ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของไทยนั้นจะเห็นคำกล่าวประณาม หรือการใช้คำว่า Cultural Appropriation (การฉกฉวยทางวัฒนธรรม) มากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งก็อาจจะย่นย่อเหลือเพียง CA ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
กระแสการวิจารณ์หรือกระทั่งประณามด้วยข้อหานี้ดูจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนักหากมองกระแสของประเด็นนี้ในโลกตะวันตกที่มีการ ‘ไฝ้ว์’ ด้วยประเด็นนี้มาระยะหนึ่งแล้วก่อนเรา
ผมคิดว่าเราสามารถมองความนิยมในการใช้ข้อหาการฉกฉวยทางวัฒนธรรมนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของกระแสความคิดแบบ ‘ความสูงส่งกว่าทางศีลธรรม’ (Moral High Ground) แบบหนึ่งก็ได้ ร่วมๆ ไปกับการใช้งานข้อหาอื่นๆ เช่น ความถูกต้องทางการเมือง, Hate Speech, การเกลียดกลัวความปลอม ไปจนถึงวีแกนสายอันธพาลความคิดทั้งหลาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผมเคยเขียนถึงไปไม่น้อยแล้ว แต่ในวันนี้อยากจะมาอภิปรายต่อในมุมว่า การใช้ข้อหาแบบนี้มากๆ โดยเฉพาะ Cultural Appropriation นั้นถึงที่สุดแล้วมันไปส่งผลให้เกิดความพร่าเลือนเสียหายต่อหลักทางความคิดอื่นๆ ใดบ้าง
ว่าง่ายๆ ก็คือ “ทำไมมันจึงควรต้องใช้อย่างระมัดระวัง หรือใช้อย่างมีกรอบจำกัดที่ชัดเจน” นั่นเอง
ก่อนจะไปถึงประเด็นที่ว่าไว้ ผมขอเริ่มต้นจากการอธิบายพอสังเขปก่อนว่า ‘การฉกฉวยทางวัฒนธรรม’ ที่ว่านี้มันคืออะไร เผื่อท่านผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำนี้นักจะได้เข้าใจยิ่งขึ้น หรือกระทั่งสำหรับท่านที่รู้จักคำๆ นี้อยู่แล้ว ก็จะได้เข้าใจต้องตรงกับผมว่าในบทความนี้นั้นใช้คำนี้ในกรอบหรือความหมายใด เพราะถึงที่สุดแล้วนิยามกับขอบเขตของคำนี้ก็มีข้อถกเถียงในตัวมันเองมากอยู่ ไม่ต่างจากคำร่วมตระกูลอื่นๆ ของมันอย่างความถูกต้องทางการเมือง หรือพวก Hate Speech น่ะครับ
โดยทั่วๆ ไปแล้วการฉกฉวยทางวัฒนธรรมนั้นมีความหมายหลักๆ เลยก็คือ การที่คนของกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งดึงเอาหรือลอกเลียนแบบเอา “ส่วนหนึ่ง หรือบางส่วน” ของอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาใช้งาน ไม่เพียงเท่านั้นโดยหลักแล้วการจะเป็นการฉกฉวยทางวัฒนธรรม หรือ Cultural Appropriation ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขอีกหลักๆ 2 อย่างครับ นั่นคือ
(1) ฝั่งที่ดึงเอาหรือลอกแบบวัฒนธรรมไปใช้นั้นคือฝั่งซึ่งมีความเหนือกว่าทางอำนาจด้านวัฒนธรรม (Dominant Culture) ว่าง่ายๆ ก็คือ เป็นคนที่แข็งแรงกว่าแล้วดึงเอาส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนที่ “แรงน้อยกว่า” ไปใช้งาน หรือก็คือมีลักษณะของความไม่ได้ดุลย์ทางอำนาจ (Power Imbalance) อยู่ด้วย
(2) การดึงเอาวัฒนธรรมไปใช้นั้น เป็นการดึงเอาไปใช้อย่าง “ผิดฝาผิดตัว/ผิดเป้าประสงค์/ผิดรูปแบบ” จากที่ปกติวัฒนธรรมต้นรากนั้นใช้กัน
เมื่อมีองค์ประกอบเช่นนี้เองครับ จึงจะเข้าข่ายที่เรียกว่า “การฉกฉวยทางวัฒนธรรม”
เพราะฉะนั้นแล้ว ในเบื้องต้นที่สุดเลย การใช้ข้อหาเรื่อง Cultural Appropriation อย่างพร่ำเพรื่อไปหมดนั้นจึงอาจนำมาซึ่งความพร่าเลือนต่อตัวข้อหาที่ว่านี้เองด้วยซ้ำ เพราะบ่อยๆ ครั้งเราก็จะพบเห็นการใช้พร่ำเพรื่อหรือมั่วไปหมดกระทั่งว่า นิยามหรือขอบเขตของคำๆ นี้เองนั้นดูจะหมดความหมายไปในตัวมันเอง
และเมื่อกระทั่งนิยามของตัวคำมันเองยังหมดสิ้นซึ่งความจำเป็นไปด้วย คำๆ นี้เองก็จะกลายเป็นไม่มีความหมายหรือไม่มีประโยชน์ที่จะมีอยู่ไปโดยปริยาย
เพราะฉะนั้นการจะใช้งานคำอะไรเหล่านี้ก็อาจจะต้องพึงระวังในจุดนี้ด้วย
แต่สมมติว่าก้าวผ่านจากจุดแรกมา ให้ว่าทุกการใช้งานของข้อหา ‘ฉกฉวยทางวัฒนธรรม’ นี้เป็นการใช้ที่ถูกต้องตรงตามนิยามทั้งสิ้นเลย (ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่) คอนเซ็ปต์ของการฉกฉวยทางวัฒนธรรมเองนี้มันก็ยังมีปัญหาที่ต้องถกเถียงกันอีกมากมายครับ ไม่พอยังสร้างปัญหาตามมาจากการเลือกที่จะใช้งานคอนเซ็ปต์นี้ได้อีกมากด้วย ผมจะขอค่อยๆ อธิบายต่อไปเป็นลำดับ
1. ปัญหาของการใช้ ‘วัฒนธรรม’ เป็นจุดอ้างอิง
ผมคงไม่ต้องอธิบายให้เมื่อยนิ้วอะไรมากมาย ทุกๆ ท่านก็คงจะทราบดีอยู่แล้วว่าถึงที่สุดแล้ววัฒนธรรมนั้นมันใช้เป็น ‘จุดอ้างอิง’ ได้ลำบากมากเหลือเกินครับ เพราะอย่างที่ทุกท่านทราบกันดีนั่นแหละว่าวัฒนธรรมนั้นมันเกิดจากการผสมและหลอมรวมปนเปไปมามากมายจนเอาเข้าจริงๆ แล้วเราไม่มีทางที่จะสามารถหารากหรือต้นตอ ‘ความแท้จริง’ ของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมได้หรอก
เพราะฉะนั้นกระทั่งคำอธิบายเรื่อง ‘วัฒนธรรมต้นฉบับ’ (ซึ่งถูกฉกฉวยมานั้น) ก็ยังเป็นปัญหาในตัวเองเลยว่ามันคือความเป็นต้นฉบับแน่หรือ?
ผมขอยกตัวอย่างจากวัฒนธรรมอาหารแล้วกันนะครับ เพราะคิดว่าทุกท่านน่าจะเข้าถึงได้และนึกตามได้ง่ายที่สุดเรื่องหนึ่ง แน่นอนว่าโดยทั่วๆ ไปเราจะมีภาพร่วมคร่าวๆ ของสิ่งที่เรียกว่า อาหารไทย อาหารอิตาเลียน อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น ฯลฯ ผมต้องใช้คำว่าภาพคร่าวๆ เพราะในรายละเอียดแล้วแต่ละท่านย่อมมีประสบการณ์ส่วนตัวที่จำเพาะ ‘ภาพ’ ที่ว่านี้ซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งขอละไว้ก่อน เอาเป็นว่าผมสมมติต่อให้เลยว่าภาพคร่าวๆ ที่มีร่วมกันของวัฒนธรรมอาหารนี้ไปในทิศทางเดียวกันหมดทั้งชาติและเรารู้สึกร่วมกันจริงๆ ว่า “นี่คือความแท้จริง ความต้นฉบับทางวัฒนธรรมของเรา” นะครับ แถมให้ด้วยว่าคนในวัฒนธรรมอื่นๆ เองก็ยอมรับข้อสรุปดังกล่าวนี้ด้วย
ภายใต้เงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ให้ข้อถกเถียงของท่านอย่างเต็มที่นี้เลย ผมก็ยังสามารถถามได้อยู่ดีว่า จริงหรือ?
ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามานี้ ผมเองสามารถตอบได้ว่า ทั้งจริงและไม่จริงไปพร้อมๆ กันครับ ความจริงแท้นั่นน่ะ อยู่ที่ว่าท่านกำลังพูดถึง “ต้นรากที่ไกลแค่ไหน?” “ความแท้จริงที่แท้ลึกปานใด?” นั่นเอง หากท่านพูดถึงแค่ในช่วงสมัยทศวรรษที่ผ่านมา ระดับความถูกต้อง ความจริงของความเป็นต้นฉบับที่ว่านี้ก็อาจจะมีมากขึ้นสักหน่อย แต่หากท่านย้อนกลับไปสักร้อยกว่าปี หลายเมนูอาจจะถูกออกแบบมาเพื่อให้กินกับเนื้อสัตว์ที่ทุกวันนี้พวกท่านเองคงไม่มีวันคิดจะกินก็เป็นได้ (พะยูน, แลน, ฯลฯ) ในแง่นี้ความจริงแท้ทางวัฒนธรรมที่พวกท่านเคลมกันก็ย่อมลดลงไปอีก หรือหากผมย้อนรากให้ ‘ลึก’ ยิ่งขึ้นไปอีก ไปสู่โลกยุคก่อนปี ค.ศ. 1492 แล้วล่ะก็ ผมแทบจะพูดได้ด้วยซ้ำว่าความจริงแท้ ความเป็นต้นรากแทบทั้งมวลที่พวกท่านจินตนาการถึงอยู่นั้นมัน “ไม่จริง มันผิด”
ค.ศ.1492 คือ ปีที่สำคัญมากในโลกของวัฒนธรรมอาหาร การกสิกรรม และเชื้อโรคของโลกสมัยใหม่ครับ (หรือหากจะพูดให้ถูกก็คือ สำคัญกับประวัติโลกสมัยใหม่ ‘ทั้งหมดและทุกด้าน’) เพราะมันเกิดสิ่งที่เรียกว่า The Columbian Exchange ขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการค้นพบทวีปอเมริกาโดยบังเอิญของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นั่นแหละ อันส่งผลให้พืชพันธุ์ต่างๆ จาก ‘ทวีปใหม่’ ได้ถูกย้ายข้ามถิ่นมาสู่ฝั่งโลกเก่า (และจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ โดยเฉพาะเชื้อโรค)
ว่าอีกแบบก็คือ ก่อนปี ค.ศ. 1492 นั้น ไม่มีมะเขือเทศในอิตาลี ไม่มีพริกในประเทศไทย ไม่มีมันฝรั่ง ข้าวโพด ถั่วหลายสายพันธุ์ หรือกระทั่งหมูด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือ ภูมิทัศน์ทางความคิดของเราต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ นั้น มันจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากภาพที่เรามีในหัวตอนนี้ และคิดว่านี่คือความแท้จริงความเป็นต้นฉบับทางวัฒนธรรมของเรา (อันนี้ผมขอไม่ไปแตะผลพวงอื่นๆ อีกล้านแปดของ The Columbian Exchange นะครับ)
ถึงที่สุดแล้วผมจึงคิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะอ้างอิงความจริงแท้หรือความเป็น ‘เจ้าของทางวัฒนธรรม’ อะไรใดๆ
ไม่เพียงเท่านั้น หากเราอะลุ่มอะหล่วยให้สักหน่อยว่าที่เคลมความจริงแท้ทางวัฒนธรรมอะไรมานั้นมันจริงแล้วก็ได้ มันก็ยังมีปัญหาอีกครับ นั่นก็คือ เวลาที่เราพูดถึง ‘วัฒนธรรม’ นั้น เรามักจะคิดว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือเป็นผลิตผลของมนุษย์อีกทีหนึ่ง ซึ่งจากจุดนี้เองก็แตกไปเป็นสารพัดสำนักความคิด บ้างก็ยังคงมองว่ามนุษย์คือผู้ให้กำเนิดและใช้งานวัฒนธรรมอยู่ต่อไป บ้างก็มองว่าวัฒนธรรมและโครงสร้างต่างหากที่กลับกลายมาเป็นฝั่งที่ ‘ใช้งานเรา’ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากเราจะมีบทเรียนอะไรบ้างจาก The Columbian Exchange ที่เพิ่งเอ่ยถึงไปนั้น มันก็คือเรื่องว่า “(มนุษย์)เราไม่ใช่ผู้กำหนดความเป็นไปของวัฒนธรรมขนาดนั้นหรอก” สิ่งซึ่งไม่ใช่มนุษย์ (non-human) ทั้งหลายนั้น มีผลอย่างมากมายในการ ‘กำหนดสร้าง’ วัฒนธรรมของมนุษย์ อย่างตัวอย่างของพืชพันธุ์ทั้งหลายที่ได้ถูกแลกเปลี่ยนจากโลกใหม่มาสู่โลกเก่าที่ว่านี้เอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ไม่ใช่มนุษย์ แต่มันเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางความคิดและวัฒนธรรมของมนุษย์จนแทบจะกลับตาลปัตร จะมีสักกี่คนที่จินตนาการอิตาเลียนที่ไม่มีมะเขือเทศ ยุโรปที่ไม่มีมันฝรั่ง หรือไทยที่ไม่มีพริกได้ นี่ยังไม่นับรวมถึงเรื่องสภาพอากาศ สภาพทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ อีกมากมายที่ล้วนแต่ส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเราทั้งสิ้น
เขียนมายาวเหยียดเมื่อกี้นี้ เพียงเพื่อผมจะถามท่านสั้นๆ แค่นั้นแหละครับว่า เมื่อมนุษย์เองไม่ใช่ผู้สร้างและกำหนดภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมรวมทั้งกลไกการใช้งานทางวัฒนธรรมของมนุษย์เองแต่เพียงผู้เดียวแล้ว
เรามีสิทธิจริงๆ หรือในการชี้ถูกชี้ผิดว่า “แบบนี้คือการใช้วัฒนธรรมที่ถูก แบบนั้นคือผิด”?
ตัวอย่างแสนคลาสสิคหนึ่งที่เป็นดีเบตมาหลายทศวรรษแล้วก็เช่น ‘พิซซ่าฮาวายเอี้ยน’ หรือพิซซ่าหน้าแฮมกับสับปะรดที่เราคงจะคุ้นตากันดี และเมื่อชาวอิตาเลียนเห็นหลายคนก็ถึงกับน้ำลายฟูมปากด้วยความโกรธารับไม่ได้ แน่นอนรวมไปถึงชนชั้นกลาง-สูงสายฮิปสเตอร์ทั้งหลายที่พยายามจะทำตัวอินกับความจริงแท้อะไรที่ว่ามานี้ด้วย
ผมอยากจะบอกให้ทราบโดยส่วนตัวก่อนว่า ผมไม่ได้ชอบสับปะรดบนพิซซ่านะครับแต่พร้อมๆ กันไป ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับมันด้วย (เดี๋ยวจะคิดว่าผมเขียนแบบนี้เพราะผมชอบ) แต่ที่ผมพูดเรื่องนี้ขึ้นมานั้นเพื่อจะแสดงให้ท่านเห็นถึงความต่างทางภูมิทัศน์และกลไกการทำงานทางวัฒนธรรมน่ะครับ
ว่าง่ายๆ ก็คือ สำหรับคนอิตาเลียนแล้วพิซซ่านั้นเป็นอาหารคาว และสับปะรดที่เป็นผลไม้ (และเข้ามาสู่ปริมณฑลทางการรับรู้ของคนตะวันตกทีหลังพอสมควร เพราะสภาพอากาศและเงื่อนไขอื่นๆ ไม่ได้เอื้อให้ปลูกสับปะรดได้) นั้นเป็นของหวาน และสองสิ่งนี้ไม่พึงอยู่ด้วยกัน ซึ่งในทางหนึ่งก็เข้าใจได้ แต่ในถิ่นฐานทางวัฒนธรรมอื่น ไม่ต้องมองไปไหนไกล ประเทศไทยเราเองก็ด้วย มีภูมิทัศน์และกลไกทางวัฒนธรรมต่อสับปะรดที่ต่างไปจากคนอิตาเลียนโดยสิ้นเชิง สับปะรดไม่ได้เท่ากับ ‘ของหวาน’ เพราะเราใช้สับปะรดทำของคาวมากมายสารพัดเมนูด้วย ทั้งในแกงกะทิ แกงคั่ว หรือหลน (เช่นกันกับอีกหลายวัฒนธรรมที่ปลูกสับปะรดได้แต่นานมา)
คำถามคือ เช่นนี้แล้วมันคือการ “ฉกฉวยวัฒนธรรมพิซซ่าของอิตาลีมาใช้อย่างผิดๆ ไหม?”
ไม่ต้องนับตัวอย่างอีกมากมายเลยนะครับ อย่างคนตะวันตกที่มักตกใจกับการเห็นถั่วต่างๆ หรือข้าวโพดหวาน เอามาใช้ทำของหวาน ซึ่งสำหรับมนุษย์เอเชียแล้วมันคือเรื่องสามัญเหลือเกิน ไม่ต้องพูดถึงแนวคิด Zero Waste ในอาหาร แบบพวกแดกหัวจรดหาง หรือจากใบยันราก ที่มาแรงเหลือเกินในวัฒนธรรมการกินเพื่อการอนุรักษ์ในโลกตะวันตก ซึ่งเอาตรงๆ ก็คือ มนุษย์ชาวบ้านของเอเชียนั้นกินแบบนี้มานานแสนนานแล้ว เครื่องใน ไส้ หนัง เลือด กระทั่งขี้ที่คาในไส้ยังหาทางเอามากินกันจนได้ โดยที่รากฐานแนวคิดไม่ได้มาจากเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติอะไรเลย แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอดและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมแบบอื่นทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นน่ะครับว่า บ่อยๆ ครั้งไป การขัดแย้งกันในทางการดึงเอาวัฒนธรรมมาใช้นั้น จริงๆ แล้วมาจากฐานทางกลไกโครงสร้างที่ต้องตรงกันด้วยซ้ำ เพียงแค่กลไกทางวัฒนธรรมที่มีต่อสิ่งหนึ่งๆ อาจจะต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม (ซึ่งความต่างนี้ไม่ได้มาจากมนุษย์เป็นผู้กำหนดแต่เพียงผู้เดียว) ก็อาจจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ถูกมองว่าต่างหรือผิดอย่างสิ้นเชิงได้
อย่างกรณีของชาวอิตาเลียนกับพิซซ่าฮาวายเอี้ยน ที่คนทำพิซซ่าฮาวายเอี้ยนเองนั้น ก็ไม่ได้คิดว่าตนเองกำลังทำหรือกิน “พิซซ่าขนมหวาน” อยู่ เพราะสับปะรดคือของคาวได้ในสายตาของเขา ตรงกันข้าม สิ่งที่มาจากภูมิทัศน์และกลไกทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่น้อย กลับอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางวัฒนธรรมที่เหมือนกันเลยก็เป็นได้ อย่างกรณีของ Zero Waste ที่ว่าไปนั่นเองครับ
ถึงจุดนี้จึงต้องถามอีกครั้งว่า เราเคลมอะไรได้จริงๆ หรือด้วยข้อหา Cultural Appropriation นี้เนี่ย?
ยังไม่จบแต่เพียงแค่นี้นะครับ อยู่กันที่เรื่องวัฒนธรรมต่อนี่แหละครับ อีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาเรื่องการฉกฉวยทางวัฒนธรรมนั้นก็คือเรื่อง ‘ความไม่ได้ดุลย์ทางอำนาจ’ (Power Imbalance) ในเชิงวัฒนธรรม ว่าง่ายๆ ก็คือ มีฝั่งที่เป็น Dominant Culture หรือวัฒนธรรมหลักที่ข่มวัฒนธรรมรองอื่นๆ อยู่ และเฉพาะเมื่อตัวฝั่งวัฒนธรรมหลักนี้ฉกเอาบางส่วนของวัฒนธรรมรอง/ย่อยไปใช้ (แบบผิดจากวิถีของต้นทาง) จึงจะนับว่าเป็นการฉกฉวยฯ ได้อย่างที่ว่าไปแต่แรกใช่ไหมครับ
แต่นี่แหละปัญหาเลยคือ ไอ้ความ ‘ไม่ได้ดุลย์’ ความเหนือกว่าด้อยกว่า ความหลักความรองที่ว่านี้มันมีพลวัตรสูงและสัมพัทธ์ในตัวเองสูงมากด้วย โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วยแล้วยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ขนาดที่เราแทบจะพูดไม่ได้เลยว่าใครเหนือใครด้อยกว่าใคร
เพราะจุดอ้างอิงของความเหนือกว่าด้อยกว่านั้นมันมีเยอะแยะมากมายเหลือเกินน่ะครับ
อย่างสมมติเราพูดถึง MV จินนี่จ๋า 2021 ขึ้นมา ก็อาจจะเห็นบางคนมองว่าอันนี้เข้าข่าย CA ซึ่งหากจะหาทางมองให้เป็นแบบนั้น มันก็คงจะได้ แต่ถึงที่สุดแล้ว (ไม่ว่าจะชอบหรือเกลียด MV นี้ก็ตาม) มันคือการที่มีเดียฝั่งของไทย ‘ฉก’ เอาวัฒนธรรมอาหรับและอินเดียมาใช้ สมมติว่าแบบ ‘ผิดๆ’ ให้ด้วยก็ได้ คำถามคือ ไทย เป็นวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า ทรงอิทธิพลกว่า อินเดียและอาระเบียตั้งแต่เมื่อไหร่?
หากเราพูดในสเกลสากล เราพูดไม่ได้แน่ๆ ว่านี่คือ CA ครับ เพราะเราเป็นวัฒนธรรม ‘รอง’ เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมที่ ‘ฉก’ มา แต่หากเราวางกรอบหรือพื้นที่ของการพิจารณาใหม่เป็นนับสเกลเฉพาะในสังคมไทย อันนี้เราก็อาจจะพูดได้ว่า ‘จริง’ คือ วัฒนธรรมอินเดีย-อาระเบียในสังคมไทยนั้น เป็นวัฒนธรรมรอง โดยมีวัฒนธรรม ‘ไทย’ คุม หรือ dominate อยู่นั่นเอง
แต่นั่นแหละครับ จากตัวอย่างนี้เพียงแค่ตัวอย่างเดียวเราก็จะเห็นได้ถึงความเลื่อนไหล (Fluid) ของการตีความความเหนือกว่านี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวัฒนธรรม
คือ มันต่างจากการพูดเรื่อง Power Imbalance ในทางกำลังทางกายภาพนะครับ ที่ในระดับหนึ่ง (แม้จะไม่แน่นอนเสมอไป) ก็สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ เช่น ประเทศไหนมีนิวเคลียร์มากกว่า กองทัพใหญ่กว่า งบประมาณสูงกว่า เทคโนโลยีก้าวหน้ากว่า เป็นต้น ในทางวัฒนธรรมนั้น ถึงที่สุดแล้วมันทำไม่ได้
ไม่ใช่แค่เรื่องการต้องกำหนดตำแหน่งแห่งหนหรือสเกลที่เราใช้อ้างอิงความ ‘เด่น-ด้อย’ ทางวัฒนธรรมที่ว่าไปนะครับ กำลังพูดถึง ‘วัฒนธรรมอะไร’ นั้นก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องไม่ลืมด้วย เพราะในประเด็นหนึ่งๆ วัฒนธรรมจุดใดๆ นั้น มันถูกซ้อนทับด้วยมิติต่างๆ หลายแบบที่ผูกปมกันซ้อนไปมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมนั้นขึ้นมาด้วย อย่างในวัฒนธรรมการกินนั้น มันมีทั้งมิติของวัฒนธรรมอาหารหรือวิถีการกิน วัฒนธรรมทางชนชั้น วัฒนธรรมการสื่อสาร วัฒนธรรมของสาแหรกครอบครัวนั้นๆ และอื่นๆ อีกมากมายซ้อนกันอยู่
ฉะนั้นแล้วเวลาเราพูดถึงความเหนือกว่าและด้อยกว่าทางวัฒนธรรมนั้น มันยากมากที่จะมีเรื่องที่ “เหนือกว่าและด้อยกว่าในทุกๆ มิติที่ประกอบสร้างเป็นวัฒนธรรมส่วนนั้นๆ ขึ้นมา”
ผมอยากขออนุญาตยกตัวอย่างของดราม่าการกินที่เพิ่งเป็นกระแสสดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่นานมานี้ให้เห็นภาพสักนิดครับ ใช่ครับ ผมกำลังจะพูดถึงดราม่าของนักรีวิวท่านหนึ่งกับการกินอาหารของเค้าที่ร้านโมโม่พาราไดซ์ อันกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกออนไลน์ แค่การกิน เนื้อหาการรีวิวของเค้า ไปจนถึงกระแสดราม่าที่วิพากษ์ตามมานี้ก็มีความอลหม่านซ้อนทับของสารพัดมิติทางวัฒนธรรมซ้อนอยู่มากแล้วครับ
ในเบื้องต้นที่สุด หากพิจารณาผ่านกรอบของวัฒนธรรมการกิน เราอาจจะพูดได้ว่าฝ่ายนักรีวิวนั้น ‘ฉกฉวยวัฒนธรรมการกินสุกี้ของญี่ปุ่น’ มา (เฉพาะภายใต้บริบทของการพูดถึงวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นยังคงไม่ใช่วัฒนธรรมเด่น/คุมนะครับ) เพราะเขา ‘ซด’ ซอสสุกี้ (ซึ่งเขาเข้าใจว่าเป็นซุป) แล้วบ่นว่าเค็มเกินจนกินแทบไม่ได้ นำมาสู่ข้อสรุปว่าร้านโมโม่นั้นรสชาติไม่ได้เรื่อง และร้านสุกี้น้ำดำบุฟเฟ่ต์ราคา 199 บาท ละแวกบ้านเขานั้นตอบโจทย์มากกว่า (สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย สุกี้ยากี้ของญี่ปุ่นนั้น โดยหลักแล้วคือการกึ่งผัดกึ่งต้มในน้ำซอสครับ ซึ่งจะออกรสเค็มหวานจากการใช้โชยุปรุงรส ผสมกับมิรินและน้ำตาล มาผัดกับผักและเนื้อสัตว์ จิ้มกับไข่ดิบกิน แต่ซอสนั้นไม่ได้เอาไว้ซดดื่ม)
ในแง่นี้เราจะเคลมได้ไหมว่า มันคือการพยายามจะฉกฉวยทางวัฒนธรรม (การกิน) แล้วก็โดนประณาม ก็คงจะพอได้ แต่พร้อมๆ กันไปก็ไม่ได้ด้วยครับ เพราะอย่างที่บอก หากเราขยับไปดูการเปรียบมวยทางวัฒนธรรมในสเกลที่ใหญ่ขึ้นเป็นสากลขึ้น แค่นั้นก็อ้างไม่ได้แล้วว่าใครใครเป็นวัฒนธรรมหลักกันแน่
แต่เอาล่ะ เรากลับมาอยู่แค่ในกะลาไทยของเราอย่างเดียวก่อนก็ได้ไม่ไปสากลแล้ว แต่แค่เราพิจารณาออกจากมิติของวัฒนธรรมการกิน แต่เป็นมิติอื่นที่ครอบวัฒนธรรมส่วนที่กำลังวิจารณ์กันอยู่นี้ก็จะไม่ชัดเจนแล้ว เช่น หากเราพิจารณาจากมุมของวัฒนธรรมทางชนชั้นแทน เราย่อมทราบดีว่าในสังคมไทย วัฒนธรรมของชนชั้นกลางและสูงนั้นเป็นวัฒนธรรมหลักที่ ‘คุมทิศทางกระแสภาพลักษณ์หลักในเชิงวัฒนธรรม’ อยู่ ในแง่นี้ตัวผู้รีวิวซึ่งค่อนข้างจะออกตัวไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่กลุ่มประชากรที่ร่วมอยู่ในวัฒนธรรมหลัก (วัฒนธรรมชนชั้นกลาง-สูงนี้) แต่เค้านั้นมีแนวโน้มจะมาจากส่วนประชากรของชนชั้นกลางล่าง-ชนชั้นล่างมากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะไม่ใช่การฉกฉวยทางวัฒนธรรมใดๆ เพราะเค้ามาจากส่วนของวัฒนธรรมรอง ที่กำลังพยายามลอกเลียนวัฒนธรรมหลักจากมุมการพิจารณานี้
จากจุดนี้เอง เราจะเห็นได้ว่าในประเด็นทางวัฒนธรรมก้อนเดียวกันนั้น มันมีมิติที่ทับซ้อนกันอยู่มากมาย และบ่อยครั้ง ‘ลำดับทางอำนาจ’ ในแต่ละมิติของประเด็นเดียวกันนั้น มันไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ถึงที่สุดแล้วผมจึงบอกว่าข้อหาอย่าง Cultural Appropriation นั้น มันไม่เวิร์กน่ะครับ มันมีปัญหาในตัวมันเองมากจริงๆ
2. ปัญหาของการทำลายหลักการพื้นฐานส่วนอื่นๆ
จริงๆ แล้วประเด็นนี้ค่อนข้างจะต้องใช้เวลาและพื้นที่ในการอภิปรายพอสมควร แต่เนื่องจากแค่ข้อแรกผมก็เขียนยาวยืดเกินโควต้าแล้ว จึงคงต้องขออธิบายแต่พอสังเขปในส่วนนี้ (และหากมีโอกาสอื่น อาจจะแวะมาเขียนถึงโดยละเอียดมากขึ้นต่อไปนะครับ) คืออย่างงี้ครับ สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องทำความเข้าใจในทางทฤษฎีกันเบื้องต้นและมันอาจจะฟังดูขัดๆ กันบ้างนะครับ ก็คือ “การจะได้มาซึ่งความเป็นสากล (Universality) นั้น เราจำเป็นจะต้องมีหลักมูลฐาน (Essence) ที่ไม่เปลี่ยนแปลง” อยู่ด้วยน่ะครับ
หรือพูดให้น่าโดนถีบมากขึ้นไปอีกก็คือ การจะเป็นนักสากลนิยม (Universalist) ได้นั้น เราจำเป็นจะต้องเป็น Essentialist ไปด้วยนั่นเอง
เหตุผลที่ผมว่าแบบนี้ก็เพราะว่าโดยแก่นแล้วการจะได้มาซึ่งความเป็นสากลนั้น มันคือการสร้างชุดคุณค่าหรือมาตรฐานร่วมที่ทุกคนยอมรับขึ้นมาให้ได้ หรือกล่าวอีกแบบก็คือ การจะเป็นสากลนิยมได้นั้น มันต้องสามารถตัดสิน ‘ความถูกผิด’ อย่างชัดเจนได้ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้นั้น มันจำเป็นที่จะต้องมีแก่นหรือหลักมูลฐานที่ไม่แปรเปลี่ยนเสียก่อน (ซึ่งรากฐานความคิดนี้ไล่กลับไปได้ถึงเพลโตนู่นเลยครับ) อ่านแบบนี้แล้วอาจจะยังไม่สาแก่ใจท่านนัก ผมขอยกตัวอย่างสั้นๆ เร็วๆ เล็กน้อยตามที่พื้นที่อันจำกัดจะพออำนวย
เวลาที่เรานึกถึงหลักสากล อย่างแรกๆ ที่จะนึกถึงก็คือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนครับ คือ เอาจริงๆ ข้อถกเถียงว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน อย่างไร ฯลฯ นั้นมีแบบไม่รู้จบนั่นแหละ แต่หากปล่อยให้มัน ‘ไม่รู้จบ’ ต่อไป ความเป็นสากลมันก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ความเป็นมาตรฐานร่วมก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
ฉะนั้นปฏิญญาฯ นี้จึงต้องเกิดขึ้นมา และเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า “เหล่านี้คือมาตรฐานขั้นต่ำ คืออำนาจ คือสิทธิขั้นต่ำสุดที่มนุษย์คนหนึ่งๆ พึงได้รับ” การกำหนดเกณฑ์เช่นนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะได้เห็นว่า อะไรคือ ‘สิทธิพื้นฐาน’ ที่จะต้องไม่น้อยไปกว่านี้แล้ว และหากมีที่ใดที่ประกันสิทธิและอำนาจให้กับมนุษย์ ‘น้อยกว่าเกณฑ์สากล’ นี้ แปลว่าที่แห่งนั้น ‘ละเมิด หรือบกพร่อง’ ในด้านนี้ นี่คือ อำนาจในการ ‘ตัดสิน’ ที่ว่า และแน่นอนว่าตัวหลักมูลฐาน (Essence) ที่ว่าก็คือ ตัวหลักการฯ อันเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ว่านี้เอง กล่าวคือ มันไม่สนใจข้ออ้างใดๆ ไม่สนใจเงื่อนไขล้านแปดใดๆ ที่คุณจะหาจะยกมาอ้างเพื่อจะอธิบายลักษณะจำเพาะพิเศษ หรือความจำเป็นของคุณที่ทำให้คุณไม่สามารถเป็นไปตาม ‘หลักมูลฐาน’ นี้ได้ มันไม่สนใจ เพราะมันคือเกณฑ์สากลขั้นต่ำ
คุณไม่มีข้ออ้าง หรือถึงมีก็มันก็ไม่แคร์ มันต้องแน่นิ่งไม่ไหวติง เพราะว่าเฉพาะเมื่อมันแน่นิ่งไม่ไหวติง มันจึงจะคงอำนาจความเป็นสากลและอำนาจในการตัดสินของมันได้นั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ‘วิทยาศาสตร์’ ครับ จริงอยู่ว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้มีคำตอบที่แน่นิ่งตายตัว ด้วยหลักการสำคัญของโลกวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Falsifiability หรือการที่ข้อสรุปใดๆ สามารถถูกพิสูจน์ว่ามันอาจจะผิดได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ มันไม่มีความจริงสัมบูรณ์แบบศาสนา ที่บอกว่าตนเองนั้นจริงแท้ตลอดกาล
ในแง่นี้ฟังดูแล้ววิทยาศาสตร์ดูจะไม่ได้มี Essence แบบที่ว่ามาเลยและมันก็เป็นสากลด้วย ซึ่งไม่ถูกครับ Essence ของวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวคำตอบหรือผลลัพธ์ แต่อยู่ที่ตัวกระบวนการ หลักมูลฐานของวิทยาศาสตร์อยู่ที่วิธีการ/ขั้นตอนที่ให้ได้มาซึ่งคำตอบ ที่เราเรียกกันว่า Scientific Method บ้าง Hypothetical Deductivism บ้าง กล่าวก็คือ คำตอบหรือผลลัพธ์ที่มาจากกระบวนการหาคำตอบแบบนี้เท่านั้นจึงจะมีสิทธิที่จะได้รับความเชื่อถือ การได้มาซึ่งคำตอบแบบอื่นๆ นั้น “ไม่ควรค่าแก่การเชื่อถือ”
เพราะฉะนั้นการนั่งเทียนเขียน ร่างทรง ธิดาพยากรณ์ต่างๆ นั้น มันจึง “ไม่มีค่าความน่าเชื่อถือในทางวิทยาศาสตร์” และนี่ก็คืออำนาจในการตัดสินของมันนั่นเองครับ
จากตัวอย่างทั้งสองนี้ ผมคิดว่าท่านคงพอจะนึกภาพตามออกแล้วนะครับถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘หลักมูลฐาน’ (Essence) กับความเป็นสากล (Universality) ทีนี้ มันมาเกี่ยวกับการฉกฉวยทางวัฒนธรรมยังไง?
ถ้าว่ากันแบบไม่เกรงใจก็คือ โดยตัวคอนเซ็ปต์ของการฉกฉวยทางวัฒนธรรมนั้น มันมักมากเกินไปน่ะครับ จนมันไม่เพียงแค่ทำลายตัวเอง แต่มันอาจจะกระทั่งไปทำลายหลักมูลฐานสากลอื่นๆ ที่ควรจะมั่นคงถาวรไม่สั่นคลอนด้วย
ที่ผมบอกแบบนี้ก็เพราะว่า โดยตัวกลไกของคอนเซ็ปต์การฉกฉวยทางวัฒนธรรมนั้น มันต้องการ ‘อำนาจในการตัดสิน’ และพร้อมๆ กันไปมันก็ต้องการจะวางมาตรฐานอันเป็นสากลให้กับโลกด้วย (ว่าง่ายๆ ก็คือ มันอยากให้ตัวมันเป็นมาตรฐานสากลอันหนึ่งของโลก ที่หากใครจะทำอะไรก็ต้องคิดถึง CA ขึ้นมาด้วยนั่นเอง)
ซึ่งด้วยกลไกและเป้าหมายแบบนี้นั้น แปลว่าตัวมันเองจำเป็นที่จะต้องมี ‘หลักมูลฐาน’ หรือ Essence ในตัวมันเอง แต่นั่นแหละครับปัญหาหลักเลยคือ อย่างที่เราอภิปรายกันไปยืดยาวในข้อแรก คือ ‘มันมีไม่ได้’ เพราะสิ่งที่ตัวคอนเซ็ปต์มันยึดเกาะอยู่นั้นคือ ‘วัฒนธรรม’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลตลอดเวลา แปลว่ามันไร้ซึ่งคุณสมบัติในฐานะหลักมูลฐานสากลที่จะต้องแน่นิ่ง ไม่ไหวติง ไม่ขยับเขยื้อนในตัวมันเอง
ว่ากันอย่างถึงรากแล้ว แนวคิด Cultural Appropriation นั้น มันจึงเป็นแนวคิดที่ย้อนแย้งในตัวมันเองอย่างถึงที่สุด และในระดับหนึ่ง มันทำลายตัวมันเองตลอดเวลาน่ะครับ เพราะความไม่มี Essence แต่อยากจะมีความเป็นสากลและอำนาจตัดสินอย่างเป็นสากลของมันนี่แหละ
ทีนี้เมื่อตัวคอนเซ็ปต์มันไม่ได้เวิร์กขนาดนั้นแล้วเนี่ย แต่ยังดันใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อมากๆ โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง และใช้มันตัดสินทุกสิ่งอย่างเสมือนว่า “มันสามารถมีอำนาจในการตัดสินอย่างสากลได้จริงๆ” ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้วมันไม่มีความสามารถดังกล่าวนั้น เพราะมันขาด ‘หลักมูลฐาน’ ที่มีคุณสมบัติจะทำแบบนั้นได้ มันนำมาซึ่งปัญหามากครับ เพราะการใช้ซ้ำๆ พร่ำเพรื่อไปเรื่อยด้วยสิ่งที่มันใช้ไม่ได้อย่างเสมือนว่ามันใช้ได้ตลอดเวลานี้เอง ที่เท่ากับเป็นการค่อยๆ ทำลาย “ความจำเป็นและความสำคัญของหลักมูลฐาน” ไปเสีย
เพราะยิ่งใช้มันถี่ขึ้น ก็จะยิ่งรู้สึกว่า “เราไม่ต้องการหลักมูลฐานใดๆ ก็ได้ เพื่อจะได้มาซึ่งความเป็นสากล” (ดู CA เป็นตัวอย่างสิ!)
ความพร่ำเพรื่อนี้เอง มันทำให้หลักมูลฐานที่ ‘จะหายไปไม่ได้’ จำเป็นจะต้องอยู่เช่นนั้นเสมอ ด้อยมูลค่าลง เราจึงเจอกับสารพัดความสับสนอลหม่านในการพิจารณามั่วไปหมดว่า จะอะไรยังก่อนดี จะต้องแคร์เรื่องวัฒนธรรมที่คนนั้นคนนี้ถือครอง จะต้องสนใจความแตกต่างหลายหลายก่อน จะต้องสนใจความเท่าเทียมก่อน ฯลฯ
เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วเราต้องยอมรับน่ะครับว่า คอนเซ็ปต์สารพัดเหล่านี้ หลายๆ ครั้งมันไม่ได้ไปด้วยกัน ไม่ได้สอดคล้องกันเสมอ ซึ่งเวลาที่มันตีกัน งงกันไปมานี้เอง ไอ้ ‘หลักมูลฐาน’ นั้นมันจึงสำคัญและต้องมี เพื่อจะบอกกับเราว่า อะไรคือแก่นหลักที่จะขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด และอะไรที่เกินกว่านี้ หากมีได้ก็ดี นับว่าเป็นโบนัส เป็นคุณค่าที่สมควรชื่นชม
แต่นั่นแหละ เมื่อเราทำให้หลักมูลฐานที่ว่านี้พร่าเลือนไป ความโกลาหลก็บังเกิด และถึงที่สุดแล้วหากยังเป็นแบบนี้ต่อไป ผมคิดว่าไม่แปลกที่มันจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำลาย ‘แก่นและความเป็นสากล’ ของแนวคิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งมวลไปได้ (อาจจะฟังดูเหมือนเว่อร์ แต่ผมพูดจริงๆ แบบซีเรียสเลยนะครับ)
ผมขอปิดบทความด้วยภาพที่แสดงถึงโคว้ตคำพูดหนึ่งของบันคีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำพูดที่สรุปความได้สั้น ครบ และกระชับดีมากๆ ครับ
จริงๆ ยังมีอีกหลายประเด็นอยู่ที่ผมอยากจะอภิปรายต่อไป แต่พื้นที่เกินกว่าจะหมดแล้ว ผมก็คงจะต้องขอจบลงแค่นี้ เขียนมาทั้งหมดนี้ เพื่อจะบอกให้ใช้งานคอนเซ็ปต์เหล่านี้อย่างระมัดระวังและไม่พร่ำเพรื่อมากนัก
อย่างไรก็ดีถึงที่สุดแล้ว ผมคิดว่าการมี judgment หรือการตัดสินสิ่งนั้นนี้ โดยอิงกับประสบการณ์และโลกทัศน์ส่วนบุคคลหรือโลกทัศน์ร่วมของชุมชนที่เราเติบโตมานั้นมันเป็นเรื่องปกติครับ มันคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์
ผมเขียนมามากมายนี่ โดยส่วนตัวแล้วผมเองนั้นก็เป็น Food Nazi หรือเผด็จการทางรสชาติอาหารตัวยงคนหนึ่งเลยและก็ช่างตัดสินผิดถูกมากๆ ด้วย แต่นั่นแหละ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ รวมไปถึง CA ด้วยนั้น ควรจะทำแค่ระดับ “การผงะ งุนงง บ่นอิดออด หรือเล่นเป็นมุกขำๆ” (อารมณ์ Uncle Roger) เท่านั้นก็พอ ไม่ควรเอาไปใช้ตัดสินใครเสมือนเป็นคุณค่าสามัญอะไร
และแน่นอนหากใช้มันจริงจังจนเกินไปนั้น กรณีแบบ Charlie Hebdo นั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะนั่นแหละครับคือ “ความสับสน ความโกลาหลอันเกิดจากการพร่าเลือนไปของหลักมูลฐานที่ไม่ควรจะพร่าเลือน”
Proofread by Pongpiphat Banchanont
Illustration by Waragorn Keeranan