ผมยังไม่รู้ว่าถ้าเราไปเดินพันธุ์ทิพย์ ฟอร์จูนซิตี้ หรือตะวันนา เราจะยังได้ยินพี่ที่ดูท่าทางลับๆ ล่อๆ เดินมาประชิดตัวแล้วกระซิบข้างหูด้วยคำที่ทำให้ใจสั่นว่า “โป๊มั้ยพี่” อยู่หรือเปล่า (เอาล่ะ – จริงๆ พี่เขาก็ไม่ได้เล่นซีนอีโรติกขนาดนั้น เขาก็ตะโกนถามธรรมดาๆ นี่แหละ) และในวันที่เราหาหนังโป๊ดูกันได้ถ้วนทั่วทุกหย่อมหญ้าผ่านทางอินเทอร์เนตอย่างในทุกวันนี้ – หนังโป๊ที่เป็นแผ่นจะถูกแทนที่ไปด้วยการสตรีมมิ่งทั้งแบบสองมิติ และแบบ 360 องศาที่ต้องสวมเฮดเกียร์เพื่อดู (ประหนึ่งว่าคุณไปอยู่ในฉากบุคคาเกะเอง!) กันหมดหรือยัง
ผมคิดว่า Porn Industry เป็นวงการที่ปรับตัวเร็วเป็นอันดับต้นๆ เรียกว่ามีเทคโนโลยีอะไรใหม่มา วงการ Porn ก็พร้อมที่จะรับไปใช้ และทดลองกับลูกค้า (ที่ก็พร้อมจะทดลองเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ) ตลอด ด้วยการตอบสนองอารมณ์พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ทำให้ Porn Industry เป็นวงการที่มีลูกค้ามากพอ, ลูกค้าพร้อมจะ ‘เอาด้วย’ พอ นั่นทำให้มันมีต้นทุนที่จะสำรวจ ‘ไปข้างหน้า’ มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีกับหนังโป๊เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ตั้งแต่สื่อที่มีลักษณะโลวเทคที่สุด (อย่างภาพวาดขยุกขยุยตามกำแพงห้องน้ำ) ไปจนถึงสื่อที่ไฮเทคที่สุด (อย่างฟูลบอดี้สูทที่ทำให้คุณรับรู้ทุกสัมผัสในทุกอวัยวะโดยซิงก์กับหนังโป๊ที่ฉายอยู่ในเฮดเกียร์ เรียกว่าถ้านักแสดงจับตรงต้นขาขวา คุณก็จะรู้สึกตรงต้นขาขวาไปพร้อมๆ กัน) หนังโป๊พร้อมที่จะสอดแทรกตัวเองเข้าไปในทุกหนแห่งอย่างแกร่งกล้าและท้าทาย
หนังโป๊มักอยู่แถวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยี
นิตยสาร Complex บันทึกเหตุการณ์ที่วงการหนังโป๊มีส่วนช่วยพัฒนา หรือกระตุ้นเทคโนโลยีให้ก้าวไปข้างหน้า โดยอ้างเหตุการณ์ตั้งแต่ยุควิดีโอเทปที่ในตอนนั้นมีสองฟอร์แมต คือ VHS และ Betamax (ซี่งท้ายสุดแล้ว VHS เป็นฝ่ายชนะศึก) สาเหตุเพราะยอดขายหนังโป๊นั้นมีสัดส่วนมากถึง 50% ของยอดขายวิดีโอทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา (และในเยอรมนีหรือสหราชอาณาจักรจะยิ่งมากไปกว่านั้นอีก คือมีสัดส่วนมากถึง 80%)
หลังจากนั้นด้วยความคิดสร้างสรรค์และความหื่น (?) วงการภาพโป๊ก็สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สมัยที่ยังแสดงไฟล์ภาพไม่ได้ ใช้ตัวอักษรและโค้ดรหัส ASCII ประกอบกันเป็นภาพโป๊ขึ้นมา (ซึ่งแน่นอน มันก็ไม่ได้เหมือน คมชัด หรือมีสีเหมือนในสมัยนี้หรอก แต่สมัยนั้น ‘แค่นี้ก็เอาแล้ว’) จนมีผู้เรียก ASCII Art เหล่านี้ว่าเป็น ‘ภาพโป๊ผ่านเนตชิ้นแรก’
ผมยังจำถึงสมัยที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เนตนั้นมีความเร็ว (ความช้า!) ระดับ 28.8Kbps หรือ 56Kbps ได้ (ยุคที่เวลาต่อโมเด็มจะมีเสียง ครืด คราด อี๊ออด นั่นแหละครับ) ในสมัยนั้น การฝันจะดูวิดีโอโป๊ผ่านเนต เป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลย (เพราะเนตช้าเกินไป) สื่อโป๊จึงมักจำกัดเฉพาะภาพนิ่งเท่านั้น หรือถ้าดีหน่อย ก็เป็นไฟล์ GIF ที่ขยับแตกๆ ได้สองสามเฟรม (ซึ่งก็เหมือนเดิมแหละครับ ‘แค่นี้ก็เอาแล้ว’) ถึงแม้จะเป็นแค่ภาพนิ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะโหลดปุ๊บมาปั๊บ ก็ยังต้องรอมันค่อยๆ โหลด เราจะเห็นภาพที่ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากเบลอๆ พิกเซลใหญ่ๆ มาเป็นภาพที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเป็นคนยุคหลัง ก็คงนึก ‘ความลุ้นระทึก’ ในแบบนี้ไม่ออก
Complex อ้างว่าเป็นอุตสาหกรรมหนังโป๊และภาพโป๊นี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้อินเทอร์เนตความเร็วสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่างนิตยสาร Penthouse ว่าในสมัยนั้น ถึงกับต้องแจกโมเด็ม 2400-baud ให้กับผู้อ่าน เพื่อที่ว่าผู้อ่านจะได้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของพวกเขาได้ด้วยความเร็วที่สูงกว่าเดิม และในปี 2000 นิวยอร์กไทมส์ก็เคยรายงานด้วยว่าลูกค้าอินเทอร์เนต AT&T มากถึง 20% ที่ใช้เนตเพื่อดูหนังโป๊ (ที่สมัยนั้นต้องจ่ายตังค์มากถึง $10 ต่อเรื่องแน่ะ!)
ในสมัยนี้ อินเทอร์เนตก็ประกอบด้วยหนังโป๊มากเช่นกัน แต่ ‘มากเท่าไร’ นั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณหาข้อมูลจากแหล่งไหน ถ้าเป็นข้อมูลจากแหล่งที่ต้องการบอกว่า ‘หนังโป๊คือยาเสพติดตัวใหม่ เราจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้’ ก็จะอ้างตัวเลขว่า ราวๆ 30% ของอินเทอร์เนต คือสื่อโป๊ (เช่นจากโครงการ Internet Safety 101 ข้อมูลปี 2013) ในขณะที่แหล่งอื่น (เช่น ผู้เขียนหนังสือ A Bliion Wicked Thought) ก็อ้างว่า ผลการค้นหาข้อความที่เกี่ยวกับสื่อโป๊มีตัวเลขอยู่ที่ราวๆ 13% (ข้อมูลจากปี 2009-2010) และพวกเขาคาดว่าถ้านับเนื้อหาบนอินเทอร์เนตทั้งหมด ก็มีราวๆ 10% ที่เป็นสื่อโป๊
ในขณะที่เว็บไซต์ Pornhub แหล่งหนังโป๊เจ้าใหญ่ (ทั้งหนังโป๊ระดับโปรเฟสชั่นนอลและหนังโป๊ชาวบ้าน) ก็รายงานผลการเข้าชมของเว็บไซต์ตนในปี 2016 ว่า มีการเยี่ยมชมมากถึง 23 พันล้านครั้ง หรือ 729 คนต่อวินาที รวมเวลาหนังโป๊ที่ถูกดูทั้งหมด (บน Pornhub อย่างเดียว) ในหนึ่งปี เป็นเวลา 4,599,000,000 ชั่วโมง หรือ 5,246 ศตวรรษ (แต่อย่าลืมว่าถ้าหารจำนวนคนออกมา ตัวเลขต่อคนก็อาจจะไม่เยอะนัก)
Patchen Barss ผู้เขียนหนังสือ The Erotic Engine : How Pornography has powered mass communication from gutenberg to Google ที่สำรวจวิธีที่อุตสาหกรรมสื่อโป๊ขับเคลื่อนเทคโนโลยีสื่อมวลชนตั้งแต่ยุคแท่นพิมพ์ จนถึงยุคเซิร์ชเอนจิ้น บอกว่าคนในอุตสาหกรรมสื่อโป๊เป็นผู้นำเทคโนโลยีตั้งแต่ยุค VCR, เป็นผู้รุดหน้าทำให้เคเบิลทีวี ‘เกิด’, รวมไปถึงอินเทอร์เนตด้วย เขาอ้างว่า “สื่อโป๊ช่วยพยุงให้เทคโนโลยีเหล่านี้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเทคโนโลยีแต่ละชิ้นได้รับความเชื่อถือ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้นเคย และมีราคาถูกจนเข้าสู่กระแสหลักได้”
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนก็ไปจับตัวเลขของผู้เข้าชมงาน CES (Consumer Electronics Show) ที่จัดที่ลาสเวกัส ที่มีงาน AVN Adult Entertainment Expo จัดอยู่ด้วยกัน (จนกระทั่งปี 2012 ที่สุดท้ายต้องแยกงานกันเพราะทั้งสองงานมีผู้ชมล้นที่จัด) ว่าสองงานนี้มีผู้ชมร่วมกันมากถึง 40% คือคนที่มาดูเทคโนโลยีในงาน CES ก็มักจะแวะเข้าไปดูงานสื่อโป๊ที่จัดข้างๆ กันด้วย เพื่อแสดงว่าทั้งสองวงการ ‘เดินขนาน’ กันมากเพียงใด
ยิ่งมีมาก ยิ่งหาง่าย ยิ่งติด?
การเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้คนเสพติดหนังโป๊มากขึ้น นี่เป็นผลวิจัยจากปี 2013 จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 800 คน และพบว่ามีผู้คน 43% ที่เริ่มดูหนังโป๊ตอนอายุ 11-13 ปี (ซึ่งอันนี้ผมว่าธรรมดา) และมีมากถึง 47% ของกลุ่มตัวอย่างที่ดูหนังโป๊วันละ 30 นาทีถึง 3 ชั่วโมง (!) [ส่วนสถิติจากมหาวิทยาลัยนิวแฮมไชร์ที่ทำเรื่องเดียวกัน บอกว่ามี 73% ที่ดูหนังโป๊ก่อนอายุ 18 ปี] นักวิจัยจาก ม.ซิดนีย์คิดว่าด้วยผลของอินเทอร์เนต รวมถึงอุปกรณ์พกพา ทำให้คนดูหนังโป๊กันมากขึ้น
รายงานจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) บอกว่าจากสถิติแล้วผู้ชาย 50-99% จะดูหนังโป๊ (50% นี่ตัวเลขจากไหน…) ส่วนผู้หญิงจะดูน้อยกว่า คือมีเพียง 30-86% เท่านั้นที่ดู คำถามสำคัญที่ APA พยายามหาคำตอบก็คือ ‘ต้องดูมากเท่าไร ถึงจะนับว่าติดหนังโป๊’
บทความจาก APA ไม่ได้ตอบคำถามนี้ตรงๆ นัก แต่อ้างสถิติหรือปัญหาที่เกิดขึ้นรอบๆ การดูหนังโป๊แทน เช่น อ้างว่ามีผู้ชมหนังโป๊ 9% ที่อยากหยุดดู แต่หยุดไม่ได้ (ใช้การตัดสินของผู้ดูหนังโป๊มาบอกว่าติดเกินไปหรือเปล่า) หรืออ้างการเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ว่าการดูหนังโป๊ทำให้แฟน (หนุ่มหรือสาว) ไม่พอใจ บางส่วนโทษว่าการที่คู่รักของตนไม่ ‘เต็มที่’ กับเซ็กซ์นั้นเป็นเพราะว่าเสร็จสมอารมณ์หมายจากหนังโป๊เองเรียบร้อยแล้ว
แล้วการดูหนังโป๊มากๆ ตั้งแต่ยังวัยรุ่น (หรือเด็กกว่านั้น) จะส่งผลอย่างไร? เป็นที่ถกเถียงกันมากมายว่า หนังโป๊ทำให้ผู้ชาย (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของหนังประเภทนี้) นั้นมองผู้หญิงเป็นวัตถุ เป็นอุปกรณ์สำเร็จความใคร่ และทำให้ลดความยอมรับนับถือผู้หญิงลง (นี่ทำให้ผมเกิดคำถามว่าแล้วจะคิดยังไงกับหนังโป๊เกย์ หรือหนังโป๊ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิง คือเน้นถ่ายนักแสดงชาย จะทำให้ผู้หญิงมองผู้ชายเป็นวัตถุเหมือนกันไหม) นั่นเป็นมุมมองแบบคลาสสิก แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีการอ้างสถิติว่าในช่วงหลังที่มีการเสพหนังโป๊มากขึ้น สถิติการข่มขืนและทำร้ายร่างกายคู่สมรสก็น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน Conor Friedersdorf คอลัมนิสต์ของ The Atlantic ตั้งคำถามว่า “การจะคิดว่าหนังโป๊ทำให้ผู้ชายมองเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุนั้นง่ายดาย แต่มันจริงหรือ” เธออ้างประเทศที่มีเสรีภาพเรื่องหนังโป๊ (คือหนังโป๊ไม่ถูกจำกัด หรือผิดกฎหมาย) ขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่าในประเทศเหล่านั้น ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงกลับมีมากกว่าประเทศที่จำกัดหนังโป๊เสียด้วยซ้ำ
ยังมีผู้ที่เชื่อว่าการดูหนังโป๊มากๆ ทำให้ไม่สามารถ ‘เพอร์ฟอร์ม’ ได้กับคู่นอนจริงๆ หรือรายงานปัญหาว่านกเขาไม่ขันในตอนที่ต้องการด้วย มีขบวนการอย่าง Reboot Nation ที่มีเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลให้ผู้ชายสำรวจความสัมพันธ์ของตนเองกับหนังโป๊ดูใหม่ เพราะเชื่อว่าหนังโป๊นั้นจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง หรือซับเรดดิท NoFap ที่สมาชิกพยายามจะไม่ช่วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ นักวิจัยบางส่วนพบผลวิจัยที่สนับสนุนแนวคิดนี้ บางส่วนคิดว่าเป็นปัญหาไก่กับไข่ [พอไม่เพอร์ฟอร์มกับคู่รัก ก็เลยต้องมาช่วยตัวเอง แล้วพอช่วยตัวเอง ก็ไม่สามารถเพอร์ฟอร์ม วนไปวนมา แต่อะไรเกิดก่อนกันแน่] ในขณะที่นักประสาทวิทยาจากสถาบัน Liberos LLC บอกว่า ความเชื่อที่ว่าการดูหนังโป๊เยอะๆ ทำให้นกเขาไม่ขันนั้น ไม่มีหลักฐานเพียงพอ
ก้าวต่อไปของเทคโนโลยีกับสื่อโป๊ และผลกระทบต่อผู้ผลิตคอนเทนต์
ปัจจุบันขณะที่โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่เทคโนโลยี Virtual Reality และเทคโนโลยีสัมผัส (Haptic Feedback, การสั่นเพื่อจำลองสัมผัสเฉพาะ) วงการสื่อโป๊ก็พร้อมจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้อย่างรวดเร็วเช่นกัน เราได้เห็นเว็บไซต์หนังโป๊ที่มีฟอร์แมตสามร้อยหกสิบองศาโดยเฉพาะ เราได้เห็นสินค้า ‘สั่นเสียว’ ที่เชื่อมคู่รักที่อยู่ห่างไกลไว้ด้วยกัน ด้วยการถ่ายทอดสัมผัสจากฝ่ายหนึ่งไปสู่อีกฝ่าย (และเทคโนโลยีแบบนี้ก็ถูกนำไปใช้ในการไลฟ์สดของนักโชว์เสียวด้วย เช่นว่า อนุญาตให้ผู้ชมที่จ่ายเงิน บังคับแท่งสั่นเสียวเพื่อกระตุ้นนักแสดงบนจอได้ตามใจชอบ)
แต่มีคนได้, ก็ต้องมีคนเสีย ในยุคที่โลกของเรามีหนังโป๊ให้เสพอย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้นเรื่อยๆ (และส่วนใหญ่ก็จะฟรีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น Pornhub เองก็โฮสท์หนังโป๊ฟรีไว้เป็นแสนๆ เรื่อง บางเรื่องก็ถูกอัพโหลดขึ้นมาอย่างละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับ YouTube, และการพุ่งขึ้นของคอนเทนต์แบบ ‘ถ่ายเอง’ ที่ Pornhub ก็พร้อมจะจ่ายเงินให้หากหนังโป๊ของคุณมีผู้ชมมากพอ – โมเดลเดียวกับ YouTube อีกเช่นกัน) ผู้ผลิตหนังโป๊รวมถึงนักแสดงก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากอุตสาหกรรมบันเทิงอื่นๆ Jon Ronson นักเขียนและนักข่าวผู้สำรวจผลกระทบของ Pornhub ต่อนักแสดงหนังโป๊ ได้เดินไปสัมภาษณ์และเห็นผลกระทบด้วยสองตาของตนเอง เขาบอกว่า
“ผมเห็นว่าคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมหนังโป๊ [แบบคลาสสิก] ต้องย้ายออกจากบ้านใหญ่ๆ ไปอยู่บ้านแคบๆ นักแสดงบางคนต้องขายตัว [escort] เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่า ขณะที่ผู้ผลิตจำนวนมากก็เจ๊งไป ในขณะที่ San Fernando Valley [‘เมืองหลวงแห่งหนังโป๊โลก’] กำลังหดตัวลง คนในวงการเทคโนโลยี [อย่างเช่น Pornhub] ก็กลับโตขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าการที่วงการเทคโนโลยีกำลังครองโลกของเรานั้นไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพียงพอถึงแม้ว่ามันจะสร้างแรงสั่นสะเทือนมากก็ตาม และที่ไม่ค่อยมีคนวิพากษ์วิจารณ์หรือคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เพราะวงการเทคโนโลยีนั้นให้สิ่งที่โลกกำลังต้องการ : นั่นคือหนังโป๊ฟรีๆ”
(ข้อความในวงเล็บ [ ] เป็นคำอธิบายเพิ่มของผมเองนะครับ)
กฎที่ 34 ของอินเทอร์เนตบอกว่า “If it exists, there is porn of it – no exceptions.” (ถ้ามีสิ่งใด ต้องมีหนังโป๊ของสิ่งนั้นเสมออย่างไม่มีข้อยกเว้น)
เป็นไปได้ไหมว่า, ในทางเดียวกัน , ถ้ามีเทคโนโลยีใด เทคโนโลยีนั้นต้องถูกนำมาใช้กับหนังโป๊ด้วย
เราอาจไม่เห็น ‘โป๊มั้ยพี่’ ตามฟอร์จูนหรือพันธุ์ทิพย์อีกแล้ว และในอนาคตอันใกล้ เราก็อาจเห็นว่าหนังโป๊ระดับโปรเฟสชั่นนอลนั้นตายลงไปเรื่อยๆ จนอาจมีใครสักคนประกาศขึ้นมาอย่างเกรียงไกรว่า Porn is dead.
แต่ไม่หรอก หนังโป๊จะอยู่กับเราเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แถม: สำหรับผู้สนใจศึกษาหนังโป๊อย่างจริงจัง มันมีวารสารวิชาการที่ตีพิมพ์งานวิจัยรวบรวมรายปีเรื่องหนังโป๊ด้วย มีชื่อตรงๆ ว่า Porn Studies เริ่มตีพิมพ์ปี 2013 เพราะบรรณาธิการคิดว่า ‘โลกวิชาการยังสนใจหนังโป๊ไม่พอ’ ลองไปดูกันที่ http://www.tandfonline.com/loi/rprn20
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
Virtual Reality Pornography http://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/pornography-porn-virtual-reality-personal-intimate-vr-headset-criticism-problems-a8046141.html
How Porn Leads People to Upgrade Their Tech https://www.theatlantic.com/technology/archive/2016/06/how-porn-leads-people-to-upgrade-their-tech/486032/
10 Ways Adult Entertainment Changed the Tech Industry
http://www.complex.com/pop-culture/2012/02/10-ways-adult-entertainment-changed-the-tech-industry/
Dueling Statistics: How Much of the Internet Is Porn?
How Many People Are Watching Porn Right Now? (Hint: It’s A Lot.)
https://fightthenewdrug.org/by-the-numbers-see-how-many-people-are-watching-porn-today/
How free porn enriched the tech industry — and ruined the lives of actors
https://www.vox.com/conversations/2017/10/6/16435742/jon-ronson-butterfly-effect-internet-free-porn
Is Internet Porn Making Young Men Impotent?
http://www.rollingstone.com/culture/features/is-internet-porn-making-young-men-impotent-w503299
Neuroscience of Internet Pornography Addiction: A Review and Update
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4600144/
Study: Porn Addiction on the Rise, As Technology Increases Access
http://www.prweb.com/releases/2013/2/prweb10382404.htm
The Link Between Technology and Porn Addiction
https://inspiyr.com/pornography-addiction-increases-with-tech-reliance/
Is Porn Culture to Be Feared?
https://www.theatlantic.com/politics/archive/2016/04/porn-culture/477099/