โดยปกติแล้วอะไรที่เรียกว่า ‘ภาพหลุด’ (ยิ่งถ้าภาพเคลื่อนไหวได้ด้วย ก็จะเพิ่มอัตราความฮาร์ดคอร์เป็นระดับ ‘คลิปหลุด’) ก็มักจะเป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับใครหลายๆ คนเสมออยู่แล้วนะยูว์
เพราะอาการ ‘หลุด’ ที่เป็น suffix ขยายอยู่ข้างหลังคำว่า ‘ภาพ’ นั้น ก็บ่งบอกอยู่ในตัวว่า เจ้าของไม่ได้ตั้งใจอยากให้ใครต่อใครมาเห็นเสียหน่อยนี่เนอะ
ยิ่งเมื่อเป็นภาพที่หลุดมาจากดาราสาวมาดติสท์ระดับ นางเอกบ้าง นางร้ายบ้าง (บางทีก็ควบตำแหน่งนางรอง นางไม่รอง ไปยันผู้กำกับบ้าง) อย่างคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ก็ยิ่งทำให้ใครต่อใครมาสนใจเพิ่มเป็นพิเศษอย่างแน่นอน สมตามมาตรฐาน ‘คนเสือก 2018’ (เอิ่มม… ถ้าพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่คนไทยเราสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจ และเต็มปากเต็มคำเป็นที่สุดได้เลยว่า ‘คนไทยถ้าตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก’)
และถึงแม้ว่า ภาพที่หลุดจะไม่ใช่อวัยวะทั้งที่สงวน และไม่สงวนส่วนใดๆ ของนางเลยก็เหอะ แต่การเป็นชิ้นส่วนสำคัญระดับ ‘กล่องดวงใจ’ บนร่างกาย อย่างเจ้า ‘ปิกาจู’ ของคนข้างๆ ตัวคนใหม่ของดาราสาวติสท์ๆ ชิคๆ คนนี้ ก็เลยเล่นเอาพื้นที่สื่อของข่าวอย่าง ‘พี่เสก 10 นัด’ ‘ลุงป้อม 16 เรือน’ (เอ๊ะ! หรือเยอะกว่านั้นแล้ว?) และอีกสารพัดข่าวที่ครองแชมป์บนพื้นที่ข่าวช่วงหลายวันที่ผ่านมานั้น หมองลงไปอย่างเห็นได้ชัดเสียยิ่งกว่าชัด
ไม่ว่าจะเป็นคำวิจารณ์เรื่องความเล็ก-ใหญ่ แข็งขันหรือนุ่มนิ่ม และอะไรต่อมิอะไรอีกให้เพียบสารพัดไปรยาลใหญ่ จัดเต็มกันมาเป็นพรืดบนทุกๆ หน้าฟีดของใครหลายคนเลยนะครับ
แต่ในเมื่อทุกคนไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทที่เรียกกันในจักรวาลของโปเกมอนว่า ‘เทรนเนอร์’ แล้ว เราจะมามัวสนใจ ‘ปิกาจู’ ของคนอื่นไปทำไมกัน?
คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะว่าไอ้เจ้าอะไรที่ในข้อเขียนชิ้นนี้เรียกว่า ‘ปิกาจู’ นั้น เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย ซึ่งก็หมายรวมไปถึงทุกอย่างที่มันเกี่ยวพันถึง โดยเฉพาะในสังคมแบบผู้ชายเป็นใหญ่อย่างนี้
แล้วความเป็นชายทั้งแท่งของแฟนหนุ่มของดาราสาวติสท์ๆ มันจะไม่น่าสนใจกับหมู่คนไม่ว่าจะเป็นติ่ง ชื่นชม เฉยๆ ไปจนถึงระดับหมั่นหนังหน้า ของเธอไปได้อย่างไรกัน?
ยิ่งเมื่อเจ้าปิกาจูที่ว่า กับเพื่อนๆ ของมัน รวมไปถึงกิจกรรม และอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ วงจรชีวิต ฯลฯ ถูกทำให้เป็น rare item เพราะจะโชว์ให้ใครเห็นก็ไม่ได้ แถมจะพูดถึงหรือเอ่ยชื่อของมัน ต่อหน้าใครที่ไม่รู้จักก็ไม่ดี ถ้าไม่อยากถูกตราหน้าว่าหยาบคาย หรือลามก จนแทบจะจับยัดรวมอยู่ในหนังสืออย่าง ‘สัตว์มหัศจรรย์กับถิ่นที่อยู่’ ได้อยู่แล้ว ดังนั้นปรากฏการณ์ ‘ปิกาจูหลุด’ ในครั้งนี้จึงน่าสนใจขึ้นเป็นทวีคูณอย่างแน่นวล และแน่นอนเป็นที่สุด
อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ทั้งหลายนั้นก็ดูจะไม่เป็นธรรมสำหรับเทรนเนอร์ ผู้เป็นเจ้าของปิกาจูตัวนี้สักเท่าไหร่นัก? เพราะนอกจากจะเป็นการไล่ถล่มกันข้างเดียวแล้ว ยังเป็นการถล่มกันด้วย ‘ความคาดหวัง’ ที่ตัวเองมีต่อปิกาจูของใครคนอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเป็นปิกาจูของคนข้างตัวดาราสาวมาดติสท์
และอะไรก็ตาม ที่เรียกว่า ‘ความคาดหวัง’ นั้น ก็ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละเงื่อนไขของแต่ละใครคนนั้น ซึ่งก็มักจะถูกกำกับอยู่โดยวัฒนธรรม และสังคมของแต่ละปัจเจกชนอยู่อีกทอดหนึ่งเสมอนั่นแหละ
แน่นอนว่า ความคาดหวังที่มีต่อปิกาจูของคนอื่น (และความฝันที่อยากจะให้ปิกาจูของตนเองเป็นอย่างนั้น) ก็เป็นอย่างนั้นด้วย
เราอาจเห็นตัวอย่างง่ายๆ ได้จากในสังคมกรีกโบราณนะครับ เพราะแม้ว่าในโลกทุกวันนี้เรา ปิกาจูตัวใหญ่ๆ จะดูเป็นอะไรที่ ‘แมน’ เอามากๆ แต่ในสังคมกรีกยุคโน้นแล้ว การที่ใครมีปิกาจูตัวบิ๊กเบิ้มเป็นของตนเองนั้น กลับแสดงให้เห็นถึงความเป็นไอ้งั่ง และเร่อร่าหยาบคายเอามากๆ ปิกาจูตัวกระจิ๋วหลิวต่างหากที่ทำให้คุณเป็นผู้ชายที่ดูดีมีระดับสุดๆ ในโลกของชาวกรีกยุคนั้น
ข้อความตอนหนึ่งในบทละครเรื่องดังของพวกกรีกยุคคลาสสิกอย่าง ‘The Clouds’ ที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียนบทละคร ระดับที่ถูกสถาปนาให้เป็น ‘บิดาแห่งละครสุขนาฏกรรม’ (Comedy, ซึ่งในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ตลก) หรือ ‘เจ้าชายแห่งละครสุขนาฏกรรมในโลกโบราณ’ (ชื่อหลังนี่ถึงจะฟังดูโอปป้ามากๆ แต่เขาก็ได้สมญานามอย่างนี้จริงๆ) อย่าง ‘อริสโตเฟเนส’ (Aristophanes) ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 446-386 ปีก่อนพระคริสต์ (คือหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานนิดหน่อย) ได้พูดถึงค่านิยมที่มีต่อขนาดของปิกาจูสำหรับชาวกรีกเอาไว้ว่า
“…ถ้าเจ้าทำสิ่งเหล่านี้ที่ข้าบอก และยืดหยุ่นความพยายามต่อพวกเขาบ้าง เจ้าจะมีหน้าอกที่ผึ่งผาย ผิวพรรณที่กระจ่างสดใส บ่าที่กว้าง ลิ้นที่เรียวเล็ก สะโพกผาย และองคชาติที่เล็ก (เอ่อ ปิกาจูก็นั่นแหละครับ) แต่ถ้าเจ้าทำตามกิจวัตรแบบวันนี้ เจ้าจะมีผิวที่ซีด บ่ากับหน้าอกห่อๆ ลิ้นใหญ่ สะโพกเล็ก องคชาติใหญ่ และ (ต้องทำตาม) คำสั่งที่น่าเบื่อหน่ายอย่างยืดเยื้อ…” (The Clouds บรรทัดที่ 1010-1019)
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจอะไรเลย ที่ประติมากรรมรูปเทพเจ้าต่างๆ ของพวกกรีกนั้น ก็มักจะสลักรูปเทพเจ้าที่ทรงไว้ด้วยปิกาจูขนาดกระจุ๋มกระจิ๋มสิ้นดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมาตรฐานความใหญ่ยาวของปิกาจูไซส์ยูโรเปียนชนโดยทั่วไปแล้ว เพราะรูปเหมือนของเทพเจ้าก็ย่อมจะต้องทรงไว้ด้วยสิ่งที่ดีที่สุดอยู่เสมอ
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมพวกที่นับผู้ชายเป็นใหญ่ และแทบจะผลักผู้หญิงลงไปเป็นพลเมืองชั้นรองลงไป อย่างชาวกรีกเขาถึงหลงใหลในปิกาจูอันกระจ้อยร่อยนั้น ก็เคยมีผู้อธิบายเอาไว้ ในสังคมที่ผู้ชายมีอะไรกับเพื่อนผู้ชายด้วยกันเองได้อย่างเป็นเรื่องปกตินั้น เจ้าปิกาจูตัวใหญ่ๆ ย่อมต้องทำให้เพื่อนของคุณเจ็บแน่! (ส่วนจะเจ็บอะไรนั้น ผมคงไม่ต้องบอกนะครับ)
ไม่ว่าคำอธิบายข้างจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม? แต่สำหรับชาวกรีกนั้น การเป็นเทรนเนอร์ที่มีปิกาจูตัวใหญ่ช่างเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจเสียจริงๆ
ตัวอย่างที่สำคัญอีกอย่างอยู่ในเทพปกรณ์เกี่ยวกับ เทพปริอาปุส (Priapus) ของพวกเขาเองนั่นแหละ
เรื่องของเรื่องก็คือ ท่านเทพปริอาปุสคนนี้ถูกราชินีแห่งสวรค์อย่างเทพีเฮร่า (Hera, ชายาขี้หึง หวง และโคตรอภิมหาเหวี่ยงวีน ของมหาเทพซุส ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพทั้งหลาย) สาปให้มีปิกาจูขนาดใหญ่โตมโหฬารจนน่าเกลียด และตั้งชูชันอยู่เสมอ โดยไม่ต้องพึ่งไวอะกร้า
น่าตลกดีที่องค์ประกอบอย่างที่เฮร่าสาปใส่ปิกาจูของเทพปริอาปุส ราวกับเป็นสิ่งที่ชั่วช้าแสนสาหัสนั้น กับเป็นคุณลักษณะที่วิเศษ และเวรี่ยูนีคของมหาเทพในอีกวัฒนธรรมหนึ่งอย่าง พระอิศวร (องค์เดียวกับ พระศิวะ) ผู้เป็นเจ้าของปิกาจูที่มีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะว่า ‘ศิวลึงค์’ นั่นเอง
คุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพระศิวะก็คือ การมี ‘อูรธวลึงค์’ คือองคชาติที่ตั้งตรงอยู่เสมอ ซึ่งอันที่จริงแล้วนี่เป็นภาษาสัญลักษณ์ (ใครมันจะไปมีปิกาจูชูชันอยู่ตลอด ทรมานตายเลย!) ซึ่งหมายถึงว่า พระองค์ทรงเป็นผู้สร้าง และประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่โลก คิดง่ายๆ ก็ได้ว่า ปิกาจูเหี่ยวๆ ของใครที่ไหนมันจะไปสร้างชีวิต หรือก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์ได้ล่ะครับ? ‘เชื้อแห่งชีวิต’ (คำโลกสวยของอะไรที่เรียกว่า อสุจิ) จะหลั่งรินออกมาได้ก็จากปิกาจูที่ตั้งตรงอย่างกับเป็นอูรธวลึงค์ ของพระอิศวรได้เท่านั้น
โดยในนัยยะนี้ ที่จริงแล้วเทพปริอาปุสก็จึงไม่ต่างไปจากพระอิศวร เพราะอันที่จริงแล้ว เทพเจ้ากรีกองค์นี้เป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งปิกาจูขนาดย่อมเยาว์ดูจะไม่ตอบโจทย์กับหน้าที่การงานของพระองค์เท่าไหร่นัก เรื่องการถูกเทพีเฮร่าสาปจึงเป็นเพียง ‘นิทาน’ หรือเทพปกรณ์ ที่ถูกแต่งเติมขึ้นภายหลัง ในสังคมที่กรีกนิยมในปิกาจูขนาดเล็กแล้วต่างหาก
พูดง่ายๆ ว่า ความนิยมต่อขนาด ความเข้มแข็งชูชัน หรืออะไรต่อมิอะไรของปิกาจูมันก็แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม และเงื่อนไขที่กำกับอยู่ คำวิจารณ์ที่มีต่อปิกาจูของคนข้างตัวดาราสาวมาดติสท์คนนั้น จึงมีที่มาจากความคาดหวังที่สังคมมีต่อปิกาจูว่า ต้องเป็นอย่างนั้นถึงจะแมน เป็นอย่างนี้ไม่แมน ไม่ดี เล็กจัง บลาๆๆๆ
และอะไรที่เรียกว่า ‘ความคาดหวัง’ นั้น ถ้าจะมาจากคนที่ผิดหวังต่ออะไรที่ตนเองมีมันก็ไม่แปลกอะไรนี่เนอะ?