คำแถลง: บทความนี้เต็มไปด้วยคำหยาบในแบบที่ไม่เคยเขียนบทความไหนแล้วมีคำหยาบเยอะขนาดนี้มาก่อน และที่ต้องหยาบก็เพราะมันเป็นการพยายามแยกแยะคำหยาบแต่ละคำลงไปตรงๆ ในแบบที่ถ้ามัวมาเข้ารหัส เช่น “คำที่สื่อถึงอวัยวะเพศหญิง” แบบนี้ ก็จะยืดยาวและที่สำคัญคืออาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ หากระคายเคืองใจกับคำหยาบต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าครับ
ทุกวันผมต้องเผชิญกับ ‘พายุหี’
ให้ตายสิ – แค่พิมพ์คำว่า ‘พายุหี’ ผมยังรู้สึกกระดากมือเลย ถ้าต้องให้พูดออกมา (เหมือนที่น้องในออฟฟิศพยายามให้ผมเปล่งเสียงคำคำนี้ออกมา) ผมคงทำได้แค่อ้อมแอ้ม พูดจาไม่เต็มคำ นั่นเป็นเพราะผมรู้สึกว่าคำว่า หี นั้นเป็นคำแรงๆ ทำให้เขินที่จะพูด เช่นเดียวกับว่าหากไม่โกรธจริงๆ ก็จะไม่มีทางที่ผมจะออกปากว่า ควย ซึ่งเป็นคำที่ดู โอ้โห โกรธชังกันมาตั้งแต่ชาติปางไหน
ถึงเป็นคำที่พิมพ์หรือออกเสียงแล้วชวนให้ใครหลายคนเขิน (หรือกระทั่งรับไม่ได้) แต่ก็ดูเหมือนว่าคำว่า หี ควย คำหยาบระดับรองลงมาเช่น เย็ด และคำหยาบทั่วไปอื่นๆ เช่น แม่ง เหี้ย หรือสัส จะถูกพูดหรือเขียนออกมาอย่างมากมายขึ้นในปัจจุบัน
อย่างเช่นคำว่า หี และ ควย นั้น หากคุณใช้โซเชียลเนตเวิร์ก ติดตามเพจบางเพจ โดยเฉพาะหากอ่านคอมเมนต์บ่อยๆ ก็คงพบเจอคำนี้ได้ในลักษณาการต่างๆ ทั้งแบบตรงๆ (พิมพ์คำว่าหี ควย แม่ง ฯลฯ ออกมาเลย เช่น เพจน้อง บอกว่า “สิ่งที่น้องเงี่ยนทำ ไม่ใช่เพ่อสาสนาน้อง แต่เป้นเพื่อควย” [คำที่สะกดแปลงรูปเป็นไปตามเพจ]) แบบกร่อนหรือแปลงเสียงเพื่อลดระดับความหยาบ (แม่งเป็นม่างงง เป็นแม้ง) แบบใช้ภาษาอังกฤษแทน (เช่น นักวิจารณ์หนังให้เกรด K for Kuay) หรือแบบเซนเซอร์บางตัวอักษร (ค*ยยยยยยย)
เราใช้คำหยาบกันมากขึ้นจริงไหม?
เราอาจรู้สึก (ด้วยการสังเกตรอบๆ ตัว) ว่าปัจจุบันมีคนใช้คำหยาบมากขึ้น ทั้งในโซเชียลเนตเวิร์ก รายการโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ ที่พูดว่าคำเหี้ยได้อย่างสะดวกปาก แต่ความรู้สึกนี้มีคำยืนยันในเชิงสถิติไหม?
ในภาษาไทย ผมลองพยายามหาสถิติการใช้คำหยาบแล้วไม่พบตรงๆ สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุด (แม้จะใช้แทนกันไม่ได้) คือสถิติคำค้นคำหยาบจาก Google Trend ซึ่งเป็นดังนี้
จากกราฟจะเห็นว่ามีผู้ค้นหาคำว่าเย็ด มากที่สุด รองลงมาคือคำว่าหี และควยตามลำดับ ส่วนคำว่าเหี้ยและคำว่าแม่งนั้นมีผู้ค้นหาน้อยเมื่อเทียบกับสามคำแรก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? – เหตุผลก็คือ คำเหล่านี้ไม่ได้ถูก ‘ใช้’ ในฐานะคำหยาบ แต่ผู้ค้นหา ค้นหาคำเหล่านี้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น หาเพื่อนนอน หรือหาหนังโป๊ดูนั่นเอง (คำที่มีความหมายทางเพศจึงนำคำอย่าง แม่ง หรือ เหี้ย เพราะการค้นหาคำว่าแม่ง หรือเหี้ย นั้นไม่มีจุดประสงค์อะไรมารองรับ)
จะเห็นได้จาก Related Queries ของคำว่าหี ซึ่งอันดับแรกคือ เย็ด หี รองลงมาด้วย หีสาว หีเด็ก ดูหี และหนังหี ส่วน Related Queries ของคำว่าควยคือ ควยใหญ่, ควยหี, เย็ดควย, เกย์ และ ควยเกย์ ตามลำดับ ในขณะที่ Related Queries ของคำว่า แม่ง หรือ เหี้ย นั้นจะไม่มีเป้าประสงค์ในทำนองเดียวกัน (คือ ตัวเหี้ย, เพลงเหี้ย, ไอ้เหี้ย, คนเหี้ย, ไอ้เหี้ย และแม่ แม่ง แม่ปิง เพลงแม่ แม่กง)
สิ่งที่น่าสนใจจากกราฟอีกนิดนึงคือเดิมทีคำว่าหีนั้นมีผู้ค้นหาจำนวนมากที่สุด แต่ในเดือนธันวาคมปี 2013 คำว่า เย็ด ก็แซงไป (และคำว่าหีก็ไม่เคยกลับขึ้นมานำอีกเลย) – เป็นข้อสังเกตเล็กๆ ว่า ‘เรากำลังมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นหรือไม่’? (คำว่าหี อาจถูกสืบค้นโดยผู้ชายที่เป็น Heterosexual เป็นหลัก ขณะที่คำว่าเย็ดนั้นสืบค้นได้จากคนทุกเพศ)
เมื่อข้อมูลจาก Google Trend ใช้ไม่ได้ผลดีนัก (เพราะคำว่าหีกับควยถูกใช้ในฟังก์ชั่นตามความหมายของมัน, คืออวัยวะเพศ, ไม่ใช่คำหยาบตรงๆ) เราจึงอาจตอบคำว่าเรื่อง ‘เราใช้คำหยาบกันมากขึ้นจริงไหม’ โดยเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษแทน ซึ่งสำหรับภาษาอังกฤษ มีเครื่องมือชื่อ Google ngram ที่บันทึกและแสดงการเปลี่ยนแปลงของการใช้คำในหนังสือ (ที่ถูกทำให้เป็นดิจิทัล) จำนวนมากเป็นระยะเวลาหลายสิบปีติดต่อกัน
เราอาจเทียบได้ว่า หีและควยนั้นเป็นคำหยาบที่มีความเข้มข้นสูงสุด ซึ่งในภาษาอังกฤษอาจตรงกับคำว่า cunt ขณะที่คำว่าแม่งหรือเหี้ยนั้นเป็นคำหยาบระดับรองๆ มา ซึ่งอาจเทียบได้กับคำว่า fuck (ทั้งๆ ที่คำว่า fuck นั้นโดยความหมายแล้วคือ เย็ด แต่โดยหน้าที่แล้วคำว่า fuck ถูกใช้เติมในประโยคได้หลากหลายคล้ายกับคำว่า แม่ง) หรือคำว่า shit
จากกราฟแสดงการใช้งานคำหยาบในหนังสือ จะเห็นว่าระหว่างปี 1820-1950 นั้นแทบไม่มีการใช้คำหยาบในหนังสือเลย แต่หลังจากนั้นการใช้คำหยาบก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน โดยมีการใช้คำว่า shit มากที่สุด fuck รองลงมา และ cunt น้อยที่สุด (cunt ใช้น้อยกว่า shit ราว 13 เท่า และใช้น้อยกว่า fuck ราว 7 เท่า)
(สามารถอ่านงานวิจัยเรื่องนี้ที่ศึกษาคำหยาบ 7 คำ คือคำว่า shit, piss, fuck, cunt, cocksucker, motherfucker และ tits กับการใช้ในวรรณกรรม ได้ที่ The Guardian)
ในภาษาไทย เคยมีการสำรวจการใช้คำหยาบในหมู่นักศึกษาในปี 2554 โดยเป็นการสำรวจจำกัดเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตปทุมธานี จำนวน 351 คน พบว่า มีระดับพฤติกรรมการใช้วาจาในสถานศึกษาด้านการพูดคำหยาบอยู่ในระดับจริง (มีการพูดคำหยาบจริง) และงานวิจัยโดย Penn Schoen Barland ประเทศสิงคโปร์ ที่สำรวจผู้ใช้เนตชาวไทย ก็พบว่าคนไทยประมาณ 43% เบื่อการใช้คำหยาบคาย (เมื่อเทียบกับคนมาเลเซีย 39% คนสิงคโปร์ 7% และคนอินเดีย 4% ที่เบื่อการใช้คำหยาบคาย)
ระบบนิเวศน์ของคำหยาบ
สถิติ: มีงานวิจัยบอกว่า เด็กๆ จะเริ่มพูดหยาบตอนอายุ 6 ขวบหรือเด็กกว่านั้นอีก และเราจะพูดหยาบประมาณ 0.5-0.7% ของบทสนทนา ลองสังเกตตัวเองดูนะครับ!
เราอาจคิดว่าคำหยาบก็คำหยาบสิ ไม่เห็นน่าจะแบ่งประเภทอะไรได้เลย แต่ Steven Pinker นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาและนักภาษาศาสตร์ เคยแบ่งประเภทคำหยาบตามหน้าที่การใช้งาน (ฟังก์ชั่น) ของมันออกมาได้ห้าแบบ คือ
- ใช้ตามความหมายของคำ เช่น Let’s fuck (เย็ดกันเถอะ)
- ใช้ตามความหมายแบบแสลง หรือเป็นสำนวน เช่น It’s fucked up. (ห่าเหว)
- ใช้เพื่อโจมตี เช่น Fuck you! (ไอ้เหี้ย!)
- ใช้เพื่อเน้นคำ เช่น It’s fucking amazing (แม่งโคตรดี)
- ใช้เพื่อระบายอารมณ์ เช่น Fuck!!! (เหี้ยยยยยยยยย!!!)
เขายังเคยอธิบายว่าทำไมคำด่าทั่วโลกจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องซ้ำๆ อย่างเรื่องเพศ, ศาสนา, การขับถ่าย, ความตาย, การทุพพลภาพ หรือกลุ่มคนที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ว่า เพราะเรื่องซ้ำๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องต้องห้าม และสัมพันธ์กับความรู้สึกเชิงลบ สำหรับเรื่องเพศนั้นเพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ถูกกดไว้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ในเรื่องศาสนานั้น ก็มักเป็นคำหยาบที่พุ่งเป้าไปที่พลังอำนาจที่ล้นเหลือของเทพ เป็นต้น
เราจะรู้สึกว่าคำนั้นหยาบหรือไม่หยาบ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมว่าเราเคยสัมผัสคำคำนั้นมามากแค่ไหนและอย่างไร – มีน้องในออฟฟิศคนหนึ่งที่มาจากภาคอีสาน เธอบอกว่าเมื่อเข้ากรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่าคำว่า “ควย” นั้นไม่หยาบ เพราะคำว่าควยนั้นแปลว่าควาย (ไอ้ควย แปลว่า ไอ้ควาย) แต่เมื่อเพื่อนพูดว่า “เหี้ย” นั้นเธอจะรู้สึกว่าหยาบคายมาก หรือในภาคเหนือ เรียกส่วนแผ่นหนังที่ใส่กระสุนของหนังสติ๊กว่า หี หรือ หีก๋ง คนที่ใช้ในความหมายนี้ก็จะรู้สึกว่ามันไม่หยาบ เป็นต้น
และก็ดูเหมือนว่า ยิ่งคำคำไหนจะถูกห้ามไม่ให้พูด เป็นคำทาบูมากเท่าไร คำนั้นยิ่งหยาบในความรู้สึกของเรามากเท่านั้น และน่าสนใจว่า ยิ่งเราถูกห้ามไม่ให้ทำอะไร การดึงดันทำสิ่งนั้นยิ่งแสดงถึงอำนาจ หรืออย่างน้อย, ก็แสดงออกถึงความพยายามในการคานอำนาจ
คำหยาบเชิงบวก
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยเกี่ยวกับคนที่พูดคำหยาบในหลายด้าน ซึ่งผลวิจัยก็มักจะออกมาในเชิงบวก (จนทำให้คนที่ชอบพูดคำหยาบ ซึ่งจริงๆ ก็คือคนปกตินี่แหละ! แชร์กันอย่างล้มหลาม) เช่น งานวิจัยปี 2014 เสนอว่า “คนพูดคำหยาบจูงใจมากกว่า” ที่ทดลองให้ผู้เข้าร่วมอ่านบล็อกโพสท์ที่เขียนโดยนักการเมือง (สมมติ) พบว่า เมื่อมีคำหยาบอยู่ในบล็อก คนอ่านก็จะประทับใจคนเขียนมากกว่า หรือก็มีงานศึกษาที่บอกว่า หากอนุญาตให้พูดหยาบ เราจะสามารถทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าเป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยปี 2017 ที่เสนอว่าคนพูดหยาบจริงใจกว่าโดยถามผู้เข้าร่วมวิจัย 276 คน ว่าพูดคำหยาบบ่อยแค่ไหน และคำผลที่ได้มาเทียบกับแบบสอบถามด้านความซื่อสัตย์ รวมไปถึงพยายามศึกษาในระดับที่กว้างขึ้นเช่น ศึกษาด้วยข้อมูลจากทวิตเตอร์และศึกษาระดับความซื่อสัตย์ของนักการเมืองด้วย นักวิจัยก็สรุปว่า “ในการศึกษารวมสามครั้ง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม เราพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้คำหยาบ กับความซื่อสัตย์” แต่ก็เตือนว่า เขาไม่ได้หมายความว่าคนหยาบคายเท่ากับคนซื่อสัตย์เสียทีเดียว เช่นเดียวกับงานวิจัยที่เสนอว่าการพูดคำหยาบเป็นสัญญาณของความฉลาดเฉลียว
ยังมีผู้เสนอให้ผู้หญิงทวงสิทธิคำหยาบทางเพศด้วย เช่นคำว่า cunt ที่มีผู้เสนอในหนังสือตั้งแต่ปี 1998 ชื่อ Cunt: A Declaration of Independence (หี: การป่าวประกาศถึงเสรีภาพ) ว่าเป็นคำที่เดิมทีไม่ได้มีนัยที่หยาบ แถมยังเป็นคำที่ทรงพลังสำหรับผู้หญิงด้วย
การพูดหยาบมากขึ้นแสดงถึงอะไร?
Michael Adams ผู้เขียนหนังสือ In Praise of Profanity (สรรเสริญคำหยาบ) เสนอว่าคำหยาบนั้นเป็นส่วนประกอบของการเป็นมนุษย์ได้เต็มความหมาย แต่ถ้าเราใช้คำหยาบมากเกินไป เราก็จะสูญเสียความเป็นมนุษย์เช่นกัน เขายังพูดไว้อย่างน่าสนใจ (ซึ่งก็อาจจะตรงกับข้อสังเกตข้างต้น) ว่า “ถ้าสังคมใช้คำหยาบคำใดคำหนึ่งมากเกินไป คำหยาบนั้นๆ ก็อาจจะสูญเสียความหมายจนทำให้เราต้องประดิษฐ์คำหยาบขึ้นมาใหม่” (เช่น เมื่อทุกคนพูดคำว่า fuck คำว่า fuck ก็จะอ่อนแรงลง จนอาจมีความแข็งแรงทางความหมายไม่เท่าเดิม) แต่จากสถิติการใช้คำหยาบปัจจุบัน (0.5%) Micheal Adams ก็คิดว่ายังไม่อยู่ในระดับที่ต้องห่วง
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ในปี 2553 ถึงเรื่องนี้โดยแยกคำหยาบออกจากภาษาแห่งความรุนแรง โดยบอกว่า “เป็นสองอย่างที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะมีการเหลื่อมซ้อนกันอยู่บ่อยๆ” อ.นิธิ เขียนว่า
“ผมคิดว่าคำที่เคยถูกถือว่าหยาบทั้งหลาย ที่แซมอยู่ในคำสนทนาของเด็กและวัยรุ่นปัจจุบัน ล้วนสะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นทั้งนั้น ที่เคยคิดว่า “หยาบ” ก็กลายเป็น “ละเอียด” มากขึ้น”
[…]
“คำหยาบไม่ใช่เรื่องของความรุนแรงเสมอไป ตรงกันข้ามกับคำด่าหยาบๆ คายๆ ซึ่งใช้ในเวลาวิวาทกันด้วยซ้ำ ผมคิดว่าภาษาไทยปัจจุบันเป็นภาษาที่เกลื่อนความรุนแรงให้หมดความแหลมคมได้เก่ง เสียจนกระทั่งคนไทยกลืนความรุนแรงลงพุงไปได้อย่างสะดวกสบาย”
คำหยาบนั้นหยาบด้วยบริบทรอบๆ และหยาบด้วยความคิดเดิมของผู้พูดและผู้ฟัง (และถ้าเป็นบนอินเทอร์เนต ก็อาจต้องใช้คำว่า ‘ผู้พบเห็น’)
อินเทอร์เนตเป็นพื้นที่กลางๆ ระหว่างพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ส่วนรวมแบบเฉพาะกลุ่ม และพื้นที่สาธารณะ เมื่อสามพื้นที่นี้เหลื่อมเข้าหากัน ก็เป็นเรื่องปกติที่เราอาจพบคำที่เรารู้สึกว่าหยาบได้มากในนั้น เมื่อชนชั้นต่างๆ ถูกเกลี่ยเข้าหากันทั้งในเรื่องพื้นที่และเรื่องของภาษา เราจึงได้เห็นจุดปะทะที่มาในรูปของ ‘ความเบื่อหน่าย’ ‘ความกังวล’ ไปจนถึง ‘ความเป็นห่วง’
ซึ่งจริงๆ ก็อาจจะไม่ต้องเป็นห่วงหรอกครับ เพราะก็อย่างที่บอก เมื่อคำหยาบถูกใช้มากๆ ใช้จนชินชา อำนาจแห่งความหยาบของมันจะหายไปเอง
และก็อาจเป็นผมนี่แหละ ที่ต้องทำให้ตัวเองต้องรีบๆ ชินกับคำว่า พายุหี เสียที :p
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
การศึกษาพฤติกรรมการใช้วาจาในมหาวิทยาลัย กรณีศึกษา นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี, นางสาวรัชนีพรรณ ทะแพงพันธุ์
คนไทยเป็นสุภาพชน หงุดหงิดใจโลกออนไลน์หยาบคาย
https://www.thairath.co.th/content/542558
Mind you language! Swearing around the world
http://www.bbc.com/culture/story/20150306-how-to-swear-around-the-world
Steven Pinker: What Are Cuss Words and Why Do We Use Them?
https://jrbenjamin.com/2015/02/19/steven-pinker-what-are-cuss-words-and-why-do-people-use-them/
Cursing in English on twitter
http://dl.acm.org/citation.cfm?id=2531734
Swearing in Political Discourse
http://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0261927X14533198
The most offensive curse word in English has powerful feminist origins
https://qz.com/1045607/the-most-offensive-curse-word-in-english-has-powerful-feminist-origins/
คำหยาบและความรุนแรงโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1544 หน้า 25