มีมิตรสหายของผมท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้เป็นภาพสรุปความแบบหลวมๆ ว่า “การเมืองของฝ่ายขวาคือการเมืองของความกลัว ในขณะที่การเมืองของฝ่ายซ้ายคือการเมืองของความโกรธ” แม้อาจจะเป็นการสรุปแบบหลวมๆ หยาบๆ แต่ผมเห็นว่ามันช่างคมและตรงเสียเหลือเกิน
เวลาเราพูดว่าซ้ายหรือขวาในที่นี้ ผมคิดว่าไม่ได้จำเป็นจะต้องแข็งทื่ออยู่เฉพาะกับความเป็นการเมืองแบบฝ่ายขวาอำนาจนิยม/อนุรักษ์นิยม และซ้ายสังคมนิยม/มาร์กซิสม์อะไรเท่านั้นด้วย แต่ความขวาความซ้ายในที่นี้มีบริบทเชิงสัมพัทธ์มากทีเดียวครับ คือ ฝั่งที่อนุรักษ์มากกว่าโดยเปรียบเทียบ กับฝั่งที่ก้าวหน้ามากกว่าในเชิงเปรียบเทียบนั่นเอง เป็นต้นว่า ข้อเสนอของทนายอานนท์ หรือน้องๆ นักศึกษาธรรมศาสตร์ 10 ข้อในช่วงที่ผ่านมานั้น หากนำไปวางไว้ในสเกลประชาธิปไตยเสรีในทางสากลแล้ว สามารถบอกได้เลยครับว่าเป็นข้อเสนอของฝ่าย ‘ขวาอนุรักษ์’ เลยทีเดียว แต่เมื่อนำมาวางในบริบทของการเมืองไทยแล้ว ข้อเสนอที่ขวามากๆ ในทางสากลนั้น กลับเป็นอะไรที่ก้าวหน้าเหลือเกิน นั่นเพราะในสังคมไทย สิ่งที่เรียกว่าฝ่ายขวานั้น ยังคงจมดิ่งค้างเติ่งอยู่ที่การเมืองยุคศตวรรษที่ 18-19 อยู่เลยน่ะครับ กระแสความคิดที่นับว่าอยู่ฝั่ง ‘ขวา’ ในสากลโลกปัจจุบัน จึงนับว่าเป็น ‘ซ้ายโดยเปรียบเทียบในกรณีของไทยได้’
ทีนี้กลับมาที่ความกลัวและความโกรธบ้าง จริงๆ แล้วรากฐานของคำว่า ‘อนุรักษ์นิยม’ นั้น ไม่ผิดนักที่จะมองว่าสัมพันธ์กับ ‘ความกลัว’ โดยตรง หนึ่งในเจ้าสำนักคิดสัจนิยมแสนคลาสสิกอย่างโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถือกันว่าเป็นหนึ่งในต้นรากของสายธารวิธีคิดแบบฝ่ายขวาสมัยใหม่นั้น ได้อภิปรายถึงวิถีชีวิตอันเป็นคุณค่าหลักของมนุษย์สมัยใหม่ (Modern man) เอาไว้ว่า มนุษย์สมัยใหม่นั้นจะมีความกลัวตายเป็นที่ตั้ง ผิดกับคนร่วมสมัยของเค้าที่มีคุณค่าหลายประการมาบังตา ทำให้พร้อมจะสละชีวิตเพื่อคุณค่าต่างๆ สารพัดได้ เพราะฉะนั้นเมื่อความกลัวตายกลายเป็นความกลัวอย่างสูงสุดแล้ว มนุษย์สมัยใหม่ย่อมให้ค่ากับความขลาดกลัว เพราะความขี้ขลาดตาขาวนั้นจะกลายเป็นช่องทางที่ทำให้เรามีโอกาสรอดพ้นจากความตายได้มากที่สุด ฮอบส์เรียกสิ่งนี้ว่า “เกียรติภูมิของผู้ขี้ขลาด” (Virtue of the Cowardice) นั่นเองครับ
ในแง่นี้เอง ข้อเสนอหลักทางการเมืองของฮอบส์ที่เรียกว่า ‘เลวีธาน’ (Leviathan) ซึ่งอ้างอิงมาจากสัตว์ประหลาดสุดแกร่งเองก็วางฐานจากความกลัวนี้ด้วย กล่าวคือ ในสภาวะทางธรรมชาติซึ่งเป็นบททดลองทางความคิดของฮอบส์นั้น ฮอบส์มองว่าในสภาวะดังกล่าวที่ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ใดๆ สังคมจะโกลาหลเต็มที่ และทุกคนจะมีโอกาสฆ่าผู้อื่นและถูกผู้อื่นฆ่าอย่างเสมอเหมือนกันหมด (War of all against all) ฮอบส์เสนอว่าทางออกที่ดีที่สุดที่จะยุติสภาวะแบบนี้ได้ก็คือ “การต้องมีอำนาจที่เหนือกว่าทุกๆ คนขึ้นมาอย่างมาก จนไม่มีใครกล้าจะต่อกรกับอำนาจสุดแสนแข็งแกร่งที่เรียกว่าเลวีธานนั้นอีก” และเลวีธานนี้เองที่เป็นภาพอุปมาของ ‘รัฐ’ ในสายจาของฮอบส์
กล่าวคือ รัฐทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการใช้อำนาจที่ยิ่งใหญ่ชนิดที่ไม่มีปัจเจกคนใดในสังคมจะต่อกรได้ และเมื่อนั้นเองความโกลาหลที่จะนำทุกคนไปสู่ความตายนั้นก็จะยุติลง ในทางหนึ่งเราพูดได้ว่าข้อเสนอแรกเริ่มของการเป็นมนุษย์สมัยใหม่ในแบบของฮอบส์นั้นก็คือ การสร้างอำนาจที่สูงกว่ามากๆ จนกระทั่งทุกคนกลัวที่จะไปรบพุ่งด้วยใดๆ และสุดท้ายแล้วก็ควรจะหันมาอยู่กับชุดคุณค่าที่จะทำให้เราอยู่รอดไปได้นานที่สุดเสีย อย่างการเป็นคนขี้ขลาด ซึ่งเป็นเรื่องควรนับถือมากกว่าเรื่องที่ควรนำมาใช้เป็นเครื่องตำหนิ สำหรับฮอบส์แล้ว พวกที่แสดงความกล้าหาญอย่างไม่เจียมเนื้อเจียมตัวนั้นต่างหากเล่าคือคนที่โง่เขลา และการไม่ยอมรับอำนาจรัฐนั้นจะเป็นหนทางที่ทำให้ชีวิตของทุกคนสั้นลงไปด้วย
ในทำนองเดียวกัน ข้ออ้างของฝั่งขวาในการยุติการเปลี่ยนแปลง
หรือความพยายามจะก้าวหน้านั้น จึงมักจะมาเป็นแพ็คเกจคู่กัน
ระหว่างการสร้างความกลัวและคำอ้างเรื่องความมั่นคงเสมอ
และความมั่นคงที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะในทางสถาบันการเมือง แต่หมายรวมถึง ‘ชีวิต’ ของประชากรในรัฐอีกด้วย อย่างเช่น การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 นั้น หนึ่งในข้ออ้างประการสำคัญก็คือ การยุติการนองเลือด และทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบสุข “ประกันความมั่นคงให้กับสังคม” นั่นเอง
ฉะนั้นแล้วในสายตาของฝ่ายขวา ความกลัวจึงเป็นหนทางของการเอาชีวิตรอด และอะไรก็ตามที่จะทำให้รอด ปลอดภัยได้นานเพิ่มขึ้นอีกสักนิด ย่อมหมายถึงทางเลือกที่ดีกว่า ถูกต้องกว่าเสมอ การเชื่อฟังรัฐ การเชื่อฟังอำนาจที่เหนือกว่า การไม่เอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เสี่ยง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นแก่นกลางคำอธิบายของฝั่งขวาอนุรักษ์ที่หากมองในระดับบนสุดแล้วอาจจะมองว่าคือการอนุรักษ์โครงสร้างอำนาจแบบเดิม แต่โดยเนื้อแท้แยกย่อยที่สุดแล้วมันคือการ “อนุรักษ์ความคุ้นชินของตน ที่รู้ทางหนีทีไล่หรืออยู่จนชินแล้วว่าจะอยู่กับมันต่อไปได้อย่างไร” เมื่อมันมีเงื่อนไขเช่นนี้ เราที่เป็นเพียงมดตัวเล็กๆ จึงไม่ควรจะไปงัดกับอำนาจของช้างที่ยิ่งใหญ่อย่างรัฐ เราจึงควรจะกลัวรัฐและอำนาจในมือของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม การเป็นฝ่ายอนุรักษ์นั้นไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นผู้ซึ่งกลัวการเปลี่ยนแปลงเสมอไป บ่อยๆ ครั้งพวกเขาเองนี่แหละที่เป็นผู้นำครับ นั่นเป็นเพราะว่าไม่ว่าจะพยายามห้ามหรือควบคุมอย่างไร จะช้าหรือจะเร็วสังคมทุกสังคมล้วนมีพลวัตร มีความเปลี่ยนแปลงเสมอ ผิดแต่ความเร็วความช้าที่ต่างกันบ้าง แม้แต่ประเทศจีนที่พยายามจะควบคุมสังคมทุกอย่างอย่างเป็นระบบ กระทั่งทำการปฏิวัติวัฒนธรรมไปจนถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางโลกไซเบอร์ (cyber infrastructure) ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดแล้วเพื่อควบคุมประชากรของตน แต่เราก็ไม่มีทางพูดได้หรอกว่าสังคมจีนในปัจจุบันกับเมื่อสามสิบปีก่อนนั้นเป็นแบบเดียวกัน เพราะความเปลี่ยนแปลงมาก็ค่อยๆ ซึบซาบและเกิดขึ้นทีละน้อยๆ นั่นเอง ทั้งด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป สาธารณูปโภคพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งที่เปลี่ยนไป ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมตามธรรมชาติทั้งสิ้น แบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับ ‘เจตจำนงค์’ ของผู้ถือครองอำนาจนำในสังคมนั้นๆ แต่อย่างใด
ในแง่นี้ฝ่ายอนุรักษ์หรือฝั่งผู้หวาดกลัวนั้น เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงมันพัดพาโลกในสายตาของพวกเขาพัดพาออกห่างไปจากความคุ้นชินที่เคยเป็นมามากขึ้นจนทนไม่ได้แล้ว พวกเขานี่แหละที่จะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการก้าวถอยหลังไปสู่จุดที่พวกเขาคุ้นชิน รู้สึกปลอดภัย อีกครั้งหนึ่ง กรณีอย่างการเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเองนั้น ก็เป็นหนึ่งใน ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งเกิดขึ้นจากมวลความกลัวของสังคมอเมริกันแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นแล้วจุดขายของทรัมป์ในการหาเสียงจึงไม่ใช่การทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวไปข้างหน้า หรือดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงกลับหลังเพื่อให้มีวันคืนดีๆ เหมือนเช่นในอดีต (Make America Great Again)
ทำนองเดียวกันกับการรัฐประหารในประเทศไทย หรือประเทศอื่นใด ที่เป็นความหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เมื่อถึงจุดที่มองแล้วว่าหากปล่อยให้หลุดผ่านเส้นนี้ไปได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่อาจหวนกลับคืนสู่จุดเดิมได้อีก การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 นั้น มีลักษณะแบบนี้ คือ สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบย้อนถอยหลังไปสู่จุดที่คุ้นชิน ยุคก่อนการเมืองแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ในแง่นี้เราอาจจะกล่าวได้ว่าการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 นั้นสะท้อนลักษณะของความเปลี่ยนแปลงจากความกลัว มากกว่าการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ที่เกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้แม้จะพยายามหาทางควบคุมชัยชนะให้แก่ฝั่งตนอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมๆ ไปกับเป็นการปูทางให้กับความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกส่วนหนึ่งในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านด้วยนั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ ‘ความคุ้นชิน’ เองหากพิจารณาอย่างถึงที่สุดแล้วก็อาจจะสามารถถูกละทิ้งหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยการเมืองของความกลัวและวิถีคิดแบบฝ่ายขวาเองครับ ก็ในเมื่อการเมืองของความกลัวมันผูกโยงอย่างเหนี่ยวแน่นกับอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเยี่ยงเลวีธานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกด้วยที่บ่อยๆ ครั้งเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอันมาจากความกลัวนี้ในการสถาปนาการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากเกินกว่าความคุ้นชินปกติ เพื่อสนองความกลัวในฐานะผู้ขี้ขลาด (The cowardice) ให้ได้มากที่สุด กรณีอย่างการก่อการร้ายที่นำมาซึ่งความกลัวอย่างล้นเกินขนาดของตัวภัยเองโดยแท้จริงนั้น นำมาซึ่งใบอนุญาตในการใช้ความรุนแรงของรัฐอย่างเกินกว่าระดับความปกติคุ้นชินได้อีกด้วย
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การเมืองของความกลัวนั้น
สุดท้ายแล้วหากไล่ย้อนกลับมาจนถึงรากที่สุดแล้วก็คือ
ความกลัวตาย หรือภัยอันนำมาสู่ความตายได้นั่นเอง
ว่าอีกแบบก็คือ หากฝั่งก้าวหน้าคิดจะกล่อมให้ฝ่ายขวาที่ถือกุศโลบายของความกลัวเป็นที่ตั้งนี้สนใจวิธีคิดของฝั่งตนได้ ก็อาจจะต้องอภิปรายให้พวกเขาเห็นภาพของความน่ากลัวเสียยิ่งกว่าในระดับที่ชีวิตพวกเขาเองต้องแขวนอยู่บนเส้นด้าย หากยังยึดโยงกับความคุ้นชินเดิมๆ ต่อไป
ตรงกันข้ามกับการเมืองแห่งความกลัว ที่ไม่อยากจะสูญเสียสภาพอันคุ้นชินไป การเมืองของความโกรธที่มักจะผูกโยงอยู่กับฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายก้าวหน้านั้น มักจะมาจากความไม่พอใจในสภาพอันคุ้นชินที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ และหาทางที่จะทำลายสภาพความคุ้นชินนั้นลงเสีย
ตัวพ่อของการเมืองของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายก้าวหน้าอย่างคาร์ล มาร์กซ์เองก็ไม่ได้หลุดอะไรไปไกลจาก ‘การโกรธต่อสภาพที่เป็นอยู่’ นั่นเองครับ เพราะโดยหลักแล้ววิธีคิดทางการเมืองของฝ่ายก้าวหน้านั้นอยู่ที่การเฝ้าสังเหตุการณ์สภาพความเป็นไปในปัจจุบันและทิศทางที่น่าจะเกิดขึ้นจากเส้นทางที่กำลังดำเนินอยู่นี้ จากนั้นก็หาจุดอ่อนข้อเสียในตัวมัน และเมื่อพบเห็นจุดอ่อนดังว่าแล้ว ก็มักจะนำมาซึ่งความรู้สึกไม่พอใจกับสภาพที่กำลังเป็นอยู่ว่า “มันสามารถดีกว่าที่เป็นอยู่ได้นะ ปรับเปลี่ยน ปรับแก้จุดนั้น จุดนี้กัน”
คำอธิบายของมาร์กซ์เองก็อยู่บนฐานโครงสร้างนี้ คือ การสังเกตการณ์ต่อสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมร่วมสมัยของเขา และมาซึ่งข้อสังเกตถึงกลไกภาพรวมของระบบทุนนิยมที่ดูจะทำให้มนุษย์เราย้อนกลับไปสู่สภาพความเป็นปศุสัตว์ทางการเมืองดังเดิม เพียงแค่เปลี่ยนเจ้าของจากกษัตริย์ มาเป็นนายทุนแทน แนวคิดเสรีนิยมที่เคยพยายามปลดแอกความเป็นไพร่ทาสของประชากรออกจากอำนาจของราชาผู้ปกครอง และมอบอำนาจให้กับคนอย่างเท่ากันนั้น ดูจะหลงลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่เริ่มต้นด้วยทุนที่เท่ากัน ไม่เพียงเท่านั้นไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่ระบบตลาดอย่างเท่ากัน นั่นนำมาซึ่งช่องว่างที่ห่างออกไปเรื่อยระหว่างผู้ซึ่งวิ่งนำด้วยทุนกับผู้วิ่งตามทุนไล่หลังอยู่ห่าง เป็นเพียงลูกจ้างกะจ้อยร่อย หรือแรงงานที่ต้องทำงานโหมหนักเพื่อค่าแรงกระจิดริดที่ไม่เพียงพอแม้แต่จะไปซื้อผลิตผลอันผลิตมาจากน้ำแรงของตน สภาพแบบนี้ทุนนิยมเสรีอ้างว่าคือสิทธิของปัจเจก และความพร้อมใจของทั้งสองฝั่ง แต่สำหรับมาร์กซ์และฝ่ายซ้ายแล้ว นี่หาใช่ความพร้อมใจไม่ นี่คือสภาพบังคับของระบบที่หมุดด้วยทุนที่หากไม่ทำก็สภาพไม่ต่างจากความตาย เช่นนั้นมันจะต่างอะไรกันกับการโดนมีดดาบมาจ่อคอแล้วบังคับให้ทำตามเล่า
สิ่งเหล่านี้เองนำมาซึ่งความโกรธ การวิพากษ์วิจารณ์
และการเรียกร้องเพื่อการลุกขึ้นสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลง
ทำลายสภาพดั้งเดิม ทำลายความคุ้นชินอันบิดเบี้ยวให้มลายลง
แต่แน่นอนว่าการเรียกร้องซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นมันยากกว่าการอยู่ด้วยการเมืองแบบความกลัวเสมอ ไม่ใช่เพราะคนโกรธมีน้อยกว่า คนที่โกรธและเหม็นเบื่อต่อสภาพที่เป็นอยู่นี้อาจจะมีโดยทั่วไปก็ได้ และแม้แต่ฝั่งอนุรักษ์เองบ่อยๆ ครั้งก็บ่นด่าโกรธาต่อสภาพที่เป็นอยู่ทุกวี่ทุกวันนั้น (คนรอรถเมล์นาน รถไฟฟ้าเสีย เครื่องบินดีเลย์ เข้าแถวร้อนแผดเผาหน้าเสาธง โดนบังคับตัดผมเกรียน ฯลฯ – ผมเชื่อว่าฝั่งอนุรักษ์ฯ แทบทุกคนอย่างน้อยก็ต้องเคยบ่น เกลียด โกรธต่อสักเรื่องที่ว่ามามาก่อน) เช่นนั้นทำไมการเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนความโกรธเป็นพลังทางการเมืองมันจึงยากเสียเหลือเกิน? นั่นเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนนั้น นำมาซึ่ง ‘ความไม่แน่นอน ความคาดการณ์ไม่ได้’ เสมอ
และฝ่ายอนุรักษ์ผู้อยู่กับความกลัวเป็นสรณะนั้นย่อมไม่นิยมชมชอบใดๆ เลยกับ “ความไม่แน่นอน” เหล่านี้ ฉะนั้นการเมืองของความโกรธที่มุ่งจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าผันดินนั้นย่อมต้องอาศัยความพยายามและกำลังใจมากกว่าเสมอ เพราะแม้ฝั่งอนุรักษ์จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกันดังได้กล่าวไป แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงที่ย้อนกลับไปสู่อดีต ไปหาสิ่งที่พวกเขา ‘แน่นอนแล้วว่าคืออะไร’
ในแง่นี้เอง สิ่งหนึ่งที่มาร์กซ์ยิ่งใหญ่มากๆ อาจจะมากกว่าใครเพื่อนจวบจนปัจจุบันก็คือ การเสนอทางเลือกของการใช้ชีวิตในฐานะ Modern Man (มนุษย์ยุคใหม่) ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบทุนนิยมอีกต่อไป ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับข้อเสนอชีวิตทางเลือกกลับเข้าป่า ปลูกสวนผัก สร้างบ้านดินเยี่ยงแนวคิดศาสนาอุปมาต่างๆ นำเสนอ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการบอกให้ละทิ้งวิถีชีวิตอย่างมนุษย์สมัยใหม่ลง กลับไปสู่โหมดของการดำเนินชีวิตเยี่ยงอดีตกาลอีกครั้ง ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงประเภทที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมจะนำเสนออยู่แล้ว อย่างไรก็ตามข้อเสนอของมาร์กซ์นั้นในทางหนึ่งเราก็กล่าวได้ว่ามันก็เป็น ‘บททดลองความคิด’ เฉกเช่นเดียวกับสภาวะธรรมชาติของฮอบส์ กล่าวคือ สภาวะดังว่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นแต่การประเมินโดยอิงตามข้อมูล ความเป็นไปได้ และเหตุผลอย่างรัดกุมขึ้นมาว่าแนวโน้มหลักที่น่าจะเป็นคือเช่นนี้ (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการออกแบบระบบ/ระบอบใหม่นะครับ)
เช่นนี้เอง เมื่อสหภาพโซเวียตซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นคนแรกที่กล้าจะมาทดลองตามมาร์กซ์นั้นประสบความล้มเหลวในการทดลองลง ก็ยังไม่มีใครดูจะโกรธมากพอที่จะกล้าทดลองซ้ำเป็นครั้งที่สองอย่างจริงจัง (กรณีจีนนั้นคงจะนับรวมไม่ได้ด้วย เพราะปรับเปลี่ยนไปจนไม่เห็นเค้าเดิมแล้ว) การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน หากว่ากันตามนักคิดฝ่ายซ้ายสายแรดิคัลอย่างชิเช็กแล้ว จึงล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแต่ส่วนกระพี้ อย่างการเรียกร้องพหุนิยมวัฒนธรรม การเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ยังเป็นกลไกของระบอบทุนนิยมอยู่ดี
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะเราไม่มีความโกรธ แต่นั่นเพราะความโกรธมันมีราคาและความยากลำบากมากกว่าการนั่งทอดน่องเฉยๆ อยู่กับความเดิมๆ แบบความกลัวเสมอ แต่ยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นนั่นแหละครับ คนที่โกรธมากพอกับสิ่งที่เป็นอยู่ และพร้อมจะจ่ายราคาอันสูงลิ่วเพื่อให้ได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้น จึงควรค่าน่ายกย่องกว่าด้วยเสมอในสายตาของคนขี้ขลาดอย่างผม