โครงการพัฒนาโดยรัฐฯ เช่น การสร้างแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ เขื่อน ที่กำจัดขยะ เรื่อยมาจนถึงกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดกระบี่ เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงอีกหลายกรณีที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปในที่อื่นๆ นำมาซึ่งการประท้วงคัดค้านโดยคนในพื้นที่
ผมไม่มีความรู้พอจะวิเคราะห์เรื่องข้อดีข้อเสียของแต่ละโครงการ แต่อยากชวนคุยถึงหนึ่งในข้อโจมตีสำคัญที่หลายคนมีต่อผู้ประท้วง อันได้แก่มุมมองที่ว่าพวกออกมาประท้วงเห็นแก่ตัวและไม่รู้จักเสียสละเพื่อชาติ
เทรนด์การคัดค้านโครงการพัฒนาและข้อโจมตีต่อผู้ประท้วงทำนองนี้เป็นประเด็นสากลที่แฝงอยู่ในความขัดแย้งทั่วโลก ฝรั่งเรียกปรากฏการณ์การประท้วงแบบนี้ว่า ‘Not in my backyard’ หรือ ‘ไม่ใช่ที่หลังบ้านของฉัน’ ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ พากันไม่ยอมให้รัฐเข้ามาทำโครงการพัฒนาใดๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยหรือ ‘ หลังบ้าน’ ของตน เนื่องจากหวาดระแวงผลกระทบเชิงลบ แต่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวในกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ
กลุ่มผู้คัดค้านจะถูกเรียกว่า NIMBYs กิจกรรมของพวก NIMBYs มีทั้งที่น่าเห็นใจหรือชื่นชมและที่น่าหมั่นไส้ แบบแรกก็เช่นการคัดค้านการพัฒนาด้วยเหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบต่อชุมชน แต่ที่เห็นแล้วรู้สึกขัดหูขัดตาก็เช่น เศรษฐีในอเมริการวมตัวคัดค้านไม่ให้รัฐติดตั้งกังหันไฟฟ้าเพื่อสร้างพลังงานสะอาด เพราะจะทำลายวิวทะเลยามเช้า
ส่วนตัวผมเชื่อว่าสุดท้ายจะสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการใด ก็ต้องพิจารณา ชั่ง ตวง วัดที่เนื้อหาของโครงการพัฒนาเป็นสำคัญ แต่ที่อยากชวนคุยมากกว่า คือมายาคติที่ว่าการประท้วงโครงการพัฒนาเป็นการทำลายชาติ ผมเห็นว่าต้องเริ่มจากการขจัดอคติตรงนี้ก่อน การรับฟัง พูดคุย และตัดสินใจเชิงเนื้อหาอย่างยุติธรรมจึงจะเป็นไปได้
อคติที่ว่าเป็นยังไง มาดูกันทีละข้อหาครับ
- นักประท้วงเห็นแก่ตัว
คนจำนวนมากเห็นว่าพวกนักค้านเห็นแก่ตัว ‘เห็นแก่ตัว’ ตรงนี้อาจแยกได้เป็นสองลักษณะ แบบแรกคือ เห็นแก่ตัวในแง่รักหวงแหนชุมชนและคนรอบตัว เช่นไม่ให้รัฐเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าเพราะระแวงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แบบนี้ไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไหร่ เพราะไม่แปลกที่มนุษย์เราจะรักในบ้านเกิด ครอบครัว หรือคนแวดล้อมมากกว่าคนอื่น
เห็นแก่ตัวอีกแบบคือ เห็นแก่ตัวจริงๆ ซึ่งหมายถึงคนจำพวกที่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ไม่เกี่ยวกับชุมชนหรือคนรอบตัว เช่นกลัวมูลค่าที่ดินจะลดลงหากมีโรงงานกรองขยะมาตั้งใกล้ๆ หรือเล่นแง่อยากได้ค่าชดเชยทางเศรษฐกิจสูงๆ แต่เอาเข้าจริงเห็นแก่ตัวแบบนี้ไม่ได้น่าเกลียดมากอย่างที่เราคิด
สมมตินะครับ ว่าหากรัฐบาลสุ่มให้เราเป็นหนูทดลองยา การทดลองนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลในอนาคต แต่ไม่รับประกันความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ในระยะยาว ถ้าเป็นเช่นนี้ เราก็คงหวงผลประโยชน์ร่างกายของเรา และรู้สึกต้องเล่มเกมขอค่าชดเชยสูงๆ เป็นธรรมดาใช่มั้ยครับ นอกจากนี้ เราก็ต้องยอมรับว่าการปลูกสร้างโครงงานต่างๆ สร้างความกังวลต่างๆ ที่คิดออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้
- นักประท้วงไม่มีเหตุมีผล
หลายคนบ่นว่าการออกมาประท้วงของเหล่านักค้านนั้น เกิดจากการคิดอย่างไม่สมเหตุสมผล ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ชุมชนออกมาค้านโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น เอาเข้าจริงความเสี่ยงที่โรงงานดังกล่าวจะระเบิดนั้นต่ำกว่าความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถ ออกไปทำงาน หรือสูบบุหรี่ในชีวิตประจำวันเสียอีก แต่ผลประโยชน์ที่ได้นั้นมหาศาลกว่ามาก ทีเรื่องพวกนี้ยอมรับได้ เหตุใดจึงวิตกจริตกับโครงการพัฒนา?
พวกนักค้านเขาจะตอบแบบนี้ครับ ว่าที่เขายอมรับความเสี่ยงเรื่องทั่วไปได้ก็เพราะประโยชน์ที่ได้มันได้เต็มและคุ้มค่า ออกไปทำงานก็ได้เงินเดือน แต่ผลประโยชน์ของโครงการพัฒนานั้น ถึงจะมหาศาล แต่กระจายไปให้คนทั้งประเทศ ได้คนละเล็กละน้อย แต่กลับตัวพวกเขากลับต้องรับความเสี่ยงอยู่คนเดียว หากคิดเช่นนี้ การคัดค้านโครงการพัฒนาก็สมเหตุสมผล
ในทางวิชาการ งานทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมากใช้ทฤษฎีเกมสร้างคำอธิบายที่ซับซ้อนขึ้น ว่า NIMBY คือเกมที่รัฐฯ ต้องมุ่งสร้างโครงการพัฒนาต่างๆ แต่ประชาชนในทุกพื้นที่ ตัดสินใจเลือก ‘โกง’ ไม่ให้ความร่วมมือในตาตัวเอง ทำให้สังคมเสียประโยชน์ที่ควรได้หากทุกคนเสียสละ
ผมคิดว่าอธิบายแบบนี้ก็ไม่ค่อยถูกเสียเท่าไหร่ จริงเสียที่ไหน ที่รัฐฯ จะวนสร้างโครงการพัฒนาในทุกพื้นที่ให้ทุกคนมีโอกาสเสียสละเท่ากัน เราไม่ได้ออกโครงการพัฒนากันทุกวัน แล้ววนให้ครบทุกกลุ่มเสียหน่อย โครงการใหญ่ๆ ผลกระทบเยอะๆ ก็นานๆ มีครั้ง คนที่ถูกเรียกร้องให้เสียสละจึงโดนอยู่เฉพาะไม่กี่กลุ่ม ถ้าคิดอย่างนี้ ก็จะเอาไปเปรียบกับทฤษฎีเกมไม่ได้ พูดให้สุดโต่งกว่านั้น ต้องอธิบายว่าพวกเขากำลังหรือสุ่งเสี่ยงที่จะถูกโกงจากสังคมทั้งหมด การคัคค้านจึงเป็นการรักษาสิทธิและสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
- นักประท้วงทำส่วนรวมเสียประโยชน์
หลายคนมองว่าหากค้านกันเละ ประเทศก็ไม่ต้องพัฒนาอะไรกันพอดี เอาเข้าจริงหลักฐานไม่ได้ชี้ว่ามันจะเป็นไปเช่นนั้นเสมอไป Hélène Hermansson อาจารย์ภาควิชาปรัชญาชาวสวีเดน เจ้าของความคิดส่วนใหญ่ในบทความนี้ เธอไปศึกษากระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย แล้วพบว่าการปราศจากการค้านต่างหาก ที่ทำให้สังคมมีมุมมองที่คับแคบเกี่ยวกับการพัฒนา และสร้างผลเสียต่อหลักความยุติธรรม
เธอบอกว่าหากปราศจากการคัดค้าน รัฐบาลมักตัดสินใจลงทุนในโครงการพัฒนาต่างๆ ด้วยการคำนวณผลได้ผลเสียทางตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก พอคำนวณแบบนี้ ความลำบากจะเกิดกับคนจนเสมอ เพราะในโลกจริง คนพวกนี้นี่แหละที่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรและยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ จึงน่าเข้าไปลงทุนพัฒนา นอกจากนี้ ค่าที่ดินและบ้านของคนเหล่านี้ก็ไม่แพง ทำให้ไล่และชดเชยได้ในราคาถูก
ในแง่นี้ การค้านจะทำให้รัฐต้องประเมินทางเลือกโดยคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความยุติธรรม รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรืออารมณ์ความรู้สึกของคนมากขึ้น เมื่อต้นทุนไม่ได้มีแต่เพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว รัฐบาลก็จะเริ่มทบทวนทางเลือกความเป็นไปได้อื่นๆ ที่สร้างสรรค์ หรือกล้าหาญ เช่นถ้าปริมาณไฟฟ้าไม่พอ ทางเลือกอาจไม่ได้มีแค่การไล่ที่คนจนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่รวมถึงการกำกับดูแลการใช้ไฟของภาคเอกชนขนาดใหญ่ หรือถ้าสุดท้ายคิดรอบด้านแล้วพบว่าโครงการจำเป็นจริง อย่างน้อยก็นำไปสู่การประเมินราคาการชดเชยที่เหมาะสมมากขึ้น
อย่างที่ว่าไปแล้วนะครับ ทั้งหมดที่เขียนมาไม่ได้ตั้งใจจะชี้ว่าเราต้องสนับสนุน NIMBYs เสมอไป สุดท้ายสังคมจะตัดสินใจร่วมกันอย่างไรก็ต้องไปคิด ชั่ง ตวง วัด หาทางออกในทางเนื้อหาและรายละเอียด แต่จะทำเช่นนั้นได้ เราก็จำเป็นต้องลบอคติในใจที่ว่าพวกนักค้านทำชาติไม่พัฒนาออกไปเสียก่อน
และที่สำคัญ อย่าลืมกันนะครับ ว่าพวก NYMBYs ในบ้านเรานี่แหละ ที่ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากโครงการพัฒนาไร้สาระมานักต่อนักแล้ว