ครั้งแรกที่ผมเขียนคอลัมน์ ‘อ่านไม่จบ’ ผมเคยพูดถึงนวนิยายเกาหลีเรื่อง The Vegetarian ไป ไม่ใช่ว่าสัปดาห์นี้จะมีวาระสำคัญอะไรหรอกครับ เพียงแต่จะเกริ่นว่า เพราะติดใจกลิ่นอายของวรรณกรรมเกาหลีจากหนังสือเล่มนั้น ผมจึงพยายามค้นหาชื่อนักเขียนเกาหลีเพิ่มเติม และเริ่มลองอ่านงานเขียนของประเทศนี้
อยู่มาวันหนึ่ง ผมไปพบชื่อของมิน จิน ลี เข้าโดยบังเอิญ สืบสาวราวเรื่องก็ถึงได้รู้ว่าเธอเป็นชาวเกาหลี ที่เติบโตในสหรัฐฯ แม้ผลงานของเธอจะยังมีไม่มากนัก แต่ความสนใจของลีดูจะพุ่งตรงไปยังความเป็น minority ของชาวเกาหลีในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในนวนิยายเรื่องแรกของที่พูดถึงเด็กสาวเกาหลีในสังคมอเมริกัน หรืออย่างใน Pachinko นวนิยายเล่มที่สองของเธอที่เล่าชีวิตของครอบครัวเกาหลีที่มาอาศัยในญี่ปุ่นนั่นเองครับ
เรื่องราวของ Pachinko เกิดขึ้นในช่วงคุกรุ่นของสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1989 ถ่ายทอดผ่านชีวิตของกลุ่มคนตัวเล็กๆ สี่รุ่น ที่ต่างก็ถูกกระทบกระทั่งเพราะการต้องมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิด ทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมอย่างชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ยินดีต้อนรับ และพาลจะกีดกันชาวเกาหลีอพยพประหนึ่งสัตว์น่ารังเกียจด้วยซ้ำ จนอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เราพบเห็นในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการกดขี่ทั้งทางคำพูด และความคิด ที่ทั้งเบียดบี้ กดทับ บดขยี้ความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง และน่าขยะแขยง
ทั้งนี้ ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของ Pachinko คือการเป็นนวนิยายที่สอดแทรกประวัติศาสตร์กระแสรองได้อย่างแนบเนียนและเฉียบคม
มิน จิน ลี ไม่ได้จูงมือคนอ่านไปจดจ้องหมุดหมายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก แต่กลับกระโดดข้ามเหตุการณ์ใหญ่ๆ เหล่านั้น ลีไม่สนใจการทิ้งระเบิดในฮิโรชิม่า หรือสงครามเกาหลี หากกลับเลือกที่จะบอกเล่าผลกระทบของมันผ่านการรับรู้ของคนตัวเล็กๆ ที่บ้างก็ไม่ได้รับรู้ความเป็นจริง บ้างก็ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ และบ้างก็ไม่คิดสนใจ เพราะเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อพวกเขามากไปกว่าเรื่องของปากท้อง หรือพื้นที่ซุกหัวนอนในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างก็หนีหัวซุกหัวซุนในสงคราม
ฉะนั้นแล้ว ประวัติศาสตร์ที่เราได้อ่านใน Pachinko จึงถูกเปิดเผยผ่านปากคำ ข่าวลือ โฆษณาชวนเชื่อ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง และเสียงกระซิบกระซาบที่ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นเรื่องจริงแทบทั้งนั้น มีเพียงน้อยครั้งที่เหตุการณ์สำคัญๆ จะถูกบอกเล่าผ่านผู้มีอำนาจในสังคม
แต่แม้ว่าชาวเกาหลีในญี่ปุ่นดูจะต้องดำเนินชีวิตอย่างตกยาก และคล้ายจะไม่มีสิทธิ์ฝันว่าสักวันจะสามารถลืมตาอ้าปากอย่างสุขสบาย แต่ในอีกทางก็ยังพอมีชาวเกาหลีที่ร่ำรวยผิดหูผิดตา จากกิจการที่ในสายตาคนญี่ปุ่นเองก็ยังมองมันอย่างดูถูกดูแคลน นั่นคือ ปาจิงโกะ ด้วยเพราะมันเป็นกิจกรรมซึ่งสร้างกำไรจากการเสพติด และการสร้างความหวังปลอมๆ จากมนุษย์ที่พร้อมจะถลุงเงินเพียงเพราะเชื่อว่าสักวัน โชคจะเข้าข้าง และประทานเป็นเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำ
แม้ว่าลึกๆ แล้วเขาก็อาจรู้ว่าเบื้องหลังของตู้เครื่องเล่นจะถูกวางกลไกบางอย่างไว้เพื่อคานไม่ให้โชคหล่นใส่ใครบ่อยๆ จัดวางค่าตอบแทนต่อลูกค้าซึ่งควบคุมไว้อย่างระวังเพื่อไม่ให้กิจการต้องขาดทุน และก็เพียงแค่เปิดกิจการเรื่อยไปอย่างไม่ทุกร้อน
เพราะถึงที่สุดแล้ว ลูกค้าและมนุษย์ซึ่งเปี่ยมความหวังก็จะยังผุดโผล่ขึ้นในประเทศนี้เรื่อยไป นั่งลง และหย่อนเงินในตู้ปาจิงโกะเรื่อยไปอย่างไม่มีสิ้นสุด
มันจึงเป็นการเปรียบเปรยที่น่าเศร้าทีเดียว เมื่อว่ากันที่ตู้ปาจิงโกะ ซึ่งเป็นกิจการที่มีอยู่แค่ในญี่ปุ่น กลับทำให้คนเกาหลีร่ำรวยขึ้นมา แต่ที่สุดแล้วก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ สถานะทางการเงินไม่อาจเปลี่ยนเลือดอันแปลกปลอมของพวกเขา อาจกล่าวได้ว่า คนเกาหลีในนวนิยายเล่มนี้คือภาพแทนของประชากรไร้สัญชาติ เพราะแม้ว่าชาวเกาหลีรุ่นแรกๆ ที่อพยพเข้ามาจะยังถือว่าตัวเองเป็นคนเกาหลีอย่างภาคภูมิ มีแผ่นดินเกิดให้ระลึกถึง แต่ในรุ่นถัดๆ ไป ที่เกิดและเติบโตขึ้นในญี่ปุ่น ไม่เคยจะได้กลับไปเหยียบประเทศที่พ่อแม่พวกเขาเกิด หรือบ้างก็ถึงกับพูดภาษาเกาหลีไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ
พวกเขาถูกแวดล้อมด้วยสังคมชาวญี่ปุ่น ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่วกว่าภาษาแม่ของตัวเอง พวกเขาไม่ได้ฝันว่าอยากเดินทางกลับไปยังประเทศเล็กๆ ที่ไม่ใช่บ้านเกิด ไม่ได้มีสำนึกร่วมทางการเมือง หรือคิดว่าจะต้องกลับไปพัฒนาให้ประเทศตัวเองยิ่งใหญ่อีกแล้ว ทว่า แม้พวกเขาจะมีสำนึกอย่างคนญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ ถึงที่สุดแล้วพวกเขาก็ยังไม่ใช่ และไม่อาจเป็นคนญี่ปุ่นอยู่ดี แม้ว่าจะเกิดในแผ่นดินแห่งนี้ แต่ชาวเกาหลีก็ยังต้องถือพาสปอร์ตคนต่างชาติ ยังต้องเข้าลงทะเบียนประหนึ่งคนต่างด้าว ยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอันเย็นชา และโหดร้าย
ในช่วงสงครามโลก เกาหลีเป็นประเทศที่ไร้อำนาจ และไม่อาจตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง หลังจากตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น สถานะของประเทศไม่ได้ต่างอะไรกับประชาชนที่ไร้เรี่ยวแรงจะขัดขืน และหยัดยืนเพื่อตัวเอง
ซุนจา ตัวละครหนึ่งในเรื่อง คือภาพแทนของหญิงสาวที่ตกอยู่ใต้การเลือก และการตัดสินใจของคนอื่น ชีวิต
เธอคล้อยเคลื่อนไปตามแรงสั่นสะเทือนที่ไม่อาจหยัดยืน ต่อต้าน เช่นกันกับตัวละครอื่นๆ ในเรื่องซึ่งล้วนสะท้อนถึงสภาวะของประเทศที่อ่อนล้า และจมปลักอยู่กับความรองเรืองในอดีตกาล พวกเขาวาดภาพความหวัง แต่แล้วก็พลันตระหนักว่าความงดงามเหล่านี้ไม่ใช่อนาคตที่เขาอยากให้เป็น แต่เป็นเพียงแค่การมองย้อนกลับไปยังวันวานที่ไม่อาจคืนกลับมาแล้วก็เท่านั้น
แต่ไม่ใช่เพียงชาวเกาหลีอย่างเดียวที่นวนิยายเรื่องนี้ให้ความสำคัญ หากยังรวมถึงเหล่าพลเมืองชั้นสอง โสเภณี ยากูซ่า หรือคนรักร่วมเพศ ซึ่งแม้จะเป็นชาวญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็ยังถูกกีดกันออกจากสังคม กลายเป็นแค่คนชายขอบที่ต่างก็ต้องรับสภาพอย่างจำยอม ต่อสายตา และความเกลียดชังที่ไม่อาจชะล้างจากชีวิตพวกเขาได้
Pachinko เป็นหนังสือที่อ่านสนุกทีเดียวครับ โดยเฉพาะสำหรับใครที่สนใจประวัติศาสตร์กระแสรองซึ่งมักถูกกดทับ หรือเลือนออกไป และแม้นวนิยายเล่มนี้จะหนาเอาเรื่อง (ฉบับที่ผมอ่านหนา 490 หน้า) แต่ด้วยทักษะการเล่าเรื่องของลีที่เก่งกาจก็ช่วยให้ผู้อ่านพลิกหน้ากระดาษอย่างหิวกระหายที่จะได้รู้ชะตากรรมของคนเกาหลีตัวเล็กๆ ในสังคมที่จ้องแต่จะกดทับพวกเขาอย่างโหดร้าย เย็นชา