รอบตัวผมมีแต่คนบ่นว่าพวกเขาทำงานหนักเกินไป (กระทั่งตัวผมเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ต้องระบายออกมาอยู่บ่อยๆ ว่า เราเองก็ทำงานหนักเกินไปมากเช่นกัน) พวกเราบ่นผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กบ้าง (ด้วยความหวังว่าเจ้านายหรือคนที่เกี่ยวข้องจะมาเห็น) พวกเราบ่นกันในวงกินข้าว กินเหล้าบ้าง แล้วพวกเราก็สงสัยว่า – สุดท้ายการทำงานหนักขนาดนี้จะนำไปสู่ชีวิตแบบไหน? และเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทำไมเราต้องเฆี่ยนตีตัวเอง และทำงานหนักมากขนาดนี้
คนรุ่นใหม่รอบตัวผมในตอนนี้ ไม่เพียงทำงานประจำงานเดียวเท่านั้น แต่พวกเขาวิ่งไล่ตามความฝันทั้งทางด้านการเงิน และความฝันที่จะได้ ‘ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ’ ด้วยการทำงานมากกว่าหนึ่งไปพร้อมกัน ในเวลาของออฟฟิศ พวกเขาอาจเป็นนักเขียนหรือกองบรรณาธิการ ในขณะที่ในเวลาส่วนตัวก็อาจใช้เวลาที่ควรได้พักผ่อนแจกจ่ายไปกับงานนอก (หรือที่เรียกว่าฝิ่น ซึ่งมีคนอธิบายว่าย่อมาจากคำว่าฟรีแลนซ์ แต่ผมก็ไม่่ค่อยเชื่อนัก) เสียหมด แต่ละชั่วโมงนาทีของพวกเขายุ่งขิงเหมือนกับผู้บริหาร ราวกับว่าต้องพยายามเติมทุกช่องว่างของเวลาให้เต็มจนล้น
แปลกดีนะครับ – ทั้งที่เรามีเทคโนโลยีทุกอย่างที่สัญญาว่าจะช่วย ‘ประหยัดเวลา’ ให้เรามีชีวิตที่ดีได้ แต่ในความเป็นจริงกลับดูเหมือนว่าเราไม่มีเวลาว่างเหลืออยู่เลย
ทำไมเราจึงทำงานหนักกันขนาดนี้?
“พวกเราจะทำงานแค่ 10-15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในอนาคต”
ในปี 1930 จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังได้เคยปรารถไว้ว่า ในอีกหน่ึงศตวรรษข้างหน้า (ซึ่งหากนับไปก็คืออีกไม่กี่ปี – ปี 2030 นี้แหละ) ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เราทั้งหลายจะทำงานกันเพียง 10 ถึง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น หลังจากที่เคนส์ปรารภไว้ไม่นาน จำนวนชั่วโมงการทำงานก็ลดลงจริงๆ โดยในช่วงปี 1950s จำนวนการทำงานโดยเฉลี่ยของคนทั่วไป ลดลงจาก 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และพวกเขาก็ใช้เวลาว่างที่ได้มาไปกับการสันทนาการและดูทีวี
เคนส์ถึงกับเขียนความเรียงบอกถึงจุดจบของการทำงานว่า
“For the first time since his creation man will be faced with his real, his permanent problem – how to use his freedom from pressing economic cares, how to occupy the leisure, which science and compound interest will have won for him, to live wisely and agreeably and well.”
(เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์จะพบกับปัญหาถาวร คือเขาจะต้องตอบคำถามว่า เขาจะใช้เวลาที่ได้จากอิสรภาพทางการเงินนี้อย่างไร จะใช้เวลาว่างที่ได้จากชัยชนะของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดอกเบี้ยเงินฝากนี้อย่างไรเพื่อให้ชีวิตดีที่สุด)
แล้วทำไมฝันของเคนส์ไม่เกิด – ในปัจจุบัน แน่นอนว่าชั่วโมงการทำงานแบบมาตรฐาน ทางการ นั้นอาจอยู่ที่ราวๆ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์) แต่แท้จริงแล้วพวกเราจำนวนมากก็ใช้เวลาเกินนั้นในการทำงานให้กับออฟฟิศผ่านโอทีบ้าง เราตอบอีเมลนอกเวลางานบ้าง หรือเราก็เติมเต็มเวลาว่างด้วยการ ‘รับฝิ่น’ มาทำบ้าง
ทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมเทคโนโลยีไม่ให้ชีวิตที่ดี (ซึ่งในนิยามของเคนส์ คือชีวิตที่ว่าง – ต่างจากคำนิยามของมาร์กซ์ ซึ่งมาร์กซ์มองว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ทำงานเกิดผล มีงานที่มีความหมาย เพื่อให้เราพบศักยภาพของตัวเองได้ในที่สุด)
คำอธิบายอาจมาจากหลายสาเหตุประกอบกัน
เหตุผลที่ง่ายที่สุด – เราอาจทำงานหนักเพราะจำเป็นจริงๆ ในเชิงเศรษฐกิจ
เราอาจบอกว่าสาเหตุของการทำงานหนัก เกิดจากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนคนรุ่นใหม่ไม่สามารถทำงานเพื่อถือครองทรัพย์สินได้โดยง่าย การซื้อบ้านดูเป็นเรื่องไกลเกินฝันสำหรับหลายคน หรือสำหรับคนที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต การทำงานหนักก็ดูเป็น ‘ความจำเป็น’ มากกว่าแค่ ‘ทางเลือกในการใช้ชีวิต’
เทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมโยงโลกเข้าหากันนั้นยังทำให้โอกาสวิ่งเข้าสู่ทุกคนได้อย่างง่ายดาย แต่นั่นก็หมายความว่า โอกาสจะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนที่มีความสามารถมากที่สุดเช่นกัน (เพราะใครๆ ก็ติดต่อใครๆ ได้) ซึ่งทำให้คนจำนวนหนึ่งแข่งกันทำงานหนักเพราะเข้าใจว่าถ้าตัวเองหยุด – ก็มีคนพร้อมที่จะมาแทนที่ตนเสมอ โดยเฉพาะในงานฝิ่น (เช่น มือสัมภาษณ์อาจไม่กล้าปฏิเสธงาน เพราะคิดว่า ‘เดี๋ยวครั้งต่อไปเขาลืมเรา’) แนวคิดแบบนี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถหยุดวิ่งได้ เพราะการพักอาจจะไม่ใช่แค่การพัก แต่อาจเป็นการหยุดไปอย่างถาวร
เช่นเดียวกัน เทคโนโลยียังทำให้ลูกค้าหาคนทำงานที่ดีที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุดได้ด้วย (ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเขานิยามคำว่า ดีที่สุด อย่างไร) นั่นอาจทำให้เกิดธุรกิจออกแบบโลโก้ที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกินห้าร้อยบาทต่อหนึ่งโลโก้ซึ่งเป็นการตั้งมาตรฐานที่ต่ำกว่าที่คนในวงการเคยได้รับ การเข้ามาของตัวเลือกใหม่ๆ นี้ ทำให้คนในวงการต่างๆ จะต้องแย่งชิงลูกค้าที่พร้อมจ่าย และสร้างลูกค้าประจำด้วยการยอมตามใจพวกเขา หรือผลิตงานที่ดีขึ้น หรือผลิตงานจำนวนมากขึ้นเพื่อให้จดจำ
นอกจากนั้น ‘ความจำเป็นในเชิงเศรษฐกิจ’ ในปัจจุบันอาจไม่ได้มีความหมายดั้งเดิมในแบบที่ว่า จำเป็นเพราะต้องกินข้าว จำเป็นเพราะต้องมีที่คุ้มกะลาหัว อีกต่อไปแล้ว แต่อาจหมายความถึง จำเป็นที่ต้องใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ เพื่อเข้าสังคมหรือเพื่อทำงานให้สะดวกขึ้น หรือ จำเป็นที่จะต้องแต่งกายให้ดีเพื่อสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล ซึ่งความจำเป็น (ที่อาจดูเหมือนไม่จำเป็นสำหรับคนอื่น) นี้ก็สร้างความกดดันใหม่ๆ ให้กับคนทำงาน โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้ภาพลักษณ์ในการหาเลี้ยงชีพด้วย
เทคโนโลยีทำให้การทำงาน (หนัก) เป็นเรื่องง่ายขึ้น
แทนที่เทคโนโลยีจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น มันกลับลดเวลาว่างของเราลง เพราะเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างเวลาว่างกับเวลางานถูกกำจัดไปด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว
ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้วที่คุณจะได้รับโทรศัพท์ในเช้าวันเสาร์จากลูกค้าที่ต้องการงานด่วน ถึงแม้ในปัจจุบันในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส จะมีการออกกฎหมายอย่างเป็นหลักเป็นฐานว่าพนักงานไม่จำเป็นต้องตอบอีเมลของออฟฟิศในขณะที่ไม่ได้อยู่ในเวลางาน (รู้จักกันในชื่อ The Right to Disconnect – สิทธิตัดการเชื่อมต่อ) แต่สิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยอมรับในประเทศอื่นๆ นัก
ถ้าออฟฟิศพยายามจะติดต่องานเราในวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือตอนเย็นหลังเลิกงานแล้ว เราอาจจะยังพอโวยวายได้บ้างว่าเป็น ‘เวลาส่วนตัว’ แต่กลับกัน ถ้าลูกค้างานนอกติดต่อเรามาในช่วงเวลาพักผ่อน เราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วข้อตกลงระหว่างลูกค้างานนอกกับคนทำงานนอกคือ ‘รู้กันว่าอยู่ในสถานะที่แตกต่างจากพนักงานออฟฟิศ เหมือนคนค้าขาย ที่จะติดต่อเมื่อไรก็ได้ และถ้าติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยาก ก็อาจไม่มีการใช้บริการครั้งต่อไปอีกแล้ว’
การทำงานหนักกลายเป็นสถานะ
เราอาจใช้การทำงานหนักเพื่อบ่งบอกสถานะของตนเองว่ามีความสำคัญมากแค่ไหน มีงานวิจัยจาก Harvard Business School โดยศาสตราจารย์ด้านการตลาด ที่ไปไล่ดูจดหมายในอดีต และพบว่ามีการพูดถึง ‘ตารางที่วุ่นมาก’ (crazy schedules) เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในยุค 1960 ซึ่งหมายถึงว่าชาวอเมริกัน เริ่มพูดว่าตนเองเป็นคนที่ทำงานหนัก ตั้งแต่ช่วงราวๆ นั้นเอง นอกจากนั้น พวกเขายังติดตามการให้สัมภาษณ์ของเหล่าเซเลบและดาราดังว่ามีการพูดว่า ‘ฉันไม่มีเวลาใช้ชีวิต’ หรือ ‘อยากหยุดพักยาวๆ’ ที่ทำให้สังคมมีค่านิยมแบบเดียวกันด้วยไหม
นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า จากเดิมที่ค่านิยมของคนรวยจะเป็นพวก aristrocat (พวกรุ่มรวยในการใช้ชีวิต) ที่วันๆ จิบไวน์อยู่่ข้างสระน้ำโดยที่ไม่ต้องมายุ่งกับเรื่องทางโลกอย่างเช่นการทำงาน ในปัจจุบัน คนที่ได้รับความนิยมมากกว่าจะเป็นพวก ‘ทำงานหนัก ทำงานหลายชั่วโมงมากๆ และไม่ค่อยมีเวลาว่าง’
พวกเขาพิสูจน์ทฤษฎีนี้โดยให้ผู้เข้าร่วมอ่านคำนิยามคนที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ ‘คนนี้เป็นคนยุ่งมาก ทำงานหนักมาก’ ไปจนถึง ‘คนนี้ไม่ค่อยทำงาน ใช้ชีวิตสบายๆ’ แล้วให้พวกเขาเดา (ให้คะแนน) ว่าจากนิยามของคนที่ได้อ่าน คิดว่าคนนี้มีสถานะทางสังคมเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เชื่อมโยงการ ‘ยุ่งมากทำงานหนักมาก’ กับสถานะสูงๆ ในสังคม (แทนที่จะเป็นคนไม่ค่อยทำงานเหมือนภาพจำแต่ก่อน)
ศาสตราจารย์ด้านการตลาดคนนี้ยังบอกด้วยว่าการเปลี่ยนภาพจำของคนรวยหรือคนที่มีสถานะทางสังคมนี้น่าจะมีผลมาจากการที่โลกของเราเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการทำงานจากการใช้แรงงานหนัก (ซึ่งอาจเป็นภาพจำของคนที่ฐานะด้อยกว่า) มาเป็นการทำงานโดยใช้ความรู้และความคิดแทน
ต้องหมายเหตุว่า การทดลองนี้ทำในอเมริกา ซึ่งพอพวกเขาไปทดสอบแบบเดียวกันในอิตาลีก็ได้ผลกลับกัน นั่นคือชาวอิตาเลียนจะคิดว่าคนใช้ชีวิตสบายๆ มีสถานะทางสังคมสูงกว่า
มีการสำรวจอีกชิ้นโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียที่สำรวจคนทำงานในแวดวงไฟแนนซ์เป็นเวลาเก้าปี พบว่าพนักงานเหล่านี้ใช้เวลาทำงานอาจมากถึง 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจากการไล่เรียงอดีตมาก็พบอีกว่า เมื่อสามสิบปีก่อน คนทำงานที่ได้รับค่าจ้างสูงในอเมริกา มักทำงานจำนวนชั่วโมงน้อยกว่าคนทำงานรายได้ต่ำ ในขณะที่ในปี 2006 การณ์กลับกลายเป็นว่า คนทำงานรายได้สูงทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงมากกว่าคนรายได้ต่ำถึงสองเท่า
สำหรับในประเทศไทย มีการสำรวจโดย GFK พบว่าคนไทยทำงานโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย (เทียบกับญี่ปุ่นที่มีการทำงาน 37.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)
ในขณะที่ข้อมูลการทำงานจากระบบฐาข้อมูลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ปี 2559 พบว่า ชาวไทยในสาขาเกษตรกรรมมีจำนวนชั่วโมงทำงานที่ 35.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหมืองแร่ 44.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การผลิต 44.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก่อสร้าง 43.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ค้าปลีก 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การเงิน 39.3 ชั่วโมงสัปดาห์ อสังหาริมทรัพย์ 43.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การศึกษา 35.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดย ‘ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล’ (น่าจะหมายความถึงคนใช้หรือแม่บ้านประจำ) มีจำนวนชั่วโมงทำงานมากที่สุดที่ 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เฉลี่ยที่ 41.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซ่ึงหากดูเพียงเท่านี้จะยังไม่พบความแตกต่างระหว่างสายงานมากนัก (คือไม่สามารถสรุปได้ว่า งานที่เป็นงานด้านความรู้ที่ไม่ต้องใช้แรงงาน ทำงานจำนวนชั่วโมงมากกว่างานที่ต้องใช้แรงงานเสมอไป)
การทำงานหนักอาจเป็นเรื่องสนุก
เดิมทีการทำงานที่แยกขาดกับชีวิตอาจเป็นเพียงวิธีเพื่อเลี้ยงปากท้องเท่านั้น แต่ในปัจจุบันก็มีคนให้ค่าความหมายว่างานเท่ากับชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาอาจเพลิดเพลินกับงานของตนจนไม่รู้สึกถึงเส้นแบ่งที่กั้นขวางระหว่างงานกับชีวิตอีกต่อไป
Ryan Avent ตั้งข้อสังเกตไว้ใน 1843 Magazine ว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานปัจจุบัน (โดยเฉพาะงานแบบ White Collar ที่ใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์) นั้นเอื้อให้พนักงานเกิดความเพลิดเพลินในการทำงาน จนอาจเกิดสิ่งที่เรียกว่า Flow (ความรู้สึกไหลลื่นในการจดจ่อทำอะไรสักอย่างจนแทบไม่รู้สึกว่าเวลาผ่านไป) ซึ่งบรรยากาศที่ท้าทายนิดๆ แต่ไม่ยากเกินไปจนทำไม่ได้นี้ ก็อาจทำให้คนจำนวนมากหลงเสน่ห์กับงานของตนจนถอนตัวไม่ขึ้น งานเป็นเพียงการแก้ปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่งอย่างไร้รอยต่อเท่านั้น ยังมีการศึกษาด้วยว่าผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงมา อาจใช้การทำงานหนักเกินไปเป็นเครื่องช่วยบดบังอารมณ์ข้างใต้ไม่ให้ปะทุขึ้นมา
เหตุผลในการทำงานหนักข้อสุดท้ายนี้อาจจะฟังดูมีความสุขที่สุด เพราะเป็นการทำงานหนักที่คุณเลือกเองโดยไม่ถูกบังคับจากข้อจำกัดอื่นๆ แต่อย่างไรเมื่อคุณทำงานหนักเกินไป (ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด หรือทุกเหตุผลประกอบกัน) คุณก็อาจสูญเสียแง่มุมอื่นๆ ของชีวิต ทั้งสุขภาพและความสัมพันธ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สัญญาณว่าคุณทำงานหนักเกินไปและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น
นิตยสาร INC เคยลงบททดสอบเพื่อตรวจว่าคุณทำงานหนักเกินไปหรือไม่ โดยเขาให้สังเกต 9 สัญญาณต่อไปนี้คือ อาการปวดหัว อ่อนเพลีย มีภาวะซึมเศร้าอ่อนๆ รู้สึกง่วงงุนงงตลอดเวลา น้ำหนักขึ้น กระสับกระส่าย เวียนหัว มีหมอกในความคิด (เหมือนคิดอะไรไม่กระจ่าง) และรู้สึกได้ถึงรสโลหะในปาก หากมีอาการเหล่านี้หลายรายการร่วมกัน ก็อาจแปลว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนคุณแล้วว่าให้พักผ่อนเสียบ้าง
ในบทความเดียวกัน (ลิงก์ด้านล่าง) ยังบันทึกประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานหนักเกินไปจนร่างกายรับไม่ไหวและ ‘เบรคดาวน์’ ด้วย เช่น ‘ผมเคยทำงานหนักจนต้องนอนค้างที่ออฟฟิศ ทำงาน 90-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แล้ววันหนึ่ง เพื่อนร่วมงานผมก็ตาย” หรือ “ผมเคยเป็นผู้ประกอบการดาวรุ่ง แล้ววันหนึ่ง ผมก็ลุกจากเตียงไม่ขึ้น” “ตอนฉันอายุ 38 ปี ฉันยังดูสาวและฟิตอยู่เลย แล้วจู่ๆ ฉันก็หัวใจวาย” ฯลฯ สำหรับคนที่ทำงานหนักอย่างเราๆ แล้ว ประสบการณ์จากผู้มาก่อนเหล่านี้อาจช่วยเตือนใจได้ดี ยังไม่ต้องพูดถึงการคาโรชิ หรือทำงานหนักจนตาย ที่หลายคนเคยได้ยินกรณีจากญี่ปุ่นกันจนคุ้นเคย
ส่วนตัวแล้ว ผมเองพบกับประสบการณ์ทำงานหนักจนร่างกายเสียอยู่บ้าง เช่น อาจนอนเป็นวันๆ โดยไม่ได้สติขึ้นมาเลย เป็นเวลา 24-30 ชั่วโมง (เพื่อนชอบแซวว่า “เครื่องดับ”) หรือเคยมีผื่นขึ้นตามตัวเหมือน ‘ยุ่น’ ในฟรีแลนซ์ และก็เคยพบกับประสบการณ์ที่รุนแรงกว่านั้นผ่านเพื่อนๆ ร่วมงาน เช่น เพื่อนในทีมคนหนึ่งเคยทำงานหนักจนขยับตัวซีกขวาไม่ได้ไปหลายเดือน หรือรุ่นพี่คนหนึ่งก็ทำงานหนักจนความเครียดสะสมที่แผ่นหลัง ทำให้ไม่สามารถขยับตัวตั้งแต่คอขึ้นไปโดยไม่เจ็บปวดทรมานได้ เพื่อนเหล่านี้ ทำงานที่อาจไม่ได้ใช้แรงงานยกข้าวยกของอะไรทั้งสิ้น พวกเขาทำงานในภาวะที่ต้องนั่งนานๆ บ้าง ใช้ความคิดอย่างเข้มข้นบ้าง ความเหนื่อยล้าจากงานนั้นสะสมเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันก็ระเบิดออกมากลายเป็นปัญหาหนัก
ไม่ว่าเราจะทำงานด้วยเหตุผลใดก็ตาม ตั้งแต่ด้วยความจำเป็นทางด้านการเงิน (ที่หลีกเลี่ยงการทำงานหนักยากที่สุด) ไปจนถึงการตอบสนองความพึงพอใจของตนเองเพราะการทำงานนั้นแสนเพลิดเพลิน เราก็อาจต้องไม่ลืมว่า การทำงานหนักติดต่อกันนานๆ นั้นทำให้ร่างกายของเราเปรียบเหมือนระเบิดเวลา ที่จะมาเช็คบิลในขณะที่เราไม่รู้ตัว
พักผ่อนบ้างนะครับ
อ้างอิง, อ่านต่อ:
ชีวิตที่ดี, ความหมายของชีวิต
Karl Marx / http://people.tamu.edu/~sdaniel/Notes/96class22.html
The Right to Disconnect
http://www.bbc.com/news/world-europe-38479439
งานคือสถานะทางสังคม
งานวิจัยเพนซิลเวเนีย
http://www.newyorker.com/magazine/2014/01/27/the-cult-of-overwork
จำนวนชั่วโมงทำงานไทย
http://positioningmag.com/60849
จำนวนชั่วโมงทำงานไทย แยกตามอาชีพ
การศึกษาด้วยว่าผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงมา อาจใช้การทำงานหนักเกินไปเป็นเครื่องช่วยบดบังอารมณ์ข้างใต้ไม่ให้ปะทุขึ้นมา
สัญญาณการทำงานหนัก