อังกฤษเป็นประเทศสมัยใหม่ที่เชื่อหลักคิดเรื่องคนเท่ากัน แต่เสน่ห์หนึ่งที่ทำให้เมืองผู้ดีแตกต่าง คือ เรื่องราวและบทบาทของเหล่าดยุก, เอิร์ล, บารอน, และลอร์ดต่างๆ ชาวอังกฤษปัจจุบันไม่ได้ถือเขาเหล่านี้เป็นผู้ปกครองเช่นในอดีต แต่มองเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ประดับให้เวทีทางการเมืองระดับชาติอลังการขึ้น
แม้ชนชั้นนำเหล่านี้มักรวยในความเป็นจริง แต่ก็เป็นเพราะความสำเร็จในการการบริหารมรดกหรือคอนเนกชั่นไฮโซ ไม่ใช่เพราะการกุมอำนาจบริหารเศรษฐกิจ พวกเขามักมีตำแหน่งบรรดาศักดิ์ใหญ่โต แต่นี่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าบทบาทสมมติ การไม่มีอภิสิทธิ์ที่แท้จริง คือเหตุผลที่ทำให้เหล่าผู้ดีอยู่ร่วมกับสังคมสมัยใหม่ได้
แต่ล่าสุด หนังสือพิมพ์ The Guardian ไปขุดคุ้ยมาแฉ ว่าความเป็นอภิสิทธิ์ชนแดนผู้ดีนั้น ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างที่เราเชื่อ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาอยู่เหนือและเอาเปรียบผู้อื่นได้จริงๆ ที่สำคัญ ในปัจจุบัน พวกเขาได้ฝึกเคล็ดวิชาที่จะช่วยรักษาอภิสิทธิ์ดังกล่าวไว้ได้อีกนานแสนนาน
ก่อนจะไปถึงเคล็ดลับที่ว่า เรามาลองดูกันก่อนว่าอภิสิทธิ์เหล่านี้มีอะไรบ้าง?
ที่เรามักรู้กันดีก็คืออภิสิทธิ์อำนาจทางการเมือง กล่าวคือพวกอภิสิทธิ์ชนมีอำนาจในการพิจารณากฎหมาย โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรงหรือโดยอ้อม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสภาสูงอังกฤษกันที่นั่งจำนวนหนึ่ง ให้เป็นตำแหน่งตกทอดทางสายเลือดในตระกูลขุนนาง ในปัจจุบัน สมาชิกเหล่านี้มีถึง 92 จาก 799 คน มาจากการเลือกกันเองในหมู่ตระกูลขุนนาง ตำแหน่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามีอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย เช่น ผ่านการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี (5 คนในรัฐบาลปัจจุบัน) หรือรวมตัวกันบล็อคโหวตกฎหมายที่ไม่เห็นด้วย
ในยามปกติ หน้าที่ของพวกเขาได้แก่การเข้าไปนั่งประชุมวันละไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก่อนรับเบี้ยประชุม ต่อให้ไม่เข้าประชุม แต่ยืนยันว่า ‘ทำงานอย่างมีคุณภาพ’ อยู่ข้างนอก ก็ยังได้เงินครึ่งหนึ่ง เงินได้เหล่านี้ไม่ต้องจ่ายภาษี เนื่องจากท่านๆ ทั้งหลายอ้างว่าเงินเหล่านี้ไม่ใช่รายรับ แต่เป็นการ ‘จ่ายคืน’ ค่าใช้จ่าย ที่พวกเขาได้ทุ่มเทให้ประเทศชาติไปก่อนหน้านี้
ในเรื่องนี้ The Guardian ออกมาแฉว่าปกติพวกท่านทั้งหลายแทบไม่เคยเข้าประชุมกันเลย ยกเว้นในยามที่มีกฎหมายที่กระทบประโยชน์ของตนเข้าสภา เข้ากันทีก็เบิกค่าเดินทางที่พักกันแบบไม่บันยะบันยัง ทั้งที่บางคนไม่ได้พูดอะไรเลยในการประชุมเดือนนั้นด้วยซ้ำ พอเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานจริงๆ เช่น ช่วงสงครามโลก ท่านลอร์ดเหล่านี้พากันหนีระเบิดออกจากลอนดอนกันหมด
ในทางเศรษฐกิจยิ่งแย่ใหญ่ The Guardian โจมตีว่าบรรดาผู้ดีทั้งหลายใช้อภิสิทธิ์ของตนผสานเข้ากับช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อหาประโยชน์จำนวนมหาศาล และหลีกเลี่ยงภาษี
ตัวอย่างแสบๆ และเป็นที่นิยมของพวกเขา ก็คือ การเอาปราสาทอันเป็นมรดกตกทอดของตระกูลไปบริจาคให้ทรัสต์แห่งชาติหรือองค์กรการกุศล เพื่อเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งชาติหรือเพื่อการอนุรักษ์ โดยมีเงื่อนไขว่าตระกูลของเขาสามารถอาศัยและดำเนินวัตรปฏิบัติในปราสาทของตนได้เหมือนเดิม สรุปคือ การบริจาคนี้เป็นการหาคนมาซ่อมแซม พัฒนา ดูแลปราสาทให้ฟรีๆ แถมได้ส่วนแบ่งรายได้จากการท่องเที่ยว และได้ผลประโยชน์ทางภาษีมหาศาล
…ลืมบอกไปว่ากองทุนส่วนใหญ่ที่พวกเขาโอนทรัพย์สินให้ ก็มักเป็นกองทุนที่ตั้งกันขึ้นมาเองในหมู่ญาติพี่น้อง
แล้วตกลงอะไรคือเคล็ดลับในการการรักษาอภิสิทธิ์ของพวกเขาเหล่านี้?
ท่ามกลางรายงานเกือบสิบห้าหน้ากระดาษเอสี่ The Guardian เปิดประเด็นว่าพวกอภิสิทธิ์ชนต้องถือครองเคล็ดลับอะไรอยู่แน่ๆ คนอังกฤษจึงยอมปล่อยให้พวกเขาเอาเปรียบขนาดนี้ ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อน ว่าแม้อังกฤษจะเต็มไปด้วยชนชั้นสูง เจ้าตระกูลโน่นนี่ ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ แต่คนอังกฤษโดยทั่วไปเองก็มีความหมั่นไส้ทางประวัติศาสตร์ต่อเหล่าอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้เช่นกัน เพราะพวกเขาผ่านประสบการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบจากกษัตริย์และขุนนางมาอย่างยาวนาน
หากให้เปรียบกับไทย ก็จะแตกต่างอย่างชัดเจนตรงที่อังกฤษไม่ได้เต็มไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับความผูกพันและการเกื้อกูลกันระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่างเหมือนไทย แต่ขนาดเราที่ไม่มีประสบการณ์เหมือนเขา อ่านแล้วยังเริ่มหมั่นไส้ผู้ดีอังกฤษเลยใช่มั้ยครับ นั่นสิครับ นี่จึงยิ่งน่าสนใจว่าทำไมชาวอังกฤษถึงยังปล่อยให้ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดินอยู่บนหัวพวกเขาแบบนี้?
ในอดีตยังเข้าใจได้ครับ ก่อนจะมีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม ชนชั้นนำก็อาศัยการเผยแพร่เรื่องเล่าที่ช่วยปกป้องสนับสนุนสถานะของตน เช่น การอ้างไบเบิลว่าโลกมีกฎระเบียบตามธรรมชาติ ที่กำหนดให้มนุษย์แต่ละคนมีที่สูงที่ต่ำเพื่อไม่ให้สังคมวุ่นวาย หรือกระพือเรื่องเล่าว่าด้วยความเมตตา วีรกรรม และความรักชาติของเหล่าอภิสิทธิ์ชน เรื่องเหล่านี้ก็คงจริงบ้างไม่จริงบ้างปนๆ กันไป แต่ก็ได้ผลในการสร้างสังคมแบบชนชั้นขึ้นที่อังกฤษในอดีต
แต่วิธีเหล่านี้มันเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน คนอังกฤษปัจจุบันก็เช่นเดียวกับคนในสังคมสมัยใหม่จำนวนมาก พวกเขาไม่ได้คาดหวังถึงขนาดให้ทุกคนเท่าเทียมกันทุกด้าน เพราะเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง แต่ถ้าจะให้มาทนนั่งฟังชนชั้นนำสรรเสริญตัวเองไป เอาเปรียบพวกเขาไปในระดับนี้ ย่อมยอมไม่ได้แน่นอน
เราจึงวนกลับมาที่คำถามเดิม ว่าเหตุใดคนอังกฤษจึงยอมรับอภิสิทธิ์ของอภิสิทธิ์ชน?
The Guardian สรุปไว้ครับว่า สุดยอดเคล็ดลับในการรักษาอภิสิทธิ์ของชนชนนำอังกฤษคือการพรางกาย พวกเขารู้เรียนรู้ที่จะหายไปจากความสนใจของประชาชน สรุปคือที่ไม่มีใครออกมาต่อสู่กับพวกเขา ทั้งที่พวกเขามีอำนาจ เอาเปรียบ หนีภาษี ก็เพราะพวกเขา ‘ไม่มีตัวตน’
พูดง่ายๆ คือไม่ทำตัวเป็นข่าว ไม่ทำตัวเด่น ให้ประชาชนรู้เพียงเลาๆ ว่ามีพวกเขาอยู่ แต่ไม่รู้ชัดๆ ว่าใครเป็นใคร และใครทำอะไรอยู่ ถ้าโยงเข้ากับที่เราคุยไปตั้งแต่ต้น วิธีนี้ก็คือการทำให้คนเชื่อว่าอภิสิทธิ์ของพวกเขาเป็นเพียงสัญลักษณ์ ไม่มีอยู่จริงนั่นแหละครับ
ใครสักคนสรุปเปรียบเทียบวิธีการของผู้ดีอังกฤษในอดีตและปัจจุบันไว้อย่างแหลมคมว่า ในอดีตพวกเขามีทักษะในการผนึกกำลังยืนหยัดต้านมรสุมและกระแสต้านทางการเมือง ซึ่งวิธีนี้ได้ผลมาเป็นพันปี แต่ปัจจุบัน พวกเขาแหลมคมขึ้น เพราะเรียนรู้ที่จะหลบซ่อนตัวในที่กำบัง จึงไม่จำเป็นต้องเผชิญลมฝนต่อไป
ช่วงหลังมานี้มีข่าวแว่วมาเรื่อยๆ ว่านักการเมืองอังกฤษจำนวนหนึ่งกำลังหาจังหวะผลักดันกฎหมายจำกัดอำนาจอภิสิทธิ์ชนอยู่ เช่น การกำจัดโควตาทางสายเลือดในสภาสูง ตรงนี้ไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือเริ่มผลักดันกฎหมายเมื่อไหร่ เราได้เห็นท่านดยุกที่ปกติรับเบี้ยประชุมจากที่บ้าน วิ่งกันเข้ามายกมือค้านกันครบองค์ประชุมแน่นอนครับ