ซีไรต์ของเราผ่านไปเรียบร้อย ล่าสุดรางวัล National Book Awards อีกหนึ่งรางวัลวรรณกรรมสำคัญจากอเมริกาเพิ่งจะประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายประจำปี 2018 อย่างเป็นทางการ รางวัลวรรณกรรมจากทางอเมริกาปีนี้ก็มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมสมัยที่ทางสหรัฐฯ กำลังเผชิญและให้ความสนใจอยู่ เช่น ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ประเด็นเรื่องสีผิว ความเป็นชาย และชนพื้นเมืองก็ยังคงปรากฏอยู่ในวรรณกรรม ไปจนถึงเรื่องราวของการรับมือกับความสูญเสียและความตาย
รางวัล National Book Awards ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1988 ด้วยพันธกิจในการเชิดชูวรรณกรรมอเมริกัน ขยายฐานผู้อ่าน และเพิ่มคุณค่าทางวัฒนธรรมให้กับงานเขียนที่ดีในอเมริกา ตัวรางวัลเองประกอบด้วย 5 สาขา คือบันเทิงคดี (Fiction) สารคดี (Nonfiction) กวีนิพนธ์ (Poetry) งานแปล (Translation literature) และวรรณกรรมเยาวชน (Young people’s literature) ปีนี้ประกาศผู้เข้ารอบสุดท้ายสาขาละ 5 เล่ม และจะประกาศผลผู้ชนะเลิศในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้
A Lucky Man, Jamel Brinkley
ความเป็นชาย (masculinity) เป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจ ผู้ชายถูกคาดหวังและเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นชาย แต่บางทีตัวตนของผู้ชายเองก็ใช่ว่าจะชาตรีได้ตลอดเวลา A Lucky Man เป็นรวมเรื่องสั้นที่โยงประเด็นความเป็นชายเข้ากับความเป็นคนผิวดำ เรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องว่าด้วยเรื่องราวของผู้ชายผิวสีในนิวยอร์ก ทั้งเด็กและชายหนุ่มผู้เป็นทั้งพี่น้อง เป็นเพื่อน เป็นเพื่อนร่วมห้อง รวมเรื่องสั้นเล่มนี้พาเราไปตั้งคำถามกับความเป็นชาย บาดแผล และการเหยียดผิว
Florida, Lauren Groff
รวมเรื่องสั้น Florida เป็นรวมเรื่องสั้นที่ใช้ฟลอริดาเป็นพื้นที่หลักของเรื่อง ฟลอริดาเป็นพื้นที่ที่พิเศษ เป็นดินแดนของเมือง เป็นพื้นที่ธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคน รวมเรื่องสั้นชุดนี้เล่าเรื่องราวหลายแง่มุมจากพื้นที่ ว่าด้วยประเด็นเรื่องความรัก ความเจ็บปวด และที่สำคัญคือประเด็นเรื่องความคาดหวังและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับความเป็นแม่
Where the Dead Sit Talking, Brandon Hobson
Where the Dead Sit Talking เป็นวรรณกรรมแนว coming of age เล่าเรื่องของเด็กชาวเชอโรกี (Cherokee boy) ชนพื้นเมืองอเมริกันที่ต้องเติบโตขึ้นในช่วงปี 1980s ในเรื่องเด็กชายชาวเชอโรกีต้องไปอยู่กับครอบครัวอุปการะเนื่องจากแม่ของเขาติดคุก ตัวเรื่องพูดถึงประเด็นบาดแผลและการทำร้ายที่แม่ทำกับลูก และการต้องเผชิญหน้าจากการเติบโตขึ้นในครอบครัวของคนอื่น
The Great Believers, Rebecca Makkai
แกนหลักของเรื่องว่าด้วยความสูญเสีย และผลกระทบจากการระบาดของ HIV นวนิยายของ Rebecca Makkai พูดถึงการระบาดของโรคใน 2 พื้นที่และใน 2 ยุคสมัย คือ ชิคาโกในปี 1980 และปารีสในยุคปัจจุบัน Fiona ตัวละครเอกเคยสูญเสียเพื่อนจาก HIV ไปทีละคนเมื่อ 30 ปีก่อน จนล่าสุดเธอมีลูกและพาลูกสาวไปที่ปารีสก่อนที่ลูกเธอจะหายตัวไปอย่างลึกลับ ตัวเรื่องไล่เลียงจากการระบาดในอดีตที่ส่งผลยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน พูดถึงประเด็นซับซ้อนเช่นการปฏิเสธการมีอยู่ ภาระของความทรงจำ และผลจากความสูญเสียและความโศกเศร้า
The Friend, Sigrid Nunez
การสูญเสียเพื่อนที่รักเป็นความรู้สึกที่ Sigrid Nunez นำมาเขียนเป็น The Friend ตัวเรื่องใช้การเขียนที่ผสมผสานทั้งมุมมองแบบบุคคลที่หนึ่งเข้ากับบทคัดย่อ และข้อความสั้นๆ จากตัวบทวรรณกรรม นวนิยายเรื่องนี้ให้ภาพของนักเขียนที่กำลังพยายามรับมือกับความสูญเสียและทบทวนถึงสิ่งที่คนที่รักได้หลงเหลือไว้ให้
อ้างอิงข้อมูลจาก