ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่มีอารยธรรมล้ำยุคถึงเบอร์ไหน แต่ถ้ายังไม่มีอะไรที่เรียกว่า ‘ไฟฟ้า’ ใช้แล้ว ‘ปลั๊กไฟ’ ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์สิ้นดีทั้งนั้นนะครับ ก็ในเมื่อไม่มียังไฟฟ้าใช้แล้ว ปลั๊กไฟมันจะมีประโยชน์อะไรเล่า ปั๊ดโธ่ว!
และนวัตกรรมที่เรียกว่า ไฟฟ้า มันก็ต้องมาพร้อมเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้านั่นแหละ
แต่ก่อนที่จะมี ‘ไฟฟ้า’ แบบที่มีรูปร่างหน้าตาแบบที่เราคุ้นชินในปัจจุบัน ใช้ในสยามประเทศไทยนั้น เราเคยผลิต ‘แสงสว่าง’ (เอาน่า! ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของไฟฟ้า ก็คือการที่มันทำให้เรามีแสงไฟสว่างไสว ช่วยให้เห็น และทำอะไรต่อมิอะไรได้ในความมืด อย่างเช่นการไปแฮงค์เอาท์ตอนกลางคืนด้วยแน่ๆ) จาก ‘แก๊ส’ หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า ‘gas lighting’ ขึ้นมาก่อน
แม้จะมีการเคลมกันว่า ชาติพี่เบิ้มของโลก โดยเฉพาะโลกตะวันออกอย่าง ‘จีน’ จะผลิตแสงสว่างขึ้นมาจากแก๊สธรรมชาติ แล้วบรรจุเอาไว้ในตะเกียงได้แล้วตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อนโน่นแล้วก็ตาม (แหม่! อะไรๆ จีนนี่ก็ประดิษฐ์ขึ้นมาก่อนเขาเพื่อนทั้งนั้นเลยเนอะ ส่วนจะจริงรึเปล่านี่ก็อีกเรื่อง? แถมยังแน่นอนอีกด้วยว่า คนที่อ้างว่าไอ้นู่น ไอ้นี่ จีนก็ประดิษฐ์มาก่อนทั้งนั้น นี่ก็คือพวกจีนเองนี่แหละ) แต่ชาติที่ต้องส่งบรรณาการไปจิ้มก้องจักรพรรดิของพวกพี่เบิ้มเขา มาตลอดหลายร้อยปีอย่างไทยเรา ก็ไม่เคยได้รับเอานวัตกรรมอันนั้นมาปรับใช้หรอกนะครับ เผลอๆ จะไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นกว่าที่สยามจะรู้จักการสร้างแสงสว่างด้วยพลังงานแก๊สนั้น ก็เป็นเพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลกตะวันตก ของพวกยุโรป ที่เริ่มขึ้นในยุคร่วมสมัยกับช่วงปลายสุดของกรุงศรีอยุธยา คือในช่วงประมาณทศวรรษของ พ.ศ. 2290
ถ้ายังนึกภาพกันไม่ออก ก็คือช่วงเวลาที่ตรงกับในสมัยที่อภิมหาภาพยนตร์ซีรีส์อลังการระดับดาวล้านดวง ที่เพิ่งออกฉายให้ประชาชนชาวไทยได้รับชมกันจนอิ่มเอม และซาบซึ้งในสำนึกรักชาติและบ้านเกิดของบรรพชนชาวไทยอย่าง ‘ศรีอโยธยา’ (เอ่อ! ถึงแม้ว่าตอนนั้นยังไม่มี ‘ชาติ’ โดยเฉพาะชาติไทยก็เถอะ) ในน้ำมือกำกับของ มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หรือที่ใครต่อใครเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘หม่อมน้อย’) ย้อนภาพในอดีตมาให้เราดูกันนั่นแหละ
แถมช่วงที่เขาเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมกันในยุโรปนั้น ก็ตรงกันกับรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าศรัณยู ‘โลกิ’ วงษ์กระจ่าง เอ้ย! สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (หรือที่ทรงมีพระนามตามพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระภูมินทรมหาราชาบรมโกศ) อันเป็นช่วง เวลาก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกไม่นานนัก จนหม่อมน้อยต้องเอามาใช้เป็นภาพอดีตของอยุธยาก่อนที่จะล่มสลายนั่นเลยนะครับ
ยุโรปในสมัยนั้น มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมกันมากกว่าที่ทั้งโลกเคยรู้จักมา เพื่อที่จะได้ผลผลิตที่แน่นอน ทั้งยังมีจำนวนมาก และนั่นก็ทำให้ ‘แสงสว่าง’ ในโรงงานกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น แถมยังสำคัญเป็นอย่างมาก
พวกฝรั่งจึงเริ่มมีการนำแสงสว่างที่ได้มาจากแก๊ส ซึ่งรู้จักกันอยู่ดีพอสมควรแล้วในโลกตะวันตกยุคนั้น เพียงแต่ยังอยู่ในรูปของโคมไฟ ที่ตั้งอยู่โดดๆ มาเชื่อมต่อกันด้วยการลำเลียงแก๊สผ่านทางท่อโลหะ ที่วางเป็นแนวเอาไว้ ไม่ต่างอะไรไปกับสายไฟในปัจจุบันนี่เอง
ถึงแม้ว่าเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปที่เริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะสว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากอะไรที่พวกเขาเรียกว่า ‘gas lighting’ แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานอยู่เลยสักนิดว่า แสงที่เกิดขึ้นมาจากพลังงานของแก๊ส จะเคยมาส่องสว่างอยู่ในพื้นที่ส่วนไหนๆ ในกรุงศรีอยุธยาด้วย
ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เฉพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเท่านั้นหรอกนะครับ ที่จะไม่เคยทรงมีเจ้าหลอดแสงสว่างจากพลังงานแก๊สใช้เป็นของใช้ส่วนพระองค์เอง เพราะแม้แต่ในรัชสมัยของบรรดาพระราชโอรสในพระองค์ ที่จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาถัดๆ มาอย่าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร หรือสมเด็จพระที่นั่งนั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (หรือที่มักจะรู้จักกันมากกว่าในพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ) ก็ยังไม่ได้มีการนำเข้าเจ้านวัตกรรมที่ว่านี้มาทำให้กรุงศรีอยุธยาสว่างไสวขึ้นมาเลยเสียด้วยซ้ำ
และนี่ก็ยิ่งทำให้ไม่ต้องคิดเลยว่า พระยาตาก (สิน) หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในอนาคต และหลวงยกกระบัตร ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคต่อมาจะทรงรู้จัก หรือเคยเห็น ‘ปลั๊กไฟ’ อย่างภาพที่หลุดมาในภาพยนตร์ซีรีส์ชุด ศรีอโยธยา หรือเปล่า?
ก็ในเมื่อแค่ไฟที่ผลิตขึ้นจากแก๊สยังไม่มีใช้ แล้วจะเอาปลั๊กไฟไปใช้ทำอะไรกัน?
และก็คงจะไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่ พระยาตาก (รับบทโดย ศรราม เทพพิทักษ์) และหลวงยกกระบัตร (รับบทโดย ธีรภัทร สัจจกุล) ณ ขณะจิตนั้นเท่านั้นหรอกครับ ที่เมื่อเห็นอะไรที่ในปัจจุบันเรียกกันสั้นๆ และเฉยชาสิ้นดีว่า ‘ปลั๊กไฟ’ แล้ว จะรู้สึกสงสัยพลางรำพึงขึ้นในใจว่า “นี่มันอะไรวะ?”
เป็นใครในโลกยุคนั้นก็คงรำพึงหรือสบถขึ้นคล้ายๆ กัน เพราะในโลกยุคนั้นเขายังเห็นแสงสว่างจากพลังงานแก๊ส เป็นเวรี่ๆ ไฮเทคโนโลยีกันอยู่เลย แถมกว่าที่จะมีหลักฐานการนำแสงสว่างจากพลังงานแก๊สเข้ามาใช้ในประเทศสยาม ก็ต้องรอจนถึงโน่นแหนะ ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ของยุคกรุงเทพฯ นั่นเลย
ผู้ที่ทรงริเริ่มนำเจ้านวัตกรรมที่ว่านี่มาใช้งานก็คือ สมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยทรงทดลองใช้ในพระราชวังบวรสถาน หรือ ‘วังหน้า’ (พื้นที่บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ก่อนที่ต่อมาจะได้มีการนำมาใช้ในพระบรมมหาราชวัง หรือ ‘วังหลวง’ ในช่วงที่สมเด็จพรเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานนัก
การที่จะใช้แสงสว่างพลังงานแก๊สนั้น ก็ทำให้จำเป็นต้องมีการตั้ง ‘โรงแก๊ส’ หรือที่เรียกเป็นศัพท์ทางการในยุคโน้นว่า ‘โรงหุงลมพระประทีป’ ขึ้นมาในวังด้วย ในกรณีของวังหลวง ว่ากันว่าเจ้าโรงหุงลมพระประทีปนี้ตั้งอยู่ตรงที่ปัจจุบันนี้คือ หมู่พระที่นั่งบรมพิมาน แต่ก็นั่นแหละครับ ขึ้นชื่อว่า ‘แก๊ส’ แล้วก็ย่อมมีความเสี่ยงในเรื่องของอัคคีไฟเสมอ ในกรณีของวังหลวงก็ด้วย
พ.ศ. 2417 เกิดมีเหตุการณ์โรงแก๊สในวังหลวงได้ระเบิดขึ้นมาจริงๆ แต่สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิดนี้ บ้างก็ว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบทางการเมือง และราชสำนักในยุคต้นรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหัว บ้างก็ว่าเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาหม้อ หรือถังแก๊ส อาจจะปล่อยให้มีฝุ่นผงลงไปอยู่ในถังแก๊สมาก จนการระบายแก๊สเกิดติดขัด และระเบิดขึ้นในที่สุด
ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผลที่ตามมาจากการระเบิดในครั้งนั้นก็ทำให้ มีการย้ายโรงแก๊สออกมาตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าวัดสุทัศน์ (บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) พร้อมๆ กับที่มีการวางท่อแก๊สเข้าไปในวังหลวง และถนนเส้นต่างๆ ในพระนคร เป็นครั้งแรก
ใช่ครับใช่ นี่คือครั้งแรกที่บรรดาไพร่สามารถที่จะเชยชมแสงสว่างที่ไม่เกิดขึ้นจากการจุดไต้ คบ หรือโคมไฟ อย่างใกล้ชิด เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม แต่ว่าหลังจากนั้นเพียงไม่นาน แสงสว่างที่ได้จากพลังงานแก๊สที่ไพร่สยามเพิ่งจะรู้สึกเป็นบุญตาที่ได้เห็น ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ ‘เอาท์’ เอามากๆ สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานของโลก
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2422 หรือเกือบๆ 5 ปี ถัดจากที่ประเทศสยาม เริ่มมีแสงสว่างจากแก๊สประดับอยู่ตามโคมไฟริมถนนในพระนคร ก็ได้เกิดมีการเริ่มให้บริการแสงสว่างจากพลังงานำไฟฟ้าเป็นครั้งแรกของโลกที่ เมนโลปาร์ค รัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเริ่มมีการแพร่กระจายไปใช้ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2425
และนี่ก็คงเป็นเหตุให้ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ซึ่งต่อไปจะดำรงตำแหน่งเป็น จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้ไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่องมาจากประเทศอังกฤษนี่เอง ซึ่งท่านก็ได้นำมาจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรกของประเทศสยาม ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวังหลวง หรือพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ซึ่งก็เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 จนพวกการไฟฟ้าฝ่ายต่างๆ เขานับว่า นี่เป็นวันตั้งต้นของการมีไฟฟ้าใช้ในประเทศไทย
ก็คงจะจริงตามที่การไฟฟ้าฯ เขาว่ากันมั้งครับ? แต่กว่าที่ไฟฟ้าจะลงมาถึงไพร่ ถึงประชาชนได้ใช้ นับจากวันนั้นก็ต้องรออีกหลายปีเลยทีเดียว โดยเริ่มต้นจากการที่เมื่อ พ.ศ. 2437 ได้มีการนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ในการเดินรถราง แทนพลังงานเดิมที่ใช้ม้าในการลาก (เอิ่ม… ที่จริงอันนี้ก็นับว่าเป็นพลังงานได้นะ แต่จะนับงั้นกันจริงๆ เหรอ?) ก่อนที่จะเริ่มมีการตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนกันใน พ.ศ. 2440 แต่จะเป็นรูปเป็นร่างกันจริงๆ ก็เมื่อ เริ่มมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่ข้างวัดราชบูรณะ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘โรงไฟฟ้าวัดเลียบ’ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ เมื่อ พ.ศ. 2441
ดังนั้นกว่าที่สยามประเทศไทยจะได้ทำความรู้จักกับ ‘ปลั๊กไฟ’ ก็โน่นแหนะ สมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเลย นับเป็นเวลาร้อยกว่าปีนับจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงรั้งตำแหน่งพระยาตาก และรัชกาลที่ 1 ยังทรงพระยศเป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี แห่งกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
ทั้งพี่หนุ่ม ศรราม และพี่ตุ้ย ธีรภัทร อาจไม่รู้สึกอะไรเมื่อเห็นปลั๊กไฟ พอๆ กับที่หม่อมน้อยท่านก็เฉยๆ ก็มันแค่ปลั๊กไฟนี่หว่า! แต่คนที่ทั้งพี่หนุ่ม และพี่ตุ้ยรับบทบาทแสดงเป็นพระองค์ทั้งสองนั้นคงจะไม่ทรงรู้สึกอย่างนี้ด้วยแน่ ก็ในเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคที่ไม่มีปลั๊กไฟ และพลังงานไฟฟ้าแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี่
น่าเสียดายงานโปรดักชั่นระดับอลังการดาวล้านดวง น่าจะประณีตกว่านี้ ถ้าขี้เกียจจะรีทัชออก ผมว่าเอาอะไรไปบังมันไว้นิดก็ยังดีนะครับ…