ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ผมเองก็งานยุ่งหนักมากจนแทบไม่มีเวลาได้ตามข่าวเมืองไทย นอกจากข่าวการประท้วงรัฐบาลที่เป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจ ก็เลยต้องปล่อยข่าวย่อยๆ หลายข่าวหลุดจากความสนใจไป แต่ข่าวหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจได้ไม่แพ้กันก็คือ เรื่องการใช้ความรุนแรงกับเด็กในโรงเรียนอนุบาล ที่ยิ่งฟังแล้วก็ยิ่งโกรธแทนในฐานะคนที่มีลูกยังเล็ก ได้แต่คิดว่าถ้าเกิดกับลูกตัวเองแล้วจะทำอย่างไร แล้วก็เหมือนป่าแตกครับ พอมีข่าวออกมาข้อมูลก็หลุดมาเรื่อยๆ แล้วก็ยิ่งเผยความเลวร้ายหนักขึ้นเรื่อยๆ อ่านแล้วได้แต่ทั้งโกรธแทนครอบครัวเด็กจริงๆ ครับ
ผมเองก็เพิ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเข้าเนอร์สเซอรี่ไปหมาดๆ และในฐานะพ่อของลูกชายที่ไปเนอร์สเซอรี่ทุกวัน ก็คงต้องเขียนถึงเรื่องนี้หน่อยว่า ที่นี่เขาดูแลกันอย่างไร และความปลอดภัยของเด็กเป็นอย่างไรบ้างนะครับ เอาจริงๆ ในญี่ปุ่นเองก็มีข่าวเกี่ยวกับเนอร์สเซอรี่ที่มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็จัดว่าน้อย เพราะมีเรื่องทีคือไม่เหลือซากแน่ๆ ครับ (แต่ในทางกลับกันก็เจอข่าวพ่อแม่ไม่ดูแลลูก ปล่อยทิ้งขว้างจนเสียชีวิตเหมือนกัน)
ประมาณเดือนก่อนก็มีข่าวเนิร์ซเซอรี่ หรืออนุบาลแห่งหนึ่งที่ทำให้เด็กเสียชีวิต เพราะเสิร์ฟผลไม้เป็นองุ่นแล้วไม่หั่นเป็นชิ้นก่อน ผลคือองุ่นติดหลอดลมเด็กเสียชีวิต ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะไม่ทำตามไกด์ไลน์ที่กระทรวงเขาจัดไว้ว่าผลไม้ขนาดเล็ก แบบองุ่นต้องหั่นเป็นชิ้นก่อนให้เด็กเสมอ
ก่อนอื่นก็ต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่า ตามที่ผมเขียนไปรอบก่อน คือเนอร์สเซอรี่ของลูกชายผมเป็นเนอร์สเซอรี่ขนาดเล็ก เล็กขนาดที่เอาห้องในอพาร์ตเมนต์มาทำนั่นแหละครับ และที่สำคัญคือ มีเด็กแค่ 8 คนเท่านั้นเอง แบ่งเป็นเด็ก 1 ขวบ และ 2 ขวบ กันครึ่งๆ แน่นอนว่าก็มีที่ใหญ่แบบที่ห้องนึงมีเด็กสิบกว่าคนเหมือนกัน แต่รวมๆ เขาก็พยายามกระจายจำนวนเด็กไปตามที่ต่างๆ ทำให้ไม่ได้มีเด็กเยอะเกินไป อย่างของลูกผมนี่ จริงๆ ห้องติดกันก็เป็นเนอร์สเซอรี่อีกที่ครับ
แต่ถึงจะเล็ก มีเด็กแค่ 8 คน แต่ว่าในแต่ละวัน จะมีคนดูแลอยู่ 4 คนเลยนะครับ แน่นอนว่า ระบบของญี่ปุ่นคือใครจะมาทำงานแบบนี้ก็ต้องสอบใบอนุญาตถึงจะมาทำงานได้ แต่ทั้ง 4 คนก็ไม่ได้มีใบอนุญาตแบบเดียวกันหมด มีแบบคนสอนหลัก และคนสอนช่วย หน้าที่ และสิ่งที่ทำได้ก็จะต่างกัน แต่เรียกได้ว่า ได้คนมีความรู้และอบรมตรงสายมาดูแลแน่นอน ไม่ใช่ว่าจ้างมาดูเด็กเฉยๆ
แต่ในการส่งลูกไปเนอร์สเซอรี่ที่นี่ ที่ทำให้ผมรู้สึกวางใจและคิดว่า เขาก็ดูแลเด็กละเอียดดี คือสมุดติดต่อระหว่างผู้ปกครองและเนอร์สเซอรี่ครับ เป็นสิ่งที่ดูง่ายๆ แต่สำคัญมาก แล้วมันยังเรียบง่ายอนาล็อก และที่สำคัญคือ
เป็นการช่วยกันระหว่างครอบครัวและเนอร์สเซอรี่
ในการสร้างเด็กคนหนึ่งครับ
ตัวสมุดติดต่อที่ว่า เป็นสมุดที่มีลักษณะคล้ายกับสมุดฉีกแนวตั้ง (เหมือนๆ ปฏิทินฉีก ที่เปิดจากล่างขึ้นบน) และเป็นกระดาษก๊อปปี้แบบหน้าคู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเวลาเขียนเสร็จแล้ว เนอร์สเซอรี่จะฉีกหน้าก๊อปปี้เก็บไปเก็บ ส่วนตัวครอบครัวก็เก็บเล่มจริงไว้ จะได้มีข้อมูลที่เหมือนกัน
ซึ่งข้อมูลที่กรอกนี่ล่ะครับ ที่ทำให้รู้ว่าแต่ละวัน เด็กคนหนึ่งเป็นอย่างไร เพราะในแต่ละหน้ามีช่องให้กรอกดังต่อไปนี้ครับ เริ่มตั้งแต่วันเดือนปีตามปกติ อารมณ์ของเด็กในวันนั้น อุณภูมิร่างกายเมื่อตื่นนอน และตอนอยู่ที่เนอร์สเซอรี่ ต่อจากนั้นคือ เวลารับกลับ และใครจะเป็นคนรับ ซึ่งก็แน่นอนว่าถ้าเป็นคนอื่นไปรับ โรงเรียนก็จะไม่ยอมให้เด็กกลับไป เพราะไม่ได้มีการติดต่อไว้ก่อนครับ (ป้องกันการลักพาตัวเด็ก หรือแม้กรณีที่ผู้ปกครองทะเลาะกันแล้วจะพาเด็กหนี)
ข้างล่างกรอบยาวก็จะเป็นตารางเวลา 24 ชั่วโมง แต่เริ่มจาก 6 โมงเย็น ไปจบที่ 5 โมงเย็นของวันถัดไป พูดง่ายๆ ก็คือ เริ่มตั้งแต่รับกลับมาบ้านโดยประมาณนั่นล่ะครับ ซึ่งในตารางเวลานี้ ก็จะต้องกรอกว่า เริ่มนอนกี่โมง ตื่นกี่โมง เพื่อบันทึกการนอนของเด็ก ขับถ่ายหนักกี่ครั้ง แต่ละครั้งปริมาณและสภาพอย่างไร อาบน้ำตอนไหน แต่ละมื้อกินอะไรบ้าง ต้องกรอกหมด ซึ่งข้อมูลพวกนี้ทางเนอร์สเซอรี่และที่ปรึกษาก็จะได้ดูและให้คำแนะนำได้ อย่างเช่นนอนน้อยไปหรือไม่
ส่วนที่ใหญ่สุดคือ ช่องที่กรอกว่า ตอนอยู่ที่บ้านและเนอร์สเซอรี่เป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ต้องกรอกตามที่ตัวเองเห็น เช่นอย่างวันนี้ผมเปิดเพลงเมทัลแล้วลูกดีใจ ก็กรอกไปตามนั้น เน้นเรื่องใหม่ๆ ที่ลูกเจอหรือทำ มีตั้งแต่ลุกขึ้นเต้น ไปเจออะไรบ้าง วันนี้ไปวิ่งเล่นที่ไหน หรือป่วยแล้วเป็นอย่างไร ส่วนทางเนอร์สเซอรี่ก็จะกรอกว่าที่เนอร์สเซอรี่เป็นอย่างไร ทำกิจกรรมอะไร ได้ลองกินอาหารอะไรใหม่ๆ ไหม และก็จะมีช่องให้กรอกจากทั้งสองฝั่งว่าอยากให้อีกฝ่ายทำอะไร เช่น ทางบ้านแจ้งเนอร์สเซอรี่ว่า ไม่ต้องให้กินยาแล้ว หรือให้ช่วยดูตรงจุดที่เดินชนโต๊ะ ทางเนอร์สเซอรี่ก็อาจจะบอกว่า มีอาการน้ำมูกไหล ทางที่ดีควรพาไปพบแพทย์
ของแบบนี้ต้องกรอกทุกวัน
กระทั่งวันหยุดที่ไมได้ไปไหนนะครับ
เพราะจะได้แชร์ข้อมูลกันตลอดว่าเด็กเป็นอย่างไร ทำอะไรบ้าง คอยเช็คได้ตลอดว่ามีอะไร บ้านผมก็ให้ภรรยาเขียนเป็นหลัก ส่วนทางเนอร์สเซอรี่ก็แล้วแต่ว่าใครรับหน้าที่วันนั้น ก็เหมือนกันช่วยกันเลี้ยงเด็กคนนึงให้เติบโตอย่างพึ่งพากันเป็นอย่างดี ทางครอบครัวก็อุ่นใจ เพราะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เทียบได้ ผมเองก็วางใจเพราะเท่าที่ดูก็ดูแลลูกผมดี และมีความสุขกับการได้ไปเนอร์สเซอรี่ตลอด (เพราะวันๆ เขามีกิจกรรมนั่นนี่ตลอดครับ)
ตัวสมุดนี่คือ ตอนไปส่ง ผมก็ต้องเอาให้ทางเนอร์สเซอรี่พร้อมกัน และก็อธิบายเสริมด้วยปากว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และอยากให้ระวังอะไร ตอนกลับเขาก็จะแนบกลับมาในกระเป๋าของใช้แต่และวัน อย่างที่บ้านผมคือ ถึงบ้านปุ๊บก็อ่านรายงานว่าลูกได้ทำอะไรบ้าง และชวนคุยตามนั้น (ถึงจะยังพูดไม่ได้ก็เถอะ) ก็เป็นการดูแลกันที่ละเอียดดีนะครับ และที่สำคัญก็คือไม่ใช่ว่า ส่งไปแล้วก็เลยตามเลย นี่เหมือนทั้งสองฝ่ายช่วยกันอย่างเต็มที่
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมเห็นถึงความตั้งใจในการรักษาความปลอดภัยของเด็กก็คือ การซ้อมการหนีภัย เพราะญี่ปุ่นมีภัยหลายอย่างเกิดขึ้นได้เสมอครับ (เขียนอยู่นี่ก็กำลังจะเจอไต้ฝุ่น) ซึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะพาเด็กขึ้นรถเข็น (ปกติเอาไว้ใช้พาไปสวนสาธารณะ) ไปลี้ภัยที่จุดลี้ภัย
ซึ่งแถวบ้านผมคือโรงเรียนมัธยม และกระบวนการรับตัวเด็กกลับก็คือ ต้องเป็นคนที่มี บัตรรับตัวเด็กกลับเท่านั้น ซึ่งมอบบัตรนี้ไว้ให้ตั้งแต่เริ่มเข้าเนอร์สเซอรี่แล้ว เพราะถ้าเกิดภัยจริงๆ เขาไม่สามารถจำได้หรอกครับว่าใครคือแม่ลูกใคร เพราะคงสับสนเอาเรื่อง เลยต้องรักษาความปลอดภัยด้วยวิธีนี้ (แต่ก็คิดอยู่ว่า ถ้าเกิดภัยหนักๆ ผม หรือภรรยาแวะมาเอาบัตรที่บ้านไม่ได้ แล้วจะทำไง ต้องถามเขาอีกทีครับ)
นี่ล่ะครับ แค่กระบวนการดูแลเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ก็ยังละเอียดขนาดนี้ ทำให้ผู้ปกครองอุ่นใจได้ และด้วยสมุดติดต่อ อุปกรณ์เชยๆ อนาล็อก แบบนี้ แต่กลับมีส่วนสำคัญมากๆ ในการที่จะช่วยรักษาความปลอดภัย แถมยังใส่ใจในการเติบโตของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างดี