มีบทวิเคราะห์โลกหลัง COVID-19 เต็มไปหมด แต่ละบทวิเคราะห์มีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามปูมหลังและพื้นฐานของผู้วิเคราะห์
คำถามหนึ่งที่หลายคนถามก็คือ—เราจะกลับไป ‘เป็นปกติ’ เหมือนก่อนหน้าจะเกิดการระบาดได้หรือเปล่า
ถ้าถามคำถามนี้กับบริษัทวิเคราะห์ชั้นนำของโลกอย่าง McKinsey & Company ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่คำตอบจะคือ—ไม่
ในบทความ ของ World Economic Forum บอกไว้ชัดเจนเลยว่า จะไม่มีทางกลับคืนไปสู่ ‘สภาวะปกติ’ หลัง COVID-19 ผ่านไปแล้ว แต่คำถามที่น่าถามกว่าก็คือ แล้วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในเส้นทางแบบไหนกัน
เรื่องหน่ึงที่บทความนี้วิเคราะห์เอาไว้น่าสนใจมาก นั่นคือเขาใช้แบบจำลองหรือ ‘กรอบ’ การมองเศรษฐกิจในแบบที่เรียกว่า ‘สามเส้นขอบฟ้า’ หรือ Three Horizons Model ซึ่งเสนอโดย McKinsey & Company มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ในงานเขียนชื่อ The Alchemy of Growth
โมเดลสามเส้นขอบฟ้านี้พูดถึงองค์กรธุรกิจ ว่าจะต้องผ่าน Horizon สามเส้น เส้นแรกหมายถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ผ่านโมเดลธุรกิจและแก่นของธุรกิจในระยะสั้น เส้นขอบฟ้าที่สองคือการแผ่ขยายธุรกิจที่มีอยู่ออกไปสู่ลูกค้า ตลาด และเป้าหมายใหม่ๆ และเส้นขอบฟ้าที่สามคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่อยู่ในจินตนาการแห่งอนาคต เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่จะมา disrupt ธุรกิจ
แต่บทวิเคราะห์ของ World Economic Forum บอกว่า ตอนนี้ COVID-19 กำลังก่อให้เกิดการ disrupt ขนาดใหญ่ มันใหญ่มากเสียจนตอนนี้กลายเป็นว่า ทุกธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับ Horizon ที่สามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงชั่วข้ามคืน เส้นขอบฟ้าที่สามที่เคยอยู่ไกลโพ้นออกไปในอนาคต ก็ได้ขยับเข้ามาจนกระทั่งกลายเป็นเส้นขอบฟ้าที่หนึ่ง
มันผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เช่น บริษัทรถยนต์ต้องหันมาผลิตเครื่องช่วยหายใจ บริษัทผลิตยกทรงหันมาผลิตหน้ากาก บริษัทน้ำหอมหันมาผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกบริษัทถูกผลักดันให้ต้องหันกลับมาผลิตสินค้าที่เรียกว่า essential goods ทั้งหมด
อะไรที่เคยเป็น non-essential goods รวมไปถึง
บริการต่างๆ ก็จะถูก disrupt ไปแทบทั้งหมด
เรื่องนี้น่าสนใจเอามากๆ เพราะมันไปสอดรับกับอีกบทวิเคราะห์หนึ่งของ BBC Future ซึ่งเราจะพูดถึงต่อไป แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น อยากชวนมาดูความเป็นไปได้จากบทวิเคราะห์ของ Forbes ก่อน
ในบทความของ Forbes ผู้เขียนซึ่งเขียนงานเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจมาตลอด พยายามแตกแยกย่อยให้เราเห็น ว่าวิกฤต COVID-19 นี้ ทำอะไรกับโลกเราบ้าง
เธอบอกว่า อย่างแรกสุดเลยก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ‘ห่วงโซ่อุปทาน’ หรือ supply chain ที่เคยเกิดขึ้นในระดับโลกเพราะโลกาภิวัตน์นั้นจะหดสั้นลง ที่เคยอยู่ในระดับ global ก็จะกลายมาเป็นระดับ local แทน บริษัทต่างๆ จะไม่ไว้วางใจสินค้าหรือบริการที่มาจากประเทศไกลๆ อีก แถมการขนส่งต่างๆ ก็จะลำบากมากขึ้นด้วย เพราะสายการบินและการเดินเรือเป็นไปได้ยากขึ้น ต้นทุนก็จะสูงขึ้น
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ น่าจะเกิด ‘รอยร้าว’ ใหญ่ขึ้นมาในสังคม ระหว่างคนที่สามารถทำงานและเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ กับคนที่ขาดแคลนการเชื่อมต่อและเทคโนโลยีที่จะเข้าถึงโลกออนไลน์ คนเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในทางเศรษฐกิจ เพราะงานที่ตัวเองทำเข้าไม่ถึงโลกออนไลน์
นอกจากนี้ อัตราการว่างงานก็จะสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มุมมองที่เคยคิดกันทั่วไปว่า คนว่างงานก็เพราะขี้เกียจ จะกลายเป็นมุมมองที่ใช้ไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากจู่ๆ คนก็ว่างงานในชั่วข้ามคืนเป็นล้านๆ คน นั่นแสดงว่าความว่างงานเป็นเรื่องเชิงระบบ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเกิดขึ้นก็เพราะงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ใช่ essential jobs หรืองานที่จำเป็น
ในขณะที่ ‘สาธารณสุขสำหรับทุกคน’ (healthcare for all)
จะกลายเป็นมาตรฐานสำคัญของโลก
ก่อนหน้านี้ มุมมองแบบ ‘รักษาทุกโรคให้กับทุกคน’ ถูกมองว่าเป็นมุมมองแบบซ้ายหรือสังคมนิยม แต่ COVID-19 บอกเราว่า โรคระบาดมันไม่เลือกหน้า ไม่เลือกชนชั้น ถ้าคนกลุ่มหนึ่งมีปัญหา องคาพยพอื่นๆ ในสังคมก็อาจมีปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้น สาธารณสุขสำหรับทุกคนจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะสาธารณสุขในแง่ของการป้องกัน
ทั้งบทความของ World Economic Forum และของ Forbes นั้น ล้วนนำมาสู่บทความสำคัญของ BBC Future ที่เขียนโดย ไซม่อน แมร์ (Simon Mair)
บทความนี้บอกว่า จากมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนเห็น ‘อนาคตที่เป็นไปได้’ อยู่ 4 แบบ
แบบแรกก็คือการที่สังคมเสื่อมถอยกลับไปสู่ภาวะป่าเถื่อน (babarism) แบบที่สองคือการที่รัฐมีความเป็นทุนนิยมแข็งแกร่งขึ้น (state capitalism) แบบที่สามคือรัฐมีความเป็นสังคมนิยมที่สุดขั้ว (state socialism) และสุดท้ายคือการกลายร่างมาเป็นสังคมใหญ่ที่ผู้คนต่างช่วยเหลือกันและกันเอง
รูปแบบทั้งสี่ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่อาจกลายกลืน เปลี่ยนเป็นแบบหนึ่งแล้วก็ถ่ายโอนไปเป็นอีกแบบ หรือเกิดพร้อมๆ กันในบางรูปแบบก็ได้
คำถามก็คือ ทำไมบทความนี้จึงวิเคราะห์เช่นนี้ และการวิเคราะห์เช่นนี้ เกี่ยวข้องอะไรกับสองบทความที่ยกมาข้างต้น
ก่อนอื่น ถ้ามองกลับไปในมุมมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้สร้าง อธิบาย และคอยฟูมฟักรักษาระบบเศรษฐกิจโลก เราจะพบเลยว่าการ ‘ล็อกดาวน์’ หรือการปิดเมืองทั้งหลายแหล่นั้น สร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจโลก มันทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และแรงกดดันนี้ก็โต้กลับด้วยการเรียกร้องให้รัฐต้องผ่อนคลายนโยบายการปิดเมือง
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ องค์กรทางธุรกิจทั้งหลายแหล่ เกิดขึ้นมาก็เพื่อ ‘ทำกำไร’ แต่เมื่อเมืองไม่เคลื่อนไหว การบริโภคลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็ทำให้บริษัทเหล่านี้ทำกำไรไม่ได้ ผลลัพธ์ก็คือ GDP ลดลงอย่างหนัก (มีการประมาณการณ์ไว้ในบทความหนึ่งว่า GDP ของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสสองของปีนี้ อาจลดลงไปอยู่ที่ -50% ซึ่งต่ำจนไม่รู้จะต่ำอย่างไร)
แต่กระนั้น การคลายมาตรการล็อกดาวน์ก็มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะเราไม่รู้เลยว่าตอนนี้สภาวะของโรคระบาดอยู่ตรงไหน ถ้าผ่อนคลายเร็วเกินไป ก็อาจเห็น ‘พีคที่สอง’ ของการระบาดเกิดขึ้นมาได้อีก
เจมส์ มีดเวย์ (James Meadway) นักเศรษฐศาสตร์อีกคนหนึ่งเขียนว่า การตอบสนองต่อ COVID-19 ไม่ควรทำราวกับเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม
ระบบเศรษฐกิจแบบที่เราต้องการควรเป็น anti-wartime economy
หรือระบบเศรษฐกิจแบบต่อต้านการทำสงคราม (กับเชื้อโรค) ด้วยซ้ำ
ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสงคราม ก็แปลว่าเราต้อง ‘ผลิต’ มากขึ้นเพื่อทำศึกให้ชนะ แต่ระบบเศรษฐกิจแบบต่อต้านการทำสงคราม คือการหา ‘ระบบ’ แบบใหม่ ที่จะ ‘ลด’ การผลิตต่างๆ ลง ในแบบที่ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของเราต่ำลงไปมากนัก
ข้อเสนอสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์สายสิ่งแวดล้อมก็คือ—ทุกวันนี้ เราวางระบบเศรษฐกิจอยู่บนการผลิตสิ่งที่ ‘ไม่จำเป็น’ (non-essential) มากเกินไป ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เราสับสนระหว่าง ‘มูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน’ (exchange value) กับ ‘มูลค่าจากการใช้งานจริง’ (use value) เราให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนมากกว่าการใช้งานจริง นั่นทำให้เราหันไปปกป้อง ‘ระบบตลาด’ มากเสียยิ่งกว่าปกป้องสิ่งที่ส่งผลจริงๆ กับชีวิต เพราะคิดว่าตลาดทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ผลลัพธ์ก็คือ เรามี ‘งานที่ไม่จำเป็น’ (pointless jobs) เต็มไปหมด งานไม่จำเป็นเหล่านี้ย้อนกลับมาทำให้เราต้องผลิตสิ่งที่ไม่จำเป็นขึ้นมากมาย ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคอันเป็นผลพวงจากสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ผู้เขียนบทความนี้บอกว่า ตัวอย่างของ ‘งานที่จำเป็น’ แต่ถูกมองข้าม ก็คืองานประเภทที่ต้องใช้ ‘คน’ ทำงาน ซึ่งงานหนึ่งที่เกี่ยวพันกับ COVID-19 มากก็คือบุคลากรสาธารณสุข ถ้าไปดูตัวเลข เราจะพบว่าระบบตลาดไม่ได้ให้คุณค่ากับตัว ‘บุคลากรสาธารณสุข’ ในการสร้าง GDP มากเท่ากับมูลค่าจากการแลกเปลี่ยน (เช่นการแลกเปลี่ยนซื้อขายหุ้นโรงพยาบาล) หรือมูลค่าจากสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้ ‘จำเป็น’ ต่อการมีชีวิตอยู่มากเท่าการสาธารณสุขโดยตรง เช่น ขนาดตลาดของสินค้าประเภทมือถือหรือสินค้าเพื่อแสดงสถานภาพ มักถูก ‘เร่ง’ ให้วัฏจักรชีวิตของมันเร็วขึ้นเรื่อยๆ จะได้เพิ่มการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีขนาดใหญ่โตกว่าตลาดจริงที่ผลิตสินค้าจำเป็นต่อชีวิต
บทความนี้ยังบอกด้วยว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เราเห็นพ้องต้องกันในทางเศรษฐกิจว่า ‘ตลาด’ คือสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้อง เพราะเราคิดว่ามูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน (ในตลาด) เป็นสิ่งที่นำคุณภาพชีวิตที่ดีมาให้มนุษย์ และเรามีแนวโน้มจะคิดด้วยความคุ้นเคยว่า ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร หนักขนาดไหน ทุกวิกฤตก็จะผ่านไปเสมอ ทุกวิกฤตเศรษฐกิจในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมาจะเกิดข้ึนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ อย่างมากก็ไม่กี่ปี แล้วจากนั้นมันก็จะจบลง ตลาดจะกลับสู่เสถียรภาพเหมือนที่เคยเป็นมา
แต่ COVID-19 ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า มันจะเป็นแบบนั้นได้ตลอดไปจริงหรือ เราพบเผชิญเพียงโรคระบาดโรคเดียว แค่นี้ก็เผยให้เห็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดแล้ว ถ้ามีอะไรแทรกซ้อนเข้ามา เช่น โรคระบาดที่สอง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟขนาดใหญ่ระเบิด ภัยแล้งครั้งใหญ่ น้ำแข็งขั้วโลกละลายขนานใหญ่ ไฟป่าขนาดมหึมา ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่จะ ‘ทรหด’ มากพอรับมือได้จริงหรือ
หรือว่าเราอาจต้อง ‘ติด’ อยู่กับวิกฤตใหญ่ๆ คล้ายๆ วิกฤต COVID-19 และติดอยู่กับผลพวงของมันไปอีกยาวนาน – ถ้าไม่ตลอดไป
อนาคตสี่แบบที่บทความของ BBC Future เสนอ มีนิยามง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- อนาคตแบบรัฐเป็นทุนนิยมเต็มตัว คือสังคมที่มีการรวมศูนย์สูงขึ้น และยังคงให้ความสำคัญกับมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็แปลว่าจะต้องมีการทุ่มเงินลงมามากมายเพื่อรักษา ‘ตลาดเงิน’ เอาไว้ (พบว่าหลายประเทศดำเนินไปในแนวทางนี้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) แต่คำถามก็คือ ถ้าโรคระบาดรุนแรงหรือยาวนานขึ้น รัฐแบบนี้จะแข็งแรงอยู่รอดได้จริงหรือ
- อนาคตในแบบที่เป็น barbarism อันนี้คือรัฐที่ให้ความสำคัญกับมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน แต่จะมีลักษณะไม่รวมศูนย์ นั่นคือจะเกิดระบบที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างแย่งชิงกันไป ไม่มีกลไกกลางท่ีจะปกป้องตลาดด้วยซ้ำ นี่เป็นสภาวะที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้
- อนาคตในแบบที่รัฐมีความเป็นสังคมนิยม คือรัฐหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ปกป้องตลาดหรือมูลค่าจากการแลกเปลี่ยน โดยยังมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ รัฐแบบนี้จะเกิดกระบวนการที่เรียกว่า nationalisation (ตรงข้ามกับ privatisation) เช่น การที่รัฐเข้าไปซื้อโรงพยาบาลเอกชนกลับมาอยู่ในมือรัฐ เพื่อจะได้บริหารจัดการการสาธารณสุขโดยรวมได้ดีขึ้น คนที่อยู่ในรัฐแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องทำงานโดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนกับปัจจัยพื้นฐานในชีวิต แต่จะได้รับปัจจัยพื้นฐานในชีวิตโดยตรง โดยงานที่ ‘จำเป็น’ ต่อสังคม อาจได้รับปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้มากกว่า เช่นงานอย่างการขับรถบรรทุก พยาบาล ครู แพทย์ พนักงานขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ ในขณะที่การผลิตสินค้าไม่จำเป็นต่อชีวิตทั้งหลายจะลดลงหรือหายไป
- อนาคตในแบบที่ผู้คนช่วยเหลือกัน สังคมแบบนี้คนจะหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตจริงๆ แต่ไม่มีการปกครองแบบรวมศูนย์ จะมีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่คอยดูแลชุมชนของตัวเอง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังวิกฤตใหญ่ๆ เช่น ชุมชนในแอฟริกาตะวันตกหลังเกิดการระบาดของอีโบลา เป็นต้น
อนาคตในสองแบบหลังเป็นอนาคตที่ต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ไปทั้งหมด ตลาดและการแลกเปลี่ยนจะไม่ใช่หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจมีการผสมผสานกัน เช่น อนาคตแบบที่สามกับแบบที่สี่อาจเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องประสานกัน แล้วนำโลกไปสู่สภาวะที่ดีกว่าก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้น่าจะยังเร็วไปมากที่จะบอกได้ว่าโลกหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราทำได้ก็คือการจับตาดู ‘ฉากทัศน์’ หรือ scenario ต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาวิเคราะห์ และแม้ว่าอนาคตจะดูน่ากริ่งเกรงหวาดกลัวเสียเหลือเกิน แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ควรต้องมีความหวังอยู่เสมอ,
ว่าอะไรๆ อาจดีขึ้นได้ในไม่ช้า