เวลาถึงฤดูที่ต้องเตรียมจ่ายภาษีเงินได้ส่วนบุคคล สิ่งที่ผมเห็นได้บนหน้าเฟซบุ๊กของผมเสมอก็คือ แนะนำกองทุน แนะนำแนวทางในการหาวิธีลดเงินภาษีที่จะต้องจ่ายให้กับทางการ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เราก็ยังต้องจ่ายภาษีอยู่ดี แถมจ่ายไปแล้ว จะบ่นอะไรก็เหมือนกับไม่รู้จักบุญคุณ แค่บ่นเรื่องรถเมล์ช้าจนไม่อยากอยู่ ก็โดนไล่ให้ออกไปจากประเทศ ไล่ให้ไปหาวิธีพัฒนาขนส่งมวลชน ทั้งๆ ที่เขาก็จ่ายภาษีเหมือนเราๆ ท่านๆ นี่ล่ะ
ก็ไม่แปลกอะไรที่หลายคนจะอิดออดไม่อยากจ่ายภาษี เพราะบางทีก็ไม่รู้ว่ามันจะถูกเอาไปใช้ทำอะไร เหมือนจ่ายไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีตัวเลือกให้คุณสามารถจ่ายเงินไป โดยรู้ว่าเขาจะเอาไปทำอะไร ในงบเท่าไหร่ แล้วยังได้รับของตอบแทนอีก เป็นคุณจะอยากจ่ายไหมล่ะครับ
ฟังดูเหมือนไม่น่าเชื่อ ว่าอะไรจะโปร่งใส ชวนให้คนจ่ายเงินให้ขนาดนั้น แต่ญี่ปุ่นเขาทำมาแล้วครับ ในชื่อว่า Hometown Tax หรือ ふるさと納税 (ภาษีบ้านเกิด)
ฟังชื่อแล้วอาจจะรู้สึกว่าเหมือนเป็นการจ่ายภาษีให้กับบ้านเกิดของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วเป็นเหมือนการ ค้นหาบ้านหลังใหม่ ด้วยการบริจาคเงินให้ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
ด้วยการที่ระบบการบริหารจัดการของญี่ปุ่น ให้โอกาสท้องถิ่นในการบริหารงานและเก็บภาษีมาพัฒนาท้องถิ่นด้วยตัวเอง ข้อดีคือ สามารถใช้งบได้ตรงความต้องการของคนในท้องถิ่น แต่ปัญหาก็คือ เมื่อท้องถิ่นบางแห่ง ประชากรลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ มีแต่คนแก่ ไม่มีประชากรในเมืองพอ ก็เก็บภาษีได้น้อยเกินไปจนไม่สามารถลงทุนทำอะไรใหม่ๆ ได้ จนเกิดเป็นระบบ Hometown Tax ที่เริ่มต้นในปี 2008 นี่ล่ะครับ ที่ช่วยดึงดูดเงินจากประชาชนทั่วไปให้เข้าสู่ท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่นได้ แม้ผู้จ่ายภาษีจะอยูห่างออกไปคนละมุมประเทศกับท้องถิ่นนั้น
ระบบของ Hometown Tax คือ ผู้เสียภาษีเงินได้ จะสามารถจ่ายเงินให้ท้องถิ่นต่างๆ เอาเงินไปทำประโยชน์ ซึ่งจะได้ของตอบแทนกลับด้วย โดยต้องเสียเงินจริงๆ แค่ 2,000 เยนต่อปีเท่านั้น และขั้นตอนจะมีดังต่อไปนี้ครับ
- ผู้เสียภาษีต้องเช็คอัตราของตัวเองว่าจะสามารถจ่ายเงิน Hometown Tax ได้สูงสุดเท่าไหร่ ตามรายรับต่อปี
- ผู้เสียภาษีจะเลือกท้องถิ่นที่ต้องการจ่ายเงินสนับสนุนให้ เลือกได้สูงสุด 5 ท้องถิ่น
- เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว แต่ละท้องถิ่นจะส่งของตอบแทนมาให้ ตามแต่ที่ท้องถิ่นนั้นๆ กำหนดไว้ พร้อมทั้งใบเสร็จหลักฐานการจ่ายเงินสนับสนุน
- เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายภาษี ก็นำเอาใบเสร็จดังกล่าวไปยื่นด้วย จะได้รับเงินคืนกลับมาส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือ ก็จะถูกนำไปยกยอดเอาไปใช้ยกเว้นภาษีในปีต่อไป โดยถูกหักค่าธรรมเนียมแค่ 2,000 เท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น นางสาวฮาชิโมโต้ ทำงานที่ค่ายเพลงแห่งหนึ่ง มีรายได้ต่อปี 3,000,000 เยน เมื่อเช็คแล้ว สามารถจ่าย Hometown Tax ได้ 30,000 เยนต่อปี นางสาวฮาชิโมโต้ ก็ตัดสินใจ จ่ายเงินสนับสนุน 3 ท้องถิ่น จำนวนท้องถิ่นละ 10,000 เยน ซึ่งก็ได้ของตอบแทนเป็น ลิ้นวัวจากจังหวัดมิยากิ เบียร์จากฮอกไกโด และเนื้อวัวจากเมืองฮิดะในกิฟุ ซึ่งเงินแต่ละส่วนก็ถูกนำไปใช้ต่างกัน ตั้งแต่ฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากซึนามิ อุดหนุนสหกรณ์โคนมในฮอกไกโด และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองฮิดะ ซึ่งเมื่อยื่นจ่ายภาษี ก็อาจจะได้เงินคืนทันที 3,000 เยน และยกยอดไป 25,000 เยนในการลดภาษีปีถัดไป สรุปคือ จ่ายเงินจริงแค่ 2,000 เยน ท้องถิ่นก็ได้เงินไปพัฒนาโครงการที่ต้องการทำ คนช่วยก็ดีใจที่เงินไปถึงโครงการที่อยากอุดหนุน ได้ลดภาษี แถมได้ของที่ระลึกอีกต่างหาก มีแต่คุ้มกับคุ้มครับ
ด้วยโครงการแบบนี้ ทำให้แต่ละท้องถิ่น ต้องพยายามแข่งกันหาเงินอุดหนุนเข้าท้องถิ่น ซึ่งก็แล้วแต่การแบ่งเลยครับ บางทีก็เป็นแค่ระดับตำบล บางทีก็จังหวัด แล้วแต่ว่าส่วนไหนจะออกโครงการมาอย่างไร
วิธีล่อเงินอุดหนุนก็ด้วยการนำเสนอของตอบแทนที่น่าสนใจให้กับสนับสนุน หลายที่ก็เลือกสินค้า OTOP ของตัวเอง เนื้อดัง ปลาสด ผักสด ข้าวสาร มาดึงดูดผู้คน บางที่ก็นำเสนอแพ็คเกจเข้าพักในเรียวคังที่มีออนเซนชื่อดังเป็นของตอบแทน กระทั่งคูปองกินมื้อเที่ยงบนยอดโตเกียวสกายทรีก็ยังมี บางที่ไม่รู้จะเอาอะไรมาเสนอ ก็เล่นง่ายด้วยการเสนอเบียร์กระป๋อง 2 โหล
ส่วนโครงการที่นำมาประกาศรับเงินสนับสนุนนี่ก็มีสารพัดสารพันเช่นกันครับ มีตั้งแต่อุดหนุนโครงการอาหารเด็กยากไร้ในท้องถิ่น ฟื้นฟูสภาพรถไฟหัวจักรไอน้ำ สนับสนุนโครงการฟุตบอลเยาวชน ฟื้นฟูคฤหาสน์ไม้เก่าแก่ สนับสนุนสถานเลี้ยงดูสุนัขจรจัด (จะได้ไม่ต้องรมแก๊สให้ตาย) โครงการเปิดร้านราเม็งเนื้อหมูป่า (เพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่รบกวนเกษตรกรท้องถิ่น) มีกระทั่งโครงการสนับสนุนการก่อสร้างลานสเก็ตน้ำแข็งเพื่อพัฒนานักสเก็ต (ซึ่งใครสนับสนุนก็จะได้ป้ายชื่อแปะในอาคาร)
มองอีกมุม นี่ก็คือโครงการลักษณะ Crowdfunding ที่คิดขึ้นโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น และช่วยให้คนที่ สนับสนุนโครงการได้ลดหย่อนภาษีด้วย
จัดว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้เงินจากภายนอกเข้ามาดำเนินงาน คนสนับสนุนก็ได้ของฝากแล้วยังได้สนับสนุนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และอาจจะสร้างความผูกพันกับท้องถิ่นต่างๆ จนกลายเป็นบ้านเกิด หรือ Hometown ใหม่ของตัวเองไปเลย
อ่านที่เขียนมาอาจจะเคลิ้มว่า โห ระบบดีจังเลย ได้ของ ได้สนับสนุนท้องถิ่นที่ทำในสิ่งที่เราสนใจ แต่เอาจริงๆ หลังจากดำเนินงานมาได้หลายปี ปัญหาก็เกิดขึ้นเหมือนกันครับ มีตั้งแต่เรื่องส่วนตัวอย่าง จ่ายเงินสนับสนุนไปแล้ว ดันลืมยื่นตอนทำภาษี หรือ ไม่ทันเช็คว่าตัวเองสามารถเว้นภาษีได้สูงสุดเท่าไหร่ แล้วดันจ่ายไปเกิน อันนี้ก็คงต้องโทษตัวเอง
แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือส่วนท้องถิ่นต่างๆ นั่นล่ะครับ ที่บางทีก็วางแผนไม่ดี พอคนมาสนับสนุนเยอะๆ ต้องให้ของเยอะ กลายเป็นว่าขาดทุน บางที่ไม่มีของเด็ดอะไรของตัวเอง ก็ต้องไปพยายามหาของมาโปะ หรือบางแห่งก็หน้าบางเกิน ได้แต่เก็บตัวเงียบๆ ไม่กล้ามาแข่งกับเขา บางที่ก็กลายเป็นว่า การหาของตอบแทน กลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจท้องถิ่นบางเจ้าไปแทน
แต่ก็อย่างว่าครับ ระบบเพิ่งเริ่มไม่ถึง 10 ปี ก็อาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่แนวทางการพยายามหาเงินเข้าท้องถิ่นด้วยการแข่งขันกันบริหารงานและสร้างจุดเด่นก็เป็นเรื่องน่าสนนะครับ ที่สำคัญเราก็สามารถเลือกได้ว่า จะให้เงินภาษีเราไปใช้อย่างไรด้วยนี่สิ แต่ถ้าจะทำแบบนี้บ้าง ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการกระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่นก่อนนั่นล่ะครับ
ไม่แน่นะครับ อย่างรถไฟฟ้าที่ขอนแก่นก็อาจจะได้เงินสนับสนุนจากคนขอนแก่นเข้ากรุงอย่างผมบ้างก็ได้ (ของฝากเป็นเซ็ตหม่ำกับไส้กรอกอีสานเจ้าประจำงี้) จะได้ไม่ต้องรอรถเมลนานๆ นะ