“ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างคน 2 คนที่ความต้องการทางเพศไม่มีอยู่ ถูกกดทับ หรือระเหิดหายไป” นั่นคือหนึ่งในความหมายที่พจนานุกรม Merriam-Webster ใช้แปลคำว่า Platonic Love และมันเป็นความหมายที่เราคุ้นชินกันมากที่สุด
เรามักใช้ Platonic love อธิบายเกี่ยวกับความรักระหว่างเพื่อน อาจจะเพื่อนสนิท หรือเหนือเพื่อนสนิทที่ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นแฟน หรือระหว่างคนรักที่มีความสนใจในกันและกันอย่างลึกซึ้งด้วยตัวตนของพวกเขาทั้งคู่ ไม่ใช่ลักษณะทางกายภาพหรือเซ็กซ์ ความสัมพันธ์ที่นับว่าธรรมดาและพบเห็นได้ทั่วไปในปีปัจจุบัน
แต่คอนเซ็ปต์ของ Platonic love นี้ไม่ได้กำเนิดขึ้นมาจากอากาศธาตุ แต่มันถือกำเนิดขึ้นมาจากบทสนทนาที่นักปรัชญาชาวกรีกเพลโต (Plato) เป็นผู้บันทึก (หรือแต่ง) เอาไว้ในหนังสือชื่อ ซิมโพเซียม วิวาทะระหว่างนักปรัชญา นักการเมือง นักเขียนบทละคร แพทย์ นักกฎหมายชาวกรีกจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับความรัก
ฉะนั้นหากจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับ Platonic love การเดินสำรวจสิ่งที่เหล่านักคิดแห่งยุคในกรุงเอเธนส์ที่ยังมีอิทธิพลต่อมาในโลกสองพันกว่าปีน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี
เกี่ยวกับซิมโพเซียม
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อราวๆ 385 ปีก่อนคริสตกาล ซิมโพเซียม เล่าเรื่องของการชุมนุมระหว่างนักคิดชาวกรีกเพื่อสรรเสริญเทพแห่งความรักในวงรับประทานอาหาร การชุมนุมที่เพลโตถ่ายทอดออกมาด้วยการเขียนเล่าเรื่องคล้ายละครเวที โดยในขณะที่นักคิดร่วมดื่มกินในบ้านของนักเขียนบทละครชื่อดังอกาธอน (Agathon) พวกเขาผลัดกันพูดสุนทรพจน์เกี่ยวกับมุมมองต่อความรัก โดยผู้พูดมีเฟดรัส (Phaedus) พอซาเนียส (Pausanias) อีริไซมาคัส (Eryximachus) อริสโตฟาเนส (Aristophanes) อกาธอน (Agathon) โซเครติส (Socrates) และอัลซิไบเดส (Alcebiades)
ด้วยความที่แต่ละคนมีอาชีพและประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย สุนทรพจน์ของพวกเขามีโฟกัสอยู่ในจุดที่แตกต่างกันออกไป เฟดรัสเชื่อว่ารักนำมาซึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรม ส่วนพอซาเนียสในฐานะนักกฎหมายแม้จะเห็นด้วยกับเฟดรัสครึ่งหนึ่ง เขายังเสนอว่ารักไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว แต่มี 2 นั่นคือรักอันสูงส่งและรักสามัญ มาจากการตีความเทพีอโฟรไดต์ 2 แบบและพูดคุยเกี่ยวกับว่ารักแบบใดควรถูกสรรเสริญมากกว่าพร้อมพาไปคุยเรื่องกฎหมายในแต่ละรัฐว่ายอมให้รักแบบนั้นเป็นไปได้หรือไม่
ส่วนอีริไซมาคัสถกเถียงแนวคิดของทั้ง 2 ในฐานะผู้ถือวิชาชีพแพทย์ ว่ารักนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในมนุษย์ แต่เสนอว่าความรักนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกสิ่ง เทียบว่ารักมีรักที่ดีและไม่ดีต่อสุขภาพ และอริสโตฟาเนส นักเขียนบทละครสุขนาฏกรรมแต่งเรื่องมนุษย์ในยุคแรกเริ่มผู้เคยมี 4 มือ 4 ขา 2 หัว 2 อวัยวะเพศ ก่อนจะโดนพระเจ้าแยกออกจากกัน ทั้ง 2 ส่วนใช้ชีวิตเพื่อตามหาคู่ของกันและกัน แนวคิดที่ใช้เป็นการเปรียบเปรยธรรมชาติของรักอีโรติก ของเซ็กซ์ และของการเป็นคู่แท้ (sole mate) ในปัจจุบัน
อกาธอนผู้เป็นเจ้าบ้านมองแตกต่างไป เขาเชื่อว่าผู้พูดก่อนหน้าพูดเกี่ยวกับมนุษย์มากพูดเกี่ยวกับมนุษย์มากเกินไป และเข้าเสนอมุมมองต่อความรักของตัวเองในฐานะนักเขียนและนักกวีโดยมองไปยังลักษณะของเทพอโฟรไดต์ในงานวรรณกรรมต่างๆ เพื่อไปยังข้อสรุปว่ารักคือเทพที่งดงามและสมบูรณ์แบบที่สุด “ด้วยเหตุนี้ เฟดรัส ข้าพเจ้าจึงกล่าวถึงเทพแห่งความรักว่าพระองค์งดงามและดีที่สุดด้วยตัวของพระองค์เอง ทั้งเป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นซึ่งความงามและความดีในสิ่งทั้งปวง” อกาธอนหมายถึงความยุติธรรม ความอดทน ความกล้าหาญ ความงาม และบทกวี
แต่หลังจากอกาธอนพูด โซเครติส ผู้ที่บ่อยครั้งทำหน้าที่เป็นปากให้กับเพลโตในงานเขียนของเขา วิจารณ์แนวคิดผู้พูดก่อนหน้าว่าเป็นการพูดเกี่ยวกับความรักที่ไม่ครอบคลุม หากแต่พูดเกี่ยวกับรักตามบริบทที่พวกเขาประสบมาเสียมากกว่าอย่างอื่น หลังจากนั้นจึงเริ่มสรุปรวบยอดและถกถามวิธีคิดของอกาธอนทีละข้อ จนกว่าอกาธอนจะจนมุมตามแบบที่เขามักทำ
โดยหากสรุปให้กระชับ โซเครติสได้คำตอบเป็นขั้นๆ ว่าความรักนั้นต้องเกิดขึ้นระหว่างเราต่อกับบางสิ่งบางอย่าง ไม่สามารถเกิดขึ้นเดี่ยวๆ ได้ และความรักเกิดจากการต้องการสิ่งที่เราไม่ได้ครอบครองอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเราพูดถึงคนหลายๆ คนพวกเขาก็ต้องการสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วแต่มากขึ้น เช่น กำลัง ความเร็ว เงินตรา ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงว่านอกจากวัตถุ เวลาก็เกี่ยวข้องกับความรักเพราะความต้องการดังกล่าว คือความต้องการที่จะมีสิ่งเหล่านั้นต่อไปในอนาคต
โดยโซเครติสรวบยอดทั้งหมดว่าความรัก คือการต้องการสิ่งที่มนุษย์ยังไม่มีในตอนนี้ และทำลายบทสรุปเดิมของอกาธอนว่ารักคือความงาม หลังจากนั้นโซเครติสเปลี่ยนประเด็นไปเล่าเรื่องราวการสนทนาของเขาและปราชญ์ชื่อไดโอติมา (Diotima) หญิงผู้สอนโซเครติสเกี่ยวกับความรัก และนี่คือจุดเริ่มต้นของคอนเซ็ปต์ Platonic Love
ขั้นบันไดของความรัก
ต่างจากมุมมองของนักคิดจากเอเธนส์ที่เราพูดถึงก่อนหน้า ในการพูดคุยกันระหว่างไดโอติมาและโซเครติสเผยให้เห็นความเชื่อของเธอว่ารักไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ได้สวยงามหรืออัปลักษณ์ แต่อยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งคู่ และมันสถิตอยู่ตรงกลางระหว่างเทพและมนุษย์ รักไม่เป็นอมตะ เบิกบานสลับกับอับเฉา อยู่ตรงกลางระหว่างอวิชชาและปัญญา อย่างไรก็ดีทั้งคู่ยอมรับว่ามนุษย์รักในสิ่งที่งาม
โซเครติสได้ยินอย่างนั้น จึงตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักว่าความรักให้อะไรมนุษย์ แต่เพราะก่อนหน้านี้ทั้งคู่ยอมรับว่ามนุษย์รักในสิ่งที่สวยงาม ไดโอติมาจึงวางกรอบคำถามใหม่ ว่าในการที่มนุษย์รักในสิ่งที่สวยงาม เขาปรารถนาอะไร โซเครติสตอบว่าการได้สิ่งนั้นๆ เป็นของเขา แต่คำถามที่นำเราไปยัง Platonic love ได้นั้นคือคำถามต่อไปของไดโอติมา ที่ว่า “เขาจะได้อะไรจากการครอบครองความงาม?” หลังจากนั้นทั้ง 2 ก็ทำการเปลี่ยนจากคำว่า ‘งาม’ ให้กลายเป็นคำว่า ‘ดี’
ทั้งคู่สรุปร่วมกันว่า “สัจธรรมเบื้องต้นคือมนุษย์รักในสิ่งดี” และทั้งคู่ไปกันต่อด้วยการทึกทักว่าเช่นนั้นก็ต้องการครอบครองในสิ่งดี และไม่ใช่เพียงครอบครองธรรมดา แต่เป็นครอบครองในสิ่งดีนั้นๆ ตลอดไป เนื่องด้วยการครอบครองในสิ่งดีนำไปสู่ความสุข และการมีความสุขตลอดไปในมุมมองหนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความต้องการสูงสุดของมนุษย์ก็เป็นได้ เช่นนั้น ต่างจากนักคิดชาวเอเธนส์ที่เราคุยกันไปถึงก่อนหน้า ไดโอติมาเสนอว่าความรักคือความปรารถนาที่จะครอบครองสิ่งดีตลอดไปและนั่นคือพื้นฐานของ Platonic love
หน้าตาของ Platonic love นั้นแตกต่างจากความหมายที่เราเขียนถึงไปในตอนต้นบทความ เพราะในรูปแบบแรกเริ่ม รักแบบ Platonic คือบันไดที่จะนำพาไปยัง ‘แบบของความงาม (Form of Beauty)’ หรือภาพในอุดมคติของความงาม โดยมันจะเริ่มจากรักทางกายภาพเป็นขั้นแรกก่อน อาจจะด้วยหน้าตา ส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ของคนคนหนึ่ง ปาก จมูก นิ้วมือที่งดงาม กายภาพเป็นส่วนแรกที่จะนำพาเราเข้าหาคน ขั้นต่อมาคือการมองหาความงามทางกายภาพของคนอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่กับร่างแรกที่เรารักเท่านั้น เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเราชอบอะไรในร่างกายของคนคนหนึ่ง และเพื่อให้รู้ว่าร่างกายนั้นมีหลายส่วนเหลือเกินที่คนคนหนึ่งจะแทนกับอีกคนได้
และหลังจากรู้เช่นนั้น การปีนไปอีกขั้นคือการมองเข้าไปยังจิตวิญญาณ แม้ว่าจิตวิญญาณนั้นจะไม่ได้อยู่ในร่างที่เราชอบก็ตาม ขยายไปยังความงามในความรู้ ในสถาบันทางการเมือง ก่อนจะไปยังขั้นสุดท้ายนั่นคือแบบของความงาม แบบของความงามคือความงามที่คงอยู่ตลอดไป ไม่จางหาย ไม่น่าเกลียดในมุมใดมุมหนึ่งแต่งามทั้งหมด และงามโดยไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งเชื่อมกับปรัชญาเกี่ยวกับ ‘แบบ’ (Form) ของเพลโต ที่เชื่อว่าในโลกนี้ทุกสิ่งมีรูปแบบในอุดมคติทั้งสิ้น และการนึกถึงมันอยู่เสมอทำให้เราสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความถูกผิดและพาเราไปยังเส้นทางแห่งการปรับปรุงได้
ด้วยข้อสรุปดังกล่าวเราอาจจะเริ่มเห็นแล้วว่าการตีความ Platonic love จากโลกปัจจุบันนั้นมาจากไหน ในรูปแบบตั้งต้น ความรักรูปแบบนี้ไม่ได้เป็นรักที่ปฏิเสธกายภาพ แต่มันบอกว่ากายภาพไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญ อาจเถียงได้ด้วยว่าไม่สำคัญเลยในมุมมองของเพลโต
แต่จากทั้งหมดที่พูดมา ข้อสังเกตคือเมื่อเทียบกันระหว่างไอเดียเรื่องเล่ารักโรแมนติกเกี่ยวกับการหาคู่หนึ่งเดียวที่ขาดหายไปของเราโดยอริสโตฟาเนส กับรักที่ต้องนำไปสู่ความงามสากลของไดโอติมา โซเครติส เพลโตแล้ว เลือกไม่ถูกเหมือนกันว่าแบบไหนเป็นไปได้น้อยกว่ากัน ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าหากคนในปัจจุบันหลายๆ คนจะเลือกนำมันมาใช้ในด้วยนิยามที่แตกต่าง
อ้างอิงจาก
เพลโต. (2556). ซิมโพเซียม ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก [Symposium] (อัคนี มูลเมฆ, แปล). กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ 1001 Nights. (ต้นฉบับพิมพ์ปี 385 ก่อนค.ศ.)