วนของตัวข้อถกเถียง แต่ผมคิดว่าจุดหลักๆ ที่หากผมพอจะแลกเปลี่ยนได้ก็คือ ‘การโต้แย้งแบบที่ว่า มันไม่เพียงพอ’ มากกว่า และว่ากันตรงๆ ผมคิดว่าเพื่อนร่วมชาติเรานี้ก็พึงถูกระแวงให้มากๆ นะครับ บอกว่า ‘ไม่รัฐประหารๆๆ’ มาไม่รู้กี่รอบ ก็ประหารรัฐมันทุกรอบ (บอกว่าจะเลือกตั้งก็เช่นกัน) รวมไปถึงการบอกว่า “หยุดระแวงประชาธิปไตย” นั้น สำหรับผมแล้วเป็นฐานคิดที่มีปัญหาในตัวเองมาก เพราะทำแบบนี้แหละ ประชาธิปไตยจะได้เป็นเผด็จการอย่างเขาว่าจริงๆ
ในครั้งนี้ ผมจะขอพูดถึงเฉพาะปัญหาของฝั่งพี่ดี้เป็นหลัก โดยขอจำกัดอยู่ที่การคุยกับแม่ประไพและพ่อทิดเอิบในรอบแรกเป็นหลัก (คือ รอบคำถาม 9 ข้อ) แต่จงใจยกเรื่องคำตอบของฝั่งนักกิจกรรมไทยมาให้เห็นด้วย เพื่ออยากจะถือโอกาสแลกเปลี่ยนว่าการตอบแค่นั้น คงไม่เพียงพอและมันเป็นปัญหาในตัวเองได้
อย่างไรก็ดี แม้ผมจะคิดว่าวิธีคิดหรือคำถามที่พี่ดี้ตั้งในฐานะฐานทางความคิดของพี่แกนั้นมีปัญหา แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันไม่มีประเด็นเลยด้วย หลายอย่างมีประเด็นจริง และในหลายๆ จุดการสรุปของคุณโบว์ว่าพี่ดี้ ‘ขาดจินตนาการ’ นั้นก็คงจะพูดได้ว่าถูกต้อง แต่พร้อมๆ กันไป การตอบแค่ว่า ‘พี่ดี้ขาดจินตนาการ’ แล้วก็จบทิ้งไว้แบบนั้นก็อาจจะเป็นปัญหาเชิงการสื่อสารกับสังคมภาพรวมอีกแบบด้วยเช่นกันครับ นอกจากนี้ผมควรจะออกตัวตรงนี้ด้วยว่ามีหลายคนแล้วที่พยายามตอบพี่ดี้ อย่างคุณ N. Nummeung ก็ได้ตอบคำถามทั้ง 9 ข้อไว้ดีทีเดียว (ลองตามไปดูได้)[3] ฉะนั้นในจุดนี้ผมจะขอลองชวนคุยในมุมอื่นที่ต่างจากที่ผมเห็นว่ามีการพยายามตอบพี่ดี้ไปบ้างแล้วกันครับ
ปัญหาประการแรก และสำคัญที่สุดของพี่ดี้เลย คือ ปัญหาเชิงตรรกะที่ขัดแย้งกันเองในเชิงภาพรวมทั้งหมดครับ
คือ เนื้อหาโดยรวมของพี่ดี้นั้นคือการตั้งคำถามกลับกับคนที่นิยมระบอบประชาธิปไตย ‘แบบตะวันตก และหวังอยากให้มีการเลือกตั้ง’ ว่าจะมีไปทำไม? ระบอบประชาธิปไตยมันก็เต็มไปด้วยความเป็นเผด็จการนั่นแหละ (แล้วก็ใช้คำถาม 9 ข้อ ยืนยันจุดยืนนี้)
นั่นแปลว่าอะไร? แปลว่าจุดสำคัญที่เป็นข้อเสียของระบอบประชาธิปไตยในสายตาพี่ดี้ก็คือ ‘การมีสภาพเป็นเผด็จการในตัว’ เช่นกัน ซึ่งจุดนี้เองมันคือความขัดแย้งในตัวเองอยู่แล้วว่า “หากประชาธิปไตยไม่ดีเพราะมันเป็นเผด็จการ แล้วระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นเผด็จการตรงๆ เลยมันจะไปดีได้อย่างไร?” มันก็มิต้องยิ่งเลวทรามหรือหากว่ากันตามตรรกะนี้? จุดนี้ดูจะเป็นปัญหาหลักในข้อถกเถียงของพี่ดี้
แต่ๆๆๆ อย่าเพิ่งด่วนว่าพี่แกไป ผมพยายามจะคิดซ้อนให้ลึกขึ้นอีกชั้นหนึ่งดูว่า เออ บางทีพี่ดี้เขาอาจจะใช้วิธีการทางวิภาษวิธี (Dialectic) แบบหนึ่งที่เรียกว่า Immanent Critique ก็ได้ ผมเข้าใจว่า Immanent Critique ยังไม่มีคำแปลในภาษาไทย แต่อธิบายแบบรวบรัดตัดตอนลดทอนสุดๆ ก็คือ การอาศัยตรรกะของคู่ถกเถียงย้อนกลับไปทำลายตัวข้อเสนอข้อคู่ถกเถียงของเราเอง (แม้เราจะไม่จำเป็นต้องเชื่อเช่นนั้นก็ได้)
ในกรณีนี้ก็แปลว่า เอ้อ บางทีพี่ดี้เขาอาจจะไม่ได้มองว่า ‘เผด็จการเป็นเรื่องเลวร้าย’ อย่างที่เราไปว่าเขา เพียงแต่ว่า “ด้วยตรรกะของคู่ต่อสู้ทางความคิดเขา (คือฝั่ง so-called ลิเบอรัล ทั้งหลาย) นั้น เผด็จการมันคือสิ่งที่เลวร้าย ฉะนั้นพี่ดี้ที่แม้จะไม่ได้เชื่อว่าเผด็จการคือความเลวร้ายในตัวเอง ก็จงใจใช้สิ่งที่เลวร้ายในทัศนะของอีกฝั่งเข้าทำลายตรรกะเรื่องประชาธิปไตยของเหล่าลิเบอรัลเอง” ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะน่าสนใจไม่น้อย เพราะแบบนี้ก็แปลว่าที่เรามองในชั้นแรกว่าตรรกะพี่ดี้ขัดกันเองนั้น ก็ดูจะไม่ขัดแล้ว เพราะพี่ดี้ไม่ได้เชื่อว่าเผด็จการเลวร้าย เพียงแต่ใช้ความเลวร้ายของเผด็จการ ‘ในสายตาอีกคู่ทางความคิดมาตอบกลับอีกฝ่ายกลับไป’ เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ต่อให้คิดมาถึงขั้นนี้ มันก็จะมีปัญหาในทางตรรกะอีกแบบซ้อนขึ้นมาอยู่ดีว่า ถ้าเช่นนั้น เราก็สามารถถามย้อนแบบ Immanent Critique นี้กลับไปหาพี่ดี้ได้เช่นเดียวกันว่า หากเผด็จการมันไม่ได้เลวร้ายในสายตาพี่เขา (เพียงแต่บอกว่ามันเลวร้ายเพื่อใช้โต้ตอบทางตรรกะตามที่ว่าก่อนหน้าเฉยๆ) เช่นนั้นแล้ว “ประชาธิปไตยที่พี่ดี้ว่ามาว่ามันช่าง เป็นเผด็จการเสียเหลือเกินนั้น ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายในสายตาพี่ดี้ด้วยสิ” แบบนี้ก็ดูจะยิ่งไม่มีเหตุผลในการจะปฏิเสธประชาธิปไตยเข้าไปใหญ่
ฉะนั้น ในภาพรวม ผมคิดว่าเราพอจะสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะมองหาความขัดแย้งทางตรรกะทั้งในระดับเบื้องต้น หรือมองซ้อนลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งแล้ว ตรรกะของพี่ดี้ก็ดูจะพังทลายเละเทะหมดอยู่ดีนะครับ
ทีนี้มาลองดูคำถามแต่ละข้อของพี่ดูบ้างเนอะ แต่เพื่อประหยัดที่ทาง ผมจะแยกตอบเป็นเซ็ตๆ แล้วกัน เพราะหลายส่วนดูจะเชื่อมโยงร้อยรัดกันไปหมด อย่างข้อ 1 – 7 นี้ ก็คือ การทั้งถาม และพยายามตอบคำถามก่อนหน้า ด้วยชุดคำตอบแบบเดิมๆ ที่ฝ่ายลิเบอรัลไทยมักใช้ แล้วพี่ดี้ก็กระทำการชี้ให้เห็น ‘ปัญหาต่อไป’ ของชุดคำตอบคลีเช่เหล่านั้นครับ
“1. มึงจะเป็นคนเลือก…มึงจะเลือกใครวะ มึงก็เลือกมาแล้วหลายที เลือกมาแล้ว มันก็งั้น ๆ จะเลือกหรือไม่เลือก ก็ไม่เห็นแตกต่าง
2. หรือกูจะเสนอตัวเป็นคนให้เขาเลือก….กูจะได้ไปทำแบบที่กูคิดไว้ว่าดี แต่กูจะไปสมัครที่ไหน พรรคไหน เขาจะรับกูไหมถ้าเขารู้ว่า กูไม่ชอบคำว่า “มติพรรค”
3. รัฐธรรมนูญไม่ให้คนลงการเมืองเป็น สส.อิสระ ต้องอยู่ในพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ต้องทำตามมติพรรค…เออ แค่นี้ก็เผด็จการในพรรคละ ประชาธิปไตยตรงไหนวะ
4. แต่ถ้าอิสระได้หมด..ใครอยากสมัครเป็นผู้แทน ก็อิสระ ก็เข้าใจได้เลยว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมีความคิดเป็นของตัวเองสูงที่จะทำงานเพื่อชาติโดยไม่คิดถึงพวกพ้อง….แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือ…แม่งพร้อมจะขายตัวยกมือ….คือเป็นกะหรี่การเมืองขายปลีก….วุ้ย กลุ้มใจ
5. งั้นขอตั้งพรรคใหม่ละกัน…ชาวบ้านธรรมดาที่ก็เป็นคนไทยที่อยากทำงานให้บ้านเมือง ที่ไม่ใช่สองสามพรรคใหญ่นั่น…ตั้งพรรคใหม่แล้วจะรอดไหมจ๊ะ
6. ต่อจากข้อที่ห้า…การอยากอาสาเข้าไปทำงานการเมือง ต้องมีเงินแค่ไหน…ต้องมีเงินด้วยหรือ
7. คนจน คนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน รวมเงินได้ ตั้งพรรคได้ไหม อันนี้ถามจริงๆ…หมายถึงไม่ใช่แค่ตั้งพรรคไปอย่างสิ้นหวังนะ…อันนั้นรู้ว่ามีกฎหมายว่าตั้งพรรคได้…แต่พรรคเบี้ยน้อยหอยน้อยมันเคยเกิดขึ้นไหม”
จะเห็นได้ว่าพี่ดี้ถามเริ่มคำถามมา แล้วตอบคำถามของตัวเองด้วยคำตอบที่มักจะได้ยิน ‘จากอีกฝั่ง’ เมื่อเจอคำถามแบบนี้ (เรียกบ้านๆ ว่า ‘ตอบดัก’) แล้วจึงชี้ปัญหาของคำตอบดักนั้นในรูปคำถามใหม่ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ครับ จึงต้องขอตอบทั้งเซ็ตไป
พี่ดี้เริ่มต้นจากการถามว่าเลือกไปทำไม? เลือกไปก็ไม่มีอะไรแตกต่าง? คำถามคือ ‘ไม่แตกต่าง’ สำหรับใคร? (For whom?) เพราะงานศึกษาจำนวนมากที่ได้อธิบายถึงความก้าวหน้าและพลวัตรทางการเมืองไทยจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะภายหลังการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ หันมาเน้นที่การแข่งขันกันในเชิงนโยบายมากขึ้น แทนที่แบบเดิมที่แข่งขันกันด้วยตัวบุคคลที่จะลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร และความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลลัพธ์ ‘โดยตรง’ จากการเลือกตั้ง และการไปใช้สิทธิใช้เสียงของตนครับ[4] ในแง่นี้ผมคิดว่าปฏิเสธไม่ได้หรอกว่านโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะชอบมันหรือไม่ก็ตามมันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมากมาย อย่างนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค ไปจนถึงนโยบายจำนวนข้าว ที่ต่างก็มีทั้งจุดดีจุดด้อยของมัน
เอาล่ะ ต่อให้พี่ดี้บอกว่า ที่ว่า “ไม่แตกต่างสำหรับใคร?” นั้น หมายถึงแค่สำหรับพี่ดี้เอง แม่ประไพ พ่อทิดเอิบ หรือคนที่ต่อต้านการเลือกตั้งแบบพี่ทั้งหลาย ไม่ได้หมายถึงเหล่าคนที่ “สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง” แบบในย่อหน้าก่อน ก็คงพูดได้ (แม้จะผิดตรรกะไปบ้าง และดูเห็นแก่ตัวหนักหน่อย) แต่ยิ่งหากพูดแบบนี้ ผมกลับคิดว่าพี่ดี้ต้องคิดหนักๆ จริงๆ ต่างหากว่า “คิดแบบนั้นจริงๆ หรือ?” สำหรับพี่และพวกแล้ว “การเลือกตั้งไม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงใดๆ จริงๆ หรือ?”
ถ้าการเลือกตั้งไม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย ทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลยอย่างที่ว่า “จะขับรถถังออกมาทำการรัฐประหารกันทำไมครับ?”
ที่ต้องขยันทำการรัฐประหารกันรอบแล้วรอบเล่านี้ ก็เพราะการเลือกตั้งและประชาธิปไตยมันเริ่มเผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและโครงสร้างอำนาจรัฐอย่างชัดเจนต่างหากครับ และคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ชัดมากๆ เผลอๆ อาจจะชัดยิ่งกว่าใครก็คือ คนที่ออกมาถล่มด่าการเลือกตั้งแบบพี่ดี้และพวกนี่แหละครับ ที่รู้สึกว่า ‘มันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว’ จนฉันไม่สามารถอยู่เฉยๆ ต่อไปได้อีกแล้ว
ด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในทางระบบการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐธรรมนูญ 2540 นำมาสู่การเกิดขึ้นของระบบปาร์ตี้ลิสต์ และเกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ขึ้น นำไปสู่การแข่งขันในเชิงนโยบายมากขึ้น มีการเพิ่มอำนาจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นและกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ ฯลฯ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความเห็นทางการเมืองส่วนบุคคลของท่านรวมถึงพี่ดี้หรือแม่ประไพ ก็คงจะปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้กระมังว่า มันมีความเปลี่ยนแปลง ขนานใหญ่เกิดขึ้นแล้ว
ส่วนต่อจากการบอกว่าประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งไม่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในสายตาพี่แกนั้น ก็ตามมาด้วย “ความเป็นไปไม่ได้ในการที่ต่อให้อยากจะลงไปช่วยแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเองก็ทำไม่ได้ แล้วจะนับว่ามันเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร?” (อันนี้คือข้อ 2 – 7 ตั้งแต่พรรคไหนจะรับคนอย่างแก, ผู้สมัครอิสระไม่ได้, เงินน้อย, ฯลฯ)
ส่วนนี้ว่ากันตรงๆ เลยนะครับ มันคือปัญหาจากความ Arrogant หรือยโสโอหังของพี่เองด้วยเป็นส่วนใหญ่เลย เพราะปัญหาทั้งหมดมันแก้ได้ด้วยการที่พี่จะตั้งพรรคการเมืองของพี่เอง ให้ไม่ต้องมีมติพรรคมาจำกัดสมาชิกให้วุ่นวาย ฯลฯ ทีนี้ที่บอกว่าพี่ยโสโอหังก็คือการที่พี่คิดว่า บนฐานแบบข้อ 2 – 7 นี่แหละคือ “ต่อให้พี่ดี้ลงสมัคร ก็ไม่มีกลไกที่จะทำให้คนแบบพี่ได้เป็นผู้แทนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาชาติและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อยู่ดี” ฉะนั้นมันจึงไม่เป็นประชาธิปไตย
แปลว่าถ้าคนเขาไม่เลือกพี่นี่คือ “ไม่เป็นประชาธิปไตยเลยสินะครับ?” พี่ไม่คิดบ้างหรือว่า สมมติพี่หาทางแบบที่พอใจ จนสมัครเป็น สส. จนได้ แล้วเขาไม่มาเลือกคนอย่างพี่นั้น เป็นเพราะคนเขาไม่ไว้วางใจให้คนแบบพี่มาบริหารงานต่างๆ หรือเป็นตัวแทนเสียงของพวกเขา พวกเขาไม่เชื่อว่าคนอย่างพี่ดี้จะสามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อตัวพวกเขาเองหรือสังคมภาพรวมได้ในสายตาของพวกเขา และนี่ไม่ใช่หรือก็คือความสวยงามของประชาธิปไตยอีกทางหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ว่า “ไอ้สิ่งที่เราคิดว่าดีว่าถูกนั้น มันไม่จำเป็นต้องดีและถูกในสายตาคนอื่นเสมอไป”
ฉะนั้นการที่พี่หรือคนอย่างพี่จะลงสมัครแล้วไม่มีใครเลือกต่อให้พี่ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาเองนั้น มันไม่ใช่เรื่องเงินน้อยด้อยวาสนา เป็นปัจจัยหลักหรอกครับ แต่ปัจจัยหลักเลยคือ พี่เองไม่ได้มีเครดิตอะไรในสายตาประชาชนพอที่จะเป็นตัวแทนให้เขาได้ ให้เขารู้สึกไว้วางใจในตัวพี่ แล้วเอาจริงๆ ไอ้ปัจจัยแบบเงินน้อย เลือกตั้งต้องใช้เงินนั้น มีส่วนที่จริงครับ แต่มันไม่ใช่ทั้งหมดแล้ว ห่างไกลมากเลย
วิธีคิดแบบเรื่องชาวบ้านหน้าโง่ ได้รับการแจกเงินแล้วเดินต้อยๆ ไปกาบัตรลงคะแนนเลือกให้คนที่จ่ายเงินให้นั้น มันเก่าไปมากแล้ว มีงานวิจัยออกมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้วว่า พฤติกรรมขายเสียงด้วยการแจกเงินนั้นมันล้าสมัยไปนานแล้ว อย่างมากเขาก็รับเงินมาแล้วไปกาคนหรือพรรคที่เขาอยากจะเลือก การเลือกตั้งมันไปเน้นที่การขายนโยบายเป็นหลัก และเครดิตที่ทำให้คนเขาเชื่อว่านักการเมืองคนนั้นๆ หรือพรรคนั้นๆ จะมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ “นโยบายที่นำมาขายเป็นจริงได้” มันกลายเป็นปัจจัยหลักแทนมานานแล้วครับ ผมถึงได้บอกว่าวิธีคิดแบบที่พี่ว่ามานั้นมัน Arrogant
และส่วนนี้เองที่คุณโบว์บอกว่าพี่ดี้ ‘ขาดจินตนาการ’ ต่อประชาธิปไตยนั้นอาจจะถูก เพราะหากพี่คิดอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากจะช่วยสังคม พี่ทำได้อีกหลายทางมากนะครับ ไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะ “ประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งนั้น มีอะไรอย่างอื่นนอกเหนือจากการเลือกตั้งด้วย” ดีเสียด้วยซ้ำว่า หากพี่ได้ลองทำและทำออกมาได้ดีแล้ว อาจจะมีเครดิตมากพอให้มีคนเลือกพี่ในการเลือกตั้งในอนาคตต่อไปได้ด้วย
ดูอย่างเคสของพวก Joshua Wong และเพื่อนเขาอย่าง Nathan Law สิครับ เขาก็ตั้งพรรคการเมืองของเขาเองขึ้นมา ชื่อพรรค Domosisto และก็ได้รับการเลือกตั้งด้วย (นาธานได้)[5] ทั้งที่เงินทุนเมื่อเทียบกับพรรคอื่นก็น้อยกว่ามาก เป็นพรรคตั้งใหม่ หน้าใหม่มากๆ เลย (ตั้งตอนปี ค.ศ. 2016 นี้เอง) แต่เพราะพวกเขาได้หาทางสร้างความเปลี่ยนแปลงกับสังคม ‘ผ่านกลไกอื่นในระบอบประชาธิปไตย’ (สื่อสารกับมวลชน ต่อสู้กับรัฐอำนาจนิยม เป็นเสียงคนรุ่นใหม่ ฯลฯ) จนพวกเขามีเครดิตพอที่คนจะเชื่อ และพร้อมจะเลือก ‘หน้าใหม่ทุนน้อย’ อย่างพวกเขาได้ครับ พี่ดี้ก็น่าจะลองดูนะครับ
ส่วนเรื่องผู้สมัครอิสระนั้น มันมีดีเบตใหญ่มากอยู่ คือ ประเทศเราเคยมี สส.อิสระนะครับ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2521 นี่แหละ ที่ได้มาเปลี่ยนให้สังกัดพรรคการเมือง เพราะก่อนหน้านั้นเจอปัญหาว่า ผู้สมัครอิสระเองก็มีปัญหาในตัว คือปัญหา ‘ขายตัวข้ามพรรคในสภา’ น่ะครับ แน่นอนปัญหาของ สส. แบบสังกัดพรรคก็มีแบบที่พี่ว่ามา ฉะนั้นส่วนนี้ผมคิดว่าคงแล้วแต่การชั่งน้ำหนักส่วนบุคคลแล้วว่าแบบไหนเหมาะสมกว่า ก็ไม่ว่ากัน (เอาจริงๆ โดยส่วนตัวผมเห็นว่าการเปิดให้มีผู้สมัครอิสระได้เหมาะสมกว่า เพราะมันเป็นประชาธิปไตยกว่าครับ)
ข้อ 8 เป็นข้อที่ผมคิดว่าพี่ดี้มีประเด็นที่สุดครับ และเป็นปัญหาแกนกลางเลยของระบอบประชาธิปไตยเสรีทั่วโลกด้วย คำถามว่างี้ครับ “ประชาธิปไตยย่อมเป็นญาติกับเสรีนิยม…และเสรีนิยมเป็นญาติกับทุนนิยมไหม แล้วทุนนิยมมันจะย้อนกลับไปเป็นญาติที่แท้จริงกับประชาธิปไตยเพื่อปวงชนไหม…”
ที่พี่ดี้ว่ามานั้น โดยจุดยืนส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าถูกต้องเลย ประชาธิปไตยเสรีมันทำงานในฐานะกลไกหนึ่งของทุนนิยมนั่นแหละครับ และบ่อยครั้ง มันก็นำมาซึ่งความกดขี่หรือมีความรุนแรงแฝงอยู่มากมาย อันนี้นักคิดสายที่ถูกเรียกกันว่า Radical Marxism หลายคนก็ได้ออกมาวิจารณ์ถึงเรื่องนี้แล้ว ทั้ง Slavoj Zizek, Judith Butler และอื่นๆ หรือแบบปู่นอม ชอมสกี้เองก็เคยพูดถึงเช่นกัน มีเยอะมากครับ (ผมคงลงรายละเอียดไม่ได้หมด แต่เคยเขียนถึงบัตเลอร์ไว้แล้ว ลองดูได้นะครับ thematter.co/thinkers/another-side-of-human-rights)
ประเด็นมันก็คือว่า ปัญหาเดียวกันนี้ มันก็มีในระบอบเผด็จการเช่นกันไงครับ พี่ดี้ไม่รู้จักประเทศซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ บรูไน ยันเกาหลีเหนือ หรือครับ หรือเอาใหญ่ๆ เลยแบบประเทศ ‘จีน’ ก็ได้ ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยสักประเทศครับ แต่ก็รับใช้และเป็นกลไกให้กับทุนนิยมทั้งนั้น ฉะนั้นการเลือกเผด็จการมันไม่ใช่การปฏิเสธทุนนิยม แต่มันหนักเสียยิ่งกว่าอีกครับ เพราะมันยิ่งเป็นการจำกัดรวมศูนย์ทุนเอาไว้ให้อยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวที่เล็กยิ่งขึ้นไปอีก ไม่กระจายรายได้ให้คนในวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก
ประเทศไทยอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดูจะไม่ต่างนะครับ ที่งบประมาณทั้งหมดของรัฐถูกบริหารด้วยรัฐบาลชนิดที่ตรวจสอบไม่ได้ และไร้ทางเอาผิด นโยบายประชารัฐที่รวมศูนย์กลุ่มทุนชั้นนำต่างๆ ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปฉิบหายกันหมด (ดูรายงานสถานการณ์ตลาดประชารัฐร้างที่ปากเกร็ดดูสิครับ)[6] แล้วสุดท้ายก็มาจบที่การออกมาบอกว่า ‘ไทยนิยมๆ’ ให้พอเพียงกันนะ ท่องไว้ทำไว้ แหม เศรษฐกิจแย่ คนไม่มีจะกิน เขาพากันรัดเข็มขัดสุดขีด แต่มันก็ดูจะไม่เพียงพอกันแล้วครับพี่ สามปีกว่าในรัฐบาลเผด็จการทหารนี่ “เราไม่อยู่ในกลไกทุนนิยมที่กดขี่เราเลยหรือครับพี่?”
ข้อสุดท้ายพี่ดี้บอกเอาไว้ว่า “สิ่งหนึ่งทีฉันสับสนคือ…เผด็จการในเมืองไทยวันนี้ เป็นเผด็จการที่หน่อมแน้ม รู้สึกผิดว่าตัวเองมาจากวิธีที่เขาหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย…จะเด็ดขาดก็ไม่กล้าเด็ดขาด แถมยังเฟอะฟะอีกหลายเรื่องให้อีกฝ่ายเย้ยหยันได้ตลอดเวลา…”
ผมไม่มีอะไรจะพูดมาก นอกจากแค่ว่า พี่ลองไปติดคุกแทนไผ่มันก่อนมั้ยครับ ถึงมาพูดแบบนี้? พี่ลองคิดต่างจากรัฐบาลทหาร ไปชูสามนิ้วอย่างสงบ แดกแซนด์วิช หรืออ่านหนังสือ แล้วโดนจับก่อนไหมครับ?
ถ้าการทำอะไรที่มันแสนจะธรรมดาแบบนี้แล้วยังโดนจับ ยังโดนคุกคามได้ แล้วพี่ยังเรียกว่า ‘หน่อมแน้ม’ เนี่ย ผมก็เข้าใจแล้วล่ะครับว่า ทำไมต่อให้พี่คิดจะลงเลือกตั้ง คนเขาก็คงจะไม่หันมาเลือกพี่ ในเมื่อพี่ไม่เห็นค่าความเป็นคนในตัวพวกเขา พี่ก็ดูจะไม่มีค่าที่จะเป็นตัวแทนอะไรใดๆ ของใครได้หรอกครับ
สุดท้ายผมอยากจะบอกพี่ดี้ แม่ประไพ พ่อทิดเอิบ และคนที่คิดแบบพี่อย่างนี้ครับว่า ประชาธิปไตยมันไม่ได้ดีเด่ไปเสียหมดหรอกครับ หลายอย่างมันก็แย่ บางครั้งมันไม่มีทางเลือกที่เราอยากจะได้เลย แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็มีทางเลือกให้เรา เลวร้ายที่สุดเราก็มีทางเลือกที่จะ ‘ไม่เลือก’ ได้เสมอ หลายครั้งประชาธิปไตยมันก็นำมาซึ่งการแบ่งแยก แตกต่าง กดขี่ แต่พร้อมๆ กันไปมันก็บอกเราว่าต่างกันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน บางครั้งมันไม่สมบูรณ์ มันมีคอรัปชั่น มันมีภาพเสีย แต่อย่างน้อยเราก็พอจะขุดมันมาด่า ตรวจสอบ โจมตีมันได้
และสุดท้ายผมอยากจะย้ำอีกหลายๆ รอบว่า ประชาธิปไตยมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นได้ในทันทีครับ ไม่มีประเทศไหนที่พร้อมเป็นประชาธิปไตยเลยแต่แรก หรือเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยปุ๊บแล้วดีเลย มันก็ล้มลุกคลุกคลานกันทั้งนั้น บางช่วงในระบอบประชาธิปไตยอาจจะแย่กว่าเผด็จการเสียด้วยซ้ำ
แต่ผมคิดว่ามันจำเป็นในฐานะ ‘จุดเริ่มต้น’ ของการที่จะทำให้สังคมเป็นของประชาชนเองได้นะครับ เดินเองแบบตุปัดตุเป๋บ้าง ตีกันบ้างระหว่างทาง ผมก็ว่าดีกว่าถูกเขาบังคับลากจูงเอาอย่างไร้ทางเลือกใดๆ นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.khaosod.co.th
[2] โปรดดู www.khaosod.co.th/special-stories
[3] โปรดดู blogazine.pub
[4] โปรดดู เวียงรัฐ เนติโพธิ์, หีบบัตร กับบุญคุณ.
[5] โปรดดู www.thestandard.com.hk
[6] โปรดดู www.facebook.com/mustshareofficial