หากดิฉันพยายามจะให้คุณจินตนาการถึงภาพความสวยงาม โก้เก๋ของโลกแฟชั่น กับการสานสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นและการใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน คุณอาจจะคิดว่า เป็นส่วนผสมที่เป็นไปได้ยากที่สามเสาแห่งสังคมที่อยู่กันคนละขั้ว ทั้ง แฟชั่น-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม จะมารวมตัวกันได้ยังไง
แต่ในวันนี้หากเราเพียงแค่เอ่ยถึงแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยอย่าง ‘Pipatchara’ หลายคนคงพยักหน้าตามพร้อมความเข้าใจและเห็นภาพตามได้ในทันทีว่า เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์แบบ 3 ประสานที่ทั้งลงตัวอย่างงดงามทั้งในแง่ความทันสมัยของเทรนด์แฟชั่น และการรวมเอาชุมชนท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ รวมไปถึงการช่วยโลกใบนี้ลดขยะในครัวเรือนได้อย่างน่าชื่นชม
กระเป๋าถักจากหนังและเชือกที่อาศัยศิลปะการถักแบบ ‘มาคราเม่ (Macrame)’ คือ จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Pipatchara ที่เกิดมาจาก ‘ทับทิม—จิตริณี แก้วจินดา’ ได้ไปเรียนรู้เรื่องศิลปะการถักมาคราเม่มา ประจวบเหมาะกับโอกาสที่คุณทับทิมได้ไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อทำงานจิตอาสากับมูลนิธิสิติ เรื่องการแจกจ่ายน้ำสะอาดแก่ชุมชน คุณทับทิมจึงสบโอกาสในการสรรหาคุณครูที่ชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อสอนถักกระเป๋ามาคราเม่ โดยมี ‘เพชร—ภิพัชรา แก้วจินดา’ ผู้เป็นน้องสาว ช่วยพัฒนาออกแบบกระเป๋ามาคราเม่ตัวต้นแบบ ที่คุณเพชรเองใช้เวลาพัฒนานานถึง 6-7 เดือน
“เราใช้เวลาทำ prototype อยู่ 6-7 เดือนนะคะ เพราะเพชรอยากให้มันเนี้ยบและอยากให้มันใช้งานได้จริง และมันเป็นงานหนังและเชือก มันทำยากเหมือนกัน เลยใช้เวลากับมันค่อนข้างนาน”
จากการพัฒนาและส่งต่อทักษะความรู้ในการถักกระเป๋าแบบมาคราเม่สู่ชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนจำนวน 8 คนในวันนั้น สู่วันนี้ที่แบรนด์ Pipatchara สามารถสรา้งงานและรายได้ให้แก่ชาวบ้านทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงรายกว่า 50 คน ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนและส่งต่อความรู้ที่สามารถพัฒนาเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้องชาวบ้าน สร้างความยั่งยืนในระยะยาวในเชิงสังคมให้แก่ชาวบ้าน รวมถึงเป็นการผสานโลกของชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกแฟชั่นในเมืองกรุงได้อย่างกลมกลืน
แต่หากเราจะพูดถึงแบรนด์ Pipatchara เพียงแค่การผสานชุมชนกับแฟชันเพียงอย่างเดียวคงเป็นการพูดถึงแบรนด์นี้อย่างไม่สมบูรณ์นัก เพราะเชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นภาพข่าวหรือภาพแฟชั่นของกระเป๋าและชุดราตรีสวยงามของ Pipatchara ผ่านตาตามหน้าสื่ออย่างมากมาย
แผ่นพลาสติกใส่ที่ระยิบระยับมีสีสันสวยงามถูกจับนำมาเรียงตัวกันมากมาย กอปรร่างสร้างเป็นงานศิลปะแฟชันที่เหล่าดาราคนดังหลายคนต้องหลงใหล อย่าง ลิซ่า—ลลิษา มโนบาล ศิลปิน K-Pop สัญชาติไทยเอง ก็ยังเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าของแบรนด์ Pipatchara ตามที่เราเคยเห็นกันในหน้าข่าว
แผ่นพลาสติกใสเหล่านั้น คือการนำฝาพลาสติกจากขวดน้ำมารีไซเคิลและออกแบบดีไซน์ให้เป็นชิ้นงานศิลปะแฟชั่นที่สวยงามโดยคุณเพชร แต่สิ่งที่งดงามไม่แพ้ความโก้เก๋ของงานดีไซน์ของคุณเพชร คือเรื่องราวเบื้องหลังของการที่จะได้มาซึ่งแผ่นพลาสติกใสเหล่านั้นแต่ละแผ่น แต่ละชิ้น แต่ละอัน
“เพชรยกเครดิตให้กับพี่สาวเพชรเลยค่ะ คุณทับทิม พี่ทิมเขาเป็นคนอธิบายให้เพชรฟังว่า เราจะต้องนำขยะจากครัวเรือนที่ใช้แล้วมารีไซเคิลนะ เราจะได้ทำงานกับชุมชน เราจะได้นำขยะที่ถูกใช้แล้วจริงๆ มาแปรรูป เพชรเลยทำงานกับ วิสาหกิจชุมชนค่ะ เขาเรียกตัวเองว่า YOLO เขาก็จะเก็บขยะ แยกขยะ ล้างและปั๊มพลาสติกเป็นชิ้น แล้วเพชรก็ไปรับซื้อจากเขามาเลยโดยตรง”
การรับซื้อชิ้นส่วนพลาสติกรีไซเคิลจากวสาหกิจชุมชนโดยตรงของคุณเพชร แล้วนะมาสร้างสรรเป็นชิ้นงานที่สวยงามจนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนดังแล้ว นอกจากเป็นการนำวัสดุที่ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำทำให้เกิดคุณค่า ยังเป็นการทำให้เกิดการตระหนักรู้ในหมู่คนมากมายว่า การแยกขยะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะขยะเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ (แถมใช้ได้ดี และใช้ได้สวยด้วย) และการรีไซเคิลเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ที่ทุกคนในสังคมสามารถช่วยกันทำได้
ก้าวต่อไปของ Pipatchara จะเป็นอย่างไร ดิฉันเชื่อว่าคงมีแต่คนเฝ้าคอยติดตามที่จะให้กำลังใจ รวมถึงอยากจะเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กันกับแบรนด์นี้ที่ทั้งงดงามเมื่อยามสวมใส่และใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน