“ของอร่อยที่สุดก็คือ (ไฮ เซโนะ!) ภาษีประชาชน”
เสียงร้องที่ดังรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับฝูงชนที่วิ่งวนไปรอบๆ ทางเดินนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเรียกร้องสิทธิที่แตกต่างไปจากเดิม และเรียกความสนใจของผู้คนได้เป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นการเอาเพลงอนิเมะไปร้องในม็อบ แต่งคอสเพลย์ตามซีรีส์ที่ชอบ หรือแค่ยืนทำอะไรปั่นๆ ในที่สาธารณะ ต่างก็กลายมาเป็นสัญญะของการชุมนุมประท้วงกันได้ทั้งนั้น
จริงๆ แล้ว การนำเอาสิ่งต่างๆ มาจับกับการชุมนุมประท้วง ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นกันมาตลอดในสังคมโลก The MATTER เลยอยากพาทุกคนไปร่วมกันสำรวจว่า ไอเดียการประท้วงต่างๆ ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลกนั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง
ร้องเพลง Do you hear the people sing? ให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน
“Do you hear the people sing?
Singing the song of angry men?
It is the music of a people
Who will not be slaves again
When the beating of your heart
Echoes the beating of the drums
There is a life about to start
When tomorrow comes!”
เมื่อเสียงร้องของผู้คน ดังก้องไปทั่วโลก ด้วยเพลง Do you hear the people sing? ซึ่งแต่งโดย โคลด มิเชล ชอนเบิร์ก (Claude-Michel Schönberg) เพื่อใช้ในการแสดงละครเวทีสุดอมตะ เมื่อปี ค.ศ.1980 โดยดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่อง Les Misérables หรือชื่อภาษาไทยคือ เหยื่ออธรรม
แม้เวลาจะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว แต่บทเพลงดังกล่าวก็ยังคงถูกหยิบมาใช้ในการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันในหลากหลายประเทศ อย่างที่ตุรกี ไต้หวัน ยูเครน รวมไปถึง ฮ่องกง ที่ผู้คนออกมาร่วมกันร้องเพลงเพื่อสารส่งไปถึงรัฐบาล ตั้งแต่การปฏิวัติร่ม เมื่อปี ค.ศ.2014 และถูกหยิบมาขับขานอีกครั้ง ในการต่อต้านการร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อปี ค.ศ.2019
ขณะที่ เฮอร์เบิร์ต เครชเมอร์ (Herbert Kretzmer) ผู้นำเพลงดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นภาษาอังกฤษ วิเคราะห์สาเหตุที่เพลงนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกว่า เป็นเพราะความอยุติธรรมที่สามารถเปลี่ยนให้ผู้คนกลายเป็นทาส สร้างความโกรธแค้น ความอัปยศ และบดขยี้จิตวิญญาณของมนุษย์ลง ยังคงเกิดขึ้นในสังคมอยู่
“แต่เพลงจบด้วยคำว่า ‘เมื่อวันพรุ่งนี้มาถึง (When tomorrow comes)’ เพราะผมเชื่ออย่างแท้จริงว่า ความหวังจะไม่มีวันมอดดับไป”
แต่งเป็นซอมบี้ ประท้วงการทุ่มเงินช่วยสถาบันการเงิน
ฝูงซอมบี้หิวโหย เดินโซซัดโซเซตามท้องถนน ดูจะเป็นคอนเซปต์ที่เข้ากันได้กับการประท้วงต่างๆ ซึ่งเมื่อปี ค.ศ.2011 ผู้คนจำนวนมากแต่งกายด้วยชุดนักธุรกิจที่หลุดลุ่ย พร้อมแต่งหน้าให้เหมือนกับซอมบี้ แล้วเดินไปตามถนนในวอลล์สตรีท ที่สหรัฐฯ จนติดเทรนด์ #OccupyWallStreet ในทวิตเตอร์
การประท้วงนี้ เป็นไปเพื่อแสดงความโกรธเกรี้ยว และความรู้สึกอยุติธรรมที่มีต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งทุ่มเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ เพื่ออุ้มธุรกิจของสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินเหล่านี้มีอิทธิพลเกี่ยวพันกับการเมือง รวมไปถึง ปัญหาวิกฤตการยึดสังหาริมทรัพย์ การเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน และปัญหาหนี้สินเงินกู้ของนักเรียนอีกด้วย
หนึ่งในซอมบี้ที่ร่วมประท้วงในครั้งนี้ เล่าว่า ‘ซอมบี้’ ถูกนำไปใช้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางการเมืองอันสาหัสที่เกิดขึ้นในสังคมเรามาโดยตลอด และภาพยนตร์ของผู้สร้างหนังซอมบี้อย่าง จอร์จ เอ. โรเมโอ (George A. Romero) ก็ได้รับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด ทั้งเรื่องการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และลัทธิจักรวรรดินิยม ดังนั้น สำหรับเขาแล้ว ซอมบี้เป็นสิ่งที่สะท้อนความเจ็บปวดได้ดีมาก แม้จะมีคนมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระก็ตาม
Friday For Future หยุดเรียนประท้วงปัญหาโลกร้อน
น้ำแข็งละลาย คลื่นความร้อน อุณหภูมิที่แปรเปลี่ยนไป ล้วนแต่เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เรารับรู้ และประสบพบเจอกันมาตลอด แต่สิ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น ก็คือ เด็กๆ ทั่วโลกที่ออกมาประท้วงหยุดเรียนทุกวันศุกร์ เพื่อกดเหล่าผู้นำทั่วโลกแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที
การประท้วงดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นจากเกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กหญิงชาวสวีเดน ที่ออกไปนั่งประท้วงรัฐบาลด้วยตัวคนเดียวหน้ารัฐสภา เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมของปี ค.ศ.2018 เพื่อจะได้ส่งสารไปให้ถึงเหล่าผู้ใหญ่และนักการเมืองในสภาโดยตรง
ช่วงแรก การประท้วงของธันเบิร์กไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งมีสำนักข่าวนำเรื่องของเธอไปบอกเล่าต่อ แล้วก็มีผู้คนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับแนวคิดของเธอ จากนั้น ก็เกิดเป็นกระแส #ClimateStrike และ #FridaysForFuture ที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก นัดกันหยุดเรียนในทุกๆ วันศุกร์ เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ยังไม่จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนได้อย่างจริงจังเพียงพอ
“เรารู้ว่า อนาคตของเราอยู่ในจุดเสี่ยง เราอยากที่จะกลับไปเรียนที่โรงเรียน และใช้ชีวิตตามปกติของเรา แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เป็นอยู่นี้ ในสถานการณ์อันแสนสาหัสที่เราเผชิญอยู่นี้ เรารู้สึกว่า ตอนนี้ เราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว” ธันเบิร์กกล่าว
ร้องเพลง Baby Shark ประท้วงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
ใครว่าการประท้วง จำเป็นต้องใช้เพลงปลุกใจกันอย่างเดียวล่ะ? เพราะเป็นเพลงน่ารักๆ สำหรับเด็กๆ ก็สามารถนำมาใช้ในการประท้วงได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ผู้ประท้วงในเลบานอน ใช้เพลง Baby Shark ในการประท้วงต่อต้านนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน
สาเหตุที่เพลงนี้ถูกหยิบมาใช้ หลังจากคุณแม่ของเด็กชายวัย 1 ปีคนหนึ่ง ขับรถพาลูกผ่านย่านที่กำลังมีการชุมนุมประท้วง ซึ่งระหว่างที่รถติดอยู่กลางการชุมนุมนั้น ลูกชายของเธอก็แสดงอาการตื่นกลัวขึ้นมาก คุณแม่จึงหันไปบอกกับผู้ประท้วงว่า ในรถมีลูกชายนั่งมาด้วย และเขากำลังกลัวอย่างมาก
เมื่อได้ยินอย่างนั้น เหล่าผู้ประท้วงเลยพร้อมใจกันเต้น และร้องเพลง Baby Shark เพื่อปลอบขวัญเด็กน้อย โดยบังเอิญว่า เพลงดังกล่าวเป็นเพลงโปรดของเด็กชายพอดี ทำให้เขาผ่อนคลายลงไปได้ คุณแม่จึงนำคลิปดังกล่าวมาโพสต์ลงในโลกโซเชียล เพื่อขอบคุณเหล่าผู้ประท้วง จนคลิปนี้กลายเป็นไวรัล โด่งดังไปทั่วโลก
หลังจากนั้น เพลง Baby Shark ก็กลายเป็นเพลงประจำการประท้วงของชาวเลบานอนไปโดยปริยาย โดยเพลงดังกล่าว มีเนื้อร้องที่ซ้ำไปมา จดจำได้ง่าย ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและร้องวนได้เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น ซึ่งสอดรับกับการประท้วงของชาวเลบานอนได้เป็นอย่างดี
แต่งตัวเป็น Joker ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ
‘เราทุกคนเป็นตัวตลก’ ประโยคที่ใครบางคนเพนท์ไว้บนรูปปั้นแห่งหนึ่งในซานติเอโก ประเทศชิลี เมื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำกัดกินผู้คนจนทนไม่ไหว และต้องออกมาประท้วงด้วยการทาหน้าเป็นสีขาว และรอยยิ้มสีแดงที่ฉีกจนแทบจะถึงหูเหมือนอย่างที่โจ๊กเกอร์เป็น
โจ๊กเกอร์ที่เหล่าผู้ประท้วงหยิบยกกันขึ้นมานั้น มาจากภาพยนตร์เรื่อง Joker เมื่อปี ค.ศ.2019 ที่ผู้คนจำนวนมากถูกกดทับ ทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยอาชญากร และก่อให้เกิด ‘โจ๊กเกอร์’ ขึ้น ซึ่งในตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ โจ๊กเกอร์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหล่าผู้ถูกกดขี่ และผู้ประท้วงในเมือง
ไม่เพียงแต่ในชิลีเท่านั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก จนมีการแต่งตัวเป็นโจ๊กเกอร์ไปประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งเลบานอน อิรัก โบลิเวีย สเปน รวมไปถึง ผู้ประท้วงในฮ่องกงที่นำการแต่งหน้าของโจ๊กเกอร์ มาเป็นเครื่องมืออำพรางใบหน้า แทนการสวมหน้ากาก หลังจากมีคนถูกจับไปเพราะสวมหน้ากากในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการแต่งตัวเหมือนกับกลุ่มผู้ประท้วง (ก่อน COVID-19 ระบาด)
“นี่คือสถานการณ์ของสังคมเลบานอนในขณะนี้ เต็มไปด้วยผู้ที่เป็นเบี้ยล่าง เต็มไปด้วยผู้ถูกกดขี่ที่โกรธแค้นอย่างถึงขีดสุด และกำลังมองหาแสงสว่างแห่งความหวังอยู่” หนึ่งในผู้ประท้วงชาวเลบานอนกล่าว
Ghost protest เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก
ถ้ารัฐบาลห้ามการรวมตัวประท้วงจะทำอย่างไร? จะถอยกลับหรือเดินหน้าต่อ แล้วถ้าจะสู้ต่อ จะสู้กันแบบไหนดี? เหตุการณ์แบบนี้ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งในเกาหลีใต้ พวกเขาโต้กลับด้วยการจัดฉายภาพ ‘ผี’ เดินขบวนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แทนผู้คนไปซะเลย
เหล่าผู้ประท้วงผีนี้ เกิดขึ้นจากการฉายภาพโฮโลแกรมขนาดเท่าคนจริง ผ่านไปยังแผ่นหน้าจอโปร่งใส ที่ตั้งตระหง่านตรงข้ามกับจตุรัสกวางฮวามุน (Gwanghwamun Square) ย่านประวัติศาสตร์ของกรุงโซล ในเกาหลีใต้ และจัดโดยองค์กรแอมเนสตี้ในเกาหลีใต้นั่นเอง
โดย อาน เซยอน (Ahn Se-young) ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ของแอมเนสตี้เกาหลี กล่าวว่า เสรีภาพในการพูดคุยและการชุมนุม ถูกลดลงอย่างมาก นับตั้งแต่ที่พัค กึนฮเยเข้ารับตำแหน่ง ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงมีแต่ผู้ประท้วงที่เป็นผีเท่านั้น
ขณะที่ แถลงการณ์จากแอมเนสตี้ ระบุว่า การประท้วงของผีจะต้องสิ้นสุดลง แล้วแทนที่จะเป็นการประท้วงให้กับผีที่ไม่ได้มีสิทธิ์อะไร เราต้องการให้ผู้คนที่มีชีวิตสามารถเพลิดเพลินไปกับเสรีภาพในการชุมนุมได้ เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชน
แต่งชุด The Handmaid’s Tale เรียกร้องสิทธิทำแท้ง
ชุดคลุมสีแดงโบกสะบัดพลิ้วไปตามขบวนประท้วง เมื่อหญิงสาวหลายคนพร้อมใจกันแต่งตัวตาม The Handmaid’s Tale วรรณกรรมแนวดิสโทเปียชื่อดังของ มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1985
The Handmaid’s Tale เล่าถึงเรื่องของผู้หญิงที่ถูกลดให้กลายเป็นแค่ ‘เครื่องจักรผลิตลูก’ และต้องเป็นสมบัติของผู้ชายเท่านั้น โดยภาพที่หลายคนคุ้นตากันเป็นอย่างดี คือภาพผู้หญิงใส่ชุดคลุมสีแดงกับหมวกสีขาว และอาศัยอยู่ในเมืองที่ผู้หญิงถูกพรากสิทธิในการเลือกที่จะมีหรือไม่มีลูกตามใจของตัวเองไป
นั่นทำให้ เสื้อผ้าตามเรื่อง The Handmaid’s Tale กลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนเรื่องสิทธิการทำแท้ง ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งอาร์เจนติน่า สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์
แอตวูด มองการหยิบเอาชุดจากบทประพันธ์ของเธอมาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงว่า การใช้ชุดเหล่านี้นั้น มีทั้งความยืดหยุ่นและทรงพลัง ทำให้ผู้หญิงสามารถประท้วงในสถานที่ต่างๆ ได้ โดยผู้หญิงจากหลากหลายประเทศนำเอาสิ่งนี้ไปเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในร่างกายของตัวเอง
“ไม่มีใครชอบการทำแท้งหรอก ต่อให้ปลอดภัยและถูกกฎหมายก็ตาม มันไม่ใช่สิ่งที่ใครจะเลือกทำเพื่อความสุขในคืนวันเสาร์กันหรอกนะ แต่ก็ไม่มีใครอยากเห็นผู้หญิงตกเลือดตายอยู่บนพื้นห้องน้ำจากการทำแท้งผิดกฎหมายเหมือนกัน งั้นจะให้ทำยังไงล่ะ?” แอตวูดกล่าว
ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล และวิ่งกันนะแฮมทาโร่
สองการประท้วงที่เรียกเสียงฮือฮาและแรงกระเพื่อมต่อสังคมอย่างมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ก็คือ การประท้วงของ ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล และวิ่งกันนะแฮมทาโร่ โดยเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากมายในประเทศไทย ซึ่งมีจุดร่วมกันก็คือ 1.ให้รัฐบาลยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สานต่อจากม็อบเยาวชนปลดแอกที่จัดขึ้นก่อนหน้านั้น
สำหรับม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มเสรีเทยพลัส และมีจุดมุ่งหมายตาม 3 ข้อเรียกร้องที่กล่าวไป รวมทั้ง ยังเสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติมให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส ไม่ใช่การแก้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียมอย่างแท้จริงขึ้น ทั้งยังยืนยันว่า ความเท่าเทียมไม่งอกเงยจากเผด็จการ
ความโดดเด่นของม็อบนี้ก็คือ การรับส่งกันระหว่างพิธีกรและผู้ชุมนุม โดยนำบทจากภาพยนตร์เรื่อง หอแต๋วแตก มาปรับใช้ เช่น การด่าตุ๊กตาที่บังเอิญมีชื่อเล่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง การถือธงสีรุ้งผืนใหญ่ แห่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ส่วนม็อบวิ่งกันนะแฮมทาโร่นั้น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีธีมประจำม็อบเป็น ‘แฮมทาโร่’ อนิเมชั่นญี่ปุ่นชื่อดังที่มีหนูแฮมเตอร์เป็นตัวเดินเรื่อง ซึ่งม็อบนี้มีจุดยืนตาม 3 ข้อเรียกร้องข้างต้นเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของม็อบนี้ มาจากการพูดคุยกันในทวิตเตอร์ ที่กลายมาเป็นพลังให้เหล่าแฮมเตอร์ทั้งหลายออกมาวิ่งวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับร้องเพลงจากอนิเมชั่น โดยดัดแปลงเนื้อร้องเป็น “ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน” ซึ่งผู้ชุมนุมมองว่าการนำแฮมทาโร่มาเป็นสัญลักษณ์นั้น เป็นเพราะประชาชนไม่แตกต่างจากหนูตัวหนึ่งที่ต้องอยู่ในกรง และกรงนั้นกำลังจะพังลง เหล่าแฮมเตอร์จึงต้องออกมาวิ่ง เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
อ้างอิงจาก