หลังจากเกิดเหตุการยิงกราดในลาสเวกัส ประเด็นร้อนที่สังคมอเมริกันถกเถียงกันอีกครั้งก็คือ การควบคุมอาวุธปืน ซึ่งก็เถียงกันไม่จบไม่สิ้นเสียที ซึ่งในส่วนของอเมริกา ผมคงไม่มีความเห็นอะไรมาก เพราะว่าไม่ใช่ทางถนัด และสภาพสังคมก็ต่างกันออกไป ส่วนของสังคมไทยก็ อืม #อยู่กันไปแบบนี้ล่ะ แล้วกันครับ
ถ้ามองว่าการลดจำนวนปืนเพื่อลดคดีที่เกิดจากอาวุธเป็นเป็นความสำเร็จแล้ว หลายชาติก็ยกญี่ปุ่นเป็น case study ที่สำคัญมาก เพราะในสังคมญี่ปุ่น ‘ปืน’ ถือว่าเป็นของแปลกปลอมมากๆ ผมยังจำเลกเชอร์เรื่องภาพยนตร์ครั้งหนึ่งได้ว่า การชักปืนออกมาในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เราอาจพบได้ในการปล้นร้านสะดวกซื้อ แต่หากฉากเดียวกันเกิดในเซตติ้งประเทศญี่ปุ่นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เพราะความไม่คุ้นชินกับปืนของสังคมญี่ปุ่น ทำให้แอบคิดว่า ที่พวกมังงะและนิยายคดีฆาตกรรมแปลกๆ มันเบ่งบานได้ดีในญี่ปุ่นเพราะว่าหาปืนได้ยากเลยต้องหาวิธีฆ่าแปลกๆ รึเปล่า (อันนี้เอาฮา)
แต่ก็ตามที่เรียนว่า ปืนคือของแปลกในสังคมญี่ปุ่น ชนิดที่คนทั่วไป หากไม่ใช่ยากูซ่าและตำรวจ ก็คงจะไม่มีโอกาสเห็นได้ง่ายนัก แต่จริงๆ แล้วก็มีสามัญชนญี่ปุ่นที่ครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมายอยู่ เพียงแต่ว่าเขาทำให้การครอบครองอาวุธปืนเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ แถมเป็นความเสี่ยงเสียอีก จนกลายเป็นเรื่อง ได้ไม่คุ้มเสียไป
ที่บอกว่า ปืนเป็นของไม่คุ้นสำหรับชาวญี่ปุ่น เพราะประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นอกจากตำรวจแล้ว ไม่มีใครสามารถครอบครองปืนพกได้อย่างถูกกฎหมาย แรกเริ่มเดิมทีก็มาจากการออกระเบียบของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ปกครองญี่ปุ่นหลังสงครามในปี 1946 ก่อนจะถูกปรับเป็นกฎหมายควบคุมอาวุธปืนและดาบ โดยกระทรวงยุติธรรม ในปี 1958 และปัจจุบันทางการญี่ปุ่นก็พยายามจัดการลดปริมาณอาวุธปืนอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
ปืนที่อนุญาตให้สามัญชนครอบครองได้ มีเพียงแค่ปืนลูกซองและปืนไรเฟิลที่ใช้ในการล่าสัตว์เท่านั้น ทีแรกผมก็ไม่รู้มาก่อน มารู้ตอนเพื่อนพ่อตาเขาล่ากวางมาให้กินนี่ล่ะครับ แต่ถึงบอกว่าครอบครองได้ ก็ใช่ว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะทางการเขาเลือกทำให้การครอบครองปืนเป็นเรื่องวุ่นวายที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนหลายคนถอดใจ
ขั้นตอนการยื่นขอครอบครองปืนของญี่ปุ่น ก่อนอื่นก็ต้องไปเทกคลาสของทางการ ซึ่งจัดแค่เดือนละครั้ง และก็ต้องผ่านการสอบข้อเขียน ผ่านแล้วก็ต้องไปซ้อมยิงปืน และสอบปฏิบัติ ซึ่งต้องได้คะแนน 95% ขึ้นไป แล้วก็ไปตรวจสอบสุขภาพจิตและตรวจสอบสารเสพติดอย่างเข้มงวด แล้วก็ตามด้วยการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม นอกจากตรวจว่าเคยทำผิดอะไรหรือไม่ แล้วยังต้องเช็คว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มหัวรุนแรงไหนอีก ผ่านหมดแล้วถึงซื้อปืนได้ แต่ก็ใช่ว่าจะสิ้นเวรสิ้นกรรมแค่นั้น เพราะว่าต้องรายงานตำรวจว่า เก็บปืนไว้ที่ไหน แยกกระสุนไว้ตรงไหน และต้องล็อคให้เรียบร้อยอีกด้วย ยังไม่จบครับ เพราะทุกสามปี ก็ต้องผ่านขั้นตอนแบบเดิมนี้เสมอ เกิดไม่ผ่านขึ้นมา ก็โดนยึดหมดครับ
ซึ่งราคาของปืนและกระสนุรวมถึงอุปกรณ์ในการจัดเก็บก็ไม่ใช่ถูกๆ ทำให้การครอบครองปืนเป็นภาระไม่น้อย แถมเคยมีคนพยายามปลอมเอกสารตรวจร่างกาย สุดท้ายก็ได้ไปนอนคุกข้อหาปลอมเอกสารและละเมิดกฎหมายควบคุมอาวุธปืน และทุกปีก็ต้องเอาอาวุธปืนที่ครอบครองมาให้ตำรวจเช็ค แถมตำรวจยังสุ่มสอบถามเพื่อนบ้านและครอบครัวอีกด้วยว่าบุคคลที่ครอบครอบอาวุธปืนมีพฤติกรรมแปลกๆ หรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นการควบคุมที่เข้มงวดจนแทบจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเลยทีเดียว
แต่ก็ด้วยความเข้มงวดในการควบคุมแบบนี้ ทำให้อัตราการครอบครองอาวุธปืนของญี่ปุ่นลดลงเรื่อยๆ จำนวนนักล่าสัตว์ผู้ครอบครองปืนในปี 2014 มี 194,000 คน เทียบกับ 518,000 คนในปี 1974 ขณะที่ปริมาณปืนที่ได้รับอนุญาต ก็ลดลงจาก 361,402 กระบอกในปี 2007 เหลือ 210,928 กระบอกในปี 2016 และทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนลดต่ำมาก
จากรายงานของเว็บไซต์ GunPolicy.org เมื่อเทียบในกลุ่มประเทศ OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ด้วยกันแล้ว จาก 34 ประเทศ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในปี 2014 ประเทศญี่ปุ่นก็อยู่อันดับ 2 จากท้าย ด้วยจำนวน 6 ราย (แพ้ให้กับไอซ์แลนด์ 4 ราย) ส่วนแชมป์เป็นของอเมริกาที่ 33,599 ราย และเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนประชากร อันดับของ 2 ประเทศล่างก็ไม่เปลี่ยน อยู่ที่ 0.4 และ 0.32 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ส่วนอเมริกา หล่นมาอันดับ 3 ที่ 4.75 คน ส่วนแชมป์ก็ยกให้กับเม็กซิโก ที่ 23.69 คน ทิ้งห่างไปเลย
ยากูซ่าถึงกับบอกว่า อาวุธปืนก็เหมือนกับระเบิดเวลา ไม่มีใครบ้าอยากจะถือมันไว้ตลอดหรอก
ฟังดูแล้วก็เป็นความสำเร็จในการจัดการของตำรวจ เพราะต้องการจัดการที่ต้นเหตุเลย ไม่ได้รอให้เกิดเหตุแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง แม้หลายจุดจะดูล้ำเส้นอยู่ แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัยแล้ว ทางการญี่ปุ่นเขาก็เลือกความปลอดภัยของประชาชนมาก่อน แต่ที่หลายคนสงสัยคือ แล้วพวกอาวุธปืนเถื่อนล่ะ? ก็ต้องตอบได้ว่า มีหรือจะรอดครับ
ส่วนใหญ่ของคดีที่มีการใช้อาวุธปืนและมีผู้เสียชีวิต ก็เกิดจากสงคราวระหว่างแก็งยากูซ่าด้วยนี่ล่ะครับ ตัวอย่างเช่นปี 2012 มีคดีการใช้อาวุธปืน 45 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพลไปซะ 33 คดี (เทียบกับปี 2002 ซึ่งมี158 คดีก็คือว่าลดอย่างฮวบฮาบ) แม้ตำรวจจะมองว่าการปล่อยให้ยากูซ่าฆ่ากันเองถือว่าช่วยลดงานของตัวเอง แต่เมื่อมองเรื่องลูกหลงที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ต้องลงมาจัดการ และการใช้กฎหมายครอบครองอาวุธปืนอย่างเข้มงวดกับยากูซ่า ก็ทำให้สมาชิกแก๊งทั้งหลายต้องปวดหัว
หากตำรวจตรวจพบอาวุธปืนผิดกฎหมาย เจ้าของปืนมีโอกาสโดนโทษสูงสุด จำคุก 7 ปี ตัวอย่างที่ดีคือ คดีของ Kuwata Kaneyoshi สมาชิกระดับสูงของแก๊งยามากุจิ แก๊งใหญ่สุดในญี่ปุ่นถูกเรียกตรวจรถ และพบปืนผิดกฎหมาย แม้จะพยายามสู้คดี แต่สุดท้ายก็โดนจำคุกไป 7 ปี ที่โหดกว่าคือ โทษสูงสุดของการยิงปืนคือ จำคุกตลอดชีวิต (ต่ำสุดคือ 3 ปี) ทำให้ยากูซ่าถึงกับบอกว่า อาวุธปืนก็เหมือนกับระเบิดเวลา ไม่มีใครบ้าอยากจะถือมันไว้ตลอดหรอก กลายเป็นว่า ยากูซ่าเลือกอาวุธที่โทษน้อยกว่าอย่างดาบสั้นมาใช้แทน อืม… จะว่าดีก็ดีมั้งครับ
แต่ก็ไม่ใช่แค่กับยากูซ่า ขนาดตำรวจเองกฎหมายก็ยังเข้มงวดขนาดที่ตายแล้วก็ยังโดนลงโทษได้ เพราะเมื่อตำรวจซ้อมยิงปืน ก็ต้องนับจำนวนของกระสุนที่เบิกไปให้ตรงกับจำนวนปลอกกระสุนที่ส่งคืน หากไม่ตรงแล้วก็ต้องพลิกสถานีเพื่อหากันเลยทีเดียว ซึ่งเคยมีกรณีที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ใช้ปืนประจำตัวฆ่าตัวตาย แม้จะตายแล้ว แต่ทางการก็สั่งฟ้องเพื่อให้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หากใช้อาวุธปืนผิดเป้าหมายก็ต้องเจอผลกระทบเช่นนี้
ฟังดูแล้วญี่ปุ่นก็ดูจะเข้มงวดเรื่องอาวุธปืนจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกจริงๆ แม้หลายครั้งจะมีคดีแปลกๆ ก็เถอะ แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องห่วงว่าไปเหยียบตีนใครโดยบังเอิญที่ไหนแล้วอาจจะตายได้ง่ายๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของการควบคุมอย่างจริงจัง แน่นอนว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับทุกที่ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ควรเอามาพิจารณาเหมือนกันนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก