‘People judge you on who you are, what you are. If you’re a pain in the ass, but do great work, you still might be embraced—but you won’t be taken to dinner.’ – Steven Heller
ความป๊อปปูลาร์ การเป็นผู้ที่ถูกรักหรือถูกชังในวัยเยาว์สามารถส่งอิทธิพลมาวนเวียนหลอกหลอนเราตลอดชีวิต ชนชั้นไหนที่คุณเป็น คนดังที่อื้อฉาว คนที่ถูกรัก คนที่ถูกชัง คนที่ถูกลืม หรือคนธรรมดา
คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้มุ่งหวังจะสอน How to เป็นคนป๊อปปูลาร์ เพราะว่าผู้เขียนก็ทำไม่ได้ แต่แสดงให้เห็นผลจากการศึกษายาวนานหลายชิ้นเกี่ยวกับความป๊อปปูลาร์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต สมอง ตัวตนของเราไม่ได้หยุดแค่ในช่วงวัยรุ่น
ความป๊อป ในวัยรุ่น ทำวุ่นไปทั้งชีวิต
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนถึงเป็นที่รักของคนอื่นมากกว่า อะไรทำให้บางคนเป็นจุดสนใจ ถูกจดจำ ถูกรำลึกถึงอยู่ในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าคนเหล่านี้ไปอยู่ในกลุ่มไหน เขาก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของมวลชนคนรอบข้างได้ง่าย ๆ เขามีเวทมนตร์อะไร ในขณะที่คนบางคนมักถูกสังคมปฏิเสธ ถูกแบน ถูกแอนตี้ หรือถูกเมินเฉย อยู่ในหลืบเสมอ ๆ ไม่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่กลุ่มใด
‘ความป๊อปปูลาร์’ เป็นหัวข้อวิจัยยอดฮิตในสาขาจิตวิทยามาตั้งแต่ยุค 80’s ไม่ได้มีแค่วัยรุ่นที่สนใจว่าใครดัง ใครไม่ดัง ใครเป็นคนป๊อป ใครถูกแอนตี้ ฯลฯ ความป๊อปปูลาร์มีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อเราไปตลอดชีวิตทั้งในด้านบวกและด้านลบ การไม่มีใครต้องการ ถูกปฏิเสธและถูกลืมเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด และส่งผลต่อเราในวัยผู้ใหญ่ได้
ชั้นเรียนจิตวิทยาแห่งความป๊อปปูลาร์
วิชา ‘Psychology of Popularity’ หรือ ‘จิตวิทยาแห่งความนิยม’ เป็นวิชายอดฮิตที่ป๊อปปูลาร์ตามชื่อ เปิดสอนในมหาวิทยาลัย Princeton และ The University of North Carolina at Chapel Hill โดยดร. Mitch Pritstein ซึ่งเขาก็สนใจหัวข้อความป๊อปกับสังคมนี้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ทำไมเด็กบางคนถึงโด่งดังในรุ่น
แรกเริ่มที่ Pritstein เปิดคลาสนี้ขึ้นมา เขาเดาว่าคงมีแต่คนหนุ่มสาวผู้ผิดหวังจากการเข้าสังคมสมัครมาเรียน เพราะสนใจอยากรู้วิธีทำให้คนอื่นชื่นชอบมากขึ้น กลายเป็นว่าคลาสนี้สามารถดึงดูดคนทุกแบบ เพราะแม้แต่คนโด่งดังในรุ่นก็ยังสงสัยว่า ทำไมคนบางคนถึงได้ดังกว่าคนอื่น อะไรทำให้บางคนเป็นที่ต้องการ เป็นที่รัก ที่จดจำมากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น ๆ
Pritstein หยิบยกงานวิจัยในหัวข้อความนิยมนี้มากล่าวอ้างหลากหลายชิ้นมาก ๆ ในปี 2010 Julianne Holt-Lunstad ได้วิเคราะห์งานวิจัยกว่า 148 ชิ้น พบแนวโน้มที่ตรงกันว่า คนที่มีเครือข่ายทางสังคมแข็งแรงจะมีโอกาสอยู่รอดสูงกว่า ความป๊อปปูลาร์ทำให้ชีวิตดี มีผลต่อความก้าวหน้าในการทำงาน ความสำเร็จในชีวิตคู่ รวมไปถึงมีอายุยืนยาวขึ้น เพราะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี
ความป๊อปปูลาร์มี 2 ทาง
สิ่งสำคัญที่สุดที่ Pritstein ได้ค้นพบจากการศึกษาในด้านนี้อย่างเข้มข้นยาวนานมาตลอดอาชีพเขา คือ ‘ความป๊อปปูลาร์’ ถูกแบ่งได้เป็น 2 ทางที่ต่างกัน แต่เรามักเอาไปปะปนเหมารวมกัน คือ
- ป๊อปปูลาร์อันเกิดจากชื่อเสียงและความโด่งดัง (Social Reputation) จากการเป็นที่รู้จัก (being known) และถูกเคารพบูชา (admiration) ในกลุ่มและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อาจเกิดจากสถานะทางสังคม เช่นพ่อแม่เป็นคนดัง หน้าตาดี ความสามารถ หรือฐานะครอบครัว การได้มาซึ่งสถานะโด่งดังอาจทำได้ยาก เพราะมันขึ้นอยู่กับคนอื่น ควบคุมไม่ได้
- ป๊อปปูลาร์อันเกิดจากความพึงพอใจ (Social Preference) จากความเป็นมิตร (friendliness) ความกระตือรือร้นใส่ใจในผู้อื่น (inquisitiveness) และเสน่ห์ (charm) เป็นคนที่ likeable คนที่อยู่รอบตัวชื่นชอบและอยากอยู่ใกล้ สิ่งนี้เกิดจากความพึงพอใจจากคนรอบข้างเมื่อใช้เวลาร่วมกับเรา ความนิยมประเภทนี้ยั่งยืนกว่า ทำให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี แข็งแรงและมีอายุยืนยาว ฉาวน้อยกว่า มีแนวโน้มจะช่วยเหลือผู้อื่น ทำตามกฎ แบ่งปัน และร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี
ในปี 2011 มีหนังสั้นสะเทือนสะท้อนสังคมเรื่อง ‘มั่นใจว่าคนไทยเกินหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวี’ ของพี่เต๋อ นวพล หยิบเอาความจริงของโลกที่ว่ามีคนรักก็ย่อมมีคนเกลียด มีคนหมั่นไส้ตามมา ไม่มีใครไม่ถูกนินทามาเล่าอย่างฉลาดน่าสนใจ
Pritstein ช่วยยืนยันอีกเสียงว่า คนดังกับคนที่คนรักไม่เหมือนกัน คนที่มีชื่อเสียงหรือมีสถานะสูง (high status) มีเพียง 35% เท่านั้นเป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้างด้วย แต่คนก็ยังอยากดัง ซึ่งความดัง เป็นปริศนาที่อาจทำได้ยาก เราควบคุมไม่ได้ คนดังเองก็ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงดัง ทำไมบางคนปัง แต่บางคนดับ ในขณะที่แบบที่สอง เกิดจากการเป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้าง เริ่มฝึกได้ง่าย ๆ ด้วยการฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี สนใจใส่ใจ เกิดจากความใส่ใจ มีนํ้าใจ เมตตา ไม่ตัดสิน การตั้งใจรับฟังและอยากเรียนรู้ชีวิตของเพื่อนรอบข้าง สร้างมิตรภาพที่ยั่งยืน
ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงชีวิตที่อ่อนไหว ถูกสั่นคลอนได้ง่าย เต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ กำลังค้นหาแนวทางชีวิตตัวเอง อยากให้เพื่อนและสังคมยอมรับและเห็นคุณค่า
เมื่อย้อนกลับไปมองเรายอมทำเรื่องที่ไม่เข้าท่า เพื่อให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ ไม่ถูกเนรเทศออกจากฝูง บางคนยอมทำทุกอย่างให้ตัวเองได้มีสถานะที่สูงขึ้น ยอมถูกเกลียดดีกว่าไม่มีตัวตน ไม่มีคนสนใจ เพราการเป็นคนน่ารักอย่างยั่งยืนมันไม่เซ็กซี่เย้ายวนเท่าการมีชื่อเสียง การได้เป็นที่เคารพ และโด่งดัง
แบบไหนที่คุณเป็น – คนดังที่อื้อฉาว คนที่ถูกรัก คนที่ถูกชัง คนที่ถูกลืม หรือคนธรรมดา
หากจะวัดว่าคนหนึ่งป๊อปไหม ถ้าถามตัวเราก็อาจจะบอกยาก เด็กที่ป๊อปมักจะถ่อมตนและให้ข้อมูลที่ไม่ตรง พ่อแม่ก็มักไม่รู้ว่าลูกตัวเองมีสังคมอย่างไรที่โรงเรียน ถ้าถามครู ครูก็มักจะประเมินเด็กที่ฉลาดหรือตอบรับดีในชั้นเรียนว่าป๊อปปูลาร์กว่าที่เป็นจริง ๆ
ในปี 1982 John D. Coie จากมหาวิทยาลัย Duke University ได้ออกแบบการทดลองโดย กางลิสต์คนในห้องเรียนชั้นประถม แล้วให้เด็กนักเรียนกว่า 500 คนตอบคำถามง่าย ๆ คือ
- ชอบใครมากที่สุด
- ชอบใครน้อยที่สุด
คนอาจจะสงสัยว่าเด็กตัวน้อยจะตอบได้เหรอ จริง ๆ แล้วเด็กสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าตัวเองชอบและไม่ชอบใคร เมื่อเก็บข้อมูลได้มากพอ ก็จะเห็น Pattern ซํ้า ๆ นำมาจำแนกได้ พบว่าคนเราถูกชอบและถูกไม่ชอบได้ทั้งนั้นเป็นเรื่องปกติ บางคนก็ไม่มีใครชอบและไม่ชอบเลยเหมือนหล่นหายไปจากการจดจำของคนอื่น แต่มีบางชื่อที่โผล่มาบ่อยกว่าปกติ คือเป็นที่สนใจของคนในกลุ่ม สามารถจำแนกคนได้คน 5 ไทป์หลัก ดังนี้
Coie and Dodge 1983
คนปกติ (average) – 50% คือคนส่วนใหญ่ในสังคมที่พอมีเพื่อน มีกลุ่ม มีคนชอบและไม่ชอบในระดับปานกลาง
คนที่ถูกยอมรับ (accepted) – 15% คือคนที่มีคนชอบเยอะมากกว่าคนไม่ชอบ เป็นที่ชื่นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ของคนในห้องเรียน มีความสำคัญในกลุ่มเพื่อนฝูง ใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้ มักเป็นคนที่มีคนห้อมล้อมเสมอ โดยไม่เกี่ยวว่าเขาเป็น Introvert หรือ Extrovert แต่พวกเขาก็ผูกมิตรได้สบาย ๆ
คนที่ถูกปฏิเสธ/แอนตี้ (rejected) – 15% คือคนที่ถูกแบน มีคนเกลียดเยอะกว่าคนชอบสูงมาก มักเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี อึดอัด คนเหล่านี้จำนวนมากไม่รู้ตัวเอง พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ร้าย และมักเห็นแต่คนที่มุ่งหวังจะทำร้าย คิดร้าย เป็นคนก้าวร้าว เกเร ต่อต้านสังคม ไม่ไว้ใจใคร เห็นแก่ตัว รุนแรง
คนที่ถูกเมิน (neglected) – 15% คือคนที่ถูกลืม ไม่มีใครรักแต่ก็ไม่มีใครเกลียด ไม่มีคนเห็น หากอยู่ในสนามเด็กเล่นพวกเขาอาจจะเล่นคนเดียว ไม่มีเพื่อนสนิท เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
คนดังที่เป็นประเด็นให้ถกเถียง (controversial) – 5% คนเหล่านี้ที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง คือมี Social Impact เป็นที่กล่าวถึง เพราะมีทั้งคนรักมากและเกลียดมากพอ ๆ กัน คนพวกนี้อาจเป็นคนตลกโปกฮา ชอบสร้างความสนใจให้ตัวเอง หรืออาจเป็นคนขี้นินทาเพื่อรักษาสถานะแบบยัยเรจินา จอร์จในเรื่อง Mean Girls (2004)
Mean Girls (2004)
เราอาจคิดว่าเด็กที่ถูกแบนในสภาพแวดล้อมหนึ่ง อาจกลายเป็นคนป๊อป ในอีกสภาพแวดล้อมก็ได้ Coie ได้ทดลองต่ออีก กลับพบว่าสถานะและไทป์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะเขาเมื่อทดลองคละเด็ก 5 ไทป์ที่แตกต่างกันจากต่างโรงเรียน ไม่รู้จักกันมาก่อน จับมาเข้ากลุ่มเล่นด้วยกันอย่างอิสระครั้งละ 1 ชม. และค่อย ๆ เก็บผลตอบรับจากเด็ก ๆ ขณะนั่งรถกลับบ้าน หลังจากพวกเขาเล่นกันผ่านไปเพียง 3 ชม. นั่นคือเท่ากับ 3 ครั้ง ผลคือ เด็กทุกคนค่อย ๆ กลายคืนสู่สถานะเดิม เช่น คนที่ป๊อป ก็จะเป็นกลายเป็นคนป๊อป ในกลุ่มใหม่ คนที่ถูกปฏิเสธก็จะถูกปฏิเสธเหมือนเดิม ฟังดูน่าเศร้าที่สลัดสถานะเหล่านี้ให้หลุดออกไปได้ยาก แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้
ดังนั้นหากเด็กมีปัญหากับเพื่อนในชั้นเรียน การย้ายโรงเรียนอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การย้ายงานหรือย้ายห้องอาจไม่ช่วย อาจจะต้องเข้ารับการบำบัดหรือการช่วยเหลืออื่น ๆ
ความดังเป็นสิ่งที่วัยรุ่นสนใจและมักเป็นธีมของหนัง The Breakfast Club (1985) ที่จับวัยรุ่นตามสเตอริโอไทป์ที่แตกต่าง 5 คน ในโรงเรียนมาถูกกักบริเวณร่วมกัน 1 วัน เมื่อไม่มีอะไรทำก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผูกพันกันในกลุ่มที่อยู่ต่างสถานะ ได้พูดคุยสนทนาถึงความในใจ ทำให้ตัวละครหลุดพ้นจากสเตอริโอไทป์เดิม ๆ แม้ในชีวิตจริงอาจจะเกิดได้ยากกว่านั้น เพราะอดีตและสถานะในสังคมมันได้ฝังลึกในตัวเราไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้
Breakfast Club (1985)
การนินทาเป็นอาวุธและบันไดทางสังคม
การนินทาอาจมีประโยชน์ในเชิงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ที่อาจมีประโยชน์ อาจเพื่อตักเตือนให้ระวังภัยคนที่อันตราย คนที่ไม่น่าเชื่อถือ คนตอแหล หรือมีพฤติกรรมไม่ตรงกับค่านิยมที่กลุ่มจะรับได้ ฯลฯ
บางครั้งความสนุกปากอาจกลายเป็น บันไดทางสังคม (social ladder) ชั้นเยี่ยม กลางวงของการนินทา คือยัยตัวร้ายผู้มีอำนาจควบคุมชักใยให้คนในกลุ่มคิดหรือรู้สึกอย่างไร คนบางคนอาจกำลังสร้างอิทธิพลผ่านการแทงข้างหลังคนอื่น บุคคลที่สามอาจถูกผลักให้ไม่มีที่ยืนในกลุ่ม ไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเขาอาจจะมีนิสัยหรือการกระทำที่แย่จริง ๆ จนต้องหยิบมาพูดถึงเพื่อปรึกษาหารือว่าทำไงดี เพราะฉันทนอีนี่ไม่ไหวแล้ว หรืออาจเป็นเหยื่อที่ defend ให้ตัวเองไม่ได้ เพราะไม่อยู่ตรงนั้น
การซุบซิบนินทาเป็นอาวุธทางสังคมที่อันตราย ถือเป็นการคุกคามเชิงสัมพันธภาพ (relational aggression) เป็นความรุนแรงที่เราใช้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่โหยหา Status การยอมรับจากฝูง บางคนสร้างตัวตนจากการสร้างศัตรู เป็นกาวใจชั้นเยี่ยมแต่น่ากลัว เพราะแลกมากับความสะใจและการผลักบุคคลที่สามให้ห่างไกลออกไป ความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องไม่ดีของคนอื่นถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออัพเกรดสถานะทางในสังคม คนที่ร่วมนินทาจะรู้สึกสนิทกันได้ไวขึ้น มีความสนใจร่วมกันคือเรื่องชาวบ้าน แลกมากับสถานะชื่อเสียงของบุคคลที่สาม ที่ถูกทำให้เสื่อมเสีย การนินทาเป็นไฟป่าอันตราย ลุกลามไร้การควบคุม
อย่าลืมว่าความสัมพันธ์อันเกิดจากการนินทา การหมั่นไส้ใครบางคนร่วมกันเป็นกาวใจที่ไม่แข็งแรง ไม่มั่นคงยั่งยืนเท่าการเป็นเพื่อนจากการเรียนรู้ทำความรู้จักกันและกันอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่าให้หัวข้อนินทาร้อนฉ่ามาแย่งพลังงานและช่วงเวลาการอยู่ด้วยกันในกลุ่มเพื่อน
อดีตที่ฝังใจทำให้สมองตีความผิดเพี้ยนไป
การถูกละเลยและการไร้ตัวตนในช่วงวัยรุ่นส่งผลให้สมองไม่สามารถตีความสถานการณ์ตรงหน้าให้เป็นแง่บวกได้เหมือนคนอื่น ๆ พวกเขาจะมองโลกด้วยชุดความคิดที่ว่าโลกนี้กำลังกลั่นแกล้งรังแกเขา เสมือนโลกนี้กำลังสมคบคิดเพื่อทำให้เขาเจ็บชํ้านํ้าใจ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว จักรวาลนี้ก็อยู่ของมันไป ไม่ได้ใส่ใจอะไรในการมีอยู่ของเราเลยสักนิดเดียว
‘Hostile Attribution Bias’ คืออคติที่บางคนตีความสถานการณ์ในชีวิตประจำวันในแง่ลบกว่าที่เป็นจริง เขาสามารถอ่านสถานการณ์กลาง ๆ ไม่มีพิษภัย ให้กลายเป็นการมุ่งร้าย ไม่เป็นมิตรต่อตัวเองได้เสมอ
เมื่ออาการนี้ติดค้างมาจนวัยผู้ใหญ่ คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะอายุขัยสั้นกว่า ไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ เมื่อเป็นพ่อแม่ก็มักแสดงความเกรี้ยวกราดกับลูก ส่งต่อความไม่เป็นมิตรต่อโลกต่อไปให้ลูกทางอ้อม เพราะสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กไม่ไว้ใจใคร และมองคนอื่นในแง่ร้ายเสมอตามมา
การถูกปฏิเสธในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นมีผลกับชีวิตในระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า กังวล กระวนกระวาย เสี่ยงใช้สารเสพติด และมีแนวโน้มเป็นอาชญากร ต่อต้านสังคม ดังนั้นก่อนเราจะแบนใคร หรือลงโทษทางสังคมกับใครทางคำพูด เราอาจทำให้เขามีบาดแผลในใจไปตลอดชีวิตได้เลย ไม่ว่าไปเจออะไรมาในชีวิต อย่านำประสบการณ์ร้าย ๆ นั้นไปลงกับคนอื่น เพราะมันจะส่งผลลบกลับมาสู่เราไม่สิ้นสุด
‘Rejection Sensitivity Bias’ คืออคติที่เกิดจากความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธมากเกินไป พวกเขารับไม่ได้กับคำว่า ’ไม่’ ทั้งที่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ คนอ่อนไหวต่อการปฏิเสธเหล่านี้ เมื่อถูกปฏิเสธ ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือความสัมพันธ์ เขาจะรู้สึกว่าชีวิตนี้จบสิ้นแล้ว เกิดความกังวล กลัวการเข้าสังคม กลัวคนไม่ยอมรับ จนทำให้เข้าถึงได้ยาก และมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้างตามมา
ยกตัวอย่างเหตุการณ์เช่น หากเรานัดเพื่อนแล้วเพื่อนมาสาย เหตุผลคืออาจจะรถติด หรือยุ่งจนลืมนัดโดยไม่ตั้งใจ เพียงแค่โทรไปถามก็จะทราบสาเหตุ แต่คนเหล่านี้จะคิดไปเองแล้วว่า เขาต้องไม่อยากมาเจอเราแน่ ๆ เลย รู้สึกเจ็บปวด พวกเขาขาดความมั่นใจในตัวเอง
อยากให้คนรักและสนใจไม่ใช่เรื่องผิด ไม่แปลกที่คนเราจะดีใจเมื่อมีคนชื่นชมหรือเห็นด้วย มันเป็นรางวัลทางสังคม
แต่เมื่อคนเราเริ่มพึ่งพิงการยอมรับจากสังคมเสมอเพื่อให้ขับเคลื่อนชีวิตต่อไปได้ เราจะรู้สึกดีต่อเมื่อคนอื่นชมเท่านั้น แต่รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงหากไม่ได้รับรางวัล ไม่สามารถสุขได้ด้วยตัวเอง คนแบบนี้จะมีแนวโน้มทุกข์มากกว่าคนอื่นทั้งไปชีวิต ส่งผลให้เขาได้รับความนิยมน้อยในวงจรชีวิตวนไป เพราะเอาคุณภาพชีวิตของตัวเองไปผูกไว้กับผู้อื่นแน่น ทั้งที่ควบคุมไม่ได้
ในอดีต มนุษย์มีโอกาสอยู่รอดมากขึ้นเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม คนที่ถูกเนรเทศออกจากกลุ่ม ต้องเอาตัวรอดเอง อาจไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในยุคนั้น สมองเราจึงถูกวิวัฒนาการจะหลั่งมาเตือนภัยให้รู้สึกเจ็บปวด เกิดความทุกข์เมื่อเราต้องอยู่คนเดียว แม้ปัจจุบันเราสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ ไม่ตายจากการอยู่คนเดียวอีกแล้ว แต่สำหรับบางคนมันเป็นเรื่องทรมานใจมาก ๆ เพราะร่างกายเราโหยหาการเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นตามใบสั่งทางชีววิทยา การถูกปฏิเสธจากฝูงทำให้เราเป็นทุกข์ สมองมันสั่งมาให้ความเหงานั้นเจ็บปวด
ความคิดหรืออคติเหล่านี้ได้ถูกฝังลงในสมองแบบที่สามารถตรวจจับได้ด้วย fMRI สำหรับคนทั่วไปเมื่อถูกบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคนแปลกหน้าปฏิเสธ จะสามารถจับการเปลี่ยนแปลงของภาพคลื่นสมองเล็กน้อย แต่คนอ่อนไหวเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ซึ่งหากหวังจะเขียนเปลี่ยนโปรแกมที่ฝังลงในสมองไปแล้วขึ่นมาใหม่ ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร
ความทรงจำวัยรุ่นอาจอยู่กับเราไปจนตาย แต่เราเปลี่ยนได้
มีคนกล่าวว่า “ครึ่งชีวิตแรกของเราคือช่วงเวลา 20 ปีแรก อีกครึ่งชีวิตที่เหลือคือช่วงเวลาหลังจากนั้นจนเราตาย”
ช่วงเวลาวัยรุ่นแม้จะสั้นเทียบกับอายุขัยทั้งหมด แต่สำคัญมากและมีผลมากกับชีวิตที่เหลือ ความทรงจำสมัยวัยรุ่นเกิดขึ้นตอนสมองของเรากำลังพัฒนา เราจึงจดจำเรื่องราวเหล่านั้นได้ดีมาก แม้จะเปลี่ยนไม่ได้ แต่เรายังจำฝังใจความทรงจำครั้งที่โดนปฏิเสธได้ และเรายังจำหน้าและชื่อเพื่อนคนที่ป๊อปปูลาร์ได้ดีแม้จะลืมชื่ออาจารย์ที่สอนชีวะไปแล้ว
แม้จะผ่านยุคชนชั้นวรรณะที่ตายตัวมาแล้ว แต่คนเราก็แอบจัดลำดับชั้นทางสังคม (Social Rank) กันลึก ๆ อยู่ในใจ แอบตัดสิน แบ่งแยกกันไปตลอดชีวิต หลายคนปรารภว่า ‘ไม่ว่าเราจะโตแค่ไหนก็ไม่เคยหลบเลี่ยงสังคมแบบวัยมัธยมได้พ้น’ เราผ่านดราม่าวุ่นวายที่ไม่จำเป็นมามาก กว่าจะโตมาได้จนมีจิตใจที่แกร่งและมีภูมิต้านทานต่อปัญหาต่าง ๆ เพราะชีวิตวัยรุ่นของหลาย ๆ คนอาจเป็นช่วงที่วุ่นวาย อาจมีเหตุการณ์เก่า ๆ บางอย่างที่ยังฝังใจให้เราเจ็บ
ในสังคมที่คนเทิดทูนคนดังและคนมีชื่อเสียงมากกว่าคนน่ารักจิตใจดี Pritstein อยากให้คนเห็นคุณค่าคนดีแบบที่ไม่ใช่เชิงจริยธรรมสูงส่งเหนือทุกคน แต่ความสำคัญของการเป็นคนไนซ์ เห็นอกเห็นใจ มีเมตตา เป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้ และมันพูดง่ายแต่ทำยากมาก หลายคนอาจจะพยายามแต่งตัวดี ทำศัลยกรรม ทำตัวอวดรวย ขยันเพื่อประสบความสำเร็จ เพื่อยกสถานะตัวเอง แต่ก็สงสัยว่าทำไมคนอื่นยังไม่ชอบเราเสียที หรืออาจเป็นเพราะจริง ๆ แล้วเราแก้ปัญหาผิดที่ เราลองมาดูกันดีกว่าว่าลักษณะนิสัยแบบไหนที่คนอื่นจะหันมาสนใจเรา
นิสัยที่ทำให้คนรอบข้างนิยม (Likeable People Traits)
- ช่วยเหลือผู้อื่น
- แบ่งปัน ไม่เห็นแก่ตัว
- ทำตามกฎ ไม่ซิกแซก มีลับลมคมใน
- ร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี
- ฉลาดหลักแหลม (แต่ไม่ฉลาดเกินไปจนไม่เข้าใจ)
- มักอารมณ์ดี
- สร้างบทสนทนาที่ดีได้
- แต่ก็ให้โอกาสคนอื่นพูดบ้าง
- ปรับตัวได้เก่ง
- มีความคิดสร้างสรรค์
- สามารถแก้ไขปัญหากระอักกระอ่วนในสังคมได้ไว
- ไม่แทรกแซงกลุ่ม
จงทำดี จงทำดี จงทำดี
Be Nice. Be Kind.
จงทำดี จงทำดี จงทำดี ไม่ใช่เพราะท่องจำเขามาหรืออยากเป็นคนดีมีศีลธรรมสูงส่งคํ้าจุนโลก แต่เพราะว่าเพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเรา แม้ฟังดูจืดมาก ไม่ตื่นเต้นเลย พูดทำไมใคร ๆ ก็รู้ดี มันดูไม่เท่ ไม่คูล แต่อาจมีประโยชน์กับคุณภาพชีวิตในระยะยาว เพราะส่วนใหญ่เมื่อมีเหตุการณ์ร้าย ๆ เราก็มักจะร้ายกลับไปเพื่อความสะใจไปเสียทุกครั้ง
ตอนที่เราเริ่มทำงานปีแรก อ่านสัมภาษณ์ของนักออกแบบที่เราเคารพรัก สตีเฟน เฮลเลอร์ กล่าวว่า “คนอื่นจะตัดสินคุณจากสิ่งที่คุณเป็น ถ้าคุณเป็นคนน่ารำคาญแต่ทำงานได้ยอดเยี่ยม คนก็จะชื่นชมคุณแหละ แต่คงไม่มีใครชวนคุณไปกินข้าวด้วย” โดยสตีเฟน เฮลเลอร์ เตือนใจเราได้ดีมาก เพราะบางครั้งความเครียดจากการทำงาน สถานการณ์พาไป ก็ทำให้เราปากหมาและนิสัยไม่ดี ต้องสำรวจตัวเองเสมอว่านี่เลวไปหรือยัง คนอื่นอาจจะอ่อนไหวกว่าที่เราคิด เขาอาจจะรับไม่ได้
จริง ๆ ก็มีล้านเหตุผลที่คนจะไม่ชอบใครสักคน และความเห็นของคนอื่นเราก็ควบคุมไม่ได้ กินข้าวคนเดียวก็สะดวกดีนะ เราก็ไม่ต้องเป็นที่รักของทุกคนก็ได้ การดำรงชีวิตเป็นชาวบ้านคนธรรมดาที่ไม่ดัง มีคนรักคนชังพอประมาณ ก็สุขได้
แต่เมื่อใดที่เราทำร้ายใครทางใจและวาจา ความสะใจของเราอาจสร้างบาดแผลทางใจให้แก่เขาไปตลอดชีวิตก็ได้ ความหมั่นไส้ ความสะใจมันทำได้ง่าย อย่าใช้มันเป็นบันไดไปสู่การมีตัวตนของเรา ความจริงใจ ความถ่อมตน และความหวังดี สนใจคนรอบข้างอาจฟังดูน่าเบื่อ แต่จริง ๆ แล้วทำได้ยากเมื่อสถานการณ์มันพาไป แต่ถ้าทำได้เราอาจมีสุขภาพจิตและชีวิตที่สุขขึ้นในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Cousera: Psychology of Popularity
Popular: The Power of Likability in a Status-Obsessed World
Whispers as weapons – Gossip can be a potent tool for forging alliances—and ostracizing others
The Psychology of Social Status
Sociometric Popularity and Peer-Perceived Popularity: Two Distinct Dimensions of Peer Status
Illustration by Namsai Supavong
หากสนใจหัวข้อจิตวิทยาแห่งความป๊อปปูลาร์อยากเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกขึ้นไป
- ชวนเรียนออนไลน์ Coursera: Psychology of Popularity ของดร. Mitch Pritstein https://www.coursera.org/learn/popularity
- ชวนอ่านหนังสือ Popular: The Power of Likability in a Status-Obsessed World ไม่วิชาการจนเกินไป เน้นเล่าเรื่องที่น่าสนใจ อ่านเพลินมาก และเล่าถึงงานวิจัยต่างๆตลอดเล่ม