เราได้ยินคำว่า ‘ปรสิต’ กันหนาหูมากในระยะหลัง คำนี้น่าจะมีที่มาจากภาพยนตร์ของบองจุนโฮ เรื่อง Parasite ที่แปลเป็นไทยตรงไปตรงมาว่า – ปรสิต
ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้คงรู้ว่า คำว่า ‘ปรสิต’ เป็นคำที่ย้อนแย้งมากจนยากจะแยกได้แน่ชัด ว่าใครกันแน่ทีี่คือ ‘ปรสิต’ ของเรื่องราวในภาพยนตร์ ระหว่างครอบครัวคนร่ำรวยที่ว่าจ้างครอบครัวคนยากจนเข้ามาอยู่ในบ้านของตัวเอง ผ่านการเป็นติวเตอร์ คนขับรถ และแม่บ้าน หรือเป็นครอบครัวของคนยากจนที่ว่านั้น
หากคิดอย่างตรงไปตรงมา หลายคนอาจมองว่าก็ต้องเป็นกลุ่มคนจนนั่นแหละ เพราะปกติแล้ว ปรสิตคือเห็บเหาไร้อำนาจที่คอยเกาะกินผู้มีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของการเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่กว่า ทางการเมือง อำนาจเงิน หรืออำนาจผ่านสถาบันทางสังคมต่างๆ ถ้าจะเปรียบไป ก็เหมือนระบบอุปถัมภ์ ที่หากคิดแบบตรงไปตรงมา ผู้อุปถัมภ์ย่อมอยู่สูงกว่าผู้ถูกอุปถัมภ์ และเมื่อสูงมากจนต่อกันไม่ติด สุดท้ายผู้อุปถัมภ์อาจมองเห็นว่าผู้ถูกอุปถัมภ์เป็น ‘ปรสิต’ ไปก็ได้
ว่าแต่ว่า ปรสิตคืออะไรกันแน่?
ในทางชีววิทยา ภาวะปรสิตหรือ Parasitism คือภาวะการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต (Symbiotic Relationship) ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์กัน โดยปรสิตจะอาศัยอยู่บนตัวหรือภายในตัวของสิ่งมีชีวิตที่ถือว่าเป็นเจ้าบ้านหรือ Host แล้วปรสิตนั้นทำให้เจ้าบ้านนั้นได้รับอันตรายบางอย่าง
อี.โอ. วิลสัน นักชีววิทยาชื่อก้องโลกเคยให้นิยามคำว่าปรสิตเอาไว้น่าสนใจมาก เขาบอกว่าปรสิตก็คือ ‘ผู้ล่า’ (Predator) แบบหนึ่ง แต่เป็นผู้ล่าที่ไม่ได้กินเหยื่อทีละตัว ทว่ากินเหยื่อคราวละน้อยกว่าหนึ่งตัว
ถ้าเราดูผู้ล่าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเสือหรือสิงโต เวลาล่าเหยื่อได้มันจะฆ่าทีละตัวๆ ไป แต่ปรสิตไม่ใช่อย่างนั้น มันคือผู้ล่าเหมือนกัน แต่กลับค่อยๆ กินทีละน้อยๆ ทำให้เหยื่อ (หรือเจ้าบ้าน) ไม่ตายไปในทันที แต่ค่อยๆ ถูกกัดกินไปเรื่อยๆ จนอาจมีสภาพผอมโซน่าสังเวช จะอยู่ก็ไม่สามารถอยู่ได้สมศักดิ์ศรีของสิ่งมีชีวิต แต่จะตายก็ไม่ตายเสียที เพราะปรสิตไม่ได้ทำร้ายจนถึงตายในทันที
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามีสภาวะปรสิตแรงๆ ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่ถูกปรสิตกัดกินนั้น อยู่ในสภาพ ‘ตายทั้งเป็น’ นั่นเอง
ปรสิตมีได้หลายแบบ มีตั้งแต่ปรสิตกระจิ๊ดกระจ้อยร่อยตัวเล็กตัวน้อย เช่น ปรสิตเซลล์เดียว อย่างเช่นโปรโตซัว หรือใหญ่ขึ้นมาในระดับที่เป็นสัตว์ อย่างเช่น พยาธิ เห็บเหา หรือกระทั่งที่ไม่ได้เป็นสัตว์ก็มี เช่นปรสิตจำพวกเชื้อรา
แม้วิลสันจะบอกว่า ปรสิตเป็นผู้ล่า แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ ผู้ล่าส่วนใหญ่มักต้องมีขนาดร่างกายใหญ่โต จะได้ล่าเหยื่อได้ง่ายๆ ซึ่งก็เป็นกระบวนการล่าอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่ปรสิตมักจะมีขนาดตัวเล็กจิ๋ว ปรสิตส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเหมือน ‘มือที่มองไม่เห็น’ ที่ค่อยๆ บีบเค้นเข้ามาในตัวเจ้าบ้านทีละน้อยๆ กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว หรือในบางกรณี เจ้าบ้านก็อาจคุ้นเคยกับปรสิตเสียจนไม่สามารถอยู่ได้หากขาดปรสิตด้วยซ้ำ
โดยทั่วไป ปรสิตกับเจ้าบ้านมักจะมีวิวัฒนาการอันยาวนานร่วมกัน ปรสิตเองต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและเจ้าบ้าน เจ้าบ้านเองก็ต้องปรับตัวให้ปรสิตอยู่กับตัวเองได้ด้วยเหมือนกัน เคยมีการวิจัยในสุนัขป่าของอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน โดยเมื่อนำสุนัขป่ามาวิจัย และปล่อยกลับเข้าป่าโดยกำจัดหมัดให้กับสุนัขป่าจนหมดแล้ว ปรากฏว่าเจ้าสุนัขป่าไร้หมัดไร้ปรสิตพวกนี้กลับมีความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อไวรัสมากกว่าสุนัขป่าที่ไม่มีปรสิต
หรือในบางกรณี สภาวะปรสิตก็ซับซ้อนเกินกว่าที่เราคิด ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นค้นพบว่า อาหารของปลาเทราต์มากถึง 60% มาจากแมลงที่ติดปรสิตที่เป็นหนอนชนิดหนึ่ง เจ้าหนอนปรสิตพวกนี้มันจะไปควบคุมการทำงานของร่างกายแมลง ทำให้แมลงเดินลงลำธารไปจมน้ำตาย แล้วปลาเทราต์ก็มากินแมลงอีกทีหนึ่ง อันเป็นวิธีการในการเปลี่ยนถ่ายเจ้าบ้านของหนอนปรสิต และในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้เกิดสมดุลประชากรแมลง รวมทั้งสร้างแหล่งอาหารให้ปลาเทราต์ขึ้นมาด้วย ทำให้หลายคนเริ่มออกมาเรียกร้องการ ‘อนุรักษ์ปรสิต’ อันเป็นวิธีคิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อีริค โดเฮอร์ตี้ (Eric Dougherty) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์บอกว่า การที่มนุษย์เราพยายามกำจัดปรสิตออกจากร่างกายของเราให้ได้มากที่สุด ทั้งที่เรามีวิวัฒนาการร่วมกับมันมาตลอดนั้น ดูเหมือนจะไปเพิ่มความเสี่ยงทำให้มนุษย์เกิดอาการแพ้และหอบหืดมากขึ้น ซึ่งก็แปลว่า – โดยไม่ตั้งใจ, ปรสิตทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าบ้านอยู่เหมือนกัน ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ ‘นิยาม’ ของคำว่าปรสิตก็อาจต้องเปลี่ยนไป เพราะหากมองให้ลึกและซับซ้อนขึ้น ปรสิตในธรรมชาติไม่ได้ทำแค่ดูดเลือดเกาะกินเท่านั้น แต่มันยังสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับเจ้าบ้านด้วย ตัวอย่างของ ‘ปรสิตที่มีประโยชน์’ ยังมีอีกมาก เช่น ตัวเฟอร์เร็ตชนิดหนึ่งที่คิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่นักอนุรักษ์เพิ่งพบว่ามีฝูงเล็กๆ ฝูงหนึ่งรอดชีวิตอยู่ได้ ในกระบวนการอนุรักษ์มันเอาไว้ ก็ต้องอนุรักษ์ปรสิต (ที่เป็นโปรโตซัว) ที่ติดอยู่กับตัวของเฟอร์เร็ตเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพราะพบว่าปรสิตนี้ช่วยให้เฟอร์เร็ตเหล่านี้พัฒนาภูมิคุ้มกันบางอย่างขึ้นมาได้ ที่จริงคือภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านตัวปรสิตเองนั่นแหละ แต่การทำงานของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นทำงานกว้างขวางมากกว่าแค่กับโปรโตซัวเท่านั้น มันจึงมีประโยชน์ในทางอ้อมต่อเฟอร์เร็ต
ที่ว่ามาทั้งหมดคือปรสิตในธรรมชาติที่อาจมีความซับซ้อนได้มากกว่าที่เราเคยคิดกัน แต่พอมาถึง ‘ปรสิตทางสังคม’ หรือ ‘ปรสิตทางการเมือง’ แล้ว สิ่งที่เราต้องคิดกันให้ละเอียดก็คือ สังคมไทยเกิดสิ่งที่ถูกเรียกขานว่า ‘สภาวะปรสิต’ เหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร
ถ้าลองเทียบย้อนกลับไปสภาวะปรสิตในธรรมชาติ ก็น่าจะพอพูดได้ว่า ปรสิตกับเจ้าบ้าน (ในทางสังคม) มีวิวัฒนาการมาร่วมกัน สังคมไทยมีปรสิตก็เพราะเรามีประวัติศาสตร์ปรสิตที่อาจต้องย้อนกลับไปศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งว่าใครเล่นบทบาทเป็นปรสิตอย่างไรบ้าง และเล่นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ บทบาทนั้นคงที่หรือไม่ หรือสลับสับเปลี่ยนไปมาอย่างไร ในช่วงที่ ‘เจ้าบ้าน’ มีสุขภาพที่ดี (หรือสังคมรุ่งเรืองเฟื่องฟู) บทบาทของปรสิตเป็นอย่างไร มีสมดุลระหว่างเจ้าบ้านกับปรสิตอย่างไร
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ – แล้วเกิดอะไรขึ้น ทำไมในปัจจุบันเราจึงรู้สึกกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์ว่า ณ ขณะนี้ สภาวะปรสิตไม่ได้อยู่ในสมดุล แต่ปรสิตกำลังกัดกินสังคมขนานใหญ่จนทำให้เจ้าบ้านรู้สึกเสื่อมโทรมอย่างหนัก
ถ้าเทียบกับวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่าเราคงกำจัดปรสิตไปทั้งหมดไม่ได้ในทันที และอาจไม่ควรทำอย่างนั้นด้วย เพราะเราถูกสาปให้มีวิวัฒนาการทางสังคมมาพร้อมกับปรสิตจนฝังแน่นและอาจมีประโยชน์ทางอ้อมบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงอยู่ด้วย แต่กระนั้น ในสภาวะปรสิตล้นเกินแบบนี้ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาวิธีลดจำนวนปรสิตลง
หากปรสิตในธรรมชาติดูดกินสารอาหารอย่างเลือด ปรสิตทางสังคมก็ดูดกินสารอาหารทางสังคมอย่างภาษีและภาระอื่นๆ การมองให้เห็นและสร้างสำนึกว่าพฤติกรรมและสภาวะแบบไหนคือสภาวะแบบปรสิตที่ไม่พึงปรารถนา น่าจะช่วยลดทอนความเป็นปรสิตในตัวมนุษย์ลงได้บ้าง
จะยกเว้นก็แต่ปรสิตที่ไม่เคยมองเห็นว่าตัวเองเป็นปรสิตเท่านั้น
Proofread by Pongpiphat Banchanont
Illustration by Kodchakorn Thammachart