เมื่อเป็นเรื่องของ ‘วัยรุ่น’ สังคมเรามีความลักลั่นอยู่เสมอ เราคาดหวังให้วัยรุ่นเติบโตให้เร็วขึ้นเพื่อยืนหยัดอยู่บนโลกด้วยแข้งขาของตัวเอง จนบางครั้งเรามองวัยรุ่นด้วยสายตาเคลือบแคลงว่าพวกเขา ‘โตเร็วเกินไป‘ ในบ้างเรื่อง แต่ในอีกหลายๆ เรื่อง วัยรุ่นก็ถูกตำหนิซ้ำอีกรอบว่า ‘โตช้าเกินไป’ หรือเวลาการเติบโตบนนาฬิกาข้อมือของผู้ใหญ่กับวัยรุ่นจะเดินไม่เท่ากัน?
สังคมคาดหวังการเติบโตจากเด็กๆ ราวกับว่าการเป็นวัยรุ่นคือเรื่องใหม่ แต่มนุษย์เข้าสู่ช่วงวัย 13 – 15 ปี มาเป็นหมื่นๆ ปีก่อนที่จะมีกรอบแนวคิดด้านประชากรศาสตร์มาครอบหรือการแบ่งช่วงวัยมาจำแนกด้วยซ้ำ
ในเมื่อการเป็นวัยรุ่นไม่ใช่ของใหม่ แต่ทำไมพวกเขาถึงถูกผู้ใหญ่ตำหนิว่า ‘โตช้าไป’ และทำไม่เราถึงไม่อยากโตเร็ว
หรือการเติบโตนั้นมีค่าใช้จ่าย? ที่วัยรุ่นเลือกที่จะทำในสิ่งที่ต่างจากพ่อแม่
วัยรุ่นที่ไม่ยอมเติบโต เป็นวัยรุ่นที่ขี้เกียจ?
ในอดีตนั้นเด็กจะไม่เป็นเด็กได้นาน พวกเขาถูกผลักไสให้ออกไปเผชิญโลกแห่งการล่าชิงทรัพยากรให้เร็วขึ้น ย้อนไปช่วงปี 1920 อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนจากกสิกรรมไปเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้ผลักให้เด็กๆ ไปเติมเต็มโลกแรงงานมากขึ้น พวกเขาต้องไปทำงานในเหมือง โรงโม่ และโรงเหล็ก แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีโรงเรียนรัฐถือกำเนิดขึ้น แน่นอนการมีระบบการศึกษาระดับพื้นฐานนี้ทำให้เด็กๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ที่ยังไงก็ยังดีกว่าทุกข์ทรมานในโรงงานอันเป็นโลกของผู้ใหญ่ ซึ่งภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีหลังจากมีระบบโรงเรียน ก็มีเด็กๆ อยู่ในระบบการศึกษามากถึง 60% เพราะพวกเขาอยากใช้ธรรมชาติของการเรียนรู้
ระบบการศึกษาเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ สามารถใช้เวลาอยู่ร่วมกับคนวัยเดียวกัน ทำให้พวกเขาพัฒนารูปแบบทางสังคม กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน บทบาทของอำนาจ และสร้างวัฒนธรรมร่วม หลังจากผ่านช่วงเศรษฐกิจโลกบูมในปลาย 1950 ระบบขนส่งมวลชนพัฒนาจนมีความสะดวกสบายมากขึ้น ครอบครัวสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์โดยไม่เกินเอื้อม มีอิสรภาพในการเดินทาง อัตราการเกิดใหม่ลดลง ผู้ใหญ่จำนวนมากใช้เวลานอกบ้านไปกับการหาทรัพยากรมาเลี้ยงครอบครัวและซื้อของอำนวยความสะดวกเข้าบ้าน จนบ้านมีความพร้อมเป็นทุกอย่างในตัวเอง
ในมิติของวัยรุ่น พวกเขามีช่วงเวลาของการเรียนรู้และเติบโตที่แผ่ขยายกว้างมากขึ้นหากให้เทียบกับในอดีต คนรุ่นใหม่อยู่ในช่วงเวลาที่เป็นเด็กยาวนานขึ้น อยู่ติดบ้านที่มีลักษณะเป็นหน่วยครอบครัว
น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่รู้สึก ‘เชื่อใจ’ (trust) ผูกพันกับพ่อแม่และครอบครัวมากกว่าคนในอดีต พวกเขายินดีที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่ชราต่อไป ซึ่งในขณะที่คนในรุ่น Baby Boomer นั้นห่างไกลจากนิยามของครอบครัวมาก (หรือเลือกทอดทิ้งเลย) จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องออกจากบ้านเร็วในการแสวงหางานทำและตั้งตัว
แต่ในอีกมุมหนึ่งการผูกพันอยู่กับครอบครัวและบ้านของคนรุ่นใหม่ ทำให้ถูกค่อนแคะว่า ‘ขี้เกียจ’ ไม่กล้าออกไปมีชีวิตของตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือถูกใช้คำว่า ‘ไม่ยอมโต’ จากการไม่แสดงพฤติกรรมอย่างที่ผู้ใหญ่ในสังคมคาดหวัง
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมาจากอิทธิพลของเศรษฐศาสตร์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์นี้ กระบวนการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ วัยรุ่นจำนวนมากจ้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในบ้าน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเช่าคอนโด หอพักมีราคาสูงขึ้นมาก ภาระหนี้การศึกษาที่แพงลิบเป็นชนักติดหลัง ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การศึกษาหนังสือเรียน ไหนจะต้องแข่งขันเพื่อเข้าระบบการศึกษาที่ต้องอาศัยติวเตอร์ที่คนรุ่นก่อนๆ วางแบบแผนไว้
ไม่วาอย่างไร วัยรุ่นก็ต้องอยู่ในสังคมที่ผู้ใหญ่ออกแบบไว้อยู่ดี
วัยรุ่นในประเทศสหรัฐอเมริกา มักเป็นตัวอย่างที่คนไทยชอบยกมาเปรียบเทียบถึงความอิสระเสรี เรามักเห็นภาพวัยรุ่นเขามีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าออกมาอยู่ด้วยตัวเอง แต่มายาคติเหล่านี้กำลังค่อยเปลี่ยนไป เพราะเด็กอเมริกันอาศัยอยู่กับครอบครัวมากขึ้น พวกเขาอาศัยในบ้านของพ่อแม่โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟบางส่วน เหตุผลหนึ่งจากภาระหนี้การศึกษาของสหรัฐที่สูงมาก ซึ่งในปี 2017 ที่ผ่านมาหนี้ที่นักศึกษาต้องแบกรับคือราว $39,400 ต่อหัว (หรือ 1,291,709 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 6% จากข้อมูลของ Nasdaq เด็กอเมริกันเองก็เริ่มจะไม่ไหวกับการออกมาอยู่ด้วยตัวเองคนเดียว บางส่วนแชร์กับเพื่อน แฟน หรือเลือกที่จะอยู่กับครอบครัวมากขึ้น พยายามลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ลง
หากเปรียบเทียบรายได้ของวัยรุ่นที่ทำในปัจจุบัน พวกเขาทำรายได้น้อยกว่าคนในรุ่นพ่อแม่ ผู้ชายในอายุระหว่าง 25 – 30 ปี ทำรายได้ต่ำโดยเฉลี่ยกว่า 60% เมื่อเทียบกับผู้ชายในวัยเดียวกันในช่วงปี 1950 – 1960 เมื่อผู้ชายรายได้น้อยลง ผู้หญิงจึงเป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยง ผู้หญิงมีความรับผิดชอบในการหาเงิน สร้างรายได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการแต่งงานที่ต้องคอยให้ผู้ชายเลี้ยงดูอีกต่อไป
รูปแบบชีวิตของวัยรุ่นจึงเปลี่ยนจากอะไรที่ปุบปับ กลับช้าลง เลือกความเสี่ยงต่ำ ที่เรียกว่า ‘slow-life strategy’ ครอบครัวคนรุ่นใหม่จึงแต่งงานช้าลง มีลูกช้าหรือไม่มีเลย และลงทุนไปกับครอบครัวมากขึ้น
แต่ความผูกพันกับครอบครัวเองก็มีมิติเชิงบวก วัยรุ่นมองเห็นครอบครัวในสายตาเสมอและใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจ มีความต้องการอยากเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีความสุข อยากเที่ยวพร้อมหน้าแบบครอบครัว ใช้ระบบ Face time มากขึ้นวัยรุ่นโดย 40% ใช้พูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัว การแสดงออกความรักต่อผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในสื่อโซเชียล และสังคมเปิดใจยอมรับพฤติกรรมเชิงบวกนี้
การเปิดใจยอมรับใครเข้ามาในชีวิตของวัยรุ่นจะถูกพินิจพิเคราะห์ถี่ถ้วนมากขึ้น พวกเขาออกเดทน้อยลง และหลายคนที่มีอายุ 30 ปีโดยที่ยังไม่เคยมีความสัมพันธ์กับใครเลย แม้กระทั้งการจูบหรือมีเซ็กซ์ ดังนั้นที่ผ่านมาพวกเขาเห็นประสบการณ์เหล่านี้จากสื่ออื่นๆ ซึ่งอาจสร้างมายาคติหรือภาพลวงต่อความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริงว่าไม่เหมือนกับที่เคยรับรู้มา เพราะวัยรุ่นอาจคิดว่าเขาเห็นมาหมดแล้ว แต่เมื่อเผชิญหน้ากับความเป็นจริงจึงเตรียมตัวไม่ทันทั้งในเรื่อง การรับมือความรู้สึกสูญเสีย การแสดงออกความรักที่เหมาะสม เซ็กซ์ที่พร้อม และการรับผิดชอบต่อคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว
ดังนั้นการจะบอกว่า “วัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ช้า” แท้จริงแล้ว วัยรุ่นมีศักยภาพแห่งการเติบโตอย่างสมบูรณ์ แต่โลกที่ผู้ใหญ่สร้างกลับทำให้เขา ‘ต้องตัวเล็กลง’ เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อดำรงชีพ ต้องลดทอนความฝันบ้างเพื่อเป็นในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ
แล้วผู้ใหญ่กำลังออกแบบสังคมเพื่อใคร หากมองเห็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเติบโตในวัยรุ่น คุณต้องมีดินที่ดี แสงแดดและน้ำต้องเหมาะสม นอกเหนือจากนั้นเป็นหน้าที่ของวัยรุ่นที่จะงอกเงยตามแต่กำลังที่เมล็ดพันธุ์แต่ละเมล็ดพึงมี
อ้างอิงข้อมูลจาก
The $1.5 Trillion Student Debt Bubble Is About To Pop
Illustration by Waragorn Keeranan